สรุปสถานการณ์ใน
๓ + ๑ จชต.
๑ - ๓๐ เม.ย. ๕๕
ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในช่วงรายงาน ได้แก่ ความพยายามก่อเหตุเพื่อรื้อฟื้นบทบาทของขบวนการอ้างการรื้อฟื้นรัฐปัตตานี และเพื่อปลุกความแค้นของมลายูอิสลามให้รำลึกถึงเหตุการณ์ก่อความไม่สงบอย่างบ้าคลั่งซึ่งเคยเกิดขึ้นเมื่อ ๒๘ เม.ย.๔๗ แต่ผลการก่อเหตุ ดูเหมือนจะมีลักษณะเพียง after shock หลังเหตุการณ์ลอบวางระเบิดย่านการค้าไทยพุทธที่หาดใหญ่และเทศบาลยะลา เมื่อ ๓๑ มี.ค.๕๕ แล้ว เท่านั้น ทั้งนี้ จังหวัดที่ยังไม่สามารถก่อเหตุที่ทำให้สื่อสนใจได้คือ จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส จึงได้เร่งสร้างสถิติก่อเหตุกับเป้าหมายที่เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจรัฐไทย โดย จ.ปัตตานีเน้น soft target คือ การไล่ล่าไทยพุทธในพื้นที่ อ.ปะนาเระ อ.สายบุรี และ อ.มายอ ทั้งในและนอกพื้นที่ ขณะที่ จ.นราธิวาสเน้นเป้าหมาย hard target คือ การลอบวางระเบิดจนท.ทหารขณะออกปฏิบัติหน้าที่นอกฐาน อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะรายงาน กลุ่มก่อเหตุก็ยังไม่สามารถเพิ่มสถิติให้สูงจนผิดสังเกตุได้ แม้จะมีการก่อเหตุอย่างง่ายๆ อาทิ การเผา แล้วก็ตาม ดังนั้น สถิติการก่อเหตุในช่วง ๑-๒๕ เม.ย.๕๕ เท่าที่รวบรวมได้จึงมีจำนวนรวมทั้งสิ้น ๖๐ เหตุการณ์ ลดลงจาก ๗๔ เหตุการณ์ของช่วงเดียวกันของ มี.ค.๕๕ โดย จ.ปัตตานีซึ่งผู้ว่า ธีระ มินทราศักดิ์ หรือ‘ฮายีอับดุลกอเดร์ บิน เจ๊ะแต’ กำลังจะเกษียณใน ๓๐ ก.ย.๕๕ มีการก่อเหตุสูงสุด ๒๕ เหตุการณ์ ตามมาด้วย จ.นราธิวาส จำนวน ๒๓ เหตุการณ์ จ.ยะลา ๑๑ เหตุการณ์ และ อ.เทพา จ.สงขลา ๑ เหตุการณ์
สำหรับการเคลื่อนไหวของแกนนำแนวร่วมที่เป็นนักการเมือง องค์กรเอกชน และsymphathizer ในช่วงรายงานแทบจะไม่ปรากฏ ซึ่งน่าจะมีสาเหตุมาจากความพยายามเอาตัวรอดจากมรสุมทางการเมือง การมุ่งไล่ล่าเงินเยียวยา และเหตุการณ์ลอบวางระเบิด ที่มีผู้บริสุทธิ์ไทยพุทธเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ทำให้กลุ่ม ngo และ symphathizer ไม่กล้าเคลื่อนไหวในทิศทางที่สวนกระแส นอกจากการรุกไล่ไทยพุทธอย่างลุ่มลึกของร.พ.ยะลาโดยนายแพทย์อนันตชัย ไทยประทาน ซึ่งเปลี่ยนอาหารสำหรับผู้ป่วย และ จนท.ในรพ.ให้เป็นอาหารฮาลาลทั้งหมด เพื่อส่งนัยของการเป็นรพ.อิสลามที่ไทยพุทธไม่ควรเข้ามาใช้บริการ ขณะที่สถาบันอิศราพยายามที่จะโน้มน้าวให้เห็นว่าความรุนแรงใน ๓ จชต. มีสาเหตุหลักมาจากความไม่เป็นธรรมที่รัฐบาลไทยไม่สนใจแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง พร้อมๆไปกับการออกสัมภาษณ์ญาติพี่น้องของผู้ที่เกี่ยวพันในเหตุการณ์ตากใบและกรือเซะ เพื่อสรุปว่าต้องเร่งจ่ายเงินเยียวยาให้กับเครือญาติ ส่วนความเคลื่อนไหวขององค์กรอื่นใน ๓ จชต.