แนวทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในภาคใต้
ตอนที่ ๒

๑. ยุทธศาสตร์ความมั่นคง ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้
            ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ที่ จ.นราธิวาส ระหว่างวันที่ ๒๙ - ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๕ ครม.ได้กำหนดทิศทางปรับโครงสร้างยุทธศาสตร์ความมั่นคง ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ
                ๑. อย่าตั้งสมมุติฐานหรือส่งสัญญาณที่ผิด ๆ ของปัญหา
                ๒. ต้องเน้นเรื่องเศรษฐกิจ ความมั่นคง โดยเฉพาะเรื่องการลงทุนและการท่องเที่ยว
                ๓. พื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องมีสถานภาพเหมือนจังหวัดอื่น ๆ อีก ๗๑ จังหวัดทั่วประเทศ เพราะปัญหาในพื้นที่ไม่ใช่เรื่องความมั่นคงเช่นที่กล่าวถึงกันในอดีตและ
                ๔.ให้ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ดำเนินการบริหารเป็นจังหวัดบูรณาการ หรือจังหวัดซีอีโอโดยการได้รับมอบอำนาจจากส่วนกลางในเรื่องการบริหารบุคคล และงบประมาณ และจังหวัดสามารถเสนอโครงการใหม่ขึ้นมาได้
            ในการประชุม ครม.ครั้งนี้ ครม.เห็นตรงกันว่า การแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมา มักมีการส่งสัญญาณหรือตั้งสมมุติฐานที่ผิด ๆ เพราะปัญหาในยุคปัจจุบัน ของพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ไม่มีสัญญาณใด ๆ ที่ระบุว่ามีการดำเนินการเป็นขบวนการ หรือเพื่ออุดมการณ์ในการแบ่งแยกดินแดนเช่นในอดีตแต่อย่างใด
            "ปัญหาปัจจุบัน เป็นในรูปของเครือข่ายไร้อุดมการณ์หรือเกิดจากความขัดแย้งในเรื่องของผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวของโจรอิทธิพลกลุ่มต่าง ๆ เท่านั้น" (ผู้จัดการรายวัน ๙ เม.ย.๔๕)
๒. ข้อเสนอของคณะกรรมการอิสลาม ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้
            ในการเดินทางไปประชุม ครม.นอกสถานที่ที่ จ.นราธิวาส เมื่อ ๒๙ - ๓๑ มี.ค.๔๕  คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ ๕ จังหวัด นำเสนอข้อเสนอแนะในส่วนของการสนับสนุนองค์กรในพื้นที่ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการสนับสนุนงานของทางราชการ ๑๐ ข้อ ประกอบด้วย
                ๑. ขอให้รัฐบาลสนับสนุนในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะงบประมาณ แก่องค์กรทางศาสนาอิสลาม ตั้งแต่สำนักจุฬาราชมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และมัสยิด หรือคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด ตามพระราชบัญญัติ (พรบ.) การบริหารจิกการศานาอิสลามอย่างเข้มแข็ง
                ๒. สนับสนุนให้มีศูนย์กลางอิสลาม เป็นศูนย์บริหารกิจการศาสนาในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งทาง จ.นราธิวาสได้เตรียมพื้นที่ไว้แล้วประมาณ ๕๖ ไร่ ส่วน จ.สงขลา ก็อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง แต่ยังขาดงบประมาณเป็นจำนวนมาก
                ๓. สนับสนุนให้มีการตั้งวิทยาลัยอิหม่ามแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างบุคลากรที่จะมาดำรงตำแหน่งอิหม่าม คอเต็บบิหลั่น หรือผู้ทำให้การบริหารมัสยิด  ซึ่งขณะนี้ทาง จ.นราธิวาส ได้จัดทำโครงการพร้อมแบบแปลนไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
                ๔. ขอให้รัฐบาลสนับสนุนให้มีการพัฒนาการผลิต การแปรรูปสินค้าทางการเกษตร กิจการสินค้าฮาลาล ธนาคารอิสลาม และการบริการฮัจญ์ ที่สนองความต้องการของประชาชน
                ๕. ให้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่อย่างกว้างขวาง
                ๖. สนับสนุนให้ท่าอากาศยานนราธิวาส เป็นศูนย์กลางการบินพลเรือนภาคใต้ตอนล่าง เพื่อรองรับคนไทยที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย
                ๗. ขอให้มีการจัดตั้งศาลซารีอะฮ์ ซึ่งเป็นศาลของอิสลามอย่างเต็มรูปแบบ เพื่ออำนวยความยุติธรรมในกรณีข้อพิพาททางแพ่งแก่ประชาชนในพื้นที่ (ผู้จัดการรายวัน ๑ เม.ย.๔๕)
                ๘. สนับสนุนในด้านการศึกษาต่าง ๆ เช่น ฟื้นฟูโรงเรียนปอเนาะ บรรจุหลักสูตรอิสลามศึกษาให้เป็นหมวดเฉพาะในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม บรรจุวิทยากรสอนศาสนาอิสลามในสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติ และสังกัดกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เป็นข้าราชการครู หรือลูกจ้างประจำของทางราชการ ฯลฯ
                ๙. แยกวิทยาเขตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีเป็นมหาวิทยาลัยอีกแห่ง ตามวัตถุประสงค์เดิมของการจัดมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ
                ๑๐. ให้รัฐบาลสนับสนุนการจัดตั้งวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตที่ จ.นราธิวาส ตามมติ ครม. วันที่ ๘ ต.ค.๒๕๓๙
๓. ความเคลื่อนไหวของขบวนการก่อการร้าย
                ๓.๑ ดร.พีรยศ ราธิมมูลา อจ.คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี บอกว่าต้องยอมรับว่าพื้นที่ป่าเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ ...ยังเป็นพื้นที่ที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ แต่กลุ่มที่เคลื่อนไหวไม่ได้เป็นกลุ่มขบวนการที่ใหญ่โต คนที่เคลื่อนไหวจะเป็นพวก...อาชญากรรมธรรดา อาชญากรพวกที่จะเข้ามาอยู่ในพื้นที่ป่า แต่ก่อนเรียกกันว่า ..กลุ่มมูจาฮีดีนอิสลามปัตตานีในพื้นที่แห่งนี้ ไม่ใช่กลุ่มโจรที่จะมีอุดมการณ์ต่อสู้ในแบบของมูจาฮีดีน เหมือนในประเทศ...อัฟกานิสถาน ซีเรีย หรือตะวันออกลาง กลุ่มมูจาฮีดีนอิสลามปัตตานีในพื้นที่.. เป็นกลุ่มโจรที่มีเป้าหมายคนละรูปแบบ
                    คำว่า.... มูจาฮีดีน มาจากภาษาอาหรับ ๒ คำ มูจาฮีดิช แปลว่า การต่อสู้ และดีน หมายถึง ศาสนา รวมกันแล้วหมายถึง ... การต่อสู้ทางศาสนา หรือหมายถึง ...นักรบศาสนา มีเป้าหมาย ๒ อย่างคือ ปกป้องดินแดนในฐานะเป็นรัฐอิสลาม และปกป้องศาสนา
                    ผศ.ดร. พีรยศ ย้ำอีกครั้ง กลุ่มมูจาฮีดีนอิสลามปัตตานี ไม่ใช่ขบวนการที่มีอุดมการณ์แบบที่แน่นอน โดยเฉพาะกรณีที่มีข่าว กลุ่มที่อ้างว่าเป็นกลุ่มมูจาฮีดีน อิสลามปัตตานี มีพฤติการณ์จับตัวประกันเรียกค่าไถ่
                    "ผมและประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส เคยลุกขึ้นมาประฌามเมื่อ ๒ ปีก่อน ...ขอประฌามกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มมูจาฮีดีนอิสลามปัตตานี ที่ใช้ชื่อนี้..มันไม่เหมาะสมกับพฤติกรรม
                    ๒ - ๓ ปี ที่ผ่านมา ...ผศ.ดร.พีรยศ บอกว่า จากการตรวจสอบพบว่า บางพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีการฝึกอาวุธ ต้องยอมรับว่ามีการเคลื่อนไหวจริง โดยนำเยาวชนรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนต่าง ๆ อยู่ห่างไกลชนบท เข้าไปฝึกแล้ว ...กลุ่มจะปลูกฝังอุดมการณ์ การเคลื่อนไหวเหล่านี้..ส่วนหนึ่งเกิดในช่วงปี ๒๕๓๙ หลังการเปลี่ยนแปลงด้านการเมือง จะมีขบวนการพูโล เป็นขบวนการแรกที่ปลูกฝังอุดมการณ์ผ่านทางเว็บไซต์ เพื่อให้ความรู้กับเยาวชนรุ่นใหม่ตามโรงเรียนต่าง ๆ รวมทั้งเยาวชนในระดับมหาวิทยาลัย (ไทยรัฐ ๑๔ ม.ค.๔๗)
