หัวหิน

            หัวหิน เป็นเมืองตากอากาศยุคแรกของเมืองไทย ดังมาก่อนพัทยากว่า ๔๐ ปี (พัทยาเริ่มเจริญเพราะทหารอเมริกัน มาพักผ่อนระหว่างรบในเวียดนาม ประมาณ พ.ศ.๒๕๑๒)  มีความเป็นมาพอประดับความรู้ดังนี้ ต้นสมัยรัชกาลที่ ๓ ประมาณ พ.ศ.๒๓๗๗ มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งจากเพชรบุรี อพยพหนีความแห้งแล้งลงมาทางใต้ จนมาถึงบริเวณบ่อฝ้าย หนองสะแก และเขาตะเกียล มีความอุดสมบูรณ์ มีแม่น้ำลำคลองไหลผ่าน ชาวบ้านกลุ่มนี้จึงตั้งรกราก ทำมาหากิน แต่หนักไปในทางการประมง ต่อมามีชาวปักษ์ใต้ อพยพมาจากหลายเมือง เช่น จากพัทลุง ตรัง และภูเก็ต ทำให้ชุมชนขยายตัวใหญ่ขึ้น และมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง โดยเฉพาะภาษาพูด เพราะเกิดจากชุมชน ๒ ภาค หลายจังหวัดมาอยู่ร่วมกัน และส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใกล้คลองสมอเรียง จึงเรียกว่า บ้านสมอเรียง และชายหาดแถบนี้ มักจะมีโขดหินใหญ่น้อยเรียงรายไปตามชายฝั่ง จึงเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านตามลักษณะภูมิศาสตร์ว่า บ้านหินเรียง ต่อมากลายเป็น บ้านแหลมหิน และในที่สุดก็เป็น บ้านหัวหิน
            หัวหิน เริ่มเป็นที่รู้จักกันในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อเกิดกำหนดระบบการทำงานของข้าราชการ กำหนดให้วันจันทร์ - ศุกร์ เป็นวันทำงาน วันเสาร์ - อาทิตย์ เป็นวันหยุดพักผ่อน ทำให้เจ้านายและข้าราชการชั้นสูง นิยมใช้วันหยุดสุดสัปดาห์ ไปพักผ่อนตากอากาศ แบบชาวตะวันตก และเชื่อกันว่า อากาศชายทะเลจะคลายร้อน และบริสุทธิ์ ทำให้พักผ่อนร่างกายได้เต็มที่
            เมื่อกรมรถไฟหลวง ได้เปิดเดินรถสายใต้ ผ่านตำบลหัวหิน ทำให้การเดินทางสะดวกขึ้น ผู้คนมาเที่ยวกันมากขึ้น ชื่อเสียงของความงามของชายหาด และเม็ดทรายที่ละเอียด และสีขาว โด่งดังมากขึ้น ต่อมาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ ทรงสร้างตำหนักสุขเวศน์ เป็นที่ประทับแรม และยังเชิญชวนพระประยูรญาติ มาสร้างบ้านพักตากอากาศที่ชายหาดหัวหิน เมื่อมาสร้างบ้านพักตากอากาศกันมากขึ้น จึงมีการสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ  เพิ่มมากขึ้น เช่น การตัดถนน ถนนสายแรก ๆ ที่สร้างมี ถนนกำเนิดวิถี ถนนดำเนินเกษม ถนนนเรศดำริ (ถนนเลียบชายทะเล)  ต่อมามีการสร้างโฮเต็ลหัวหิน ที่หรูหราเทียบเท่าโรงแรมชั้นหนึ่งในกรุงเทพ ฯ (ปัจจุบันคือ โรงแรมโซฟิเทล แต่ยังรักษารูปแบบดั้งเดิมเอาไว้)  สร้างสนามกอล์ฟหลวงหัวหิน ตรงข้ามสถานีรถไฟ (สมัยผมเรียนในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ที่ตั้งอยู่ในสวนสนปฎิพัทธ์ มาฝึกกอล์ฟกับครูทิม ที่สนามกอล์ฟหลวงแห่งนี้ โก้พิลึก)
