สถานการณ์ ๓ + ๑ จชต. ๑ - ๓๑ พ.ค.๕๓
ภาวะไร้อำนาจรัฐ ที่กระจายไปทั่วประเทศไทย ส่งผลให้ประชาชนต้องปกป้องตัวเองและ จนท.ต้องทำหน้าที่ตามแต่วิจารณญาณและตามความตระหนักของแต่ละบุคคลไปตามลำพัง ทำให้การป้องปรามการก่อเหตุใน ๓+๑ จชต.สามารถดำเนินไปได้อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ส่งผลให้แนวร่วมจำเป็นต้องพยายามก่อเหตุกับเป้าหมายที่อ่อนแอโดยเฉพาะกับไทยพุทธ เพื่อยันการปฏิบัติของ จนท. ร่วมไปกับการ ลอบวางระเบิดเพื่อให้สอดคล้องกับการก่อเหตุวางระเบิดทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามการก่อเหตุเท่าที่รวบรวมได้จะไม่แตกต่างจากในช่วงเดียวกันของเดือน เม.ย. ๕๓ โดยมีการก่อเหตุทั้งสิ้น ๖๐ เหตุการณ์ เป็นการก่อเหตุใน จ.ยะลา ๒๓ เหตุการณ์ จ.นราธิวาส ๑๙ เหตุการณ์ และจ.ปัตตานี ๑๘ เหตุการณ์ ส่วน จ. สงขลาไม่มีรายงานการก่อเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมทั้งสิ้น ๑๑๑ รายนั้น ส่วนใหญ่ยังคงเป็นคนไทยพุทธ การเคลื่อนไหวของแกนนำแนวร่วม และsympathizer มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากในเดือนที่ผ่านมา มีความพยายามเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การแยกการปกครอง จากสื่อ และองค์กรเอกชนในรูปของการลงบทความ การให้สัมภาษณ์ และการจัดสัมมนา ซึ่งความพยายามดังกล่าวดูเหมือนว่ากำลังใกล้สู่ความสำเร็จ โดยรูปธรรมที่เห็นได้ชัด คือการที่จุฬาราชมนตรีคนที่ ๑๘ เป็นคนใน ๓+๑ จชต. นอกจากนี้ยังพบอันตรายแฝงจากการที่มีเยาวชนจำนวนมากจาก ๓+๑ จชต. ทะลักเข้าไปเรียนในปอเนาะ ใน จ.สตูล ซึ่งแนวร่วมถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐปัตตานีในอดีต และการเข้าแสดงตัวเพื่อความบริสุทธิ์ของราษฏรในพื้นที่ บ.อุแบ ม.๑ ต.บาเจาะ อ.บาเจาะ จ.ยะลา ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องผิดปกติ อันจะนำไปสู่การละเว้นการเข้าไปตรวจตราของ จนท. หากในพื้นที่นั้นๆไม่มีการก่อเหตุความรุนแรง เช่นเดียวกับการทยอยเข้าประเทศเพื่อลงไปยังชายแดนภาคใต้ ของพม่าอิสลามที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องอย่างน่าวิตก
รัฐบาลยังคงพยายามที่จะแสดงให้เห็นถึงความจริงใจของรัฐที่มีต่อคนส่วนใหญ่ใน ๓ จชต.อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงรายงาน ผวจ.ยะลาซึ่งดูเหมือนจะนำตัวเองเข้าใกล้ชิดกับผู้นำศาสนา ก็ยังคงรุกคืบซื้อใจผู้นำศาสนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเชิญประชุมเพื่อผลักดันให้ผู้นำทางศาสนาเป็นผู้ดูแลชุมชนของตนเอง
แนวโน้มของเหตุการณ์ เชื่อว่าความสับสนทางการเมืองซึ่งยังไม่น่าจะยุติลงได้ง่ายนัก จะทำให้รัฐบาลไม่มีเวลาที่จะให้ความสนใจความเป็นไปใน ๓+๑ จชต. อันจะส่งผลให้จนท.สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้คล่องตัวขึ้น ในการป้องปรามการเคลื่อนไหวของแนวร่วม ที่ต้องพยายามก่อเหตุเพื่อแสดงความคงอยู่ด้วยวิธีที่ง่ายที่สุดและปลอดภัยที่สุดหากส่งผลกระทบรุนแรง คือการลอบวางระเบิด และการก่อเหตุต่อเป้าหมายที่อ่อนแอ รวมทั้งการก่อกวนทำลายขวัญโดยเฉพาะต่อเป้าหมายไทยพุทธ
