จิบน้ำชา ชิมขนม ชมตำหนัก

            ชื่อเรื่องของผมออกจะยาวและชื่อพิกล ๆ อยู่ แต่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่ไปในงานนี้คือ เริ่มด้วยไปชมตำหนัก แล้วจิบน้ำชา กินขนมที่หายากมากในเมืองไทยคือ "ขนม SCONE" ที่ชาวอังกฤษเขามักจะกินกันในตอนดื่มน้ำชาในตอนบ่าย เวลาผมไปอังกฤษ ไม่ได้ไปกับทัวร์ตอนบ่ายก็จะพลอย (ดัดจริต)  ดื่มน้ำชา กินขนมสโคนกับเขาทุกวันไป โดยเฉพาะคราวที่ยังหนุ่มกว่านี้หลายสิบปี ไปถึงกรุงลอนดอนแล้วก็เช่ารถโฟลค์เต่า ขับตระเวนแทบจะทั่วเกาะอังกฤษ พอตกบ่ายก็หิวน้ำชาติดหมัดขึ้นมาทันที เหมือนกับติดยาเสพติด ต้องจิบน้ำชา กินสโคน ส่วนสโคนหน้าตาเป็นอย่างไรลองชมในภาพดู ที่อังกฤษเคยชิมอันโตกว่านี้ จะเรียกว่าขนมปังก็คงได้ มีรสหวาน มันนิด ๆ ทาเนยและแยม พอส่งเข้าปากเคี้ยวแล้ว ตามด้วยน้ำชาที่ใส่น้ำตาล (ผมไม่ใส่นม) เคยพบร้านน้ำชาและสโคนที่เชียงใหม่ ทางไปตามถนนไปดอยสุเทพ สายที่ผ่านโรงพยาบาลมหาราชไปจนถึงเชิงดอย (ตรงต่อไปร้านกาแล)  เลี้ยวซ้ายไปมีร้านน้ำชาแบบอังกฤษและมีสโคน แต่สโคนอร่อยพอแก้ความอยากกินได้ ร่ายยาวไปเลยยังไม่ถึงตำหนักสักที
            ตำหนักที่ไปชม ไปชิม ไปจิบน้ำชา ชิมขนม คือ ตำหนักประถม ซึ่งทุกปีในเดือนธันวาคม จะจัดเทศกาลจิบน้ำชา ชิมขนม ชมตำหนัก ระยะเวลาในการจัดงานประมาณ ๕ วัน และจะจัดในเดือนธันวาคมเท่านั้น ส่วนกำหนดวันในแต่ละปีนั้นไม่แน่นอน ซึ่งจะประกาศให้ทราบทางหนังสือพิมพ์เป็นปี ๆ ไป และลงในหนังสือพิมพ์น้อยฉบับมาก น่าที่การท่องเที่ยวจะให้ความร่วมมือ ช่วยประสานว่าในปีนี้จะจัดในระหว่างวันที่เท่าใด แล้วประกาศไว้ในเทศกาลท่องเที่ยวของแต่ละปีของการท่องเที่ยว ก็จะมีผู้ไปชมมากยิ่งขึ้น ของดี ๆ เช่นนี้เสียดายที่ไม่ค่อยจะมีโอกาสได้ชมกัน ผมไม่ทราบว่าเคยจัดมาก่อนหลายปีแล้ว ปีนี้มาทราบ เพราะลูกชายอ่านพบในหนังสือพืมพ์ธุรกิจ ไม่ใช่หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ จึงมีโอกาสได้ไปชมตำหนักประถม เป็นปีแรก และปีหน้าถ้าทราบวันที่ก็จะไปอีก ปีหน้าผมหมายถึงเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒ เพราะปีนี้ผมไปวันอาทิตย์ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๑ สอบถามวันมีเทศกาล ๐๒ ๕๘๙ ๗๑๗๓, ๐๒ ๒๖๑ ๔๗๗๗
            ตำหนักประถม - นนทบุรี  อยู่ที่ ๔๕/๕ ซอยอัคนี ถนนงามวงศ์วาน ซอย ๒ เวลาไปจากสี่แยกเกษตรศาสตร์จะอยู่ทางซ้ายมือ ซอยเลย ธ.ไทยพาณิชย์ ก่อนถึงทางแยกเข้ากระทรวงสาธารณสุข เมื่อเข้าซอย ๒ ไปแล้วประมาณ ๒๐๐ เมตรเลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ ๑๐๐ ม. จอดรถลานหน้าคลังธนาคารทหารไทย ที่เปิดให้บริการเวลามีเทศกาล ตัวตำหนักประถมจะอยู่ฝั่งตรงข้ามในบริเวณที่งดงามอย่างยิ่ง จังหวัดนนทบุรี
