| ย้อนกลับ |


วัดพระพายหลวง
เป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ อยู่นอกเมืองสุโขทัย สร้างก่อนสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ตั้งอยู่กลางแนวคูน้ำล้อมรอบ 2 ชั้น คูน้ำชั้นนอกเป็นคูน้ำขนาดใหญ่ และคูน้ำชั้นในมีขนาดเล็ก เดิมเป็นเทวสถานของขอม ด้วยพบชิ่นส่วนเทวรูป และฐานศิวลึงค์  ต่อมาจึงดัดแปลงเป็นวัดในพุทธศาสนา ฝ่ายมหายาน
ในราวพุทธศตวรรษที่ 18 เนื่องจากพบพระพุทธรูปแกะหินสลักปางนาคปรก และด้านหน้าวิหารพบรูปสลักหินองค์ใหญ่ ปางสมาธิ เฉพาะส่วนขององค์พระที่มีลักษณะเหมือนกับพระพุทธรูปฉลองพระองค์  ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสร้าง จากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นวัดศาสนาพุทธ ฝ่ายหินยาน เมื่อได้รับอิทธิพลศาสนาแบบลังกาวงศ์ นับเป็นวัดที่ใหญ่และสำคัญรองลงมาจากวัดมหาธาตุ เจดีย์ประธานเป็นปรางค์ 3 องค์ ก่อด้วยศิลาแลงและฉาบด้วยปูนปั้น ประกอบด้วยวิหาร เจดีย์สี่เหลี่ยม และระเบียงคด มณฑป วิหารพระนอน และเจดีย์ราย  สันนิษฐานว่า เป็นศูนย์กลางของศาสนาที่มีมาก่อนการตั้งวัดมหาธาตุ รวมทั้งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในด้านการศึกษาด้านศิลปกรรม และสถาปัตยกรรม สมัยก่อนสุโขทัย และการก่อสร้างต่าง ๆ ที่สลับซับซ้อนมาหลายยุคหลายสมัย


วัดศรีชุม
เป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ในสมัยสุโขทัย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกำแพงเมืองสุโขทัย ปรากฏตามหลักฐาน ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ 1 พุทธศักราช 1835
วัดนี้เป็นวัดที่แปลกกว่าวัดอื่น ด้วยหากมองเพียงภายนอกจะเป็นแต่มณฑปรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทรงระฆังคว่ำหรือรูปโดม มีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยขนาดใหญ่เพียงองค์เดียว คือ พระอจนะ ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่า พระพุทธรูปองค์นี้ศักดิ์สิทธิ์สามารถพูดได้
แต่แท้ที่จริงแล้ว ประตูทางเข้าด้านหลังพระพุทธรูปจะเจาะเป็นช่องสูง มีทางเดินขึ้นไปจนเกือบถึงยอดหลังคามณฑป ซึ่งเป็นด้วยกุศโลบายของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์พระร่วง ที่ทรงพระปรีชาสามารถปลุกปลอบใจทหาร และสามารถบังคับบัญชา ให้เกิดความสามัคคีเป็นน้ำหนี่งใจเดียวกัน โดยใช้ผนังด้านข้างขององค์พระอจนะที่มีช่องเล็ก ๆ และให้คนเข้าไปในอุโมงค์ แล้วพูดออกมาเสียงดัง ๆ ผู้ที่อยู่ในวิหารจึงนึกว่าพระอจนะพูดได้ และทั้งช่องอุโมงค์ด้านซ้ายและขวาจะบรรจบกันเข้าเป็นยอดแหลม ผนังมณฑปทำเป็น 2 ชั้น
ภายในช่องอุโมงค์มณฑป ด้านซ้ายกว้างประมาณ 50 ซม. บนเพดานมีภาพสลักลายเส้นบนแผ่นหินชนวน ประมาณ 50 ภาพ แสดงเกี่ยวกับเรื่องชาดกต่าง ๆ บรรยายไว้เป็นอักษรไทยสมัยสุโขทัย และมุมด้านขวาขององค์พระยังมีรอยพระพุทธบาทสลักไว้สวยงาม ส่วนอุโมงค์ช่องขวา ได้ปิดทับไปแล้ว
นอกจากนั้น ยังปรากฏในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิ์พงศ์ (จาด) กล่าวไว้ว่า เมื่อพระนเรศวรเสด็จขึ้นมา ปราบกบฎเมืองสวรรคโลก ในปี พ.ศ. 2128 นั้น ก่อนจะยกไปเมืองสวรรคโลก ได้แวะพักพลที่ตำบลฤาษีชุม เมืองสุโขทัย สันนิษฐานว่า คือวัดศรีชุม  นั่นเอง


