สถานการณ์ ๓ + ๑ จชต.
๑ - ๓๐ มิ.ย.๕๔

          เนื่องจากอำนาจรัฐไม่สามารถคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้ จึงมีแนวโน้มของการแก้ไขปัญหากันเองตามภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่าการก่อเหตุต่อชาวบ้านไทยพุทธมีแนวโน้มลดลง หากการกระทำต่อเป้าหมายกลไกของรัฐโดยเฉพาะทหารยังคงรุนแรงอยู่ เนื่องจากแนวร่วมเชื่อว่าทหารยังไม่กล้าตอบโต้เพราะเกรงว่า“การตอบโต้โจร คือการเข้าทางโจร” และความขัดแย้งกรณีความคงอยู่ใน ๓ จชต.ของคนไทยพุทธในกลุ่มทหารระดับผู้บังคับบัญชา
         สำหรับสถิติการก่อเหตุ  เท่าที่รวบรวมได้จำนวน ๕๗ เหตุการณ์ พบว่าตั้งแต่มีการสร้างสถานการณ์กระตุ้นให้เกิดการตอบโต้เข่นฆ่าไทยพุทธ ด้วยการกราดยิงร้านน้ำชาที่ จ.ยะลา เมื่อ ๓ พ.ค.๕๔ แล้ว ปรากฏว่า การก่อเหตุใน จ.ยะลาที่เคยเงียบลงเป็นเวลานาน ได้กลับคืนมาอย่างทันควันและต่อเนื่องมาจนถึงในช่วงรายงาน โดยมีการก่อเหตุ ๑๗ เหตุการณ์ เท่ากับ จ.ปัตตานี ซึ่งมีการกวาดล้างไทยพุทธอย่างต่อเนื่อง อุกอาจ และท้าทายอำนาจรัฐอย่างน่าวิตก ส่วนจ.นราธิวาสมีการก่อเหตุสูงสุด ๒๒ เหตุการณ์
          การหาเสียงของนักการเมืองทั้งไทยพุทธและมลายูอิสลาม ยังคงเน้นการให้สิ่งตอบแทนแก่คนมลายูอิสลามในเรื่อง การให้โอกาสในการปกครองตนเอง การยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน การสนับสนุนกิจการอาหารฮาลาลทั้งพรรคมาตุภูมิ พรรคประชาธิปัติย์และพรรคเพื่อไทย โดยพรรคประชาธิปัตย์เสนอการถอนกำลังทหารจากกองทัพภาคอื่นๆ ออกจากพื้นที่ชายแดนใต้ ขยายการเรียนการสอนภาษาไทยควบคู่กับภาษามลายู ในพื้นที่สามจังหวัดทั้งหมด และการผลักดันการตั้งศาลชารีอะฮ์ ขณะที่พรรคเพื่อไทยเสนอให้เป็นพื้นที่เขตปกครองพิเศษ เพิ่มโควตาให้ชาวไทยมุสลิมไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยไม่ต้องเสียค่ามัดจำ และเปิด รร.สอนภาษายาวี และพรรคมาตุภูมิ ถึงกับระบุว่านโยบายของทหารนำสู่การก่อสงคราม และให้ถอนทหาร ตำรวจออก เพื่อให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านดูแลพื้นที่กันเอง
          สื่อมวลชนอิสลามพยายามเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการชี้นำการเลือก สส.จากพรรคต่างๆ โดยหลายๆสื่อได้หยิบยก เหตุการณ์ในอดีตขึ้นมาทำเป็นบทความเพื่อเพิ่ม และลด credit ของพรรคการเมือง โดย มุสลิมไทยดอทคอม นำเรื่องกรือเซะ ตากใบ มาทำเป็นบทความปลุกความแค้นมลายูอิสลาม และปลุกระดมให้เลือก สส. ที่เป็นอิสลาม สถาบันอิศรา นำเรื่องคดีคั่งค้างของมลายูอิสลามใน ๓ จชต.มาวิจารณ์ และกลุ่มมูลนิธิผสานวัฒนธรรม พยายามแทรกเข้ามามีบทบาทร่วมด้วย
