เมืองโบราณ

               เมืองโบราณ คือ เมืองที่นำโบราณสถานมาสร้างขึ้นใหม่ ในพื้นที่ประมาณ ๘๐๐ ไร่ และเริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๖ มาเป็นรูปร่างเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๘ ผู้ที่เนรมิตเมืองโบราณคือ คุณเล็ก วิริยะพันธ์ ผู้ล่วงลับไปแล้ว และท่านผู้นี้ประสบความสำเร็จในธุรกิจการค้ามาก่อน นำผลกำไรมาลงทุนสร้างเมืองโบราณ สร้างด้วยจิตที่รักงานศิลปะอย่างแท้จริง และเป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาติบ้านเมือง นอกจากสร้างเมืองโบราณแล้ว คุณเล็ก ฯ ยังได้สร้างปราสาทสัจธรรม และพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ ซึ่งผมเคยนำมาเล่าให้ทราบไปแล้ว โดยเฉพาะที่เมืองโบราณซึ่งผมเริ่มรู้จักว่า มีเกิดขึ้นในประเทศไทยก็คงจะประมาณ พ.ศ.๒๕๑๐ ซึ่งผมยังรับราชการอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ทราบด้วยความชื่นชม ยกย่องผู้คิดสร้าง แต่ก็ไม่มีโอกาสได้ไปชมสักที เพราะมัวแต่รับราชการอยู่บ้านนอก หรือไปอยู่พื้นที่ที่เขารบกัน หรือทลุออกไปสู่สนามรบนอกประเทศ จนเมืองโบราณสร้างแล้วสัก ๒๐ ปี ผมจึงมีโอกาสได้ไปเที่ยวเมืองโบราณ ที่ไม่ได้อยู่ไกลจากรุงเทพ ฯ เลย เมื่อได้ไปแล้วก็นำเอามาเขียนเล่าให้ทราบ ในหนังสือที่ผมเขียนแล้ว ที่นี้ก็ติดตามผลงานของคุณเล็ก ที่สร้างเมืองโบราณเพิ่มเติมทุกปีคือ สร้างกันชนิดไม่มีวันเสร็จ ผมก็เลยไปเที่ยวเมืองโบราณแทบจะทุกปีเช่นกัน ไปแล้วก็ได้เห็นอะไรใหม่ ๆ ให้นำเอามาเล่าให้ทราบกันได้ คุณเล็ก เริ่มงานสร้างเมืองโบราณจากการเป็นคนรักของเก่า และเริ่มศึกษาสะสม จากนั้นจึงเริ่มมีความคิดที่จะสร้างเมืองโบราณ "ซึ่งเมืองโบราณคือ เมืองในอดีต เรื่องของอดีตที่คนปัจจุบันจะต้องรู้ " เหมือนพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่รับสั่งไว้ว่า "แม้แต่อิฐแผ่นเดียวก็มีค่า"
            จอมพล ป.พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี ที่อยู่ในตำแหน่งรวมกันทุกสมัยนานถึง ๑๕ ปี ได้ริเริ่มพัฒนาป่าแสมโกงกาง ของบางปู ให้เป็นสถานที่ตากอากาศ มีการสร้างสะพานสุขตา - ศาลาสุขใจ ยื่นลงไปในทะเล มีเวทีลีลาศ และยังมีอยู่จนถึงทุกวันนี้ รวมทั้งมีอาหารที่อร่อยจำหน่ายด้วย ครอบครัววิริยะพันธ์ มีที่ดินแปลงหนึ่งที่ทางเข้าอยู่ตรงข้ามกับทางเข้าสถานตากอากาศบางปู ที่เป็นชายทะเล ที่อยู่ใกล้กรุงเทพ ฯ มากที่สุด ที่ดิน ๕๐๐ ไร่ เป็นทุ่งนาร้าง น้ำเค็มทลักเข้ามาจนทำนาไม่ได้ คุณเล็กจึงได้เสนอขอซื้อจากผู้ที่เลิกทำนา เพราะดินเค็มจนมีที่ดินเพิ่มมากขึ้น และเริ่มงานเมืองโบราณ ดังนั้นเมืองโบราณของคุณเล็กจึงโบราณจริง ๆ เช่น ปราสาทพนมรุ้ง ที่สร้างจำลองครั้งแรกนั้น ปราสาทพนมรุ้งของจริงที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ยังเป็นกองหินอยู่กับดิน ผมไปพนมรุ้งครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙ สภาพของพนมรุ้งคือ กองหินที่มีการสำรวจแล้ว และเขียนหมายเลขกำกับเอาไว้ที่หิน หรือศิลาแลงทุกก้อน