อร่อยถนนแปลงนาม

           สัปดาห์นี้ผมไม่ได้ออกต่างจังหวัด อาจจะรวมไปถึงสัปดาห์หน้าด้วยแต่ผมจะพาท่านไปเดินแถวๆ เยาวราช ที่ได้ชื่อว่าเป็นถิ่นของกินที่เลอเลิศเดินกัน ๗ วัน ๗ คืน ก็ไล่ชิมได้ไม่ถึงเสี้ยวเพราะร้านอาหารอร่อย ๆ นั้นมีมากเหลือเกินและมากตลอด ๒๔ ชั่วโมงด้วย  จะไปเวลาไหนหากเลือกสถานที่ได้ถูกต้องแล้วก็เป็นหาอาหารอร่อยกินได้ตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง ยิ่งร้านข้าวต้มในถนนแปลงนามนี้มีอยู่๒ ร้าน ไม่เคยปิดประตูร้าน (ไม่มีประตู) มานานนับสิบปีแล้ว คือขายกันตลอดเวลา๒๔ ชั่วโมง เลยทีเดียว ผมตั้งชื่อเรื่องว่าอร่อยแปลนาม คือตั้งตามชื่อถนนแต่ไปเข้าจริงแล้วผมข้ามฟากไปชิมถึงถนนพาดสายด้วยและแต่ละร้านมักจะเป็นแผงลอยจึงไม่มีโทรศัพท์เสียเป็นส่วนใหญ่ หากบางกอกจะให้ใบประกาศรับรองความอร่อยต้องไปไล่แจกเอาดังนั้นคงไม่ต้องรับรองความอร่อยเว้นร้านกาแฟ ที่พอจะมีเบอร์ให้ติดต่อได้แต่ร้านนี้ก็ดังระเบิดมานานแล้ว ขายอยู่ตามศูนย์การค้าแทบจะทุกแห่ง แต่ผมไปไล่หาจนเจอร้านต้นตระกูลจึงเอามาเล่าให้ทราบกันไว้ และต้องออกตัวไว้อีกประการหนึ่ง ๒ ตอนที่เล่ามานี้จะมีเรื่องกินเป็นหลักรูปภาพก็ไม่มีให้ชมสักกี่ภาพ  ไว้ท่านตามไปชมแล้วจะทราบเองว่า ยากลำบากและสนุกเพียงไรในการไปชิมอาหารที่ว่ายอดอร่อยของถนนเยาวราช และเจริญกรุง
           ผมไปจากบ้านที่ลาดพร้าว ซอย ๗๑ ขึ้นทางด่วนไปสามเด้ง จ่ายค่าทางด่วนไปเด้งแรก๓๐ บาท เด้งที่ ๒ อีก ๑๕ บาท เด้งที่ ๓ อีก ๔๐ บาท ก็ไปลงข้างสถานีรถไฟหัวลำโพงตอนรถจอดติดไฟแดงหน้าสถานีรถไฟหัวลำโพง ที่เก่าแก่มานานหลายสิบปีก็รีบถ่ายภาพมาได้๑ ภาพ เพราะเชื่อว่าหลายท่านโดยเฉพาะท่านที่อยู่ต่างจังหวัด และเป็นคนรุ่นใหม่คงได้ยินชื่อสถานีรถไฟหัวลำโพง คงไม่มากนักที่เคยเห็นสถานีรถไฟหัวลำโพง หรือเคยมาขึ้นรถไฟที่สถานีหัวลำโพงผมเลยรีบถ่ายภาพมาได้ ๑ ภาพ และไม่ทราบว่าอีกเมื่อไรทางการรถไฟร่วมกับ กทม.