สถานการณ์ ๓ + ๑ จชต.
๑ – ๓๑ ธ.ค.๕๓

          การเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในช่วงรายงานได้แก่ ฉวยโอกาสจากวิกฤติภัยธรรมชาติและความขัดแย้งทางการเมืองโหมปลุกกระแสชาตินิยมมลายูอิสลามอย่างเปิดเผย ท้าทายและอันตรายยิ่ง ของบรรดากลุ่มสื่อ องค์กรเอกชน และนักเรียนนักศึกษามลายูอิสลาม อย่างสอดประสานกับการก่อเหตุ โดยประเด็นที่นำมาเป็นเงื่อนไขยังคงเป็นประเด็นเดิมๆ อาทิ การเรียกร้องให้ยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน ของเครือข่ายประชาสังคมคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สื่อประชาไทย และกลุ่มนักศึกษาผ่าน face book การจัดเวทีสาธารณะปลุกเร้าให้มีการตั้งปัตตานีมหานครด้วยการใช้ภาษามลายูถิ่นในการบรรยาย ของเครือข่ายเพื่อการพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ การปลุกระดมให้มีการสวมผ้าคลุมศรีษะเข้าเรียนในโรงเรียนวัดหนองจอก เพื่อคงความขัดแย้งระหว่างคนต่างเชื้อชาติและศาสนาของสื่อประชาชาติอิสลามออนไลน์/ไทยแลนด์นิวส์ดารุสลาม ขณะที่ได้มีการอนุญาติให้ร.ร.เอกชนสอนศาสนาอิสลามซึ่งถูกปิดจากการให้แกนนำแนวร่วมเข้ามาใช้พื้นที่ ร.ร. เป็นที่พักพิงและประกอบวัตถุระเบิด และการเรียกร้องให้มีการถอนกำลังคุ้มครองครูและนักเรียนออกจากโรงเรียน ของเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสื่อสถาบันอิศรา
         ขณะที่การก่อเหตุก็เกิดขึ้นอย่างสอดคล้อง โดยมุ่งกระทำต่อเป้าหมายอันเป็นสัญญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นความเป็นแผ่นดินไทยของ ๓ จชต. ได้แก่ คนไทยพุทธ ทั้งชาวบ้าน อรบ. ผู้ที่ทำงานในโครงการพระราชดำริ ทหารไทยพุทธ และเป็นที่น่าสังเกตุว่าแนวร่วมมีการมุ่งโจมตีที่ตั้ง/ฐานทหาร ด้วยการกราดยิงหรือยิง/ขว้างระเบิด และหลบหนีอย่างรวดเร็ว เพื่อปลุกความฮึกเหิมให้กับกลุ่มและเพื่อส่งนัยให้เห็นว่าแม้ทหารเองก็ยังไม่สามารถป้องกันตนเองได้ โดยเฉพาะที่ปัตตานี มีการกระทำต่อเป้าหมายไทยพุทธเกือบทั้งหมดทำให้ดูเหมือนว่าเป็นการสื่อถึงการต้อนรับการที่ จ.ปัตตานีมีผู้ว่าที่เป็นอิสลามอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จ.ปัตตานี เป็นพื้นที่มีการก่อเหตุมากที่สุด ๒๕ เหตุการณ์ รองลงมาคือ จ.ยะลา ซึ่งมีการก่อเหตุ ๑๕ เหตุการณ์ และ จ.นราธิวาส ซึ่งมีการก่อเหตุ ๑๒ เหตุการณ์ ส่วนที่ จ.สงฃลา มีการก่อเหตุ ๒ เหตุการณ์ ที่ อ.จะนะและ อ.สะบ้าย้อย โดยไทยพุทธเสียชีวิตและบาดเจ็บรวมทั้งสิ้น ๔๕ รายและอิสลาม รวม ๒๐ ราย
         แนวโน้มของสถานการณ์ ในสภาวะความขัดแย้งทางการเมืองที่ยากจะยุติได้หากปราศจากการนองเลือด และการตกต่ำของเศรษฐกิจจากวิกฤติน้ำท่วม จะทำให้คนโดยทั่วๆไปไม่ให้ความสนใจต่อการเข่นฆ่าไทยพุทธและผู้บริสุทธิ์ใน ๓ จชต. อันจะเป็นการกระตุ้นให้องค์กรเอกชนมลายูและไม่ใช่ซึ่งเข้าไปแสวงประโยชน์ค้าความรุนแรงสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างสะดวก เปิดเผย และรุนแรงขึ้น อันจะทำให้การคงอยู่ของคนกลุ่มน้อยไทยพุทธลำบากยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงเชื่อว่าการทยอยอพยพออกจากพื้นที่จะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แม้สถิติการกิอเหตุมีแนวโน้มลดลงจากภัยธรรมชาติซึ่งกำลังเคลื่อนลงภาคใต้ก็ตาม ทั้งนี้ กลุ่มค้าความรุนแรงที่ควรเฝ้าระวังใน ๓ จชต.