                ๓.๒  นายเด่น โต๊ะมีนา สว.ปัตตานี ให้สัมภาษณ์ นสพ.มติชนรายวันว่า " นักวิชาการบอกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ต้องมีเจ้าหน้าที่รัฐร่วมด้วยแน่นอน เพราะเขารู้ศักยภาพของพวก ขจก. มีแค่ไหน พวกนี้เวลานี้เขาไม่มีอุดมการณ์แล้ว เขาทำเพื่อเงิน ฉะนั้นเขาสามารถทำได้จริง แต่ต้องมีคนอยู่เบื้องหลัง แต่เป็นใครไม่รู้ เขากลายเป็่นเครื่องมือในการที่จะทำ เพราะต้องการเงิน อุดมการณ์หายไปไหนแล้วก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นอย่ามองมิติเดียว ให้มองในหลาย ๆ มิติ (มติชนรายวัน  ๒๑ ม.ค.๔๗)
                ๓.๓  นายชัยยิด สุไลมาน ฮูชัยนี  ผู้ทำชีอะห์ภาคใต้ กล่าวถึงแนวทางที่จะทำให้เกิดความสงบสุขในภาคใต้คือ การสร้างความเข้าใจให้เกิดความไว้วางใจ ระหว่างรัฐบาลกับประชาชนมุสลิมที่อยู่ในภาคใต้ สำหรับเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในภาคใต้ แม้แต่ประชาชนในพื้นที่ ยังไม่มีใครปักใจเชื่อว่า เป็นฝีมือของคนมุสลิมที่มีอุดมการณ์
                "ส่วนตัวเองมองว่า สถานการณ์ภาคใต้ มีสถานการณ์แอบแฝงอยู่ กลุ่มก่อการอาจมาจากหลายกลุ่ม กลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น หรืออะไรก็ตาม แต่พี่น้องมุสลิม ไม่สามารถทำได้ เพราะเก่งกาจขนาดนี้ ไม่เคยมีประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชาวมุสลิม กลุ่มมุสลิมไม่ใช่คนก่อเหตุ แต่อาจเป็นไปได้ว่า มุสลิมบางคน อาจถูกหลอกไปใช้ในการปฎิบัติการครั้งนี้"
                เมื่อถามว่า รมว.กลาโหม ระบุว่า รร.ปอเนาะเป็นแหล่งฝึกซ้อมอาวุธ นายชัยยิด กล่าวว่า เป็นการพยายามโยงเข้าไป ความจริงแล้วไม่มี รร.ปอเนาะไม่ใช่สถานที่ฝึกการก่อการร้าย หรือการใช้อาวุธ เพราะ รร. มีแต่ตำรา อาจมีคนที่เข้าไปเรียนใน รร.ปอเนาะ และแอบแฝงเข้าไป เรียกได้ว่าอาจไม่ถึง ๑ %
                ถามว่ามีกลุ่มหัวรุนแรงแอบแฝงอยู่ในภาคใต้หรือไม่ นายชัยยิด กล่าวว่า มีเยอะเป็นกลุ่มใหญ่ มีเป้าหมายทั้งทางด้านการเมือง อิทธิพล อำนาจเถื่อน และผลประโยชน์ต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคใต้
                เมื่อถามว่า มีชาวต่างชาติเข้าร่วมด้วยหรือไม่ และส่งผลรุนแรงถึงขั้นแบ่งแยกดินแดนหรือไม่ นายชัยยิด กล่าวว่า มีแต่ไม่ถึงขึ้นแบ่งแยกดินแดน เพราะเกือบไม่มีชาวมุสลิมคิดเรื่องการแบ่งแยกดินแดน หากสิทธิที่ได้รับในทุกวันนี้ เป็นสิ่งที่พอใจของชาวมุสลิม (สยามรัฐรายวัน ๒๐ ม.ค.๔๗)
                หุจญตุลอิสลาม วัลมุสลิมูน ชัยยิด สุลัยมาน อัลหุชัยนีย์ กล่าวว่า สถานการณ์ในภาคใต้เป็นสถานการณ์ที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยผู้ไม่ประสงค์ดี หลายกลุ่มที่สมประโยชน์กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยกลุ่มคนเหล่านี้แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ๔ กลุ่มคือ
                    ๑.  พวกดอละห์ ซาและห์  นักอุดมการณ์รับจ้างชาติพันธุ์มลายู
                    ๒.  พวกนายเงิน และเครือข่ายเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพล ที่ประกอบธุรกิจมืดทั้งหลาย
                    ๓.  เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกสี ตลอดจนนักการเมือง ทั้งการเมืองท้องถิ่น และการเมืองระดับชาติ ทั้งพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน
                    ๔.  กลุ่มคนจากภายนอกประเทศที่มีเครือข่ายโยงใย ทั้งตะวันตกและตะวันออก เป้าหมายคือ การสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นกับชนในชาติ กระตุ้นให้เกิดการเผชิญหน้า ระหว่างรัฐบาลกับชาวไทยมุสลิม ตลอดจนกระตุ้นให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างชาวไทยพุทธกับชาวไทยมุสลิม
                โดยทั้ง ๔ กลุ่มนี้มีเป้าหมายไม่เหมือนกัน กลุ่มหนึ่งแค่ต้องการดิสเครดิตรัฐบาล อีกกลุ่มต้องการดิสเครดิต และเจาะยาง รมว.มหาดไทย ทั้งพวกที่เพื่อตนเอง จะได้เข้าไปนั่งแทนที่ และพวกที่กลัวการพ่ายแพ้การเลือกตั้ง อีกกลุ่มเป็นพวกที่สูญเสียอำนาจ สูญเสียเม็ดเงินที่เคยได้รับจากนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการประกาศสงครามกับยาเสพติด การปราบผู้มีอิทธิพล และระบบส่วยธุรกิจมืดทั้งหลาย ตลอดจนเรื่องที่ทำให้หวยใต้ดินมาอยู่บนดิน ที่เป็นเหตุของการทำให้เศรษฐกิจระดับล่างเป็นอัมพาต เพราะเงินมืดทั้งหลายไม่สะพัด ส่วนอีกกลุ่ม เป็นชาวไทยสายพันธุ์มลายู ที่เป็นพวกนักอุดมการณ์รับจ้าง ที่มีอาชีพรับจ้างสร้างสถานการณ์ แต่กลุ่มที่น่ากลัวที่สุดก็คือ กลุ่มที่มาจากภายนอก ทั้งพวกที่รัฐบาลยินยอมให้เข้ามา และพวกที่ไม่ได้รับเชิญ (สยามรัฐรายวัน ๒๖ ม.ค.๔๗)
            ๓.๕  นายอูมาร์ ตอยิบ สว.นราธิวาส  กล่าวถึงเหตุการณ์ฆ่าพระสงฆ์ว่า ถือเป็นเหตุการณ์ที่เลวทรามมาก ที่ต้องการสร้างความแตกแยก ระหว่างศาสนาพุทธกับมุสลิม ที่ผ่านมาคนไทยที่นับถือพุทธและอิสลามที่นราธิวาส อยู่รวมกันอย่างสันติสุข
            "เข้าใจว่า จะเป็นพวกมือที่สาม แต่ไม่รู้กลุ่มไหนฉวยโอกาส ต้องการให้คนไทยพุทธและมุสลิมทะเลาะกัน ซึ่งผมรับไม่ได้และกลัวว่าจะบานปลายเหมือนเลบานอน ดังนั้นเจ้าหน้าที่รัฐต้องแก้สถานการณ์ให้ได้ มั่นใจว่าแม่ทัพภาคที่ ๔ เข้าใจปัญหานี้ และพยายามดูแลไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามใหญ่โตอยู่แล้ว (มติชน ๒๔ ม.ค.๔๗)
๕. สถานการณ์ภาคใต้กับมุมมองของบุคคลต่าง ๆ
            ๕.๑  หลังจากเกิดสถานการณ์ความรุนแรงขึ้นใน ๓ จังหวัดภาคใต้ ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม ๒๕๔๗ สาเหตุของสถานการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดมุมมองที่หลากหลาย โดยเฉพาะในระดับสูงด้วยกันเอง ...ได้เกิดความคิดเห็นแตกต่างกัน ...การแตกแยกทางความคิดระหว่าง พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รมว.กลาโหม และ นายวัน มูหะมัดนอร์ มะทา รมว.มหาดไทย เกิดจากมุมมองที่ไม่เหมือนกัน
            โดย มท.๑ นั้นเชื่อมั่นว่า สถานการณ์ในภาคใต้เป็นการกระทำของกลุ่มโจร ...คนติดยา ...ผู้ว่างงาน และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง ...ผู้นำท้องถิ่น ..และผู้นำศาสนา
            ในขณะที่ พล.อ.ธรรมรักษ์ ฯ เชื่อในพยานหลักฐานว่า เป็นขบวนการที่ชักจูงเยาวชนไปอบรมทางการเมือง ...ตามแนวทางศาสนาใหม่ โดยมีโรงเรียนสอนศาสนา ครูสอนศาสนา เป็นผู้บงการอยู่เบื้องหลัง เนื่องจากต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการปกครอง (เดลินิวส์รายวัน ๑๔ม.ค.๔๗)
