หลวงพ่อวัดเขาตะเครา

            หลวงพ่อวัดเขาตะเครา เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ อยู่ที่วัดเขาตะเครา ซึ่งวัดนี้ตั้งอยู่ที่ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ และมีชื่อเสียงมานาน ที่ได้นามว่า วัดเขาตะเครา เพราะได้สันนิษฐานกันว่า มีเจ้าสัวชาวจีนผู้หนึ่งมีศรัทธามาก เมื่อได้พระพุทธรูปหลวงพ่อขึ้นมาแล้ว และนำมาประดิษฐาน ณ บ้านแหลม จึงได้สละทรัพย์สร้างเป็นวัดขึ้น ให้นายช่างซึ่งเป็นลูกน้องไม่ปรากฎนาม เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง นายช่างเป็นชาวจีน จึงไว้เครายาว ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวจีนในยุคนั้น ชาวบ้านเห็นคนจีนเอาไว้เครายาวดังนี้ จึงเรียกวัดและเขา ผนวกกันเข้าไปว่า วัดเขาจีนเครา ต่อมาคำว่า จีนเป็นคำเรียกยากสำหรับชาวเมืองเพชร ไม่คุ้นหูชาวบ้าน ในยุคต่อมาจึงเปลี่ยนคำว่า จีน เป็น ตา กลายเป็นเขาตาเครา เมื่อกาลเวลาล่วงไป ภาษากร่อน สระอา จึงกลายเป็นสระอะ เปลี่ยนจาก ตา เป็น ตะ นามที่เรียกกันในปัจจุบันจึงเรียกกันว่า วัดเขาตะเครา
            ส่วนหลวงพ่อวัดเขาตะเครา นี้ มีตำนานเกี่ยวกับท่านสองตำนานคือ ตำนานแรก ท่านเป็นพี่น้องกับพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อีกสององค์คือ หลวงพ่อพุทธโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา และหลวงพ่อวัดบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม (หรือวัดเพชรสมุทร)  อีกตำนานหนึ่ง เชื่อว่าท่านเป็นพี่น้องกับพระพุทธรูปอีกสององค์คือ หลวงพ่อวัดบางพลีใหญ่ จังหวัดสมุทรปราการ และหลวงพ่อวัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม ไม่สามารถยืนยันได้ว่า ท่านเป็นพี่น้องกับพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์ใดแน่ หากเอาตามตำนานหรือประวัติของวัดบ้านแหลม หรือวัดเพชรสมุทร กับของวัดเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี แล้วใกล้เคียงกัน และพื้นที่จังหวัดก็อยู่ติดต่อกันด้วย จึงขอเล่าประวัติของหลวงพ่อวัดเขาตะเครา หรือหลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา ไว้ดังนี้
            เมื่อ พ.ศ.๒๓๐๒ ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ ๒ ให้แก่พม่า (เสียกรุงครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๓๐๑)  ชาวบ้านแหลม เพชรบุรี ได้อพยพหนีทัพพม่า ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ปากแม่น้ำแม่กลอง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม ใกล้กับวัดบ้านแหลม หรือวัดเพชรสมุทร ในปัจจุบัน ซึ่งเวลานั้น วัดบ้านแหลมชื่อว่า วัดศรีจำปา เป็นวัดร้าง ชาวบ้านแหลมที่อพยพไปอยู่ จึงช่วยกันบูรณะ ก่อสร้างขึ้นใหม่แล้วให้ชื่อตามท้องถิ่น ที่พวกตนจากมาคือชื่อ วัดบ้านแหลม