         ได้แก่กลุ่มเครือข่ายประชาสังคมคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งกำลังเคลื่อนไหวปลุกระดมผ่าน face book เพื่อกระจายออกสู่อิสลามทั่วโลก และสื่ออิสลามอื่นๆอาทิ ประชาชาติอิสลามออนไลน์ ส่วนที่กทม.ได้แก่กลุ่มขยายความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติและศาสนาที่หนอกจอก โดยมีสื่อประชาชาติอิสลามออนไลน์เป็นเครื่องมือ

การเคลื่อนไหวไหวของแนวร่วมและ sympathizer อิสลาม
          การเรียกร้องให้มีการถอนกำลังออกจากโรงเรียน สถาบันอิศรา ๘ ธ.ค.๕๔ ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง "หญิง-เด็ก"เหยื่ออาวุธ "หม้าย-กำพร้า"ครึ่งหมื่น ได้เวลาจับมือยุติรุนแรงชายแดนใต้ โดยนำเอาเรื่องราวของวัน "วันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง" มาเพื่อสรุปว่า ต้องถอนกองกำลังติดอาวุธหรือกำลังคุ้มครองครูออกจากโรงเรียน การปลุกและคงกระแสความขัดแย้งระหว่างพุทธและอิสลามที่หนองจอก ประชาชาติอิสลามออนไลน์/ไทยแลนด์นิวส์ดารุสลาม เมื่อ ๑๔ ธ.ค.๕๔ ๑๖ ธ.ค.๕๔ และ ๑ ม.ค.๕๕ ได้ตีพิมพ์บท “ความผู้ปกครองแฉ ถูก sms หลอกให้มาชุมนุมต้านฮิญาบวัดหนองจอก”และ “พี่สาวเผยน้องถูกคุกคามเมื่อคลุมฮิญาบเข้าเรียนในมัธยมวัดหนองจอกในวันเปิดเทอม” และ การเดินสายออกปลุกระดมของกลุ่มมลายูอิสลาม เพื่อคงความขัดแย้งให้ความขัดแย้งระหว่างพุทธและอิสลามในพื้นที่หนองจอกให้ปรากฏอย่างต่อเนื่อง
         - “…. หลังจากที่วันนี้ ๑๓ ธันวาคม มีกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนประมาณ ๑๐๐ คนโดยมีเครือข่ายผู้ปกครองเป็นแกนนำมาชุมนุมกันในโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก เพื่อต่อต้านที่เด็กนักเรียนมุสลิมต้องการคลุมฮิญาบเข้าเรียนหนังสือ โดยได้มีการตั้งเวทีปราศัย พร้อมมีการจัดเก้าอี้นั่งฟังการปราศัยโดยที่ไม่มีการต่อต้านจากทางโรงเรียน ซึ่งเนื้อหาในการปราศัยเป็นการกล่าวถึงการทำงานของผู้อำนวยการโรงเรียน และโจมตีให้ร้ายนักเรียนมุสลิมที่ต้องการปฏิบัติตามหลักศาสนาอิสลาม โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้สลายการชุมนุมหลังจากได้มีการยื่นหนังสือให้ ส.ส.เพื่อไทยรับเรื่องไปดำเนินการต่อ….”
