ดอนเจดีย์

            ผมพาท่านไปตลาดรอ้ยปี  ที่ อ.สามชุก จ่ายกันสนุกสนานแล้วเดินทางต่อไปยังบึงฉวาก ไปชมสวนสัตว์ อุทยานผัก และสถานที่แสดงพันธุ์สัตว์น้ำ พร้อมทั้งอิ่มท้องกับอาหารร้านที่อาหารจานเด็ดของเขาคือ ปลาช่อนเผา สะเดาฟาดไฟ ไม่เหมือนใครตอนเอาสะเดาสดไปย่างไฟ แต่เขาเรียกของเขาว่า ฟาดไฟ  จิ้มน้ำจิ้มรสแซ๊บ หรือน้ำปลาหวานเลือกเอาตามใจชอบ  จากบึงฉวากเดินทางต่อไปตามถนนที่มาจาก อ.เดิมบาง ฯ คือ ถนนสาย ๓๓๕๐ วิ่งมุ่งหน้าไปทาง อ.ด่านช้าง แต่พอไปได้ ๑๓ กม. จะมีถนนแยกซ้ายคือ สาย ๓๔๙๖  วิ่งไป ๓๐ กม.  จะถึง อ.ดอนเจดีย์ พอบรรจบกับถนน ๓๒๖๔ ก็เลี้ยวขวาตรงไปจนถึงสามแยก บ้านสระกระโสม ซึ่งจะบรรจบกับถนนสาย ๓๓๓ ที่มาจาก อ.ด่านช้าง  ก็เลี้ยวซ้ายไปตามถนน ๓๓๓ ประมาณหลัก กม.๒๐ จะพบป้ายวัดทุ่งดินดำ พบทางแยกขวาไป อ.เลาขวัญ  เลี้ยวขวามาสัก ๖ กม. จะเห็นประตูทางเข้ารีสอร์ท อยู่ทางซ้ายมือ เลี้ยวซ้ายวิ่งตรงเข้าไปจะชนกับรีสอร์ทเลยทีเดียว ต้องขอชมเชยว่าเก่งมากที่กล้ามาสร้างรีสอร์ทที่ดี มีคำขวัญว่า  "ดินดำ น้ำใส เขาสวย อากาศดี" สร้างสวนป่าไว้ร่มรื่นที่พื้นที่คงจะหลายร้อยไร่ ในเขตพื้นที่ของ อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี นั้นได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่แห้งแล้ง แต่บริเวณทั่วรีสอร์ทแห่งนี้กลับชุ่มชื้น ได้ความว่าใต้ดินมีน้ำซับ จึงทำให้แผ่นดินชุ่มชื้น ปลูกป่าได้งดงาม เขียวชอุ่ม และตอนด้านหน้าดูเหมือนจะมีสนามกอล์ฟด้วย  แต่คงจะมีสัก ๓ หลุ่ม
            ส่วนห้องพักอยู่ชั้นล่างของอาคารสำนักงานเป็นห้องพักชั้นดี แบบโรงแรมหลายดาวห้องใหญ่ กว้างขวาง ๒ เตียงนอน แต่มีไม่มากนักคงจะสัก ๑๐ ห้อง  แต่ไม่ไกลจากสำนักงานก็มีเรือนพักแยกไปอีก รีสอร์ทแห่งนี้ผมว่าแปลกเพราะธรรมชาติที่งดงาม สงบเงียบก็อยู่ภายในตัวพื้นที่ของรีสอร์ทนั่นเอง สถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติไม่มี จะมีก็แต่บึงฉวากและบึงกระเสียว ไปเที่ยวบึงแล้วมาพักหาความสงบและอาหารอร่อยที่นี่ อาหารและสถานที่ได้รับป้าย คลีน ฟู๊ด กู๊ด เทสท์  ของกระทรวงสาธารณสุข สถานที่สะอาดและอาหารอร่อยจริง เรียกว่าตามให้กันถึงกลางป่ากลางดงเลยทีเดียว ผมถึงบอกว่าแปลกที่รีสอร์ทนี้ตั้งอยู่ได้ในพื้นที่ ไม่มีแหล่งท่องเที่ยวอยู่ใกล้ ๆ อยู่ในเขตของอำเภออู่ทอง ที่มีพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่สำคัญควรแก่การไปชมอย่างยิ่ง แต่อู่ทองก็อยู่ไกลไปอีกหลายสิบ กม. ที่ใกล้มากคือ อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี เขาเลาขวัญ ห่างรีสอร์ทไม่กี่ร้อยเมตร รีสอร์ทห่างตัวอำเภอเลาขวัญประมาณ ๒ กม. แต่ห่างจาก อ.อู่ทอง หลาย กม. มีแต่ป่า ภูขาเรียกว่าอยู่กันครบถ้วนดี จึงมีลูกค้ามาใช้บริการพอเลี้ยงตัวอยู่ได้ สถานที่ดี อาหารดี อากาศดี  ใครชอบร้องเพลงยิ่งดี