            ปัญหา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ...เช่น ยะลา ...ปัตตานี ...นราธิวาส ...สงขลา ...และสตูล ยังไม่น่ากลัวกับการนำเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มาพัฒนาไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง เนื่องจากในขณะนี้ ...สส.กลุ่มวาดะห์ และผู้นำศาสนาที่เป็นหัวคะแนนของนักการเมืองในพื้นที่ ได้วิพากษ์วิจารณ์การแก้ปัญหาของกองทัพภาคที่ ๔ อย่างรุนแรง โดยพุ่งเป้าไปที่ พล.อ.ธรรมรักษ์ ฯ รมว.กลาโหม ว่า เป็นผู้ขยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนเกินความเป็นจริง ซึ่งกลุ่มนักการเมืองและผู้สนับสนุนนักการเมืองเห็นว่า...มีการขยายผลเหตุการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้น่ากลัวเกินความเป็นจริง เพราะต้องการให้มีการเปลี่ยนตัว รมว.มหาดไทย จากนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นคนอื่น (เดลินิวส์รายวัน ๒๑ ม.ค.๔๗)
            ๕.๒  พล.อ.หาญ ลีนานนท์  อดีตแม่ทัพภาคที่ ๔ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว นสพ.มติชนรายวัน ว่า เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดยืดเยื้อ สร้างความหนักใจให้รัฐบาลขณะนี้ โดยการเผาโรงเรียน ๒๐ แห่ง การปล้นปืนในค่ายทหารกองพันพัฒนาที่ ๔ จ.นราธิวาส และต่อเนื่องด้วยการสังหารพระสงฆ์ ตำรวจ ครู นักเรียน และเผาที่ทำการคณะกรรมการอิสลาม จ.ยะลา นั้น พล.อ.หาญ ยืนยันว่า เป็นขบวนการโจรก่อการร้าย อาละวาดสร้างความบาดหมางให้เกิดขึ้น ระหว่างชาวไทยพุทธกับมุสลิม พวกนี้ถือพวก "ลัทธินิยมใช้ความรุนแรงคนกลุ่มนี้อยู่ฝั่งตรงข้ามศาสนาอิสลาม ต้องการให้คนไทยพุทธ และมุสลิมแตกแยกกัน จนกลายเป็นสงครามศาสนา" ซึ่งศาสนาอิสลามเองไม่นิยมการฆ่ากัน และไม่เชื่อว่าฆ่าคนอื่นแล้ว จะได้ขึ้นสวรรค์
            "คนพวกนี้ยังปลูกฝังคนหนุ่ม - สาว ให้ตั้งกองกำลังในบ้านเมืองนี้ ซึ่งทำกันมานานแล้ว เห็นได้จากเอกสารที่ทหารยึดได้จาก นายมะแอ อุเซ่ง ครูสอนศาสนาที่โรงเรียนสัมพันธ์วิทยา อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๖  แต่ตำรวจบอกว่า รู้เรื่องเกือบ ๒ ปีแล้ว จึงเห็นว่าการข่าวไม่มีเอกภาพ มีการปล่อยปละละเลยกัน ไม่รายงานให้ผู้บังคับบัญชาได้ทราบ"
            "นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังเฉยเมย ไม่ได้แก้ปัญหาปล่อยให้มีการปลูกฝังความคิดเด็ก ตั้งแต่เล็ก ๆ ให้เกลียดชังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือน โดยไม่รู้ตัว อย่างโรงเรียนเด็กก่อนวัย ๓ - ๕ ขวบ ก็ให้มีการยิงปืนอาก้าปลอมใส่ เหมือนที่แต่งตัวเลียนแบบทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือน สอนมวยไทยให้ชกคนไทย สอนให้เรียกประเทศไทยว่า ประเทศสยาม ฝังความคิดรัฐปัตตานี ซึ่งเราต้องเชื่อข่าวนี้ เพราะเป็นข่าวที่เชื่อถือได้ คนที่บอกเขาเป็นไทยพุทธรักอิสลาม"
                เหตุที่ จ.นราธิวาส มีความรุนแรงกว่า จ.ปัตตานี และยะลา เพราะมีการเมืองย้ายถิ่น คือมีการย้ายสำมะโนครัวครัวคราวเดียวจำนวนมาก แต่ไม่รู้ว่าย้ายเพราะอะไร หวังผลทางการเมือง หรือเข้าไปยึดครองที่ดิน ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด
                "ลองคิดดูว่า ถ้าอพยพคราวละมาก ๆ มีอาวุธด้วย อาจประกาศเป็นรัฐอิสระได้ และจากการที่กรรมาธิการทหารลงไปสอน ส่วนใหญ่เป็นคนต่างถิ่นทั้งนั้น นอกจากนี้ยังได้รับการยืนยันว่า ศูนย์การฝึกอบรมคนหนุ่มสาวในเวลากลางคืน ย้ายมาอยู่ที่ จ.นราธิวาส ด้วยที่แน่ ๆ มี ๒ ศูนย์ แต่ความจริงอาจมีมากกว่านั้น ซึ่งได้ส่งข้อมูลให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และแม่ทัพภาคที่ ๔ ทราบ ตั้งแต่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๖ แล้ว" (มติชนรายวัน ๑ ก.พ.๔๗)
                เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๔๗ พตท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นที่ชายแดนภาคใต้ แล้วนักการเมืองออกมาให้สัมภาษณ์เป็นทำนองชี้ให้เห็นถึงการแก้ไขปัญหาไม่ถูกจุด หรือความล้มเหลวในการแก้ปัญหาว่า
                "เป็นสิ่งที่ผมถือว่าเลวมาก เพราะเรื่องของชาติบ้านเมืองเป็นเรื่องสำคัญกว่าอะไรทั้งสิ้นถ้าใครนำเอาเรื่องชาติบ้านเมืองไปทำลาย ไอ้คนนั้นผมถือว่าเลวมาก ขณะนี้ผมทราบและกำลังวิเคราะห์อยู่ว่าเกิดอะไรขึ้น ไปพูดในลักษณะน่าเกลียดมาก ไปพูดเหมือนชนิดที่ว่า ถ้ามนุษย์มีสมองก็จะไม่พูดเช่นนั้น...."
           นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาเตือนอย่างนุ่มนวลว่า ระวังจะเข้าตัวเอง
นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีต รมว.กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า รู้สึกเป็นห่วงท่าทีของนายกรัฐมนตรี เพราะที่พรรค ปชป.ทำไปเป็นการทำโดยสำนนึกในหน้าที่ ที่ต้องเสนอแนวคิด เสนอทางออก และวิธีมองปัญหา ที่เราพูดมาตลอด ๓ ปี แต่รัฐบาลไม่สนใจเลย ทั้งยังดำเนินการในลักษณะที่คิดว่าเข้าใจปัญหา แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถแก้ไขได้
           นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รอง หน.พรรค ปชป.พูดถึงเรื่องนี้ว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ นายก ฯ จะใช้อารมณ์ในการบริหารประเทศมากขึ้น ซึ่งไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น (สยามรัฐรายวัน ๒๒ ม.ค.๔๗)
๖. สาเหตุของปัญหาความไม่สงบ
                ๖.๑  อาจารย์สุวรรณ ธเนศ อจ.ภาควิชาประวัติศาสตร์  มธ. ได้เสนองานวิจัยเรื่อง "ประวัติศาสตร์และการเมืองของมุสลิมในรัฐไทย" ในการสัมนาหัวข้อ "อิสลามในอุษาคเนย์ : จากเปอร์เซียสู่สุวรรณภูมิ" ซึ่งจัดขึ้นที่คณะศิลปศาสตร์ มธ. เมื่อ ม.ค.๔๗
                งานวิจัยบอกถึงที่มาของปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ภาคใต้ว่าเป็นปัญหาที่สั่งสมมานาน เป็นความขัดแย้งที่กินลึกในระดับจิตวิญญาณยาวนาน และคงทนมากที่สุด อันมาจากการขยายอำนาจรัฐของฝ่ายพุทธ เพื่อเข้าไปบีบบังคับ ครอบงำให้ชาวมุสลิมต้องบจำยอมรับการอยู่ใต้อำนาจรัฐ และถูกบับบังคับให้เป็นพลเมืองของรัฐ มากกว่าเป็นมุสลิม
                ความขัดแย้งจึงพัฒนาขึ้นไปสู่การเผชิญหน้ากันในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่มีการปฏิรูปการปกครอง และความไม่พอใจเพิ่มตีทวีความรุนแรงขึ้นมากที่สุด ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม จนเกิดการประท้วงในรูปแบบของการเรียกร้องปกครองตนเอง ๗ ประการ ในปี ๒๔๙๐ โดยหะนีสุหรงอับดุลการเดร์" จนกลายเป็น "กบฎหะยีสุหรง"
                ดังนั้น การแก้ปัญหาจึงไม่สามารถยุติได้ด้วยการใช้กำลัง และอำนาจรัฐ เข้าไปปราบปรามเท่านั้น เพราะยิ่งปราบก็ยิ่งสร้างแรงต่อต้าน แต่ต้องยอมรับความจริงว่า มุสลิมในภาคใต้มีความเป็นเจ้าของชุมชน และอดีต และรวมถึงวัฒนธรรมความเชื่อ ศาสนา อันเป็นเฉพาะของตนเอง รัฐไทยจึงต้องปรับเปลี่ยนโลกทรรศใหม่ว่า การสร้างและรักษารัฐไทยต่อไป จะต้องให้สิทธิและเสรีภาพอันสมบูรณ์แก่ชาวมุสลิม ในการจัดการและปกครองชีวิตและชุมชนตนเอง ให้มากและเป็นจริงที่สุด (มติชน ๒๑ ม.ค.๔๗)
                ๖.๒  เกษียร เตชะพีระ  กล่าวในบทความที่เสนอใน นสพ.มติชน ว่า ปมของปัญหาที่แท้จริงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ที่ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่ทั่วไปปิดปาก ไม่ส่งข่าว ไม่ให้ข้อมูล ไม่ร่วมือกับทางราชการ เพราะพวกเขาหมดศรัทธา หวาดระแวง ไม่ไว้ใจราชการ นี่คือฐานทางสังคม (social) ที่แท้จริง ซึ่งเป็นเงื่อนไขเอื้ออำนวยให้การก่อการร้ายเกิดขึ้นได้ ราชการขาดฐานทางสังคมนี่เองทำให้อำนาจรัฐหาย งานข่าวกรองบอด และวิกฤต ถึงได้เกิดในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ (มติชนรายวัน ๓๐ ม.ค.๔๗)