ยังไม่ได้ยกขึ้นเป็นตัวปราสาท แต่ปราสาทพนมรุ้งจำลองที่เมืองโบราณก็เกิดขึ้นแล้ว หรือปราสาทเขาพระวิหาร เมื่อก่อนเป็นของไทยจึงมีการสร้างไว้ในเมืองโบราณ ต่อมาเราจึงแพ้ความเสียให้เขมรไป ในเมืองโบราณจึงมีเขาพระวิหารจำลอง ซึ่งปราสาทแห่งนี้หากเขมรคิดจะขึ้นมายังปราสาท จะไม่สามารถปืนหน้าผาขึ้นมาจากดินแดนเขมรได้ ต้องมาขึ้นทางดินแดนไทย ในเขตอำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีษะเกษ และทราบว่ากัมพูชากำลังให้สัมปทาน หากจำไม่ผิดก็ให้ญี่ปุ่นสร้างเคบิลคาร์ ขึ้นมาจากแดนเขมรได้ ไม่ทราบว่าเสร็จแล้วหรือยัง ไม่ได้ไปมาหลายปีแล้ว
            เมืองโบราณ สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ เส้นทางไป หากรู้จักสถานตากอากาศบางปู ทางเข้าเมืองโบราณก็อยู่ฝั่งตรงข้ามเยื้องๆ กัน ต้องเลี้ยวรถข้ามสะพานข้ามคลอง ไปยังประตูทางเข้า ซึ่งจะต้องซื้อบัตรผ่านประตูที่หน้าประตู ค่าผ่านเข้าชมคนละ ๑๐๐ บาท หากนำรถเข้าไปด้วยก็จ่ายเพิ่มอีกคันละ ๕๐ บาท
            ส่วนผมไปจากบ้านลาดพร้าว ขึ้นทางด่วนสายรามอินทราไป ๒ เด้ง ไปลงที่บางนาแล้ว วิ่งไปกลับรถ เมื่อข้ามสะพานข้ามถนนศรีนครินทร์แล้ว วกกลับมาเข้าถนนศรีนครินทร์ วิ่งไปออกเทพารักษ์ที่สมุทรปราการ เลี้ยวซ้ายไปบางปู ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากตัวเมืองประมาณหลัก กม.๓๓ โดยจะผ่านทางแยกทางขวาเข้าตัว อ.เมือง ไปฟาร์มจระเข้ ไปวัดอโศการาม
            เมื่อซื้อบัตรผ่านประตู เขาก็ให้โบชัวร์มา ๑ ใบ พอเป็นคู่มือชมสถานที่ในเมืองโบราณได้ จะมีแต่แผนที่สังเขป แต่จะไม่มีรายละเอียดว่า สถานที่นั้นมีรายละเอียดอย่างใดบ้าง คงมีแต่ชื่อจึงสมควรซื้อหนังสือ นำเที่ยวเมืองโบราณอีกเล่มหนึ่งราคาเล่มละ ๖๐ บาท หรือละเอียดมากก็มีราคาสูงขึ้นอีกหน่อย
            การวางผังของโบราณสถานที่จำลองขึ้นมา แต่จำลองแบบที่มีขนาดใหญ่มาก หรือบางแห่งผมว่าพอ ๆ กับของจริง เช่น เรือสำเภาไทยที่ลอยลำอยู่ เป็นต้น ผังของสถานที่เมื่อมองจากแผนผังแล้ว จะเห็นว่ามีรูปร่างคล้ายแผนที่ประเทศไทย จำนวนโบราณสถาน จนถึง พ.ศ.๒๕๔๙ มีจำลองเอาไว้ ๑๑๖ แห่ง และกำลังสร้งเพิ่มเติมมากกว่านี้ ผมจะไปใหม่ ไปดูความแปลกใหม่ ความคิดริเริ่มที่ควรแก่การยกย่องสรรเสริญ ซึ่งผมเองไม่ได้รู้จักคุณเล็ก วิริยะพันธ์ แต่เขียนถึงด้วยความชื่นชมมานานแล้ว รวมทั้งการสร้างปราสาทสัจธรรม ที่พัทยา การสร้างพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ ที่อยู่เลยถนนสุขุมวิทซอย ๑๑๙ ได้นำเอามาเล่าให้ทราบไแล้ว และเมื่อไปพบอะไรที่แปลกๆ ผู้ดำเนินการกล้าสร้าง กล้าลงทุน ผมไปแล้วก็จะนำเอามาเล่าให้ทราบ เช่น ซาฟารี ภูเก็ตแฟนตาซี สยามนิรมิต เป็นต้น ล้วนควรแก่การยกย่อง ผู้ริเริ่มดำเนินการทั้งสิ้น
