หมากรุกไทย | หน้าต่อไป |
ตำนานหมากรุก
ดำรงราชานุภาพ(พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ )
สภานายก.
หอพระสมุดวชิรญาณ
วันที่๑ พฤศจิกายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๕
อธิบายตำนานหมากรุก
ชุดทางขวามือสมมตว่าอยู่ประเทศทางทิศตวันออก ชุดข้างล่างว่าอยู่ประเทศทิศใต้ชุดข้างล่างว่าอยู่ประเทศทิศใต้ พวกทางซ้ายมือว่าอยู่ประเทศทิศตวันตก ชุดข้างบนว่าอยู่ประเทศทิศเหนือคนเล่นก็ ๔ คน ต่างถือหมากรุกคนละชุด แต่กระบวรเล่นนั้น ๒ พวกที่อยู่ทแยงมุมกัน(คือพวกขาวในรูปนี้) เปนสัมพันธมิตรช่วยกัน ๒ พวก (ดำ) ซึ่งเปนสัมพันธมิตรกันอีกฝ่ายหนึ่ง
ลักษณเดินตัวจตุรงค์นั้น ขุน ม้า เบี้ย เดินอย่างเดียวกับหมากรุกที่เราเล่นกันแต่ช้างเดินอย่างเราเดินเรือทุกวันนี้ ส่วนเรือนั้นเดินทแยง (อย่างเม็ด) แต่ให้ข้ามตาใกล้เสียตา๑ แต่การที่จะเดินต้องใช้ทอดลูกบาตร ลูกบาตรนั้นทำเปนสี่เหลี่ยมแท่งยาว ๆ มีแต่ ๔ ด้าน หมาย ๒ แต้มด้านหนึ่ง ๓ แต้มด้านหนึ่ง ๔ แต้มด้านหนึ่ง๕ แต้มด้านหนึ่ง คนเล่นทอดลูกบาตรเวียนกันไป ถ้าทอดได้แต้ม ๕ บังคับให้เดินขุนฤาเดินเบี้ย ถ้าทอดได้แต้ม ๔ ต้องเดินช้าง แต้ม ๓ ต้องเดินม้า แต้ม ๒ ต้องเดินเรือ แต่จะเดินไปทางไหนก็ตามใจเว้นแต่เบี้ยนั้นไปได้แต่ข้างน่าทางเดียว (อย่างหมากรุกที่เราเล่นกัน) วิธีเล่นหมากรุกชั้นเดิมที่เรียกว่าจตุรงค์มีเค้าดังกล่าวมานี้
ครั้นจำเนียรกาลนานมาถึงเมื่อราวพ.ศ. ๒๐๐ ปี ว่ามีพระเจ้าแผ่นดินในอินเดียองค์๑ ชอบพระหฤทัยในการสงครามยิ่งนักตั้งแต่เสวยราชย์ก็เที่ยวรบพุ่งบ้านเมืองที่ใกล้เคียง จนได้เปนมหาราชไม่มีเมืองใดที่จะต่อสู้พระเจ้าแผ่นดินองค์นั้น ครั้นไม่มีโอกาศที่จะเที่ยวทำสงครามอย่างแต่ก่อน ก็เกิดเดือดร้อนรำคาญพระหฤไทยจึงปฤกษามหาอำมาตย์คนหนึ่ง ชื่อว่า สัสสะว่าจะทำอย่างไรดีจึงจะมีความศุข มหาอำมาตย์คนนั้นคิดว่าจะแก้ด้วยอุบายอย่างอื่นพระเจ้าแผ่นดินนั้น ก็คงจะยังอยากหาเหตุเที่ยวรบพุ่งอยู่นั่นเอง ที่ไหนบ้านเมืองจะได้มีสันติศุขจึงเอาการเล่นจตุรงค์มาคิดดัดแปลงให้เล่นกันแต่ ๒ คน แลเลิกวิธีทอดลูกบาตรเสียให้เดินแต้มโดยใช้ปัญญาความคิดเอาชนะกันเหมือนทำนองอุบายการสงครามแล้วนำขึ้นถวายพระเจ้าแผ่นดิน ชวนให้ทรงแก้รำคาญ พระเจ้าแผ่นดินองค์นั้นทรงเล่นจตุรงค์อย่างที่มหาอำมาตย์สัสสะคิดถวายก็เพลิดเพลินพระหฤทัย หายเดือดร้อนรำคาญ บ้านเมืองก็เป็นศุขสมบูรณ์ (ตำนานเรื่องมหาอำมาตย์สัสสะคิดแก้การเล่นจตุรงค์เล่ากันเปนหลายอย่าง อ้างกาลต่างยุคกัน เลือกมาแสดงในที่นี้แต่เรื่องเดียว)
