| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |


พระธาตุช่อแฮ - พระธาตุจอมแจ้ง

            พระธาตุช่อแฮ ซึ่งอยู่ที่อำเภอเมือง ฯ จังหวัดแพร่ นั้นชื่อเสียงโด่งดัง รู้จักกันไปทั่ว แต่องค์พระธาตุจอมแจ้งซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กัน และเกิดก่อนพระธาตุช่อแฮ คนมักจะไม่รู้จักผมเลยรวมเอามาเล่าให้ฟังเสียทีเดียว
            จังหวัดแพร่อยู่ภาคเหนือ ต่อจากแพร่คือจังหวัดน่าน ถ้าต่ออีกทีก็หลุดเข้าประเทศลาวไปเลย ซึ่งแผ่นดินที่เชื่อมต่อกับลาวนั้น เมื่อข้ามโขงไปแล้วก็จะไปตรงกับเมืองหลวงพระบาง การเดินทางไปจังหวัดแพร่ไปได้หลายเส้นทาง คราวนี้ผมไปตามเส้นทางนี้คือ จากกรุงเทพ ฯ ไปยังนครสวรรค์แล้วตัดออกไปอีก ๑๒๙ กิโลเมตร  ก็จะถึงจังหวัดพิษณุโลก เส้นทางนี้กำลังขยายเป็นถนนสี่เลนคงจะอีก ๒ - ๔ ปีกว่าจะเสร็จ ที่พิษณุโลกแวะกินอาหารกลางวันเป็นประเภทบุฟเฟ่ต์ที่โรงแรมไพลิน อาหารดีราคาไม่แพง ต่อจากนั้นก็เดินทางต่อไปยังจังหวัดสุโขทัยที่อยู่ห่างออกไปอีก ๖๐ กิโลเมตร ไปพักที่โรงแรมไพลิน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากสุโขทัยเมืองเก่า ไม่มีโอกาสแวะชิมก๋วยเตี่ยวสุโขทัย "ตาปุ้ย" ซึ่งร้านตาปุ้ยนี้หากไปจากตัวเมืองสุโขทัย มุ่งหน้าไปทางสุโขทัยเมืองเก่าที่อยู่ห่างออกไปเพียง ๑๒ กิโลเมตร พอผ่านปั๊ม ปตท. ทางขวามือก็จะเห็นร้านก๋วยเตี๋ยวตาปุ้ย อยู่เยื้องกันทางฝั่งซ้ายมือ ขายก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยอร่อยนัก ขายตั้งแต่สาย ๆ ไปจนบ่ายก็หมดแล้ว และหากคนแยะจะสั่งขนมจีนแกงต่าง ๆ มาชิมเสียก่อนก็ได้ ขนมไทย ๆ ก็มีให้ชิม
            ที่สุโขทัยเมืองเก่า  เที่ยวชมเมืองเก่าด้วยวิธีการขึ้นรถที่ทำรูปร่างหน้าตาเหมือนรถรางสมัยก่อนของกรุงเทพ ฯ หรือที่ลพบุรี (จังหวัดเดียวที่มีรถราง ๑ สาย ไม่น่าเลิกเสีย) แต่ใช้เครื่องยนต์ เก็บค่าโดยสารคนละ ๒๐ บาท มีสาวนักเรียนเป็นคนขับ มีสาวไกด์คอยอธิบาย ใช้เวลาในเมืองเก่าประมาณครึ่งชั่วโมง ก็จบรายการพามาที่เดิมหรือลงเสียที่หน้าราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง
            พักที่โรงแรมไพลิน ๑ คืน พอรุ่งขึ้นเช้าก็ไปศาลแม่ย่า ที่อยู่หน้าศาลากลางจังหวัดสุโขทัย ศาลนี้ต้องไปให้ได้เพราะเชิญพระวิญญาณของแม่นางเสือง พระมารดาของพ่อขุนรามคำแหงและเชิญพระวิญญาณของพ่อขุนรามคำแหง ให้สิงสถิตอยู่ ณ ศาลนี้สร้างศาลไว้งดงาม
            จากสุโขทัย ขึ้นเหนือต่อไปทางอำเภอสวรรค์โลก อำเภอศรีสัชนาลัย แต่ไม่มีโอกาสแวะเข้าไปยัง ศรีสัชนาลัยเมืองเก่า คงแวะที่ตลาดศรีสัชนาลัย เพื่อชมพิพิธภัณฑ์ผ้าทองและแวะซื้อผ้ากัน