          - “.....พี่สาวน้องนักเรียนมุสลิมะฮฺที่ยืนหยัดในการคลุมฮิญาบตามหลักการศาสนาอิสลาม เข้าเรียนหนังสือตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการสุดทน หลังน้องสาวคลุมฮิญาบเข้าเรียนตามปกติ แต่ถูกครู และเพื่อนนักเรียนคุกคามความปลอดภัยตลอดเวลาที่อยู่ในโรงเรียน โดยเฟสบุคของพี่สาวน้องนักเรียนมุสลิมะฮฺที่ยืนยันที่จะคลุมฮิญาบตามหลักการศาสนาอิสลาม …..เปิดเผยว่า เมื่อวันเปิดเทอมวันแรก(๗ ธันวาคม)ที่ผ่านมาน้องสาวของเธอได้ไปเรียนหนังสือตามปกติ แต่ถูกเรียกเข้าห้องปกครอง ถูกครูฝ่ายปกครอง และฝ่ายบริหารของโรงเรียนนั่งรุมน้องของเธอ โดยผู้เป็นครูท่านหนึงกล่าวถ้อยคำข่มขู่น้องสาวของเธอโดยกล่าวว่า “เธอคนเดียวทำให้ครสามพันคนเขาเดือดร้อน เธอจะรับผิดชอบยังงัยตอบซิ่ ……”…….
         - “….เมื่อช่วงเย็นวันเสาร์(๓๑)ที่ผ่านมากลุ่มเยาวชนหนองจอกได้เดินทางลงพื้นที่ ตลาดนัดในเขตหนองจอก เพื่อแจกเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีที่โรงเรียนมัธยมวัดหนองจอกกระทำผิด ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการในการห้ามนักเรียนมุสลิมะฮฺคลุมฮิญาบเข้าเรียน หนังสือ และเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอกที่ครูได้กระทำต่อ เด็กมุสลิมะฮฺ รวมถึงการปฏิเสธการสอนที่ถือเป็นการทำผิดจรรยาบรรณครูอย่างร้ายแรง โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้ได้รับการตอบรับจากพ่อค้า-แม่ค้า และผู้มาจับจ่ายข้าวของเป็นอย่างดี และยังพบว่าส่วนมากของผู้ที่มาจับจ่ายและแม่ค้าในตลาดต่างสวมใส่ฮิญาบตาม หลักการศาสนาอิสลามได้โดยปกติ”

การคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ
          ช่วง ตั้งแต่ ต.ค.๕๔ เป็นต้นมา ได้ปรากฏความเคลื่อนไหวจากองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เคลื่อนไหวต่อต้านการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯรุนแรงและต่อเนื่อง โดยเฉพาะเครือข่ายประชาสังคมคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ๑๙ องค์กร ซึ่งนำโดยเครือข่ายประชาสังคมคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ๑๙ องค์กร อาทิ
         - เมื่อ ๓๐ ต.ค.๕๔ เครือข่ายประชาสังคมคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ๑๙ องค์กร ร่วมอ่านแถลงการณ์ ขอให้รัฐบาลยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใน ๓๐ วัน ที่ห้องห้องประชุมอาคารวิทยนานาชาติ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๔
         - เมื่อ ๑๐ ธ.ค. ๕๔ วันรัฐธรรมนูญ และวันสิทธิมนุษยชนโลก เครือข่ายประชาสังคมคัดค้าน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รณรงค์คัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้วยการจำหน่ายโปสการ์ด หรือ ‘การ์ดสันติภาพ’ เพื่อเชิญชวนให้ร่วมกันเขียนเรียกร้องให้ยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งถึง ถึงสหประชาชาติ ‘Post Peace To UN’