กระบวรหมากรุกที่ว่ามหาอำมาตย์สัสสะคิดใหม่นั้นคือรวมต้วหมากรุกซึ่งเดิมเปน๔ พวกนั้นให้เปนแต่ ๒พวก ตั้งเรียงกันฝ่ายละฟากกระดาน (ทำนองเดียวกับหมากรุกที่เราเล่นกันทุกวันนี้)เมื่อจัดเป็นกระบวรทัพแต่ ๒ ฝ่ายจะ
มีพระราชาฝ่ายละ๒ องค์ไม่ได้ จึงลดขุนเสีย ๒ ตัว คิดเป็นตัวมนตรีขึ้นแทน (คือตัวที่เราเรียกกันว่าเม็ด)หมากรุกอย่างที่มหาอำมาตย์สัสสะคิดแก้ไขนี้
ต่อมาแพร่หลายไปถึงนานาประเทศ พวกชาวประเทศอื่นไปคิดดัดแปลงแก้ไขตามนิยมกันในประเทศนั้นๆ อีกชั้นหนึ่ง หมากรุกที่เล่นกันในนานาประเทศทุกวันนี้จึงผิดเพี้ยนกันไปแต่เค้ามูลยังเปนอย่างเดียวกัน เพราะต้นแบบแผนได้มาแต่อินเดียด้วยกันทั้งนั้นเรื่องตำนานหมากรุกที่กล่าวมานี้ ได้อาศรัยเก็บความในหนังสือเรื่องตำนานหมากรุกของดอกเตอรดันคัน ฟอบส์ มาแสดงพอให้ทราบเค้าความ.
อนึ่งมีกลอนเพลงยาวว่าด้วยกระบวรไล่หมากรุก หลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก)ได้แต่งขึ้นในหอพระสมุดฯ บท ๑ เห็นควรจะพิมพ์รักษาไว้มิให้สูญเสีย จึงนำมาพิมพ์ไว้ในท้ายตำนานนี้ด้วย
ประวัติหมากรุกไทย
เมื่อค้นคว้าจากหนังสือหมากรุกเท่าที่จะค้นหาได้ในหอสมุดแห่งชาติ สรุปได้ว่าตำนานหมากรุกมีที่มาคล้ายคลึงกันและแทบทุกแห่งจะอ้างอิงจากหนังสือเล่มเดียวกันคือ ตำรากลหมากรุก ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณทั้งสิ้นที่จะมีผิดแผกไปบ้างบางเล่ม เช่น ผู้ดัดแปลงหมากรุกจากเดิมจัตุรงค์ซึ่งมีผู้เล่นสี่คนมาเป็นหมากรุกที่มีผู้เล่นสองคน แทนที่จะเป็นมหาอำมาตย์สัสสะ ในประเทศอินเดียบางเล่มเพี้ยนไปเป็นพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ที่กรีก แต่ก็มีรายละเอียดคล้ายคลึงกัน
ประวัติผู้ประดิษฐ์ตัวหมากรุกไทย
คัดจากบางตอนของบทที่ว่าด้วยตำนานหมากรุก หนังสือหมากรุกไทย ของบริษัทสุรามหาราษฎรจำกัด (มหาชน) พิมพ์ที่โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ไม่แจ้งปีที่พิมพ์ มีข้อความดังนี้
มีประวัติของหมากรุกไทยกล่าวไว้ว่า ปฐมกษัตริย์จีน ชื่อพระเจ้าฟูฮี คิดตำราหมากรุกพิชัยยุทธตีเมืองเชนสีของชาวอัลไต หรือชาวไทยในอดีตเมื่อราว2337 ปี ก่อนพุทธศักราช จนชาวอัลไตได้ถอยร่นไปทางทิศใต้และทางทิศตวันออก และมีการอพยพมาตั้งอาณาจักรอายลาวครั้งแรกเมื่อ32 ปี ก่อนพุทธศักราช ต่อมาหลังจากที่อาณาจักรอ้ายลาวแตก ชาวอัลไตก็ถอยร่นข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งนครโยนก ประมาณปี พ.ศ.20 มีกษัตริย์ปกครองและได้มีพระพุทธศาสนาแพร่เข้ามา