ที่น่าสนใจ ได้แก่ การเคลื่อนไหวของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ซึ่งมี นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ เป็นประธาน ซึ่งกำลังเรียกร้องให้คนไทยทั้งประเทศทุกองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยไม่ปล่อยให้นักการเมือง รัฐบาล หรือหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงแก้ปัญหากันเพียงลำพัง
อนึ่ง หลังจากเกิดหายนะอย่างรุนแรงกับไทยพุทธ เมื่อ ๓๑ มี.ค.๕๕ แล้วดูเหมือนความพยายามซื้อใจโจรและมลายูอิสลามโดยการเสนอแยกการปกครองหรือการเจรจากับขบวนการแบ่งแยกดินแดนของภาครัฐ โดยเฉพาะจาก ศอ.บต. เพลาลงอย่างเห็นได้ชัดแม้จะยังคงมีการพบปะกับแกนนำ “ต้มยำกุ้ง”จากมาเลย์อยู่ก็ตาม อย่างไรก็ตาม นโยบายฟอกโจรให้เป็นผู้หลงผิดเพื่อนำกลับสู่ครอบครัวของแม่ทัพภาค ๔ ซึ่งได้ประกาศกร้าว เมื่อ ๔ มี.ค.๕๕ ว่า “......ผมยังมีนโยบาย…..พาคนกลับบ้าน.....ผู้ที่ลงมือปฏิบัติเอง หรือผู้เป็นแนวร่วม ผมพร้อมพาเขามาใช้ชีวิตตามปกติสุข .....ผมสนับสนุนการต่อสู้ของพี่น้องมลายูมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ในเวทีทางการเมือง หรือเวทีอื่นๆ ..... ”ยังคงมีผลทำให้แนวร่วมยังคงทยอยเข้าแสดงตัวเพื่อให้ จนท. นำสู่ครอบครัว โดยเมื่อ ๓ เม.ย.๕๕ ผู้ต้องสงสัยและผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในพื้นที่ จ.ยะลา จำนวน ๑๐ ราย เข้ารายงานตัวกับศูนย์ยะลาสันติสุข
แนวโน้มถานการณ์
การก่อเหตุลอบวางระเบิดย่านธุรกิจไทยพุทธ ๒ แห่ง ซึ่งมีผู้เสียชีวิตประมาณ ๑๕ ราย และบาดเจ็บประมาณ ๕๐๐ ราย เมื่อ ๓๑ มี.ค.๕๕ ถือว่าเป็น peak ของความสามารถในการก่อเหตุแล้ว ดังนั้นความพยายามจะลอกเลียนเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยความเสียหายระดับเดียวกัน จึงยากจะเกิดได้อีกในเร็ววันนี้ ทั้งที่ได้มีความพยายามแล้วทั้งใน จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ จ. นราธิวาส ทำได้แรงที่สุดคือการลอบวางระเบิดเมื่อ ๒๔ เม.ย.๕๕ ที่ ม.๑ ต.เจ๊ะเห อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งทำให้ผู้ได้รับบาดเจ็บ ๘ ราย อย่างไรก็ตาม การก่อเหตุใน ๓ จชต.จะยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สังคมได้รับรู้ถึงความยังคงอยู่ของกลุ่มอ้างอุดมการณ์รื้อฟื้นรัฐปัตตานี และเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มอิทธิพลต่างๆรวมทั้ง การเรียกร้องเงินเยียวยา แต่ระดับความเสียหายขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติในพื้นที่เป็นสำคัญ