วัดอรัญญิก
ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก บริเวณที่ราบเชิงเขาในป่ากลางอรัญญิก ระหว่างวัดสะพานหิน กับ วัดพระบาทน้อย ประกอบด้วย กุฎิสงฆ์ โบสถ์ วิหารเล็ก ร้านบาตร เจดีย์ราย บ่อน้ำ และถ้ำ
กุฎิสงฆ์มีจำนวน 8 หลัง ก่อด้วยหินเล็ก ๆ คล้ายซุ้ม เพื่อสำหรับให้พระสงฆ์จำวัดและวิปัสสนา บริเวณเขาสูง มีถ้ำซึ่งเป็นการ สกัดหินเข้าไปในเขา 3 แห่ง เพื่อให้สำหรับพระสงฆ์จำวัด คือ ถ้ำมะขามป้อม ถ้ำพระยาน้อย และถ้ำพระ  ดังปรากฏหลักฐานในศิลาจารึก พ่อขุนรามคำแหง พุทธศักราช 1835

วัดเชตุพน
เป็นกลุ่มโบราณสถานที่ใหญ่ที่สุดของโบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้ โบราณสถานส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่วัด มีคูน้ำ 2 ชั้น ล้อมรอบ เว้นแต่โบสถ์ซึ่งแยกออกไปอยู่ต่างหาก ทางใต้นอกคูน้ำ กลุ่มโบราณสถานประกอบด้วย มณฑปพระสี่อิริยาบท เจดีย์ทรงมณฑป
วิหาร เจดีย์ราย กำแพง คูน้ำ

มณฑปพระสี่อิริยาบท เป็นโบราณสถานหลักของวัดเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางลีลา ทางด้านทิศตะวันออก  พระพุทธรูปประทับยืนทางด้านทิศตะวันตก  พระพุทธรูปประทับนั่งทางด้านทิศเหนือ และพระพุทธรูปประทับนอนด้านทิศใต้ โดยพระพุทธรูปทั้ง 4 องค์นี้ ก่อด้วยอิฐ และปูนปั้น
วัดเชตุพน นับเป็นวัดขนาดใหญ่ที่สำคัญอีกวัดหนึ่งของกรุงสุโขทัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งก่อสร้าง เช่น มณฑปที่อิริยาบทขนาดใหญ่ กำแพงหินชนวนขนาดใหญ่ ตลอดจนขนาดของวิหาร สระน้ำ และคูน้ำล้อมรอบ ล้วนเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ทั้งในด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม เป็นอย่างยิ่ง


วัดสะพานหิน
ตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ย ๆ  ตามหลักฐานในศิลาจารึก หลักที่ 1 และพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงเสด็จมานมัสการพระอัฎฐารศ ที่วัดสะพานหินเป็นประจำทุกวันพระ
ทางเดินขึ้นวัดสะพานหินปูด้วยหินชนวนแผ่นบาง ๆ ซ้อนเรียงกันเป็นแนวสูง และปูเรียงไปตามเชิงเขาด้านทิศตะวันออก จนถึง บริเวณลานวัดบนยอดเขา บนลานมีวิหารก่อด้วยอิฐ เสาเป็นศิลาแลง 4 แถว 5 ห้อง
ด้านหลังมีผนังก่ออิฐหนา มีพระพุทธรูปปูนปั้น หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก เป็นพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย ยกพระหัตถ์ขวา  สูง 12.50 เมตร เรียกว่า "พระอัฎฐารศ" และมีฐานเจดีย์ราย 4-5 ฐาน ระหว่างทางขึ้นทางซ้ายมือ มีเจดีย์แบบดอกบัวตูมองค์เล็ก 1 องค์ ทางทิศเหนือ