เพื่อเป็นอนุสรณ์ของชาวบ้านแหลมผู้สร้าง และต่อมาได้เปลี่ยนเป็น วัดเพชรสมุทร วันหนึ่งชาวบ้านแหลมที่มีอาชีพดั้งเดิมคือ ชาวประมง ได้ไปจับปลาลากอวน ลากอวนติดเอาพระพุทธรูปมา ๒ องค์ องค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปนั่ง ปางมารวิชัย อีกองค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปยืน จึงนำองค์พระพุทธรูปยืน มาประดิษฐานไว้ ณ วัดบ้านแหลม (วัดศรีจำปา)  ต่อมาชาวบ้านเรียกพระพุทธรูปยืนองค์นี้ว่า หลวงพ่อบ้านแหลม ตามนามที่ได้พระพุทธรูปมา ส่วนอีกองค์หนึ่ง ที่เป็นพระพุทธรูปนั่งนั้น ได้มอบให้ชาวบ้าน ชาวบางตะบูน ซึ่งเป็นท้องถิ่นเดิมที่พวกตนได้จากมา ชาวบางตะบูน จึงนำไปประดิษฐานไว้ ณ วัดเขาตะเครา และเรียกกันว่า หลวงพ่อวัดเขาตะเครา ส่วนที่เรียกกันในภายหลังว่า หลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา เพราะว่าเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๒๗ เวลาประมาณ ๒๑.๐๐ เณรรูปหนึ่ง ได้วิ่งมาบอกเจ้าอาวาสคือ พระครูวชิรกิจโสภณ ว่า เกิดเหตุไฟไหม้ขึ้นที่โบสถ์  พระเณรจึงวิ่งไปดูที่โบสถ์ เห็นไฟไหม้ลุกท่วมองค์หลวงพ่อทอง และไฟได้ไหม้ลุกลามขึ้นไปสูง ปรากฎว่ามีทองคำหลอมเหลวไหลออกมาจากหลวงพ่อทอง เมื่อไฟดับแล้ว นำทองคำไปชั่งได้น้ำหนักถึง ๙ กิโลกรัม ๙ ขีด ท่านเจ้าอาวาสจึงนำทองคำไปหล่อเป็นลูกอมทองไหล หลวงพ่อทอง ลักษณะเป็นรูปทองคำทรงกลม และมีรูปหลวงพ่อทองติดอยู่ แล้วหุ้มรูปทรงกลมด้วยพลาสติค นำออกให้ประชาชนเช่าบูชา มีรายได้เข้าวัดเป็นเงินมากถึง ๒๑ ล้านบาทเศษ และนำรายได้นี้ไปสร้างมณฑป สร้างโรงเรียน สร้างประปา สร้างศาลาเอนกประสงค์
            หลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา ปัจจุบันไม่ได้ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถ แต่ประดิษฐานอยู่ในศาลาหลังคาสีแดง ตรงข้ามกับอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๒๑ นิ้ว สูง ๒๙ นิ้ว ประดิษฐานอยู่ที่วัดเขาตะเครา นับถึง พ.ศ.๒๕๕๑ เป็นเวลา ๒๔๔ ปี ส่วนหลวงพ่อที่เป็นพระประธานในอุโบสถนั้น นามหลวงพ่อคือ
            หลวงพ่อเทวฤทธิ์ ประดิษฐานในอุโบสถ เป็นพระทรงเครื่องแบบเทวรูป สูง ๕๔ นิ้ว หน้าตักกว้าง ๓๘ นิ้ว เนื้อปูน เป็นพระเก่าแก่องค์หนึ่ง พุทธลักษณะคล้ายกับพระประธานในอุโบสถวัดพระเมรุ ที่อยุธยา การปั้นอยู่ในลักษณะเดียวกัน ปูนก็ชนิดเดียวกัน มีความศักดิ์สิทธิ์ไม่แพ้หลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา ชาวบ้านในละแวกนั้น และชาวจังหวัดใกล้เคียว หากจะบนบานขอพึ่งพระบารมี ไม่ว่าในด้านใด ๆ ก็ตาม มักจะไปขอคู่กันคือ ขอจากหลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา ในศาลาหลังคาสีแดง ก่อน แล้วจึงไปขอจากหลวงพ่อเทวฤทธิ์ ในอุโบสถควบคู่กันไป มักได้รับความสำเร็จสมปรารถนา