และภาครัฐบาลจึงจะคิดอ่านแก้ไขให้ รางรถไฟไม่ตัดกับถนน ซึ่งจากหัวลำโพงไปยันดอนเมืองจะมีถนนหลายสายที่รางรถไฟจะตัดกับถนนผลคือ  ทำให้รถติดเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมเพราะรถไฟนั้นวิ่งเข้า-วิ่งออก จากสถานีหัวลำโพงวันละหลายสิบเที่ยว และยังมีรถสินค้าอีกต่างหากที่จะวิ่งกันตลอดคืนเลยทีเดียว รถไฟมาทีหนึ่งก็ต้องปิดถนน รถก็ติดกันยาว คิดอะไรคิดได้ทำไมไม่คิดทำอุโมงค์ให้รถไฟหรือรถยนต์ลอดดูบ้าง เห็นถนนพัฒนาการยังมีอุโมงค์ให้ใช้ในการกลับรถได้ นับว่าทันสมัยมากแต่มีเพียงอุโมงค์เดียว ไม่ต้องคิดทำอุโมงค์ให้รถไฟลอดใต้ถนนหรือให้รถยนต์ลอดใต้รางรถไฟดูบ้างหรือ
           เมื่อผ่านหัวลำโพงแล้ว ก็ข้ามสะพานข้ามคลอง ตรงมาออกโอเดียนโรงภาพยนต์เก่าแก่ที่ตอนสมัยสงคราม โรงภาพยนต์นี้จะฉายภาพยนต์ญี่ปุ่นเป็นหลักและก่อนภาพยนต์จะฉายจะมีการแสดงบนเวทีคือ จำอวดให้คนหัวเราะกันเสียก่อน ซึ่งก็คงเป็นต้นตระกูลของตลกในปัจจุบันพอถึงหน้าโอเดี้ยนก็วนขวาเข้าถนนเยาวราชรถจะวิ่งทางเดียว ที่จอดรถในถนนเยาวราชนั้นหายากอย่างยิ่ง และถึงจะมีราคาค่าจอดนับว่าแพงคือชั่วโมงละ ๔๐ บาท เห็นมีถูกอยู่แห่งเดียวคือ ที่วัดญวน ถนนแปลงนาม  นี่แหละคือชั่วโมงละ๒๐ บาท แต่จะต้องโดนสับโขกหลายประการเดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟัง เมื่อเลี้ยวขวาเข้าถนนเยาวราชที่รถเดินทางเดียวไปแล้วก็จะเริ่มผ่านแยกต่าง ๆ
          สามแยก ซึ่งหากมาจากหัวลำโพง เมื่อข้ามสะพานแล้วหากหักเลี้ยวขวานิดเดียวจะไม่มาโอเดี้ยนจะตรงไปจนห้ามเข้า ต้องถูกบังคับให้เลี้ยวซ้ายเข้าถนนลำพูนไชยจะวิ่งผ่านสี่แยกไปออกถนนเยาวราช ขับรถแถวนี้ต้องตั้งสติให้ดี ๆ อย่ามัวแต่คุยกันมือเอียงนิดเดียวจะเลี้ยวไปอีกทางแล้ว จะกลับรถมาใหม่นั้นยากมาก เพราะรถจะถูกบังคับให้วิ่งทางเดียวเกือบทุกเส้นทางเช่น เยาวราช วิ่งไปสู่พาหุรัตน์ส่วนเจริญกรุงวิ่งขนานกลับมาจากสามยอดมาจนถึงสามแยก แล้วหากมือหักพวงมาลัยซ้ายนิดเดียว จะไปโผล่เอาวงเวียน๒๒ กรกฎาคม ต้องวนหาทางวิ่งไปตั้งต้นที่หัวลำโพงกันใหม่อีก
