| หน้าต่อไป |

อุทยานแห่งชาติเขาสก

           อุทยานแห่งชาติเขาสก นับเป็น ๑ ใน ๔ ของอุทยานแห่งชาติที่อยู่ในพื้นที่ของจังหวัดสุราษฎร์ธานีหากให้ผมนับ ผมนับได้ว่าอุทยานแห่งชาติ ที่ประกาศจัดตั้งแล้วทั่วประเทศ มีอยู่๑๓๖ แห่งด้วยกัน  ผิดถูกคงไม่มากนัก  ส่วนวนอุทยานซึ่งขึ้นกับจังหวัดนั้นไม่ทราบว่ามีอยู่เท่าใด เพราะมีแยะกว่า  อุทยานซึ่งขึ้นอยู่กับกองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้และขอบเขตของงานอุทยานแห่งชาตินั้นมากมายกว้างขวางนัก  น่าจะได้แยกออกจากกรมป่าไม้ป็นสำนักงานที่ขึ้นตรงต่อปลัดกระทรวงเกษตร  หรือกระทรวงเกษตร มากกว่าที่จะขึ้นกับกรมป่าไม้ที่มีขอบเขตของงานกว้างขวางอย่างมหาศาล อุทยานแห่งชาติในจังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมทั้งที่เลยไปกินเอาพื้นที่จังหวัดข้างเคียงด้วยมี ๔ อุทยานด้วยกันคือ
               ๑  อุทยานแห่งชาติเขาสก
               ๒  อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น
               ๓  อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง
               ๔  อุทยานแห่งชาติแก่งกรุง
           ผมจะเล่าถึงอุทยานแห่งชาติเขาสกเพียงแห่งเดียว อีก ๓ แห่งนั้นเก็บเอาไว้หากินในโอกาสต่อไป ผมเดินทางไปจากกรุงเทพ ฯ แวะนอนเสียที่ชุมพรหนึ่งคืน  พอรุ่งขึ้นก็ตรงไปผ่านอำเภอหลังสวนผ่านอำเภอไชยา และไม่ได้แวะเข้าไปนมัสการพระบรมธาตุไชยา ตั้งใจว่าขากลับจึงจะแวะแต่ปรากฎว่าขากลับจากภูเก็ต ไปกลับเสียทางจังหวัดระนอง เพราะจะไปเยี่ยมซาละเปาทับหลีตัวจริงว่าเจริญงอกงามแค่ไหนหลังจากที่ได้กิน ได้เขียนถึงมานานคงจะร่วมสามสิบปี และซาละเปาทับหลีเวลานี้ระบาดไปทั่วกรุงแล้ว แถวบ้านของผมก็มีแต่ไม่รู้ว่าของจริงหรือของปลอม แต่ของเขาขายดีก็แล้วกัน ผมชิมแล้วไม่บอกว่าเป็นอย่างไร  เหมือนไก่หุบบอนที่ศรีราชาเดี๋ยวนี้วิ่งรถไปทางศรีราชา เจอป้ายไก่หุบบอนแยะไป ไปถามไถ่ทางร้านเขาดูก็ยืนยันว่าอิฉันไม่มีสาขาที่ใด ขายอยู่แห่งเดียวจนกลายร่างจากห้องแถวไม้ กลายเป็นตึกใหญ่แล้วที่อำเภอไชยาหากเลยเข้าไปจนถึงพุมเรียง และเลยต่อไปยังชายทะเลที่เป็นป่าชายเลน ร้านพลับพลาซีฟู๊ดยังอยู่ดีฝีมือไม่ตก อาหารปูทะเลของเขาเด็ดทุกจาน