            นายเกรียง  วิศิษฎ์สรอรรค  นายกสมาคมหมอความยุติธรรม ได้เสนอบทความใน นสพ.มติชนรายวัน ถึงต้นตอของปัญหาที่เป็นบ่อเกิดความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ เกิดจากจุดอ่อนหลายประการคือ
                ๑.  การเอาเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปดูแลความสงบเรียบร้อยแทนฝ่ายทหาร ในช่วงที่มีการปรับ และเป็นปราการสำคัญปิดกั้นการปฎิบัติงานของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ การมอบหมายภารกิจให้ตำรวจมาดูแลในเรื่องนี้ทั้งหมด ตำรวจไม่พร้อม เพราะแม้แต่กำลังตำรวจที่เข้าไปปฎิบัติการ ต้องมีเพิ่มเติมอีกหลายร้อยคน ต้องเอาตำรวจตระเวนชายแดนเพิ่มเข้าไป นับว่าเป็นการเข้าไปในลักษณะที่ไม่มีการเตรียมการ และเข้าใจสภาวะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า มีเงื่อนไขอะไร
                ๒.  ด้านการข่าว หลังจากเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงติดต่อกันหลายครั้งในปี ๒๕๔๔ เช่น มีการวางระเบิดสถานีรถไฟหาดใหญ่ เมื่อเมษายน และเหตุการณ์ช่วงปี ๒๕๔๔ - ๒๕๔๕ ที่มียุทธการใบไม้ร่วง ที่มีการสังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจไปหลายนาย แม้สภาความมั่นคงแห่งชาติ จะมีการทบทวนงานด้านการข่าว ให้มีการประสานงานโดยจัดตั้ง "ศูนย์ข่าวร่วม" ขึ้น ก็ยังไม่สามารถทำงานได้ทันกับสถานการณ์
                    - การประสานงานด้านการข่าวระหว่างทหารกับตำรวจ น่าจะยังมีปัญหาอยู่
                    - สิ่งสำคัญที่ทำให้งานการข่าวไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน คนมุสลิมส่วนใหญ่เพิกเฉย ไม่สนใจบางส่วน หรืออาจไม่พอใจเจ้าหน้าที่ ดังนั้น การได้รับความร่วมมือแจ้งเบาะแสจากประชาชนแทนไม่มี
                    - ข้าราชการที่ส่งไป ถูกมองว่าไม่จำเป็นต้องคัดเลือกจากพื้นที่ แม่ทัพภาคที่ ๔ ไม่ได้ขึ้นมาจากรองแม่ทัพ รอง เสธ. หรือเสธ. เพราะเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับนายก ฯ
                ๓.  การยกเลิกองค์กรที่มีอยู่ โดยยุบ พตท. ๔๓ หรือ ศอ.บต. โดยที่ไม่มีส่วนอื่นมารองรับ ประชาชนถูกละเลย ความเห็นของประชาชนถูกตัดออกไป ทำให้เกิดช่องว่าง
                ๔.  นโยบายรัฐบาลบางอย่างขัดกับหลักศาสนาอิสลาม เช่น เรื่องกองทุนหมู่บ้านซึ่งมีดอกเบี้ย หรือการนำเงินจากหวยบนดินมาเป็นทุนการศึกษา สิ่งเหล่านี้คนมุสลิมรับไม่ได้
                ๕.  นโยบายการใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ เพื่อความสงบ ยังเป็นปัญหาเพราะความสงบที่เกิดจากการใช้อำนาจ ไม่ฟังความเห็นคนอื่น ทำให้เกิดการต่อต้านท้าทาย
                ๖.  มีกลุ่มบุคคลที่ต้องการดิสเครดิตรัฐบาล โดยเฉพาะ รมว.มท. โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูญเสียผลประโยชน์ จากการค้าสินค้านอกกฎหมาย (มติชนรายวัน ๒๙ ม.ค.๔๗)
            ๖.๓  นพ. ประเวศ วะสี  เขียนบทความลงใน นสพ.มติชนรายวัน ให้ความเห็นเกี่ยวกับปัญหาชายแดนภาคใต้ว่า
                ปัญหาชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาเรื้อรัง และปะทุเป็นความรุนแรงหลายครั้งเรื่อยมา ถ้าแก้ไม่ตรงสาเหตุ ก็อาจบานปลายและเป็นชนวนให้เป็นเรื่องใหญ่ต่อไป ควรแบ่งสาเหตุเป็นสาเหตุหลัก และสาเหตุประกอบ และแก้ปัญหาให้ตรงกับสภาพของสาเหตุแต่ละประเภท
            สาเหตุหลัก คือ
                ๑.  ความขัดแย้งระหว่างระบบราชการรวมศูนย์กับวัฒนธรรมท้องถิ่น (ในที่นี้คือ วัฒนธรรมอิสลาม)
                ๒.  ขาดความเป็นเอกภาพของหน่วยราชการ
            สาเหตุประกอบ คือ
                ๑.  โจรกระจอก หรือโจรไม่กระจอก
                ๒.  ขบวนการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งอาจเคยมี
                ๓.  ความเชื่อมโยงกับขบวนการก่อการร้ายนอกประเทศ ที่อาจจริงหรือไม่จริง
                ๔.  การสร้างสถานการณ์โดย "หน่วยปฎิบัติกการของประเทศมหาอำนาจ" ที่ไม่ต้องการเห็นความสงบในภูมิภาคนี้ ข้อนี้ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึง (มติชนรายวัน ๒๖ ม.ค.๔๗)
๗.  แนวคิดในการแก้ปัญหา
                ๗.๑  นายเด่น  โต๊ะมีนา  สว.ปัตตานี ให้สัมภาษณ์ นสพ.มติชนรายวัน ว่า
                    "ไม่คิดบ้างหรือว่า ให้เขาปกครองกันเองได้ไหม เป็นนายอำเภอเอง เป็นผู้ว่า ฯ กันเอง อย่างมณฑลซินเกียงเขาปกครองกันเอง ไม่เห็นมีปัญหา เพราะฉะนั้น มันต้องเปลี่ยนโครงสร้างแล้ว ต้องยอมรับความจริงแล้ว ร้อยปีแล้วโครงสร้างไม่ขยับไปไหนเลย เวลานี้ทุกคนพูด ทำอย่างไรให้ประชาชนร่วมมือ ก็อย่าให้ประชาชนเดือดร้อน"
                    "ปัญหาภาคใต้จะยังเป็นอย่างนี้ต่อไป ถ้าโครงสร้างยังเป็นแบบนี้ ฝ่ายใครลงไปก็แก้ไม่ได้ เพราะโครงสร้างเหมือนเดิม" (มติชนรายวัน ๒๑ ม.ค.๔๗)
                ๗.๒  นายมุข สุไลมาน  เลขานุการ รมว.มท.  ได้กล่าวในการสัมมนาหัวข้อ "อิสลามอุษาคเนย์ ; จากเปอร์เซียสู่สุวรรณภูมิ" ซึ่งจัดขึ้นที่คณะศิลปศาสตร์ มธ. เมื่อ ม.ค.๔๗ ว่า "ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่แข็ง เขารู้สึกว่าจะมีเภทภัย มีใครมาทำลายล้าง คนที่นับถือศาสนาอิสลามจะต้องปกป้องอย่างสุดชีวิต เป็นหน้าที่ที่ต้องปกป้องศาสนา คนส่วนใหญ่มักจะมองว่ารุนแรงไป ที่จริงแล้วศาสนาอิสลามพยายามหลีกเลี่ยง ประณีประนอม เพื่อให้เกิดความสงบสุข หรือเว้นแต่หลีกเลี่ยงและประณีประนอมไม่ได้ จึงมีบางจุดบางแห่ง อาจมีพฤติกรรมอย่างนี้ เราอาจไม่ได้รับรู้ในส่วนของเขา ไม่รู้รายละเอียด ดังนั้นต้องศึกษารายละเอียด อย่ารับรู้ในส่วนของเขา ไม่รู้รายละเอียด ดังนั้นต้องศึกษารายละเอียด อย่ารับรู้อย่างผิวเผินจากหนังสือพิมพ์ ข่าวสารการพูด ค่อนข้างเลี่ยงที่จะสรุป (มติชน ๒๑ ม.ค.๔๗)
                ๗.๓ นายดีล แมม๊ะมิจิ  ประธานกรรมการอิสลาม จ.ปัตตานี กล่าวว่า จากการที่ทางคณะกรรมการอิสลาม ๓ จังหวัดภาคใต้ และชมรมนักกฎหมายมุสลิม จัดเวทีเสวนาที่เขตปัญหาชายแดนใต้ และทางออก เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เมื่อวันที่ ๑๘ ม.ค.๔๗ ทางผู้จัดได้ประมวลผลสรุป เพื่อนำเสนอไปยังรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีทั้งหมด ๑๒ ข้อ  มีสาระสำคัญคือ
                    ๑.  รัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยสันติวิธี
                    ๒.  ขอให้ นายก ฯ มาพบปะพูดคุยกับประชาชนอย่างสม่ำเสมอ
                    ๓.  รัฐต้องแสดงความจริงใจ และยอมรับความจริง
                    ๔.  ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา
                    ๕.  พัฒนาศักยภาพองค์กรประชาชน
                    ๖.  มีมาตรฐานควบคุมการเสนอข่าวของสื่อมวลชน สื่อต้องไม่ใช้คำว่า ผู้ก่อการร้ายมุสลิม
                    ๗.  ปฎิรูปงานด้านการข่าวกรองของรัฐให้มีประสิทธิภาพ
                    ๘.  อธิบายเหตุผลในการยกเลิก ศอ.บต.