เมื่อ พ.ศ. 301 มีการก่อสร้างเจดีย์และวัดซึ่งทำให้บ้านเมืองมีความเป็นอยู่เจริญขึ้นมาจนถึงพ.ศ. 902 ก็ถูกพวกมอญดำยึดเมือง และไล่ให้ชาวเมืองออกไปหาทองมาส่งส่วยซึ่งก็ได้พบทองร่อนเป็นจำนวนมากจนได้ชื่อว่าสุวรรณภูมิ
ในปี พ.ศ. 918 พระเจ้าพรหมมหาราชได้คิดตำราพิชัยยุทธนา วางแผนหมากรุกระดมผู้คนทั้งเด็กผู้ใหญ่และคนชราทั้งชายหญิงขึ้นลุกฮือทำการต่อสู้กวาดล้างพวกมอญดำถึง 6 ปี ตั้งแต่เมืองโยนกเชียงแสนจนถึงกำแพงเพชรได้ประกาศขอบเขตเป็นอาณาจักรใหม่ของเมืองเชียงราย หากจะนับว่าเมืองเชียงรายเป็นชาวไทยก็ควรจะนับว่าราช
อาณาจักรชาวอัลไตหรือชนชาวไทยตั้งเป็นประเทศไทยโยนกตั้งแต่พ.ศ. 20 โดยพระเจ้าอนุชิตกอบกู้เอกราชครั้งแรกได้สำเร็จ
เมื่อ พ.ศ. 924 สมัยพระเจ้าพรหมมหาราช ผู้เจริญพระชนมายุเพียง 16 พรรษาเท่านั้น ได้ทรงใช้เวลา 6 ปี ในการกรำศึกนั้น จึงเป็นที่เชื่อว่า ชนชาวไทยได้เอาหมากรุกจีนซึ่งเดินหมากตามเส้นเข้ามาประเทศไทยด้วยและตัวหมากรุกไทยได้ประดิษฐ์ในสมัยนี้เอง โดยให้เดินตามช่อง ตัวขุนจำลองมาจากที่ประทับของกษัตริย์หรือพระโกศตัวโคนจำลองมาจากพระเจดีย์ใหญ่ ตัวเม็ดจำลองมาจากเจดีย์เล็ก ตัวเรือจำลองมาจากป้อมค่ายทหารเบี้ยจำลองมาจากหมวกทหาร ส่วนม้า นำมาจากหัวม้าในละครโดยตรง จึงไม่แปลกใจเลยที่มีหลักฐานปรากฎว่าภาคเหนือและภาคอีสานเป็นต้นกำเนิดของหมากรุกไทยมาก่อน
อนึ่ง มีผู้กล่าวไว้ว่าชาวเปอร์เซียเป็นผู้คิดค้นหมากรุกเล่นในหมู่นักรบ เพื่อคลายอารมณ์กระหายศึกนั้นไม่สามารถกำหนดชี้ชัดได้เพราะกล่าวไว้ว่าชาวเปอร์เซียเล่นหมากรุก 4 คนและใช้ลูกเต๋าทอดด้วยแล้วยิ่งยากเชื่อถือเนื่องจากลูกเต๋าเป็นของประดิษฐ์ชาวจีน จึงมีปัญหาที่น่าสงสัยว่าใครเป็นผู้คิดค้นการเล่นกันแน่แต่เมื่อพิจารณาถึงหลักฐานที่ปรากฏเมื่อสมัยโบราณ 4,000 ปีมาแล้วนั้น ชาวจีนได้รวมตัวเป็นกลุ่มเป็นก้อนแล้วแต่ในขณะที่ชาวอาหรับยังคงแตกแยกอยู่ ดังนั้นหลักฐานจึงค่อนมาทางจีนมากกว่า