            อาหารเย็น หากเรามาเป็นคณะอย่างนี้ก็สั่งเป็นชุดมาเลย ชุดมื้อเย็น มีปลาแรดทอด กระเทียมพริกไทย ปลาตัวโตแล้วครีบกรอบ เนื้อนุ่ม ยำสามกรอบคอสุราชอบนัก รวมทั้งปลาคัวเนื้อขาวจั๊ว ลวกจิ้มด้วย ผัดเผ็ดหมูป่าเขายืนยันว่า หมูป่าแท้เคี้ยวหนังกรุ๊บ ๆ ยอดมะพร้าวผัดกุ้งตอนนี้กุ้งกำลังราคาถูก ต้องกินกุ้งช่วยชาติ ปิดท้ายด้วยต้มยำปลาม้า มาสุพรรณบุรีแต่ละมื้ออย่าให้ขาดปลาม้าได้แหละดี หากินที่อื่น ค่อนข้างจะหายาก และราคาแพงด้วย
            มื้อเช้า เป็นข้าวต้มพุ้ยมีทั้งยำไข่เค็ม ไข่เจียว เกี๊ยมฉ่ายยำ หมูทอดกระเทียมพริกไทย ส่งกลิ่นหอมฟุ้งมาแต่ไกล ฯ ยังมี ชา กาแฟ และโอวัลติน ให้เลือกสั่งได้
            หลังอาหารเช้าที่รีสอร์ท ก็ย้อนกลับมายัง อ.ดอนเจดีย์  เพื่อมาคารวะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวร ฯ  ซึ่งได้กระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา และชนะศึก ณ ที่แห่งนี้
            เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๑๓๓  สมเด็จพระนเรศวร ฯ เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ แห่งกรุงศรีอยุธยาสืบต่อจากพระมหาธรรมราชา พระราชบิดา สมเด็จพรนเรศวร ฯ ต้องเสด็จสู่สงครามรวมแล้วถึง ๑๕ ครั้ง ทั้งสงครามป้องกันแผ่นดินไทย และกลับเป็นฝ่ายรุกไปโจมตีแผ่นดินอื่น ๆ ซึ่งขอสรุปไว้โดยย่อ เพื่อเทิดพระเกียรติของมหาราช ผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งครบ ๔๐๐ ปี ของการครองราชย์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๓  และได้มีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ ๔๐๐ ปี สมเด็จพระนเรศวร ฯ ไว้ที่ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี
            พ.ศ.๒๑๒๑  ติดตามโดยทางเรือไปตีพระยาจีนจันตุ ที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา
            พ.ศ.๒๑๒๖  พม่าให้ไปตีเมืองรุม เมืองคัง ที่แข็งเมืองเมื่อคราวพระเจ้านันทบบุเรงขึ้นครองราชสมบัติ สืบต่อจากพระเจ้าบุเรงนอง
            พ.ศ.๒๑๒๗  รบกับพม่าที่ไล่ติดตามมา และทรงพระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง ถูกมังสุรกันมา แม่ทัพพม่าตาย ที่ริมฝั่งแม่น้ำสะโตง
            พ.ศ.๒๑๒๘  สงครามไทยกับพม่า พม่ายกมา ๑๓๐,๐๐๐ พระยาพะสิมยกมาทางสุพรรณบุรี ปะทะกับทัพไทย ส่วนพระเจ้าเชียงใหม่ยกมาจากทางเหนือ ได้ตีพม่าแตกทัพกลับไป
            พ.ศ. ๒๑๒๘  สงครามไทยกับพม่า รบกับพระเจ้าเชียงใหม่ ที่บ้านสระเกศ ทัพพม่ามีพล ๑๕๐,๐๐๐ ฝ่ายไทยมีพล ๘๐,๐๐๐ ไทยตีพม่าแตกทัพกลับไป