            การไปตระเวนชมเมืองโบราณ ต้องใช้เวลาสัก ๑ วัน ก็จะเหมาะ ๑ วันที่นั่งรถตระเวนเป็นส่วนใหญ่ ลงไปถ่ายภาพบ้าง เข้าไปชมข้างในบ้างเป็นบางแห่ง ไม่ได้ชมกันละเอียดทั้ง ๑๑๖ แห่ง หากชมกันละเอียดคงจะต้องไปนอนที่สถานตากอากาศบางปู เสียคืนหนึ่ง พอรุ่งขึ้น ๐๘.๐๐ ก็ไปตระเวนชมกันใหม่ เขาเปิดให้เข้าชมได้ตั้งแต่ ๐๘.๐๐ - ๑๗.๐๐ ชมกัน ๒ วัน สงสัยต้องจ่ายค่าเข้าชม ๒ ครั้ง ผมไปชมแค่ค่อนวัน แล้วกลับออกมาหาอาหารกลางวันกินที่บางปู แต่ไปเมืองโบราณคราวหลัง สำรวจพบร้านอาหารเข้าตา เลยลองชิมอร่อยจริง ราคาย่อมเยา  เมื่อกินกลางวันแล้วทำให้มีเวลาเที่ยวต่อในเมืองโบราณได้อีก
            ผมจะขอเล่าถึงโบราณสถานสำคัญ ๆ ที่ลงแวะชม หรือจอดรถชมและถ่ายภาพเอาไว้ เพราะไม่สามารถเล่าได้ทั้ง ๑๑๖ แห่ง และการขับรถชมเอง ต้องดูแผนผังไว้ให้ดีก่อน จะได้ไม่หลงทิศ แต่หลงทาง เมืองโบราณก็มีรถนำเที่ยวที่เป็นแบบรถยนต์ แต่เอาร่างของรถรางครอบไว้ แล้วพาวิ่งไปชมเป็นส่วนรวมทีละหลาย ๆ คน มีสถานีจอดให้ลงชมได้หลายสถานี ส่วนค่ารถเท่าไรไม่ได้ถาม เพราะไม่เคยขึ้นกับเขาสักที ไปทีไรก็ขับรถตระเวนชมเอาเอง ชอบใจจุดไหนก็จอดลงถ่ายภาพเก็บไว้ และส่วนใหญ่ก็ล้วนแต่เป็นโบราณสถานที่ผมไปตระเวนมาแล้วทั้งสิ้น เวลาของการเขียนเที่ยวกินทั่วไทยของผมผ่านมาแล้วร่วมสามสิบห้าปี นานพอ
ที่ผมจะตระเวนไปรอบประเทศไทยได้หลายรอบ และยังหารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากการที่รับราชการอยู่แต่บ้านนอกเป็นเวลานาน
ถึงสามสิบปี วันนี้ขอเล่าเฉพาะที่จอดรถลงถ่ายภาพ แต่ไม่ได้ลงภาพให้ชมทุกภาพที่ถ่ายมา
            เริ่มต้นเมื่อผ่านประตูเข้าไปคือ พระแท่นที่ประทับที่สร้างขึ้นตามแบบมาตรฐานปราสาทสมัยสุโขทัย และสร้างศาลาไทยหลังเล็ก ๆ ขึ้นบนพระแท่นนี้ เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพรหม ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของเมืองโบราณ
                ศาลาหน้าเมือง  ตามประเพณีไทยนิยมสร้างศาลาไว้นอกเมือง สำหรับคนเดินทางมาถึงแล้วยังเข้าเมืองไม่ได้ เพราะประตูเมืองปิดเปิดเป็นเวลา จะได้พักอาศัยรอเวลาประตูเมืองเปิด ที่สร้างจำลองในสถานที่จริงก็มีศาลาหน้าเมือง อ.เมือง นครศรีธรรมราช "ศาลาประดู่หก"
                ประตูเมือง  ทางเข้าเมืองโบราณเป็นประตูที่จำลองมาจากซุ้มประตูล้อมพระปรางค์ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง เมืองสวรรคโลก ที่สร้างขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๘ สร้างด้วยศิลาแลง
                เมื่อผ่านประตูเมืองเข้าไปแล้ว ก็เหมือนผ่านเข้าประเทศไทยทางภาคใต้ เช่น สวนมโนราห์พระบรมธาตุนครศรีธรรมราชเทวรูปปัลลวะ พังงา คือ เทวรูปพระวิษณุ พระศิวะ พระลักษมี สร้างด้วยศิลา เป็นฝีมือของช่างปัลลวะในอินเดียใต้ (พุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๔)  เทวรูป ๓ องค์นี้เดิมถูกล้อมด้วยรากไม้ที่โคนต้นตะแบกในจังหวัดพังงา รัชกาลที่ ๖ เสด็จประพาสภาคใต้ เมื่อยังทรงพระยศเป็นพระบรมโอรสาธิราช ได้เสด็จมาทอดพระเนตรเห็นเทวรูป ๓ องค์โผล่พระพักตร์มาจากโคนต้นตะแบก
โดยไม่มีใครทราบว่าเดิมทีอยู่ที่ไหน แต่ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์นครศรีธรรมราช