            ตำหนักประถมเป็นตำหนักแรกในวังเพชรบูรณ์ ของสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย (พ.ศ.๒๔๓๕ - ๒๔๖๖) พระราชโอรสองค์ที่ ๗๒ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และองค์ที่แปดของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง
            เมื่อเสด็จไปศึกษา ณ ประเทศอังกฤษแล้วเสด็จกลับมาใหม่ ๆ ยังไม่มีที่ประทับเป็นส่วนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเชษฐาองค์โตร่วมพระราชชนนี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราขทานที่ดินบริเวณพระราชวังปทุมวัน และพระราชทานนามวังนี้ว่า วังเพชรบูรณ์ ซึ่งที่ตั้งดั้งเดิมอยู่ที่สี่แยกราชประสงค์ (ปัจจุบันคือ ศูนย์การค้าเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์)  เป็นวังที่มีพื้นที่ร่มรื่นมาก ด้านหน้าติดถนนพระราม ๑ ด้านขวาติดวังสระปทุม ด้านซ้ายติดถนนราชดำริ และด้านหลังติดคลองแสนแสบ ภายในวังมีสระใหญ่สองสระ เกาะน้อยใกญ่ รายล้อมไปด้วยต้นไม้
            สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุช ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๕ ซึ่งก่อนหน้านั้น เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๑ สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (รัชกาลที่ ๖) ทรงพระประชวร แพทย์ได้แนะนำให้เสด็จมาประทับรักษาพระองค์ที่เกาะสีชัง ซึ่งรับลมอากาศเย็นสบาย และนิยมกันมาพักรักษาตัว แต่ยังไม่มีพลับพลาที่ประทับ ต้องพักที่เรือนหลวง ซึ่งปลูกไว้ให้ฝรั่งเช่า ต่อมาสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินี ซึ่งเวลานั้นดำรงพระยศเป็น พระนางเจ้าพระวรราชเทวี ก็ประชวรและเสด็จมาพักรักษาพระโรคที่เกาะสีชังด้วย แต่ต้องประทับในเรือ เมื่อเรือโคลงเคลงมากเข้า ต้องขึ้นมาปลูกกระโจมพักใต้ต้นมะขาม พระพุทธเจ้าหลวงจึงพระราชทานทรัพย์สร้างตึกขึ้น สำหรับใช้เป็นที่พักฟื้น ๓ หลัง พระราชทานนามว่า ตึกวัฒนา ตึกผ่องศรี และตึกอภิรมย์ และยังมีการก่อสร้างต่อมาอีก เพราะ ร. ๕ เสด็จมาประทับบ่อย ตราบจนวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๔๓๕ ขณะการก่อสร้างยังดำเนินก้าวหน้าต่อไป พระนางเจ้าวรราชเทวีได้ประสูติสมเด็จ ฯ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก ในพระราชฐานบนเกาะสีชัง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จึงพระราชทานนาม พระราชวังใหม่ของพระองค์ ในวันสมโภชเดือนพระราชโอรสองค์ใหม่ ที่ประสูติบนเกาะสีชังว่า พระจุฑาธุชราชฐาน