            พ.ศ. ๒๑๒๙  เป็นศึกกษัตริย์ พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง ยกทัพมาเอง ยกพล ๒๕๐,๐๐๐  ล้อมกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินของพระมหาธรรมราชา สมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงใช้ยุทธศาสตร์ทางทหารเรียกว่า "เดินทางเส้นใน"  ใช้กำลังน้อยแต่โยกย้ายกำลังอย่างรวดเร็ว เข้าตีทัพพม่า สามารถเอาชัยชนะพม่าได้ โดยพม่าไม่มีโอกาสเข้ามาประชิดกำแพงเมือง สุดท้ายพม่าาขาดแคลนเสบียงอาหาร ลำบากมากเข้าต้องถอยทัพกลับไป โดยล้อมกรุง ฯ อยู่นานถึง ๕ เดือน
            พ.ศ.๒๑๓๓  สงครามไทยกับพม่า พระมหาอุปราชา ยกทัพมาเป็นครั้งแรก ปะทะกับทัพไทยที่สุพรรณบุรี ทัพพม่ามีกำลัง ๓๐๐,๐๐๐ แต่ทัพสมเด็จพระนเรศวร ฯ มีกำลังเพียง ๘๐,๐๐๐ ตีพม่าแตกทัพกลับไป ยกมาไม่ถึงกรุงศรีอยุธยา
            พ.ศ.๒๑๓๕  สงครามยุทธหัตถี  เป็นสงครามที่สำคัญที่สุด เพราะสมเด็จพระนเรศวร ฯ และสมเด็จพระเอกาทศรถ พร้อมด้วยจตุรงคบาท และทหารรักษาพระองค์ อีกไม่กี่คนที่ตามเสด็จทันหลุดเข้าไปในที่ล้อมของข้าศึก ข้าศึกอาจจะล้อมจับ หรือใช้ปืนยิงได้ แต่ด้วยพระปรีชาไว ทรงเปลี่ยนวิธีรบด้วยการท้าชนช้างตัวต่อตัว เท่ากับเป็นการตั้งปัญหาให้ฝ่ายข้าศึกแก้ ช้างพระที่นั่งถูกดันจนถอยร่นมายันที่จอมปลวก จึงมีกำลังดันช้างพระมหาอุปราชาเบนออกไป และได้ล่างแบกถนัด สมเด็จพระนเรศวร ฯ จึงมีโอกาสจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าว ซึ่งการรบตอนชนช้างนี้ น่าจะใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที การทัพครั้งนี้ฝ่ายพม่ามีกำลัง ๒๕๐,๐๐๐ ฝ่ายไทยมีกำลังเพียง ๑๐๐,๐๐๐ คน น้อยกว่ากันมาก
            และหลังจากชนะศึกพม่าในครั้งนี้ พม่าเว้นศึกไม่ยกมาตีไทยอีกเป็นเวลานานถึง ๑๖๐ ปี
            พ.ศ.๒๑๓๕   หลังสงครามยุทธหัตถีแล้ว ไทยตามตีจนได้เมืองทะวาย และตะนาวศรี
            พ.ศ.๒๑๓๖  สงครามตีเขมร ไทย ๑๓๐,๐๐๐  ฝ่ายเขมร ๗๕,๐๐๐ ตีได้เขมร
            พ.ศ.๒๑๓๗  สงครามไทยตีพม่าได้หัวเมืองมอญ
            พ.ศ. ๒๑๓๘  สงครามไทยกับพม่า เป็นการยกไปตีหงสาวดี ครั้งแรกมีกำลัง ๑๒๐,๐๐๐  ตีไม่สำเร็จ
            พ.ศ.๒๑๔๒  สงครามไทยกับพม่า ยกพล ๑๐๐,๐๐๐ ไปตีหงสาวดีสำเร็จ แล้วตามตีพระเจ้านันทบุเรงที่หนีไปอยู่ตองอู
            พ.ศ.๒๑๔๖  พงษาวดารฉบับหลวงประเสริฐ บันทึกว่า  "ทัพเจ้าฝ่ายหน้าเสด็จไปเอาเมืองขอมได้ " แสดงว่าในรัชกาลนี้มีการไปตีเขมรถึง ๒ ครั้ง
            พ.ศ.๒๑๔๗  สงครามครั้งสุดท้ายของสมเด็จพระนเรศวร ฯ ยกทัพไป ๒๐๐,๐๐๐ เพื่อไปตีกรุงอังวะ แต่เสด็จไปไม่ถึงอังวะ ได้เสด็จสวรรคตเสียนก่อน