         - เมื่อ ๑๓ ธ.ค.๕๔ เครือข่ายประชาสังคมคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้ข้อความคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาโพสต์ในโลกสังคมออนไลน์ เช่นใน Facebook โดยการรณรงค์ครั้งนี้ ได้มีการประสานไปยังเครือข่ายนักกิจกรรม นักศึกษาต่างประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ความมั่นคง ได้ออกมาเคลื่อนร่วมรณรงค์พร้อมกันในวันที่ ๑๓ ธ.ค. อีกด้วยภายใต้ชื่อ “Mission ๑๓ December” และมีการตั้งเครือข่ายประชาสังคมคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชักชวนให้พี่น้องประชาชนส่งจดหมายสันติภาพ หรือโปสการ์ดคัดค้าน พ.ร.ก.ไปยังสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติด้วย
         - เมื่อ ๑๖ ธ.ค.๕๔ นักศึกษาจำนวนหนึ่งได้เดินทางไปยังมัสยิดกลางปัตตานี โดยได้ถือป้ายรณรงค์ต่อต้านการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากมีการบังคับใช้กฏหมายดังกล่าวในพื้นที่มายาวนาน โดยอ้างว่าขั้นตอนการบังคับใช้กฏหมายไร้ประสิทธิภาพ การปลุกกระแสรื้อฟื้นรัฐปัตตานี
          เมื่อ ๑๐ ธ.ค.๕๔ ที่ห้องประชุม มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา เครือข่ายเพื่อการพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการปกครองในจังหวัดชาย แดนภาคใต้ร่วมกับศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้, คณะกรรมการภาคประชาสังคม สภาพัฒนาการเมือง และสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล และสถาบันพระปกเกล้าจัดเวทีสาธารณะเรื่องปัตตานีมหานคร: ประชาชนจะได้อะไร โดยมีนักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป เข้าร่วมประมาณ ๘๐๐ คน ในเวทีมี การบรรยายหัวข้อ สิทธิทางการเมืองและการปกครองของประชาชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ โดยนายมันโซร์ สาและ ประธานฝ่ายประสานงานเครือข่ายเพื่อการพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการ ปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รายงานยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงการขับเคลื่อนปัตตานีมหานครกับประชาชนใน ภูมิภาคอื่นๆ โดยพล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ และนายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และหัวข้อ เปิดร่างพ.ร.บ.ปัตตานีมหานคร โดยนายอุดม ปัตนวงศ์ นายอับดุลการีม อิสมาแอล และนายนายสมชาย กุลคีรีรัตนา เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นภาษามลายูท้องถิ่น การเปิดร.ร.อิสลามบูรพา
