สถานการณ์ ๓ + ๑ จชต.
๑ – ๓๑ ต.ค.๕๓

          ความยุ่งยากทางการเมืองและภาวะน้ำท่วมหนักทั่วประเทศ ทำให้รัฐบาลไม่มีเวลาสำหรับการกดดันจากกลุ่มพลังภาคใต้ ส่งผลให้กลุ่มการเมือง กลุ่มสิทธิมนุษยชน และกลุ่มศาสนาอิสลามดูต้องลดความเคลื่อนไหวลง ที่สำคัญพบว่ากระแสข่าวที่ว่ากลุ่มประเทศอาหรับกำลังรุกคืบเข้าซื้อที่ดินจากชาวบ้านอิสลาม กำลังทำให้มลายูอิสลามบางส่วนโดยเฉพาะชาวบ้านที่มีความใกล้ชิดกับคนพุทธ และนักวิชาการเกิดความตื่นตัว หันกลับมาปกป้องไทยพุทธในชุมชนและใน ๓ จชต.ให้อยู่ในพื้นที่ต่อไปให้ได้ เพื่อคงการดูแลจากรัฐบาลไทยเอาไว้ ยกเว้นความพยายามกดดันให้มีการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯและการถอนทหาร ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพราะมีแนวโน้มการตอบรับที่ดีจากนรม.และหน่วยงานของรัฐ
         อย่างไรก็ตาม สื่ออินเตอร์เนตของอิสลาม กลับพยายามเสริมสร้างบทบาทด้วยการเร่งปลุกระดมฟื้นความแค้นมลายูอิสลาม และใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือสร้างความหวาดระแวงและความแตกแยกระหว่างคนต่างเชื้อชาติและศาสนา ที่สำคัญคือพยายามรุกเข้าควบคุมวิถีชีวิตและการทำมาหากินของมลายูอิสลามโดยการใช้ศาสนาเข้าปลุกระดมเพื่อให้มีการใช้กำลังเข่นฆ่าผู้ที่ไม่อยู่ในกรอบที่พวกตนกำหนดไว้อย่างน่าวิตกยิ่ง เช่นเดียวกับกลุ่มนักศึกษาที่มีการเคลื่อนไหวในลักษณะโยนหินถามทางทดสอบท่าทีของคนไทยและหน่วยงานความมั่นคงว่าจะมีการขยับตัวบ้างหรือไม่กับปฏิบัติการกระทบฟ้าของพวกตน

สำหรับการก่อเหตุในช่วงระหว่าง ๑-๓๑ ต.ค.๕๓    เท่าที่รวบรวมได้ จำนวน ๗๕ เหตุการณ์ มีลักษณะของความพยายามต้าน/ยันและตอบโต้การรุกของจนท.ด้วยการใช้ชีวิตผู้บริสุทธิ์โดยเฉพาะชาวพุทธมาเป็นเครื่องมือต่อรอง ความพยายามเพิ่มสถิติด้วยการก่อเหตุกับเป้าหมายที่อ่อนแอ การหลีกเลี่ยงความสูญเสียและการเผชิญหน้าด้วยการลอบวางระเบิดและฝังกับระเบิด และความพยายามแสดงให้เห็นถึงความมีประสิทธิภาพในการประสานงานด้วยการใช้วันสัญลักษณ์ ๒๕ ต.ค.๕๓ ในการลงมือก่อเหตุกับคนไทยพุทธพร้อมๆกัน ๓ จังหวัด หากดูเหมือนจะสำเร็จได้ในระดับอำเภอของจ.นราธิวาส เท่านั้น ทั้งนี้ จำนวนผู้ที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุความรุนแรง เท่าที่รวบรวมได้ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น ๗๗ ราย แยกเป็นไทยพุทธ ๔๖ คน และอิสลาม ๓๑ คน โดย จ.นราธิวาส มีการก่อเหตุมากที่สุด ๓๔ เหตุการณ์ รองลงมาคือ จ.ปัตตานี ๒๔ เหตุการณ์ จ.ยะลา ๑๕ เหตุการณ์ และ จ.สงขลา ๒ เหตุการณ์

แนวโน้มของถานการณ์     การก่อเหตุใน ต.ค.๕๓ ที่มีการก่อเหตุพร้อมๆกันถึง ๑๙ จุด ในวันสำคัญ น่าจะเป็นความพยายามสูงสุดที่กลุ่มก่อเหตุจะทำได้แล้ว ดังนั้นหากไม่มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เชื่อว่าการก่อเหตุอย่างแท้จริงโดยไม่นับการก่อกวนน่าจะทำได้ในระดับ ๖๐-๗๐ เหตุการณ์/เดือน และอาจลดลงได้หากเกิดอุทกภัยขึ้นในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ต้องพึงตระหนักถึง ประการแรก การก่อเหตุที่ลดน้อยลงผิดปกติใน จ.ยะลา และประการที่ ๒ การรุกคืบเข้าก่อเหตุใน ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ดูเหมือนว่าพุทธ-อิสลามสามารถอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนมายาวนาน เพื่อส่งนัยของการคุกคามไปยังการอยู่ร่วมกันของพุทธ-อิสลามในพื้นที่อื่นๆ ซึ่งยังมีอยู่อีกหลายพื้นที่โดยเฉพาะในปัตตานี อนึ่ง การเตรียมยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯในบางพื้นที่ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีเหตุร้ายเกิดขึ้นนั้น ต้องพึงตระหนักด้วยว่าการไม่มีเหตุร้ายเกิดขึ้นในพื้นที่นั้นๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจำนวนไทยพุทธใกล้เคียงกับอิสลาม และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีมาตรการป้องปรามที่มีประสิทธิภาพคุมสภาพพื้นที่อยู่อยู่ ดังนั้นการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯอย่างไม่รอบคอบ โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งมีไทยพุทธจำนวนน้อยปะปนอยู่ เท่ากับเป็นการเปิดช่องให้กลุ่มแบ่งแยกดินแดนรุกเข้าควบคุมอิสลามในพื้นที่ได้ เช่นเดียวกับการยกเลิก ศอ.บต.และพตท.๔๓ เมื่อประมาณปี ๒๕๔๖ มาแล้ว โดยเฉพาะต้องระวังการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในอ.เบตง ซึ่งเป็นพื้นที่ ที่มีลักษณะของ“ภัยคุกคามที่มองไม่เห็น แต่สัมผัสได้” ด้วย