         แนวโน้มของปัญหา  หากไม่มีสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เชื่อว่าความยุ่งยากทางการเมืองซึ่งยากจะลงตัวได้ จะยังคงทำให้พื้นที่ ๓ จชต.เป็นเขตปลอดอำนาจรัฐ ที่ทุกคนในพื้นที่จะต้องหาทางเอาตัวรอดกันโดยลำพัง ซึ่งเมื่อประกอบกับทัศนะที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับความคงอยู่ของไทยพุทธใน ๓ จชต. กำลังทำให้คนไทยพุทธมีอันตรายเพิ่มขึ้นอย่างน่าวิตก อันจะกดดันให้ไทยพุทธต้องถอยออกจากพื้นที่อีกละลอกหนึ่ง ดังที่ ได้เกิดขึ้นแล้วในช่วงเวลารายงาน ที่ ม.๓ บ.ซาไก ต.บ้านแหร อ.ธารโต จ. ยะลา

สถิติและนัยของการก่อเหตุ
          การก่อเหตุในช่วง ๑-๓๐ มิ.ย ๕๔ เท่าที่รวบรวมได้ สรุปได้ว่ามีการก่อเหตุ ๕๗ เหตุการณ์ ลดลง จาก ๖๕ เหตุการณ์ ของในช่วงเดียวกันของเดือน พ.ค.๕๔ เล็กน้อย ทั้งนี้ จ.นราธิวาส นั้นการก่อเหตุสูงสุด ๒๒ เหตุการณ์ โดย อ.บาเจาะ ที่มีการก่อเหตุ ๔ เหตุการณ์ อ.ระแงะ และอ.ยี่งอ พื้นที่ละ ๓ เหตุการณ์ ส่วนอีก ๖ อำเภอ มีการก่อเหตุ อำเภอละ ๑-๒ เหตุการณ์ ขณะที่ จ.ยะลา และ จ.ปัตตานี มีการก่อเหตุ พื้นที่ละ ๑๗ เหตุการณ์ โดยที่ จ.ยะลานั้น อ.เมืองมีการก่อเหตุสูงสุด ๗ เหตุการณ์ รองลงมาคือ อ.รามัน มีการก่อเหตุ ๓ เหตุการณ์ ส่วนอีก ๔ อำเภอ มีการก่อเหตุเภอละ ๑-๒ เหตุการณ์ สำหรับ จ.ปัตตานี มีการก่อเหตุมากที่สุดใน อ.ยะรัง ซึ่งเคยมีคนไทยพุทธประมาณ ๑,๐๐๐ คน จำนวน ๘ เหตุการณ์ ส่วนอีก ๗ อำเภอ มีการก่อเหตุอำเภอละ ๑-๒ เหตุการณ์ และ จ.สงขลา มี การก่อเหตุ ๑ เหตุการณ์ ที่ อ.สะบ้าย้อย ทั้งนี้การก่อเหตุทั้ง ๕๗ เหตุการณ์ แยกเป็นการลอบยิงตัวบุคคล ๓๗ เหตุการณ์ รองลงมาคือการวางระเบิด ๑๔ เหตุการณ์ การซุ่มโจมตี จนท. ๒ เหตุการณ์ การเผาอาคารสถานที่ ๓ เหตุการณ์ และอื่นๆ ๑ เหตุการณ์ โดยไทยพุทธมีการสูญเสีย ๓๙ ราย แยกเป็นการเสียชีวิต ๑๒ ราย และบาดเจ็บ ๒๗ ราย สูงกว่าอิสลาม ซึ่งมีการสูญเสียรวม ๓๔ ราย แยกเป็นการเสียชีวิต ๒๐ ราย และบาดเจ็บ ๑๔ ราย

ข้อพิจารณา
          ๑. การสูญเสียของคนไทยพุทธลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการยันกันในลักษณะตาต่อตา และ ฟันต่อฟัน ในพื้นที่ซึ่งมีคนไทยพุทธอยู่กันเป็นชุมชน ทำให้การสูญเสียของไทยพุทธที่เดินทางเดี่ยวลดลง
          ๒. การกระทำต่อเป้าหมายกลไกของรัฐโดยเฉพาะทหารยังคงถี่ และรุนแรงอยู่ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะแนวร่วมเชื่อว่าทหารยังไม่กล้าตอบโต้ จากการที่ถูกทำให้เชื่อว่า “การตอบโต้โจร คือการเข้าทางโจร” และปัญหาซับซ้อนภายในวงการทหารซึ่งส่วนหนึ่งมองว่าคนไทยพุทธคือส่วนเกินและก่อปัญหาความยุ่งยาก ขณะที่อีกส่วนหนึ่งมองว่าจำเป็นต้องรักษาไทยพุทธให้ยืนหยัดอยู่ใน ๓ จชต.