ประวัติการเล่นหมากรุกไทยสมัยแรกเริ่ม จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 20-2310ยังไม่พบหลักฐาน ปรากฏว่ามีการกล่าวอ้างถึงการเล่นหมากรุกไทยในยุคนี้ แต่มีการกล่าวว่า สมัยพระพุทธเจ้าทรงพระราชสมภพที่เนปาลนั้น มีหมากรุกเล่นกันแล้ว แต่ไม่ได้กล่าวว่าเป็นหมากรุกอย่างใดแต่ที่เนปาลก็อยู่ใกล้จีนและทิเบตมากกว่า หากว่าประเทศไทยมีการเล่นหมากรุกกันมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าพรหมมหาราชนั้นแล้วอีกประมาณ 876 ปีก็ถึงสมัยสุโขทัย ก็ยังไม่มีการกล่าวถึงไว้ ณ ที่หนึ่งที่ใดแต่ตามพื้นวัดนั้นมีแผ่นสี่เหลี่ยมอยู่เป็นอันมาก ทำให้สามารถสันนิษฐานได้ว่าเป็นกระดานหมากรุก
ประวัติการเล่นหมากรุกไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีพ.ศ. 2310 - 2325
ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ. 2318 เดือนอ้าย อะแซหวุ่นกี้ แม่ทัพพม่าวัย72 ปี ผู้เหิมเกริมอาสานำไพร่พลฝีมือดี 35,000 คน คิดรุกรานผืนแผ่นดินไทยโดยยกพลเข้ามาตั้งค่ายอยู่ที่เมืองสุโขทัย กางตำราพิชัยสงครามเชิงรุก และเริ่มลงมือกวาดต้อนเสบียงอาหารสะสมกักตุนไว้ทันที
พระเจ้ากรุงธนบุรีพร้อมด้วยพระยาจักรีและพระยาสุรสีห์ ทรงทราบยุทธศาสตร์เชิงรุกครั้งนี้เป็นอย่างดีหากแต่ครั้งนั้นมีรี้พลประมาณ 20,000 คนจึงจำต้องวางแผนพิชัยสงครามในเชิงรุกและรับด้วยหน่อยจู่โจมหลีกเลี่ยงการเข้าปะทะศึกใหญ่โดยใช้แผนถอยเอาเชิง 2 ชั้น
กล่าวคือ ให้พระยาจักรีและพระยาสุรสีห์ ตั้งหลักอยู่ที่เมืองพิษณุโลกกวาดต้อนเสบียงและผู้คน ตลอดจนรักษาฐานะเมืองเชียงใหม่ไว้ ด้วยหวังตรึงกำลังอะแซหวุ่นกี้ไว้ให้นานที่สุดส่วนทัพหลวงนั้น พระเจ้ากรุงธนบุรีกลับเป็นฝ่ายเคลื่อนไหวประกอบกับหน่วยจู่โจมและหน่วยกองเพลิงป่า มุ่งหวังตัดเสบียงและจู่โจม รบกวนทำลายรี้พลพม่าทั้งกลางวันและกลางคืนหลังจากปะทะกันมาถึง 4 เดือน ต่างก็ขัดสนเสบียงอาหาร โดยเฉพาะเมืองพิษณุโลกยังมีผู้หญิงและเด็กมากมายครั้นกองเสบียงจากทัพหลวงถูกตัดขาด แผนการขั้นที่ 2 จึงได้เริ่มขึ้นโดยพระยาจักรีออกอุบายจำทำการรบใหญ่ด้วยการเอาปี่พาทย์ประโคมศึกตามป้อมค่าย พร้อมยิงปืนใหญ่กรุยทางตั้งแต่เช้าจนค่ำส่วนพระองค์พร้อมด้วยพระยาสุรสีห์ ได้ทรงนั่งเล่นหมากรุกอยู่บนเชิงกำแพงเมืองร้องเรียกให้อะแซหวุ่นกี้ขึ้นมาประลองฝีมือสักกระดาน
แผนการถอยทัพเอาชัยจึงสัมฤทธิ์ผลในเวลาสามทุ่มคืนนั้นโดยมีผู้หญิงและเด็กแต่งกายคล้ายทหารพกอาวุธทุกคนถอยไปตั้งทัพชั่วคราวที่เพชรบูรณ์ แล้ววกลงใต้ไปตามแม่น้ำป่าสักและลพบุรีไปยังแถบพระพุทธบาทสระบุรี แล้วอ้อมขึ้นไปอุทัยธานี ทำหน้าที่เป็นหน่วยจรยุทธหนักคอยตีดัดหลัง