            ที่วังเพชรบูรณ์นี้ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุช ฯ ได้ทรงนิพนธ์บทละครดึกดำบรรพ์ไว้ ๓ เรื่องคือ พระยศเกศ สองกรวรวิก และจันทกินรี และทรงเป็นศิลปินไทยพระองค์แรก ที่ทรงเล่นพิณฝรั่ง หรือฮาร์พ และซื้อฮาร์พตัวแรกจากอังกฤษ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๙ ซึ่งฮาร์พตัวนี้ยังอยู่ในตำหนักปัจจุบัน และเคยส่งไปซ่อมที่โรงงานดั้งเดิมที่อังกฤษด้วย
            สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๖ ด้วยพระชนมายุเพียง ๓๑ ชันษา วังเพชรบูรณ์คงเป็นที่ประทับของพระชายา ม.จ.บุญจิราธร จุฑาธุช ซึ่งสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.๒๕๒๓ และวังเพชรบูรณ์จึงกลับไปอยู่ในความครอบครองของสำนักงานทรัพย์สิน ฯ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา พระธิดาในสมเด็จ ฯ ได้ขอพระราชทานรื้อถอนบางส่วน เพื่อชะลอมาไว้ที่งามวงศ์วาน ซอย ๒ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ เป็นการรื้อถอนที่กลับมาปลูกตามรูปเดิมทุกประการ ตามหลักสถาปัตยกรรมที่ถูกต้อง
            เมื่อเข้าประตูไปชมในพระตำหนัก ทางขวามือจะมีสระน้ำ มีเรือนริมสระเป็นเรือนเล็ก ชั้นเดียว ภายในไม่มีสิ่งมีค่า วงดนตรีที่จะแสดงเวลามีเทศกาล  จะตั้งแสดงด้านหน้าตำหนักน้อยนี้ หลังน่ารัก และมีซุ้มไม้ ตั้งโต๊ะแสดงการตั้งชุดน้ำชา
            ตำหนักประถม เป็นอาคารไม้สัก ใต้ถุนสูง เวลามีเทศกาล ชั้นล่างจัดโต๊ะสำหรับนั่งจิบน้ำชา เป็นอาคารที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก มีการวางห้องต่าง ๆ ให้ติดต่อกัน ภายใต้หลังคา เพดานสูง เป็นอาคารฝรั่งหน้าตาไทย มีห้องใต้หลังคาเป็นการจัดบ้านตามจินตนาการของผู้จัดว่าบ้านศิลปินหนุ่มนั้น น่าจะมีลักษณะเช่นใด
            เมื่อขึ้นบันไดไปบนตำหนัก จะมีสาวเจ้าหน้าที่คอยบรรยาย ห้องแรกเป็นห้องรับแขก ห้องเสวย มีของเก่าดั้งเดิมจัดไว้ ห้องที่ ๒ เป็นห้องทรงพระอักษร ติดกับห้องพระบรรทมเตียงเดี่ยว และยังมีห้องพระบรรทมเตียงนอนคู่อีกห้องหนึ่ง มีห้องใต้หลังคาซึ่ง กว้างขวางมาก จัดเป็นห้องพระตำหนักได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่น
            ด้านหลังตำหนักประถม มีเรือนไม้หลังใหญ่ ประกอบขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔ จุดเด่นของหลังใหม่นี้คือ ห้องโถงปิดลายทอง และฮาร์พตัวดั้งเดิม จะอยู่ในห้องโถงนี้ วันที่มีเทศกาลเวลา ๑๓.๐๐ จะมีอาจารย์สาว มานั่งดีดฮาร์พให้ฟัง ทุกห้องห้ามถ่ายภาพ
            ติดกับห้องโถง มีห้องเสวย มีจานที่เพ้นท์สีโดยพระองค์หญิงประดับไว้