            ความเจริญของหัวหินยิ่งมีมากยิ่งขึ้นเมื่อ รัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างวังไกลกังวล เป็นสถานที่เสด็จแปรพระราชฐาน หัวหินกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีการก่อสร้างตลาดฉัตรไชย เพื่อขายของกิน ของใช้ อาหารทะเลแห้ง (ปัจจุบันตลาดเดิมรื้อออกไปสร้างใหม่แล้ว ณ ที่เดิม)  การเดินทางไปหัวหิน เส้นทางที่เร็วที่สุดคือ ไปทางด่วนลงถนนพระราม ๒ ซึ่งผมเรียกว่า ถนนล้านปี คือ สร้างกันไม่รู้จบสักที คราวนี้นึกว่าจะเรียบร้อย ปรากฎว่าเส้นทางขาไปแถว ๆ สมุทรสาคร กำลังขุดถนนซ่อมแซมเป็นการใหญ่ จึงต้องเรียกถนนล้านปีกันต่อไป นานไปคงขยายอีก ขยายเป็นถนนสิบเลน เพราะสังเกตได้จากเสาไฟฟ้า ที่ยังตั้งห่างถนนให้ขยายถนนได้ ความเจริญของถนนพระราม ๒ เติบโตไม่หยุด แผงขายของทุกฤดูกาลคือ อาหารทะเลแห้งย่านสมุทรสงคราม ขายเกลือ มีนับสิบเจ้า ขายลิ้นจี่ในฤดูกาล ขายขนมจาก ฯลฯ จากถนนพระราม ๒ เลี้ยวซ้ายเมื่อบรรจบกับถนนเพชรเกษม หรือทางหลวงแผ่นดินสาย ๔ ไปผ่านเพชรบุรี ชะอำ (ไม่เลี้ยวเข้าบายพาส ชะอำ - ปราณบุรี)  ไปอีก ๒๖ กม. ก็จะถึงพระราชวังไกลกังวล หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ได้เสด็จแปรพระราชฐาน ก็เปิดให้ซื้อบัตรเข้าชมวังได้
            ส่วนอีกเส้นหนึ่ง ไม่ไปทางถนนพระราม ๒ แต่ไปทางนครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี อีกเส้นทางก็ไปทางถนนบายพาสจากชะอำ พอถึงสี่แยกที่เลี้ยวขวาไปวัดห้วยมงคล ก็เลี้ยวซ้ายแทน อยากชมหัวหิน ให้เห็นความเจริญได้เต็มตา ขอแนะนำจุดชมวิวเขาหินเหล็กไฟ
                จุดชมวิวเขาหินเหล็กไฟ  หากมาจากพระราชวังไกลกังวล พอถึงสี่แยกไฟสัญญาณแรก (เข้าซอยหัวหิน ๗๐)  ให้เลี้ยวขวา วิ่งข้ามทางรถไฟ ตามป้ายไปจะขึ้นไปถึงยอดเขา (มีทางแยกขวาไปวัดห้วยมงคล น้ำตกป่าละอู) เขาลูกนี้สูง ๑๖๒ ม. มีเนื้อที่ ๓๕๒ ไร่ จัดเป็นสวนสาธารณะที่สวยงาม ร่มรื่น น่าไปนั่งพักผ่อนหย่อนใจ มีร้านอาหาร เครื่องดื่มอยู่ ๒ - ๓ ร้าน ยังไม่เคยชิม และเมื่อเดินเข้าไปในสวนสาธารณะประมาณสัก ๑๐๐ เมตร ทางซ้ายคือ ราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทางขวามคือ ลานชมวิวเมืองหัวหิน ซึ่งจุดนี้จะเป็นจุดชมวิวที่สวยที่สุด
                พลับพลาพระมงกุฎเกล้า ฯ  ต้องไปที่สถานีรถไฟหัวหิน ซึ่งสถานีรถไฟส่วนใหญ่ของไทยนั้น ต้องยกย่องว่า รักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมไว้ได้เก่งมาก ผมไปหัวหินตั้งแต่สมัยยังหนุ่ม ๆ ไปทางรถไฟ หน้าตาของสถานีรถไฟหัวหินก็เป็นแบบนี้ ไม่เห็นเปลี่ยนแปลง และติดกับสถานีรถไฟ ยังอยู่ในชานชลาคือ พลับพลาพระมงกุฎเกล้า ฯ ลักษณะเป็นพลับพลาไม้ ทรงจัตุรมุข ทาสีครีม หลังคาสีแดง เดิมตั้งอยู่ที่พระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑ การรถไฟจึงขอนำมาปลูกสร้างใหม่ ที่หัวหิน เพื่อเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเวลาแปรพระราชฐาน (ปัจจุบันมักจะเสด็จมาทางรถยนต์)
                ตรงข้ามกับพลับพลาพระมงกุฎเกล้า ฯ มีหัวรถจักรรถไฟ ไอน้ำรุ่นแรก รุ่นที่ต้องใช้ฟืนเผาไฟต้มน้ำ เรียกว่า รถไฟบอลด์วีล สร้างจากอังกฤษ
                หาดหัวหิน  เป็นชายหาดที่มีเม็ดทรายขาวละเอียดเหมือนแป้ง อากาศบริสุทธิ์ น้ำทะเลใส มีบ้านพักตากอากาศดั้งเดิมของคนมีสตางค์ หรือเจ้า ยังปลูกอยู่ริมหาด เมื่อก่อนนี้คนกรุงนิยมไปตากอากาศ ไปเที่ยวกันมากในฤดูร้อน แต่ปัจจุบันไม่ว่าฤดูไหน คนไทย คนเทศ ไปเที่ยวกันเต็มไปหมด โดยเฉพาะวันหยุดราชการ รถมากยงกับถนนในกรุงเทพ ฯ หาดหัวหินยาวประมาณ ๕ กม.
