สถานการณ์ ๓ + ๑ จชต.
๑ - ๓๑ ก.ค.๕๔

          หลังจากการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อ ๓ ก.ค.๕๔ บรรยากาศทางการเมืองยังไม่นิ่ง ทำให้บรรดานักการเมือง สื่อ และ NGO อิสลามส่วนใหญ่ต้องยุติความเคลื่อนไหวลงชั่วคราวเพื่อรอดูทิศทาง ซึ่งโดยรวมตระหนักและยอมรับถึงการที่นักการเมืองอิสลามดูเหมือนจะหดหายไป ยกเว้นสื่อสถาบันอิศราและ เครือข่ายประชาชนเพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งยังคงพยายามสร้างกระแสกดดันให้รัฐบาลใหม่เร่งแก้ปัญหา ๓ จชต. ในทิศทางที่ตนเองต้องการคือการถอนทหาร ยกเลิกพ.ร.บ.ฉุกเฉินและการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษ ๓ จชต.และการตั้งรัฐปัตตานีอย่างต่อเนื่องทั้งโดยการยั่วยุ และการ discredit ทหาร ขณะที่ทหารได้ลดการตรวจค้นจับกุมลงอย่างสอดคล้องกับการเพิ่มการซื้อใจมลายูอิสลาม โดยการลดการคุ้มครองไทยพุทธ และเร่งรัดการนำผู้ก่อเหตุเข้าสู่การอบรมอาชีพเพื่อกลับสู่ครอบครัวพร้อมทั้งมอบงบประมาณให้เป็นทุนในการประกอบอาชีพด้วย เช่นเดียวกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ได้มีการตั้งการจัดชมรมเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้
          ส่วนกลุ่มผู้ก่อเหตุใน ๓ จชต.ได้ฉวยโอกาสจากสภาพปลอดอำนาจรัฐ และความไม่ลงตัวทางการเมืองโหมถล่มทหารและชาวบ้านไทยพุทธ เพื่อชิงความได้เปรียบ/ความเป็นต่อในการต่อรองกับรัฐบาลใหม่ จนส่งผลให้ความสูญเสียของไทยพุทธรวม ๗๒ ราย สูงกว่าอิสลามที่มีความสูญเสีย ๓๕ ราย โดยการก่อเหตุที่สะท้อนให้เห็นถึงความเกลียดชังและมุ่งมั่นที่จะกำจัดคนไทยพุทธให้หมดไปจากพื้นที่ ได้แก่การกราดยิงชาวบ้านไทยพุทธขณะซื้อของเพื่อทำบุญที่วัด ที่อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เมื่อ ๑๔ ก.ค.๕๔ ที่ ซึ่งการกราดยิงคนไทยพุทธขณะซื้อของทำบุญเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อ ๓ ก.พ.๕๔ ทั้งนี้ จังหวัดที่มีการก่อเหตุมากที่สุดคือ จ.นราธิวาส จำนวน ๒๘ เหตุการณ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลอบวาง/ขว้างระเบิดและการระดมยิงฐานปฏิบัติการ รองลงมาคือ จ.ปัตตานี ๒๒ เหตุการณ์ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นการลอบยิงตัวบุคคล และ จ.ยะลา ๑๓ เหตุการณ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลอบวางระเบิด ส่วน จ.สงขลาไม่มีรายงานการก่อเหตุ

          แนวโน้มของสถานการณ์ ความพยายามที่จะผลักดันความเชื่อที่ว่าคนไทยพุทธคือส่วนเกินที่ควรจะหมดไปนานแล้ว และความเชื่อที่ว่าRKK ไม่ใช่โจรหากเป็นเพียงนักรบผู้หลงผิดซึ่งกองทัพจะต้องนำกลับสู่ครอบครัว ออกมาเป็นนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมน่าจะทำให้คนไทยพุทธตกอยู่ในอันตรายมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หากไม่มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นการก่อเหตุ ก็จะทรงอยู่ในสภาพเดิม ระหว่าง ๔๕ - ๖๕ เหตุการณ์ โดยมุ่งเน้นทำลายขวัญทหารและกดดันไทยพุทธให้อพยพออกจากพื้นที่ด้วยการสกัดกั้นการเดินทางออกไปทำมาหากิน