           เมื่อเลยทางแยกเข้าพระบรมธาตุไชยาไปแล้ว ถนนก็เริ่มเข้าเขตก่อสร้างที่กำลังขยายเป็นสี่เลนส่วนจากกรุงเทพ ฯ มาจนถึงแยกเข้าไชยานี้ประมาณ ๖๕๐ กิโลเมตร เสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์เป็นสี่เลนหมดแล้วที่ต่อจากไชยากำลงขยายและถึงวันนี้คงไปได้ไกลแล้ว  พอผ่านทางแยกเข้าพุนพินไปแล้วก็ตรงต่อไปเพื่อเลี้ยวไปทางทับปุด จังหวัดพังงา ซึ่งเวลานี้การไปภูเก็ตนิยมไปกันทางถนนสายนี้เพราะไม่ต้องคดเคี้ยวไปตามไหล่เขาเหมือนไปตามถนนสาย สี่แยกปฐมพร (ชุมพร) ไปยังระนอง๑๒๑ กิโลเมตร  ดูเหมือนจะหาที่ราบวิ่งไม่ได้เลย เมื่อผ่านปั๊ม ปตท. ทางขวามือไปแล้วก็เลี้ยวขวาเข้าถนนสาย ๔๐๑ ซึ่งจะไปยังทับปุดและถนนสาย ๔๐๑ นี่แหละที่จะผ่านทางแยกเข้าเขื่อนเชี่ยวหลานหรือเขื่อนรัชประภาผ่านทางแยกเข้าอุทยานเขาสก
           ที่ผมบอกว่าพอผ่านปั๊ม ปตท. แล้วก็เลี้ยวขวานั้น ตรงปั๊มนี้เขาเรียกว่าร้านสหกรณ์โค ออฟ ทำไมต้องตั้งชื่อเป็นภาษาฝรั่งก็ไม่เข้าใจ  แต่ขอยกย่องว่าเป็นสหกรณ์ริมทางที่สมควรเป็นตัวอย่างได้จำอำนวยประโยชน์ให้แก่นักท่องเที่ยวที่ขับรถท่องเที่ยวทางไกล  น่าจะมีการจัดตั้งขึ้นทุกจังหวัดในเส้นทางหลวงก่อนที่จะเข้าตัวเมือง หรือเมื่อออกจากตัวเมือง ส่วนการซื้อที่ดินมาจัดตั้งสหกรณ์จนเป็นข่าวครึกโครมเพราะเขาว่าไปเอาเงินงบประมาณมาจัดซื้อให้สหกรณ์ ซึ่งเป็นนิติบุคคลนั้นผมจะผ่านไปไม่ใช่เรื่องในหัวข้อ เที่ยวไป ของผมเอาแต่ที่เขาทำดีก็แล้วกัน
           สหกรณ์ โค ออฟ (CO OP) ตั้งอยู่ทางขวาของถนนสาย ๔๑ คือสายที่มาจากชุมพร (ตรงสี่แยกปฐมพรจ.ชุมพร หากเลี้ยวขวาไประนอง จึงจะเป็นเพชรเกษม สาย ๔) โค ออฟ วันที่ผมแวะเข้าไปเยี่ยมนี้ยังไม่สมบูรณ์นัก แต่หากมีครบตามป้ายที่เขาขึ้นป้ายไว้แล้ว ก็นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยม เช่นมีปั๊มน้ำมัน (ปตท.) มีที่ทำการไปรษณีย์ โทรศัพท์ การท่องเที่ยว (ขึ้นป้ายไว้แล้ว)ร้านอาหารประเภทฟาสฟู๊ด ของที่ระลึก ร้านขายของฝาก ห้องอาบน้ำ ห้องสุขาชั้นดี"ห้องละหมาด" ศูนย์อาหาร ๒๔ ชั่วโมง ภัตตาคารสหกรณ์ ตู้เอทีเอ็ม ตลาดกลางผักผลไม้ ลานจอดรถที่กว้างใหญ่ ที่จอดรถขนส่ง จดจำมาได้แค่นี้ไม่ทราบว่ายังมีอะไรหลงเหลืออีกบ้าง

