| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

พุทธมณฑล (๑)


            ผมไม่ได้ไปพุทธมณฑลเสียหลายปี สาเหตุหนึ่งก็เพราะถนนเขากำลังขยายเป็น ๔ เลน แต่เดี๋ยวนี้ถนนขยายเป็นสี่เลนเรียบร้อยแล้ว และยังมีถนนอักษะหรือที่เรียกชื่อใหม่ว่า ถนนอุทยานที่งดงามยิ่งอยู่อีกสายหนึ่ง ซึ่งสายอักษะหรืออุทยานนี้แยกจากตรงหน้าทางเข้าพุทธมณฑล ตัดไปเชื่อมกับถนนพุทธมณฑลสาย ๓ ซึ่งถนนที่ผ่านหน้าพุทธมณฑลนั้นคือ ถนนพุทธมณฑลสาย ๔ แต่ที่น่าเสียดายคือ ถนนอักษะหรือถนนอุทยานที่แสนจะงดงามเมื่อเปิดใหม่ ๆ นั้น บัดนี้เกือบตลอดสองข้างทางกลายเป็นร้านอาหารชนิดทำเป็นเพิง หลังคามุงผ้าใบเกิดขึ้นมากมายหลายสิบร้าน ยิ่งดูเวลากลางวันยิ่งทำลายความสวยงามของถนนไปหมดเลยทีเดียว เข้าใจว่าสองข้างทางคงเป็นที่ดินของเอกชนเขาจึงให้ปลูกสร้างเพิงขายอาหารกันได้อย่างเต็มที่ และเวลานี้เขาว่าขายกันยิ่งกว่าอาหารแล้ว ขออภัยที่จะพาไปเที่ยวหาความสงบ หาธรรมะ กับเอาเรื่องกวนใจมาเล่าให้ฟังเสียก่อน เพราะเห็นสภาพแล้วก็เสียดายถนนอุทยาน เสียดายจริงๆ เสียดายเสาไฟฟ้าที่มี "หงส์" ที่สง่างามอยู่บนยอดเสา เขาบอกว่าราคาหงส์ยอดเสาไฟฟ้าบนถนนอุทยานนั้นแพงมากราคาแต่ละตัวเป็นหมื่น
            ผมไปพุทธมณฑลโดยไปข้ามสะพานพระปิ่นเกล้า แล้วก็ตัดขึ้นสะพานบรมราชชนนีไปเลย (เที่ยวกลับมาข้ามสะพานพระราม ๘ เพื่อกลับบ้านที่ลาดพร้าว) วิ่งกันจนสุดทางของถนนพระบรมราชชนนี จึงลงสู่ถนนสายปิ่นเกล้า - นครชัยศรี ซึ่งจะลงก่อนถึงถนนพุทธมณฑลสาย ๔ วิ่งต่อไปจนเห็นป้ายขึ้นว่าไปศาลายา ก็เลี้ยวออกสายคู่ขนานแล้วเลี้ยวเข้าถนนพุทธมณฑลสาย ๔ (หากไปศาลายาเลี้ยวซ้ายแล้วขึ้นสะพานข้ามถนน) พอเลี้ยวเข้าสาย ๔ มาได้สัก ๑๐๐ เมตร ทางซ้ายมือคือร้านอาหารที่จะไปชิมในวันนี้ชื่อร้าน ลูกชิ้นปลา นายเงี๊ยบ ฝากไว้ก่อนเดี๋ยวกลับมาชิมภายหลัง ผมไปตั้งแต่เช้า กะเที่ยวพุทธมณฑลตอนเช้า พอใกล้เที่ยงก็จะมาแวะกินลูกชิ้นปลานายเงี๊ยบ ซึ่งร้านดั้งเดิมที่เคยกินของเขามาตั้งแต่ ๒๒ ปีที่แล้วนั้นอยู่ที่ถนนบางขุนนนท์ ก่อนถึงวัดเจ้าอาร์มอยู่ฝั่งทางซ้ายมือ เดี๋ยวนี้ก็ยังตั้งขายอยู่ที่เดิม แต่มาเปิดที่นี่อีกแห่งหนึ่ง ขอข้ามลูกชิ้นปลาไปก่อน ไปพุทธมณฑลกันก่อน
            เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘ รัฐบาลที่มี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยความพร้อมใจของชาวพุทธทั้งประเทศได้ร่วมกันจัดสร้างปูชนียสถานขึ้นเป็นพุทธานุสรณีย์ เนื่องในวโรกาสมหามงคลกาลที่พระพุทธศาสนาเวียนมาบรรจบครบรอบ ๒,๕๐๐ ปี ซึ่งจะครบในวันวิสาขบูชา พ.ศ.๒๕๐๐
            ดังนั้นเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๔๙๘ รัฐบาลได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ไปทรงประกอบรัฐพิธีก่อฤกษ์พุทธมณฑล ณ บริเวณที่จะก่อสร้างพระพุทธรูปประธานพุทธมณฑล ปัจจุบันคือ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