                    ๙.  ระมัดระวังในการตรวจค้นปอเนาะ
                    ๑๐.  แก้ปัญหาพื้นฐานด้านเศรษฐกิจ และความยากจน
                    ๑๑.  ปฎิรูประบบราชการให้คนในพื้นที่เข้ามาทำงานในมากที่สุด และ
                    ๑๒.  ขอให้ประชาชนในพื้นที่ควรได้รับโอกาสเป็นข้าราชการมากขึ้น
                  (สยามรัฐรายวัน ๒๐ ม.ค.๔๗)
                ๗.๔  นพ. ประเวศ วะสี  เขียนบทความลงใน นสพ.มติชนรายวัน ให้ความเห็นในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ว่า
                    ๑. กระจายอำนาจการพัฒนาไปสู่วัฒนธรรมท้องถิ่น (ในที่นี้คือ วัฒนธรรมอิสลาม)  เพราะวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง วัฒนธรรม หมายถึง วิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชน อันสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน ที่เรียกว่า ความหลากหลายทางวัฒนธรรม การพัฒนาอย่างยั่งยืน คือการพัฒนาที่เอาวัฒนธรรมเป็นตัวตั้ง เงินมีความสำคัญก็จริง แต่ถ้าพัฒนาโดยเอาเงินเป็นตัวตั้ง จะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกัน ถ้าเอาวัฒนธรรมเป็นตัวตั้ง ทุกชุมชนท้องถิ่น และประเทศจะมีเกียรติ และศักดิ์ศรีเสมอกัน
                    ๒. สร้างความเป็นเอกภาพในระบบรัฐ ที่ปักษ์ใต้เราได้ยินเสมอว่า ทหารกับตำรวจก็ขัดแย้งกัน หรือบางครั้งก็มีการกล่าวหากันว่า ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสร้างสถานการณ์ ต้องสร้างความเป็นเอกภาพระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ และเป็นเอกภาพกับนโยบายของรัฐบาล
                ฉะนั้น ควรใช้โอกาสตัวอย่างวิกฤตการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำงานเรื่องกระจายอำนาจการพัฒนาไปสู่วัฒนธรรมท้องถิ่น และสร้างความเป็นเอกภาพของหน่วยราชการ ในการสนับสนุนการกระจายอำนาจทางการพัฒนา ไปสู่วัฒนธรรมท้องถิ่นทุกท้องถิ่นทั่วประเทศ  เพื่อความแข็งแรงของฐานล่างของสังคม อันจะรองรับให้สังคมทั้งหมดมั่นคงและยั่งยืน (มติชนรายวัน ๒๖ ม.ค.๔๗)
            ๗.๕  นายชลวิทย์  เจียรจิตต์  ภาควิชาสังคมวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มศว. เขียนบทความลงใน นสพ.มติชน เสนอแนะการแก้ปัญหาหภาคใต้โดยวิถีศาสนธรรม เพื่อสันติธรรมใน "ภาคใต้" ว่า  สังคมไทยยอมรับทางศาสนาอยู่ในฐานะเป็นศาสนาร่วมกันอันเป็นมิตรมาโดยตลอด เหตุการณ์พระสงฆ์สามเณรถูกฆ่าอย่างทารุณ ขณะบิณฑบาต ๓ รูป ทางภาคใต้ ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกใจกับชาวไทยอย่างยิ่ง จึงขอให้ทุก ๆ ส่วนจำเป็นต้องระมัดระวังในท่าที การเสนอความคิดเห็นและหยุดนิ่ง ตั้งสติใคร่ครวญพิจารณา ไม่ปุจฉาวิปัสชนาโดยขาดการไตร่ตรอง ปัญหานี้ใช้อารมณ์แก้ปัญหาไม่ได้เด็ดขาด
            วิธีแก้ปัญหาลักษณะอัตถประโยชน์นิยม คงช่วยกันหลายด้าน
                ๑. ประชุมร่วมทั้งพระสงฆ์และชาวมุสลิม เพื่อหาทางป้องกันมิให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น หาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน ต้องเร็วและชัดเจน
                ๒. พระสงฆ์ต้องบิณฑบาต เพราะถือว่าเป็นกิจของสงฆ์ในการโปรดสัตว์ คงขอพุทธศาสนิกชนเป็นลูกศิษย์ ร่วมเดินทางขณะบิณฑบาตโปรดสัตว์
                ๓. ถือโอกาสมองวิกฤตเป็นโอกาส สร้างความเข้าใจเป็นกลุ่มศาสนสัมพันธ์ ทั้งพุทธศาสนิกชนและอิสลามิกชน
                ๔. สื่อมวลชนแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตชุมชนพุทธ ชุมชนมุสลิม ทั้งวิถีชีวิตเด็ก ผู้ใหญ่ การค้าขาย ความเป็นอยู่ที่แยกกันไม่ได้ และอยู่ร่วมกันฉันมิตร ตลอดประวัติศาสตร์อันยาาวนาน เพื่อมิให้ตกเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดี จำนวนน้อยที่หวังก่อให้เกิดการแตกแยกครั้งใหญ่ ที่สำคัญสื่อมวลชนทุกแขนง ต้องไม่เสนอข่าวตามกระแส ทำนองยุยงให้เข้าใจผิด
                ถึงคราวที่ชุมชน  สังคมทุกฝ่าย ทุกสถาบัน ฝ่าฟันกำแพงปิดกั้น เพื่อเปิดแนวทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ประเภทจับ ๑ เพิ่มศัตรู ๑๐๐ มิใช่ทางออกแน่ แต่ควรหาแนวทางร่วมกันกับสังคม ทหารสัมพันธ์ ตำรวจสัมพันธ์ มวลชนสัมพันธ์ ลูกเสือชาวบ้าน ข้าราชการทุกฝ่าย รวมทั้งพระสงฆ์ โต๊ะอิหม่าม  โต๊ะครู บาทหลวง ประชาคมต่าง ๆ ร่วมกันผนึกกำลัง ลุกขึ้นต่อต้านเหล่าคนไทย ใจเป็นอื่นให้รับรู้ เราไม่ต้องการวิธีเช่นนี้
                วิถีทางศาสนา ธรรมทุกศาสนาเพื่อสันติธรรม ดำรงตนให้มุ่งมั่นในสิ่งที่ดีงาม อยากเห็นการแก้ปัญหาระดับความรู้สึกอย่างมีส่วนร่วม ด้วยหลักธรรม ขอการมรณภาพของภิกษุสามเณร เป็นบทพิสูจน์ของสัจธรรมการอยู่เพื่อสันติ (มติชนรายวัน ๕ ก.พ.๔๗)
                ๗.๖  นายเกษียร  เตชะพีระ  กล่าวถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านทาง นสพ.มติชนว่า อาการวิตกวิจารณ์ และปักจิตใจเด็ดเดี่ยว มิยอมเสียดินแดนแม้แต่ตารางนิ้วเดียวนั้น ส่อว่าผู้นำรัฐบาลยังหลงประเด็น ไม่เข้าว่าอะไรคือ สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องปกป้อง
                บูรณภาพเหนือดินแดน (territorcal integrily) มิอาจมั่นคงยั่งยืนได้ หากปราศจากบูรณภาพทางสังคม (socio-cuhural integrity) กรองรับความเป็นจริงทางสังคมอันเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะของพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ตามที่เป็นมาในประวัติศาสตร์ (ติดทะเล อยู่ในเส้นทางพาณิชยนาวี เป็นจุดบรรจบของหลากหลายกระแสอารยะธรรม และของนักเดินทาง นักบวช ผู้อพยพนานาภาษา ศาสนา และชาติพันธุ์) คือ กอร์ปไปด้วยผู้คนหลากหลายวัฒนธรรม ทั้งจีน แขก ไทย ลาว ทั้งพุทธ มุสลิม ทั้งพูดไทย จีน ยาวี ฯลฯ หากมองจากสายตาของผู้รักษาความมั่นคงแห่งชาติ ใต้เงาสงครามเย็นในกรุงเทพ ฯ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม อาจเป็นจุดอ่อนเปราะ แต่หากมองจากสายตาของมวลชนในพื้นที่ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมกลับเป็นจุดเด่น ที่เป็นเอกลักษณ์และจุดแข็งของสังคมชายแดนภาคใต้ เพราะผู้คนและชุมชนต่างวัฒนธรรมในพื้นที่ได้ค่อย ๆ สะสมประสบการณ์และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน พึ่งพาอาศัยกันช่วยเหลือเกื้อกูล ปฎิสัมพันธ์ คบค้าสมาคม รวมทั้งทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างสันติสืบมา สังคมหลากหลายวัฒนธรรม (mutti cultural society)  แห่งชายแดนภาคใต้ ได้ค่อย ๆ พัฒนาวัฒนธรรมสันติธรรม (peace culture) งอกงามเบ่งบานขึ้นมา ท่ามกลางวัฒนธรรมอันแตกต่างหลากหลาย (socal cultures) ของตน
                นี้คือ รากฐานและเคล็๋ดลับของบูรณาภาพทางสังคมวัฒนธรรม (socio-coltural integrity) ของพื้นที่ชายแดนภาคใต้ แผ่นดินที่มีบูรณาภาพทางสังคมวัฒนธรรมเช่นนี้ ย่อมเข้มแข็งยืนยง ทำลายได้ยาก ถึงจะถูกข้าศึกสัตรูล่วงล้ำ ยึดครองดินแดนไปสักหลายตารางนิ้ว ก็จะไม่เสียแผ่นดิน ไม่เสียอิสรภาพ เพราะหัวใจผู้คนร่วมแผ่นดิน ผูกพันรักมั่นอยู่ด้วยกัน (มติชนรายวัน ๓๐ ม.ค.๔๗)