           ผ่านสามแยกแล้ว จะมาผ่านทางแยกเข้าถนนทรงสวัสดิ์มาผ่านแยกเข้าถนนผดุงด้าวต่อจากนั้นจะมาถึงแยกเข้าถนนแปลงนามให้เลี้ยวขวาเข้าไป พอเข้าไปสัก ๒๐ เมตร จะถึงวัดญวนมองดูจากถนนจะเห็นเป็นเหมือนประตูไม่มีลักษณะของวัดแบบวัดไทย เงยหน้าจึงจะเห็นป้ายวัด เลี้ยวเข้าวัดตรงประตูที่กว้างพอแค่รถเข้าได้นี้เข้าไปหากที่จอดรถเต็มเขาก็จะกั้นเอาไว้ เข้าไปแล้วอาจจะพบเจ้าหน้าที่ที่กิริยามารยาทไม่เอาไหนเพราะมีคนเดียวถือสมุดหนึ่งเล่ม คอยจดเวลาจอดรถเข้า - ออก และเก็บสตางค์ค่าจอดคือทำหน้าที่ทุกหน้าที่ที่จะมีให้ทำ ส่วนเรื่องโบกรถนั้นยากที่แกจะทำให้ ใส่เสื้อที่มีอักษรภาษาอังกฤษว่า(INFANTRY) ที่แปลว่าทหารราบ  ส่วนข้างหน้าบอกสังกัดว่าเป็นทหารราบหน่วยไหนแต่ดูหน้าแล้วออกจะแก่เกินทหารเกณฑ์ไปสักหน่อย อาจจะเคยเป็นทหารเรือไปขอเสื้อทหารประจำการมาใส่จะได้เบ่งได้ ส่วนกางเกงนั้นเป็นกางเกงทหารแท้คือ ผ้าลายพราง รถผมเข้าไปเก้ ๆ กัง ๆ จึงโดนไล่ให้ไปยังที่ที่แกจะชี้ให้จอด ซึ่งดูแล้วมีช่องให้เข้านิดเดียวแต่ต้องพยายามไปตามคำสั่งของทหารเกณฑ์ เรียกว่า นายพลต้องฟังคำสั่งพลทหารยิ่งตอนกลับโดนอีก ผมยังปิดกระจกรถอยู่ ให้เลขา ฯ ออกไปช่วยดูข้างนอก แกมาบ่นกับเลขาตลอดกาลของผมว่าปิดกระจกแบบนี้พูดกันไม่รู้เรื่อง พูดจบแล้วก็เดินไปเสีย ปล่อยให้ผมใช้ความพยายามเอารถออกจากซองจนสำเร็จ แต่ข้อดีก็มีเหมือนกันคือ คิดราคาค่าจอดให้ผมไม่ถึง ๓ ชั่วโมง ทั้ง ๆ ที่ผมจอดรถทิ้งไว้ร่วม๓ ชั่วโมง อาจะจะเกิดความสงสารผู้สูงอายุก็เป็นได้ ไปเที่ยวเยาวราช เจริญกรุงผมว่าไปแท็กซี่จะสะดวกที่สุด หรือไม่งั้นก็เอารถไปจอดเสียที่หัวลำโพง ยอมเสียค่าจอดที่ไม่แพงนักแล้วนั่งตุ๊กๆ ไปลงยังที่หมายน่าจะสะดวกกว่า เมื่อก่อนผมก็ไปวิธีนี้แต่เอารถไปจดไว้ที่บ้านมารดาของเลขาฯ ซึ่งอยู่แถว ๆ ถนนมหานคร แล้วนั่งตุ๊ก ๆ ไป แต่ตอนนี้เห็นว่ารู้จักที่จอดรถที่ราคาไม่แพงนักก็เลยเอารถไปจอดที่วัดญวน แต่ไปเจอเอาพนักงานที่แกเหนื่อยมากเข้าเลยดุไปทั่วเห็นไล่ดุคนโน้น ตวาดคนนี้ ดูมีอำนาจเอากับคนที่ไม่มีทางจะไปจอดรถที่ไหน