ฝ่ายอะแซหวุ่นกี้ หลังจากเสียเวลาติดตามไปตีเมืองเพชรบูรณ์ อย่างไร้ผลและขาดเสบียงเพิ่มเติมในที่สุดก็ตั้งทัพอยู่กับที่ เป็นเวลาหลายเดือนไม่สามารถหาเป้าหมาย (ขุน) สำหรับโจมตีได้ตัวเองกลับจะตกเป็นเป้านิ่งเลยตัดสินใจถอยทัพกลับพม่า ระหว่างทางถูกดักตีซ้ำเติมเสียรี้พลมากมายกลับถึงพม่าอย่างสะบักสบอม
ตำราพิชัยสงครามกล่าวว่า “ กองทัพเดินด้วยท้อง หมากรุกเดินด้วยสมอง “ นับตั้งแต่นั้นมาพม่ามิกล้ายกกองทัพใหญ่ มารุกรานไทยอีกเลย ด้วยเกรงพระปัญญาบารมีของพระองค์ยิ่งนักยิ่งมาทราบว่าพระองค์ 2 พี่น้องทางโปรดกีฬาหมากรุกด้วยแล้ว โดยเฉพาะกลถอยเอาชนะของพระองค์นั้นเป็นที่เทิดทูนเคารพบูชา ที่พวกเราชาวไทยทุกคนทั้งหลายได้อยู่ยั่งยืนยงมาจนถึงทุกวันนี้
ประวัติการเล่นหมากรุกไทยตั้งแต่กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325-2526
หลังจากการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ในปี พ.ศ. 2325 แล้ว ก็ได้ปรากฏว่ามีการเล่นหมากรุกกันมากในหมู่
พระราชวงศ์ดังจะเห็นมีหมากรุกงาและเขาสัตว์ แสดงความเก่าแก่มานานจนงานั้นผุพังไปก็มีตัวอ้วนกลมเตี้ยไม่ได้ขนาดก็มี
หมากรุกได้แพร่หลายไปตามหมู่เจ้านายไพร่พล หมู่ทหาร ข้าราชบริพาร และยังไปตามวัดวาอารามต่าง ๆ จนในที่สุดเข้าถึงประชาชนโดยทั่วไป ดังจะเห็นมีตำรากลหอพระสมุดแห่งชาติ และตำราเคล็ดลับทางโคนที่ได้มาจากทางภาคอิสาน
การแข่งขันอย่างไม่เป็นทางการคงจะมีขึ้นบ้างเป็นการประลองฝีมือ แต่การพนันรายใหญ่มักจะมีในหมู่เศรษฐี ดังเช่นศึกชิงเรือสำปั้นระหว่างนายโหมดกับเจ้านายพระองค์หนึ่งทางตำหนักเสาชิงช้า นอกจากศึกชิงเรือสำปั้นแล้วยังมีศึกผ้าขาวม้า ศึกสามเส้า ตอนงูกินหางและตอนจับงูอีกด้วย
ข้อมูลจากกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และตำราพิชัยยุทธ น.ต.มณเฑียร รื่นวงษา
เพลงยาวกระบวรไล่หมากรุก
เนื้อหาสำคัญในเพลงยาวกระบวรไล่หมากรุกนั้นพอสรุปได้ 3 ตอน ตอนแรกเป็นการไหว้ครูตอนที่สองจะบอกกติการการนับตามศักดิ์หมาก ตอนที่สามจะบอกกติกาการนับตามศักดิ์กระดานว่าถ้าสองฝ่ายมีหมากอะไรจะต้องไล่ให้จนในกี่ทีมิ ฉะนั้นถือว่าเสมอกัน และบางกรณีที่ต่างฝ่ายมีหมากตามกำหนดจะมีชื่อเรียกให้ด้วยตามลักษณะหมากที่สองฝ่ายมีอยู่เช่นหอกข้างแคร่ ลูกติดแม่ ควายสู้เสือ เป็นต้น
เฉพาะบทแรกเป็นบทไหว้ครูคัดมาจาก หนังสือ สนุกกับหมากรุกไทย โดย วินัย ลิ้มดำรงค์ชิต พิมพ์โดยสำนักพิมพ์อักษรวัฒนา
มาโนชนน้อมพร้อมกายวจีสรรพ์
ไหว้ดาบสพรตอุดมพรหมจรรย์ | เจริญบรรพชากรสังวรฌาณ |
ที่ล่วงลุปรุโปร่งเปรื่องกสิณ | ผ่องอภิญญายิ่งภินิหาร |