                สวนสนปฎิพัทธ์  หาดทรายสวย ริมหาดคือ ต้นสนปฎิพัทธ์ มีบ้านพักตากอากาศ ซึ่งดั้งเดิมคือ บ้านพักของอาจารย์ รร.เสนาธิการทหารบก เมื่อโรงเรียนย้ายทหาร จึงมาทำเป็นทำเป็นบ้านพักตากอากาศ และปลูกบ้านรับรองเพิ่มเติมเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งเลยทีเดียว ข้าราชการกลาโหมประจำการ ลดครึ่งราคา ข้าราชการแบบผม ลดเหมือนกัน แต่ไม่ลดครึ่งให้ผู้ร่วมคณะ
                เขาตะเกียบ  อยู่ติดทะเล มีถนนให้ขึ้นไปบนเขาได้ ขึ้นไปบนเขาตะเกียบมีวัด มีพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทร ไปชมวิว ชมทิวทัศน์เมืองหัวหิน หาดเขาตะเกียบยาวไปจนติดต่อกับหาดหัวหิน หาดสวนสนปฎิพัทธ์

                หาดเขาเต่า  ทางเข้าเลี้ยวซ้ายตามป้าย เมื่อเลยสวนสนไปแล้ว ผ่านอ่างเก็บน้ำ ผ่านทางแยกขวาเข้าโครงการพระราชดำริ สวนป่าหาดทรายใหญ่ ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ฟื้นพื้นที่เขาหัวโล้นให้กลายเป็นป่าที่สมบูรณ์ และเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ปลูกพรรไม้ต่าง ๆ ไว้ อยู่ในความดูแลของทหาร ไม่อนุญาตให้เข้าชม นอกจากเข้าชมเป็นหมู่คณะ และต้องติดต่อล่วงหน้า สอบถาม ๐๒ ๒๔๑ ๕๖๓๖ วิ่งเลยต่อไปถึงวัดเขาเต่า มีพระพุทธรูปบนเขา จะลงหาดเต่าให้เลี้ยวซ้ายตรงหัวมุมโรงเรียนเทศบาลบ้านเขาเต่า หาดสวยสงบเงียบ น่าลงเล่นน้ำอย่างยิ่ง และบริเวณวัดเขาเต่ายังมีวังปลา ที่ทางวัดเลี้ยงไว้ มีอาหารปลาขาย หรือนักตกปลาเช่าเรือไปตกปลาได้ เช่าจากหมู่บ้านชาวประมง ไปตกปลาเก๋า เวลากลางคืน
            สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ก็คือ ชายหาดหัวหิน หาดเขาตะเกียบ หาดสวนสนปฎิพัทธ์ และชายหาดเขาเต่า เที่ยวทะเลเล่นน้ำ ตกปลา และที่ขาดไม่ได้สำหรับนักท่องเที่ยวคือ อาหาร
            หัวหินมีอาหารสารพัดชนิด ทั้งไทย และเทศ ฝรั่ง มังค่ามีหมด อร่อย ๆ ทั้งนั้น ร้านอาหารที่เก่าแก่ที่ผมยกให้มี ๓ ร้าน คือ เก่าแก่เกิน ๓๐ ปี ขึ้นไปเลยทีเดียว อยู่ตรงหัวมุมสี่แยกตรงข้ามตลาดโต้รุ่ง เจ้าตำรับผัดคะน้าคลุกปลาเค็ม ปลาจารเม็ดทอด อีกร้านไฮ้เปียง ย้ายมาอยู่ใกล้พระราชวัง จานเด็ดคือ ขาหมูน้ำแดง อีกร้านเดิมอยู่ใกล้หอนาฬิกา (หอนาฬิกาก็หายไปแล้ว) ไข่ปลาริวกิวผัดฉ่า ไอศริมเจ๊นิ อยู่ในตลาดโต้รุ่ง เข้าไปแล้วอยู่ทางซ้าย