สถิติและนัยการก่อเหตุ
การก่อเหตุในช่วง ๑-๓๐ เม.ย.๕๕ เท่าที่รวบรวมได้ แม้อาจจะไม่ครบถ้วน แต่ก็เชื่อว่าไม่น่าจะทำให้นัยสำคัญของเหตุการณ์ผิดพลาดไปนั้น สรุปได้ว่ามีการก่อเหตุรวมทั้งสิ้น ๖๐ เหตุการณ์ ซึ่งเป็นสถิติที่ลดลงจาก ๗๔ เหตุการณ์ของช่วงเดียวกันของมี.ค.๕๕ ทั้งๆที่เป็นช่วงที่กลุ่มผู้ก่อเหตุต้องเพิ่มสถิติให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อปลุกกระแสเมษาบ้าคลั่ง ๒๘ เม.ย.๔๗ ทั้งนี้ จ.ปัตตานี มีการก่อเหตุสูงสุด ๒๕ เหตุการณ์ โดย อ.ปะนาเระ และ อ.สายบุรี มีการก่อเหตุสูงสุดพื้นที่ละ ๕เหตุการณ์ รองลงมาคือ อ.เมือง ๓ เหตุการณ์ ส่วน อ.มายอ อ.ทุ่งยางแดง อ.ยะรัง อ.กะพ้อ และ อ.หนองจิก มีการก่อเหตุพื้นที่ละ ๒ เหตุการณ์ ขณะที่ จ.นราธิวาส มีการก่อเหตุรวม ๒๓ เหตุการณ์ โดย อ.ระแงะ อ.เจาะไอร้อง และ อ.สุไหงโก ลก มีการก่อเหตุมากที่สุดพื้นที่ละ ๓ เหตุการณ์ อ.เมือง และ อ.ศรีสาคร มีการก่อเหตุพื้นที่ละ ๒ เหตุการณ์ ส่วน จ.ยะลา ซึ่งมีการก่อเหตุรวมทั้งสิ้น ๑๑ เหตุการณ์ โดย อ.ยะหา และ อ.รามัน มีการก่อเหตุมากที่สุดพื้นที่ละ ๓ เหตุการณ์ ขณะที่ อ.บันนังสตา มีการก่อเหตุ ๒ เหตุการณ์ สำหรับ ๔ อำเภอของ จ.สงขลา มีรายงานการก่อเหตุ ๑ เหตุการณ์ ในพื้นที่ อ.เทพา
ทั้งนี้ การก่อเหตุทั้ง ๖๐ เหตุการณ์ แยกเป็นการลอบยิงตัวบุคคล ๓๓ เหตุการณ์ รองลงมาคือ การลอบวางระเบิด ๑๙ เหตุการณ์ การเผาอาคารสถานที่และรถบรรทุก ๕ เหตุการณ์ การขว้างระเบิด/กราดยิงฐานและที่มั่นรวมทั้งชุดลาดตระเวน/รปภ.ทหาร ๒ เหตุการณ์ และ อื่นๆ ๑ เหตุการณ์ โดยคนไทยพุทธมีการสูญเสีย ๓๑ ราย แยกเป็นการเสียชีวิต ๗ ราย และบาดเจ็บ ๒๔ ราย ขณะที่อิสลามมีการสูญเสียรวม ๓๒ ราย โดยแยกเป็นการเสียชีวิต ๑๒ ราย และบาดเจ็บ ๒๐ ราย ทั้งนี้ไม่นับรวมผู้เสียชีวิตที่ไม่สามารถระบุเชื้อชาติและศาสนาได้อีก ๒ ราย และชาวมาเลย์อีก ๑ ราย
ข้อพิจารณา
๑. การก่อเหตุ อย่างสะเปะสะปะ และมุ่งที่ตัวบุคคล ประกอบกับความผิดพลาดที่มีอิสลามเสียชีวิตด้วย ทำให้ความรุนแรงใน ๓ จชต.ถูกมองว่าเป็นเรื่องของการขัดผลประโยชน์ และยาเสพติด อีกทั้งช่วงปลาย เม.ย.๕๕ ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีการปลุกประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์เม.ย.บ้าคลั่ง ๒๘ เม.ย.๔๗ ขึ้นมา กลุ่มผู้ก่อเหตุซึ่งอ้างอุดมการณ์รื้อฟื้นรัฐปัตตานี จึงต้องระดมสรรพกำลังโหมก่อเหตุรุนแรงพร้อมๆกันเพื่อส่งนัยของการดำรงอยู่ของขบวนการและชิงบทบาทกลับคืนมา ซึ่งก็ประสบความสำเร็จจากการลอบวางระเบิดที่หาดใหญ่และเทศบาลนครยะลา เมื่อ ๓๑ มี.ค.๕๕