ผู้รู้รบจบแจ้งเจนวิจารณ์ | ในตำนานชาญชัดอธิบาย |
ท่านได้นำตำราหมากรุกนี้ | มาเชิดชี้เป็นอย่างอ้างขยาย |
เบื้องโบราณกาลเปรียบปรุงภิปราย | จึงแพร่หลายสืบกันแต่นั้นมา |
ว่ามณโฑเทวีศรีสมร | เห็นภูธรทศพักตร์ท้าวยักษา |
เมื่อศึกรามตามประชิดติดลงกา | แต่นั้นมามิได้มีที่สบาย |
ด้วยความกตเวทีมีในจิต | นางจึงคิดหมากรุกขึ้นถวาย |
ไว้เล่นแก้ทุกข์ร้อนพอผ่อนคลาย | เรื่อนิยายกล่าวมาว่าอย่างนี้ |
แลว่าเดิมสำเหนียกเรียกจัตุรงค์ | เพราะเทียบพลพยุหยงองค์ทั้งสี่ |
คิดกระบวนชวนเล่นเช่นราวี | ให้ต้องที่การทัพแก้อับจน |
พระฤาษีจำตำรามาแถลง | จึงได้แจ้งหมากรุกทุกแห่งหน |
อาศัยเหตุตามสังเกตประกอบกล | ประชุมชนจึงได้ชวนกันชื่นชม |
ต่างก็คิดผิดเพี้ยนเปลี่ยนแปลกบ้าง | เพราะต่างชาติต่างภาษาภิรมย์สม |
เห็นเป็นเครื่องเรืองปัญญาพานิยม | เพราะอบรมความดำริให้ตริตรอง |
ครั้นต่อมาผู้มีปรีชาเฉลียว | คิดผูกเกี่ยวขึ้นเป็นกลประกอบสนอง |
หวังประกวดอวดกันขันประลอง | เพื่อสอดส่องเสี่ยงปัญญาหาความเพียร |
ตั้งแต่นี้ต่อไปจนจบคัดมาจาก หนังสือ ตำรากลหมากรุก ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณเจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร ให้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ พิมพ์ที่โรงพิมพ์ไท
อันการไล่หมากรุกสนุกนึก | ล้วนลับลึกเลศไนยใช่พาเหียร |
ควรใฝ่ฝึกตรึกตรองจองจำเนียร | แม้นแผกเพี้ยนผันผิดพึงคิดระแวง |
จงยลแยบแบบแผนให้แม่นมั่น | ตามที่กลั่นไว้เปนกลอนสุนทรแถลง |
บัญญัติอย่างอ้างกลยุบลแสดง | เพื่อให้แจ้งเจนตระหนักประจักษ์ใจ |
โดยวิธีที่จะเดินประเมินมาก | มีหลากหลากล้วนเล่ห์สุขุมไข |
พึงเพียรพิศคิดคเนคนึงใน | นิยมไว้หวังวางเปนอย่างยล |
กำหนดทีหนีไล่ไว้ประจักษ์ | อย่าชะงักงงง่วงเหงาฉงน |
รุกรบรับอัปราแลตาจน | ควรคิดค้นให้กระจ่างอย่าคลางแคลง |
เรือสองลำกำหนดกฎเกณฑ์นับ | บทบังคับตามพิกัดบัญญัติแถลง |
เพียงคำรบครบแปดแต้มแสดง | อย่าพึงแหนงพ้นนี้ไม่มีจน |
แม้ว่าเรือลำเดียวเกี่ยวกวดขัน | จะไล่นั้นได้เพียงสิบหกหน |
อีกโคนคู่ดูระบอบให้ชอบกล | ยี่สิบสองไม่จนอย่าบุกบัน |
แม้โคนเดียวเดี่ยวโดดโสดพิเศษ | นับสังเกตสี่สิบสี่เป็นที่ขั้น |
อีกสองม้าไล่โลดโดดประชัน | พึงแม่นมั่นนับสามสิบสองผจง |
แม้ม้าเดียวเปลี่ยวปละไม่ละลด | นับกำหนดหกสิบสี่ที่ประสงค์ |
อีกเบี้ยหงายหลายหลากมากน้อยคง | แจ้งจำนงนับเท่าตากระดาน |