                ๗.๗  นายเกรียง วิศิษฎ์สรอรรถ  นายกสมาคมหมอยุติธรรม ได้เสนอแนวคิดในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ใน นสพ.มติชนรายวัน โดยเสนอ ๓ มาตรการหลัก และ ๒ มาตราการเสริม ประกอบด้วย
                มาตรการหลัก
                    ๑.  ต้องมีการปรับปรุงสภาพแวดล้อม และช่วยประชาชนให้มีทัศนคติที่ดี ต่อฝ่ายข้าราชการ
                    ๒.  ต้องพิทักษ์ประชาชน หรือทรัพยากรบุคคล การที่ตำรวจและทหารเสียชีวิตจากเหตุการณ์ระเบิด ถือว่าเป็นการพิทักษ์ประชาชนหรือยัง
                    ๓.  รัฐต้องปราบปรามผู้ถืออาวุธ ซึ่งที่ผ่านมายอมรับว่า มีการปราบปรามแต่วิธีการมองคนละมุม
                มาตรการเสริม
                    ๑.  ในการดำเนินงานด้านข่าวกรอง ต้องให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ การที่บอกว่าการแจ้งข่าวแล้วว่า จะมีเหตุร้าย รู้จริงแค่ไหน หากรู้ก่อนจริงต้องหาทางป้องกันมากกว่านี้
                    ๒.  ต้องใช้หลักจิตวิทยาเข้าช่วยเหลือประชาชน ข้อนี้รัฐบาลทำแต่ไม่เข้มแข็ง ความไม่สงบที่เกิดขึ้น เป็นพฤติกรรมการก่อการร้าย ต้องให้ทหารทำ เพราะเขาฝึกฝนเรื่องนี้มา พร้อมกันนี้ต้องมอบอำนาจให้เขา อย่างการประกาศกฎอัยการศึก ถือว่าทำถูกต้องแล้ว (มติชนรายวัน ๒๙ ม.ค.๔๗)
                ๗.๘  นายนิธิ เอียวศรีวงศ์  เขียนบทความลงใน นสพ.มติชน เกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาตใต้ว่า สถานการณ์ในภาคใต้น่าเป็นห่วง ถ้ายอมรับว่าสาเหตุไม่ได้มาจาก ''โจรกระจอก" เพียงไม่กี่คน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การดำเนินงานทั้งหมดนับตั้งแต่การเผาโรงเรียน พร้อมกับปล้นค่ายทหาร เรื่อยลงมาถึง
                รัฐบาลตอบสนองปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการกระทำสองอย่างคือยืนยันอำนาจรัฐด้วยวิธีการที่นายกเรียกว่า "เชิงรุกอย่างเด็ดขาด" และเร่งรัดให้เกิด "การพัฒนา" อย่าง รวดเร็ว
                การยืนยันอำนาจรัฐนั้น จำเป็นต้องทำและเป็นมาตรการเร่งด่วนที่ต้องทำให้สำเร็จโดยเร็ว ก่อนที่ประชาชนจะหมดความเชื่อถืออำนาจรัฐไปโดยสิ้นเชิง แต่การยืนยันอำนาจรัฐด้วยวิธีการ "เชิงรุกอย่างเด็ดขาด" นั้น อาจทำให้ความไว้วางใจระหว่างรัฐและประชาชน ซึ่งเปราะบางอยู่แล้ว ยิ่งลดต่ำลงไปอีกก็ได้ อาจทำให้ปัญหายิ่งบานปลายและกินลึกขึ้นไปอีก ตรงข้ามวิธีการ "เชิงรับอย่างเด็ดขาด" ต่างหาก ที่จะสามารถรักษาอำนาจรัฐได้อย่างชัดเจนกว่า และเพิ่มความไว้วางใจระหว่างกันได้มากกว่า
                บทเรียนของทหารอเมริกันในอิรัก น่าจะเรียนรู้กันให้ดี เพราะยิ่งเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ละเมิดสิทธิของผู้คนมากเท่าไร อเมริกันยิ่งได้ศัตรูในอิรักเพิ่มขึ้นเท่านั้น แม่แต่ประชาชนที่เคยโห่ร้องต้อนรับกองทัพอเมริกันในวันก่อน วันนี้ก็อาจกลายเป็นระเบิดพลีชีพ เพื่อขับไล่อเมริกันได้ (มติชนรายวัน ๒ ก.พ.๔๗)
                ๗.๙  อจ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์  ได้เสนอรายงานวิจัยเรื่อง "ประวัติศาสตร์ และการเมืองของมุสลิมในรัฐไทย" ในการสัมมนาหัวข้อ "อิสลามในอุษาอาคเนย์ : จากเปอร์เซียสุสุวรรณภูมิ" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ ม.ค.๔๗ บอกการูปก็ไช้ปัญหาความไม่สงบ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า "การแก้ไขปัญหาจึงไม่สามารถยุติได้ด้วยการใช้กำลัง และอำนาจรัฐเข้าไปปราบปรามเท่านั้น เพราะยิ่งปราบก็ยิ่งสร้างแรงต่อต้าน แต่ต้องยอมรับความจริงว่า มุสลิมในภาคใต้มีความเป็นเจ้าของชุมชนและอดีต และรวมถึงวัฒนธรรม ความเชื่อศาสนา อันเป็นเฉพาะของตนเอง รัฐบาลไทยจึงต้องปรับเปลี่ยนโลกทรรศใหม่ว่า การสร้างและรักาารัฐไทยต่อไป จะต้องให้สิทธิและเสรีภาพอันสมบูรณ์แก่ชาวมุสลิม ในการจัดการและปกครองชีวิต และชุมชนตนเองให้มากและเป็นจริงที่สุด" (มติชนรายวัน ๒๑ ม.ค.๔๗)
                ๗.๑๐  พล.อ.หาญ ลีนานนท์ อดีตแม่ทัพภาคที่ ๔  เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาภาคใต้ในการสัมภาษณ์ของ นสพ.มติชนรายวัน ว่า "กระทรวงศึกษาธิการต้องเข้าไปดูแลปอเนาะ (โรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม) จะห้ามไม่ให้เด็กไปเรียนคงไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้เขาเรียนรู้ภาษาไทยควบคู่ไปด้วย แม้แต่อินเดีย สิงคโปร์ที่เคยเป็นเมืองขึ้นอังกฤษ เขายังพูดภาษาอังกฤษคล่องแคล่ว แต่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราปกครองมากี่ร้อยปีแล้ว ทำไมคนแถบนั้นยังมีความคิดฝังใจว่า พูดภาษาไทยแล้วบาป และถ้าใครมีเงินจะส่งลูกไปเรียนเมืองนอก แต่พอกลับมาก็ถูกกาหัวว่าเป็นอุดมการณ์ เข้ารับราชการไม่ได้"
                "เวลาผ่านมา ๒๐ กว่าปี เราทำใต้ร่มเย็นเรียบร้อยสมบูรณ์ ความสงบสุขกลับคืนมายัง ๑๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเข้าใจปัญหาวัฒนธรรมและวิถีชีวิต เราต้องส่งเสริมให้คนไทยมุสลิมปกครองกันเองให้มาก ถึงจะแก้ปัญหาได้สำเร็จ ซึ่งแนวคิดนี้ เคยทำได้และแก้ปัญหาได้ผลมาแล้ว"
                การแก้ไขปัญหา รัฐบาลต้องลดไปแก้ด้วยความสุขุม รอบครอบ แต่การแก้ปัญหาระยะยาว จะต้องเริ่มทำตั้งแต่บัดนี้คือต้องส่งเสริมการศึกษา เพื่อให้ชาวมุสลิมเข้ามาประกอบอาชีพได้ทุกสาขา ให้ทุนเรียนฟรี แล้วให้สอบแข่งขันกันเอง รวมทั้งให้ชาวมุสลิมเป็นชนชั้นปกครองใน ๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล ให้ได้ ๗๕  เวลาขึ้นไปที่ว่าการอำเภอ ศาลากลางจังหวัด ศาล โรงพัก จะได้มีความสบายใจ (มติชนรายวัน ๑ ก.พ.๔๗)
                ๗.๑๑  นายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อจ.คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์  กล่าวสนับสนุนของนายมุข สุไลมาน เลขานุการ รมว.มท. ในการสัมมนาที่คณะศิลปศาสตร์ มธ.ในหัวข้อ "อิสลามอุษาคเนย์ : จากเปอร์เซียสู่สุวรรณภูมิ" ว่า
                การแก้ปัญหาภาคใต้ต้องมองอย่างรอบด้าน อย่ามองเพียงความไม่สงบ ควรมองไปถึงปัญหาความยากจน การทุจริต ความไม่เป็นธรรมด้วย โดยเฉพาะที่รัฐทุ่มทรัพยากรเงินลงไป ต้องถามว่าไปตกอยู่ในมือใคร ข้าราชการฉ้อฉลหรือไม่ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ถ้าประกาศว่าจะต้องจับตัวผู้กระทำผิดได้ภายใน ๗ วัน เชื่อว่าผู้ที่จะพูดจับคือ คนที่มีอำนาจน้อยที่สุด (มติชน ๒๑ ม.ค.๔๗)
๘.  การแก้ไขปัญหาของรัฐบาล
                ๘.๑  ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะเริ่มคลำทางออก การแก้ปัญหาภาคใต้ได้บ้างแล้ว  หลังจากเป็นมวยเมาหมัดอยู่หลายยก เพราะคอยเงี่ยหูฟังแต่พี่เลี้ยงบางคนมานาน วันนี้เมื่อรัฐบาลสามารถฟื้นอาการกลับสู่สนามได้ พร้อมกันทำให้เห็นว่า พอที่จะเข้าสู่ปัญหาที่แท้จริงแล้ว การแก้ปัญหาที่ถูกจุดก็เริ่มทยอยตามมาทีละเรื่องที่ละจุด เพราะอย่าง พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รมว.กลาโหม ได้ให้สัมภาษณ์ว่า