๒. หลังการเกิดเหตุ ระเบิดย่านการค้าไทยพุทธที่หาดใหญ่และที่เทศบาลนครยะลาแล้ว ได้มีความพยายามที่จะก่อเหตุในลักษณะเดียวกันใน จ.ปัตตานีและจ.นราธิวาส แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยเหตุนี้การก่อเหตุใน ๓ จชต. ในช่วง ๑-๓๐ เม.ย.๕๕ จึงมีลักษณะของ after shock ต่อเนื่อง เท่านั้น โดย จ. ปัตตานี และ จ.นราธิวาส ซึ่งยังไม่สามารถก่อเหตุสร้างความเสียหายจนกลายเป็นข่าวดังได้ ก็ได้มีการเร่งเพิ่มสถิติการก่อเหตุโดยเน้นการก่อเหตุกับกับเป้าหมายที่เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจรัฐไทย โดย จ.ปัตตานี ที่มีผู้ว่าอิสลามซึ่งจะเกษียณใน ก.ย.๕๕ และผู้กำกับฯเป็นอิสลาม มุ่งเป้ามาที่ soft target คือ การไล่ล่าชาวบ้านไทยพุทธ ขณะที่ จ.นราธิวาส เน้น ที่ hard target คือ จนท.ทหารขณะออกปฏิบัติหน้าที่
๓. สำหรับการก่อเหตุต่อเป้าหมายไทยพุทธใน จ.ปัตตานี เป็นที่น่าสังเกตุถึงการกระจุกตัวอยู่บริเวณซีกขวาของจังหวัด คือ ที่ อ.ปะนาเระ อ.สายบุรี และ อ.มายอ ทั้งในและนอกพื้นที่ โดยเฉพาะ อ.ปะนาเระซึ่งเป็นพื้นที่อิทธิพลของพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน นั้น ได้มีการกราดยิงไทยพุทธและอิสลามสลับกัน โดยมีการแจกจ่ายใบปลิวชี้นำเหตุการณ์ กล่าวหาเจ้าหน้าที่ว่าเป็นผู้ตอบโต้อิสลามแทนไทยพุทธ ตัวอย่างการไล่ล่าไทยพุทธจากทั้ง ๓ อำเภอดังกล่าว อาทิ
- เมี่อ ๗ เม.ย.๕๕ นายเอกชัย ทองใหญ่ จาก ม.๒ ต.ปะนาเระ ถูกยิงเสียชีวิต ที่ ม.๒ ต.ปะนาเระ อ.ปะนาเระ
- เมื่อ ๑๓ เม.ย.๕๕ รถโดยสารซึ่งคนไทยพุทธจาก ม.๒ ต.คอกกระบือ อ.ปะนาเระ ว่าจ้างมาถูกคนร้ายกราดยิง ที่หมู่ที่ ๖ ต.เตราะบอน อ.สายบุรี ทำให้นางบูญจันทร์ จีนธาดา อายุ ๗๐ ปี และ เด็กหญิง จุฑามาศ อินศรีสวัสดิ์ อายุ ๑๓ ปี บาดเจ็บสาหัส ส่วนอีก ๕ คนบาดเจ็บ
- เมื่อ ๑๕ เม.ย.๕๕ คนร้ายกราดยิงนางพร้อม เทพสุวรรณ์ อายุ ๘๗ ปี นางธนพร แซ่เต็ง อายุ ๕๙ ปี และนางพุม แก้วผุด อายุ ๗๙ ปี บาดเจ็บ ขณะที่ทั้ง ๓ คนกำลังนั่งคุยกันอยู่ที่บ้านเลขที่ ๒๒ ม.๒ ต.ลุโบะยีไร อ.มายอ จ.ปัตตานี ของนางพร้อม
- เมื่อ ๑๘ เม.ย. ๕๕ คนร้ายประกบยิงน.ส.วรรณา ศรสุวรรณ อายุ ๒๙ ปี ผู้ช่วยพยาบาลโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี อยู่บ้านเลขที่ ๒๕/๘ ถนนกลาพอ ต.ตะลุปัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เสียชีวิต ขณะกำลังขีรถจักรยานยนต์ไปซื้อของที่ตลาดนัดบ้านกาหยี ต.ตะลุบัน อ.สายบุรี
- เมื่อ ๒๐ เม.ย.๕๕ คนร้ายจ่อยิงนายถิน คงจันทร์ อายุ ๕๐ ปี ที่อยู่ ๑๒ ถ.กลาพอ ต.ตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี อาสาสมัครรักษาดินแดนที่อำเภอสายบุรี เสียชีวิต บนถนนสาย ๔๒ บ.บาลอ ม.๒ ต.ละหาร อ.สายบุรี จ.ปัตตานี