สถิติและนัยของการก่อเหตุ
การก่อเหตุในช่วง ๑-๓๑ พ.ค.๕๓ เท่าที่รวบรวมได้ สรุปได้ว่ามีการก่อเหตุ จำนวน๖๐ เหตุการณ์ ใกล้เคียงกับ ในช่วงเดียวกันของ เม.ย. ๕๓ ซึ่งมีจำนวน ๕๓ เหตุการณ์ ทั้งนี้ จ.ยะลา เป็นพื้นที่ ที่มีการก่อเหตุ มากที่สุด ๒๓ เหตุการณ์ โดย อ.เมือง มีการก่อเหตุสูงสุด ๖ เหตุการณ์ ขณะที่ อ.บันนังสตา มีการก่อเหตุ ๕ เหตุการณ์ รองลงมาคือ จ.นราธิวาส ซึ่งมีการก่อเหตุ รวม ๑๙ เหตุการณ์ โดย อ.รือเสาะ มีการก่อเหตุมากที่สุด ๕ เหตุการณ์ ขณะที่ อ.เมือง และอ.ระแงะ มีการก่อเหตุ พื้นที่ละ ๓ เหตุการณ์ เท่ากัน ส่วน จ.ปัตตานี มีการก่อเหตุ ๑๘ เหตุการณ์ โดย อ.ยะรัง มีการก่อเหตุมากที่สุด ๕ เหตุการณ์ ขณะที่ อ.หนองจิกมีการก่อเหตุ ๓ เหตุการณ์ ส่วน จ.สงขลา ไม่มีรายงานการก่อเหตุ สำหรับการก่อเหตุทั้ง ๖๐ เหตุการณ์ แยกเป็นการลอบยิงตัวบุคคล ๓๑ เหตุการณ์ รองลงมาคือการวางระเบิด ๒๒ เหตุการณ์ การซุ่มโจมตี ๕ เหตุการณ์ และการก่อกวน ๒ เหตุการณ์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวม ๑๑๑ คน แยกเป็น พุทธ ๗๙ คน (เสียชีวิต ๑๑ คน บาดเจ็บ ๖๘ คน) อิสลาม ๓๒ คน (เสียชีวิต ๑๔ คน บาดเจ็บ ๑๘ คน)
ข้อพิจารณา
๑.การก่อเหตุในช่วง๑๐ วันแรกของเดือนมีลักษณะของการลอบวางระเบิดก่อกวนตามกระแส การก่อกวนทั่วประเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุนี้จำนวนน้อย
๒.มีการก่อเหตุต่อเป้าหมายไทยพุทธในลักษณะเจาะจงต่อตัวบุคคลมากขึ้น และไม่เว้นแม้แต่คนไทยพุทธที่เข้าอิสลามแล้ว
๓. เริ่มมีการวางระเบิดดัก/วางกับระเบิดในสวนยางพาราของไทยพุทธแล้ว ถึง ๓ เหตุการณ์ โดยทั้ง ๓ เหตุการณ์เกิดขึ้นใน ม.๒ ต.ธารโต อ.ธารโต ส่งผลให้คนไทยพุทธบาดเจ็บขาขาด ๒ คน
การคลื่อนไหวของแนวร่วมเพื่อนำไปสู่การปกครองตนเอง
แม้ความสับสนทางการเมืองจะทำให้แกนนำแนวร่วมซึ่งแฝงอยู่ในคราบนักการเมืองจะลดบทบาทลงเพื่อรอดูทิศทาง หากแนวร่วมและ sympathizerในคราบของ สื่อและองค์กรเอกชนก็ยังคงมีการเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การปกครองตนเอง ยังคงปรากฏเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรูปธรรมที่เห็นได้อย่างชัดเจน ได้แก่ คนใน ๓+๑ จชต. คนแรกที่ได้รับเลือกจุฬาราชมนตรีคนที่ ๑๘ ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น
- มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงจัดงานสัมมนาเรื่อง “ภูมิวัฒนธรรมใน ๓ จังหวัดชายแดนใต้” ขึ้น ในวันที่ ๒๖-๒๗ พ.ค.๕๓ ที่อาคารบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต กรุงเทพฯ โดยมีการเตรียมการที่จะสื่อให้เห็นว่าการแก้ปัญหาจากส่วนกลางและจากคนนอก ๓ จชต.ที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จ อันจะนำมาซึ่งข้อสรุปว่าต้องให้คนในพื้นที่กำหนดและแก้ปัญหากันเอง