            ดอนเจดีย์  คือ ตำบลที่สมเด็จพระนเรศวร ฯ กระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา แม่ทัพฝ่ายพม่า และทัพไทยได้รับชัยชนะเมื่อวันจันทร์ เดือนยี่ แรม ๒ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๑๓๕ "ดอนเจดีย์" เดิมเรียกตำบลท่าคอย เขตอำเภอดอนเจดีย์ ค้นพบเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๖ และเมื่อค้นพบแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ รัชกาลที่ ๖ ได้เสด็จไปประกอบพิธีบวงสรวงสมโภช เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๖ องค์เจดีย์เหลือซากแต่เพียงฐานสี่เหลี่ยม กว้างด้านละ ๑๙.๕๐ เมตร สูงจากพื้นดินถึงส่วนชำรุด ๖.๕๐ เมตร รัชกาลที่ ๖ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้กรมศิลปากรกะงบประมาณในการบูรณะ และตกลงเลือกแบบเจดีย์ยุทธหัตถีที่จังหวัดตาก ซึ่งเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเป็นที่ระลึก ครั้งพ่อขุนรามคำแหงชนช้างชนะขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด ประมาณวงเงินงบประมาณ แล้วจะใช้ประมาณ ๑๙๒,๕๐๐ บาท แต่เนื่องด้วยการเงินของประเทศกำลังขาดแคลนมาก การบูรณะเจดีย์จึงยังไม่ได้ดำเนินการตามพระราชประสงค์
            การสร้างอนุสาวรีย์ที่ดอนเจดีย์ได้เริ่มขึ้นใหม่ โดยรัฐบาลซึ่งมีจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเริ่มดำเนินการตั้งกรรมการ เพื่อพิจารณาแบบ และการก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๕ และแบบของเจดีย์ให้เป็นทรงลังกาตามแบบอย่างเจดีย์ใหญ่ที่วัดชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพราะสันนิษฐานว่า เจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคลนี้ สมเด็จพระนเรศวร ฯ ได้โปรดเกล้าให้สร้างขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะ
            การดำเนินการบูรณะเจดีย์ยุทธหัตถี เริ่มเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๕ รัฐบาลได้ประกาศขอความร่วมมือจากพ่อค้า ข้าราชการ และประชาชน ช่วยกันบริจาคทรัพย์สมทบทุน ได้เงิน ๕.๕ ล้านบาทเศษ จากกองทัพทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ กองทัพละ ๕๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงินสมทบทุนทั้งสิ้น ๗,๐๗๗ ล้านบาทเศษ รัฐบาลจึงมอบให้กรมศิลปากร ก่อสร้างพระสถูปเจดีย์มีฐานกว้าง ๓๖ เมตร สูงจากพื้นดินถึงยอด ๖๖ เมตร โดยสร้างครอบพระสถูปเจดีย์องค์เดิมเอาไว้ภายใน (หากเข้าไปในองค์พระเจดีย์จะเห็นสถูปเดิม)