                "แต่เดิมคุมไม่ได้ แต่ขณะนี้ใกล้ได้แล้ว จึงต้องค่อย ๆ ทำงานไป จะติดเป็นเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ว่าจะได้กี่เปอร์เซ็นต์ และขณะที่ประชาชนในพื้นที่ก็วางเฉย ไม่ได้เข้าข้างฝ่านหนึ่งฝ่ายใด แต่ก็ระวัง เมื่อเห็นว่ามีความปลอดภัยก็จะมาแจ้งข่าวกับทางราชการ ซึ่งเมื่อ ๒ วันก่อน ไปจับกุมพวกฟันนักเรียน ก็ได้รับแจ้งข่าวจากประชาชน และต้องยอมรับว่าก่อนหน้านี้ ที่ประชาชนไม่แจ้งข่าวนั้น เพราะความกลัว รักชีวิต แต่เมื่อสถานการณ์ให้ความปลอดภัยได้แล้ว และมีความถูกเกิดขึ้น เช่น การไล่ฟันพระ นักเรียน ซึ่งประชาชนไม่เห็นด้วย ก็จะหาทางแจ้งข่าวกับทางราชการ" (เดลินิวส์รายวัน ๓๑ ม.ค.๔๗)
                ๘.๒  เมื่อวันที่ ๒ ก.พ.๔๗  นายกรัฐมนตรีเรียกประชุมด่วนหน่วยงานด้านความมั่นคง เพื่อหารือเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ หลังการประชุมนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมได้กระชับการทำงาน เพื่อให้มั่นใจว่า แนวทางที่ทำมาทั้งหมดเป็นที่เข้าใจร่วมกัน ได้แบ่งการทำงานเป็น ๓ ส่วนคือ
                    (๑)  ส่วนที่ต้องจัดการกับผู้กระทำผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาด ให้ พล.อ.ธรรมรักษ์ ฯ เป็นผู้ดูแล
                    (๒)  ส่วนที่ต้องเร่งรัดให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดสมดุลให้ พล.อ.ชวลิตฯ เป็นผู้ดูแลและ
                    (๓)  ส่วนที่ต้องเร่งจัดระเบียบสิ่งที่ปล่อยปละละเลย หรืออ่อนแอมานาน ให้ นายวันมูหะมัดนอร์ เป็นผู้ดูแล
                (มติชนรายวัน ๓ ก.พ.๔๗)
๙.  อุปสรรคในการแก้ปัญหา
                ๙.๑  พล.อ.หาญ ลีนานนท์  อดีตแม่ทัพภาคที่ ๔  ให้สัมภาษณ์ ถึงแนวทางแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ใน นสพ.มติชนรายวัน ว่า " ที่สำคัญ เวลานี้ผู้ใหญ่บ้านเมืองลงไป จะวุ่นวายกันไปหมด การข่าวรายงานสายตรงผู้ใหญ่ ปล่อยแม่ทัพนั่งเป็นหัวหลักหัวตอ ถูกขี่คอ"
                เหตุการณ์ความไม่สงบ แม้จะยังอึมครึมว่ามี "นักการเมือง" เข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่ พล.อ.หาญ ยทนยันว่า "การเมืองท้องถิ่นนั้นแหละตัวแสบ ทำให้พื้นที่ตกอยู่ภายในอำนาจมืด คนในพื้นที่รู้ดีว่าพวกนี้ถือหางใคร เป็นหัวคะแนนใคร แก้ปัญหาที่ลูบหน้าปะจมูก จนทำให้รังสีโจรแน่น ครอบคลุมพื้นที่ไปหมด แล้วอย่างนี้ ท่านผู้ทรงเกียรติทั้งหลาย จะไม่ทำให้สภาปั่นป่วนหรือ" (มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๑ ก.พ.๔๗)
                ๙.๒  นายเด่น โต๊ะมีนา  สว.ปัตตานี  ให้สัมภาษณ์ นสพ.มติชนรายวัน ว่า  "ครั้งนี้ ผมเป็นห่วงว่าจะจับแพะกันอีก การเรียกโต๊ะอิหม่ามไปสอบสวนก็ไม่ว่ากัน แต่อยากให้สืบให้ชัดเจนก่อน เพราะสงสัยคนนั้นคนนี้แล้วเรียกมาสอบหมดเลย ทำให้เกิดความสงสัยกับประชาชน ไม่ว่าระดับโต๊ะอิหม่าม หรือโต๊ะครู
                แล้วเรื่องนี้ตูมขึ้นมา กลไกของรัฐเปิดบัญชีทันที รายชื่อแบล๊คลิสต์ รู้แล้ว ๆ รู้ได้อย่างไร อ้างว่าคนนั้นคนนี้ ขณะนี้หนีไปอยู่มาเลเชียแล้ว ทำไมพูดเลย ทำไมไม่มองในหลายมิติ คนอื่นทำไม่เป็นหรือ" (มติชนรายวัน ๒๑ ม.ค.๔๗)
                ๙.๓  ดร.จรัล  มะลูลีม  ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี  ปรารภ เหตุการณ์ภาคใต้ไม่รุนแรงอย่างที่เป็นข่าว มีสถานการณ์ลึก ๆ แอบแฝง ปล่อยข่าวสับสน กระทบความรู้สึกมุสลิมใต้
                คนที่มีความคิดเรื่องแบ่งแยกดินแดนนั้น ขณะนี้อาจมีเหลืออยู่บ้าง แต่ไม่มีบทบาทใด ๆ และไม่น่าจะเกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนี้ ซึ่งน่าจะเกิดจากกลุ่มอื่นที่มีความขัดแย้ง หรือเสียประโยชน์ ดร.จรัล ฯ เองไม่เชื่อว่าคนที่เป็นโต๊ะครูสอนศาสนา อยู่กับตำราศาสนาจะพลิกกลับไปสะสมอาวุธ เพื่อการก่อเหตุร้าย
                ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พูดถึงการเสนอข่าวว่าน่าเป็นห่วง ที่เสนอกันไปอย่างสับสน จนกระทบกระเทือนความรู้สึกของพี่น้องมุสลิมในภาคใต้
                ดร.จรัล ฯ เตือนการกระทำบางอย่างของเจ้าหน้าที่ในการติดตามสอบสวนหาความจริงว่า การตรวจตามบ้าน ต้องพิจารณาศึกษาวัฒนธรรมของคนที่นั่น มิฉะนั้นอาจสร้างความไม่พอใจ และทำให้เกิดการต่อต้านเจ้าหน้าที่ของทางราชการ ต่อไปได้ เช่น การสวมรองเท้าขึ้นไปบนบ้าน หรือการนำสุนัขขึ้นไปด้วย เป็นต้น (สยามรัฐ ๒๒ ม.ค.๔๗)
                ๙.๔  การแก้ไขปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่อเค้าจะยุ่งยากมากขึ้น เมื่อผู้นำมุสลิมใน ๓ จังหวัดภาคใต้ ได้แสดงปฎิกิริยาไม่พอใจ ต่อการปฎิบัติงานแก้ไขปัญหาของรัฐบาล โดยออกแถลงการณ์ขอยุติบทบาทในการให้ความร่วมมือ ประสานงานแก้ไขปัญหา หลังจากเจ้าหน้าที่ยังคงเข้าตรวจค้น โรงเรียนสอนศาสนาอีกบ่อยครั้งในระยะหลัง
                เมื่อวันที่ ๘ ก.พ.๔๗  ศูนย์ประสานงานคณะกรรมการอิสลามประจำ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ ๑ ไปตามโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม มัสยิด สุเหร่า ชุมชนชาวไทยมุสลิมทั้ง ๓ จังหวัด ในหัวข้อว่า "ขอยุติบทบาท" มีรายละเอียดสรุปว่า
                จากเหตุการณ์ปัญหา และวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ ๔ มกราคม เป็นต้นมา จนถึงวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ เป็นเวลา ๑ เดือน ๓ วัน ข้าพเจ้าทั้งหลาย ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการอิสลาม ประจำจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน และผู้หวังดีในท้องถิ่นทุกคน เสียใจและกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงให้ความสำคัญในการร่วมมือแก้ไขปัญหาเป็นอย่างดียิ่ง ได้ร่วมประชุมกับนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี แม่ทัพภาคที่ ๔ และหัวหน้าส่วนราชการ กว่า ๑๐๐ ครั้ง
                "แต่ผลสรุปจากการประชุมไม่ได้รับการปฎิบัติอย่างจริงจัง  โดยดำเนินการตรวจค้น จับกุม และทำลายความน่าเชื่อถือของผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน และคนท้องถิ่นมาขึ้น ล่าสุดเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ เวลา ๒๑.๐๐ น. เข้าตรวจค้นโรงเรียนเตรียมศึกษาวิทยา หมู่ที่ ๕ ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้มี นายแวตือราแม มะมิงจิ ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เป็นผู้จัดการโรงเรียน
                ถือว่า ทางราชการไม่ให้ความสำคัญในผลการประชุมที่ผ่านมาแต่อย่างใด ทำให้สถาบันคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด สูญเสียความน่าเชื่อถือ และทำลายความศรัทธาของประชาชน จึงได้ประชุมร่วมกันและมติว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ขอยุติบทบาทในความร่วมมือ ประสานงานการแก้ไขปัญหาครั้งนี้ จนกว่าจะมีมาตรการร่วมกันอย่างชัดเจน (มติชนรายวัน ๙ ก.พ.๔๗)
                รายชื่อประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด
                    ๑.  จ.ปัตตานี - นายแวตือราแม มะมิงจิ
                    ๒.  จ.ยะลา - นายอับดุลเราะแม เจะแซ
                    ๓.  จ.นราธิวาส - นายอับดุลเราะห์มาน อับดุลสมัด
๑๐. ข้อเสนอให้รื้อฟื้น ศอ.บต.