          ๓. การกราดยิงร้านน้ำชาที่ บ.กาโสด ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อ ๓ พ.ค.๕๔ ไม่ว่าจะแผนของใครก็ตาม มีเจตนาให้ดูเหมือนเป็นการแก้แค้นของไทยพุทธเพื่อกระตุ้นให้เกิดการไล่ล่าไทยพุทธ เพิ่มสถิติการก่อเหตุใน จ.ยะลาให้เท่าเทียมกับ จ.นราธิวาสและโดยเฉพาะกับ จ.ปัตตานีที่นำหน้าขึ้นมาหลังจากนายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุลได้รับแต่งตั้งเข้ามาเป็น ผวจ.ปน. เมื่อ ต.ค.๕๓ ซึ่งก็สัมฤทธิผลด้วยดีและอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงรายงานมีการก่อเหตุ ๑๗ เหตุการณ์ เท่ากับ จ. ปัตตานี
          ๔. แนวร่วมยังคงมุ่งมั่นกวาดล้างไทยพุทธที่ อ.ยะรัง อย่างต่อเนื่อง อุกอาจและท้าทาย อำนาจรัฐอย่างยิ่ง ในลักษณะการแย่งยึคพื้นที่เพื่อตัดเส้นทางการคมนาคมติดต่อระหว่างไทยพุทธด้านตะวันออกและด้านตะวันตกของจ.ปัตตานี ๕. ปัญหาการมองคนละมุมในการคงอยู่ของคนไทยพุทธใน ๓ จชต.และผลประโยชน์ของบรรดานายทหาร กำลังเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อคนไทยพุทธ

การเคลื่อนไหวของนักการเมืองและสื่ออิสลาม
         นักการเมืองอิสลาม
         การหาเสียงของนักการเมืองมลายูอิสลาม ยังคงเน้นการให้สิ่งตอบแทนแก่คนมลายูอิสลามในเรื่อง การให้โอกาสในการปกครองตนเอง การยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน การสนับสนุนกิจการอาหารฮาลาล โดยพรรคประชาธิปัตย์เสนอถอนกำลังทหารจากกองทัพภาคอื่นๆ ออกจากพื้นที่ชายแดนใต้ ขยายการเรียนการสอนภาษาไทยควบคู่กับภาษามลายู ในพื้นที่สามจังหวัดทั้งหมด และการผลักดันการตั้งศาลชารีอะฮ์ ขณะที่พรรคเพื่อไทยเสนอให้เป็นพื้นที่เขตปกครองพิเศษ เพิ่มโควตาให้ชาวไทยมุสลิมไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยไม่ต้องเสียค่ามัดจำ และเปิด รร.สอนภาษายาวี พรรคมาตุภูมิ เสนอการให้คนในพื้นที่ เจ้าของพื้นที่ ดูแลกันเองแทนทหารและตำรวจ
         "ยิ่งลักษณ์"ลงพื้นที่๓จว.ใต้ ระบุหนุนเป็นเขตปกครองพิเศษ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา ๐๗.๓๐ น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับหนึ่งพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยแกนนำพรรคเพื่อไทย อาทิ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ร.ต.อ.นิติภูมิ นวรัตน์ ได้เดินทางลงพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ทั้งนี้การเดินทางครั้งนี้เดินทางด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำ และจะไปถึงสนามบินบ้านทอน นราธิวาส ในเวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น. โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ให้สัมภาษณ์ก่อนขึ้นเครื่องว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อต้องการพบปะประชาชน