            จากศรีสัชนาลัย เดินทางต่อไปจนกระทั่งถึงสามแยก หากเลี้ยวซ้ายจะไปลำปาง หากตรงต่อไปก็จะไปผ่านเด่นชัย และเมื่อผ่านสามแยกที่บอกว่า เลี้ยวซ้ายไปลำปางได้หน่อยเดียว หากมีเวลาอย่าข้ามไปเป็นอันขาด เพราะวัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรีอยู่ทางขวามือ เป็นวัดที่แม้จะสร้างขึ้นใหม่ไม่ถึง ๒๐ ปีกระมัง แต่สร้างได้สวยงามเหลือเกิน โดยเฉพาะองค์พระธาตุนั้นเล่าว่าจำลองตามแบบรูปพระธาตุเจดีย์ชเวดากองของพม่ามาเลยทีเดียว ตอนเช้าแสงแดดจับองค์พระธาตุเป็นสีทองจะงดงามมาก ในอุโบสถก็สวย มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง มีพิพิธภัณฑ์สร้างแบบล้านนาด้วยไม้สักทองทั้งหลัง ท่านเจ้าอาวาสเป็นพระหนุ่มแต่มีความรู้สูง จึงสามารถสร้างวัดนี้ขึ้นมาได้และเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกมาตราบเท่าทุกวันนี้ และท่านยังมีฝีมือในการปั้นพระพุทธรูปได้เองอีกด้วย
            ผ่านวัดพระธาตุไปแล้วก็จะถึงสามแยกที่หากเลี้ยวขวาไป จังหวัดอุตรดิตถ์มาพิษณุโลกได้ เป็นเส้นตรงที่จะมายังแพร่ แต่ที่ผมมานั้นอ้อมมาเพราะจะไปสุโขทัยกันก่อน หากจะตรงมายังแพร่เลยก็สามารถมาจากพิษณุโลก มาผ่านอุตรดิตถ์มายังแพร่ได้โดยจะผ่านเด่นชัยก่อน
            อาหารชวนชิมของผมวันนี้คือมื้อเที่ยงที่เด่นชัยนี่แหละ จึงขอพาชิมอาหารก่อนที่จะเลยไปนมัสการองค์พระธาตุจอมแจ้ง และพระธาตุช่อแฮ
            สวนอาหารไซทอง อยู่ห่างจากสามแยกเด่นชัยไปทางตัวจังหวัดแพร่ ประมาณ ๕๐๐ เมตร อยู่ทางขวามือสวนอาหาร หัตถกรรมเกวียนเก่า และมีหนังสือตัวโต ๆ บอกไว้ว่าไส้กรอกย่างเตาดิน ให้เลี้ยวขวาเข้าไปได้เลย ที่จอดรถกว้างขวาง ศาลาอาหารยิ่งกว้างขวางมากเป็นศาลาไม้สักเก่าทั้งหลัง หลังคาเป็นกระเบื้องไม้ มีเกวียนเก่า เรือเก่า เครื่องไม้เก่า ๆ อยู่มากมาย เป็นร้านอาหารแบบบริการด้วยตนเอง ไปดูเมนูที่อยู่ใกล้ ๆ เตาย่างไส้กรอกแล้วสั่งอาหารที่โต๊ะใกล้ ๆ กัน ถือใบสั่งไปรออีกโต๊ะหนึ่งใกล้ ๆ กัน พอถึงคิวของเราตามเลขหมายในใบสั่งเขาก็ให้เราจ่ายเงิน ยกไปหาที่นั่งกินเอาเอง มีโต๊ะมากมายหลายสิบโต๊ะนั่งสบาย เย็นสบายไม่ต้องใช้พัดลม มีก๊อกน้ำล้างมือพร้อม  แต่ตอนสั่งอาหารกะให้ดี สั่งให้พร้อมทั้งอาหารและน้ำ จะได้ไม่ต้องเสียเวลาเดินมาสั่งใหม่ มาต่อคิวกันใหม่