           ที่นี้รายการชวนชิมและเดินเที่ยว เยาวราช และเจริญกรุง นั้นยิ่งวันหยุดคนยิ่งเดินกันแน่นไม่ว่าไทย จีน ฝรั่ง ญี่ปุ่น นานาชาติว่างั้นเถอะ เดินกันจนล้นลงมาเดินที่ถนนเพราะบนฟุตบาธก็จะเต็มไปด้วยของวางขายกันเต็มไปหมด ร้านอาหารชนิดตั้งโต๊ะเล็กๆ บนฟุตปาธก็มีไม่ทราบว่าใครอนุญาต แต่มีตั้งขายกันทั่วไป ที่มากอีกรายการก็ต้องระวังแขนด้วยคือกะทะคั่วเกาลัด ซึ่งกะทะจะร้อนใส่ทรายคั่วเกาลัด ประกาศไว้ว่าเกาลัดจากจีนจากไต้หวัน บางเจ้าบอกว่าจากญี่ปุ่นก็มี ขายกิโลกรัมละ ๒๐๐ บาทขึ้นไป และการคั่วก็พัฒนาก้าวไกลไปแล้วคือ คนขายไม่ต้องคั่วเอง ยืนดูเฉย ๆ เขาใช้มอเตอร์ไปหมุนใบพายคั่วดูจะดูกว่ามือคนคั่วด้วยซ้ำไปเดินริมถนนบนฟุตบาธเยาวราชต้องระวังความร้อนของ ขอบกะทะคั่วเกาลัดให้ดี ๆ
           ออกจากวัดญวน หรือวัดมงคลสมาคมซึ่งเป็นสถานที่จอดรถทิ้งเอาไว้ เริ่มชิมกันได้เลย
           ขนมจีบหน้าวัดญวน  อร่อยมาก นึ่งกันร้อน ๆ ตรงปากทางเข้า - ออก ประตูวัดนั่นแหละขายลูกละ ๒ บาท ซื้อกลับมาชิมตอนกลับบ้านน่าจะดีที่สุด เพราะยังมีอาหารที่ควรชิมมากมายหลายเจ้าในย่านถนนแปลงนามที่ยาวสัก ๑๐๐ เมตร นี้ และหมุนเวียนขายกันตั้งแต่เช้าไปตลอดรุ่งเลยทีเดียวกลางคืนผมยังไม่เคยไปชิม ไปแต่กลางวัน เห็นแต่โต๊ะ เก้าอี้ที่วางซ้อนเอาไว้ริมทางแสดงว่าจะขายในเวลาเย็น
           พอพ้นประตูวัดมา ฝั่งตรงกันข้าม "ข้าวต้ม"  ร้านขนาดห้องเดียว ร้านแบบโบราณคือ มีโต๊ะนั่งเป็นหินอ่อน เก้าอี้ไม้ มีโต๊ะอยู่ไม่กี่ตัว ขายตั้งแต่เวลา๑๐.๐๐ - ๒๑.๐๐ จะมีคนไปนั่งกินกันตลอดเวลา แต่จะไม่แน่นขั้นเล่นเก้าอี้ดนตรีชวนชิมคือ ข้าต้มกระเพาะหมู และข้าวต้มเป็ด จะให้เด็ดสั่งพิเศษ เป็ด + กระเพาะหมู
           พ้นประตูวัดมาเลี้ยวซ้าย มีร้านขายยา ต่อจากนั้นเป็นร้านขนาด ๒ ห้อง ไม่มีชื่อร้านมีตู้ใส่อาหารอยู่ ๓ ตู้ ตู้แรกเป็นข้าวมันไก่  ตู้ต่อไปเป็นก๋วยจั๊บ ต่อไปเป็นเต้าหู้ทอด และข้าวต้มเครื่อง ซึ่งมีทั้งข้าวต้มปลากะพง "ปลาจารเม็ด" ข้าวต้มกุ้ง เลยต่อไปอีกนิดทางฝั่งขวา มีขนมเปี๊ยะ อิ้อเล่งฮง ร้านใหญ่น่ากินไปทั้งร้านเยื้องขนมเปี๊ยะ พอบ่าย ๑๔.๐๐ - ๑๙.๐๐  จะมีรถเข็นขายพระรามลงสรง หยุดวันพุธ