            ส่วนบรรดาอาหารทะเลที่เป็นของฝากทั้งหลาย ซื้อได้ที่ในตลาดฉัตรไชย  หรือไปปากน้ำปราณบุรี หรือแถวริมถนนก่อนทางเข้าสมุทรสงคราม ขากลับฝั่งซ้ายมือ
            ที่เล่ามาล้วนเป็นร้านเก่าแก่ ถ้าใหม่หน่อยอยู่บนถนนลงทะเล อยู่ตรงหัวมุมขวาบน ขายวันละหลายร้าน เช่น ตอนเช้าอร่อยที่สุดคือ ข้าวแกง และอีกหลายอย่าง เที่ยงก็เปลี่ยนไป ข้าวแกงหมด อย่างอื่นมาแทน ตกค่ำเปลี่ยนไปอีก อร่อยทั้งวัน
            ร้านดั้งเดิมเป็นร้านอาหารแบบอาหารจีน ตั้งเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๗  มีโต๊ะ ม้านั่งแบบเก่าแก่ ต่อมาย้ายจากใกล้หอนาฬิกา ไปอยู่หน้าตลาดโต้รุ่ง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๗ พอมาปี พ.ศ.๒๕๕๑ เมื่อเดือนสิงหาคม ย้ายมาอยู่ใหม่ คราวนี้สร้างร้านโอ่โถง มีห้องแอร์ มีที่จอดรถ นั่งสบายแต่โต๊ะเก่าแก่ ไม่มีแล้ว ใหม่หมดทั้งร้าน เส้นทางไปร้านหากมาจากพระราชวังไกลกังวล อยู่ทางขวามือ หากมาจากตลาดฉัตรไชย อยู่ระหว่างซอย ๕๔/๑ ตรงข้ามร้านขายขนมปังฝรั่งเศส (อิ่มแล้วอย่าลืมแวะร้านนี้)  อาหารแนะนำ มีแกงคั่วส้ม ไข่ปลาริวกิว ต้มยำไข่ตุ๋น กุ้งแม่น้ำ อาหารที่ผมสั่งมาชิมมีแค่ ๓ อย่าง เพราะชิมกันแค่ ๒ คน สั่งมากกินไม่หมด
            ยำขาหมูทอดกรอบ  ต้องยกนิ้วให้ทั้ง ๕ นิ้ว ขาหมูทอดกรอบ ๆ จริง ๆ เคี้ยวดังกร๊อบเลยทีเดียว น้ำยำซึมเข้าเนื้อ ทำให้ชุ่มฉ่ำ กรอบแบบมีรสยำในตัว ยำมากับผัก หอมใหญ่ คึ่นไช่
            ไข่ปลาริวกิวผัดฉ่า  จานนี้ต้องกินกับข้าวสวยร้อน ๆ ข้าวจานเดียวไม่พอ เผ็ดนิด ๆ เผ็ดอร่อยหอมด้วยกลิ่นพริกไทยอ่อน มีเนื้อปลาอินทรีย์ขาว น่ากินผัดมากับไข่ปลาริวกิว เคี้ยวมันดีนัก ส่วนเนื้อปลาที่ไร้ก้าง ขาวนุ่ม
            ปลาสะเต๊ะ ไม่ได้ถามว่าปลาอะไร มี ๖ ไม้ แต่ปิ้งแห่งไปนิด ส่วนน้ำจิ้มอร่อยมาก จิ้มน้ำจิ้มสะเต๊ะให้ชุ่ม แล้วตามด้วยแตงกวาดอง
            ปิดท้ายด้วย ไอศคริมเอเต้ ฟอร์โมด ไอศคริม
            อิ่มแล้ว ข้ามฟากไปฝั่งตรงข้าม เข้าร้านขนมปังฝรั่งเศส มีขนมฝรั่งเศส ขายหลายอย่าง ขนมปังเค้กก็มี พาย ก็มี หลายชนิด เอแคร์ ที่ต้องหอบหิ้วแบกมาให้ได้คือ ขนมปังบาแก็ด ที่เป็นท่อนยาว ๆ เอามาหั่นเฉียง เข้าเตาอบ ทาเนย โรยน้ำตาลวิเศษนัก และอีกรายการที่ต้องซื้อคือ ขนมปังกรัวซ๊องค์ ทั้งแบบมีไส้ เป็นไส้ต่าง ๆ และแบบไม่มีไส้ เอามาไว้เป็นอาหารเช้า วิเศษนัก ใครเข้าร้านนี้แล้วไม่เสียเงิน สงสัยกินอะไรไม่เป็น

..................................


| บน |