ละลุ


            จังหวัดสระแก้ว ได้รับการยกฐานะเป็นระดับจังหวัดเมื่อไม่นานมานี้เองคือ ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เมื่อ ๒ กันยายน ๒๕๓๖ ให้แยกอำเภอสระแก้ว อำเภอคลองหาด อำเภอตาพระยา อำเภอวังน้ำเย็น อำเภอวัฒนานคร และอำเภออรัญประเทศ ออกจากการปกครองของจังหวัดปราจีนบุรี รวมตั้งขึ้นเป็นจังหวัดสระแก้ว ให้เปลี่ยนชื่ออำเภอสระแก้ว เป็นอำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดนี้แม้จะพึ่งเกิดเมื่อสิบกว่าปีมานี้ แต่มีพื้นฐานความเจริญมานานนับพันปีแล้ว เดี๋ยวผมจะเอามาเล่าให้ฟัง เป็นจังหวัดควรให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นจังหวัดที่มีลักษณะพิเศษ กล่าวคือ
            สระแก้ว เป็นเมืองเกษตรกรรม มีผลิตผลทางการเกษตร มีแคนตาลูปที่ดีที่สุดในประเทศไทย
            สระแก้วเป็นประตูการค้าสู่อินโดจีน เป็นเส้นทางการค้าคือ อรัญประเทศ - จังหวัดบันเตีย - เมียนเจย พนมเปญในกัมพูชา ไปจนถึงโฮจิมินต์ซิตี้ของเวียดนาม
            สระแก้ว เป็นเมืองท่องเที่ยว มีแหล่งโบราณสถาน แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ
            สระแก้วเมืองแห่งวัฒนธรรม ประชาชนสัญชาติไทยแต่หลายเชื้อชาติ หลายศาสนา แต่อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ภายใต้ร่มพระบารมีเช่นคนไทย คนไทยอีสาน คนไทยย้อ คนไทยเชื้อสายเขมร คนไทยเชื้อสายเวียดนาม คนไทยเชื้อสายจีน คนไทยเชื้อสายกุลา หรือเงี้ยว แต่อยู่ร่วมกันได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
            สระแก้วเมืองชายแดน แนวชายแดนติดต่อกับกัมพูชา มีถนนเลียบชายแดน ถูกต้องตามหลักการยุทธศาสตร์การต่อสู้เบ็ดเสร็จ (ผมบรรยายวิชานี้ ในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก นานกว่า ๑๕ ปี และสถาบันการศึกษาอื่น ๆ อีก) ขอเพิ่มเติมไว้สักเล็กน้อย แม้ว่าผมจะเกษียณอายุราชการมานานแล้ว แต่ก็ยังได้รับเชิญไปบรรยายเรื่อง ระบบการต่อสู้เบ็ดเสร็จ ซึ่งสระแก้วมีพื้นที่ชายแดนตรงตามระบบของการต่อสู้เบ็ดเสร็จ ซึ่งจะต้องมีแนวเขตต่าง ๆ รวม ๗ แนวคือ แนวป่าหมายแนวชายแดน (หลักเขตชายแดน พรรคพวกยกหลักหนีได้ จะได้ขโมยตัดไม้ล้ำแดนสะดวก) แนวฉากขัดขวาง (อาจจะขุดคูดักการเคลื่อนที่ของรถถังเอาไว้) มีแนวถนนเลียบชายแดน แนวป่าชุมชน (อาจจะเป็นป่าที่ปลูกขึ้น) แนวพื้นที่ทำกิน (เพื่อการเกษตรครอบครัวละประมาณ ๑๔ ไร่ ) แนวหมู่บ้านชายแดน (รวมพื้นที่อยู่อาศัยด้วย ประมาณครอบครัวละ ๑ ไร่) และแนวพื้นที่ส่วนหลัง (เพื่อการประสาน เช่นจะอพยพไปอยู่ที่ไหน เมื่อถูกโจมตี ใครจะให้ที่พัก ให้อาหาร ฯ) สระแก้วจึงเป็นจังหวัดที่สมบูรณ์ ถูกต้องตามหลักของระบบการต่อสู้เบ็ดเสร็จ (ยุทธศาสตร์พัฒนา+ยุทธศาสตร์ต่อสู้เบ็ดเสร็จ) ผมปฎิบัติหน้าที่แม่ทัพภาคที่ ๔ ส่วนหน้า ทำงานสำเร็จ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐ เป็นผลให้โจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายา ออกมามอบตัวพร้อมกัน ๒ ครั้ง จำนวนมากถึง ๖๔๔ คน และบัดนี้พวกเขาเป็นคนไทยไปหมดแล้ว ตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๔๙ และเป็นผลให้ขบวนการโจรก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดนสงบ จนเหลือแต่คำว่าโจรก่อการร้าย สับหางคำว่า แบ่งแยกดินแดนออกไปได้ ทำให้ถนนสายหน้าค่ายทหาร ฯ จาก อ.หนองจิก - อ.เมืองปัตตานี สร้างสำเร็จหลังจากค้างการก่อสร้างมานานกว่า ๖ เดือน ทำสำเร็จเพราะระบบการต่อสู้เบ็ดเสร็จ ซึ่งเกิดขึ้นจากยุทธศาสตร์พระราชทาน (ยุทธศาสตร์พัฒนา) ๑๗ ปี ผ่านไป ๓ จังหวัดภาคใต้ไม่สันติสุข (สมัยผมทำหน้าที่ ๕ จังหวัดชายแดนใต้)
            ก่อนไปเที่ยวละลุ ขอลำดับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์อีกสักเล็กน้อย
                สมัยก่อนประวัติศาสตร์  (๓,๐๐๐ ปี ก่อนคริสกาล -  ค.ศ.๑๐๐) ค้นพบโบราณวัตถุที่ อ.เขาฉกรรจ์ ที่ อ.เมืองสระแก้ว ที่ยืนยันว่า ภาชนะที่ขุดได้อายุกว่า ๕,๐๐๐ ปี ยืนยันการตั้งชุมชน
                สมัยเจนละ - ทวารวดี   (พุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๔) พบจารึกกษัตริย์องค์สำคัญในสมัยเจนละคือ พระจิตรเสน หรือมเหนทรวรมัน และพระเจ้าอีสานวรมัน (โอรสของพระเจ้าจิตรเสน) จารึกสำคัญ เช่น จารึกช่องสระแจง เขาน้อย บ้านกุดแต้ และจารึกเขาวัง ที่อรัญประเทศ
                สมัยเมืองพระนคร (พ.ศ.๑๓๔๕ - ๑๗๖๓) เริ่มตั้งแต่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ เสด็จกลับจากชวา  และสถาปนากัมพุชเทศะ ด้วยการรวมเจนละบก และเจนละน้ำ เข้าด้วยกันเอาลัทธิเทวราชมาใช้
                สมัยสุโขทัย (พ.ศ.๑๗๗๘ - ๑๘๙๓)  หลังสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ไพร่พล และเศรษฐกิจของกัมพูชาตกต่ำ จนไม่สามารถแก้ไขได้ ทำให้คนในปกครองของขอม แยกตัวออกเป็นอิสระ เช่น ในดินแดนไทย ได้แก่ สุโขทัย ละโว้ เมื่อศูนย์กลางการปกครองที่ เมืองพระนคร ล่มสลาย เมืองต่าง ๆ ในเขตอาณาจักรก็ล่มสลายตามไปด้วย ทุกวันนี้ไม่มีขอม มีแต่เขมร หรือกัมพูชา
                สมัยอยุธยา  (พ.ศ.๑๘๙๓ - ๒๓๑๐)  อยุธยาเป็นรัฐที่สืบต่อมาจากละโว้ ที่มีความสัมพันธ์กับขอมมาก่อน อยุธยาเข้มแข็งจึงรวมเอาละโว้ สุโขทัย สุพรรณภูมิ และดินแดนที่เคยอยู่ในอำนาจของขอมเอามาไว้ในอำนาจ ซึ่งรวมถึงพื้นที่ของสระแก้ว มาอยู่ใต้การปกครองของอยุธยาด้วย
                สมัยธนบุรี  (พ.ศ.๒๓๑๐ - ๒๓๒๕)  เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๔ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรด ฯ ให้เจ้าพระยาจักรี หรือสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ยกทัพไปปราบการจลาจลในเขมร มีเส้นทางเดินทัพผ่านกรุงเก่า นครนายก เมืองปราจีน เมืองใหม่ ด่านหนุมาน ช่องตะโก ด่านพระปรง ด่านพระจาฤก จึงเป็นเหตุผลที่เชื่อได้ว่า ต้องมาผ่าน อ.เมืองสระแก้ว และพักทัพที่สระแก้ว - สระขวัญ
                สมัยรัตนโกสินทร  (พ.ศ.๒๓๒๕ - ๒๓๕๒)  ได้พัฒนาเมืองสระแก้วในแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ๓ ประการ เลื่อนเจ้าพระยายมราช (แบน) เป็นเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ และส่งไปสำเร็จราชการเขมรส่วนใน ขึ้นตรงต่อกรงุเทพ ฯ คือ เมืองเสียมราฐ เมืองพระตะบอง ตั้งนักองเอง เป็นสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี  ไปครองกัมพูชา (ยกเว้นเสียมราฐ พระตะบอง) เป็นประเทศราชของไทย ประการที่ ๓ สนับสนุนให้องเชียงสือ ไปปกครองเมืองญวน ที่ไซง่อน และได้มีการพัฒนามาอีกหลายรัชกาล แต่สระแก้วก็ยังเป็นของไทย ไม่เสียให้แก่ฝรั่งเศส
            เส้นทาง  ไปจังหวัดสระแก้ว หากไปตามเส้นทางเดิมคือ ผ่านหินกอง ปราจีนบุรี กบินทร์บุรี สระแก้ว หากเส้นทางที่ใกล้กว่าคือ เลียบริมคลองรังสิต มาผ่านนครนายก ฯ ไปปราจีนบุรี สระแก้ว เส้นทางใหม่ตัดตรงแต่ไม่ใกล้กว่าการไปตามเส้นเลียบริมคลองคือไปตามถนนสาย ๓๐๔ ผ่านฉะเชิงเทรา ผ่านศาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า แล้วเลี้ยวขวาไปบรรจบกับถนนสายสระแก้ว - จันทบุรี เส้นนี้จะไปบรรจบกับสาย ๓๓ เมื่อเลยจากตัวเมืองสระแก้วไปแล้ว ๑๖ กม. บรรจบแล้วก็เลี้ยวขวาไปยังวัฒนานคร อรัญประเทศ ได้เลย
            แต่หากมาถึงสระแก้วแล้ว แต่ตั้งใจไปนอนพักค้างคืนที่อรัญประเทศ โดยแวะเที่ยวใน อ.เมืองสระแก้ว เสียก่อน แล้วไปเที่ยวน้ำตกปางสีดา ไปอ่างเก็บน้ำท่ากระบาก ไปสถานีเพราะเลี้ยงพันธุ์สัตว์ป่าช่องกล่ำบน ก็เลี้ยวซ้ายเข้าซอยเทศบาล ๑๙ ผ่าน สภ.อ.เมืองสระแก้ว ผ่านสถานีรถไฟไปบรรจบกับถนนสาย ๓๔๖๒ ไปอีก ๒๗ กม. เลี้ยวซ้ายไปอุทยานปางสีดา หากไม่เลี้ยวตรงไปก็จะเป็นถนน ๓๔๘๕ ไปอ่างเก็บน้ำ ไปพบกับแยกแซร์ออ ที่แยกนี้หากเลี้ยวขวาจะไปวัฒนานคร ตรงไปตามถนนสาย ๓๑๙๘ จนบรรจบกับถนน ๓๔๘ ก็เลี้ยวขวาไปอีก ๙ กม. จะถึงตัวอำเภออรัญประเทศ ก่อนเข้าตัวอำเภอจะผ่านค่าย ตชด.ค่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดี
            จากตัวเมืองสระแก้ว หากไม่ไปน้ำตกปางสีดาในฤดูฝน ไม่ไปชมผีเสื้อในฤดูแล้ง (ไม่รู้จะไปทำไม ถ้าไม่ไปแห่งนี้) จะตรงมายังอรัญประเทศเลย ออกจากตัวเมืองสระแก้ว ก็ไปผ่านวัฒนานคร (มีวัดนครธม และราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช) ตรงไปอรัญประเทศได้เลย
            ผมพามาตั้งหลักที่อรัญประเทศเสียก่อน ก่อนที่จะพาไปยังปราสาทที่เขียนกันหลายชื่อคือ ปราสาทสต๊กก็อกธม
            ไปละลุ  ผมไปถึงอรัญประเทศเย็นแล้ว เข้าห้องพัก อาบน้ำไปทานข้าวเย็นกิน
                การเดินทางไปยังละลุ  เส้นทางที่เขียนบอกไว้ตามหนังสือท่องเที่ยวนั้นออกจะวกวน ผมอ่านแล้วไม่ค่อยจะเข้าใจ รู้จักชื่อเสียงของละลุมานานหลายปีแล้วอยากไป แต่ไม่ได้ไปสักที เพราะรู้สึกว่าไปยาก แต่ไปเข้าจริง ๆ แล้วน่าไปมาก ไม่ลำบากเลย ขับรถสบาย ๆ จากอรัญประเทศชั่วโมงเศษ ๆ ก็ถึงแล้ว
                ไปตามถนนสาย ๓๔๘ หรือธนะวิถี (ถนนสายนี้จะไปยังบุรีรัมย์ ผ่านปราสาทเขาพนมรุ้ง) วิ่งไปสัก ๑๐ กม. มีปั๊ม ปตท. ทางซ้ายเติมน้ำมันเสีย ปั๊มจะไม่มีอีก
                จากอรัญ ฯ พอมาถึง กม.๒๐ ถนน ๓๔๘ ทางขวาคืออำเภอโคกสูง
                ถนนสาย ๓๔๘ กม.๓๕.๑๐๐ จะพบป้ายชี้ไปละลุ
                ถนนสาย ๓๔๘ กม.๓๕.๔๐๐ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสาย ๓๔๘๖ ป้ายชี้บอกว่าไปบุรีรัมย์ ตรงนี้เรียกว่า สามแยกกุดเตย
                ถนนสาย ๓๔๘๖ จากแยกบ้านกุดเตย ไปอีก ๘ กม. ถึงสี่แยกโคคลาน (เลี้ยวซ้ายไปวัฒนานคร เลี้ยวขวาไป อ.ตาพระยา)
                จากสี่แยกโคคลาน ไปอีก ๒๐๐ เมตร มีทางแยกซ้ายไปหนองผักแว่น ป้ายบอกว่าไปวัดซับม่วง และป้ายบอกไปละลุ ๒๑ กม. ให้เลี้ยวซ้ายไปบ้านหนองผักแว่น ถนนลาดยางไม่ดีนัก หลุมบ่อแยะ ขับอย่าให้เร็วนักไม่มีอันตรายอะไร ทีนี้จะพบป้ายบอกระยะทางไปละลุเป็นระยะ ๆ ประมาณ กม.๑๒ จะผ่านศาลเจ้าพ่อพรานบุญ (มีพวงมาลัยมาก) ผ่านหมู่บ้านที่มีโรงเรียนเป็นหมู่บ้านใหญ่  ถึงบ้านหนองผักแว่น ทางขวาของถนนมีหลัก กม.๑๘ ให้เลี้ยวซ้ายตรงกลัก กม.๑๘ ผ่านสถานีอนามัยหนองผักแว่น ประมาณ ๑ กม. จะเข้าหมู่บ้านคลองยาง แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปยัง "ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวละลุ" มีลานจอดรถกว้างขวาง ไปรับการบริการที่ศูนย์นี้ อย่าได้คิดไปจุดที่ตั้งละลุเองเป็นอันขาด ได้เดินกันขาถ่างเลยทีเดียว

                มารู้จัก "ละลุ" คือแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติแห่งใหม่ของจังหวัดสระแก้ว ตั้งอยู่บริเววณบ้านเนินขาม และบ้านคลองยาง ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ละลุเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากการยุบตัว หรือพังทลายของดิน แต่สภาพของดินแข็งจะไม่ยุบตัวลงมา เมื่อนานนับพันปีดินแข็งเหล่านี้ จะถูกลมกัดกร่อนจึงเกิดเป็นรูปลักษณะต่าง ๆ มองคล้ายกำแพงเมือง คล้ายหน้าผา บ้างก็มีลักษณะพุ่งขึ้นไปเป็นแท่ง คล้ายแพะเมืองผี ที่จังหวัดแพร่ พบใหม่ ๆ นั้นไปเรียกว่าแพะเมืองผีแห่งใหม่ ละลุเป็นภาษาเขมร แปลว่าทะลุ มีพื้นที่กว้างขวาง ประมาณ ๒,๐๐๐ ไร่ ปรากฎการณ์ธรรมชาติแบบนี้ ผมเคยไปมา ๔ แห่งคือ
                    แพะเมืองผี  อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ พื้นที่กว้างใหญ่และสวยที่สุด
                    เสาดินนาน้อยและคอกเสือ  ตั้งอยู่ที่บ้านแต ต.เชียงของ อ.นาน้อย จ.น่าน
                    โป่งยุบ  อำเภอสวนผึ้ง จ.ราชบุรี และ
                    ละลุ  ที่กำลังจะเล่าให้ฟังอยู่นี้ ละลุมีเอกลักษณ์ของตัวเองที่ไม่เหมือนอีก ๓ แห่งคือเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดเป็นหย่อม ๆ ต้องเลือกหาจุดสวยดูเอาเอง ไกด์ท้องถิ่นที่จะพาเราไปก็ไม่ค่อยจะบอกให้ทราบ เห่อถ่ายภาพตั้งแต่จุดแรก ๆ ที่พบ ปรากฎว่าต้องมาลบทิ้งภายหลัง (กล้องดิจิตอล) เพราะยิ่งไปยิ่งออกเดินยิ่งพบแห่งที่สวย ๆ ที่ว่าไม่เหมือนใครคือ ละลุ มีที่ว่างตรงไหน จะมีนาข้าว ปลูกข้าวปนอยู่ด้วย สวยไปอีกแบบหนึ่ง ผมไปฤดูทำนาพอดี ข้าวกำลังขึ้นงามเขียวชอุ่ม หากไปตอนฤดูใกล้เก็บเกี่ยว คงจะเพิ่มความสวยงามมากกว่านี้ เพราะทุ่งนาข้าวจะเหลืองอร่ามเข้ากับสีของละลุ ผมพยายามถ่ายภาพมาให้ชม เพราะอธิบายอย่างไรคงไม่เท่าปรากฎการณ์ของธรรมชาติ
                    เมื่อเข้าไปถึง "ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวละลุ" เขาจะมีเจ้าหน้าที่ หากเป็นวันหยุดคนที่มาช่วยบริการก็เป็นครู อาจารย์ของโรงเรียน วันธรรมดาชาวบ้านคงจะหมุนเวียนมาช่วยกัน จะต้องจ่ายเงินค่ารถพาเที่ยว (อย่าได้คิดเดินไปเองหรือเอารถของเราไปเป็นอันขาด) คันละ ๒๐๐ บาท เงินจำนวนนี้ ๑๖๐ บาท จะเป็นเจ้าของรถ ที่ต้องจ่ายค่าน้ำมัน ต้องมารอคิว คันที่ผมไปบอกว่า ๒ วัน พึ่งได้เที่ยวเดียว ส่วนอีก ๔๐ บาท จะนำเข้าบำรุงหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่จะบริการฟรีเพื่อส่วนรวม รถที่พาเที่ยวนั้นเรียกว่ารถ "อีแต๊ค" ไม่ใช่รถ "อีแต๊น" ต่างกันที่อีแต๊คคือ รถไถนา แล้วทำรถพ่วง พ่วงอีแต๊คลากไปนั่งในรถพ่วงได้สัก ๔ - ๕ คน บังคับรถด้วยคันไถ คนขับต้องบังคับเก่งมาก ส่วนอีแต๋นนั้น ต่อเติมจนคล้ายรถกระบะ ใช้เครื่องยนต์แบบเดียวกัน บังคับรถด้วยพวงมาลัยง่ายกว่า เมื่อจ่าย ๒๐๐ แล้ว ก็ขึ้นนั่งบนรถพ่วง วางตัวให้ดี ๆ  เพราะเอวจะต้องยักไปยักมา รถพาวิ่งผ่านหมู่บ้าน ไปข้ามสะพานข้ามลำธาร หากเอารถของเรามาก็จบตรงนี้ ข้ามสะพานแล้ววิ่งไปตามทาง หรือคันนา ที่ค่อนข้างกว้างกว่าคันนาธรรมดา และมีอยู่ตอนหนึ่งจะต้องข้ามช่องทางน้ำผ่านที่ลึกพอสมควร แต่อีแต๊คเสียอย่าง บวกฝีมือคนขับสามารถข้ามไปได้และจะเริ่มพบละลุ อยากถ่ายรูปตรงไหนก็บอกคนขับที่ไม่ค่อยจะพูดจาเขาก็จะจอดให้ แต่หากเชื่อผมก็ไม่ต้องถ่าย นั่งประคองตัวไปให้ดี ๆ จนถึงปลายทางที่อีแต๊กจะไปได้ เขาก็จะจอดรถให้ลงชมปรากฎการณ์ธรรมชาติ ที่มีทุ่งนาอยู่ด้วย และจุดนี้เหมือนกำแพงกั้นไว้ อีแต๊คไปต่อไม่ได้ ก็เลยถามไกด์เงียบดูว่าเดินทลุไปได้ไหม เขาก็บอกว่าเดินไปได้ และสวยกว่าตรงนี้มาก หากไม่ถามก็คงจบกันแค่นั้น ทีนี้ออกแรงเดินทลุกำแพงออกไป เดินได้สบาย ๆ พอโผล่ออกไปอีกด้านสวยมาก เรียกว่าตลึงเลยทีเดียว ไม่ได้ออกมาเห็นเสียดายตาย จุดที่อีแต๊คจอดส่งเราลงกับจุดด้านหลังนี้แหละ

ที่จะเก็บภาพกันชนิดไม่ต้องกลัวว่าจะหมดไปสักกี่ภาพ ถ้าเป็นกล้องถ่ายรูปก็คงบอกว่า ไม่ต้องกลัวว่าฟีลม์จะหมด ส่วนอีแต๊คที่เขาตามมาไม่ได้ เขาก็ไม่เดือดร้อน เขาวิ่งตอนบนไปรอรับเราอยู่อีกด้านหนึ่ง เราก็ไม่ต้องเดิน ย้อนกลับมาตรงด้านหลังนี้ บางทีเขาเรียกว่า ละลุ ๒ ชม และถ่ายภาพจนอิ่ม สมกับที่รอคอยมาหลายปีแล้ว ก็ขึ้นอีแต๋นที่มาคอยอยู่กลับ ตอนเที่ยวกลับเขาไม่ย้อนกลับทางเดิมที่มาลำบาก เขาพาเข้าหมู่บ้านคลองยาง ใกล้นิดเดียวก็กลับมาถึงศูนย์บริการ ฯ ที่จอดรถไว้ รู้อย่างนี้ละก็ เพื่อประหยัดเวลาด้วย ไม่ให้ปวดเอวด้วย ให้เขาพาไปทางบ้านคลองยาง ผ่านวัดคลองยางแล้วไปเริ่มชมตรงละลุ ๒ เลย ซึ่งความงดงามจะรวมอยู่ตรงบริเวณนี้ และเดินชมได้ไม่ทันเหนื่อย ขาดอย่างเดียวคือสุขา ยังไม่มีบริการ เว้นที่ศูนย์ ฯ คงจะมี
            กลับจากละลุ กลับมาตามถนนเส้นเดิมผ่านบ้านหนองผักแว่น มาขึ้นถนน ๓๔๘๖ พอมาถึงสามแยกบ้านกุดเตย ก็เลี้ยวขวากลับไปยังอรัญประเทศ หรือหากจะเที่ยวปราสาทสต๊กก็อกธมต่อ พอกลับมาเข้าถนน ๓๔๘ วิ่งมาประมาณ กม.๒๔.๕ ก่อนถึงอนามัยหนองแวง จุดสังเกตุคือเสาโทรศัพท์สูง ๆ และสถานีอนามัย ให้เลี้ยวซ้ายไปอีก ๑๒ กม. จะไปถึงปราสาทสต็กก็อกธม (อีกเส้นทาง เลี้ยวที่หน้าอำเภอ กม.๒๒.๕๐๐ ไปอีก ๑๗ กม. เส้นนี้ไกล เป็นเส้นทางเก่า)
            หากเราออกจากที่พักเช้า ๆ สักหน่อย เช่นผมออกก่อน ๐๘.๐๐ กินอาหารเช้าในโรงแรมมือนี้ฟรี กินแล้วก็ออกเดินทางไปละลุเลย ไปง่ายกว่าที่คิดเอาไว้มาก ออกจากละลุประมาณสิบโมงเศษ มาถึงปราสาทประมาณ ๑๑.๐๐ เป็นการมาชมเป็นครั้งที่ ๓ ไกด์ท้องถิ่นเป็นสาวน้อยมาช่วยบรรยาย โดยไม่ต้องว่าจ้างแล้วแต่เราจะให้รางวัล เห็นเขามีความตั้งใจดี เป็นทางหากินของเขาด้วยก็เลยปล่อยให้บรรยาย แต่ดูเหมือนจะรู้น้อยกว่าผมมด้วยซ้ำไป แต่เป็นการช่วยชาวบ้านด้วย จบแล้วจึงบอกให้ว่าตรงไหนไม่ค่อยจะถูกต้องนัก ควรแก้ไขเสีย ตัวประธานมัคคุเทศก์ท้องถิ่นก็เป็นชาวหมู่บ้านนี้ เป็นบิดาของสาวน้อย และทุกคนต้องได้รับการอบรมมาแล้ว ไม่ใช่ไกด์เถื่อน ขอผลัดไปเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไป
            อาหารค่ำ มื้อแรกคือ วันที่ไปถึง ร้านนี้ขายตั้งแต่ตอนกลางวัน ๐๓๗ ๒๓๒๓๕๓ เริ่มต้นจากหอนาฬิกา เลี้ยวซ้ายมาถึงสถานีรถไฟ เลี้ยวขวา (เลี้ยวซ้ายไปโรงแรม) ไปทางไปตลาดโรงเกลือ ๒๐๐ เมตร ร้านอยู่ทางซ้ายมือ ชวนชิมสุกี้ เป็ดย่าง ซี่โครงหมูย่าง หมูแดง แล้วสั่งมากินกับหมี่หยก หรือจะสั่งข้าวสวยมากินก็ได้ ตบท้ายด้วยการซดเกี๊ยวปลา
            อาหารค่ำวันที่สอง ไม่อยากขับรถในเวลากลางคืน เพราะกลัวมอเตอร์ไซด์ที่ชอบขับสวนทาง ถนนไปตลาดโรงเกลือสี่เลน เพื่อเลยขับสวนทางเสียเลย ค่ำนี้เลยกินในโรงแรม ที่มื้อเช้าก็กินที่ห้องอาหารนี้ อาหารราคาถูกมาก หากกินเป็นฝรั่งเช่นซุปหัวหอม แบบฝรั่งเศส ถ้วยละ ๓๕ บาท และซุปเป็นรสฝรั่งจริง ๆ สั่งผัดกระเพราไก่ อร่อยมากผัดมีน้ำขลุกขลิกคลุกข้าวก็ได้ จานนี้ ๕๐ บาท ห้องอาหารในโรงแรมมีราคา ๕๐ บาท ด้วยหรือ โรงแรมชั้นดีด้วย ต้มข่าทะเลซดชื่นใจ ๙๐ บาท ทะเลเพียบ ไข่ยัดไส้ ทำไส้อร่อย ราคา ๕๐ บาท
            ร้านอาหารค่ำ ที่ไปคราวนี้ไม่ได้แวะไปเยี่ยม กินกันมานานกว่า ๓๐ ปี ตั้งแต่ร้านเก่ายังไม่ถูกไฟไหม้ ร้านใหม่บอกว่ามาเปิดเพื่อให้มีงานทำ อายุอานามอาเจ๊คงจะปูน ๆ ผม ลูกเต้าเรียนสำเร็จมีกิจการดี ๆ กันหมดแล้ว อยู่ถนนบำรุงราษฎร์ ถามทางเขาว่าการประปาส่วนภูมิงภาคอยู่ตรงไหนง่ายกว่าไปหาถนนบำรุงราษฎร์ เลี้ยวขวาตรงหอนาฬิกา ผ่านหอพระสยามเทวาธิราชแล้วเลี้ยวซ้าย อยู่ปากซอยติดการประปา ป้ายร้านสมบูรณ์อะไหล่ ป้ายใหญ่กว่า ไปกี่ปีก็ต้องชิม ยำลูกชิ้นปลา ฝีมือไม่ตกเลย เหนียวหนึบ ฮ่อยจ้อ ไส้กุ้ง เห็ดหอม อร่อยมาก ขึ้นป้ายว่าเป็นของฝากจากอรัญ ฯ กระเพาะหมูผัดเกี๊ยมฉ่าย ผัดแล้วยังกรอบ รสเปรี้ยวอมหวาน ที่เล่ามาคืออาหารที่ผมจะสั่งเป็นประจำ อีกอย่างเอามาซดร้อน ๆ แทนต้มยำคือ เต้าหู้อบหม้อดิน
            อีกร้านที่ไปชิมเสมอ เป็นร้านอาหารเวียดนาม ถนนข้างธนาคารกรุงไทยเป็นถนนของร้านอาหารเวียดนามมีหลายร้าน ร้านที่เคยชิมเอาไว้ เข้าถนนข้างธนาคารไปแล้วสัก ๒๐ เมตร อยู่ทางขวามือ ชวนชิมข้าวผัดเวียดนาม แหนมเนือง เปาะเปี๊ยะทอด บั่นหอย ขนมเบื้องญวน อร่อยทุกอย่าง ราคาไม่แพง เดี๋ยวนี้ถึงขั้นทำอาหารเวียดนามส่งห้องอาหารโรงแรมแล้ว

..................................................................

| บน |