           เดินต่อไปตามถนนแปลงนาม จวนจะออกถนนเจริญกรุงซึ่งหากออกไปรถจะต้องเลี้ยวขวาเท่านั้น และไม่ทราบว่าเลี้ยวขวาผ่านตลอดหรือเปล่าเพราะมีไฟแดงอยู่ที่หัวมุมซ้าย ผมจอดรอไฟเขียว ปรากฎว่าคันหลังเขาก็มรรยาทดีเดินมาเคาะกระจกบอกว่าให้ไปได้ไปก็ไป แต่ไม่กล้าไปแต่แรกเพราะหากเลี้ยวขวาผ่านตลอด ทำไมต้องมีไฟแดงด้วยน่าจะมีเครื่องหมายแค่ห้ามเลี้ยวซ้ายก็พอ
           ก่อนถึงทางบรรจบกับถนนเจริญกรุงสัก ๑๐ เมตร ทั้งซ้ายและขวา มีร้านข้าวต้มกุ้ยร้านทางซ้ายนั้นมีป้ายชวนชิม แต่หลายปีมาแล้วผมเคยเขียนชวนชิมไว้ทั้ง ๒ ร้านในไทยรัฐ ผมถือว่าความอร่อยพอ ๆ กัน ทั้งสองร้านเปิด ๒๔ ชั่วโมง ตลอดปี ตลอดชาติไม่เคยปิดร้านและไม่มีประตูร้าน ร้านขนาดห้องเดียวเหมือนกันอยู่ในซอกตึก แต่แผงหน้าร้านนั้นวางอาหารเต็มไปหมดมากกว่า๔๐ อย่าง ที่ผมชอบมากและเห็นมีเหมือน ๆ กันทั้งสองร้านคือ "ฉลามผัดเผ็ด" ไปชิมทีไรต้องสั่งฉลามผัดฉ่าวิธีสั่งอาหารก็คือ ไปชี้เอา ให้เขาตักมาให้ ขาไก่น้ำแดง ซี่โครงหมูอบ ปลาทอดฯลฯ สารพัดอาหารก็แล้วกัน จึงขอแนะว่า ข้าต้ม ๒ ร้านที่อยู่ตรงกันคนละฟากของถนนแปลงนามนี้ความอร่อยทัดเทียมกัน ไม่งั้นมาตั้งขายอยู่ตรงกันข้ามไม่ได้ แต่แปลกที่ว่าร้านทางขวามีผมชิมอยู่คนเดียวทางซ้ายมีป้ายชวนชิมยกไว้ ๒ - ๓ รายแล้ว แต่ร้านทางขวาก็ไม่เดือดร้อนอะไรเห็นคนเข้าร้านตลอดเวลา ผมจะถ่ายรูปก็เลยต้องเดินข้ามไปถ่ายจากฝั่งตรงกันข้ามได้ภาพมาเท่าที่ลงไว้นี้ และทั้ง ๒ ร้าน เหมาะที่จะซื้อใส่ถุงกลับบ้านมากกว่านั่งชิม
           เอี๊ยะแซ  ร้านนี้เป็นร้านกาแฟโบราณอย่างแท้จริง จัดร้านก็คงยังความโบราณอยู่เอากันแค่รูปภาพวาดถนนเยาวราช ๓ รูป ที่ติดไว้ก็หาชมยากแล้ว ผมถ่ายรูปภาพวาดนี้มาด้วยไม่ทราบว่าจะได้ดีแค่ไหน และไม่มีโอกาสไปจัดถ่ายให้สวย ๆ เพราะคนนั่งกันเต็มร้านและนั่งกันแบบคอกาแฟที่ผมเคยเห็นตั้งแต่ผมยังเด็กอยู่คือไม่น้อยกว่า ๖๐ ปีมาแล้วนั่งกินกาแฟอย่างไรจึงนั่งในท่ากินกาแฟของคนรุ่นเก่า เพราะสมัยก่อนต้อง