            ชั้นล่าง จำลองฮาร์พ เล็กว่าของจริงหลายเท่าใส่ตู้โชว์ไว้ ถ่ายภาพได้ และด้านหน้าจะตั้งจำหน่ายของที่ระลึก หนังสือเก่า รูปโปสการ์ด รายได้จะเข้ากองทุนสุทธสิริโสภา เพื่อสภากาชาดไทย รวมรายได้ทุกอย่าง ค่าผ่านประตูเข้าชมเพียง ๓๐ บาท มีศูนย์ฝึกฮาร์พ ๑๒ สุขุมวิท ซอย ๔๓ ติดต่อ ๐๒ ๒๖๑ ๔๗๗๗ - ๘ รับฝึกสอนทั่วไป เดินชมตำหนักครบทุกจุดแล้ว ใกล้เวลาแสดงคอนเสริท์ ก็กลับไปใต้ตำหนักประถม ที่จัดที่นั่งไว้จิบน้ำชา น้ำชาชุดละ ๑๒๐ บาท มีชา ๑ กา มีสโคน ๒ ชิ้น พร้อมเนย และแยม ต้องบอกว่าอร่อยมาก มีชุดขนมและของว่างแบบไทย พร้อมชาอีก ๑ กา ชุดละ ๒๑๐ บาท แต่ผมอยู่ที่ตำหนักประถม แค่รายการจิบชา ไม่ได้อยู่ฟังคอนเสริท์ ซึ่งวันนี้จะเป็นชุด ๓ พี่น้อง ตอน ๑๗.๐๐ คือ "Paye, Purn & Pui"
            ร้านชื่อเช่นนี้ เพราะเจ้าของมีอาชีพตัดผมมาก่อน ยังตั้งโต๊ะตัดผมไว้ที่มุมหนึ่งของร้าน ไม่ทราบว่ายังตัดอยู่หรือเปล่า และในร้านยังมีโต๊ะโบราณแบบเก่า แต่ที่นั่งกินอาหารที่เยี่ยมที่สุดคือ ระเบียงริมแม่น้ำเจ้าพระยา หากยามเย็นจะสวยมาก เพราะเห็นอาทิตย์ตก เห็นไฟเปิดสว่างไสวที่สะพานพระราม ๔ ก่อนค่ำเห็นเรือวิ่งเต็มแม่น้ำ โดยเฉพาะเรือโยง ที่บรรทุกทราย หรือข้าวสาร ล่องลำเจ้าพระยามา
            เส้นทางไปร้าน ไปตามถนนแจ้งวัฒนะ มุ่งไปยังห้าแยกปากเกร็ด พอผ่านห้าแยกที่เดี๋ยวนี้ไปอยู่ใต้สะพานพระราม ๔ แล้ว เลาะข้างสะพานไปนิดเดียว จะมีซอยทางซ้ายมือ พอเลี้ยวซ้ายเข้าซอยจะมองเห็นวัดสนามเหนือ อยู่สุดซอยวิ่งเข้าไปจอดรถในวัด เก็บค่าจอดคันละ ๓๐ บาท ตลอดวัน จะข้ามเรือไปเที่ยวเกาะเกร็ด ก็จอดที่ลานวัดแห่งนี้ (หาไม่เลี้ยวเข้าซอย ตรงไปจะไปยังท่าน้ำปากเกร็ด)
            เมื่อจอดที่ลานวัดแล้ว ทางขวามีท่าน้ำ เดินเข้าซอยเล็ก ๆ มีป้ายบอก ลอดซุ้มไม้เข้าไปยังตัวร้าน รีบไปหรือจองโต๊ะ จะได้ที่นั่งระเบียงริมแม่น้ำสวยนัก
            น้ำพริกโจร ชื่อน่ากลัว แต่อร่อยเด็ด เผ็ดนิดหน่อย กินกับผักสด ใส่จานล้อมถ้วยน้ำพริกมา มีทั้งทั้งมะเขือ สายบัว แตงกวา ถั่วฝักยาว ถั่วพู ขมิ้นขาว นำเครื่องน้ำพริกมารวมกัน ใส่กุ้งสด บีบมะนาวชูรส หั่นกระเทียมโรย มาเจ็บตรงหั่นพริกขี้หนูคลุกมาด้วย
            ฉู่ฉี่ปลาเนื้ออ่อน รสออกหวาน เนื้อปลาก็หวาน ตัวโต จานนี้ ๒๕๐ บาท
            ผัดสายบัว กุ้งสด อาหารง่าย ๆ อร่อยสุด ๆ อย่าโดดข้ามไปเป็นอันขาด ใส่มันกุ้งโรกพริกไทยให้มีรส ผัดแล้วสายบัวยังกรอบ กลับมาบ้านผัดบ้างไม่ยักกะเหมือน
            กุ้งชุบแป้งทอด บริการหลายชายเหมาหมดจาน คนเดียว
            ต้มข่าปลาสลิด ใส่ใบมะขามอ่อน ซดตามตอนกินข้าวกับน้ำพริกโจร
            อาหารแนะนำ เขามีอีกหลายอย่าง ร้านนี้เจ้าบท เจ้ากลอน เขียนกลอนไว้ข้างฝา ปิดท้ายแก้เผ็ดด้วย ลอยแก้ว ได้แก่ ลูกตาล, สละ, สตอร์เบอร์รี่ และมะปรางลอยแก้ว

...............................................................


| บน |