            ไส้อั่ว หรือไส้กรอกปิ้งเตาดิน รายการนี้ต้องสั่ง เขาจะหั่นเฉียงใส่จานมาให้ ขอบจานจะวางมาเขือเทศและผักกาดหอม ถือเป็นจานทีเด็ดของเขา "ไส้อั่ว" ผมยกย่องอยู่ ๓ เจ้าคือ เจ้าไซทองนี้,เจ้าที่อยู่ติดกับโรงรับจำนำอำเภอเมืองพะเยา และเรือนคำอิน ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ซอยตรงข้ามวัดเจ็ดยอด ยกให้อยู่ ๓ เจ้า เจ้าอื่น ๆ ต้องขออภัยที่ยังไม่ได้ไปชิม หรือที่ชิมแล้วก็ยังไม่ถูกใจเท่า ๓ เจ้านี้
            ไก่ย่าง สีน่ากินตั้งแต่มองเห็นยังไม่ทันชิม สีเกรียม นุ่ม เวลาเคี้ยวเพลินหมดคำไม่รู้ตัว ให้ถือเกณฑ์ ๒ คนต่อไก่ครึ่งตัว สั่งมากกว่านี้เดี๋ยวไก่เต็มท้องไม่ได้ชิมอย่างอื่นกัน
            ลาบหมู ลาบหมูสุก ลาบที่นี่ไม่เผ็ดด้วย และลาบเมืองแพร่นั้นจะใส่เมล็ดมะแกว่นทำให้หอมดับกลิ่นคาว
            แกงแค ใส่ชามมาร้อนโฉ่เลยทีเดียว กินอาหารร้านนี้จะได้รับความทรมานอยู่ตอนหนึ่ง คือตอนไปรออาหาร ตอนที่จะจ่ายเงิน อาหารของคนอื่นเขาจะทยอยมาตามลำดับ ทั้งกลิ่นหอมและสีที่ชวนมอง จำทำให้ลูกกระเดือกของเราวิ่งรอกได้
            ยังมีอาหารอีกแยะที่น่าสั่ง ขึ้นอยู่กับจำนวนคนที่มา เช่นมี พริกหนุ่ม แคบหมู ห่อหมกใบตอง แหนมห่อใบตองปิ้ง และต้องไม่ลืมสั่งข้าวนึ่ง หรือข้าวเหนียวมาด้วยคนละกะติ๊บนั่นแหละกำลังดี
            อิ่มแล้วจึงออกเดินทางต่อไปยังตัวเมืองแพร่ ก่อนถึงตัวเมืองจะผ่านบ้านไม้สักใหญ่โต เฉพาะเสาไม้สักต้นใหญ่ ๆ คงจะมีถึงร้อยต้น ชื่อว่าบ้านเพื่อนฝูงอยู่ตรงกิโลเมตร ๑๒๐ อีกแห่งชื่อบ้านประทับใจ มีเสา ๑๒๐ ต้น เลยเมืองไป ๑๐ กิโลเมตร
            เข้าเมืองแพร่แล้วก็วิ่งตรงต่อไปทางจะไปยังจังหวัดน่าน โดยไปตามถนนอ้อมเมือง เมื่อผ่านตัวเมืองไปแล้วมี ๔ แยก หากเลี้ยวซ้ายก็กลับเข้าเมือง หากเลี้ยวขวาจะมาทางอำเภอร้องกวาง ไปทางจะไปอำเภอร้องกวาง ๙ กิโลเมตร จะถึงทางแยกเข้าองค์พระธาตุ
            พระธาตุจอมแจ้ง  เมื่อถึงเชิงดอยพระธาตุช่อแฮ จะมีถนนแยกขวา ให้เลี้ยวขวาไปอีก ๒ กิโลเมตร เพื่อไปพระธาตุจอมแจ้งก่อน แล้วจึงกลับมานมัสการพระธาตุช่อแฮ

            วัดพระธาตุจอมแจ้ง  มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า พระธาตุจอมแจ้งหรือจวนแจ้งนี้ พระพุทธองค์เสด็จมาโปรดสัตว์ถึงที่ดอย ซึ่งเป็นดอยที่ไม่สูง และทอดพระเนตรเห็นทุกทิศสว่างไสวสมควรเป็นที่ตั้ง แห่งพระพุทธศาสนาต่อไป และขณะนั้นเป็นเวลาใกล้รุ่งแล้ว พระพุทธองค์ทอดพระเนตร เพื่อหาแหล่งน้ำมาสรงพระพักตร์แต่ไม่มี จึงทรงอธิษฐานให้ได้น้ำแล้วใช้พระหัตถ์ขวาเจาะบ่อลงไปบนภูเขาลูกนี้ ด้วยอานุภาพของพระพุทธองค์ น้ำใสสะอาดบริสุทธิ์จึงเกิดขึ้นในบ่อนั้น และยังปรากฏอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ เรียกว่าบ่อน้ำทิพย์ อยู่ในบริเวณวัดพระธาตุจอมแจ้งนี้เอง เมื่อมีพระพุทธดำรัสว่า สถานที่แห่งนี้เป็นที่รื่นรมย์ยินดีสมควร เป็นที่ตั้งแห่งพุทธศาสนาสืบต่อไป พระอานนท์เถระจึงทูลขอพระเกศาธาตุ ซึ่งพระพุทธองค์ได้ประทานด้วยการลูบพระเศียร ได้พระเกศาธาตุมา ๒ เส้น