สถิติและนัยของการก่อเหตุ
          การก่อเหตุในช่วง ๑-๓๑ ต.ค.๕๓ เท่าที่รวบรวมได้ สรุปได้ว่ามีการก่อเหตุ จำนวน ๗๕ เหตุการณ์ ซึ่งต่ำกว่า ๙๔ เหตุการณ์ (เป็นการก่อกวน ๓๘ เหตุการณ์)ในช่วงเดียวกันของ ก.ย.๕๓ ทั้งนี้ จ.นราธิวาส ที่มีการก่อเหตุมากที่สุด ๓๔ เหตุการณ์ โดย อ.รือเสาะ มีการก่อเหตุ มากที่สุด ๙ เหตุการณ์ นอกนั้นมีการก่อเหตุอำเภอละ ๑-๓ เหตุการณ์ จ.ปัตตานี มีการก่อเหตุ ๒๔ เหตุการณ์ โดย อ.เมือง มีการก่อเหตุมากที่สุด ๕ เหตุการณ์ รองลงมาคือ อ.ยะรัง และ อ.สายบุรี มีการก่อเหตุ พื้นที่ละ ๔ เหตุการณ์ ส่วน จ.ยะลา ๑๕ เหตุการณ์ โดย อ.รามัน มีการก่อเหตุมากที่สุด ๑๐ เหตุการณ์ ส่วน จ.สงขลา มีการก่อเหตุ ๒ เหตุการณ์ ทั้งนี้ การก่อเหตุทั้ง ๗๕ เหตุการณ์ แยกเป็น การลอบยิงตัวบุคคล ๓๘ เหตุการณ์ การวางระเบิด ๓๒ เหตุการณ์ การซุ่มโจมตี ๒ เหตุการณ์ และการเผาสถานที่ ๒ เหตุการณ์ และอื่นๆ ๑ เหตุการณ์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ เท่าที่รวบรวมได้จำนวน ๗๗ คน แยกเป็น ไทยพุทธ ๔๖ คน (เสียชีวิต ๑๖ คน บาดเจ็บ ๓๐ คน) อิสลาม ๓๑ คน (เสียชีวิต ๑๔ คน บาดเจ็บ ๑๗ คน)

ข้อพิจารณา
         ๑.การก่อเหตุแสดงนัยชัดเจนถึงความพยายามที่จะต้าน/ยันการรุกไล่ของ จนท. ด้วยการใช้ชีวิตของผู้บริสุทธิ์ไทยพุทธเป็นเครื่องมือต่อรอง ส่งผลให้คนไทยพุทธสูญเสียถึง ๔๖ ราย สูงกว่าการสูญเสียของอิสลาม
         ๒.การก่อเหตุมีลักษณะของการรักษาสถิติการก่อเหตุไม่ให้ตกลง โดยการก่อเหตุต่อเป้าหมายที่อ่อนแอ ซึ่งเดินทางตามลำพัง และการใช้วันที่ ๒๕ ต.ค.๕๓ โหมการก่อเหตุถึง ๑๙ เหตุการณ์ ในวันเดียว
         ๓.การก่อเหตุมีลักษณะของความพยายามที่จะแสดงศักยภาพ โดยการก่อเหตุพร้อมๆกัน ๓ จังหวัด แต่ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จเฉพาะใน จ. นราธิวาส เท่านั้น โดยมี อ.รือเสาะเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงไปยัง อ.รามัน จ.ยะลา เพียง ๑ จุดคือที่ต.ตะโละหะลอ สู่ อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี อีก ๑ จุดที่ ต.กะรุบี เท่านั้น และกระจายไปยังอำเภอต่างๆรอบๆ ได้แก่ อ.ระแงะ อ.ยี่งอ อ.บาเจาะ อ.ศรีสาคร ..
         ๔. การก่อเหตุแสดงให้เห็นชัดเจนถึงความพยายามหลีกเลี่ยงความสูญเสีย และการเผชิญหน้า ทำให้การลอบวางระเบิดและการโจมตีต่อ hard target ลดลงเหลือเพียง ๕ เหตุการณ์ เท่านั้น หากหันไปลอบวาง/ฝังระเบิดต่อเป้าหมาย soft target แทนถึง ๒๗ เหตุการณ์
         ๕. กลุ่มก่อเหตุกำลังทำลายภาพลักษณ์ของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างพุทธ-อิสลาม ในพื้นที่ ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งมีทั้งการวางระเบิดตลาด และการยิงผู้ใหญ่บ้านไทยพุทธ อย่างต่อเนื่องติดต่อกัน ๒ เดือน เพื่อส่งนัยเตือนให้เห็นถึงอันตรายของการอยู่ร่วมกันระหว่างพุทธ-อิสลาม ไปยังพื้นที่อื่นๆ

การเคลื่อนไหวของแกนนำและ sympathizer
         เนื่องจากความยุ่งยากทางการเมืองและอุทกภัยอย่างหนักทั่วประเทศ ทำให้กลุ่มการเมือง กลุ่มสิทธิมนุษยชน และกลุ่มศาสนาอิสลามไม่มีช่องทางกดดันรัฐบาลได้ จนต้องลดความเคลื่อนไหวลง (ยกเว้นกลุ่มมุสลิมเพื่อสันติ) จึงเกิดช่องว่างให้สื่ออินเตอร์เนตของอิสลามแทรกเข้ามาปลุกปั่นสร้างความแตกแยกระหว่างคนต่างเชื้อชาติและศาสนาทั้งในและนอก๓ จชต.อย่างน่าวิตกยิ่ง เช่นเดียวกับการปลุกกระแสชาตินิยมอิสลามเพื่อแยกอิสลามออกจากโลกภายนอก โดยเฉพาะสื่อไทยแลนด์นิวส์ดารุสลาม ขณะที่กลุ่มนักศึกษามลายูอิสลามกำลังทดสอบมาตรการและความจริงใจของคนไทยและหน่วยงานของรัฐต่อสถาบันกษัตริย์ อย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก
          การปลุกปั่นสร้างความแตกแยกระหว่างพุทธ-อิสลาม
         - วัดย่านหนองจอก ขวางนร.คลุมฮิญาบในโรงเรียน (thailandnewsdarussalam.com ๘ ต.ค.๕๓)
         - มุสลิมเพื่อสันติแถลงการณ์ ๖ ปีตากใบ จี้รัฐคืนความยุติธรรมสู่ชายแดนใต้ (ประชาชาติอิสลามออนไลน์ ๒๕ ต.ค.๕๓)