            วัดเขาตะเครา ยังมีพระพุทธรูปสำคัญอีกองค์หนึ่ง ประดิษฐานเป็นพระประธาน อยู่ในวิหารบนเขาที่อยู่ด้านหลังอุโบสถ มีบันไดให้ขึ้นไปนมัสการได้ หลวงพ่อองค์นี้ สร้างจำลองแบบหลวงพ่อเขาตะเครา สูง ๗๗ นิ้ว หน้าตักกว้าง ๖๐ นิ้ว ปั้นด้วยปูนขาวผสมน้ำเชื้อแบบโบราณ ตามตำนานเล่าไว้ว่า เมื่อได้หลวงพ่อทอง มาแล้ว ก็นำไปประดิษฐานไว้ที่ยอดเขาตะเครา เพื่อความสะดวกในการที่จะผ่านไป ผ่านมา ระหว่างแม่กลองกับบ้านแหลม ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของตน สมัยก่อนทะเลกับเขาตะเครา ไม่ห่างกันมากนัก เมื่อชาวทะเลผ่านมาทางทะเล ก็นมัสการได้จากในทะเล ต่อมาชายทะเลได้งอกยาวออกไป นมัสการจากทะเลชักจะมองไม่เห็น ต้องขึ้นจากเรือมานมัสการบนบก ก็ต้องไต่เขาขึ้นไปเพราะยังไม่มีบันไดให้ขึ้น ได้สะดวกเช่นทุกวันนี้  (ขนาดมีบันได คนปูนผมก็หัวใจเกือบวาย) ชายทะเลก็งอกยาวออกไปไม่รู้จบ จึงได้ย้ายหลวงพ่อทอง ลงมาไว้ที่อุโบสถ และย้ายต่อมาไว้ที่ศาลาหลังคาแดง (น่าจะย้ายลงมาหลังเกิดไฟไหม้แล้ว) ในอุโบสถจึงสร้างหลวงพ่อเทวฤทธิ์เอาไว้ ส่วนวิหารยอดเขาตะเครา สร้างหลวงพ่อหมอ ไว้แทนหลวงพ่อทองวัดเขาตะเครา เหตุที่ไปเรียกท่านว่า หลวงพ่อหมอ ก็เพราะประชาชนละแวกนั้น ในสมัยก่อน เมื่อยามเจ็บป่วย หาหมอรักษายาก จึงเด็ดเอาต้นไม้บนเขา ที่เชื่อแน่ว่ากินได้ ถือว่าเป็นยาของหลวงพ่อ แล้วใส่หม้อยาเอาไปตั้งหน้าหลวงพ่อ จุดธูป เทียน อธิษฐานขอให้กินยาในหม้อนี้ แล้วหายโรค แล้วนำขี้ธูปเศษเทียน ที่จุดบูชาใส่ลงไปในหม้อด้วย นำไปต้มกิน ปรากฎว่าหายมากว่าตาย จึงเรียกท่านว่า หลวงพ่อหมอ
            และยังมีอีกในเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ ในด้านเมตตามหาลาภ ก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเป็นหมอเท่าไรนัก หากผู้ใดเดือดร้อนเรื่องเงินทอง ไม่สามารถหาทางออกได้ อาจจะถึงขั้นล้มละลาย หายนะแล้ว ก็จุดธูปเทียนออกนามหลวงพ่อหมอ หลวงพ่อหมอ อาจจะไปเข้าฝันบอกลาภให้ ก็จะพ้นจากล้มละลายหายนะได้ และยังมีอีกหลายเรื่อง
            เมื่อไปนมัสการหลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา ในศาลาหลังคาแดงแล้ว ก็อาจจะเช่าบูชาพระพุทธรูป และวัตถุมงคลได้ ซึ่งมีทั้งเหรียญ พระบูชา พระแขวนห้อยในรถ ฯ
                เส้นทาง  ไปวัดเขาตะเครา ไปได้ ๓ เส้นทางคือ
                    เส้นทางที่ ๑  วิ่งข้ามสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม ไปแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนข้างปั๊ม ปตท. ประมาณ กม.๗๓ ไป บางตะบูน (เส้นางเดียวกับไปวัดเขายี่สาร) ประมาณ ๖ กม. จะข้ามสะพานข้ามแม่น้ำบางตะบูน (ลงสะพานเลี้ยวซ้ายทันทีคือ ร้านอาหารที่มาชิมมื้อกลางวัน ตรงต่อไป ผ่านอำเภอเลี้ยวขวาเข้าประตูที่ ประมาณ กม.๑๐
                    เส้นทางที่ ๒  ไปตามถนนเพชรเกษม เลี้ยวซ้ายที่ประมาณ กม.๑๕๓ ไป ๑๕ กม.