- สถาบันอิศรานำลง บทความ แรงสั่นสะเทือนจากคดี“จ่าเพียร”…อีกครั้งที่กลุ่มนักศึกษาชายแดนใต้ตกเป็นเหยื่อ เมื่อ ๖ พ.ค.๕๓ เพื่อต่อต้านการจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยลอบวางระเบิด พ.ต.อ. สมเพียร เอกสมญา และเพื่อกระตุ้นให้ นศ.ออกมาใช้พลังกดดัน จนท.ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา และ บทความ ในเรื่องร้ายยังมีข่าวดี ... ยธ.ตั้งคณะทำงาน ๕ ชุดช่วยผู้ต้องขังแดนใต้ เมื่อ ๑๒ พ.ค.๕๓ เพื่อสรุปว่า ..แต่กิจกรรมบำบัดไม่ว่าประเภทใดก็ไม่สำคัญเท่า...ความเป็นธรรม!
- คม ชัด ลึก เมื่อ ๗ พ.ค.๕๓ ตีพิมพ์ บทความ เรื่องเล่าจากเทือกเขาบูโด ของนายอัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง ซึ่งมีเนื้อหา กล่าวหารัฐไทยรุกราน กดขี่ และพยายามทำลายความเป็นมลายูอิสลาม ทุกวิถีทาง และสรุปว่าเป็นการสร้างความเจ็บปวดและซ้ำซากต่อคนท้องถิ่น
อันตรายแฝงที่ต้องพึงระวัง
- ชาวยะลาแห่พาลูกเข้าเรียนปอเนาะที่สตูลหวั่นในพื้นที่ไม่ปลอดภัย…..วันนี้ (๑๐ พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม (ปอเนาะ) ในพื้นที่ จ.สตูล หลายโรงเรียนได้เริ่มทำการเปิดภาคเรียนแล้ว มีนักเรียนมารายงานตัวอย่างคึกคัก ทั้งนักเรียนจากต่างจังหวัด โดยเฉพาะผู้ปกครองนักเรียนชาวมุสลิม จาก จ.ยะลา มาสมัครเรียนที่โรงเรียนพัฒนาการศึกษามูลนิธิ (ปอเนาะ) ต.คลองขุด อ.เมือง จ.สตูล โดยมองว่าพื้นที่ ปลอดภัยกับการเรียนของลูก ที่เดินทางไปเรียน จึงจำเป็นต้องพามาสมัครเรียนในพื้นที่ต่างจังหวัด ด้านโรงเรียนในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา จะทำการเปิดเทอมในวันที่ ๑๗ พ.ค.นี้พร้อมกันทั่วประเทศ ผู้อำนวยการโรงเรียนพัฒนาการศึกษามูลนิธิ (ปอเนาะ) กล่าวว่า โรงเรียนมุสลิมในพื้นที่ จ.สตูล หลายๆ อำเภอได้ทำการเปิดเทอมวันนี้เป็นวันแรก เพื่อให้นักเรียนมาทำความเข้าใจในรายวิชาต่างๆ พร้อมกับผู้ปกครองที่นำบุตรหลานจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้พาบุตรหลานมาสมัครเรียนในพื้นที่ จ.สตูล หลังสอบถาม พบว่า เหตุการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดอย่างเช่นที่ จ.ยะลา ที่ตนอยู่ไม่ค่อยปลอดภัย จึงพาบุตรหลานมาเรียนในพื้นที่ ที่ปลอดภัย อย่าง จ.สตูล เป็นจังหวัดที่สงบจึงเลือกที่จะมาเรียนในพื้นที่นี้ (ผู้จัดการ ๑๑ พ.ค.๕๓)
- ชาวบ้านบันนังสตาร่วมแสดงตน …วันนี้ (๘ พ.ค.) ที่ศาลาประชาคม อ.บันนังสตา จ.ยะลา พล.ท.กสิกร คีรีศรี ผบ.พตท. เป็นประธานในพิธีแสดงตน เพื่อความบริสุทธิ์ของราษฎรในพื้นที่ บ.อุแบ ม. ๑ ต.บาเจาะ อ.บาเจาะ จ.ยะลา ที่ออกมาแสดงตน ๑๔๗ คน ประกอบด้วย ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น ประชาชนชาย-หญิง ที่ทาง ฉก.ยะลา ๑๕ ฉก.ทหารพรานที่ ๔๗ ตำรวจ และฝ่ายปกครองร่วมกันจัดขึ้น ทั้งนี้ สืบเนื่องจากที่ผ่านมาในพื้นที่ บ.อุแบ ตกเป็นเป้าหมายที่กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงได้ใช้พื้นที่ในการสร้างสถานการณ์ เพื่อทำลายชื่อเสียงของหมู่บ้าน และสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีสู่สายตาของประชาชนใน ๓+๑ จชต. และขยายไปยังประชาชนทั่วประเทศ
ในการออกมาแสดงตนครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อขับเคลื่อนนำความสงบ และความสันติสุข โดยหน่วยพัฒนาสันติที่ ๔๑ ได้หารือกับผู้นำ ๔ เสาหลัก ในการกำหนดแนวทางขับเคลื่อน โดยจะมีการจัดเวทีประชาคม เพื่อตั้งกติกาหมู่บ้าน เพื่อควบคุมหมู่บ้าน หรือกฎเหล็กของหมู่บ้าน กำหนดมาตรการการลงโทษทางสังคม เพื่อควบคุมดูแลสมาชิกไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยว หรือเข้าไปมีส่วนร่วม หรือให้การสนับสนุนกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมในพิธีแสดงตนได้ร่วมกันร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และเพลงสดุดีมหาราชา พร้อมทำพิธีสวดดูอาร์ เพื่อให้เกิดความสันติสุขโดยเร็ว.(เดลินิวส์ ๘ พ.ค.๕๓)
- อาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรีคนที่ ๑๘....๑๖ พ.ค.นายอาศิส พิทักษ์คุมพล ประธานกรรมการอิสลามประจำจ.สงขลา ได้รับการสรรหา เป็นจุฬาราชมนตรี คนที่ ๑๘ ด้วยคะแนนเสียง ๔๒๓ คะแนน ซึ่งนายอาศิส ได้กล่าวบนเวทีหลังได้รับเลือกว่า ขอขอบคุณคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วราชอาณาจักร การที่ตนได้รับฉันทานุมัติเห็นชอบ ไม่ได้หมายความว่า ตนเก่ง หรือดีกว่าท่านทั้งหลาย หากตนทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นความดี ขอให้ท่านให้การสนับสนุน หากตนทำสิ่งมิชอบ ขอให้ท่านยับยั้งท้วงติง ตนต้องขอความร่วมมือ ความช่วยเหลือจากทุกคน เมื่อท่านให้ความสนับสนุนมาแล้ว ขอพรให้ตนอยู่ในหน้าที่นี้ในทางที่ถูกที่ควรตลอดไป
สำหรับประวัติ นายอาศิส พิทักษ์คุมพล เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๐ อายุ๖๓ปี เป็นคนจ.สงขลา จบการศึกษาสายศาสนาจากสถาบันปอเนาะใน จ.สงขลา และ จ.ปัตตานี ที่ผ่านมาเป็นประธานชมรมคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ๑๔ จังหวัดภาคใต้ เป็นอดีต สว.และเคยได้รับความไว้วางใจจากราชการให้ดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ เช่น ที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขชายแดนภาคใต้ คณะกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีมัสยิดกรือเซะและตากใบ และเป็นกรรมาธิการอีกหลายคณะ (news.mthai.com)
- มุสลิมเขมรยังแห่ลงใต้ พบซุกยาปฏิชีวนะอื้อ....พรานสระแก้วพบพิรุธมุสลิมเขมรไม่กลัวตายแห่ทะลักลง ๓ จว.ใต้ของไทย เผยตั้งแต่ต้นปีมีลงไปแล้วกว่า๑,๕๐๐ คน ไม่พบประวัติเดินทางกลับ ทั้งที่พาสปอร์ตอยู่ได้ ๑ เดือน นอกจากนี้ยังไม่เคยเกิดเหตุร้ายกับกลุ่มคนเหล่านี้...เมื่อเวลา ๑๒.๐๐ น.วันที่ ๑๓ พ.ค. ขณะ ร.อ.ชาญ ว่องไวเมธี ผู้บังคับกองร้อยทหารพรานที่ ๑๒๐๖ หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ ๑๓๒ กองกำลังบูรพา(ผบ.ร้อย ทพ.๑๒๐๖ฉก.กรม.ทพ.๑๒ กกล.บูรพา) นำกำลังตั้งจุดตรวจค้นยาเสพติดบริเวณจุดตรวจหน้ากองร้อยทหารพรานคลองลึก หน้าด่านพรมแดนอรัญประเทศ จ.สระแก้ว ได้ตรวจพบกลุ่มชาวเขมรมุสลิมจำนวนมาก เดินทางผ่านด่าน พรมแดนอรัญประเทศ จ.สระแก้ว จากฝั่งปอยเปต ประเทศกัมพูชา เข้ามาในฝั่งไทย จึงเรียกตรวจ