         - ความยุติธรรมเดินช้า "คดีอัสฮารี-อิหม่ามยะผา-ไอร์ปาแย" ยังไม่เห็นแสงสว่าง!.(สถาบันอิศรา ๒๓ ต.ค.๕๓)
         - ปฏิบัติการสังหารหมู่ชาวมลายูมุสลิม.....ลอบเผาบ้านชาวไทยพุทธลางร้าย......สงครามเชื้อชาติ “ (bungarayanews.com ๙ ต.ค.๕๓)
          การนำศาสนามาเป็นเครื่องมือควบคุมวิถีชีวิตอิสลาม
         - ชาวรือเสาะกว่า ๑ พันคน ร่วมพิธีทางศาสนา?!? ขอให้เกิดความสงบสุขในพื้นที่ - (ประชาชาติอิสลามออนไลน์ ๓๐ ต.ค.๕๓)
         - มิวสิควีดีโอจับสาวสวยคลุมหิญาบ(แต่งกายมุสลิม) เต้นสายสะโพกยั่วน้ำลาย (มุสลิมไทยดอทคอม ๑๐ ต.ค. ๕๓)
         การถอนทหารและการยกเลิกพรก.ฉุกเฉิน
         - เสนอรัฐถอนทหาร๓จว.ตั้งเขตปกครองพิเศษแก้ปัญหา (เนชั่นทันข่าว ๕ ต.ค. ๕๓)
         - ชำแหละ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เปิดช่องละเมิดสิทธิ-สวนทาง รธน. (สถาบันอิศรา ๓๑ ต.ค.๕๓)
          การรุกคืบดึงสถาบันฯเข้าสู่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติและศาสนา
         - ๒๐๐นักศึกษาใต้รำลึกตากใบ ‘ตะโกนบอกฟ้า’องค์กรฯสิทธิออกแถลง (bungaraya ๒๖ ต.ค.๕๓)
         - รำลึก ๖ ปีตากใบ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ วันแรกที่ “เหยื่อแดนใต้.... เริ่มกำพร้า” (BungarayaNews ๒๗ ต.ค.๕๓)
         - ๖ ปีตากใบ เมื่อกระบวนการยุติธรรมมิอาจให้ความเป็นธรรม (thailandnewsdarussalam .com ๒๗ ต.ค.๕๓)

ความเคลื่อนไหวของรัฐบาล
         หน่วยงานของรัฐยังคงมุ่งซื้อใจมลายูอิสลามอย่างไม่ลดละ โดยในช่วงรายงาน พบว่านอกเหนือจากการจัดงบประมาณสำหรับประกันตัวผู้ต้องขังคดีความมั่นคงที่เป็นมลายูอิสลามพร้อมการจัดหาอาชีพให้แล้ว ยังมีความพยายามที่จะยกเลิก พรก.ฉุกเฉินฯ ในบางพื้นที่ ดังเช่น ในพื้นที่ อ.เบตง หรือ อ.กาบัง จ.ยะลา อ.แว้ง จ.นราธิวาส อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี

ข้อพึงพิจารณา
         ๑. พื้นที่ทั้ง ๔ อำเภอดังกล่าวนั้น เมื่อดูเผินจะมีความคล้ายกันคือการก่อเหตุในพื้นที่มีน้อย หากเมื่อพิจารณาให้ลึกลงไปจะพบว่าทั้ง ๔ อำเภอยังมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง โดย ๒ อำเภอ คือ อ.เบตงและอ.แม่ลาน เป็นพื้นที่ซึ่งกลไกรัฐและประชากรพุทธ-อิสลามมีจำนวนใกล้เคียงกัน จึงยังสามารถถ่วงดุลกันได้ ส่วนอีก ๒ อำเภอ คือ อ.กาบังและ อ.แว้ง เป็นพื้นที่ซึ่งมีคนไทยพุทธจำนวนน้อยโดยเฉพาะ อ.กาบัง มีเพียง ๑๕.๗% เท่านั้น แต่อำเภอนี้คนไทยพุทธ-อิสลามแยกกันอยู่คนละตำบลจึงสามารถดูแลชุมชนของตนเองได้ ขณะที่อ.แว้งนั้นในบางพื้นที่ คนไทยพุทธมีจำนวนน้อยอย่างน่าอันตรายปะปนอยู่กับอิสลาม ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พื้นที่ซึ่งแตกต่างกัน มีการก่อเหตุน้อยเหมือนกัน คือ มาตรการป้องปรามการเคลื่อนไหวก่อเหตุของแนวร่วมทั้งในและนอกพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯและการมีกำลังทหารนอกพื้นที่ ๓ จชต.เข้ามาประจำอยู่ ดังนั้นการยกเลิก พรก.ฉุกเฉินฯย่อมส่งผลกระทบต่อความสงบของพื้นที่ดังกล่าวอย่างแน่นอน
         ๒. พื้นที่ซึ่งดูเหมือนว่าคนพุทธ-อิสลามสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ คือเป้าหมายการรุกทำลายของแนวร่วม ดังนั้น ความพลั้งพลาดด้วยการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยขาดความรอบคอบ ขาดการพิจารณาสภาพแวดล้อมที่แตกต่างของแต่ละพื้นที่ และไม่มีมาตรการรองรับที่มีประสิทธิภาพ ย่อมเป็นการเปิดทางรุกให้กับฝ่ายตรงข้ามในทันที่

ผนวก

         วัดย่านหนองจอก ขวางนร.คลุมฮิญาบในโรงเรียน ...นักเรียนมุสลิมมะฮฺร้องเรียน หลังพบว่าวัดหนอกจอกซึ่งเป็นผู้อุทิศที่ดินในการก่อสร้างโรงเรียน พยายามแทรกแซงการบริหารงานของผู้บริหารโรงเรียน ขัดขวางการอนุญาติให้นักเรียนมุสลิมะฮฺ คลุมฮิญาบในโรงเรียน ทนายฮานีฟ หยงสตาร์ประธานคณะทำงานด้านกฏหมาย กลุ่มมุสลิมเพื่อสันติ เปิดเผยกับสำนักข่าว TND ว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนล่าสุดเกี่ยวกับปัญหาการคลุมฮิญาบของนักเรียนมุสลิมะฮฺ ในโรงเรียน ซึ่งเป็นกรณีที่แตกต่างจาก หลายกรณีที่มีการร้องเรียนผ่านมาทางคณะทำงานด้านกฏหมายของกลุ่มมุสลิมเพื่อสันติ และมีการดำเนินการไปก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งกรณีก่อนหน้านี้ที่ผ่านมาพบว่าปัญหาเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของ เจ้าหน้าที่ เมื่อทำการชี้แจงเรื่องหลักการศาสนาเกี่ยวกับการคลุมฮิญาบ และด้านกฏหมาย แล้วก็จะได้รับการตอบรับที่ดีและอำนวยความสะดวกแก่นักเรียน นักศึกษา มุสลิมในการปฏิบัติศานกิจมาโดยตลอด