- เมื่อ ๒๐ เม.ย.๕๕ คนร้ายจ่อยิงนายสิทธิพงษ์ นุ้ยสุภาพ อายุ ๒๘ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๑๔๓/๑ ม.๕ ต.เมาะมาวี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี บาดเจ็บ ขณะกำลังขับขี่รถจักรยานยนต์ อยูที่ ม.๘ ต.ลูโบ๊ะยือไร อ.มายอ จ.ปัตตานี
- เมื่อ ๒๐ เม.ย.๕๕ คนร้ายตามประกบยิงนายวิรัช สังข์วัดชุม ที่อยู่ ๒๕ ม.๒ ต.ละหาร อ.สายบุรี จ.ปัตตานี พนักงานช่วยเหลือคนไข้ โรงพยาบาลกะพ้อ เสียชีวิตขณะ ขับรถยนต์ อยู่ที่บริเวณหมู่ที่ ๔ ต.กะรุบี อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี
- เมื่อ ๓๐ เม.ย.๕๕ คนร้ายลอบวางระเบิดภายในร้านปาลัสอาหารสัตว์ของนางมุจรินทร์ พรหมโลก อายุ ๔๖ ปี ซึ่งตั้งอยู่ที่ริมถนนสาย ๔๐๖๑ เลขที่ ๖๙ ม.๖ บ้านปาลัส ต.ควน อ.ปะนาเระ ทำให้นางมุจรินทร์ เจ้าของร้าน ถูกสะเก็ดระเบิดบริเวณคิ้วซ้าย และลำตัว บาดเจ็บ
การเคลื่อนไหวของแนวร่วมและ sympathizer
สำหรับการเคลื่อนไหวของแกนนำแนวร่วมที่เป็นนักการเมือง องค์กรเอกชน และsympathizer ในช่วงรายงานแทบจะไม่ปรากฏ ซึ่งน่าจะมีสาเหตุมาจากความพยายามเอาตัวรอดจากมรสุมทางการเมือง ความมุ่งมั่นที่จะเรียกร้องเงินเยียวยาให้ได้ ประกอบกับเหตุการณ์ลอบวางระเบิด ที่มีผู้บริสุทธิ์ไทยพุทธเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ทำให้กลุ่ม ngo และ sympathizer ไม่กล้าเคลื่อนไหวในทิศทางที่สวนกระแส นอกจากการรุกไล่ไทยพุทธอย่างลุ่มลึกของร.พ.ยะลาโดยนายแพทย์อนันตชัย ไทยประทาน ซึ่งเปลี่ยนอาหารสำหรับผู้ป่วยในรพ.ให้เป็นอาหารฮาลาลทั้งหมด เพื่อส่งนัยของการเป็นรพ.อิสลามที่ไทยพุทธไม่ควรเข้ามาใช้บริการ ขณะที่สำนักข่าวอิศราพยายามที่จะโน้มน้าวให้เห็นว่าความรุนแรงใน ๓ จชต. มีสาเหตุหลักมาจากความไม่เป็นธรรมที่รัฐบาลไทยไม่สนใจแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ส่วนแนวร่วมก็ยังคงฉวยโอกาสจากนโยบายฟอกโจรให้เป็นผู้หลงผิดแล้วพากลับสู่ครอบครัวของแม่ทัพภาค ๔ ทยอยเข้ารายงานตัวอย่างต่อเนื่อง
- ร.พ.ยะลามีมาตรฐานครัวฮาลาล…..ยะลา - นายแพทย์อนันตชัย ไทยประทาน นาย- แพทย์โรงพยาบาลยะลา เผยว่าโครงการครัวฮาลาลของโรงพยาบาล ดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ .... โดยแต่เดิมทางโรงพยาบาลมี ๒ ครัว แต่เมื่อ ๓-๔ ปีที่ผ่านมา ก็เหลือเพียงครัวฮาลาลเพียงครัวเดียว พี่
น้องชาวไทยพุทธ ……ทุกคนก็ทานได้" (ข่าวสด ๑ เม.ย.๕๕)
- ยาเสพติดโยงป่วนใต้...แต่ไม่ใช่รากเหง้าของ "เงื่อนไข" ที่ปลายขวาน ….. การกวาดล้างขบวนการค้ายาเสพติดและธุรกิจผิดกฎหมายอื่นๆ เป็นเรื่องที่ถูกต้อง และควรทำมาตั้งนานแล้ว แต่ปัญหาก็คือไม่ใช่ไป "จงใจ" ตั้งโจทย์ว่าไฟใต้ที่คุโชนมานานเกือบ ๑ ทศวรรษมาจากปัญหาเหล่านี้เท่านั้น แล้วละเลยที่จะพูดถึง "ต้นตอ" หรือ "รากเหง้า" ที่แท้จริงของปัญหาในมิติอื่นๆ ที่สำคัญกว่า โดยเฉพาะเงื่อนปมทางประวัติศาสตร์และความไม่เป็นธรรม ซึ่งรัฐไทยแทบไม่เคยขยับเพื่อแก้ไขอย่างจริงจังเลย!……(สำนักข่าวอิศรา ๑ เม.ย. ๕๕)