ตรวจสอบทราบว่าเป็นชาวเขมรที่นับถือศาสนาอิสลาม (เขมรมุสลิม) จำนวน ๔๑ คน เป็นชาย ๒๐ คน หญิง ๑๘ คน เด็กชาย ๒ คน และเด็กหญิง ๑คน เดินทางมาจาก จ.กัมปงจาม ประเทศกัมพูชา โดยทั้งหมดมีพาสปอร์ตเดินทางเข้ามาอย่างถูกต้อง เมื่อสอบถามอ้างว่าจะเดินทางไปเยี่ยมญาติที่ ชายแดน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส อย่างไรก็ตาม จากการสังเกตพบว่าพาสปอร์ตที่ชาวเขมรมุสลิมนำมาแสดงเป็นพาสปอร์ตใหม่เดินทางมาครั้งแรกทุกคน อีกทั้งจะเดินทางไปยังชายแดนภาคใต้ของไทยซึ่งยังมีเหตุการณ์ความไม่สงบอยู่ โดยไม่มีความหวาดกลัวใดๆ จึงตัวมาตรวจค้นอย่างเข้มงวดที่ กองร้อยทหารพรานที่ ๑๒๐๖ ซึ่งจากการตรวจค้นภายในกระเป๋าเสื้อผ้าพบแต่ละคนมีการลักลอบนำยารักษาโรค ชนิดต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นยาปฏิชีวนะ และครีมลอกผิว ซึ่งเป็นของต้องห้ามนำเข้า จึงตรวจยึดไว้ จากนั้นได้ทำการบัณทึกภาพและทำประวัติไว้ก่อนจะอนุญาตให้เดินทางต่อไป
ร.อ.ชาญ เผยว่าจากการตรวจสอบพบว่าตั้งแต่วันที่ ๑ ม.ค. ๕๓ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีชาวเขมรมุสลิมที่เดินทางไปจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนราธิวาสและปัตตานี แล้วจำนวน ๑,๕๗๒ คน รวมประมาณ ๕ เดือนเฉลี่ยเดินทางไปเดือนละ ๓๐๐ คน และเมื่อไปตรวจสอบกับ ด่าน ตม.อรัญประเทศ พบว่าไม่มีหลักฐานการเดินทางกลับของชาวเขมรมุสลิมเหล่านี้เลย ทำให้สงสัยว่าชาวเขมรมุสลิมเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหน เนื่องจากวีซ่าเข้าประเทศไทยอยู่ได้เพียง ๑ เดือนเท่านั้น อีกทั้งความรุนแรงใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงเกิดเหตุร้ายอย่างต่อเนื่อง แต่ชาวเขมรมุสลิมเหล่านี้ ซึ่งเดินทางไปเป็นจำนวนมากนับพันคน กลับไม่เคยเกิดเหตุร้ายขึ้นแต่อย่างใด ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาท ทางกองร้อยทหารพรานที่ ๑๒๐๖ฯ จึงต้องเข้มงวดในการตรวจค้นและทำประวัติ เพราะเกรงว่าอาจจะมีการลักลอบนำสิ่งผิดกฎหมายไปร่วมสนับสนุนกลุ่มโจรใต้ได้. (ไทยรัฐ ๑๓ พ.ค.๕๓) การดำเนินการของรัฐเพื่อให้เกิดภาพความพยายามแก้ไขปัญหาความรุนแรงภาคใต้
เมื่อ ๑ พ.ค.๕๓ ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี นายธีรเทพ ศรียะพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีเป็นประธานในการเสวนาผู้นำศาสนาอิสลามกับการแก้ไขความขัดแย้งในชุมชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเสวนาได้รับความรู้เพิ่มเติมในการนำบทบัญญัติในหลักกฎหมายอิสลามมาเผยแพร่แก่ชุมชน การเพิ่มความรู้ในการเป็นวิทยากรทางศาสนา ตลอดจนทำหน้าที่ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามหลักการศาสนาอิสลาม โดยมีอิหม่ามประจำมัสยิดแต่ละตำบล เข้ารวมเสวนา รวมทั้งสิน ๑๑๕ คน การตรวจค้นและจับกุมของ จนท.