          แต่ในกรณีที่เกิดขึ้นล่าสุด พบว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากการแทรกแซงจากภายนอกของคณะผู้บริหารโรงเรียน ซึ่งทางนักเรียน และผู้ปกครองได้มีการดำเนินการในการส่งเอกสารชี้แจงเรื่องการคลุมฮิญาบ กับ ทางโรงเรียน แล้วแต่ยังไม่ได้รับการตอบรับจากทางโรงเรียน จึงได้ร้องเรียนเพื่อให้ทางกลุ่มมุสลิมเพื่อสันติเข้าไปช่วยในการชี้แจง และแก้ปัญหาดังกล่าวหลังพบว่ามูลเหตุที่ทำให้ทางโรงเรียน ยังไม่ยอมอนุญาติให้นักเรียนมุสลิมะฮฺคลุมฮิญาบไปเรียนได้เนื่องจากถูกแทร แซงจากทางวัด ซึ่งเป็นผู้อุทิศที่ดินในการก่อสร้างโรงเรียนดังกล่าว ไม่อนุญาติให้มีการคลุมฮิญาบในโรงเรียนได้ ทั้งที่โดยหลักการศาสนา และข้อกฏหมาย แล้วโรงเรียนมีหน้าที่ต้องส่งเสริมให้นักเรียนปฏิบัติ และยึดมั่นในหลักการของศาสนา และฮิญาบก็เป็นหลักการหนึ่งในศาสนา และระเบียบการแต่งการของกระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้ระบุชัดเจนถึงการอนุญาติให้มีการแต่งกายคลุมฮิญาบตามหลักกรศาสนาอิสลามได้
          และในทางกฏหมายแล้ว ทางวัด หรือจะเป็นนิติบุคคล หรือบุคคลใดก็ตาม ที่มีการอุทิศ หรือยกที่ดินให้ในการก่อสร้างโรงเรียน ก็ไม่ได้ทำให้คน หรือกลุ่มคนเหล่านั้นเข้ามามาสิทธิเหนือผู้บริหารของโรงเรียน ในการกิจการของโรงเรียน ให้เป็นไปตามกรอบของกฏหมาย ซึ่งหลังจากนี้ทางคณะทำงานด้านกฏหมาย จะมีดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ของกลุ่มมุสลิมเพื่อสันติ เพื่อปกป้องสิทธิในการปฏิบัติศาสนกิจของพี่น้องมุสลิมอย่างถึงที่สุดต่อไป (thailandnewsdarussalam.com ๘ ต.ค.๕๓)
         มุสลิมเพื่อสันติแถลงการณ์ ๖ ปีตากใบ จี้รัฐคืนความยุติธรรมสู่ชายแดนใต้...กลุ่มมุสลิมเพื่อสันติ องค์เอกชนที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิของพี่น้องมุสลิมที่ถูกละเมิดสิทธิฯ ทั้งในและต่างประ- เทศ ภายใต้การนำของเชคริฏอ อะหมัด สมะดี ได้ออกแถลงการณ์ในวาระครบรอบ ๖ ปีเหตุกาณ์ตากใบโดยระบุว่า
         สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจากหน่วยต่างๆ ถูกระดมมาเพื่อสลายผู้ชุมนุมชาวมุสลิมที่มารวมตัวกันอยู่หน้าสถานีตำรวจภูธร อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ผู้ชุมนุมประท้วง ๗ คนถูกยิงเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ขณะที่ผู้ชุมนุมประท้วงอีก ๗๘ คนขาดอากาศหายใจ หรือถูกทับจนเสียชีวิตระหว่างที่ถูกขนย้ายไปยังสถานที่ควบคุมตัว การดูแลทางการแพทย์ที่ไม่เหมาะสมในช่วงเวลาหลายวันที่ผู้ชุมนุมประท้วงกว่า ๑,๒๐๐ คนอยู่ในความควบคุมของทหาร ทำให้มีผู้ประท้วงจำนวนมากมีอาการบาดเจ็บรุนแรง และต้องถูกตัดแขน หรือขา ……….
         กลุ่มมุสลิมเพื่อสันติ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลในฐานะของประธานสภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้มีความจริงใจในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการดำเนินการทั้งทางวินัย และอาญากับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่เกินกว่าเหตุ จนเป็นเหตุให้มีการสูญเสียชีวิตของประชาชนเป็นจำนวนมากในเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับชาติสมาชิกในสภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ อันจำนำมาซึ่งความสมานฉันท์ จากความเข้าใจในเหตุการณ์ เข้าถึงจิตใจของผู้เสียหาย และพัฒนาไปสู่สันติสุขในพื้นที่อย่างแท้จริง (ประชาชาติอิสลามออนไลน์ ๒๕ ต.ค.๕๓)
         ความยุติธรรมเดินช้า "คดีอัสฮารี-อิหม่ามยะผา-ไอร์ปาแย" ยังไม่เห็นแสงสว่าง!. ....พลิกแฟ้มคดีคาใจคนชายแดนใต้ ทั้ง “อัสฮารี-อิหม่ามยะผา-ไอร์ปาแย” แทบไม่มีความคืบหน้า ทั้งๆ ที่คดีเกิดมากว่า ๓ ปี ๒ ปี และ ๑ ปีตามลำดับ …..