แม้หมากไล่ไล่ไม่จนพ้นพิกัด | ตามบัญญัติเกณฑ์นับตำหรับขาน |
เสมือนเสมออย่าไล่ให้ป่วยการ | ยังหลายสถานที่กำหนดในบทบรรพ์ |
อนึ่งหมากหนีมีเบี้ยเขี่ยเขี้ยวขับ | ติดกำกับอยู่กับขุนไม่ห่างหัน |
ข้างหมากไล่ไล่รุกเข้าโรมรัน | สามเบี้ยกั้นสังกัดสังเกตจำ |
หมากไล่สามหนีหนึ่งคำนึงนับ | ตามบังคับหกสิบสี่เปนที่ขำ |
โดยกำหนดบทระเบียบเทียบประจำ | ถ้าเกินกำหนดกล่าวเสมอกัน |
อีกหมากไล่หมากหนีดีทั้งคู่ | มีเรืออยู่คนละลำปล้ำขับขัน |
ข้างหมากไล่ได้เบี้ยช่วยบังกัน | ไขว้ผูกพันธ์เบื้องหลังพอบังสกนธ์ |
หมากรูปนี้มักจะมีอยู่บ่อยบ่อย | จงคิดคอยดูอย่าเฟือนเลือนฉงน |
ทั้งเบี้ยเทียมเทียบถูกผูกจำนน | นิยมยลหกสิบสี่ที่สัญญา |
แม้ไม่จนพ้นคำณวนคำนึงเสมอ | ก็เสมอเหมือนตำหรับตำราว่า |
อย่าเลินเล่อเผลอพล้ำให้พลั้งตา | จงไตรตราตรึกตริดำริห์ตรอง |
อีกชื่อมีขี้ชัดถนัดแน่ | เรียกกลหอกข้างแคร่สำเนาสนอง |
มีเบี้ยเดียวเลี้ยวลดบทละบอง | ยกย้ายย่องแอบขุนจุนประจำ |
พวกหมากไล่ได้ท่าก็ฝ่าแฝง | โคนทะแยงเยื้องย่างสามขุมขำ |
ผูกกระชับกับเบี้ยคลอเคลียคลำ | รวมรุมร่ำรุกรบตลบไป |
ไล่ไม่จนพ้นพิกัดบัญญัติยก | เกินเกณฑ์หกสิบสี่สิ้นสงไสย |
ทั้งสองข้างต่างแต้มไม่ต่ำไกล | ก็ยอมให้สมเสมอเสมือนกัน |
อีกจับม้าอุประการประกอบชอบ | แบบระบอบหมากหนีท่วงทีขัน |
มีม้ามิ่งวิ่งหลบไม่รบรัน | ข้างหนึ่งนั้นสองเบี้ยแซกเซียซุน |
กับโคนหนึ่งขึงท่าโถมสมทบ | ม้าเลี้ยวหลบหลีกแฉลบเข้าแอบขุน |
ต่างคุมท่าหาทางจะรุกรุน | เมียงมุ่งมุ่นมองคมักคเม่นตา |
มีเกณฑ์ย่างอย่างกำหนดหกสิบสี่ | แม้หมากหนีหนีไม่พ้นก็จนท่า |
ตามพิกัดจัดไว้ในตำรา | พึงวิจาระณะจงให้เจนใจ |
อีกกลลูกติดแม่แน่กำหนด | โดยแบบบทเบื้องบรรพ์ธิบายไข |
ข้างหมากหนีมีเรือเฝือแฝงไป | กับเบี้ยหงายวางไว้จังหวะกัน |
ข้างหมากไล่ได้โคนกับเบี้ยหงาย | แลเรือรายรุกเรียงเคียงกระสัน |
ไล่ไม่จนพ้นหกสิบสี่พลัน | เพราะโคนกันขุนกุมคุมเชิงชน |
หณุมานอาสาท่านว่าไว้ | ข้างหมากไล่เรือกับม้าอย่าฉงน |
อีกเบี้ยหงายรายคุมโคนระคน | ม้าผจญโจมบุกเข้ารุกรัน |
ข้างหมากหนีมีเรือคอยรารับ | โคนกำกับเคียงข้างไม่ห่างหัน |
ต่างประชิดติดต่อไม่รอกัน | กำหนดนั้นหกสิบสี่มีอัตรา |
ควายสู้เสือเหลือลำบากพวกหมากหนี | คือโคนมีอยู่กับเบี้ยไม่เสียท่า |
คอยป้องปิดติดแว้งทะแยงตา | เข้ารับหน้ากันรุกทุกกระบวน |
ข้างหมากไล่ได้เรือไว้กับเม็ด | คอยลอดเล็ดล้อมเลี้ยวตลบหวน |