         - “…..โรงเรียนอิสลามบูรพา หรือ… "ปอเนาะสะปอม" ตั้งอยู่ที่บ้านใหม่ หมู่ ๕ ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส ถูกสั่งปิดตั้งแต่วันที่ ๕ ก.ค.๒๕๕๐ ภายหลังฝ่ายความมั่นคงได้เข้าตรวจค้นภายในโรงเรียนเมื่อวันทื่ ๒ ก.ค.ปีเดียวกัน และสามารถจับกุมผู้ต้องหา ผู้ต้องสงสัยรวมทั้งสิ้น ๗ คน พร้อมด้วยของกลางวัตถุระเบิดแสวงเครื่อง และอุปกรณ์ประกอบระเบิดจำนวนมากจากบ้านร้างซึ่งตั้งอยู่ในเขตโรงเรียน หนึ่งในผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมได้คือ นายมะนาเซ ยา แกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบที่มีความเชี่ยวชาญด้านการต่อวงจรระเบิด และยังเป็นครูฝึกให้กับแนวร่วมรุ่นใหม่……...ผู้บริหารโรงเรียน ครู และผู้ที่เกี่ยวข้องพยายามมาตลอดหลายปีเพื่อขออนุญาตเปิดการเรียนการสอนให้ ได้อีกครั้ง.....แล้วความหวังความฝัน...ก็กลับมาเรืองรองขึ้นอีกครั้ง เมื่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) คนใหม่ เดินทางไปที่โรงเรียนด้วยตัวเองหลังรับตำแหน่งหมาดๆ และให้คำมั่นว่าจะผลักดันให้โรงเรียนเปิดการเรียนการสอนให้ได้ .... ” สถาบันอิศรา ๒๘ ธ.ค.๕๔ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศานสมบัติและกิจการอิสลาม ซาอุดิอาระเบียสนับสนุนการศึกษาในชายแดนภาคใต้
         เมื่อ ๑๓ ธ.ค.๕๔ ที่มูลนิธิมะทา อ.เมือง จ.ยะลา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภามหาวิทยาลัยอิสลามยะลา พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. พ.ต.ต. โชติ ชวาลวิวัฒน์ ผู้บังคับการภูธรจังหวัดยะลา, พล.ต.อัคร ทิพโรจน์ รองผอ.กอ.รมน.ภาค ๔ ส่วนหน้า, ดร.อิสมาแอ ลุตฟีจะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา, นายมุขตาร์ มะทา นายกอบจ.ยะลา, นายอาซิส เบ็ญหาวัณ ที่ปรึกษานายกอบต.ยะลา ให้การต้อนรับ ดร.อับดุลอาซิส บินอับดุลเลาะห์ อัลอัมมาร์ รมช.กระทรวงศาสนสมบัติและกิจการอิสลาม ซาอุดีอาระเบีย และคณะ ซึ่งแจ้งว่ารัฐบาลซาอุดีอาระเบียพร้อมให้การสนับสนุนการศึกษาของเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

มาตรการของรัฐ
          เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ ในเขตพื้นที่อำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอเทพา และอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ ๑ ธ.ค.๕๔ - ๓๐ พ.ย.๕๕ โดยมอบหมายให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการในการป้องกัน ควบคุม และแก้ไขเหตุการณ์ในพื้นที่ซึ่งจะมีกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเกิดประสิทธิภาพ

สถิติและนัยของการก่อเหตุ