         - ๓ ปีที่รอคอยของครอบครัว “อัสฮารี สะมาแอ”…..
         - ครอบครัว“อิหม่ามยะผา”ลุ้นศาลรับฟ้อง…..
         - คดีกราดยิงในมัสยิดไอร์ปาแยนิ่งสนิท…..(สถาบันอิศรา ๒๓ ต.ค.๕๓)
         ปฏิบัติการสังหารหมู่ชาวมลายูมุสลิม.....ลอบเผาบ้านชาวไทยพุทธลางร้าย......สงครามเชื้อชาติ “.....เป็นเหมือนมุ่งประสงค์ต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์และเจาะจงศาสนาโดยใช้วิธีอุจอาจเพื่อเขย่าขวัญให้คนทั้งสองกลุ่มศาสนาเกิดความหวาดกลัวจนนำไปสู่ความระแหวงต่อกัน ระแหวงจนชาวมุสลิมไม่กล้าผ่านในหมู่บ้านไทยพุทธ และไทยพุทธไม่กล้าไปมาหาสู่คนมุสลิม…..ยิ่งเป็นการเพิ่มความระแวงของชาวมุสลิมต่อเจ้าหน้าที่รัฐกรณีเหตุการณ์ไอร์ปาแยและการลอบสังหารครอบครัวอิหม่านคอลอกาปะ ดูเหมือนไม่สามารถจัดการกับคนร้ายได้ แต่การสังหารชาวไทยพุทธที่ฮูแตยือลอไม่ทันข้ามวันผู้ที่ถูกอ้างว่าเป็นแกนนำอาร์เคเคก็ถูกออกหมายจับ....
          เมื่อสถานการณ์เปราะบางเช่นนี้ รัฐยังไปจัดตั้งกลุ่มกองกำลังป้องกันหมู่บ้านเพื่อฝึกการใช้อาวุธพร้อมมอบอาวุธให้ครอบครองในหมู่บ้านชาวไทยพุทธเพื่อหวังที่จะให้กองกำลังประชาชนชาวไทยพุทธดูแลตนเอง… เป็นเงื่อนไขความขัดแย้งที่พร้อมจะผลัดประชาชนผู้ถูกผลกระทบจากเงื่อนไขดังกล่าวและประชาชนที่ไม่เห็นด้วยต่อการปกครองโดย แยกชาติพันธุ์แล้วปกครอง เป็นแนวร่วมมุมกลับกับขบวนการที่มองไม่เห็นที่ครั้งหนึ่งหน่วยข่าวของรัฐรายงานว่ามีกองกำลังรบ RKK อยู่ ๓,๐๐๐ คน และ แนวร่วมสนับสนุน ๓๐๐,๐๐๐ คน หรือว่ามันยังจะเพิ่มอีก…….” (bungarayanews.com ๙ ต.ค.๕๓)
         ชาวรือเสาะกว่า ๑ พันคน ร่วมพิธีทางศาสนา?!? ขอให้เกิดความสงบสุขในพื้นที่ …….วานนี้ (๒๙ ต.ค.) เมื่อเวลา ๑๔.๓๐ น.พล.ต.สุภัช วิชิตการ รองแม่ทัพภาค ๔ พร้อมด้วยนายธนน เวชกรกานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ร่วมเป็นประธานในพิธีละหมาดฮายัต และสวดมนต์ขอพรให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดความสงบสุข โดยมีชาวบ้านในพื้นที่อำเภอรือเสาะ กว่า ๑,๐๐๐ คน ประกอบด้วย ชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชมรมอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น จาก ๗๒ หมู่บ้าน ร่วมกันประกอบพิธีทางศาสนาทั้งศาสนาพุทธ และมุสลิม ซึ่งได้จัดขึ้นพร้อมกันบริเวณหอประชุมสวนกาญจนาภิเษกอุปการประชากร เขตเทศบาลรือเสาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส
         สำหรับกิจกรรมภายในพิธีนั้นชาวไทยมุสลิมได้ร่วมละหมาดฮายัต และสวดดุอาร์ เพื่อขอพรให้พื้นที่เกิดความสงบสุข ขณะที่ชาวไทยพุทธ พระภิกษุได้ร่วมสวดมนต์ เพื่อขอให้พื้นที่เกิดความสงบสุขเช่นกัน ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวนั้นได้เกิดขึ้นเนื่องจากในระหว่างวันที่ ๒๔-๒๖ ตุลาคม ที่ผ่านมา ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสเกิดเหตุความไม่สงบขึ้นในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยการลอบวางระเบิดชนิดเหยียบ เพื่อลอบทำร้ายกลุ่มเกษตรกรทำให้ได้รับบาดเจ็บรวม ๑๕ ราย …… ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวอีกด้วยว่า แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาครัฐนั้นจะยังคงยืนหยัดเพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชน โดยเฉพาะการสร้างความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อให้พื้นที่เกิดความสงบสุขโดยเร็ว
          ทั้งนี้ การละหมาดฮายัด เป็นพิธีกรรมที่ไม่มีหลักฐานในศาสนาอิสลาม เป็นการกระทำของคนบางกลุ่มและพยายามทำให้เชื่อว่าเป็นพิธีกรรมในศาสนาอิสลาม ( ประชาชาติอิสลามออนไลน์ ๓๐ ต.ค.๕๓)