            ด้านหน้าพระสถูปเจดีย์ มีพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงคชาธารออกศึก ประดิษฐานอยู่บนแท่น ที่มีฐานขนาดกว้าง ๑๕,๓๐ เมตร ยาว ๒๕.๕๕ เมตร สูง ๙ เมตร องค์สมเด็จพระนเรศวร ฯ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ กว้าง ๒.๙๐ เมตร ยาว ๕.๕๘ เมตร และสูง ๗ เมตร ฐานทั้งสองด้าน ภาพตอนยุทธหัตถี และตอนประกาศอิสระภาพ ณ เมืองแครง ค่าก่อสร้างได้รับจากการบริจาคสมทบ แล้วยังจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม เพราะมีการสร้างพระสถูปเจดีย์ ค่าหล่อปั้นองค์อนุสาวรีย์ ค่าสร้างแท่นฐานอนุสาวรีย์ ค่าสร้างรั้ว และศาลา ค่าเขียนภาพพระราชประวัติ ค่าขยายเขตและชดใช้ที่ดิน ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด ฯ
            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้เสด็จไปเปิดพระบรมรูปอนุสาววรีย์ ณ อนุสรณ์ดอนเจดีย์ เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๐๒
            เมื่อไปถึงอำเภอดอนเจดีย์ ไปกราบคารวะสมเด็จพระนเรศวร ฯ แล้วก็เข้าไปในห้องใต้ฐานพระสถูปเจดีย์ ซึ่งจะมีรูปปั้นของสมเด็จพระนเรศวร ฯ ประทับยืนอยู่หน้าซากของสถูปเดิม มีพระราชประวัติ และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังหลายภาพเช่น ภาพสมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงไล่ตามจับพระยาจีนจันตุ เมื่อ พ.ศ.๒๑๒๑ ภาพทรงตีเมืองคัง ภาพทรงพระแสงทวน แทงลักไวทำมู ทหารเอกของพม่า ภาพทรงพระสุบินก่อนทำสงครามยุทธหัตถี ภาพทรงกระทำยุทธหัตถี เป็นต้น และยังมีภาพที่ทหารเรียกว่าโต๊ะทราย จำลองการสู้รบไว้ให้ชมด้วย

            จากราชานุสาวรีย์ อ้อมไปทางด้านหลังจะไปยังวัดดอนเจดีย์ ซึ่งอยู่ห่างออกไปสัก ๓๐๐ เมตร วัดได้สร้างพระตำหนักสมเด็จพระนเรศวร ฯ ขึ้นไว้ ภายในพระตำหนักมีรูปปั้นของสมเด็จพระนเรศวร ฯ และสมเด็จพระเอกาทศรถประทับนั่งคู่กัน ส่วนอีกด้านหนึ่งมีรูปปั้นของพระพี่นางสุพรรณกัลยา ประทับยืนประดิษฐานอยู่ ด้านหลังที่ประทับมีรูปเหมือนของเกจิอาจารย์ ภายในตำหนักกว้างขวางและงดงาม มีวัตถุมงคลจำหน่าย และมีตู้รับบริจาคเพื่อสร้างอุโบสถ หรือวิหารนี่แหละ ใครบริจาคร้อยบาทก็หยิบเอาพระผงสุพรรณไปได้ ๑ องค์ และยังมีหนังสือธรรมะวางไว้แจกฟรี ทำบุญใส่ตู้ตามศรัทธา มีเอกสารเรื่อง "กล้วยของดีที่ถูกลืม" เรื่องดื่มน้ำรักษาสุขภาพ วางแจกไว้เป็นวิทยาทาน
            จากดอนเจดีย์ คณะของผมย้อนกลับมายังอำเภอสามชุกอีก เพราะมาวันแรกผมยังไม่ให้จับจ่ายซื้อของกันมาก เพราะกลัวของจะเสียเช่น พวกปลาแดดเดียว เป็ดย่าง เป็นพะโล้ เป็นต้น ย้อนกลับมาได้หน่อยจะมีทางแยกซ้ายไปยังวัดลาดสิงห์ มีป้ายชี้ทางไป วัดนี้คือปีกขวาของกองทัพ สมเด็จพระนเรศวร ฯ มาจดที่นี่ ส่วนปีกซ้ายนั้นอยู่ที่หนองสาหร่าย หากไปวัดลาดสิงห์ก็จะเห็นทางแยกไปหนองสาหร่าย ซึ่งเวลานี้ไมีมีอะไรแล้ว แต่ที่วัดลาดสิงห์มีโบสถ์เก่า และมีราชานุสาววรีย์ของสมเด็จพระนเรศวร ฯ สมเด็จพระเอกาทศรถ และพระพี่นางสร้างไว้ ส่วนพระพุทธรูปในอุโบสถเก่าแก่ วันนี้คณะของผมไม่ได้แวะเข้าไป ส่วนทัพของพระมหาอุปราชาอยู่ที่ตระพังตรุ เขตกาญจนบุรี และเคลื่อนทัพมาปะทะกันที่ดอนเจดีย์ วัดลาดสิงห์จึงเป็นอีกวัดหนึ่งที่ควรเข้าไปชม