           ก็เลยแวะเข้าไปอุดหนุนเสียตามธรรมเนียมของคนช่างซื้อ จากนั้นก็วิ่งมายังสี่แยกเลี้ยวขวาเข้าถนนสาย๔๐๑ วิ่งไปจนผ่านทางแยกเข้าอำเภอคีรีรัฐ แต่ยังตรงต่อไปจนถึงกิโลเมตรที่ ๕๔ (นับจากสี่แยก) ก็จะถึงทางแยกขวาเข้าเขื่อนรัชประภาหรือเดิมชื่อว่าเขื่อนเชี่ยวหลานวิ่งไปอีก ๑๒ กิโลเมตร ก็ถึงบริเวณเขื่อนซึ่งก่อนจะถึงเขื่อน จะต้องข้ามสะพานข้ามแม่น้ำพุมดวง เมื่อเข้าประตูเขื่อนตรงไป ก็จะไปยังบ้านรับรอง ไปประชาสัมพันธ์ เลี้ยวขวาก็จะไปยังสันเขื่อน เขื่อนนี้เป็นเขื่อนเอนกประสงค์  เป็นโครงการตามพระราชดำริ(เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก คือเขื่อนแรกตามโครงการพระราชดำริพ.ศ. ๒๕๐๗)
           เขื่อนรัชประภาลงมือก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ เมื่อภัยจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ลดลงแล้วจากผลของการปราบปรามของกองทัพภาคที่ ๔ ซึ่งจบสิ้นการสู้รบเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖โดยการนำของแม่ทัพ หาญ  ลีลานนท์ เขื่อนสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ ระดับน้ำลึก ๙๕ เมตร สันเขื่อนยาว ๗๐๐ เมตรระดับสันเขื่อนสูง ๑๐๐ เมตร ตัวเขื่อน เป็นหินทิ้งแกนดินเหนียว เมื่อกั้นเขื่อนแล้วเกิดอ่างเก็บน้ำมหึมาครอบคลุมพื้นที่มากถึง ๑๖๕ ตารางกิโลเมตร ภายในอ่างเก็บน้ำมีเกาะมากกว่า ๑๐๐เกาะ มีทัศนียภาพที่งดงามมาก จะดูว่างามแค่ไหนต้องดูจากทางอากาศ เรียกว่างามกันชนิดสุดสุดเลยทีเดียว โดยเฉพาะตอนในที่เป็นภูเขาโอบล้อมเข้าหากัน  เกิดเป็นอ่าวน้ำลึก สีน้ำจึงเป็นสีน้ำเงินเข้มหรืองามน้อยลงไปหน่อยก็ลงเรือวิ่งเที่ยวในทะเลสาป หาเช่าเรือได้เช่าตรงไหนราคาเท่าใดถามได้จากประชาสัมพันธ์ท่าเรือก็ไม่เช่า  เฮลิคอปเตอร์ก็ไม่มี จงขึ้นรถไปที่สันเขื่อนชมความงดงามจากสันเขื่อนก็งดงามจนอยากจะนั่งชมตั้งแต่เย็นไปจนเช้า (ชมกลางวันไม่สู้ร้อนแดด) และต้นไม้ริมเขื่อนก็ร่มเย็นสบายดีที่ช่วยให้สบายยิ่งกว่านั้นคือ มีสุขาอย่างดีทีเดียว