มีเกณฑ์กฎบทบังคับนับจำนวน | ไม่จนถ้วนหกสิบสี่เสมอกัน |
อีกอู่ทองหนีห่าน่าสลด | กำหนดบทหมากไล่ไม่ผิดผัน |
มีโคนหนึ่งเบี้ยสามพองามกัน | เข้าโรมรันโอบอ้อมเที่ยวล้อมราย |
ข้างหมากหนีมีเรือลำเดียวเดี่ยว | เข้าเกี้ยวเกี่ยวรุกกระชั้นเหมาะมั่นหมาย |
ไม่จนแต้มจนตาตามธิบาย | กำหนดหมายหกสิบสี่เสมอตัว |
พรานไล่เนื้อหมากไล่ไม่เข็ดขาม | มีเบี้ยสามม้าเดี่ยวขับเขี้ยวขั้ว |
ข้างหมากหนีเรือหนึ่งจำเพาะตัว | พวกไล่พัวพันสกดสกัดทาง |
ไม่จนจบครบหกสิบสี่ท่า | ก็ต่างรากันเองทั้งสองข้าง |
จงจำจดบทระยะจังหวะวาง | อย่าหลงทางลืมทิ้งทำเลกล |
นกกระจาบทำรังข้างหมากหนี | นั้นเบี้ยมีอยู่กับม้าท่าสับสน |
ข้างหมากไล่ได้เรือเจือระคน | เข้าปะปนเบี้ยหงายรายระดม |
เรือกับม้าท่าทีก็พอสู้ | ตำราครูกล่าวไว้ให้เห็นสม |
หกสิบสี่หนีได้โดยนิยม | เข้าเกลือกกลมแอบเบี้ยไม่เสียที |
ถ้าเบี้ยผูกถูกกันท่านให้ต่อ | เอาเบี้ยล่อรอรับขับให้หนี |
ข้างหมากไล่ก็จะเหลิงในเชิงที | ถึงแต้มมีก็คงหมดกำลังลง |
อีกกลหนึ่งนามคลื่นกระทบฝั่ง | นิยมหวังอย่าแหนงระแวงหลง |
ข้างหมากหนีโคนหนึ่งพึงจำนง | ทะแยงยงเยื้องท่าคอยรารับ |
หมากไล่มีม้าหนึ่งกับเบี้ยสอง | เข้าล้อมป้องหลังโคนโผนขยับ |
ม้าก็รุกคลุกเคล้าเข้าสำทับ | โคนหลบลับแอบขุนคอยคุมที |
ทั้งสองข้างต่างแต้มไม่ตกต่ำ | จบเกณฑ์กำหนดนับหกสิบสี่ |
เปนเขตรขั้นสัญญาอย่างพอดี | ก็ต่างมีส่วนสมเสมอกัน |
หมูหลบหอกกลอกกลิ้งสิ่งสังเกต | ฝ่ายประเภทหมากหนีวิธีสรร |
โคนกับเรือเฝือแฝงช่วยแรงกัน | หมากไล่นั้นเรือคู่จู่ประจำ |
ขนานเรียงเคียงคู่ขนาบล้อม | เข้าโอบอ้อมแอบรุกบุกกระหน่ำ |
ข้างหมากหนีลี้ซุ่มเข้ามุมทำ | ในทีขำโคนเคียงเรียงประนัง |
ถึงจะรุกคลุกขลุมตลุมไล่ | เรือกันไว้มิได้หวั่นถวิลหวัง |
เรือกับโคนสู้กันขันประดัง | ตามบทบังคับไว้ในตำรา |
แม้นครบยกหกสิบสี่มิจนแต้ม | ในกลแกมเกณฑ์นับตำหรับว่า |
ทั้งสองข้างต่างเสมอเหมือนสัญญา | ก็เลิกลาละลดงดกันไป |
ยังอีกหนึ่งพึงพิศพินิจนึก | ตริตรองตรึกดูให้สิ้นที่สงไสย |
มีรูปหมากตั้งให้เห็นเช่นกลไนย | ได้วางไว้หลายอย่างต่างต่างกัน |
กำหนดมีทีไล่ให้จนแต้ม | ประกอบแกมกลกระบวรอย่าหวนหัน |
โดยวิธีมีเกณฑ์เปนสำคัญ | เช่นแบบบัญญัตินามตามจำนง |
สำหรับลองปัญญามาประดิษฐ์ | ให้ผู้คิดคิดเดินโดยประสงค์ |
ยังอีกมากพ้นรำพันจะสรรค์ลง | เชิญท่านจงดูตามแผนนั้นเถิดเอยฯ |
| หน้าต่อไป | บน | |