สัก๖๐ ปีมาแล้ว ยังมีร้านกาแฟโบราณจริง ๆ ไม่ใช่คอฟฟี่ช๊อสขายกาแฟแก้วละครึ่งร้อยต้องเป็นกาแฟที่ชงด้วยถุงที่เรียกว่ากาแฟนมยายคือถุงผ้ายานเมื่อใส่ผงกาแฟกาแฟที่ชงทางร้านต้องคั่วเอง คั่วกันข้าง ๆ ร้าน คั่วแล้วก็เอามาบดกันเองจะอร่อยหรือไม่ก็ต้องเริ่มกันตั้งแต่คั่วกาแฟนั่นแหละ โต๊ะต้องหินอ่อน เก้าอี้ไม้คนกินกาแฟจะหมุนเวียนกันมาตั้งแต่เช้า มีกินกันทั้งวัน ยิ่งตอนเช้ายิ่งแน่นที่เรียกว่า สภากาแฟ คอกาแฟจะมานั่งจิบกาแฟ ไม่ใช่ดื่มโฮกเดียวหมดแก้ว ค่อยๆ จิบกาแฟแล้วคุยกัน หรือถือโอกาสอ่านหนังสือพิมพ์ที่ทางร้านวางไว้ให้ ถ้ามาคนเดียวอาจจะนั่งจิบกาแฟฟังเขาคุยหรือพลอยคุยประสมโรงไปด้วย ไม่ว่ากัน คุยกันเสียงดัง เปิดเสรีในการคุย หรือนั่งจิบกาแฟสูบบุหรี่ นั่งคนเดียวเงียบ ๆ สายตาดูรถในถนนวิ่ง ส่วนบุหรี่นั้นหาคนซื้อทั้งซองหายากเขาจะซื้อกันทีละมวน แล้วมีธูปจุดปักเอาไว้ให้จุดบุหรี่ นี่คือภาพของร้านกาแฟเมื่อสัก๖๐ ปีมาแล้ว หากใครรีบไปทำงานก็ต้องออกมาเช้าหน่อย จิบกาแฟแล้วไปทำงาน ส่วนพวกทำงานส่วนตัวก็นั่งรากงอกนานได้และร้านกาแฟพวกนี้บางทีจะมีเหล้าโรง หรือสุราขาวขายด้วย ไม่ได้ขายทั้งขวดขายกันแค่ก๊งเดียว คนกินก็จะมานั่งจิบสุราขาว แล้วอาจจะตามด้วยกาแฟ ภาพที่ผมคุ้นเคยตามาเมื่อตอนยังเป็นเด็กคือร้านกาแฟปากตรอกสารพัดช่างบางขุนพรหม ซึ่งผมเกิดในซอยนี้ และได้กลับมาอยู่อีกทีตอนโตแล้วเพื่อเรียนหนังสือภาพร้าน "เจ็ก คุ่ย" ปากตรอกสารพัดช่างยังติดตาอยู่ วันนี้ได้มาเห็นภาพในร้านกาแฟเอี๊ยะแซ เขาทำให้นึกถึงความหลัง แม้จะไม่เหมือนกันทีเดียว แต่ก็เป็นภาพของร้านกาแฟที่หาดูไม่ได้แล้วไม่ว่าที่ไหนด้วยเห็นมีแต่คอฟฟี่ช๊อพ หรือร้านประเภทโซห่วยขายสารพัดอย่างอาจจะรวมไปถึงกาแฟแต่ก็จะไม่มีภาพของคอกาแฟมานั่งจิบกาแฟเหมือนที่ร้านเอี๊ยะแซ ร้านนี้ขายภาพคือตาแป๊ะแก่ๆ หรืออาเฮีย อาซิ้ม เป็นคนชงกาแฟ กลายเป็นสาวไทยแท้ น่าจะเป็นสาวอีสานด้วยซ้ำไปทั้งสาวเสริฟหรือคนชง คนปิ้งขนมปัง แต่รสกาแฟและขนมปังทาเนยที่ปิ้งออกมานั้นไม่ผิดรถของกาแฟโบราณไปเลยและที่ผิดไปอีกอย่างคือโต๊ะ ไม่ใช่โต๊ะหินอ่อนแล้ว เป็นโต๊ะไม้กลม ๆ เล็กๆ พอนั่งสบาย ๒ คน หรือจะเบียดกันก็ได้สัก ๔ คน ทั้งร้านมีโต๊ะคงจะไม่ต่ำกว่า๒๐ ตัว ผมไปดื่มกาแฟวันนี้บ่ายแล้วแต่คนยังเต็มทุกโต๊ะ ถึงขั้นต้องรอคิว
           ผมแนะนำถนนแปลงนามไปแล้ว ว่าอยู่ถนนเยาวราชทะลุไปออกถนนเจริญกรุง แต่ถนนสายนี้ต้องเข้าทางถนนเยาวราชเท่านั้นเข้าไปแล้วก็ไปจอดรถในวัดญวนหรือจะจอดในถนนผดุงด้าวที่ถึงก่อนแปลงนามถนนผดุงด้าววิ่งเข้าไปได้ พออีกถนนมิตรสัมพันธ์รถข้าไม่ได้ออกได้ ต้องเข้าทางเจริญกรุงมาอีกถนนคือแปลงนาม ถนนผดุงด้าวรื้อโรงหนังเท็กซัสเมื่อก่อนชอบฉายหนังอินเดียกลายเป็นที่จอดรถ ชั่วโมงละ ๔๐ บาท ได้เงินดีกว่าฉายหนังด้วยซ้ำไป
           เยื้องถนนแปลงนาม ฝั่งตรงข้ามกันมีถนนให้เลี้ยวเข้าไปคือ ถนนเยาวพานิชโดยจะเลี้ยวซ้ายไปจากถนนเยาวราช(เลี้ยวตรงฝั่งตรงข้ามกับถนนแปลงนาม) เลี้ยวเข้าไปแล้วทางขวาจะเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ให้เลี้ยวซ้ายอีกที เส้นนี้แหละเรียกว่า ถนนพาดสายตอนเลี้ยวเข้ามาก็จะมีภัตตาคารอาหารจีนอร่อยถึง ๒ ร้าน ซึ่งยังอยู่ในถนนเยาวพานิชและยังมีร้านอาหารจีนอร่อยอีกร้าน ให้เลี้ยวซ้ายตรงนี้จะผ่านแผงขายข้าวแกงกะหรี่จีนไม่ขายวันอาทิตย์ และออกขาย ๐๖.๐๐ - ๑๕.๐๐ เลยแผงไปจะเป็นร้าน ไก่ดำตุ๋นยาจีนร้านนี้หยุดวันอาทิตย์ เป็นร้านห้องเดียว เลยไปหรือเยื้องกันคือ "เอี๊ยะแซ"ซึ่งร้านนี้ตั้งมานานกว่า ๖๐ ปีแล้ว และคนกินคงไปกินกันตามศูนย์การค้ามากกว่าที่จะดั้นด้นมาหาบรรยากาศเก่าแก่ที่ร้านต้นตระกูล
           มีกาแฟร้อน กาแฟเย็น ซดร้อน ๆ หรือดูดเย็น ๆ ชื่นใจเหลือประมาณ มีชาร้อน ชาเย็นผมไปผมจะดื่มรวดเดียว ๓ แก้ว เพื่อให้คุ้มค่ากับการที่นาน ๆ จะได้ไปสักทีคือเริ่มด้วยกาแฟร้อนหอมกรุ่น ลงมาที่กาแฟเย็นเข็มข้น หอมมัน และจะปิดท้ายด้วยชาเย็น
           ยังมีที่แปลกอีกคือ หน่อเค่ายั๊วะ และหน่อเค่าเย็น คือกาแฟผสมชา กลัวสั่งไม่ถูกไห้ดูจากเมนูข้างฝา
           ยังมีอีก "เฮ่งยิ่ง" คือน้ำแอลมอนด์
           ที่ขาดไม่ได้คือ "ขนมปังทาเนย" พัฒนาขึ้นมาเพียงปิ้งกับเตาไฟ แต่ปิ้งแล้วการทาเนยและรสของขนมปังปิ้ง ทาเนยโรยน้ำตาลทรายคือแบบโบราณที่ผมกินร้านเจ็กคุ่ยปากตรอกสารพัดช่างนั่นแหละ และยังมีขนมปังปิ้ง - นึ่ง ทาเนย จิ้มสังขยา จิ้มแยมจิ้มนม ชอคโกแลท พริกเผา แต่ที่ยกนิ้วให้สุด ๆ หรือยกกันที้งมือคือ กาแฟร้อน- ขนมปังปิ้งทาเนย

....................................................

| บน |