สถิติและนัยของการก่อหตุ
          การก่อเหตุในช่วง ๑-๓๑ ก.ค ๕๔ เท่าที่รวบรวมได้ สรุปได้ว่ามีการก่อเหตุ ๖๓ เหตุการณ์ เพิ่มขึ้นจาก ๕๗ เหตุการณ์ ในช่วงเดียวกันของเดือน มิ.ย.๕๔ เล็กน้อย ทั้งนี้ จ.นราธิวาส เป็นพื้นที่ซึ่งมีการก่อเหตุมากที่สุด ๒๘ เหตุการณ์ โดย อ.รือเสาะมีการก่อเหตุสูงสุด ๘ เหตุการณ์ รองลงมาคือ อ.ระแงะ ๖ เหตุการณ์ สำหรับ จ.ปัตตานี มีการก่อเหตุ ๒๒ เหตุการณ์ โดย อ.ปะนาเระ มีการก่อเหตุสูงที่สุด ๕ เหตุการณ์ รองลงมาคือ อ.หนองจิก และ อ.ยะรัง พื้นที่ละ ๔ เหตุการณ์ ส่วนจ.ยะลา ซึ่งมีการก่อเหตุ ๑๓ เหตุการณ์ นั้น อ.รามันและอ.เมืองมีการก่อเหตุสูงสุด พื้นที่ละ ๔ เหตุการณ์ ทั้งนี้การก่อเหตุทั้ง ๖๓ เหตุการณ์ แยกเป็นการลอบยิงตัวบุคคล ๓๕ เหตุการณ์ รองลงมาคือการวางระเบิด ๒๒ เหตุการณ์ การกราดยิงฐานปฏิบัติการ ๔ เหตุการณ์ การซุ่มโจมตี และการเชือดคอ อย่างละ ๑ เหตุการณ์ โดยคนไทยพุทธมีการสูญเสีย ๗๒ ราย แยกเป็นการเสียชีวิต ๙ ราย และบาดเจ็บ ๖๓ ราย สูงกว่าอิสลาม ซึ่งมีการสูญเสียรวม ๓๕ ราย แยกเป็นการเสียชีวิต ๑๔ ราย และบาดเจ็บ ๒๑ ราย

ข้อพิจารณา
          ๑.การก่อเหตุที่เกิดขึ้นในช่วงรายงานมุ่งเน้นการกระทำต่อไทยพุทธทั้ง จนท.และชาวบ้าน โดยเฉพาะที่ จ.ปัตตานีซึ่งมี ผวจ.และ ผกก.เป็นมลายูอิสลาม ทั้งนี้ จากการก่อเหตุทั้งหมด จำนวน ๖๓ เหตุการณ์นั้น แยกเป็นการก่อเหตุที่เจาะจงต่อเป้าหมายไทยพุทธ ๔๐ เหตุการณ์ และเจาะจงตัวบุคคลอิสลาม ๑๗ เหตุการณ์ ส่วนอีก ๖ เหตุการณ์ เป้าหมายยังไม่ชัดเจน
         ๒. การก่อเหตุยังคงมีลักษณะการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าไม่ว่าจะต่อเป้าหมาย จนท.หรือชาวบ้าน โดยส่วนใหญ่จะเป็นการใช้มอเตอร์ไซด์รุมไล่ยิง/ลอบยิงชาวบ้าน และการลอบวาง/ขว้างระเบิด รวมทั้งการระดมยิงฐานแล้วหลบหนีไป
         ๓. การก่อเหตุที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความเกลียดชังและความมุ่งมั่นในการกำจัดไทยพุทธออกจากพื้นที่อย่างอุกอาจ ท้าทายอำนาจรัฐอย่างยิ่ง ยังคงอยู่ที่ อ.ปะนาเระ ซึ่งในช่วงรายงาน ได้เกิดการกราดยิงชาวบ้านไทยพุทธ ขณะกำลังซื้อสินค้าไปทำบุญในตลาดนัดบ้านกลาง ม.๗ ต.บ้านกลาง อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เมื่อ ๑๔ ก.ค.๕๔ ทำให้นายวรพจน์ แดงสุข อายุ ๑๖ นักเรียนชั้น ม.๕ โรงเรียนท่าข้ามวิทยาคาร อ.ปะนาเระ เสียชีวิต นายรงค์ ยอดศรี อายุ ๕๑ ปี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และนายเจริญ ตาลศรีกลาง รปภ.หมู่บ้าน บาดเจ็บ อนึ่ง ก่อนหน้านี้ เมื่อ ๓ ก.พ.๕๔ คนร้ายได้กราดยิงประชาชนซึ่งมีทั้ง ข้าราชการ เด็กนักเรียน ชาวบ้าน ซึ่งกำลังจับจ่ายซื้ออาหารเพื่อนำไปทำบุญตักบาตร ที่ หน้าวัดมหิงษาราม ม.๑ บ้านใหญ่ ต.คอกกระบือ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๕ รายและบาดเจ็บสาหัส ๔ ราย
         ๔. การก่อเหตุที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน แสดงให้เห็นว่าผู้ก่อเหตุพยายามรักษาสถิติการก่อเหตุไม่ให้ตกลงจากเดือนที่ผ่านๆ มา ดังจะเห็นจากการที่สถิติการก่อเหตุได้เพิ่มขึ้นจาก ๔๐ เหตุการณ์ระหว่าง๑-๒๕ ก.ค.๕๔ เป็น ๖๓ เหตุการณ์ ระหว่าง ๑-๓๑ ก.ค.๕๔ หรือเพิ่มขึ้นถึง ๒๓ เหตุการณ์ภายในเพียงเวลาเพียง ๖ วัน