            พล.ต.อ. วสิษฐ  เดชกุญชร  เสนอแนวคิดในการฟื้น ศอ.บต. ไว้ใน นสพ.มติชน หัวข้อ "เหตุร้ายในภาคใต้ (๒)" ในประการสุดท้ายของบทความ ...พฤติการณ์ของผู้ก่อการร้าย แสดงว่า พวกเขาทำงานกันเป็นขบวนการ โดยไม่สนใจว่าอยู่ในจังหวัดไหน เพราะฉะนั้น ลำพังผู้ว่าราชการจังหวัดเดียว และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเดียวคงไม่ไหว การตอบโต้ของเจ้าหน้าที่ จะต้องกระทำด้วยการรวมทรัพยากรของทุกหน่วย ในภาคใต้ตอนล่างเข้าด้วยกัน โดยไม่คำนึงถึงเขตจังหวัด เช่นเดียวกัน โดยถือเอาเอกภาพในการตอบโต้เป็นสำคัญ คือ ตอบโต้แบบ "บูรณาการ" ที่นายกรัฐมนตรีชอบนักชอบหนานั่นแหละ
                แม้ว่าจะต้องรื้อฟื้น ศอ.บต. ขึ้นมาอีก ก็ควรทำ หากเห็นว่ามีประโยชน์และจำเป็น (มติชนรายวัน ๒๐ ม.ค.๔๗)
๑๑. บทบาทของมาเลเซีย
                ๑๑.๑  ดาโต๊ะศรีอับดุลลาห์อาหมัด มาดาวี  นรม.มซ. เดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อ ๑๖ ม.ค.๔๗ กล่าวว่า มาเลเซียยังไม่มีหลักฐานโยงว่า เหตุการณ์รุนแรงทางภาคใต้ของไทย มาจากปฎิบัติการโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายระดับภูมิภาค หรือเครือข่ายก่อการร้ายอัลเคดา และถึงขณะนี้มาเลเซียยังไม่มีข้อมูลใด ๆ ว่าอัลเคดา หรือเจอาห์อิสลามิยาห์ เกี่ยวพันกับสถานการณ์รุนแรงทางภาคใต้ของไทย ซึ่งหากมีรายงานเช่นนี้เกิดขึ้นจริง ก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ของภูมิภาคอาเซียน
                อย่างไรก็ตาม มาเลเซียจะให้ความร่วมมือกับไทยอย่างเต็มที่ เพื่อพยายามระงับเหตุการณ์รุนแรงทางภาคใต้ของไทย พร้อมทั้งเตือนไม่ให้ไทยใช้กำลัง หรือความรุนแรงจัดการกับการก่อการร้ายในพื้นที่ดังกล่าว เพราะจะไม่เป็นผลดีในระยะยาว
                "การใช้ความรุนแรง การก้าวร้าว เหมือนอาจช่วยขจัดปัญหาได้ แต่กลับจะยิ่งทำให้กลุ่มจรยุทธเพิ่มจำนวนมากขึ้น เปรียบเหมือนกับการที่ไทยจะใช้เวลาตลอดชีวิต เอาค้อนทุบกลุ่มจรยุทธ แต่สุดท้ายเจอเช่นนั้นเอง" (สยามรัฐรายวัน ๑๗ ม.ค.๔๗)
                ๑๑.๒  ในการขอความร่วมมือจากประเทศมาเลเซีย  ให้ช่วยจับกุม ขจก. ที่หลบหนีเข้าไปซ่อนตัวในประเทศเพื่อนบ้าน ในทางปฎิบัติพบว่า ขจก.ที่ประเทศเพื่อนบ้าน ช่วยจับกุมให้นั้น เป็นแค่ ขจก.ระดับล่างที่ปลดประจำการแล้ว ส่วนคนในขบวนการที่ยังมีบทบาทอยู่ในขณะนี้ ...ทางรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านจะไม่แตะต้อง เนื่องจากต้องการคนเหล่านั้นไว้ใช้ประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งเป็นกุศโลบายที่ทุกประเทศนิยมทำกัน (เดลินิวส์ รายวัน ๑๔ ม.ค.๔๗)
                เมื่อวันที่ ๕ พ.ย.๔๖  พล.ต.ต. ปัญญา เทียนศาสตร์  ผช.ผบช.ภ.๙ พร้อมคณะรวม ๕ คน ซึ่งเดินทางไปประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซีย ซึ่งประจำอยู่ในเขตไทย ติดตามเพื่อจับกุมหัวหน้าขบวนการก่อการร้าย ซึ่งมีหมายจับ ไปอยู่ในรัฐกลันตัน ปรากฎว่าขณะที่เดินทางกลับประเทศไทย ใกล้ชายแดนไทยประมาณ ๕๐ กม. ทางเจ้าหน้าที่หน่วยสันติบาลมาเลเซีย (A.C.P.)  กักตัวไว้ที่สถานีตำรวจ อ้างว่าผู้ใหญ่ในหน่วย A.C.P. อยากคุยด้วย จนกระทั่งเจ้าหน้าที่กงสุลใหญ่ไทย ณ เมืองโกตาบารู เดินทางไปช่วยเจรจา ทางตำรวจสันติบาลมาเลเซียจึงปล่อยตัวกลับ ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียที่ร่วมมือกับ พล.ต.ต.ปัญญา ถูก A.C.P. บังคับให้ลาออก ส่วนพลเรือนที่ร่วมเดินทางไปด้วย ถูกข่มขู่ไม่ให้ความร่วมมือกับทางราชการไทย มิฉะนั้นให้ถอนสัญชาติมาเป็นไทยเสีย
                จากการตรวจสอบของ พล.ต.ต. ปัญญา ต่อมาทางรัฐบาลไทยโดยการนำของ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รมว.มท. และ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ  รอง ผบ.ตร. พร้อมคณะได้เดินทางไปขอความร่วมมือกับนักการเมืองระดับสูงของมาเลเซีย ขอให้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ A.C.P. ติดตามจับกุมการโจรก่อการร้ายที่มีหมายจับ และมีรูปถ่าย ๒๐ คน แต่กลับไม่ได้รับความร่วมมือ กลับปกป้องคุ้มครองให้ความช่วยเหลือกลุ่มโจรก่อการร้าย ซึ่งถือสัญชาติมาเลเซียด้วย (มติชนรายวัน ๒๐ ม.ค.๔๗)
                ๑๑.๓  เว็บไซต์ "อิสลาม ออนไลน์" ของมาเลเซีย ได้รายงานวิพากษ์ถึงสถานการณ์ใน ๓ จังหวัดภาคใต้ ว่า ที่ผ่านมาความรุนแรงส่วนใหญ่ในภาคใต้นั้น เป็นผลมาจากการใช้นโยบายมือหนักของรัฐบาลไทย กับการคัดค้านของคนทางใต้ต่อนโยบายในพื้นที่ภาคใต้ โดยชาวใต้ยังคงคัดค้านนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เพราะจากการใช้นโยบายสนับสนุนคนไทย และต่อต้านนโยบายมุสลิม นอกจากนี้ปฎิกิริยาไม่ชื่นชอบดังกล่าว ยังถูกเสริมจากการควบคุมด้านวัฒนธรรมและการศึกษาต่อชาวมุสลิม โดยทางการไทยปล่อยให้มีการเปิดผับ - บาร์ ตามใจกลางเมืองต่าง ๆ ที่ชาวมุสลิมภาคใต้อาศัยอยู่ ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ถูกควบคุม สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การประท้วงจากชาวมุสลิม และรัฐบาลก็ใช้ลงโทษชุมชนเกษตรกรมุสลิมหลายแห่ง อาทิ ไม่ให้ความช่วยเหลือ
                อิสลาม ออนไลน์ กล่าวด้วยว่า การปราบปรามของนายก ฯ พตท.ทักษิณ ชินวัตร ค้านสิทธิพลเมืองต่อผู้ประท้วงโครงการท่อก๊าซไทย - มาเลย์ ยังเป็นตัวอย่างดีเยี่ยมถึงการใช้นโยบายใช้ความรุนแรงของรัฐบาล (สยามรัฐรายวัน ๗ ม.ค.๔๗)