            จากดอนเจดีย์มายัง อ.ศรีประจันต์ เลี้ยวซ้ายไปตามถนน ๓๔๐ มาจนถึง กม.๑๒๘ ก็มากินอาหารกลางวันกันที่ร้าน ที่ผมได้เล่าอาหารจานเด็ดของเขาไปแล้ว จากนั้นก็ไปต่ออีก ๒ กม. ก็กลับไปยังสามชุกตลาดร้อยปี ทีนี้จ่ายกันไม่ยั้ง

            ปิดท้ายการท่องเที่ยวคราวนี้ด้วยการไปแวะที่ตัวเมืองสุพรรณบุรี ไม่แวะเที่ยวที่ไหนเลี้ยวไปยังวัดป่าเลไลย์วรวิหารเลยทีเดียว
            วัดป่าเลไลย์ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ตำบลรั้วใหญ่ เดิมชื่อว่า วัดลานมะขวิด และยกบานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๒ ในสมัยรัชกาลที่ ๖
            หลวงพ่อโต  เป็นพระพุทธรูปสำคัญสำหรับของพระอารามหลวงแห่งนี้ ปางปาลิไลยก์ (เดิมน่าจะเป็นปางปฐมเทศนา) ประดิษฐานอยู่ในพระวิหาร เมื่อสมัยที่รัชกาลที่ ๔ ยังไม่ได้ขึ้นครองราชย์ยังทรงผนวชอยู่ ได้เสด็จมานมัสการ ขณะนั้นเป็นวัดรกร้างไม่มีพระสงฆ์ จึงได้ทรงอธิษฐานว่า ถ้ากลับไปแล้วได้ขึ้นครองราชย์จะมาซ่อมถวาย เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัต ิจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยานิกรบดินทร (โต) ไปซ่อมถวายร่วมกับหลวงพ่อกล่ำ ที่หน้าบันของพระวิหาร และประตู จึงมีตรามงกุฎเป็นเครื่องหมาย องค์หลวงพ่อโตเป็นพระพุทธรูปก่อด้วยอิฐถือปูน ปิดทองอร่ามไปทั้งองค์ สูง ๒๓ เมตร ๔๘ เซนติเมตร
            เมื่อประมาณ พ.ศ.๑๓๗๐ หรือ พ.ศ.๑๔๓๒ (ตามประวัติของวัด) พระมหาเถรไหล่ลาย สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้ารามเทพกับพระมหาสาคร ได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาจากเกาะลังกาสิงหฬ มาบรรจุไว้ในองค์หลวงพ่อโต จำนวน ๓๖ พระองค์
            ด้านหลังพระวิหารหลวงพ่อโต มีศาลาเล็ก ๆ มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คือ หลวงพ่อดำ มีช้างวางไว้ให้อธิษฐานขอพร หรือเสี่ยงทาย โดยจะต้องยก ๒ ครั้ง หากสำเร็จขอให้ยกขึ้น แล้วอธิษฐานใหม่ว่า หากสำเร็จขอให้ยกไม่ขึ้น
            ด้านหลังของพระวิหาร เดินออกประตูทางหลวงพ่อดำ จะมีร้านอาหาร ร้านขายต้นไม้ สุขาที่ไม่เป็นสากล มีแผงขายของฝากจากสุพรรณเช่น ปลาสลิด ปลาแดดเดียว และอีกหลายอย่างไปเดินชมเข้าก็ไม่แคล้วเสียสตางค์ น่าซื้อ น่ากิน ไปหมด จบรายการไปตลาดร้อยปีที่ อ.สามชุก ไปบึงฉวาก กลับมาดอนเจดีย์ ปืดท้ายด้วยการมานมัสการหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์วรวิหารที่ อ.เมือง สุพรรณบุรี

...........................................................................


| บน |