          มิวสิควีดีโอจับสาวสวยคลุมหิญาบ(แต่งกายมุสลิม) เต้นสายสะโพกยั่วน้ำลาย …… “ สืบเนื่องจากมีสมาชิกในเว็บบอร์ดมุสลิมไทย ได้เห็นมิวสิควีดีโอแล้วรู้สึกหดหู่รันทดใจ กับภาพที่ปรากฏในมิวสิควีดีโอดังกล่าว....โดยให้แดนซ์เซอร์แต่งกายคลุมหิญาบแล้วเต้นแบบเดียวกับนักร้อง หาความเหมาะสมไมได้เลย ทำแบบนี้เป็นการดูถูกอิสลาม๗๔มาก เพราะมุสลิมนอกจากจะแต่งกายปกคลุมร่างให้เรียบร้อยแล้วยังต้องมีกริยาที่สำรวมด้วย ไม่ใช่มาเต้นเป็นแดนเซอร์ออกทีวีแบบนี้ …. ทั้งนี้เจ้าของเพลงหรือผู้ผลิตมิวสิควีดีโอดังกล่าวนี้ ไม่ควรนำสตรีซึ่งคลุมหิญาบมาร่วมในการเป็นแดนเซอร์ด้วย ถึงแม้ว่าเธอพวกนั้นจะเป็นมุสลิมหรือไม่ก็ตาม..... ดังนั้น ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าองค์กรต่างๆหรือแม้แต่คณะกรรมการกลางฯ ควรกระทำการใดๆ สักอย่างเพื่อหยุดหยั่งไม่ให้มิวสิควีดีโอดังกล่าวนี้ เผยแผ่สู่สาธารณะชน หรือให้เยาวชนมุสลิมดูเป็นอันขาด......ขอประณามการบ่อนทำลายอิสลาม ” (มุสลิมไทยดอทคอม ๑๐ ต.ค. ๕๓)
          เสนอรัฐถอนทหาร๓จว.ตั้งเขตปกครองพิเศษแก้ปัญหา นายกริยา กิจจารักษ์ ประธานสมาพันธ์คณะกรรมการกลางอิสลาม ๑๕ จังหวัดภาคใต้ กล่าวถึง ความรุนแรงสถานการณ์ใต้ภายหลังเปลี่ยนตัวแม่ทัพภาคที่ ๔ คนใหม่ว่า สถานการณ์ใต้เวลานี้แก้ไม่ได้ด้วยทหาร แต่ต้องแก้ด้วยสันติวิธี ยืนยันว่าสถานการณ์ใต้แก้ได้หากทำตาม ๓ ประการ คือ ถอนกำลังทหารให้หมด ปล่อยให้ดูแลกันเองในรูปแบบปกครองพิเศษ ไม่ใช่เป็นการแยกที่เป็นเอกเทศจากรัฐ แต่ให้ปกครองกันเองในเรื่องการเป็นอยู่ ให้ความเป็นธรรมกับคนในสังคมตามหลักศาสนาอิสลาม เมื่อทหารออกหมดแล้วพี่น้องยังฆ่ากัน รัฐบาลออกมาประกาศได้เลยว่าทหารตำรวจออกจากพื้นที่หมดแล้วเมื่อยังมีเหตุการณ์ฆ่ากันก็ประกาศไปเลยว่าพวกเขาฆ่ากันเองไม่ใช่ตำรวจทหารฆ่า “ถัดมาคือการเร่งจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาราล เพื่อรองรับเศรษฐกิจของคน ๓ จังหวัดภาคใต้ สร้างอาชีพให้คนในพื้นที่นี้ และท้ายสุดคือการประกาศเป็นเมืองท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมศาสนาอิสลาม ทั่วโลกก็จะได้เดินทางมาดูวัฒนธรรมอิสลามประเทศไทยในพื้นที่เหล่านี้ อยากดูวัฒนธรรมตะวันตกก็ไปแวะที่ จ.สงขลา ภูเก็ต เกาะสมุย ประกาศให้ต่างชาติรู้ ประกาศให้ทูตรู้ก็จะดึงการท่องเที่ยวเข้ามาได้ ” นายกริยา กล่าว ….(เนชั่นทันข่าว ๕ ต.ค. ๕๓)
          ชำแหละ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เปิดช่องละเมิดสิทธิ-สวนทาง รธน..... หลายคนคงกำลังลุ้นด้วยใจระทึกว่า สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีสิทธิพ้นจาก "สถานการณ์ฉุกเฉิน" ที่ประกาศมาแล้วกว่า ๕ ปี ๓ เดือนโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ซึ่งต่ออายุทุกๆ ๓ เดือนมาแล้วถึง ๒๑ ครั้ง ตามที่ นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จุดพลุขึ้นมาหรือไม่…..ต้องให้เครดิตรัฐบาลชุดนี้เช่นกันว่า เป็นผู้นำร่องยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน ๔ อำเภอของ จ.สงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อปีที่แล้ว เพื่อเปิดทางให้ใช้มาตรการตาม "กฎหมายความมั่นคง" หรือพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งว่ากันว่ามี "ดีกรี" อ่อนกว่าแทนฉะนั้นโอกาสในการนำร่องยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในบางอำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ต้องบอกว่ายังพอมีหวัง... สาวตรี สุขศรี อาจารย์จากภาควิชากฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย -ธรรมศาสตร์ กล่าวในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “ปัญหาสิทธิมนุษยชนภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี อ.เมืองปัตตานี เมื่อไม่นานมานี้ว่า สิทธิของผู้ต้องหาตาม ป.วิอาญา นั้น ถูกกระทบโดย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งๆ ที่มีบทบัญญัติการคุ้มครอง “สิทธิของผู้ -ต้องหาหรือจำเลย” รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นหลักสากล ใช้กันทั่วโลก…….ทั้งหมดนี้คงไม่ต้องสรุปอีกครั้งหนึ่งว่าในความเห็นของ อาจารย์สาวตรี สมควรยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ เพราะทุกประเด็นที่หยิบยกมาคือคำตอบที่ชัดเจนยิ่งในตัวเอง! (สถาบันอิศรา ๓๑ ต.ค.๕๓)
         ๒๐๐ นักศึกษาใต้รำลึกตากใบ ‘ตะโกนบอกฟ้า’องค์กรฯสิทธิออกแถลง…. วันที่ ๒๕ ต.ค. ๒๕๕๓ เวลา ๑๕.๐๐ น. สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) ประมาณ ๒๐๐ คนได้รวมตัวกันที่วงเวียนหน้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) เพื่อร่วมรำลึก ๖ ปี เหตุการณ์ตากใบ ….
          งานรำลึก ๖ ปีตากใบเป็นการทำกิจกรรมในเชิงสัญลักษณ์ นำโดยนายกริยา มูซอ เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) กิจกรรมในงานรำลึก ๖ ปีตากใบ เริ่มขึ้นเมื่อเวลา ๑๕.๐๐ น. หลังจากการรวมตัวกันละหมาดฮายัตในตึกองค์การบริหารองค์การนักศึกษา มอ.ปัตตานี ของนักศึกษาจากหลายสถาบันการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน ๒๐๐ คน ก็เริ่มทยอยกันเดินมายังวงเวียนหน้ามหาวิทยาลัย
          ….. “ตะโกนให้ถึงฟ้า” เป็นกิจกรรมที่สอง เป็นการตะโกน.....ส่งเสียงให้แก่คนระดับผู้นำได้รับทราบ ..... โดยใช้นักศึกษาประมาณ ๑๐ คน ในการร้องตะโกน.....อย่าง “วีรชนของฉันหายไปไหน ฉันจะไม่ลืมวีรชนของฉัน” ...(bungaraya ๒๖ ต.ค.๕๓)
         รำลึก ๖ ปีตากใบ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ วันแรกที่ “เหยื่อแดนใต้.... เริ่มกำพร้า” ไลลา เจะซูเครือข่ายบัณฑิตอาสาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กลุ่ม INSouth)….NO truth ! NO justice! NO PEACE! วาทกรรมที่กลุ่มนักศึกษาชายแดนใต้รณรงค์เพื่อทวงคืนความยุติธรรมแก่ “เหยื่อ” ผู้ชุมนุมโดยสงบ สันติวิธีและปราศจากอาวุธ ณ สถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ ผ่านคำมั่นสัญญาว่า “เราจะดูแล จะพิทักษ์ จะเยียวยาทุกคนที่เป็น “เหยื่อความรุนแรง” ในฐานะนักศึกษาปัญญาชน ตราบใดที่ความยุติธรรมไม่เกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินนี้ ”
         ไฮไลท์ของงานประกอบด้วยกิจกรรมเดินรณรงค์ ตู้ไปรษณีย์ขยะ ปิดหู ปิดตา ปิดปากและปิดใจ ตลอดจนกิจกรรมเขียนจดหมายถึงฟ้า….. • สวัสดีฟ้า! รู้จักประชาชนไหม รู้จักตากใบไหม! (BungarayaNews ๒๗ ต.ค.๕๓)
         ๖ ปีตากใบ เมื่อกระบวนการยุติธรรมมิอาจให้ความเป็นธรรม....กลุ่มนักศึกษาร่วม ๒๐๐ คนที่เคลื่อนไหวจัดกิจกรรมรำลึก ๖ ปีตากใบ มาจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) ซึ่งประกอบด้วย ม.อ.ปัตตานี ม.อ.หาดใหญ่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ……แต่ละกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ได้รับความสนใจจากผู้คนไม่น้อย เริ่มจาก "ตะโกนให้ถึงฟ้า" ที่ได้เชิญตัวแทนนักศึกษาของแต่ละสถาบันออกมาตะโกนประโยคสั้นๆ เนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับการเรียกร้องความยุติธรรม เช่น ความยุติธรรมของประชาชนอยู่ที่ไหน, เมื่อไหร่จะจริงใจกับผมครับฟ้า, ความเป็นธรรมมีจริงหรือไม่ ทำไมไม่เห็นสักที ฯลฯ…… ". เมื่อบอกใครไม่ได้เราก็ต้องตะโกนบอกให้ฟ้ารับรู้……. “การต่อสู้ด้วยสันติวิธีอาจมองไม่เห็นความสำเร็จในเร็ววัน แต่จะเกิดขึ้นได้จริงในอนาคตแน่นอน ภารกิจของเรายังไม่สิ้นสุด ตราบใดที่ความยุติธรรมยังไม่ปรากฏบนแผ่นดินนี้” ตัวแทนนักศึกษา ให้คำมั่น
         ขณะที่ กริยา มูซอ เลขาธิการ สนน.จชต. กล่าวถึงเหตุระเบิดกว่า ๒๖ จุดในวันครบรอบ ๖ ปีตากใบว่า เป็นการก่อเหตุที่ตรงกับวันแห่งความสูญเสียพอดี ....... แต่เมื่อความรุนแรงยังคงเกิดขึ้น ก็อยากให้เจ้าหน้าที่ได้ทบทวนว่าเป็นความรุนแรงซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากที่ ทหารได้ทำกับประชาชนตากใบเมื่อ ๖ ปีก่อนหรือไม่ และหากยังไม่แก้ไขหรือคืนความเป็นธรรมในวันนี้ แล้ววันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เพราะอนาคตย่อมเป็นผลของการกระทำในวันนี้ด้วยเช่นกัน ….(thailandnewsdarussalam.com ๒๗ ต.ค.๕๓)
         มท.๓ แนะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ บางอำเภอ ใน ๓ จชต.