                    เส้นทางที่ ๓  ไปตามเส้นทางนี้ เพราะผมจะเข้าเมืองก่อน วิ่งตรงเข้าเมืองผ่านเขาวัง ถึงสามแยกหลักเมือง แล้วเลี้ยวขวาถึงหน้าเขาวัง เลี้ยวซ้าย (มีป้ายตรงหัวมุม ไปวัดสำคัญคือ วัดพระมหาธาตุวรวิหาร วัดใหญ่สุวรรณาราม และวัดกำแพงแลง)  ไปถึงสี่แยกเลี้ยวซ้ายอีกที ข้ามทางรถไฟตรงไปจนถึง กม.๑๐ ก็เลี้ยวซ้ายเข้าประตูวัด


                    ไปกินอาหารแล้ว กลับเข้าเมือง ไปวัดมหาธาตุวรวิหาร  วัดใหญ่สุวรรณาราม และวัดกำแพงแลง ซึ่งสมควรไปชมอย่างยิ่ง เพราะเป็นวัดที่มีโบราณสถานสมัยขอม
                    เรือร้านอาหาร ร้านนี้ตั้งชื่อตรงตามความหมาย เพราะร้านตั้งอยู่ปากแม่น้ำตะบูน ออกจากวัดเขาตะเครา ก็เลี้ยวซ้ายผ่านอำเภอ อยู่เชิงสะพานข้ามแม่น้ำตะบูน ด้านซ้ายของเทศบาลบางตะบูน ร้านคือ เรือที่ลอยในน้ำ และมีส่วนที่เป็นร้านเสาปักในน้ำ  ไปมื้อกลางวัน วัดหยุดด้วยคนแน่น ขนาดต้องเข้าคิวรอโต๊ะ อร่อยสมกับที่รอคอย
                    อาหารแนะนำ ปลาดุกผัดฉ่า หอยเสียบผัดฉ่า ปลากะพงทอดยำตะไคร้ กุ้งแม่น้ำผัดพริกเกลือ น้ำพริกกะปิชะครามลวก ปลากะพงเปรี้ยวหวาน และแกงเขียวหวานปลากราย คำขวัญของร้านคือ "อาหารทะเลสด บรรยากาศดี มีปลาชุม" สั่งมาชิมคือ
                    ปลากะพงทอดยำตะไคร้ จานนี้ ๒๖๐ บาท ปลากะพงตัวโต ทอดกรอบนอก นุ่มใน ตะไคร้สดหั่นฝอยโรยหน้า พร้อมหอมแดง น้ำยำราดมาข้าง ๆ ตัวปลา เวลากิน ผสมให้ครบเครื่อง ทั้งเนื้อปลา ตะไคร้ หอม น้ำยำ เคี้ยวสนุก มันดีพิลึก
                    แกงคั่วปูผักชะคราม มาย่านนี้ ต้องหาอาหารที่ปรุงด้วยผักชะคราม แกงคั่วกะทิ ใส่ปูทะเลไข่ ใบชะคราม (คล้ายชะอม)  คลุกข้าวอร่อยนัก แกงออกรสหวานนิด ๆ
                    หอยตลับผัดพริกเผา จะสั่งหอยเสียบผัดฉ่า ปรากฎว่าหมด ได้หอยตลับผัดเผ็ดนิด ๆ เผ็ดอร่อย ผัดเข้มข้น น้ำพริกเผาชูรส กลิ่นหอมชวนกิน
                    ไม่มีของหวาน มีแต่ผลไม้ เลยไม่ได้ชิม
                    แม่น้ำบางตะบูน แยกมาจากแม่น้ำเพชรบุรี ที่ ต.บางครก อ.บ้านแหลม เป็นแม่น้ำสายสั้น  มาออกทะเลที่บางตะบูน อ.บ้านแหลม ปากอ่าวมี วัดปากอ่าวบางตะบูน มีเรือพาเที่ยว หรือลอยอังคาร ชมแม่น้ำ ชมทะเล ชมการเลี้ยงหอยแครง  ติดต่อ ๐๓๒ ๕๘๑๑๑๔

..............................................................


| บน |