          การก่อเหตุในช่วง ๑ - ๓๑ ธ.ค. ๕๔ เท่าที่รวบรวมได้ สรุปได้ว่ามีการก่อเหตุรวมทั้งสิ้น ๕๔ เหตุการณ์ ซึ่งเป็นสถิติที่ลดลงจาก ๖๙ เหตุการณ์ ของในช่วงเดียวกันของ พ.ย.๕๔ ทั้งนี้ จ.ปัตตานี มีการก่อเหตุสูงสุด ๒๕ เหตุการณ์ ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงเป็นการกระทำต่อเป้าหมายประชาชนและเจ้าหน้าที่ไทยพุทธ ถึง๑๗ เหตุการณ์ โดย อ.ยะรังมีการก่อเหตุสูงสุด ๔ เหตุการณ์ เท่ากับอ.สายบุรี รองลงมาคือ อ.เมือง อ.โคกโพธิ์ และ อ.มายอ มีการก่อเหตุพื้นที่ละ ๓ เหตุการณ์ ขณะที่ จ.ยะลา ซึ่งเป้าหมายส่วนใหญ่อยู่ที่ชุด รปภ.ของทหารและการกราดยิงฐาน/ที่มั่นทหารนั้น มีการก่อเหตุรวมทั้งสิ้น ๑๕ เหตุการณ์ โดย อ.เมือง มีการก่อเหตุมากที่สุด ๕ เหตุการณ์ รองลงมาคือ อ.กรงปินัง ๓ เหตุการณ์ ส่วน จ.นราธิวาส ซึ่งการก่อเหตุคละกันระหว่างการลอบวางระเบิด และการลอบยิงตัวบุคคลซึ่งเป้าหมายปนกันระหว่างพุทธและอิสลาม มีการก่อเหตุรวม ๑๒ เหตุการณ์ ทั้งนี้ อ.ระแงะมีการก่อเหตุมากที่สุด ๔ เหตุการณ์ รองลงมาคือ อ.รือเสาะ และ อ.บาเจาะ พื้นที่ละ ๒ เหตุการณ์ สำหรับ ๔ อำเภอของ จ.สงขลา มีรายงานการก่อเหตุ ๒ เหตุการณ์ ที่ อ.จะนะ และ อ.สะบ้าย้อย โดยเป้าหมายอยู่ที่ชีวิตและทรัพย์ของไทยพุทธ ทั้งนี้ การก่อเหตุทั้ง ๕๔ เหตุการณ์ แยกเป็นการลอบยิงตัวบุคคล ๒๓ เหตุการณ์ รองลงมาคือ การลอบวางระเบิด ๑๖ เหตุการณ์ การขว้างระเบิด/กราดยิงฐานและที่มั่นรวมทั้งชุดลาดตระเวน/รปภ.ทหาร ๑๑ เหตุการณ์ การก่อกวน เผา และอื่นๆ ประเภทละ ๑ เหตุการณ์ โดยคนไทยพุทธมีการสูญเสีย ๔๕ ราย แยกเป็นการเสียชีวิต ๑๐ ราย และบาดเจ็บ ๓๕ ราย สูงกว่าอิสลาม ซึ่งมีการสูญเสียรวม ๒๐ ราย แยกเป็นการเสียชีวิต ๙ ราย และบาดเจ็บ ๑๑ ราย

ข้อพิจารณา
          ๑.นับตั้งแต่นายธีระ มินทราศ้กดิ์ ได้ย้ายมาเป็น ผวจ.ปน เมื่อ พ.ย.๕๔ ก็ปรากฏว่ากลุ่มก่อเหตุก็ได้สานต่อเจตนารมย์การกำจัดไทยพุทธออกจาก ๓ จชต. ต่อไปอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งส่งนัยการท้าทายด้วยการมุ่งต่อเป้าหมาย คนไทยพุทธที่เป็น อรบ. คนทำงานในฟาร์มตัวอย่าง ฐานและชุด รปภ.ครูและเส้นทาง โดยการก่อเหตุเท่าที่รวบรวมได้ในช่วง ๑ - ๒๕ ธ.ค.๕๔ จำนวน ๔๗ เหตุการณ์นั้น แยกเป็นการกระทำต่อเป้าหมายไทยพุทธถึง ๓๙ เหตุการณ์ ตัวอย่าง
         - ๑๓ ธ.ค.๕๔ คนร้ายประกบยิงนายสุทธิพร สุวรรณนึก อรบ.ประจำหมู่บ้าน อายุ ๔๗ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๑๐ ม.๖ ต.คอลอตันหยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ขณะกำลังต้อนวัวกลับบ้านผ่านบริเวณใต้สะพานกลับรถถนนสาย ๔๑๘ ปัตตานี-ยะลา ม.๖ บ.ไร่ ต.คอลอตันหยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานีบาดเจ็บ จากนั้นคนร้ายที่นั่งซ้อนท้ายได้ลงจากรถและเข้ายิงซ้ำบริเวณศรีษะ๑ นัด จนเสียชีวิต