         นาย ถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย ในฐานะกำกับดูแลศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต.)แถลงว่า จากการที่รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาความรุนแรงในภาคใต้มาระดับหนึ่ง พบว่า มีความรุนแรงลดลงจาก ๒,๐๐๐ กว่าครั้งต่อหนึ่งปี เหลือไม่ถึงพันครั้ง ดังนั้น จะหารือกับ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๑๐ ส่วนหน้า ( ผบช.ภ.๑๐ ) แม่ทัพภาคที่ ๔ ( มท.ภ.๔ ) นายกรัฐมนตรี สภาความมั่นคงแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ( พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ) นำร่องใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ บางอำเภอ โดยใน จ.ยะลา กำลังเลือกระหว่างการยกเลิกประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใน อ.เบตง หรือ อ.กาบัง ซึ่งถ้าประกาศใน อ.เบตง ก็จะจัดกิจกรรมสนับสนุนการท่องเที่ยวได้บ้าง จ.นราธิวาส จะยกเลิกที่ อ.แว้ง จ.ปัตตานี จะยกเลิกที่ อ.แม่ลาน โดยในวันจันทร์ที่ ๑ พ.ย.นี้ ตนจะเชิญจุฬาราชมนตรี ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัด ๕ จังหวัดภาคใต้ เพื่อหารือแนวทางยกเลิกประกาศใช้ พ.ร.ก.ที่มัสยิดกลาง จ.สงขลา จากนั้น ในวันพุธ จะหารือกับนายอำเภอเป้าหมาย จากนั้น จึงจะหารือกับฝ่ายความมั่นคง
         “ ถ้าเห็นว่า ยกเลิกแล้วปลอดภัย ก็จะตัดสินใจยกเลิก และใช้กระบวนการกฎหมายปกติในพื้นที่ที่ยกเลิก คือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความทางอาญา ( ป.วิอาญา ) ทั้งนี้ การยกเลิกต้องรอดูผลการหารือ ไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันที่ ๒ พ.ย.นี่ ” รมช.มหาดไทย กล่าวและว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นเครื่องมือให้อำนาจพิเศษเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติราชการ ถ้าบางพื้นที่ไม่เห็นด้วย เราก็ต้องฟัง แต่เท่าที่หารือ ทาง ผอ.ศอ.บต.เห็นด้วย และเรารับฟังความเห็นรอบด้าน โดยเฉพาะความปลอดภัยครู ต้องทำอย่างเข้มข้นขึ้น นอกจากนี้ ในพื้นที่อื่นๆ เราจะมุ่งใช้มาตรการตาม พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายใน โดยเฉพาะ ม.๒๑ เช่นที่ ๔ อำเภอในจังหวัดสงขลา ที่เอาบุคคลที่หลงผิดเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนความคิด ความเชื่อ ทั้งนี้ ถ้ายกเลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วก็ยกเลิกตลอด เพราะสิ่งที่กระทบกับประชาชนใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือการเอาผู้ต้องสงสัยมากักตัว ๓๐ วันเพื่อสอบได้ แต่ถ้ากักตัวสอบผิดคน ก็จะส่งผลกระทบกับประชาชนและรัฐบาล ดังนั้น ถ้าใช้กฎหมายธรรมดาได้ ก็ใช้กฎหมายธรรมดา ส่วนพื้นที่ที่ยังเกิดความรุนแรงนั้น จะมีการเคลื่อนย้ายไปเรื่อยๆ ถ้าจุดไหนประชาชนเผลอ ก็จะเกิดเหตุความรุนแรง ดังนั้น การควบคุมสถานการณ์ ไม่ว่าพื้นที่ใด อยู่ที่ประสิทธิภาพของการบังคับบัญชา และประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที(breakingnews.nationchannel.com ๒๙ ต.ค.๕๓)
         ศาลให้ประกันล็อตแรก ๑๔ ผู้ต้องขังคดีมั่คง เพื่อนร่วมชะตาอิหม่ามยะผาได้อิสรภาพ ศาลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทะยอยให้ประกันตัวผู้ต้องหาและจำเลยในคดีความมั่นคงที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำระหว่างรอการพิจารณาคดีแล้ว อันเป็นไปตามโครงการช่วยเหลือของกระทรวงยุติธรรมที่อนุมัติให้ใช้เงินจากกองทุนยุติธรรมเป็นหลักทรัพย์ในารยื่นประกันตัวผู้ต้องขังกลุ่มนี้ ซึ่งมีอยู่ถึง ๕๑๔ คนในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ ๒๖ ต.ค.ที่ผ่านมา กระทั่งถึงวันที่ ๒๘ ต.ค. มีผู้ต้องขังคดีความมั่นคงได้รับการปล่อยตัว ๑๔ คน เป็นการปล่อยตัวชั่วคราวซึ่งศาลอนุมัติตามหลักทรัพย์ที่กระทรวงยุติธรรมใช้เงินจากกองทุนยุติธรรมยื่นกับทางศาลจำนวน ๑๒ คน และอีก ๒ คน พนักงานอัยการมีความเห็นไม่ยื่นอุทธรณ์คดีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว จึงได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ นายบัญญัติ วงศ์สว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าสำนักงานยุติธรรมจังหวัดนราธิวาส กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงของ จ.นราธิวาส ที่ได้รับการอนุมัติเงินประกันตัวจากกองทุนยุติธรรมมีทั้งหมด ๑๙ ราย ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว ๙ ราย และจากการติดตามผู้ต้องขังคดีความมั่นคงที่ได้รับการประกันตัว ทราบว่าทั้ง ๙ รายลับถึงบ้านอย่างปลอดภัย ท่ามกลางความดีใจของครอบครัว พี่น้อง และญาติๆ“จากที่ได้เห็นความรู้สึกของทุกคนที่ได้รับการประกันตัว ทำให้คิดว่าโครงการนี้เป็นประโยชน์มาก ล่าสุดญาติพี่น้องของทั้ง ๙ คนได้โทรศัพท์มาหาผม และบอกว่าขอบคุณกระทรวงยุติธรรมที่นำโครงการนี้มาให้พวกเขา และทำให้พวกเขาได้รับความเป็นธรรม และจะต่อสู้คดีตามกระบวนการต่อไป"
         นายนพดล นมรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าสำนักงานยุติธรรมจังหวัดยะลา กล่าวว่า จ.ยะลามีผู้ต้องขังคดีความมั่นคงได้รับอุดหนุนเงินประกันตัวจากกองทุนยุติธรรมจำนวน ๒ ราย และได้รับการประกันตัวไปแล้ว โดยทั้งสองเป็นราษฎรจาก อ.ยะรัง จ.ปัตตานี "ตอนนี้ยุติธรรมจังหวัดมีนโยบายสร้างอาชีพให้กับผู้ต้องขังคดีความมั่นคงที่ได้รับอิสรภาพ เพื่อให้ทุกคนอยู่ดีมีความสุข และต้องมีความปลอดภัยในชีวิตและครอบครัวด้วย จึงคิดว่าทางยุติธรรมจังหวัดมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งเข้าไปสร้างอาชีพให้กับบุคคลเหล่านี้" นายนพดล กล่าว (สถาบันอิศรา ๒๙ ต.ค.๕๓)

                                               ............................................