            มีเรื่องเล่ากันต่อ ๆ มาอีกว่า พระมหาธรรมราชาตั้งแต่ยังทรงเป็นอุปราชเมืองสุโขทัย พระราชบิดาได้ให้ไปครองเมืองศรีสัชนาลัย ได้มาบูรณะพระธาตุจอมแจ้ง ซึ่งมีเจดีย์บรรจุพระเกศาธาตุไว้องค์หนึ่ง เมื่อ พ.ศ. ๑๘๐๐ เศษ ซึ่งแสดงว่าพระธาตุจอมแจ้งได้สร้างไว้ก่อนแล้วจึงมีการบูรณะ และได้มอบให้ขุนลัะก๊อมออกสำรวจภูมิประเทศ เพื่อสร้างพระธาตุอีกแห่ง ขุนลัะก๊อม ขึ้นไปยืนบนภูเขาลูกหนึ่งมองเห็น"โกสียธซัคบรรพต" เป็นทำเลที่ดีจึงสร้างพระธาตุช่อแฮ นำพระเกศาธาตุอีกองค์หนึ่งมาบรรจุไว้ที่พระธาตุช่อแฮ และกลับไปยังดอยที่ยืนมองเห็น "โกสียธชัคบรรพต" สร้างพระธาตุขึ้นอีกองค์หนึ่งชื่อว่า พระธาตุดอยเล็ง
แต่ประชาชนมักจะนิยมไปนมัสการพระธาตุช่อแฮมากกว่าไปพระธาตุจอมแจ้ง หากให้วิเคราะห์น่าจะวิเคราะห์ได้ว่า พระธาตุช่อแฮอยู่บนดอยสูงเด่นเป็นสง่า และถึงก่อนพระธาตุจอมแจ้ง การเตรียมการเพื่อให้ประชาชนมานมัสการต่างกัน พระธาตุช่อแฮดีกว่า การพัฒนาสถานที่ต่างกัน ทั้ง ๆ ที่พิพิธภัณฑ์ของแพร่ก็อยู่ที่นี่ บ่อน้ำทิพย์ก็อยู่ หากวัดพระธาตุจอมแจ้งได้เตรียมการรับประชาชนให้ดีกว่านี้ รวมทั้งทางจังหวัดและการท่องเที่ยวได้ประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น ให้คนรู้จัก ไปนมัสการพระธาตุช่อแฮแล้วให้ไปนมัสการพระธาตุจอมแจ้งด้วย ประชาชนก็จะได้บุญกุศลในการเดินทางมานมัสการพระธาตุสำคัญของเมืองแพร่มากขึ้น
            จังหวัดแพร่ มีองค์พระธาตุและวัดสำคัญอีกหลายแห่ง เช่น
            พระธาตุพระลอ  บ้านเวียงพระลอ อำเภอสอง หรือพระธาตุนิมลัม
            พระธาตุดอนคำ วัดห้วยอ้อ ตำบลห้วยอ้อ อำเภอสอง
            พระธาตุวัดพระลวง  อำเภอสูงเม่น
            พระธาตุวัดศรีชุม,วัดหัวช่วง อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ รวมทั้งวัดสำคัญอีกวัดคือ วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร อยู่กลางเมืองแพร่ ซึ่งวัดนี้สร้างขึ้นสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นที่ประดิษฐานพระคู่บ้านคู่เมืองแพร่ คือ พระพุทธโกศัย ศิริชัยมหาศากยมุนี มีรอยพระพุทธบาทจำลอง และพระเจดีย์มิ่งเมืองซึ่งเป็นพระเจดีย์เก่าแก่