          - ๑๘ ธ.ค.๕๔ ยิงนายขนพ ชีวอารี อายุ ๔๕ ปี ที่อยู่ ๘๙ ม.๑ ต.นครชัยศรี จ.นครปฐม ทหารผ่านศึกนอกประจำการซึ่งปัจจุบันทำงานในฟาร์มตัวอย่าง ม.๘ ต.แป้น อ.สายบุรี จ.ปัตตานี บาดเจ็บสาห้สบนถนนภายในหมู่บ้านจ่ากอง ม.๒ ต.ปะเสยะวอ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ขณะที่ ขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะเพื่อมุ่งหน้าไป ต.แป้น อ.สายบุรี
          - ๑๘ ธ.ค.๕๔ ซุ่มยิงนายทวีศักดิ์ แซ่ยี้ อรบ.บ้านไร่ อายุ ๑๘ ปี ที่อยู่ ๖/๒ ม.๔ ต.ปากล่อ อ.โคกโพธื์ จ.ปัตตานี บาดเจ็บบนถนนบ้านไร่-โคกโพธื์ ม.๔ ต.ปากล่อ อ.โคกโพธื์ จ.ปัตตานี ขณะที่ ขับขี่รถจักรยานเป็นพาหนะเพื่อกลับบ้านพัก
         ๒. ๒. การก่อเหตุมีลักษณะของการส่งนัยให้เห็นว่าเป็นการเจาะจงมุ่งทำลายความเป็นไทยพุทธอย่างท้าทายยิ่ง ตัวอย่าง
         - ๒ ธ.ค.๕๔ คนร้ายประกบยิง น.ส.อรุณ บัวจุด ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ปะลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เสียชีวิตคารถของ อบต. ขณะที่ นายอนูวา สาและ คนขับไม่ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด
         - ๑๕ ธ.ค.๕๔ เวลา ๑๕.๓๐ น. คนร้ายยิง ร.ต.ท.ญาติ รักศิริ อายุ ๕๗ ปี ตำรวจ สภ.ลำใหม่ บาดเจ็บ นางนิภา เฉียงเจี้ยง อายุ ๔๕ ปี ภรรยาของ ร.ต.ท.ญาติ และบุตรชาย อายุ ๑๗ ปี เสียชีวิต บนถนนสายท่าสาป-ลำใหม่ หมู่ ๔ บ.ปีซัด ต.พร่อน อ.เมือง จ.ยะลา
         - ๑๕ ธ.ค.๕๔ คนร้ายใช้อาวุธปืนสงครามยิงใส่สถานียุทธศาสตร์ตำบลตันหยงลิมอ ม.๓ ต.ตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส และร้านขายของชำที่อยู่ตรงข้ามกับสถานียุทธศาสตร์ มีผู้เสียชีวิต ๑ ราย คือ นายสุภาพ ไข่มุกต์ และบาดเจ็บ ๔ ราย ได้แก่ ร.ท.ธงชัย ใจชนะ นย.พัน ๘ ค่ายจุฬาภรณ์ (บาดเจ็บ) อส.ทพ.อติพงษ์ แพดี จาก ฉก.ทพ.๔๔ นายธิชากร ขานโบ ชรบ. ด.ญ.แสนศิริ เพชรศรี
         ๓. กลุ่มก่อเหตุได้พยายามแยกประชาชนออกจากทหาร/โดดเดี่ยวทหาร ด้วยการข่มขู่ ทำร้ายชาวบ้านโดยเฉพาะไทยพุทธซึ่งตั้งบ้านเรือนหรือร้านค้าอยู่ใกล้เคียงกับฐานหรือค่ายทหาร ตัวอย่างเช่น
         - ๑๒ ธ.ค.๕๔ แนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรือ อาร์เคเค ในพื้นที่ ๑๓ อำเภอ ของ จ.นราธิวาส ได้ส่ง แนวร่วมปล่อยข่าว ข่มขู่ ประชาชน ในร้าน น้ำชา ร้านอาหาร ตลาดนัด และชุมชนต่างๆ ห้ามมิให้ชาวบ้านออกจากบ้าน ตั้งแต่วันที่ ๑๒ ธ.ค. เป็นต้นไป โดยอ้างว่าตั้งแต่วันที่ ๑๒ ธ.ค. อาร์เคเค จะทำร้าย ตำรวจ ทหาร และ พลเรือน ที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ
         - ๑๕ ธ.ค.๕๔ คนร้ายซุ่มโจมตีสถานียุทธศาสตร์ตำบลตันหยงลิมอ และร้านขายของชำที่ ม.๓ ต.ตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ทำให้นายสุภาพ ไข่มุกต์ เสียชีวิต และมีผู้บาดเจ็บอีก ๔ ราย ได้แก่ ร.ท.ธงชัย ใจชนะ นย.พัน ๘ ค่ายจุฬาภรณ์ อส.ทพ.อติพงษ์ แพดี อายุ ๓๓ ปี (ฉก.ทพ.๔๔) นายธิชากร ขานโบ(ชรบ.) และด.ญ.แสนศิริ เพชรศรี อายุ ๔ ขวบ
         - ๒๑ ธ.ค.๕๔ คนร้ายใช้อาวุธปืนกราดยิงใส่ฐานทหารร้อย ร ๗๐๒๑ ฉก.ยะลา ๑๕ ที่หมู่ ๑๓ ต.ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา จ.ยะลา ในเบื้องต้นทำให้มีชาวบ้านที่อยู่ใกล้ฐานของทหาร บาดเจ็บ ๓ ราย ได้แก่ นายแมะซง แมะศิเมาะ อายุ ๖๑ ปี นายมูฮัมหมัดนุ มะ อายุ ๑๗ ปี นายกาเร็ง มะ อายุ ๕๙ ปี
         ๔. การก่อเหตุมีลักษณะของการเพิ่มสถิติและแสดงความอหังการ์อย่างง่ายๆและอย่างปลอดภัย เพื่อเสริมสร้างขวัญกำลังใจและปลุกความฮึกเหิมให้กับกลุ่ม ด้วยการโจมตี hard targets ถึง๑๘ เหตุการณ์

มาตรการป้องปรามของ จนท.
         ในช่วงรายงานปรากฏการตรวจค้นและจับกุมรวมทั้งการไล่ติดตามกลุ่มผู้ก่อเหตุถี่ขึ้นอย่างเห็นได้ชัดแม้ส่วนใหญ่จะไม่ประสบผลสำเร็จเท่าใดนักก็ตาม ตัวอย่างเช่น
         - ๔ ธ.ค.๕๔ การตรวจค้นพื้นที่หมู่บ้านกูจิงรือปะ หมู่ ๔ และ หมู่บ้านเฉลิม หมู่ ๕ ต.เฉลิม อ.ระแงะ สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ ๓ ราย คือ นายรอยาลี เป๊าะมะ อายุ ๓๑ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๑๐๔ หมู่ ๔ ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส นายกอเซ็ง มามะ อายุ ๔๗ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๖๖ หมู่ ๕ ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส และนายอับโดรอฮิง สะมะแอ อายุ ๔๐ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๔/๓ หมู่ ๓ ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส พร้อมของกลางจำนวนหนึ่ง
         - ๙ ธ.ค.๕๔ การตรวจค้นที่บ้านลีเซ็ง ม. ๕ ต.จะกว๊ะ อ.รามัน จนเกิดการยิงปะทะกับคนร้าย เป็นเหตุให้นายยะหยา ดะมะ ชรบ.เสียชีวิต ขณะที่มีคนร้ายถูกยิงบาดเจ็บด้วย
         - ๑๐ ธ.ค.๕๔ การตรวจค้นบ้านเลขที่ ๙/๖ หมู่ ๔ บ.สุงาบารู ต.ตลองใหม่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี จนจับกุมนายมะซาบือรี เจ๊ะบู อายุ ๒๕ ปี ผู้ร่วมก่อเหตุลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี ๒๑ เสียชีวิต ๑ นาย ในเขตพื้นที่ ต.คลองใหม่ อ.ยะรัง เมื่อ๑๖ พ.ย.๕๔ได้ พร้อมของกลางจำนวนหนึ่ง
         - ๑๙ ธ.ค.๕๔ การตรวจค้นบ้านบูเกะนากอ ม.๒ ต.ลาโละ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส จนเกิดการปะทะกันขึ้นทำให้นายรุสลัน มาเน็ง อายุ ๓๐ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๙ ม.๔ ต.รือเสาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ และนายอับดุลรอแม อาเระ อายุ ๓๑ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๓๒ ม.๙ ต.รือเสาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เป็นบุคคลมีหมายจับ ถูกควบคุมตัวด้วย

                                               ............................................