- ผู้ต้องสงสัย/ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงยะลาเรียงแถวเข้ารายงานตัวอีก ๑๐ ราย…ผู้ต้องสงสัยและผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในพื้นที่ จ.ยะลา จำนวน ๑๐ ราย เข้ารายงานตัวกับศูนย์ยะลาสันติสุข ล่าสุดมีผู้มารายงานตัวแล้ว ทั้งสิ้น ๑๙๙ ราย...... วันนี้(๓ เม.ย.) ที่ ศูนย์ยะลาสันติสุข ห้องประชุมปกครอง ชั้น ๒ อาคารศาลากลางจังหวัดยะลา (หลังเก่า) นายเดชรัฐ สิมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ยะลาสันติสุข ได้รับรายงานตัวผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดยะลา จำนวน ๑๐ ราย ..... โดยแยกเป็น
๑.ราษฎรที่ถูกต้องสงสัยว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุความรุนแรง แต่ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสามารถออกหมายจับ จำนวน ๒ คน ประกอบด้วย ๑.นายมูอำหมัด แวกาจิ อายุ ๑๙ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๖๗/๑ หมู่ที่ ๒ ต.พร่อน อ.เมือง จ.ยะลา ๒.นายอับดุลตอฟา อุเซ็ง อายุ ๔๔ อยู่บ้านเลขที่ ๒๐๕/๒ หมู่ที่ ๑ ต.กาบัง อ.กาบัง จ.ยะลา
๒.ราษฎรที่มีหมายจับของทางราชการในคดีความมั่นคง ซึ่งได้หลบหนีหมายจับ หลังทราบนโยบายของจังหวัดยะลา จึงได้ขอเข้ามอบตัวต่อผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา และ ทางจังหวัดได้ออกหนังสือรับรองเพื่อใช้ประกอบในการยื่นคำขอปล่อยตัวชั่วคราว และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากพนักงานสอบสวน หรือ ศาล จำนวน ๓ คน ประกอบด้วย ๑.นายบูรฮัน เดวอสนุน อายุ ๒๓ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๑๑/๑ หมู่ที่ ๑ ต.ยะลา อ.เมือง จ.ยะลา ๒.มูฮัมหมัดฮัมดี กาหลง อายุ ๒๔ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๘ หมู่ที่ ๕ ต.กาบัง อ.กาบัง จ.ยะลา ๓.นายสุขทา บากา อายุ ๒๗ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๘๑ หมู่ที่ ๒ ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา
๓.ราษฎรที่ตกเป็นจำเลยในคดีความมั่นคง และอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ซึ่งจังหวัดได้ออกหนังสือรับรองเพื่อใช้ประกอบในการยื่นคำขอปล่อยตัวชั่ว คราวในคดีความมั่นคง และ ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากศาล จำนวน ๑ คน คือนายอาสือหมาน บุหงา อายุ ๒๗ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๘/๔ หมู่ที่ ๖ ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา
๔.ราษฎรที่ตกเป็นจำเลยในคดีความมั่นคง และปัจจุบันศาลได้พิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุด แต่ยังมีความหวาดระแวงในการประกอบอาชีพ และดำรงชีวิต เมื่อรับทราบถึงนโยบายศูนย์ยะลาสันติสุข จึงมีความประสงค์ที่จะเข้าร่วมกับทางราชการในการเสริมสร้างยะลาสันติสุข ให้บังเกิดขึ้นในพื้นที่ จ.ยะลา จำนวน ๔ คน ประกอบด้วย ๑.นายอิบรอเฮง ลือมูซอ อายุ ๒๘ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๓ หมู่ที่ ๗ ต.กาบัง อ.กาบัง จ.ยะลา ๒.นายซอมะ อาภิบาลแบ อายุ ๔๑ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๔๒ หมู่ที่ ๑ ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ๓.นายดอเลาะ อภิบาลแบ อายุ ๒๔ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๑๖ หมู่ที่ ๑ ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ๔.นายย๊ะยา อับดุลราซิ อายุ ๓๖ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๑๐ ถ.เบาะเบาะ ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา
(ASTVผู้จัดการออนไลน์ ๓เม.ย.๕๕)
- “ปธ.ชมรมต้มยำกุ้ง” ดอดพบรองนายกในงานดินเนอร์ ศอ.บต. …..วันนี้ (๒๘ เม.ย.) เวลา ๑๘.๐๐ น. ….ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา อ.เมือง จ.ยะลา นายยงยุทธ์ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางมาร่วมงาน Dinner Talk เชื่อมั่นเศรษฐกิจ ๓ จังหวัดชายแดนใต้ ที่ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และหอการค้าจังหวัดยะลา จัดขึ้น…….ขณะเดียวกัน ก่อนการปาฐกถาจะเริ่มขึ้น …..นายวันซำซูดิน ดินวันฮูเซ็น ประธานชมรมต้มยำกุ้งในมาเลเซียและผู้ประกอบการอีกเกือบ ๑๐ ราย เดินทางมาร่วมงานในครั้งนี้ด้วย และได้เข้าพบและพูดคุยกับ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. ร่วมวงสนทนาด้วย เป็นเวลานานกว่า ๕ นาที ก่อนที่จะเริ่มการปาฐกถาพิเศษขึ้น….. (ASTVผู้จัดการออนไลน์ ๒๘ เม.ย.๕๕)
- ๘ ปีกรือเซะ (๒) เสียงจากญาติผู้สูญเสียในกระแสเยียวยา ...สำหรับ "เหตุการณ์กรือเซะ" ซึ่งหมายถึงเหตุรุนแรงเมื่อเช้ามืดของวันที่ ๒๘ เม.ย.๔๗ ที่กลุ่มวัยรุ่นและชายฉกรรจ์มุสลิมกว่าร้อยคนใช้มีด กริช และไม้เป็นอาวุธบุกโจมตีป้อมจุดตรวจ ๑๐ แห่งพร้อมกันในพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา และสงขลา ทำให้ถูกเจ้าหน้าที่ใช้ปืนยิงตอบโต้จนมีผู้เสียชีวิตมากถึง ๑๐๘ ราย
น.ส.คอลีเยาะ หะหลี ซึ่งสูญเสียบิดาคือ นายมะแอ หะหลี จากเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ ….