            วัตถุประสงค์ในการสร้างพุทธมณฑลนั้นมี ๘ ประการ ข้อที่สำคัญที่สุดคือ เป็นพุทธบูชาและเป็นพุทธานุสรณียสถาน ในวโรกาสที่พระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติไทย เจริญรุ่งเรืองมาจนครบ ๒,๕๐๐ ปี ในปี พ.ศ.๒๕๐๐
            พุทธมณฑลสมัยนั้นก็เป็นเสมือนป่าเราดี ๆ นี่เอง ยังไม่เกิดเป็นอำเภอ จุดที่อยู่ใกล้และมีชื่อเสียงให้รู้จักกันคือตำบลศาลายา ซึ่งปัจจุบันก็ยังเป็นตำบลศาลายา อำเภอนครชัยศรี การก่อสร้างเริ่มไปได้ไม่เท่าไร รัฐบาลท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็หมดอำนาจ เป็นผลให้การก่อสร้างพุทธมณฑลหยุดชะงักไป จนถึง พ.ศ.๒๕๒๑ คณะรัฐมนตรีสมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์  ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการรับมอบงานก่อสร้างต่อจากกระทรวงมหาดไทย มาดำเนินการจัดสร้าง คราวนี้ให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการฝ่ายฆราวาส สมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานกรรมการฝ่ายสงฆ์
            การก่อสร้างดำเนินการต่อไปแต่ก็ดูจะไม่รวดเร็วนัก มาสมัย พล.อ.เปรม  ติณสูลานนท์ ได้ให้หน่วยทหารเป็นหน่วยหลัก แม้แต่หน่วยที่อยู่ใกล้ ๆ เช่นกองทัพภาคที่ ๔ ซึ่งในเวลานั้นผมย้ายไปรับราชการอยู่ที่กองบัญชาการช่วยรบที่ ๔ กองทัพภาคที่ ๔ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้หน่วยทหารทั้งที่เป็นหน่วยกำลังรบ หน่วยโรงเรียนทหาร เช่น ร.ร.นายร้อย จปร. หน่วยฝ่ายเสนาธิการเช่นกรมฝ่ายเสนาธิการต่าง ๆ ให้มหาวิทยาลัย โรงเรียน สถาบันต่าง ๆ ที่เต็มใจจะช่วยเหลือแม้แต่ตระกูลสำคัญ ๆ ที่มีสตางค์แยะมาช่วยกันสร้างตกแต่งให้เกิดเป็นสวนขึ้นในพุทธมณฑล และได้มีการสร้างสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งก่อนจะเล่ารายละเอียดของการก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ ว่ามีอะไรบ้าง ผมขอเชิญชวนท่านไปเที่ยวชมในพุทธมณฑลเสียก่อน เพราะเรื่องนี้หากจะให้ทราบละเอียดสักหน่อยก็คงจะยาวสักนิด หากเข้าไปในพุทธมณฑลในเวลานี้ เข้าประตูที่อยู่เลยร้านลูกชิ้นปลานายเงี๊ยบไปหน่อย ผ่านป้อมยามรับบัตรไม่เสียค่าผ่านประตู พื้นที่ สถานที่จะงดงามสุดพรรณนา ร่มรื่นไปทั่วบริเวณที่ผมได้บอกแล้วว่ามีหน่วยงานต่าง ๆ มาช่วยกันสร้างสวนไว้ ๒๐ ปีเศษผ่านไป ต้นไม้ต่าง ๆ เติบโต สูงใหญ่ให้ความร่มรื่นหมดแล้ว สวยจริงๆ และพื้นหญ้าข้างล่างก็ตัดแต่งโล่งเตียน จุดนี้สำคัญมาก หากต้นไม้โตใหญ่ แต่ข้างล่างหญ้ารกรุงรังก็หมดความงามกลายเป็นป่าไป แต่นี้ตัดแต่งหญ้าเรียบตลอดทั้งพื้นที่ "๒,๕๐๐ ไร" ไม่มีส่วนไหนเลยที่หญ้าจะไม่ได้รับการตัดแต่งจึงงดงามมาก และทั่วบริเวณด้านชายสวนจะมีสระน้ำขนาดใหญ่ที่มีปลาตัวโต ๆ รอรับอาหารจากผู้มาเที่ยวจะซื้ออาหารโยนไปให้กิน ในวันที่ผมไปนี้คือ ฤดูฝนน้ำจะเต็มขอบสระน้ำใสสะอาด จะนั่งริมน้ำหรือนั่งใต้ร่มไม้ จะเอาอาหารไปกินก็ได้ แต่อย่าลืมนึกถึงเรื่องความสะอาดของสถานที่ คนไปนั่งกินอาหารขอให้มีวัฒนธรรมที่ดีงามติดไปด้วย เศษอาหารและภาชนะขอให้เก็บทิ้งให้หมด ขอให้เสียดายสถานที่นี้กันมาก ๆ ว่างดงามสงบเพียงใด
            ดังนั้นการเข้าไปเที่ยวชมก็คงจะต้องมีรถไปเพราะยังไม่มีรถโดยสารที่วิ่งเข้าไปถึงข้างใน ขับรถผ่านป้อมยามแล้วก็ตรงไปตามป้ายบอกว่าไปพระพุทธรูปอันดับแรก เมื่อไปถึงลานจอดรถที่กว้างขวาง ก็จอดรถที่หน้าศาลากองอำนวยการ ซึ่งที่ศาลานี้ใช้เป็นที่รับบริจาค บริการดอกไม้ธูปเทียนทอง ประชาสัมพันธ์จำหน่ายวัตถุมงคล จำหน่ายหนังสือธรรมะ และด้านหลังก็เป็นศาลาที่ในวันเสาร์อาทิตย์ จะมีพระภิกษุสงฆ์ วันที่ผมไปเห็นมีพระ ๕ รูป มารอรับสังฆทาน และให้ธรรมะแก่ผู้มาทำบุญ ถังสังฆทานก็มีขายที่ศาลานี้ไม่ต้องนำไป พระจะรับสังฆทานจนถึงเวลา ๑๑.๐๐ น. ส่วนในวันอาทิตย์ตอนบ่ายจะมีเทศน์ เราก็ไปทำบุญติดกัณเทศน์ และฟังเทศน์ได้ในตอนบ่ายวันอาทิตย์ แต่ติดกัณเทศน์นั้นติดวันไหนก็ได้ เขารับอยู่ที่ศาลาอำนวยการ ขอติงนิดเดียว ว่าสุขาซึ่งจะต้องเดินไปจากศาลาอำนวยการไกลสัก ๕๐๐ เมตร แยกชาย-หญิง สะอาดแต่ขาดความเป็นสากล คือมีแต่แบบนั่งยอง ๆ ทั้งชายและหญิง เวลานี้พุทธมณฑลเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และเผยแพร่ธรรมะเป็นสากลไปแล้ว สงสารชาวฝรั่งต่างประเทศที่หากให้เขานั่งยอง ๆ คงนั่งไม่ได้เพราะตัวโต น้ำหนักมาก และยิ่งสูงอายุด้วยยิ่งไม่ได้ใหญ่ ควรที่จะถึงเวลาแล้วที่จะสร้างเพิ่มเติมให้เป็นแบบผสม คือมีทั้งนั่งยองๆ และชักโครก ผมเคยบอกแล้วว่าให้ทำอย่างสิงคโปร์เขาทำ เขากลัวคนหัวเก่าจะรังเกียจไม่ยอมนั่ง จะปีนขึ้นไปเอาเท้าเหยียบที่ขอบ เขาก็เลยสร้างแบบผสมมีทั้ง ๒ อย่าง เราเองก็ถึงเวลาแล้ว เราส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่เราไม่ส่งเสริมลักษณะของสุขา ให้เป็นสากลกับเขาบ้างเลย คนอ้วน คนพิการ และชาวฝรั่งทั้งหลาย จะยากกับการนั่งสุขาแบบนั่งยอง ๆ ปั๊มน้ำมัน ร้านอาหารระดับภัตตาคาร สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ๆ เช่นในอุทยานต่าง ๆ วัดสำคัญ ๆ เช่นวัดพระปฐมเจดีย์ และยังมีอีกมากมายที่ควรคำนึงถึงการสร้างห้องสุขา ว่าต้องสะอาดและเป็นแบบผสมให้มีความเป็นสากลด้วย
            เมื่อเราไปที่ศาลาอำนวยการแล้วก็เดินต่อไปนิดเดียว ไปยังลานและไปยังองค์พระพุทธประธานแห่งพุทธมณฑล
            พระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามไว้ว่า
"พระศรีศากยะมุทศพลญานประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์" ได้สร้างขึ้น ณ จุดที่เป็นใจกลางของพุทธมณฑล โดยมีศาสตราจารย์ ศิลป์  พีระศรี เป็นผู้ออกแบบ เป็นพระพุทธรูปปางลีลา หล่อด้วยโลหะสำริดโดยกรมศิลปากร นายช่างที่คุมงานก่อสร้างคือ อาจารย์ สาโรช  จารักษ์ ซึ่งท่านเล่าไว้ว่าท่านต้องมานอนเหมือนอยู่ในกรงที่บริเวณนี้เป็นเวลานานถึง ๒ ปี จึงแล้วเสร็จ อาจารย์สาโรช  จารักษ์ นี้รู้จักกับผมดี แต่ความสนิทสนมผมสนิทกับพี่ชายของท่านมากกว่า เพราะรุ่นราวคราวเดียวกันคือ พล.ต.ต.พิมล  จารักษ์ ท่านเสร็จงานนี้แล้วท่านอาจารย์สาโรช (ต่อมาได้เป็นรองอธิบดีกรมศิลปากร และถึงแก่มรณกรรมไปแล้ว) ตั้งใจจะไม่ทำงานปั้นแต่งรูปอะไรอีกแล้ว เพราะหนักในงานที่ทำในครั้งนี้ และได้ทำในสิ่งที่สูงสุดแล้ว เมื่อผมไปดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการ ในค่ายทหารทุ่งสง แม่ทัพ ๔ สมัยนั้นคือท่าน พล.ท.จวน  วรรณรัตน์ ได้บอกว่า "โอภาส คุณเป็นนักเขียนหนังสือ ช่วยตั้งชื่อค่ายทหารทุ่งสงให้ที เพราะเคยตั้งแล้วเสนอขอพระราชทานขึ้นไปไม่ทรงโปรด ฯ " ผมมานั่งคิดนอนคิดอยู่หลายวันก็เห็นว่าวีรสตรีชาวใต้นั้น ไม่มีใครโด่งดังเท่า คุณหญิงจันและคุณหญิงมุก หรือท้าวเทพสตรี ท้าวศรีสุนทร วีรสตรีแห่งเมืองถลางและวีรสตรีของชาวใต้ ส่วนค่ายทหารในภาคใต้นั้นค่ายทหารที่ทุ่งสงนี้ใหญ่ที่สุด ใหญ่เสียยิ่งกว่าค่ายวชิราวุธ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองทัพภาคที่ ๔ ในอำเภอเมือง  นครศรีธรรมราชเสียอีก และหากเทียบกับค่ายทหารอื่นๆ (เว้นดอนเมือง) ก็มีค่ายทหารที่ใหญ่กว่าอยู่เพียงค่ายเดียวคือ ค่ายสุรนารี ที่นครราชสีมา ส่วนที่อำเภอเมืองพิษณุโลกนั้นไปแยกเป็น ๒ ค่าย คือสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ อยู่ฝั่งตะวันออก เมื่อแยกเป็น ๒ ค่าย จึงเล็กกว่าค่ายทหารทุ่งสง
            ผมถูกชาวภูเก็ตยุคปัจจุบันต่อว่า ทำไมไปตั้งชื่อค่ายทหารแห่งนี้ว่า เทพสตรี ศรีสุนทร ทำไมไม่ตั้งชื่อค่ายเทพกษัตรีย์ ศรีสุนทร ผมก็ได้แต่ชี้แจงว่าสมัยที่ผมเรียนหนังสือก็เป็นคนอ่านประวัติศาสตร์มากคนหนึ่ง คุยได้เต็มปากสมัยอยู่ รร.จปร.ต้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์เมื่ออยู่ชั้นปีที่ ๓ นั้น ผมสอบวิชานี้ได้เป็นลำดับ ๑ เลยทีเดียว ถามเพื่อนถามฝูงดูได้ คำว่าเทพกษัตรีย์ ที่แปลว่า "ผู้หญิง" มาตั้งกันภายหลัง ผมได้ทำหนังสือไปถามกรมศิลปากรอย่างเป็นทางการ กรมศิลปากรตอบว่าถูกต้องใช้ได้ทั้ง ๒ อย่าง ของภูเก็ตนั้นมาเปลี่ยนนามอนุสาวรีย์ ท่านท้าวเทพสตรี ศรีสุนทร ในภายหลัง เด็กรุ่นใหม่ไม่รู้เรื่องเลยตั้งตาลปัตร สวดผมเข้าให้ เมื่อผมรายงาน

----------------------------------

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |