บ่อปลา นาข้าว

            ผมตั้งชื่อเรื่องวันนี้ออกจะชื่อพิลก ๆ อยู่ แต่เชื่อว่าท่านผู้อ่านส่วนใหญ่คงจะไม่เคยเห็น การทำนาในบ่อเลี้ยงปลา  ผมเองก็พึ่งไปเคยเห็นเมื่อไปพุทธสถาน จี เต็ก ลิ้ม ที่เคยเล่าให้ท่านผู้อ่านทราบมาแล้ว ความตั้งใจที่ไปนครนายกในวันนี้ เพื่อไปงานวันส้มโอ ที่จัดขึ้นที่วัดพราหมณี และที่วัดนี้มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คือ หลวงพ่อปากแดง พระประธานในอุโบสถ แต่มีผู้ชักชวนให้ไปชมการทำนา ในบ่อเลี้ยงปลาด้วย ผมเห็นว่าไปจังหวัดเดียวกัน และไปในเส้นทางที่ไปยังพุทธสถาน จี เต็ก ลิ้ม ซึ่งผมไปบ่อย ๆ อยู่แล้ว ไป จี เต็ก ลิ้ม หรือไปดูการทำนาในบ่อเลี้ยงปลา ไปจากกรุงเทพ ฯ ก็ไปตามถนนเลียบคลองรังสิต ผ่านตลาดต้นไม้ที่ริมคลอง ๑๕ ซึ่งผมว่าเป็นตลาดต้นไม้ที่ใหญ่โตที่สุด เพราะยาวไปตามริมคลองหลายกิโลเมตร  และขายดอกไม้ ไม้ประดับในราคาถูกไม่ว่าจะซื้อจำนวนมาก หรือซื้อไปปลูกที่บ้าน ผมจึงชอบแนะนำคนรักต้นไม้ ให้ทราบแหล่งขายต้นไม้ที่ใหญ่โร มโหฬารแห่งนี้ไว้บ่อย ๆ นอกจากไปเที่ยวชมริมทางแล้ว ยังได้ไปซื้อต้นไม้ในราคาย่อมเยาอีกด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้ผลต้องไปปราจีนบุรี หรือไปทางกลางดง จึงจะมีมาก
            เลียบคลองผ่านคลอง ๑๕ ผ่าน อ.องค์รักษ์ เลียบริมคลองต่อไป ผ่านแยกซ้ายไป รร.นายร้อย จปร. ได้ข้ามสะพานมัฆวานจำลอง ที่สมัยผมเป็นนักเรียนนายร้อยต้องเดินข้ามจากโรงนอน ทางตรงข้ามสนามมวยราชดำเนิน ไปเรียนทางกองการศึกษา ตรงข้ามกระทรวงศึกษาธิการทุกวัน แถมบางวันหากมีชั่วโมงเรียนพลศึกษา พอประมาณสิบโมงเช้า ต้องเดินแถวกลับมาฝึกพลศึกษา ที่ทางหน้าสนามมวยอีก ฝึกจบเลิกใกล้เที่ยงก็เดินแถวกลับไปกินข้าวทางฝั่งกองการศึกษา ถ้าพวกนักกีฬาอย่างผมเป็นต้องแถมด้วยการออกวิ่งตอนเช้า ตั้งแต่เวลา ๐๔.๓๐
            เลยสะพานมัฆวานจำลองไปแล้ว ก็จะถึงสี่แยก "สามสาว" หากเลี้ยวซ้ายก็จะเข้าเมือง จะผ่านตลาดผลไม้เมืองนครนายก ที่ตั้งแผงขายยาวเหยียดเกินร้อยเมตร และมีขายทั้งปีไม่ว่าจะมีงานวันมะปราง หรือวันส้มโอ หรือไม่ จากสี่แยกสามสาวหากตรงต่อไป ทาง อ.บ้านสร้าง จะผ่านทางแยกขวาไปโบราณสถานบ้านดงละคร ที่มีอายุเก่าแก่ร่วมพันปี เป็นเมืองโบราณร่วมสมัยกับเมืองศรีมโหสถ ที่ปราจีนบุรี ระหว่างทางจะพบป้ายบอกว่า ไปพุทธสถาน จี เต็ก ลิ้ม บางป้ายบอกว่าไป พุทธวิหาร (คนละแห่งกัน)  เลียบคลองชลประทาน ไปประมาณ ๒๓ กม. จนถึงถนนหักข้อศอก เลี้ยวซ้าย (ตรงหัวมุมทางขวา มีร้านชาวบ้าน อาหารตามสั่ง ผัดตับหมู ใบกระเพราอร่อยเยี่ยม)  ถ้าเลี้ยวซ้ายไปบ้านสร้าง ให้ตรงไปตามถนนแคบ ๆ ประมาณ ๒ กม. เลี้ยวขวาข้ามสะพานตรงไปจะไปยังพุทธสถาน จี เต็ก ลิ้ม แต่หากลงสะพานแล้วเลี้ยวขวาทันที จะเห็น สระน้ำขนาดใหญ่ เนื้อที่ประมาณ ๕๐ ไร่ อยู่ทางซ้ายมือคือ บ่อเลี้ยงปลานิล ปลาตะเพียน เป็นส่วนใหญ่ ส่วนปลาที่ไม่ต้องเลี้ยงและมาเองคือ ปลาช่อน และปลาบู่ บางทีก็มีกุ้งมาด้วย บ่อปลาเหล่านี้ พื้นที่เดิมคือ ที่นา เมื่อให้เช่าหรือเจ้าของที่นาเลี้ยงปลาเอง ก็จะขุดหน้าดินทำคันขึ้นมา จนบ่อมีความลึกประมาณ ๒.๕ เมตร แล้วคอยสูบน้ำเข้าออก ซื้อลูกปลามาปล่อยลงไปให้อาหารปลา และขี้ไก่ (ไปซื้อจากฟาร์มไก่) ปล่อยลงไปเป็นอาหาร ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ ๘ - ๑๐ เดือน ก็จะจับปลาขึ้นมา แล้วนำไปขายที่ตลาดกลางปลา ที่ อ.เมืองอ่างทอง ปลา ๑๐ - ๒๐ ตัน เขาขายกันไม่กี่ชั่วโมง เพราะจะมีแม่ค้าทั้งในตัวเมืองอ่างทองเอง และจากทุกภาค มารับซื้อไปในราคาขายส่ง ปลาที่จับได้ และราคาดี โดยไม่ต้องนำมาปล่อยในบ่อคือ ปลาช่อน และปลาบู่ ที่ไม่รู้มาจากไหน มาอยู่คอยกินลูกปลาเป็นอาหาร เมื่อจับปลาขึ้นจากบ่อแล้ว ก็ตากบ่อไว้สัก ๒ - ๓ เดือน ก็สูบน้ำเข้าปล่อยลูกปลา ให้อาหารเลี้ยงกันในวงรอบต่อไป ผมมาได้ความรู้จากเจ้าของบ่อปลา นาข้าวที่เลี้ยงปลา ๕ บ่อ ในพื้นที่ ๒๕๐ ไร่ เป็นสาวอายุสักสามสิบเศษ แต่จบจากมหาวิทยาลัยศรีปทุม วิชาส่งเสริมการตลาด มาเลี้ยงปลา

บอกว่าทีแรกเลี้ยงแต่ปลา เห็นบ่อว่างตอนตากบ่อปลา ก้นบ่อมีโคลนมาก เป็นอาหารของต้นไม้คือ ปุ๋ยอย่างดี จึงเอาพันธุ์ข้าวหว่าน ทำนาหว่าน เมื่อหว่านข้าวแล้ว ข้าวขึ้นโตแล้วแทบจะไม่ต้องให้ปุ๋ย เพราะมูลปลาที่ถ่ายทับถมคือ อาหารอย่างดีของต้นข้าว ประมาณ ๓ เดือน ก็เก็บเกี่ยวข้าวได้ จากนั้น ก็ปล่อยน้ำ ปล่อยปลาเลี้ยงต่อไป จับปลาเมื่อไรก็ปลูกข้าวสลับกันไปเช่นนี้ และโอกาสนาแล้ง จะไม่เกิด เพราะควบคุมน้ำด้วย ระบบเดียวกับการเลี้ยงปลา น้ำมากไปก็สูบออก น้ำน้อยไม่พอเลี้ยงข้าวก็สูบน้ำเข้ามา เพราะต้องมีคลองชลประทานใกล้บ่อเลี้ยงปลาด้วย จึงจะได้ผลในการควบคุมน้ำ และไม่ได้ทำนาพร้อมกันทั้ง ๕ บ่อ หมุนเวียนกันทำนาไปประมาณ ๓ บ่อ น้ำก็จะมีพื้นที่ถ่ายเท หมุนเวียนระบายน้ำ หรือสูบน้ำเข้ามาได้ตลอดปี รายได้จากการทำนา ไม่ใช่น้อย (มาคิดทำเมื่อตอนข้าวแพง)  เฉลี่ยแล้วนาในบ่อ ๑ ไร่ ได้ผลผลิตประมาณ ๐.๘ ตัน ข้าวตอนนี้ราคาตันละกว่าหมื่น รายได้แต่ละปีไม่ใช่น้อย แต่ต้องหักค่าน้ำมันสูบน้ำ ค่าพันธุ์ข้าว ค่าแรงงานปลูกและเก็บเกี่ยว ค่าปุ๋ยที่ต้องให้เพิ่ม แต่ก็ยังได้มากอยู่ดี และเขาจะกันที่นาเอาไว้ประมาณ ๑๐ ไร่ ปลูกข้าว แต่ไม่เก็บเกี่ยว เพราะพื้นที่กันเอาไว้นี้ จะปล่อยลูกปลาลงไป ให้น้ำเกือบท่วมยอดข้าว ให้ปลากินต้อนข้าว พอเกี่ยวข้าวในบ่อใหญ่ ก็ถ่ายเทปลา กลับไปปล่อยในบ่อใหญ่ ส่วนข้าวในนาผืนน้อยนี้ จะไม่ได้ผล ปลากินหมด ขอขอบคุณเจ้าของบ่อปลา นาข้าว ที่ไม่ปิดบังความรู้บอกว่าใครเอาไปทำก็ได้ ไม่กลัวถูกแย่งตลาด ทั้งปลา ทั้งข้าว ไม่พอขาย
            กลับจากดูบอ่ปลา นาข้าว ก็แวะไปไหว้พระในพุทธสถาน จี เต็ก ลิ้ม แล้วกลับมาเข้าเมือง พอมาถึงสี่แยกสามสาว ก็เลี้ยวขวา ผ่านตลาดผลไม้ทางขวามือ ยาวกว่าร้อยเมตร ตรงต่อไปผ่านสี่แยก (เลี้ยวซ้ายไปหินกอง เลี้ยวขวา มาตลาดสด)  ตรงต่อไปอีกจะผ่านร้านอาหารอร่อย ๒ ร้าน ทางซ้ายมือ ร้านแรกคือ ร้านก๋วยเตี๋ยวเป็ดตุ๋น และมีอาหารหลายอย่าง เลยร้านเป็ดตุ๋น ไปสัก ๓๐๐ เมตร ฝั่งเดียวกัน  ร้านนี้ขายข้าวแกงอร่อย เป็นร้านขนาดห้องเดียว เลยสามแยกตรงไปทางน้ำตกสาลิกา ตรงข้าม กม. ๑ คือ ร้านเคยพามาชิมแล้ว วันนี้ชิมซ้ำ หรือไปร้านข้าวแกง หากวิ่งเลยต่อไปจนถึง กม.๔.๒๐๐ ทางฝั่งขวาคือ ทางวัดพราหมณี ตอนวันแม่กำลังมีงานวันส้มโอ ผมจะพาไปวัดพราหมณีเสียก่อน เลี้ยวขวาเข้าไปนิดเดียว ก็จะถึงวัด ตอนมีงานจะมีของกินขายมากมาย รวมทั้งสินค้าโอท๊อป ของนครนายกด้วย ส้มโอนั้นมีมากอยู่ ๓ พันธุ์ คือ พันธุ์ขาวน้ำผึ้ง พันธุ์ทองดี และพันธุ์ทับทิม  ส่วนพัธุ์ขาวแตงกวา ส้มโอดังของชัยนาท ไม่มี ส่วนของกินในงานนี้คงมีมากมายหลายร้อยเจ้า  มอง ๆ ดูแล้ว อร่อยไปหมด เช่นที่ซื้อมามี ข้าวเม่าคลุก ตำข้าวเม่ากันสด ๆ ตรงที่ขายเลย ได้ข้าวเม่าหอมกรุ่น นุ่ม เหนียว น่ากินจริงๆ เสียดายหากมีโอกาสกินกันตรงที่ร้านที่ขาย คงอร่อยกว่าซื้อกลับมาบ้าน ทอดมันปลากราย เหนียวหนึบ เคี้ยวหนุบหนับ ห่อหมกปลาใช้ปิ้งหรือเผา ไม่ได้ใช้นึ่ง เกิดกลิ่นของใบตองที่ถูกไฟรม หอมน่ากินขึ้นอีกแยะ ขนซื้อส้มโอมาหรือว่าแบกมา กินกันอีกเดือนก็คงไม่หมด ได้ซื้อใจเป็นสุข ซื้อมาแจกลูกหลาน ยิ่งสุขหนักเข้าไปอีก ส้มโอขาวน้ำผึ้ง สี่ลูกหนึ่งร้อยบาท ไม่ขนซื้อไหวหรือ เดินไปทางไหนก็พบแต่ส้มโอ สมกับเป็นงานวันส้มโอ ดูเหมือนจะประมาณเดือนกุมภาพันธ์ นครนายก จะมีงานวันมะปราง หรือมะยงชิด อีก แต่มีบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด
            วัดพราหมณี  มีพระพุทธรูปสำคัญที่ศักดิ์สิทธิ์คือ หลวงพ่อปากแดง พระประธานในอุโบสถ คนชอบเอาน้ำหวานสีแดง ไปถวายท่าน และขอพร ขอลาภ และหากไม่ใช่วันมีงาน เคยเห็นมีการสะเดาะห์เคราะห์ ต่อดวงชาตาด้วยการบังสุกุลคนเป็น โดยลงไปนอนในโลงศพ แล้วชักผ้าบังสุกุล บริเวรวัดนี้เมื่อตอนสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นที่ตั้งของกองพลทหารญี่ปุ่น และทหารของกองพลนี้ ถูกส่งไปรบในสนามรบที่ต่างๆ ปรากฎว่าตายไปมากถึง ๗,๙๒๐ นาย และยังมีม้าตายไปอีกหลายพันตัว เมื่อสิ้นสงครามชาวญี่ปุ่นที่เป็นญาติมิตร จึงมาสร้างอนุสรณ์สถานไว้ในวัด และมาสักการะกันปีละครั้ง ไปวัดพราหมณี ไปไหว้ขอพร ขอลาภ จากหลวงพ่อปากแดง
             ร้านนี้มี ๒ ระดับ อยู่ตรงข้ามกับหลัก กม.๑ ก่อนขยายถนนร้านก็อยู่ระดับเดียวกับถนน  เอาพื้นร้านเก่าทำเป็นห้องอาหารใต้ดิน ยกพื้นสร้างห้องขึ้นใหม่ อยู่สูงกว่าห้องเดิม แต่ห้องเดิมคงอยู่ติดพื้น ระดับเดียวกับถนนหลังร้าน เมื่อเข้าไปในร้านก็ตกใจ เพราะวางของกินประเภทอาหารแห้งไว้ มากกว่าเดิมคงเกินร้อยชนิด ร้านนี้จะมีชื่อเสียงในเรื่องผลไม้กวน ผมไม้แช่อิ่ม และผมไม้ดอง มาก ส่วนของหวานก็ผมไม้ลอยแก้ว มะกรูด มะปราง ลอยแก้ว หวานเย็นชุ่มฉ่ำดีนัก อาหารที่มีชื่อเสียงมานานคือ ไก่ย่างหนังกรอบ และหมูสะเต๊ะ วันนี้ไปหลายคน สั่งอาหารมาชิมได้หลายอย่าง แต่ที่ขาดไม่ได้สั่งคือ กุ้งแม่น้ำผัดพริกไทยดำ กับปลากรายผัดขี้เมา สั่งมาชิมคือ
            ไก่ย่างหนังกรอบ จานนี้ห้ามข้ามไปเด็ดขาด หนังกรอบจริง ๆ สีเข้ม เนื้อนุ่ม มีรสน้ำจิ้ม ๒ ถ้วย ไม่ต้องจิ้มน้ำจิ้มเลย ก็ยังอร่อย วันนี้อาหารมาช้า เพราะคนแน่น มาเร็วคือ ไก่ย่างหนังกรอบ เลยถ่ายรูปได้จานเดียว รออาหารมาครบเป็นลมก่อน
            แกงส้มกุ้ง ชะอมไข่ทอด น้ำเข้มข้น แบ่งใส่ถ้วย ตักซดตอนร้อน ๆ เด็ดนก หรือจะราดข้าวก็รสเข้ม ใส่ผักมาทั้งเม็งมะพร้าว ผักกะเฉด ถั่วฝักยาว
            ส้มตำไทย ใส่กุ้ง รสเด็ด น้ำส้มตำชุ่มฉ่ำ ตักซดยังได้ มะละกรอบ
            หมูสะเต๊ะ อีกจานที่อย่าโดดข้ามไปมีชื่อมานาน มื้อเย็นก็มีขาย หอมกะทิสด
            ปลาบึกผัดฉ่า ปลาตัวโต หนังหนาแต่ไม่ถึงขั้นหนังกรุบเหมือนปลาธรรมชาติ  จานนี้ต้องกินกับข้าวสวยร้อน ๆ รวมทั้งแกงเขียวหวานแห้ง ผัดผักหวานบ้านน้ำมันหอย ปิดท้ายด้วย มะกรูดและมะปรางลอยแก้ว หวานอมเปรี้ยว เย็นชื่นใจ

...........................................................


| บน |