การเคลื่อนไหวของนักการเมือง สื่อ และ NGO อิสลาม
          แม้จะมีการการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อ ๓ ก.ค.๕๔ แล้วก็ตาม หากบรรยากาศทางการเมืองยังไม่นิ่ง บรรดานักการเมืองอิสลามจึงต้องยุติความเคลื่อนไหวเพื่อรอดูทิศทาง เช่นเดียวกับสื่ออิสลามซึ่งโดยรวมตระหนักและยอมรับถึงการที่นักการเมืองอิสลามดูเหมือนจะหดหายไป ยกเว้นสื่อสถาบันอิศราและกลุ่มเครือข่ายประชาชนเพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งพยายามสร้างกระแสกดดันให้รัฐบาลใหม่เร่งแก้ปัญหา ๓ จชต. ในทิศทางที่ตนเองต้องการคือการถอนทหาร ยกเลิกพ.ร.บ.ฉุกเฉินและการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษ ๓ จชต.อย่างต่อเนื่องทั้งโดยการยั่วยุ และการdiscredit ทหาร

สถาบันอิศรา
          - ๗ นโยบายดับไฟใต้วัดใจรัฐบาลใหม่ "เพื่อไทย" เมื่อ ๔ ก.ค. ๕๔ โดยพยายามทวงถามให้มีการ
         ๑. จัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ โดยรวมพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เข้าเป็น “นครปัตตานี” และเลือกตั้ง “ผู้ว่าการนครปัตตานี”
         ๒. ถอนทหาร
         ๓. ยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษ โดย เฉพาะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
         ๔. การรื้อและเร่งรัดคดีความมั่นคง
         ๕. การใช้ “ภาษามลายูถิ่น” เป็นภาษาทำงาน พร้อมบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอน และจัดหลักสูตรสายสามัญควบคู่กับการศึกษาศาสนาอิสลามอย่างมีคุณภาพ
          - ฟังทหารประเมินสถานการณ์หลังเลือกตั้งใต้ กับทางสองแพร่งของนโยบาย "นครปัตตานี" เมื่อ ๑๒ ก.ค. ๕๔ กระตุ้นให้เร่งนโยบาย “นครปัตตานี” หรือการผลักดัน ให้เกิดเขตปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ โดยรวมพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นเขตปกครอง โดยเฉพาะผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ถึงกับอ้างว่านโยบายนครรัฐปัตตานีของพรรคเพื่อไทยนั้น “เมื่อประกาศนโยบายแล้วก็ต้องทำ ไม่ว่าจะมี ส.ส.ที่ได้รับเลือกจากพี่น้องประชาชนหรือไม่ก็ตาม ก็ต้องผลักดันให้สำเร็จ เพราะนี่คือการแสดงออกถึงความจริงจังและจริงใจในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ”…
          - สมาคม นสพ.ภาคใต้ฯจี้สางปม "ทหารคุกคามสื่อ" หิ้วปีกนักข่าวพ้นห้องประชุม – แม่ทัพรับเรื่องเร่งสอบข้อเท็จจริง เมื่อ ๒๔ ก.ค. ๕๔ ซึ่งเป็นการนำเรื่องที่ผู้สื่อข่าวอิสลามที่กำลังเก็บภาพในห้องที่ ผบ.ทบ.เตรียมให้สัมภาษณ์ถูกทหารนำตัวออกจากห้องเพื่อตรวจสอบ มาลงตีพิมพ์
         เครือข่ายประชาชนเพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีนายมันโซร์ สาและ นักวิชาการอิสระ เป็นหนึ่งในแกนนำเครือข่าย กำลังรณรงค์ให้มีการกระจายอำนาจและเสนอโมเดล "ปัตตานีมหานคร" เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษครอบคลุมพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ ๔ อำเภอของ จ.สงขลา โดยจะเร่ง ยกร่างเป็นพระราชบัญญัติให้เสร็จสมบูรณ์ภายในปลายปีนี้ เพื่อจะเสนอเข้าสภาตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ

ความเคลื่อนไหวซื้อใจอิสลามของรัฐบาลและทหาร
         ความพยายามที่จะผลักดันความเชื่อที่ว่าคนไทยพุทธคือส่วนเกินที่ควรจะหมดไปนานแล้ว และความเชื่อที่ว่าRKK ไม่ใช่โจรหากเป็นเพียงนักรบผู้หลงผิดซึ่งกองทัพจะต้องนำกลับสู่ครอบครัว ออกมาเป็นรูปธรรมที่ปฏิบัติได้ มีความชัดเจนขี้นตามลำดับ ขณะที่รัฐบาลก็พยายามเอาใจมลายูอิสลามโดยการส่งงบประมาณเพื่อทำโครงการ‘ชมรมเยาวชนชายแดนใต้’ อาทิ
         - เมื่อ ๒๓ ก.ค.๕๔ เวลาประมาณ ๑๗.๓๐ น. ขณะเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง หน่วยเลือกตั้งที่ ๒ บ้านป่าไผ่ ได้นั่งรถยนต์ของทางราชการ เพื่อนำหีบเลือกตั้งมาส่งที่ว่าการอำเภอศรีสาคร หลังจากตรวจนับคะแนนผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสร็จเรียบร้อย เมื่อมาถึงถนนสายบ้านกาหลง-ศรีสาคร ม.๑ ต.กาหลง อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ได้มีคนร้ายไม่ทราบกลุ่มและจำนวน ใช้อาวุธปืน ยิงใส่รถยนต์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ศรีสาคร เจ้าหน้าที่ได้ทำการยิงตอบโต้คนร้าย ทำให้คนร้ายหลบหนีไป และเป็นเหตุให้มีไทยพุทธบาดเจ็บ ๓ ราย จึงเข้าไปขอความช่วยเหลือจากทหารให้นำส่ง รพ. แต่ทหารปฏิเสธอ้างไม่มีคำสั่งจากผบ.
         - การประกาศนโยบายแก้ปัญหา ๓ จชต.เมื่อ ๒๑ ก.ค.๕๔ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ Rkk “ …๓.กลุ่มอาร์เคเค หรือเยาวชนและชายฉกรรจ์ที่เข้ารับการฝึกเป็นหน่วยรบขนาดเล็กแบบจรยุทธ์ ซึ่งปฏิบัติการก่อความรุนแรงรูปแบบต่างๆ อยู่ในปัจจุบัน และบางส่วนหลบหนีกบดานอยู่ตามป่าเขา กลุ่มนี้จะใช้นโยบาย “พาคนกลับบ้าน” ของแม่ทัพ ด้วยการทำความเข้าใจกับครอบครัว ญาติสนิทมิตรสหาย ให้ชักชวนคนเหล่านี้เข้ามามอบตัว หากเคยกระทำความผิดก็ให้ต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม แต่หากเป็นแค่ผู้หลงผิดหรือถูกชักจูง ก็ให้ส่งเข้ารับการฝึกอบรมหรือพูดคุยทำความเข้าใจ “กลุ่มอาร์เคเคไม่ใช่โจรผู้ร้าย เราคิดว่าพวกเขาเป็นผู้หลงผิด จึงน่าจะสามารถปรับเปลี่ยนความคิดความเข้าใจกันได้”
         - การนำตัวนายดูรอนิง สะมะแอปอเย๊าะ แกนนำแนวร่วมซึ่งมีพฤติกรรม ชักชวนเผยแพร่อุดมการณ์ บิดเบือนศาสนาเพื่อแบ่งแยกดินแดน/ตั้งรัฐอิสระปกครองตนเอง และมีหมายจับ เข้ามารายงานตัวอย่างให้เกียรติ์อย่างยิ่ง เมื่อ ๒๖ ก.ค.๕๔ ทั้งนี้ นายดูรอนิง จะถูกส่งตัวไปอบรมอาชีพที่ศูนย์สันติสุข ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี เป็นเวลา ๓๐ วัน จากนั้นก็จะจัดงบประมาณมอบให้เป็นทุนในการประกอบอาชีพต่อไป
         - การตั้งชมรมเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อ ๒๗ ก.ค. ๕๔ โดยกระทรวงฯ เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณการจัดกิจกรรมผ่านแกนนำเด็ก เยาวชนและผู้ใหญ่ที่ทำงานด้านเด็กในแต่ละจังหวัด โดยให้แต่ละพื้นที่คิดแผนกิจกรรมของแต่ละจังหวัด

                                               ............................................