ใกล้ ๆ สุขามีศาลาเป๊ปซี่ศาลาหนึ่งศาลาโคลาศาลาหนึ่ง ทั้ง ๒ ศาลา ขายเหมือนกันเว้นน้ำดำคนละยี่ห้อ อร่อยทัดเทียมกันคือไก่ย่าง หมักไก่ได้ที่ ย่างมาแล้วกินร้อน ๆ อร่อยจริง ๆ ซึ่งนอกจากไก่ย่างจะอร่อยแล้วยังมีส้มตำ ลาบ ยำปลาชิ้งชั้ง ไส้กรอกอีสานทอด ซื้อไก่ทั้งตัวยังไม่อิ่มหนำใจ ซื้อแบบย่างไว้เป็นขาจะได้เอามาแทะกินให้สนุกสนานไปเลย อิ่มแล้วเดินไปเข้าสุขาห่างออกไปไม่ถึง ๒๐ เมตร เป็นอาหารมื้อเที่ยงครั้งที่หนึ่งได้
           ต่อจากนั้นก็กลับมาออกถนนสาย ๔๐๑ มุ่งหน้าไปอุทยานแห่งชาติเขาสก วิ่งต่อไปอีก๓๐ กิโลเมตร  ก็แยกขวาเข้าอุทยาน อุทยานมีเนื้อที่ ๔๐๓,๔๕๐ ไร่ และรวมเอาเขื่อนเชี่ยวหลานเข้าไว้ด้วย  จึงมีแหล่งน้ำที่กว้างใหญ่ทั้งตามธรรมชาติและจากการสร้างอ่างเก็บน้ำ  สภาพป่าโดยทั่วไปเป็นป่าดงดิบชื้น มีพันธุ์ไม้มีค่าเช่นโคแหลม ตะเคียน ยาง ตาเสือ หงอนไก่ กระบาก ยมหอม อินทนิล เป็นต้น และยังประกอบด้วยพืชชั้นต่ำอีกมากมายเช่น "บัวผุด" ภายในอุทยานยังมีสัตว์ป่าเป็นจำนวนมาก เช่น ช้าง กวาง เสือหมี สมเสร็จ ชะนี ลิง เลียงผา นกชนิดต่าง ๆ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำขนาดใหญ่ได้แก่กบฑูต และพันธุ์ปลาที่หายากประจำถิ่นได้แก่ ปลามังกร จุดเด่นที่ควรแก่ความสนใจและไปเที่ยวชมได้ไม่ยากคือ "น้ำตกวิ่งหิน"อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานประมาณ ๒.๘ กิโลเมตร  รถวิ่งเข้าถึงลานได้น้ำตกจะไหลลงมารวมกับคลองสกและคลองสกทางด้านล่างของน้ำตกจะมีก้อนหิน ก้อนโต ๆ วางเรียงรายกันอยู่ยังกับยักษ์ไปจับเรียงสามารถใช้เป็นสะพานเดินข้ามคลองไปได้ หรือจะวิ่งไปก็ได้บางทีเลยเรียกว่า "บางวิ่งหิน"อีกแห่งที่งดงามและคล้ายออบหลวงของภาคเหนือคือ "ตั้งน้ำ"เป็นภูเขาที่ถูกน้ำกัดเซาะจนเขาขาดจากกัน  กลายเป็นหน้าผาหันเข้าหากันและทำให้น้ำในคลองสกไหลผ่านได้ เป็นวังน้ำลึกมาก ปลาชุม อยู่ห่างจากที่ทำการ๖ กิโลเมตร  แต่รถไปได้แค่ ๓ กิโลเมตร จากนั้นต้องเดินไปอีก ๓ กิโลเมตรเศษหรือจะนั่งเสลี่ยงให้เขาหามไปก็ไม่ว่ากัน  นอกจากนี้ในอุทยานยังมีอีกหลายน้ำตกเช่น น้ำตกโตนกลอย น้ำตกโตนไทร น้ำตกธารสวรรค์น้ำตกสิบเอ็ดชั้น น้ำตกแม่ยาย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วรถจะเข้าไม่ถึงต้องเดินต่อไปเมื่อ ๒ - ๓ วันมานี้ผมเห็น ทีวี ออกข่าวท่านรองนายกรัฐมนตรี นักเขียนไปประชุมส่งเสริมการท่องเที่ยวของสมุยก็อยากจะแนะท่านมี ๗ ข้อนั้น ให้เพิ่มเข้าไปอีก ๒ ข้อ คือ ข้อ ๘ ให้ส่งเสริมคุณภาพของอาหารและควบคุมราคา ให้ทำถนนเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติให้มากที่สุด และทำให้เป็นถนนชั้นดีไม่ต้องกว้างแคบ ๆ สัก ๔ เมตรก็พอ  แหล่งน้ำตกเมืองไทยนั้นมีความงดงามมากและมีจำนวนมากด้วย คนสูงอายุอย่างผมเดินไปชมไม่ไหวแล้ว  และอย่าลืมว่าคนเช่นนั้นมักจะพอมีอันจะกินและมีเวลาที่จะไปท่องเที่ยวพักผ่อนได้ หากยังชอบการเดินทางไม่เอาแต่นั่ง ๆ นอน ๆ รอความตาย แต่จะแพ้กันตอนเดินทางไกลนี่แหละ ผมเองอาศัยทีเป็นนักเดินทางจึงลุยมากักตุนเอาไว้แยะ พอมาเขียนเล่าสู่กันฟังได้แต่พอเขาเจออะไรใหม่ ๆ  ก็ไม่รู้จะไปอย่างไรไหว  เช่นถ้ำใหม่ที่เมืองกาญจนบุรีที่บอกว่ามีเสาหินปูนสูงที่สุดในโลกสูงถึง ๖๕ เมตร อยากไป แต่ดูรายการเดินทางแล้วระงับไว้ก่อน เหมือนไปติดต่อขอลงเรือล่องแก่งหินเพิงของจังหวัดปราจีนบุรีถิ่นเก่าซึ่งสมัยผมเป็นหนุ่ม ๆ นั้นยังไม่มีใครรู้จักแก่งหินเพิง อำเภอนาดี ยังไม่ได้จัดตั้งพึงมาดังพอติดต่อไปเขาถามอายุของเลขาตลอดกาลของผม พอบอกว่า ๖๐ ปีแล้ว  เขาร้องกรี๊ดกลับมาว่าไม่รับเจ้าค่ะ เขากลัวเป็นคดีความเอาลูกทัวร์ไปจมน้ำตาย นี่ขนาดยังไม่รู้ว่าผมอายุเท่าไรแต่กว่าท่านจะอ่านของผม ผมคงไปลุยเขมรและพม่ามาแล้ว  ไปแล้วรอดกลับมาได้ผมจะเอามาเล่าให้ฟัง
           อีกแห่งในอุทยานคือ ถ้ำค้างคาวอยู่ในถ้ำที่มีหินงอกหินย้อยงามนัก แต่ถ้ำนี้อยู่ไกลจากที่ทำการอุทยานประมาณ๒๑ กิโลเมตร ผมไม่เคยไปเขาบอกไว้แต่อยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานที่ ขส.๔ประมาณ ๓ กิโลเมตร  อย่างน้อยรถคงเข้าถึงหน่วยพิทักษ์อุทยาน ส่วนที่พักในอุทยานฯ มีบ้านพักอยู่ ๔ หลัง พักได้ประมาณ ๓๐ คน มีสถานที่สำหรับกางเต้นท์แต่ต้องแบกเต้นท์เอาไปกางนอนเอง
           จบการเที่ยวอุทยานแห่งชาติเขาสกเพียงเท่านี้  กลับมาออกถนนสาย ๔๐๑ ใหม่แล้วเดินทางต่อไปพอถึงบ้านบังกวนเหนือ  ก็แยกซ้ายเข้าสาย ๔๑๕ ไปเพื่อไปออกทับปุดเขตพังงาซึ่งจะขึ้นถนนใหญ่ซึ่งเป็นถนนสาย ๔ แล้วเลี้ยวขวานิด เลี้ยวซ้ายต่อเพื่อไปตามถนนสายอ้อมเขานางหงส์(หากไม่เลี้ยวเข้าสายนี้ ตรงไปจะต้องขึ้นเขานางหงส์ แล้วไปลงที่ตัวเมืองพังงาเขาสูงชันพอสมควร) เมื่อเลี้ยวเข้าถนนเลี่ยงเมืองมาได้สัก ๓ กิโลเมตร ให้เล็งทางขวาไว้ให้ดีๆ จะพบร้านหมุสะเต๊ะทับปุดเจ้าเก่าที่ผมเคยเขียนเล่าให้ฟังไปแล้ว
           ร้านหมูสะเต๊ะร้านนี้ชื่อร้าน ทับปุดฮารค์แวร์ น้องอี๊ดเจ้าเก่า เป็นสะเต๊ะที่มีแต่เนื้อหมูล้วนๆไม่มีมันติดให้เพิ่มความอ้วน ขายไม้ละ ๒.๕๐ บาท ไม้โตทีเดียว ต้องสั่งขนมปังปิ้งด้วยจึงจะเคี้ยวสนุกปากและเขาแจกน้ำจิ้มให้คนละจาน เดี๋ยวนี้คงขายดีขึ้นมาก เลิกขายน้ำสมุนไพรแล้ว หมูสะเต๊ะเคยใส่แช่ไว้ในกระติกตอนนี้ไปแช่ไว้ในลังแช่ โอเลี้ยง ชาดำเย็น แก้วละ๕ บาท ซดแล้วชื่นใจ ขับรถหาร้านมองดี ๆ ป้ายเขาตัวโต ประมาณ ๓ กิโลเมตร จากสามแยกทับปุดจะพบร้านหมูสะเต๊ะทางขวา
           วิ่งไปตามถนนสายเลี่ยงเมืองนี้ไปจนบรรจบกับถนนสาย ๔ ซึ่งก่อนถนนจะบรรจบทางขวามือคือทางเข้าสวนศรีนครินทร์ ซึ่งหากเข้าทางด้านนี้เหมือนลอดใต้ภูเขาเข้าไป ส่วนราชานุสาวรีย์สมเด็จย่าอยู่ทางหน้าถนนสาย ๔ เลี้ยวเข้าถนนสาย ๔ ไปอีกหน่อยทางขวามือจะมีทางแยกเข้าวัดสุวรรณคูหาหรือวัดถ้ำ เผลอ ๆ เลยเรียกว่าวัดถ้ำคูหาสวรรค์ เดี๋ยวนี้พัฒนาเสียสะอาดเรียบร้อยไปทั่วบริเวณวัดถือว่าเป็นวัดสำคัญมีโบราณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่ตั้งของวัดมีภูเขาอยู่ลูกหนึ่งมีถ้ำใหญ่น้อย หลายถ้ำ ถ้ำใหญ่ ถ้ำแจ้ง ถ้ำมือ ถ้ำแก้ว ถ้ำใหญ่นั้นจะต้องผ่านเพื่อไปเข้าถ้ำอื่นต่อเพดานถ้ำโค้งเหมือนประทุนเรือ มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ยาว ๗ วา ๒ ศอก เมื่อเข้าไปถึงก้นถ้ำใหญ่จะพบพระปรมาภิไธยของรัชกาลที่๕ ที่ ๖ และรัชกาลปัจจุบัน
           ย้อนกลับไปตรงสามแยกสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์อีกที หากเลี้ยวซ้ายจะมาทางวัดสุวรรณคูหาไปตะกั่วทุ่ง โคกกลอยและภูเก็ต หากเลี้ยวขวาจะเข้าเมืองพังงา ซึ่งเดี๋ยวนี้นิยมไปเข้าถ้ำพุงช้างกันมากผมยังไม่เคยเดินเข้าไป มีแต่แฟนหนังสือนี่แหละกรุณาจดหมายมาบอกว่า เดี๋ยวนี้เข้าถ้ำพุงช้างสะดวกแล้วถ้ำนี้อยู่หลังศาลากลางจังหวัดพังงา ภายในบริเวณวัดประพาสประจิมเขต สภาพในถ้ำมีหินงอกหินย้อยงดงามมาก มีธารน้ำไหลตลอดปี เขาบอกว่าต้องเดินลุยน้ำเข้ากันเลยจึงจะสนุกขอผลัดเอาไว้ก่อนแล้งหน้าคงมีเวลาไป ส่วนศาลากลางจังหวัดพังงาเก่าที่อยู่ทางขวาของถนนเป็นตึกชั้นเดียวทรงปั้นหยาตั้งอยู่ถนนเพชรเกษม ห่างจากตัวเมือง ๓.๔ กิโลเมตร  ตามเส้นทางไปภูเก็ตส่วนในสวนสมเด็จพระศรี ฯ นั้นถ้ำฤาษีสวรรค์และถ้ำลูกเสือ ส่วนการไปเที่ยวอุทยานทางทะเลอ่าวพังงานั้นต้องลงเรือเที่ยวเช่น ลงไปเช่าเรือที่ท่าเรือด่านศุลกากร ตอนที่ผมไปล่องครั้งแรกผมลงเรือที่ท่านี้ครั้งหลังลงมาจากภูเก็ตบ้าง มากับเรืออันดามัน ปริ๊นเซสบ้าง ฯ นอกจากนี้มีเรือสุระกุลหรือท่าเรือกะโสมที่อำเภอตะกั่วทุ่งท่าเรือบริเวณอุทยานแห่งชาติ ต้องใช้เวลาอย่างน้อยสัก ๓ ชั่วโมง ฤดูกาลที่เหมาะสมคือระหว่างเดือน ธันวาคม - เมษายน
           ทีนี้มุ่งหน้าไปภูเก็ต  จากวัดสุวรรณคูหาก็เลี้ยวขวาไปทางโคกกลอย แล้วไปข้ามสะพานเทพกระษัตรี ส่วนขากลับจากภูเก็ตจะข้ามสะพานที่สร้างไว้เดิมคือสะพานสารสินกลับมารอรถไม่สวนกันบนสะพานเหมือนเมื่อก่อน  ส่วนสมัยที่ผมไปครั้งแรกเมื่อ๓๙ ปีที่แล้ว  ไม่มีสักสะพาน ต้องเอารถจิ๊ปที่พ่วงด้วยรถเทรลเลอร์ลงแพขนานยนต์ข้ามไป เมื่อข้ามไปยังฝั่งเกาะภูเก็ตแล้วต้องไปอีก ๔๕ กิโลเมตร จึงจะเข้าเขตชุมชนของอำเภอเมืองผมไปนอนภูเก็ตหลายคืน พัก ๒ แห่ง รีบบอกที่พักแห่งแรกเสียก่อนเดี๋ยวจะลืมเพราะเป็นที่พักที่ดีเยี่ยม  ราคาถูกจนไม่รู้จะบอกได้ว่าถูกอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อเทียบราคากับที่พักทั้งหลายในภูเก็ต
           คือห้องพักในสถาบันราชภัฎภูเก็ต "ต้องจอง" ล่วงหน้าให้นาน ๆ เข้าไว้จึงจะได้พักแน่ๆ ห้องแอร์เตียงคู่ คืนละ ๓๐๐ บาท หากต้องมีตู้เย็นคืนละ ๓๕๐ บาท มีกาแฟให้ชงกินเองอยู่ที่ชั้นล่างแก้วละ ๑๐ บาท ห้องอาหารก็มี "๐๗๖ ๒๒๒๓๖๙ และ ๐๗๖ ๒๒๒๓๗๐ "เหตุที่ที่พักดีราคาถูก เพราะอาคารศรีราชภัฎของสถาบัน ฯ คือศูนย์ฝึกประสบการณ์วิชาชีพสถาบันราชภัฎ เลขที่ ๒๑ ถนนเทพกระษัตรี อำเภอเมือง ฯ  จังหวัดภูเก็ต๘๓๐๐๐ ทีนี้จะบอกเส้นทางอย่างไรจึงจะไปถูก วิ่งมาตามถนนเทพกระษัตรีเรื่อยมาจนเข้าชุมชนพบโรงเรียนพบสี่แยกที่มุมถนน มีปั๊มเอสโซ่ให้เลี้ยวขวาวิ่งเข้าไปจะชนสถาบัน ฯ เอง ไปไม่ถูกลองโทรถามดู แต่หากไม่ได้จองไว้ล่วงหน้าไม่ต้องเสียเวลาไป ใกล้เมืองสะดวกมาก
           อาหารเย็นของผมวันนี้ ผมกินก่อนเข้าที่พักเพราะผ่านมาก่อนก็แวะก่อน ชื่อร้านทะเลทอง ผมมาจากสะพานเทพกระษัตรีมาถึงกิโลเมตรที่ ๓๗ หรือหากมาจากในเมืองก็ประมาณกิโลเมตรที่๓๖.๒ (มาจากในเมืองเลี้ยวขวาตรงกิโลเมตรที่ ๓๖.๒ เพื่อเข้าซอย) จะพบซอยหรือถนนสายเล็กๆ ทางซ้ายมือ (ย้ำอีกทีมาจากสะพาน ฯ) เลี้ยวซ้ายเข้าซอยตรงนี้วิ่งไปจนตกทะเลระยะทางประมาณ๓.๕ กิโลเมตร จะถึงร้านที่ปลูกยื่นลงในทะเล  บรรยากาศดีเยี่ยม อาหารอร่อยมากราคาพอสมกับความอร่อย คณะเย็นนี้เป็นคณะใหญ่ จึงสั่งอาหารได้มากมายหลายอย่าง
           สาหร่ายทะเลทอง  เป็นแผ่นแล้วเอามาทอดจิ้มน้ำบ๊วยเจี่ย โรยงาน่ากิน
           จักจั่นทะเลชุบแป้งทอด  หากินยาก รีบสั่งมากินเสียโดยไวแกล้มดีนัก
           หอยชักตีนลวก  อย่าเผลอข้ามรายการนี้ไปเป็นอันขาด เทคนิคในการลวกต้องเอาหอยใส่ลงไปในน้ำเย็นแล้วเพิ่มความร้อนหากลวกในน้ำร้อนมันจะชักตีนเข้าไปในเปลือกหอยหมด ทำให้ยากต่อการแคะกิน ร้านเขาลวกเป็นตีนหอยจึงโผล่ออกมาดึงตัวหอยออกมาด้วยการดึงตีน  แล้วจิ้มน้ำจิ้มซีฟู๊ดตอนที่เขายกจานหอยชักตีนมาจงอย่าคุยกับใคร ให้ถือโอกาสกินให้มากกว่าคุย
           ปลาเก๋า ๓ รส  ใช้ปลาตัวโตเนื้อแยะ ทอดแล้วราดด้วยน้ำสามรส คลุกข้าวกินก็ได้
           ปูดำผัดผงกะหรี่  ปูดำเป็นปูป่าชายเลน ตัวกลม น้ำผัดจะออกรสหวาน
           ปูดำผัดพริกไทยดำ  รายการนี้ก็น่าลิ้มลอง
           ปิดท้ายเสียด้วยแกงเหลืองปลากะพงแดง  รสเข้มข้นใส่เม็งมะพร้าวและผักกะเฉดซดแกงไล่หอย
           อีกรายการแต่ไม่อยากแนะ  เพราะเป็นกุ้งกุลาดำ จับจากทะเลราคากิโลกรัมละพันบาทหากสตางค์แยะ ๆ ก็สั่งเข้าไป เพราะกุ้งกุลาดำจากทะเลนั้น รสวิเศษนักหากินยากนักแต่อร่อยคุ้มสตางค์ที่จ่าย
 
| หน้าต่อไป | บน |