ความยุ่งยากทางการเมืองซึ่งทำให้รัฐจำต้องลดการสร้างความพึงพอใจให้กับคนส่วนใหญ่ใน ๓จชต. ทำให้ จนท.สามารถปฏิบัติงานได้คล่องตัวขึ้น จนสามารถป้องปรามการเคลื่อนไหวก่อเหตุของแนวร่วมได้อย่างมีประสิทธิผล ทั้งนี้การตรวจจับทีสำคัญ ได้แก่ ตรวจค้นและจับกุมที่ ม.๒ บ.กำปงลาแล ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จนเกิดการปะทะกัน และทำให้นายสุไลมาน สูแว แกนนำและมีหมายจับคดีความมั่นคงหลายคดี (รวมทั้ง คดีของพล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา อดีต ผกก.สภ.บันนังสตา ) เสียชีวิต เมื่อ ๑๘ พ.ค.๕๓ การตรวจค้นสวนยางพาราหลังหมู่บ้าน ซาตอ ม. ๗ ต.รือเสาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส จนเกิดการปะทะกัน อันเป็นผลให้ นายอิบรอเฮง สือแม ที่อยู่ ๑๖๐ ม.๗ ต.รือเสาะ อ.รือเสาะ แนวร่วม RKK เป็นอดีตครูสอนศาสนา ในพื้นที่ อ.รือเสาะ เสียชีวิต เมื่อ ๑๙ พ.ค. ๕๓ การตรวจค้นที่ ม.๖ ต.ตุยง อ.หนองจิกจ.ปัตตานี ซึ่งสามารถจับกุม นายมอฮามะ กาเดร์ อายุ ๓๓ ปี ผู้ต้องหาในคดีลอบวางระเบิดคาร์บอมบ์บริเวณข้าง สภ.เมืองปัตตานี เมื่อวันที่ ๒๑ เม.ย.๕๓ ได้ เมื่อ ๒๗ พ.ค.๕๓ และล่าสุดเมื่อ ๓๑ พ.ค.๕๓ ได้มีการตรวจค้นบนเทือกเขาบาโงกูโบ ม.๖ บ.บาโงกูโบ ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส จนสามารถยึคค่ายพัก และ ของกลางได้เป็นจำนวนมาก อาทิ ระเบิดแสวงเครื่องที่ประกอบใส่ไว้ในกล่องเหล็ก หนัก ๕ กก. จำนวน ๑ ลูก ลูกระเบิดขว้างชนิด เอ็ม.๖๗ จำนวน ๑ ลูก อาวุธปืน เอ็ม.๑๖ จำนวน ๑ กระบอก อาวุธปืนพกสั้น ขนาด ๑๑ ม.ม. จำนวน ๑ กระบอก อาวุธปืนพกสั้น ขนาด .๓๘ จำนวน ๑ กระบอก แม็กกาซีนเอ็ม.๑๖ จำนวน ๑ อัน กระสุนปืนเอ็ม.๑๙ และกระสุนปืนพกสั้น ขนาด ๑๑ ม.ม.และขนาด .๓๘ จำนวนกว่า ๖๐ นัด กระเป๋าสะพาย ยารักษาโรค อาหารแห้ง รองเท้า ไฟฉาย โทรศัพท์มือถือและอื่นๆรวมเกือบ ๑๐๐ รายการ ....................................................
|