"จำนวนเงินตามที่เป็นข่าว ๗.๕ ล้านบาทก็เยอะนะ ล้วนแต่เป็นเงินภาษีของประชาชนทั้งนั้น ล่าสุดทราบมาว่าผ่านมติ ครม.แล้ว แต่มีบางฝ่ายตั้งคำถามว่ามีกฎหมายรองรับการจ่ายเงินหรือไม่ และจะเอาเงินจากที่ไหนมาให้ สรุปก็คือมันยังมีปัญหาอีกหลายเรื่อง ญาติผู้สูญเสียหลายคนไม่ได้ค่อยติดตามข่าวสาร รู้เพียงแต่ว่ารัฐจะจ่ายให้แน่นอน หลายคนก็เฝ้ารอ มีความหวัง .....
ซีตีนอร์ เจ๊ะเลาะ อายุ ๔๐ ปี ซึ่งสามีของนางคือ นายอับดุลรอนิง เจ๊ะเลาะ ถูกจับกุมดำเนินคดีจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ ๒๘ เม.ย.๔๗ และถูกตัดสินประหารชีวิต … "รัฐอย่าคิดว่าจ่ายแล้วจะจบ เพราะมันไม่จบง่ายๆ ลูกของผู้เสียชีวิตยังอยู่ เหตุเกิดเมื่อตอนที่เขายังเด็ก เขาอาจไม่ค่อยเข้าใจ แต่เมื่อเขาโตขึ้น เขาย่อมรับรู้ในสิ่งที่เกิดกับครอบครัวของเขา จึงมีโอกาสสูงมากที่เด็กๆ เหล่านั้นจะโกรธแค้นรัฐ แล้วสถานการณ์จะสงบได้อย่างไร ……(สำนักข่าวอิศรา ๒๙ เม.ย.๕๕)
การเคลื่อนไหวของค์กรที่เกี่ยวข้อง
- สภาประชาสังคมชายแดนใต้แนะรัฐทบทวนปัญหา – หนุนเจรจา….. ด้านสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ซึ่งเป็นองค์กรกลางขององค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และมี นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ เป็นประธาน ได้ออกแถลงการณ์สืบเนื่องจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นใน จ.ยะลา สงขลา และปัตตานี เมื่อวันที่ ๓๑ มี.ค.๕๕ เรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนการกำหนดปัญหาใจกลาง ยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ใหม่ทั้งระบบ เนื่องจากระยะเวลากว่า ๘ ปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่ารัฐไทยล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาอย่างสิ้นเชิง ขณะเดียวกัน สภาประชาสังคมชายแดนใต้ยังแสดงจุดยืนในการคัดค้านการใช้ความรุนแรงเพื่อ บรรลุเป้าหมายทางการเมืองของทุกกลุ่ม ทุกรูปแบบ พร้อมทั้งเรียกร้องให้พี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศทุกองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันเพื่อให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความรุนแรงใน จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยไม่ปล่อยให้นักการเมือง รัฐบาล หรือหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงแก้ปัญหากันเพียงลำพัง…. (สำนักข่าวอิศรา ๕ เม.ย.๕๕)
|