ศิลาจารึก
จารึกหลักที่ 1
ร.4 ขณะดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ ฯ และทรงเพศบรรพชิต ได้เสด็จไปจาริกแสวงบุญที่เมืองสุโขทัยเก่า เมื่อ พ.ศ. 2376 และทรงพบจารึกหลักที่ 1 แห่งเดียวกับพระแท่นมนังคศิลา คือ เนินปราสาท ตรงข้ามวัดมหาธาตุ
ศิลาจารึกนี้ เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า จารึกของพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งได้จารึกขึ้นในปี พ.ศ. 1835
ภาษาที่ใช้และตัวอักษร เป็นภาษาไทย
ตอนที่ 1  ตั้งแต่ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 1-18 เป็นพระราชประวัติของพ่อขุนรามคำแหง โดยใช้คำว่า "กู" เป็นพื้น ดังปรากฏหลักฐาน ในศิลาจารึก คือ
"พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูเชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบานเมือง ตูพี่น้องท้องเดียวห้าคน ผู้ชายสาม ผู้หญิงสอง พี่เผือผู้อ้าย ตายจากเผือเตียมแต่ยังเล็ก..."
ตอนที่ 2  ตั้งแต่ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 19 ถึงด้านที่ 4 บรรทัดที่ 11 รวม 90 บรรทัด เป็นการพรรณนาถึงเมืองสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคำแหง เกี่ยวกับสภาพบ้านเมือง ขนบธรรมเนียม ประเพณี กฎหมาย พระพุทธศาสนา ความเชื่อเรื่องผีสางเทวดา การสร้างพระแท่นศิลาบาตร การประดิษฐ์ลายสือไท แต่ไม่ได้ใช้คำว่า "กู" แต่ใช้คำว่า "พ่อขุนรามคำแหง" เช่น "เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง...ลายสือไทนี้จึงมีขึ้นเพื่อขุนผู้นั้นใส่ไว้ "
ตอนที่ 3  ตั้งแต่ด้านที่ 4 บรรทัดที่ 11 จนถึงบรรทัดสุดท้าย รวม 16 บรรทัด เป็นการกล่าวสรุปสรรเสริญ และยอพระเกียรติพ่อขุนรามคำแหงมหาราช รวมทั้งกล่าวถึงอาณาเขตของอาณาจักร เมืองสุโขทัย
ในตอนนี้ ตัวหนังสือไม่เหมือนกับตอนที่ 1 และตอนที่ 2 ด้วย  มีพยัญชนะลีบกว่า และสระที่ใช้ก็ต่างกันบ้าง
สำหรับศิลาจารึกหลักอื่น ๆ มีที่มาดังนี้
หลักที่ 2  พบที่วัดศรีชุม กล่างถึงประวัติพระนัดดาพ่อขุนผาเมือง
หลักที่ 3  มีผู้นำไปไว้ที่วัดพระบรมธาตุ จังหวัดกำแพงเพชร กล่าวถึงเรื่องของพระเจ้าลิไท และสภาพกรุงสุโขทัย
หลักที่ 4  พบที่เนินปราสาทตรงข้ามวัดพระศรีมหาธาตุ กล่าวถึงการออกผนวช  ที่วัดป่ามะม่วง
หลักที่ 5  พบที่วัดป่ามะม่วง กล่างถึงเรื่องพระเจ้าลิไทขึ้นครองราชย์
หลักที่ 6  พบที่วัดป่ามะม่วง กล่างถึงเรื่องการผนวชพระเจ้าลิไท
หลักที่ 7  ไม่ปรากฏที่พบ เรียกกันว่า จารึกวัดพระมหาธาตุ-วัดพระศรี
หลักที่ 8  พบบนเขาพระบาทใหญ่ (เขาสุมนกูฎ) กล่าวถึงเรื่องการราชาภิเศกพระเจ้าลิไท
หลักที่ 9  ไม่ปรากฎที่พบ เรียกกันว่า จารึกวัดป่าแดง
หลักที่ 11  พบที่ยอดเขากบ ปากน้ำโพ กล่างถึงประวัติและผลงานของมหาเถรศรีศรัทธา
หลักที่ 38  ไม่ปรากฎหลักฐานที่พบ เนื้อความเป็นกฎหมายในสมัยสุโขทัย
หลักที่ 45  พบที่หน้าวิหารกลางวัดมหาธาตุ กล่าวถึงการกระทำสัตย์สาบานต่อกันของเจ้านายกรุงสุโขทัย และความสัมพันธ์ระหว่าง สุโขทัยกับน่าน
หลักที่ 64  พบที่วัดช้างค้ำ จังหวัดน่าน กล่าวถึงกลุ่มเมืองทางด้านเหนือของกรุงสุโขทัย
หลักที่ 76 พบที่วัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงการสร้างเมืองเชียงใหม่ และวัดเชียงมั่น
หลักที่ 93  พบที่วัดอโศการาม นอกเมืองสุโขทัยเก่า พระราชเทวีศรีจุฬาลักษณอัครราชมเหสี และพระราชโอรส นำพระบรมธาตุที่ได้จากลังกา มาประดิษฐานไว้ที่วัดอโศการาม
หลักที่ 102  พบที่วัดตระพังช้างเผือก สุโขทัย เนื้อความขาดหายไปมาก
หลักที่ 106  พบที่วัดช้างล้อม สุโขทัย กล่าวถึงการบวช การสร้าง และบูรณะวัด สมัยพระเจ้าลิไท


| ย้อนกลับ | บน |