            วัดจอมสวรรค์  อยู่ถนนยันตรกิจโกศล ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ ๑ กิโลเมตร เป็นวัดไทยใหญ่ สร้างแบบศิลปะพม่า (น่าจะเป็นศิลปะของไทยใหญ่เอง) ตัวอารามเป็นไม้ล้วน เป็นทั้งโบสถ์วิหารและกุฎิไปในตัว  ภายในมีศิลปะการตกแต่งอย่างวิจิตรบรรจง ด้วยฝีมือการฉลุไม้ประดับกระจกสีงดงาม โบราณวัตถุในวัดได้แก่ "หลวงพ่อลาน" พระพุทธรูปที่สร้างโดยใช้ไม่ไผ่สานเป็นองค์ แล้วลงรักปิดทอง พระพุทธรูปงาช้าง ซึ่งเป็นศิลปะแบบพม่า คัมภีร์งาช้าง จารึกเป็นตัวอักษรพม่า และบุษบกใส่พระพุทธรูปหินอ่อน
            วัดสระบ่อแก้ว  ตั้งอยู่ริมถนนน้ำ คูเมือง เป็นวัดศิลปะพม่าที่สวยแปลกตา มีพระพุทธรูปหินอ่อนแบบพม่า
            วัดหลวง  ตั้งอยู่ที่ถนนคำลือซอย ๑ เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองแพร่ที่เก่าแก่ที่สุด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นพร้อม ๆ เมืองแพร่ สิ่งสำคัญภายในวัดคือ พระธาตุหลวงไชยช้างค้ำ พระเจดีย์ศิลปะเชียงแสน พิพิธภัณฑ์พระพุทธรูปเก่าแก่อายุร่วม ๕๐๐ ปี คุ้มพระลอซึ่งเป็นการจัดแสดงตัวอย่างบ้านแบบล้านนาโบราณ ซึ่งจะเปิดให้ชมเฉพาะวันเสาร์ อาทิตย์ และหอวัฒนธรรมจังหวัดแพร่
            วัดพระนอน  อยู่ใกล้วัดหลวง เป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่ง มีพระนอนองค์ใหญ่ในวิหาร และหน้าบันวิหาร เป็นศิลปะลวดลายการแกะสลักแบบล้านนาไทยที่งดงามมาก

            แพะเมืองผี  อย่าไปกลัวว่าไปแล้วจะไปเจอผีแพะ แพะแปลว่าป่าละเมาะ เมืองผีหมายถึง สถานที่สงบเงียบ การไปแพะเมืองผีนั้น เมื่อกลับจากนมัสการพระธาตุช่อแฮแล้ว กลับมาขึ้นถนนใหญ่ บ่ายหน้ามาทางจังหวัดน่าน หรือทางอำเภอร้องกวาง ประมาณ ๙ กิโลเมตร จะมีป้ายบอกให้แยกขวาไปประมาณ ๓ กิโลเมตร แล้วแยกขวาอีกทีไปอีกสัก ๒ กิโลเมตรเศษ ๆ ก็จะถึงวนอุทยานแพะเมืองผี  ซึ้งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติของผิวโลก และการถล่มของดิน ส่วนที่เป็นดินที่แข็งตัวมากจะคงตัวอยู่มองดูคล้ายเสา แต่รูปร่างแปลกมีสัก ๕ ต้น ตั้งโด่สูงขึ้นไป และที่เหมือนดอกเห็ดก็มี และมีอีกแห่งที่สวยงามเหมือนเสาหินคือที่ "ฮ่อมจ๊อม" จังหวัดน่าน
            จากแพะเมืองผี กลับมาขึ้นถนนใหญ่ มุ่งหน้าไปทาง จังหวัดน่าน หรืออำเภอร้องกวาง ได้นิดเดียวจะเข้าเขตบ้านแม่หล่าย ที่หมู่บ้านนี้ผมค้นพบขนมครกอร่อยขายอยู่ในเพิงที่ลึกเข้าไป ตั้งเตาขนมครกเต็มไปหมดคงนานร่วม ๒๐ ปีมาแล้ว และคนเมืองแพร่นิยมออกมาซื้อไปชิมเพราะหวานมัน เดี๋ยวนี้กลายเป็นหมู่บ้านใหญ่ ร้านขนมครกก็ใหญ่ตามไปด้วย ผมเคยเอามาเขียนชวนชิมไว้เมื่อร่วม ๒๐ ปีที่แล้ว ขนมครกยังอร่อยเหมือนเดิมแต่พัฒนาใส่กล่องเสียสวยเทียว
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |