ลังกาสุกะ

           เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ ผมปฏิบัติราชการอยู่ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานีซึ่งได้เคยเล่าไปแล้วหลายครั้งว่า ผมอยู่ที่จังหวัดนี้เพื่อทำหน้าที่ของแม่ทัพภาคที่๔ ส่วนหน้า ดำเนินการปราบปรามพวกผู้ก่อการร้ายทั้งหลาย โดยเฉพาะพวกโจรจีนคอมมิวนิสต์ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๒ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มของจีนเป็ง และกลุ่มของ นายจางจงหมิงซึ่งผลการปฏิบัติการในเวลาหนึ่งปีเป็นผลให้ กลุ่มนายจางจงหมิง ออกมารายงานตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยจบสิ้นการสู้รบที่กระทำติดต่อกันเป็นเวลานานถึง ๒๖ ปี และตั้งเป็นชุมชนคือหมู่บ้านปิยะมิตร ๑ - ๔ ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา หมู่บ้านที่ ๕ ที่อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา
           ผมเผลอเอามาเล่าก็เพื่อจะบอกว่า ผมอยู่ปัตตานี ๑ ปี แต่ไม่ยักระรู้ว่ามีเมืองโบราณ"ยะรัง" หรืออาณาจักรลังกาสุกะ หรือ ลังกาสุขะ อยู่ที่อำเภอยะรังจังหวัดปัตตานี แต่จะโทษผมก็ไม่ได้เพราะเวลากรมศิลปากรยังไม่ได้เข้าไปทำการขุดค้นพึ่งมาเริ่มงานกันอย่างจริงจังเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑ หลังจากที่ผมช่วยให้แผ่นดินใน๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้สงบลงแล้ว และผมก็ย้ายมารับราชการในกรุงเทพ ฯ แต่ยังไปมาติดต่อประสานงานให้ตลอดเวลา๑๔ ปีเศษ คือจาก ๒๘ เมษายน ๒๕๓๐ จนกระทั่งเมื่อวานซืนนี้เอง (พวกอดีต จคม.มาพบที่บ้านพัก)และเมื่อลงไปปัตตานีในคราวนี้เพื่อจะไปหาข้อมูลของเมือง ลังกาสุกะ หรือ ลังกาสุขะให้ได้พอสมควร เพราะไปอ่านเอกสารเข้าหลายฉบับเกิดความสนใจ เมื่อไปแล้วก็ได้ความมาดังต่อไปนี้
           จากตำนาน ไทรบุรี ปัตตานี กล่าวถึงเมืองลังกาสุกะ ของพระเจ้ามะโรงมหาวงศ์หรือราชามารงมหาวังสา ต่อมาคำว่าลังกาสุกะค่อย ๆ เลือนหายไป กลายเป็นคำว่าเคดาห์หรือไทรบุรีเข้ามาแทนที่ จึงสงสัยกันว่าอาณาจักรนี้อยู่ที่ไหนกันแน่
           จดหมายเหตุราชวงศ์เหลียง (พ.ศ.๑๐๔๕ - ๑๐๙๙) บันทึกไว้ว่าอาณาจักรลังกาสุกะ สถาปนาขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่๗ มีอำนาจปกครองระหว่างสองฝั่งทะเล คือด้านตะวันตกจรดไทรบุรี และด้านตะวันออกที่ปัตตานีข้อความในจดหมายเหตุนี้สอดคล้องกับตำนานไทรบุรี ปัตตานี
           ศาสตราจารย์ ปอล  วิดลีย์ (PAUL WHEATLY) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแหลมมาลายู มีความเห็นว่าตำนานไทรบุรี ฯมีลักษณะเหมือนเทพนิยาย แต่งขึ้นเมื่อชาวอินเดียเดินทางมาถึงหัวเมืองมาลายูราวพุทธศตวรรษที่ ๖ และเขาแสดงความคิดเห็นไว้ว่า ลังกาสุกะ ไม่ควรไปซ้ำซ้อนกับไทรบุรีน่าจะอยู่ทางปัตตานีทั้งหมด (น่าจะถูกต้อง)
           ศาสตราจารย์ ฮอลล์(D.G.E. HALL) ได้กล่าวถึงรัฐเก่าแก่สามรัฐในแหลมมาลายู คือรัฐหลังยะสิว (ลังกาสุกะ)ต้นไม้หลิว(ตามพรงลิงค์ หรือนครศรีธรรมราช) ตักโกลา(ตะกั่วป่า) ต่อมารัฐทั้งสามนี้ตกอยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรฟูนันซึ่งเป็นอาณาจักรที่มีกองเรือยิ่งใหญ่ อยู่ในทะเลจีนตอนใต้ เมื่อตกอยู่ใต้อำนาจแล้วก็รับเอาวัฒนธรรมต่างๆ มาจากอินเดีย
           ต่อมาพุทธศตวรรษที่ ๑๑ อาณาจักรฟูนัน เสื่อมสลายลง รัฐต่าง ๆ ที่ตกอยู่ใต้อิทธิพลก็แยกตัวเป็นอิสระลังกาสุกะ ภายใต้การนำของ พระเจ้าภคทัตก็ฟื้นฟูอำนาจของตนเองได้อย่างรวดเร็ว
           พุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕ ลังกาสุกะ กลับตกอยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรศรีวิชัยพระเจ้าราเชนทร์โจระที่๑ แห่งอินเดีย ยกทัพเรือข้ามมายึดรัฐต่าง ๆของศรีวิชัย ลังกาสุกะก็พลอยถูกยึดไปด้วย ต่อมาอีกอาณาจักรมัชปาหิตแห่งชวากลับเข้ามามีอำนาจ และชื่อลังกาสุกะค่อยเลือนจางหายไป
           แสดงว่าอาณาจักร ลังกาสุกะ นั้นอยู่ที่ปัตตานีนี่เอง และต้องนับถือพุทธศาสนาด้วยเพราะเมื่อเกิดการขุดค้นขึ้นพบทั้งศาสนาฮินดู และพุทธศาสนา เช่น สถูปสำคัญในพระพุทธศาสนาที่ อำเภอยะรัง ที่ได้บูรณะตกแต่งแล้วก็แสดงถึงดินแดนในพระพุทธศาสนาและลังกาสุกะ ต้องมีอายุประมาณ ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว นับว่าเก่าแก่มากทีเดียว แต่พึ่งรู้จักกันจริงไม่กี่ปีมานี้เองศิลปากรต้องรวดเร็วอีกนิดไม่งั้นเดี๋ยวหายหมด
           ศาสนาอิสลามเข้าสู่ปัตตานี เมื่อไร อย่างไร มีเล่ากันไว้ในลักษณะของตำนานกล่าวคือ ประมาณคริสศตวรรษที่ ๑๐ (ประมาณ พ.ศ. ๑๕๐๐ เศษ) ศาสนาอิสลามได้เผยแพร่เข้าสู่ปัตตานีและปาหัง ก่อนที่จะเข้าสู่มาละกา ตำนานเมืองปัตตานีกล่าวว่า เป็นเพราะกษัตริย์หรือสุลต่านเมืองปัตตานีล้มป่วย ไม่มีหมอในปัตตานีรักษาได้ เกิดการตีฆ้องร้องป่าวหาผู้รักษามีแขกปาซายจากสุมาตราชื่อเช็กสะอิ หรือ เช็กซาฟียิดดิน ได้ขันอาสามารักษาสุลต่านแต่ขอคำมั่นสัญญาว่าถ้ารักษาหายแล้ว พระองค์จะต้องเข้ารีดนับถือศาสนาอิสลามได้รักษาจนหายแต่เมื่อหายแล้วสุลต่านไม่ยอมเปลี่ยนศาสนาเลยป่วยหนักอีก กลับมารักษากันใหม่ขอคำสัญญากันอีกกลับไปกลับมาเช่นนี้ถึง ๓ ครั้ง สุลต่านเลยต้องยอมเปลี่ยนศาสนามานับถือศาสนาอิสลามหมอผู้รักษาได้รับการแต่งตั้งเป็น ดาโต๊ะ สะรี ยารา ฟาเก้าฮ์ (ผู้รู้ทางศาสนายอดเยี่ยม)เมื่อเจ้าเมืองเปลี่ยนศาสนาใหม่ โอรส ธิดา ขุนนาง และชาวเมืองก็เริ่มเปลี่ยนศาสนาตามเป็นศาสนาอิสลามต่อจากนั้นก็เริ่มมีการทำลาย พระพุทธรูป พุทธสถาน เทวรูป และเทวาลัย อาณาจักรที่เคยนับถือพระพุทธศาสนาอยู่หลายปีจึงมีโบราณวัตถุทางพุทธศาสนาน้อยเต็มที หรือแทบจะไม่มีเลย จนมาพบกันที่ยะรังเมืองโบราณนี่แหละ
           ผมลงไปปัตตานีคราวนี้ ได้ไปเยี่ยมพรรคพวกเก่า ๆ ซึ่งเมื่อ ๑๔ ปีที่แล้วล้วนแต่ช่วยผมก่อตั้งสมาคมกีฬาปัญจักสิลัตมาทั้งสิ้น และทุกท่านก็ล้วนแต่เป็นคณาจารย์ ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานีเมื่อก่อตั้งสมาคมสำเร็จแล้ว ทางมหาวิทยาลัยได้อนุเคราะห์ให้ใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยเป็นที่ตั้งของสมาคมซึ่งได้รับความกรุณาอยู่หลายปีพึ่งมาย้ายไปเมื่อปี ๒๕๔๓เมื่อมีการแต่งตั้งนายกสมาคมท่านใหม่ซึ่งมีฐานะสูง (แต่ไม่ได้เหรียญทองซีเกมส์ครั้งที่๒๑) ส่วนผมได้อำลาจากนายกสมาคมปัญจักิสิลัตตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เพราะเป็นข้าราชการบำนาญแล้วมีแต่ไฟที่จะทำงานแต่ขาดทั้งปัจจัย และบารมีและได้ทำนานถึง ๖ ปี ตั้งแต่ในประเทศไทยไม่มีใครรู้จักปัญจักสิลัตจนได้เหรียญทองทุกครั้งจากการแข่งขันซีเกมส์ แม้จะไม่ใช่เจ้าเหรียญทองของปัญจักสิลัตแต่ก็ได้หลายเหรียญทุกปี(ทั้งหมดมีถึง ๒๑ เหรียญ อินโดนีเซียจะเป็นเจ้าเหรียญทองของกีฬานี้) และขอบอกกล่าวกันไว้อีกทีว่ากีฬาปัญจักสิลัตนั้นไม่มีเล่นในภาคใต้ของประเทศไทย ตามที่อุปนายกสมาคม ฯ ออกมาแถลงหน้าจอที.วี. ขอยืนยัน ๘ ปีที่รับราชการอยู่ภาคใต้ และ ๖ ปีที่คลุกคลีกับกีฬานี้พอจะทราบว่าไม่มีปัญจักสิลัต คำว่าสิละ หรือ สิลัต นั้นคือการต่อสู้ ประกอบการร่ายรำแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ -
           สิละ หรือ ศิระ การร่ายรำในท่วงท่าของการต่อสู้ แต่ไม่ได้ต่อสู้กันจริง ๆเป็นการแสดงซึ่งศิลปะประเภทนี้ที่เล่น หรือแสดงกันอยู่ในภาคใต้ของไทย สิละเป็นภาษาสันสกฤต หมายถึงการต่อสู้ด้วยน้ำใจนักกีฬา แต่ได้ดัดแปลงนำมาเพื่อการแสดงหรือเรียกว่า สิละ ดารี (รำ)
           ปัญจักสิลัต ที่นำมาใช้เรียกในกีฬาซีเกมส์ (PENKAK SILAT) หรือ สิละยาโต๊ะเป็นการต่อสู้ประกอบศิลปะการร่ายรำ เตะได้ ต่อยได้  แต่กติกาในการแข่งขันนั้นเขาสร้างขึ้นเพื่อป้องกันมวยไทยจึงไม่ยอมให้เตะ ต่อยโดนหน้า (จะแพ้ฟลาว์) เตะต่อยต่ำกว่าเอวไม่มีคะแนน เว้นเตะตัดขาให้ล้มลงเมื่อไปเอานักมวยไทยเก่ง ๆ ที่มือไว ตีนไว ตาไวมาฝึกจึงแพ้ เพราะพวกนี้เห็นหน้าว่างเมื่อไรคางว่างเมื่อไรเป็นเตะเปรี้ยงเข้าให้ คู่ต่อสู้ล้ม ชักดิ้นชักงอ พอหายชักเขาก็ก้มไปชูมือคนที่ล้มลงไปชนะเพราะฝ่ายที่เตะคาง(นักมวยไทย) จะแพ้ฟลาว์ ซึ่งผมเคยเอานักมวยไทยมาหัด ผลก็ออกมาเป็นเช่นนี้เลยต้องเลิกหาคนแค่เป็นมวยไทย แต่แข็งแกร่งมาฝึกจึงได้เหรียญทองมา พอกรรมการชุดหลังๆ ไปมองว่ามวยไทยเป็นยอดของการต่อสู้ก็ไปเอามาฝึกอีกก็แพ้อีก ถ้าสู้กันจริงๆ ละก็ยกเดียว นักปัญจักสิลัตจอดโดยจะโดนนักมวยไทยน็อคแน่นอน แต่สู้ตามกติกาที่เขาตั้งมาไว้เพื่อไม่ให้คนเก่งมวยไทยได้เปรียบเราจะเอานักมวยไทยไปสู้จะสู้เขาไม่ได้
           สิละกายอ หรือ กริซสิละ ทีนี้ ทั้งร่ายรำ ทั้งต่อสู้เอากันตายเลยทีเดียว ต้องไปอ่านจากวรรณคดีเรื่องอิเหนาตอนอิเหนารบกับท้าวกุหมังกุหนิง บรรยายไว้ว่า
       เมื่อนั้นท้าวกุหมังกุหนิงเรืองศรี
ได้ฟังชื่นชมยินดีครั้งนี้อิเหนาจะวายชนม์
อันเพลงกริชชวามาลายูกูรู้สันทัดไม่ขัดสน
คิดพลางชักกริชฤทธิรณร่ายรำทำกลมายา

           สู้กันไปสู้กันมามือขวาถือกริช มือซ้ายต้องถือผ้าเช็ดหน้าด้วย (เอาไว้บังตาคู่ต่อสู้และเช็ดเหงื่อ)อิเหนาก็จัดการแทงเอาท้าวกุหมังกุหนิงที่ว่าเก่งการใช้กริชตายไป เรียกว่าตามเพราะความรักลูก
           ไปพบปะสังสรรค์กับคณาจารย์ อดีตกรรมการสมาคมปัญจักสิลัตแล้ว อาจารย์น้อง ๆทั้งหลายบางคน (อาจจะถึงขั้นหลาน) ก็บอกว่าจะพาไปชมโครงการสถาบันวัฒนธรรมศึกษาซึ่งมีทั้งอาจารย์ สมบูรณ์  ธนะสุข เป็นผู้อำนวยการนี้อยู่ เมื่อไปถึงก็ได้รับความอนุเคราะห์อย่างดีเยี่ยมกรุณาอธิบายให้ฟังอย่างละเอียดเลยทีเดียว สถาบันแห่งนี้แบ่งออกเป็นพิพิธภัณฑ์พระเทพญานโมลีซึ่งอยู่ด้านหน้ามีห้องพระพุทธรูปต่าง ๆ ทั้งเก่าและใหม่ อาคารด้านหลังคือพิพิธภัณฑ์ คติชนวิทยา ซึ่งในอาคารหลังนี้ ทำให้ผมได้เอกสารและหลักฐานของเมืองลังกาสุกะมาเพิ่มเติมพร้อมกันนั้นก็ได้ความรู้สึกอีกมากมาย จากการบรรยายของอาจารย์ สมบูรณ์ฯ ต้องขอขอบคุณไว้ณ โอกาสนี้ด้วย เพราะมีการแสดงต่าง ๆ ไว้มากมาย ที่น่าขำคือมีเครื่องมือชนิดหนึ่งทำด้วยไม้กระบอกสำหรับแขวนไว้ใต้ต้นไม้ผลที่กำลังมีลูกขนาดเก็บกินได้ แขวนไว้ป้องกันขโมยเพราะสาปแช่งเอาไว้ ฝ่ายขโมยหากรู้วิธีแก้เคล็ดก็ขโมยผลไม้แล้วกินได้ เคล็ดมีดังนี้เช่น ขโมยมะม่วงมาได้ ก่อนกินต้องเอาลอดใต้หว่างขาเสียก่อน (แต่ต้องระวังเพราะนุ่งโสร่ง ระวังอย่าให้ลูกไม้ที่มีมดแดงเกาะอยู่ไปโดนของสำคัญเข้า )แล้วนำไปกินได้ หรือท่องคาถาว่า "โจเอ๋ยโจจอก มึงออกกูเข้า โจเอ๋ยโจจอกมึงเข้ากูออก"แล้วก็กินได้เช่นกัน เครื่องมือนี้เรียกว่า "โจ"
           ด้านหน้าเยื้อง ๆ ทางซ้าย (เมื่อหันหน้าออก) มีเรือนโบราณหลังใหญ่ คือพิพิธภัณฑ์เรือนอำมาตย์โท พระยาพิบูลพิทยาพรรค ซึ่งมหาวิทยาลัยได้รับมอบมาและหางบประมาณรื้อย้ายมาสร้างไว้ณ ที่นี้น่าชมอย่างยิ่ง ท่านเจ้าคุณผู้นี้เคยเป็นข้าหลวง หรือผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๖ โดยช่างชาวจีน งดงามอย่างยิ่ง เป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทยและตะวันตกอย่างกลมกลืน อย่าพลาดโอกาสไปชมสถาบันและพิพิธภัณฑ์เปิดให้ชมฟรีทุกวันและเวลาราชการ
           จากเอกสารยะรังเมืองโบราณ คราวนี้ได้ความว่าในพื้นที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานีซึ่งหากจะไปยังอำเภอนี้ไปตามเส้นทางสาย ปัตตานี - ยะลา ประมาณ ๑๕ กิโลเมตรจะถึงสามแยกของอำเภอยะรัง ทางขวามือของสามแยกนี้คือร้านลูกหยีแม่เลื่อน อำเภอนี้ลูกหยีอร่อยสุดสุดรวมทั้งมังคุดกวนด้วย ไปเมืองโบราณอย่าลืมซื้อ โบราณสถานอยู่ในพื้นที่ของหมู่บ้านปราแว จาเละ และบ้านวัด มีมากมาย แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ยังขุดค้นและบูรณะได้น้อยเหลือเกินยังปะปนอยู่ในที่ของชาวบ้าน แต่ชาวบ้านแม้จะเป็นไทยมุสลิม ก็ไม่ได้ทำลายเหมือนคนเก่าแก่ที่ทำลายเสียไม่เหลือซากจากสามแยกนี้เลี้ยวซ้ายไปทางอำเภอมายอประมาณ ๑.๒ กิโลเมตร จะพบทางแยกซ้ายมีป้ายบอกว่าถนนรอบเมืองโบราณให้เลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ ๘๐๐ เมตร โบราณสถานที่ขุดค้นพบแล้ว และบูรณะแล้วอยู่ทางซ้ายมือสร้างอาคารครอบไว้สมเด็จพระเทพ ฯ เสด็จมายังโบราณสถานแห่งนี้ คือสถูปเจดีย์ในพุทธศาสนา และยังเอาอัฐิตอนยอดของสถูปไปก่อเป็นกำแพงเรียงให้ดูการเรียงอิฐไว้ที่หน้าสำนักงานอีกด้วย ส่วนที่บ้านอื่น ๆ ยังตกแต่งไม่ชัดเจนแต่พอเห็น กำแพง คูเมือง ฯ
           เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ ศึกษาธิการอำเภอท่านหนึ่งของอำเภอยะรัง ได้พยายามค้นคว้าเมืองโบราณเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นอาณาจักรลังกาสุกะหรือไม่ ได้เก็บรวบรวมโบราณวัตถุ และบันทึกหลักฐานการค้นพบไว้ท่านผู้นี้คือ นายอนันต์  วัฒนานิกร ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ นายสจ๊วต วาเฟล หัวหน้าทีมสำรวจทางมนุษย์วิทยาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษมาสำรวจและได้ลงความเห็นว่า คืออาณาจักรลังกาสุกะอย่างแน่นอน และต่อจากนั้นก็มีการสำรวจโดยนักสำรวจชาวต่างประเทศอีกหลายคณะคณะสุดท้ายคือคณะของ สว่าง  เลิศฤทธิ์ และเดวิด เจ เวลซ์ สำรวจเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๒๙ - ๒๕๓๐ นี้เอง และได้พบแหล่งโบราณคดีถึง ๓๔ แห่ง ซึ่งไม่เคยมีใครพบมาก่อนจากนั้นจึงสำรวจบูรณะกันอย่างจริงจังตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ เป็นต้นมา แต่ก็ไปได้อย่างช้าเต็มทีเข้าว่าคงเป็นเพราะขาดแคลนงบประมาณ และเชื่อกันว่าตรงบ้านประแวหรือปราแว นี่แหละคือที่ตั้งตัวเมือง แต่พอค้นไปค้นมาก็ชักจะแย้งกันเองว่าน่าจะไม่ใช่เพราะเล็กเกินไปและเหมือนมี ๓ เมือง ตั้งซ้อนทับกันอยู่คือที่ ประแวจาเละ และบ้านวัดแต่ก็น่าไปชม ไปศึกษาอย่างยิ่ง ผมจะหาโอกาสไปใหม่อีกที ไปคราวนี้มีเวลาน้อยไปไม่ได้เที่ยวที่ไหนเลย ไปคุยกันไปกินข้าวแสนอร่อย (อาหารอิสลาม) แล้วไปชมเมืองโบราณซื้อลูกหยี จบกันแค่นั้น แม้แต่วัดช้างไห้ที่ตั้งใจว่า จะแวะตอนเที่ยวกลับมาหาดใหญ่ก็ไม่ได้แวะปัตตานีนั้นมีที่เที่ยวมากมายหลายอำเภอ ต้องไปนอนสัก ๒ - ๓ คืน จึงจะคุ้มที่ไปเที่ยวและยังต่อลงไปนราธิวาสไปต่อสุไหงโกลกได้อีก ไม่ได้ไปสุไหงโกลกมาสักสิบปีแล้ว ไม่ทราบเจริญไปถึงไหนแล้วต้องรีบหาโอกาสไปก่อนที่จะขับรถไม่ไหว เพราะสายตาเสื่อมลงทุกวัน
           อาหารมุสลิมวันนี้อร่อยสุด ๆ เรียกว่าระดับจากในวังกันเลยทีเดียว ไม่เคยกินที่อร่อยอย่างนี้มาก่อนเลยไม่ว่าในกรุงเทพฯ หรือที่ไหนก็ตาม รวมทั้งบรรยากาศสมเป็น "ไทย " มุสลิม อย่างแท้จริง (ไม่เป็นแขก)เป็นไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม แต่งกายน่ารัก เรียบร้อย เลยอร่อยไปหมด
           ร้าน "มาดีนาห์" ในอำเภอเมืองปัตตานี ไปตามนี้
           มาจากหาดใหญ่ พอจะเข้าตัวเมืองปัตตานีต้องข้ามแม่น้ำ เดี๋ยวนี้สะพานข้ามแม่น้ำเป็นถนนสี่เลนข้ามสะพานไปแล้ว ผ่านตลาดสดทางซ้ายมือ เช้าของกินแยะ ไปถึงเช้า ๆ จะได้ของอร่อยๆ กิน นาชิ ตาแง (น่าจะเรียกว่าข้าวยำ) เมื่อผมอยู่ปัตตานีออกไปซื้อกินบ่อยๆ ในตอนเช้า ขายอยู่บนรถเข็นปากทางเข้าตลาด นาชิ คือข้าว
           ข้ามสะพานไปแล้วตรงไปจนถึงสี่แยกมีไฟสัญญาณ เลี้ยวขวาไปสัก ๑ กิโลเมตร จะชนกับสามแยกให้เลี้ยวซ้ายไปสัก๕๐๐ เมตร จะมีทางแยก ให้เลี้ยวซ้ายไปอีกสัก ๑๐๐ เมตร ร้านนาดีนาห์ อยู่ทางซ้ายมืออาคาร๒ ชั้น ไม่มีห้องแอร์ มีห้องละหมาด ชั้นบนเป็นห้องโถงโล่ง ลมพัดเย็นสบายมากหน้าต่างแบบอาคารมุสลิม คือเปิดเป็นประตูได้ อย่าเผลอเดินตกลงไปก็แล้วกันแต่กินข้าวร้านนี้ตกยาก เพราะเขาเป็นร้านมุสลิมไม่ขายเครื่องดองของเมา
           ไข่ยัดไส้น้ำแดง ไส้มีเนื้อ หอมใหญ่ ถั่วลันเตา รสหวานนิด ๆ กินเล่นได้สบายกินกับข้าวร้อน ๆ
           เนื้อทอดมาดีนาห์ เขาเอาชื่อร้านของเขามาตั้งเป็นชื่ออาหาร ไม่อร่อยไหวหรือเนื้อทอดแล้วนุ่มหอม โรยด้วยหอมเจียว และพริกขี้หนู
           มัสหมั่นเนื้อ เนื้อก้อนโตแต่เปื่อย ไม่ยุ่ยได้เคี้ยวสนุก น้ำแกงข้น ออกรสหวานนิดๆ
           ผัดเผ็ดปลาดุก ชิ้นปลาโต น้ำขลุกขลิก ไม่เผ็ดแบบอาหารใต้ ใส่หน่อไม้ หอมใหญ่พริกชี้ฟ้า
           ปลาอินทรีย์ทรงเครื่อง ใช้ปลาอินทรีย์ชิ้นโต ทอด ราดด้วยซี่อิ้ว โรยด้วยต้นหอมและถั่วลันเตา
           บูดูสะตอเผา อาหารจานเด็ดสุด ๆ น้ำบูดู ที่ดีที่สุดจะเป็นน้ำบูดูของ อำเภอสายบุรีจังหวัดปัตตานี น้ำบูดูของร้านนี้มาจากสายบุรี จึงยกความวิเศษสุดไปให้ได้เลยส่วนสะตอนั้นสด เอามาเผาพอเปลือกไหม้หมดกลิ่น ใช้มือแกะเม็ดสะตอวางบนข้าวแล้วตักน้ำบูดูที่ปรุงแล้วราดลงไปให้ชุ่ม จึงตักเข้าปาก "อย่าบอกใคร"
           จบแล้ววันนี้ไม่ต้องจ่ายสตางค์ ทั้งอาจารย์ที่พามา และนายทหารอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาก็ตามมาเช่นกันแย่งกันออกสตางค์ สงสัยราคาคงจะไม่แพง
จบแล้วปิดท้ายด้วยไอศกรีม
.........................

| บน|