เพื่อให้กำลังใจและนำเสนอนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่จะแก้ปัญหาความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยต้องการให้เป็นพื้นที่เขตปกครองพิเศษ เช่น กทม. และพัทยาและมีโครงการสานความสัมพันธ์ ระหว่าง ไทย และซาอุดีอาระเบีย เพื่อเพิ่มโควตาให้ชาวไทยมุสลิมไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยไม่ต้องเสียค่ามัดจำ ทั้งนี้จะส่งเสริมอาหารฮาลาล และพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าในภาคใต้ ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น (breakingnews.nationchannel.com ๑๔ มิ. ย. ๕๔)
         "บิ๊กบัง"ซัด"กองทัพ"หลงทางดับไฟใต้ ชี้ยิ่งก่อสงคราม จี้ถอนทหาร-ตร.พ้นพื้นที่- พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ(มภ.) เปิดเผยในรายการ “ดีเบตนับถอยหลังเลือกตั้ง ๕๔ ประเด็น ไฟใต้ ใครอาสาแก้” ทางสถานีวิทยุ อส.มท. เอฟเอ็ม ๑๐๐.๕ เมกะเฮิรตซ์ว่า สถานการณ์ในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสถานการณ์ที่เรื้อรังมาหลายสิบปี โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ทำให้สถานการณ์ต่อเนื่อง …. เมื่อถามว่า สถานการณ์ใต้เหตุใดทหารถึงปล่อยให้เรื้อรัง พล.อ.สนธิ กล่าวว่า สงครามประชาชนหรือการก่อการร้ายที่เกิดขึ้น ยืนยันว่าการแก้ไขหากใช้การทหารนำจะมีแต่ความพ่ายแพ้ .... มาตรการทางทหารที่ทำอยู่ในวันนี้ก่อให้เกิดเงื่อนไขของสงครามมากขึ้น… ตำรวจ ทหารต้องถอยออกมา ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านไปทำหน้าที่ของเขา และสร้างความเข้มแข็งให้กับเขาโดยเพิ่ม อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) อาสารักษา ดินแดน (อส.) และให้กำนันมีบทบาทมากขึ้น…..(สยามรัฐ ๒ มิ.ย.๕๔)
         หมอแว เปิดนโยบายเด็ดๆ หวัง ๑๐ ที่นั่งภาคใต้
         ร.ร.เมอร์เคียว ๑ มิ.ย. - นพ.แวมาฮาดี แวดาโอะ หรือ “หมอแว” ประธานพรรคแทนคุณแผ่นดิน แถลงนโยบายในการรณรงค์การเลือกตั้งว่า พรรคจะเน้นนโยบายเป็นทางเลือกใหม่หรือทางสายใหม่ของประชาชน โดยจะมุ่งเน้นนโยบาย ๔ ด้าน คือ ๑. ยกเลิกนิคมอุตสาหกรรมเพื่อความมั่นคงที่สร้างรายได้ ให้เฉพาะคนบางกลุ่ม…๒. มีธนาคารคนจน เพื่อช่วยเหลือเรื่องหนี้สินเกษตรกรและผู้ยากไร้ ๓.ทวงคืนทรัพยากรของประเทศที่กลายเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กลุ่มทุน บางกลุ่ม โดยนำผลประโยชน์กลับคืนสู่ประชาชนโดยเฉพาะเรื่องราคาน้ำมัน และ ๔. พัฒนาคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ (มุสลิมไทยดอทคอม ๒ มิ.ย. ๕๔)
         ปชป.ชู “ถอนทหารบ้านไกล”
          นายถาวร เสนเนียม ผู้สมัคร.ส.ส เขต ๖ จ.สงขลา ในฐานะรักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์มอบหมายให้กำกับดูแลศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดน ภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า หากพรรคมีโอกาสกลับมาเป็นรัฐบาลอีก...เสนอให้กองทัพบกถอนกำลังทหารจากกองทัพภาคอื่นๆ ออกจากพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ให้คงเหลือเฉพาะกำลังหลักของกองทัพภาคที่ ๔ เท่านั้น …..จัดให้มีการเรียนการสอนในระบบทวิภาษา ....ในพื้นที่สามจังหวัดจะใช้ระบบนี้ทั้งหมด ........เดินหน้าตั้งศาลชารีอะฮ์ (สถาบันอิศรา ๑๐ มิ.ย.๕๔)

การเคลื่อนไหวของสื่ออิสลามและ NGO
         สื่อมวลชนอิสลามพยายามเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการชี้นำการเลือก สส.จากพรรคต่างๆ โดยหลายๆสื่อได้หยิบยก เหตุการณ์ในอดีตขึ้นมาทำเป็นบทความเพื่อเพิ่ม และลด credit ของพรรคการเมือง โดย มุสลิมไทยดอทคอม นำเรื่องกรือเซะ ตากใบ มาทำเป็นบทความปลุกความแค้นมลายูอิสลาม และปลุกระดมให้เลือก สส. ที่เป็นอิสลาม สถาบันอิศรา นำเรื่องคดีคั่ง ค้างของมลายูอิสลามใน ๓ จชต.มาวิจารณ์ โดยมี ngo ชื่อไทยคือกลุ่มมูลนิธิผสานวัฒนธรรม พยายามแทรกเข้ามามีบทบาทร่วมด้วย
          มุสลิมไทยดอทคอม เสนอบทความที่มาของท่า แพลงกิ้ง ประวัติของท่าแพลงกิ้ง สำหรับมุสลิมจังหวัดชายแดนใต้ (ภาพเด็ดๆจี๊ดๆ) เมื่อ ๑๘ มิ.ย.๕๔ เพื่อรื้อฟื้นความเคียดแค้น ชิงชัง อันจะส่งผลบวกและลบให้กับพรรคการเมื่อง แต่เป็นอันตรายต่อไทยพุทธ
         สถาบันอิศรา ลงบทความ เมื่อ"พยาน"กลายเป็น"ผู้ต้องหา"ที่ชายแดนใต้ และอำนาจที่ถูกท้าทายของ ศอ.บต.เมื่อ ๑๓ มิ.ย.๕๔ เพื่อชี้นำให้เห็นว่ามลายูอิสลามยังไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ
          เอ็นจีโอซัดสร้างวัฒนธรรม“ไม่รับผิด” มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซื่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและการเข้าถึงความยุติธรรมทางกฎหมายในสามจังหวัด ชายแดนภาคใต้ ได้ออกเอกสารแถลงข่าวเผยแพร่เมื่อวันที่ ๙ มิ.ย.ที่ผ่านมา กรณี “ตำรวจใหญ่อดีตผู้ถูกกล่าวหาซ้อมผู้ต้องหา ฟ้องกลับเหยื่อถูกซ้อมทรมานเกี่ยวเนื่องคดีปล้นปืนอุ้มทนายสมชาย” เนื้อหาระบุถึงการแจ้งความดำเนินคดีของ พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ กับพวกต่อกลุ่มพยานคดีปล้นปืนซึ่งเคยร้องเรียนเรื่องถูกซ้อมทรมาน
         “กรณีที่นายตำรวจระดับสูงฟ้องกลับเหยื่อซ้อมทรมานดังกล่าว ทำให้ผู้ถูกซ้อมทรมานซึ่งเป็นผู้เสียหายที่ร้องทุกข์กล่าวโทษเจ้าพนักงาน ตำรวจกลับตกเป็นจำเลยเสียเอง แสดงให้เห็นถึง ความบกพร่องของกระบวนการยุติธรรมทั้งในระบบตำรวจและกลไกพิเศษ เช่น ป.ป.ช.และดีเอสไอ รัฐตำรวจไทยยังคงมีอิทธิพลในการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมและมีส่วนในการ สร้างวัฒนธรรมการไม่รับผิด (Impunity) ในสังคมไทย” ใบแถลงข่าวระบุตอนหนึ่ง (สถาบันอิศรา ๑๓ มิ.ย.๕๔)

                                              ....................................................