                พระบรมธาตุไชยา  สุราษฎร์ธานี น่าจะเป็นโบราณสถานสุดท้ายของภาคใต้ ต่อจากนั้นก็จะมาถึงตลาดโบราณ หรือตลาดบก ที่สร้างและจัดร้านแบบโบราณ เช่น มีร้านกาแฟที่เดี๋ยวนี้หาร้านแบบนี้ในกรุง ฯ นั่งซดกาแฟยามเช้าไม่มีให้ชมแล้ว ใกล้ที่สุดที่ยังมีให้นั่งซดได้คือ ที่ตลาดใหม่ (ความจริงเก่าร้อยปี) อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ร้านในตลาดบกเมืองโบราณมีสินค้าขายจริง ๆ และอยู่ริมถนนโบราณที่ยังไม่มีรถยนต์วิ่ง โดยจำลองมาจากถนนสายเก่าใน อ.เมือง ตาก กับสภาพบ้านเรือนในกำแพงเพชร ที่ถนนสายตากก็ยังอยู่แต่รถพอเดินได้ ส่วนที่กำแพงเพชร ถนนสายหลักในตัวเมืองก็ยังเป็นถนนแคบ ๆ ที่ต้องให้รถเดินทางเดียว การชมตลาดโบราณ
จึงเห็นภาพความทรงจำสำหรับคนโบราณอย่างผม และภาพแก่คนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยเห็นภาพนี้มาก่อน และยังมีโอกาสไปชมของจริงได้ เช่น ที่ตากและกำแพงเพชร
                ต่อมาก็จะมาผ่านศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณาราม เพชรบุรี หอพระไตรปิฎกและหอระฆังพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ราชบุรี สวนขวา กลุ่มสถาปัตยกรรมแบบจีน ท้องพระโรงกรุงธนบุรีพระพุทธรูปทวาราวดี ซึ่งของจริงมีสี่องค์ ประทับนั่งห้อยพระบาทอยู่ในพระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์องค์หนึ่ง และที่ลานด้านทิศเหนือขององค์พระปฐมอีกองค์หนึ่ง พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสามพระยา ที่อยุธยา และที่กรุงเทพ ฯ

                เรือนทับขวัญที่นครปฐม คุ้มขุนแผนจากอยุธยา อนุสรณ์สถานสงครามยุทธหัตถีที่สุพรรณบุรีอนุสรณ์สถานกรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท  (ในรัชกาลที่ ๑)   ด่านเจดีย์ ๓ องค์  ทีนี้เข้ามากรุงเทพ ฯ จำลองพระที่นั่งสำคัญ ใครไปชมต้องเข้าไปชมข้างในให้จงได้ เพราะงามนัก และงามด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง แต่ละภาพกว่าจะเขียนขึ้นมาได้ ได้รวบรวมค้นคว้าหาหลักฐานต่าง ๆ จนเกิดเป็นภาพขึ้น ปราสาทนี้คือ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท กรุงเทพ ฯ ซึ่งของจริงคือ ปราสาทที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรด ฯ ให้สร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ.๒๓๓๒ เป็นปราสาททรงจตุรมุข สูงใหญ่เท่ากับพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยสร้างขึ้นแทนพระที่นั่งอินทราภิเษกซึ่งถูกฟ้าผ่าไหม้ทั้งหลัง  เป็นปราสาททรงไทยแท้ ที่เหลืออยู่สมบูรณ์เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย และรัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้า ฯ ให้บูรณะทั้งหลัง

                วิหารพระศรีสรรเพชญ  อยู่ในบริเวณวัดพระศรีสรรเพชญ ซึ่งเป็นวัดในวังสมัยกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันคงเหลือแต่ซาก เพราะถูกพม่าเผาทำลายไป เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐ และยังเอาไฟเผาเพื่อลอกเอาทองคำที่หนักถึง ๒๘๖ ชั่ง จากองค์พระพุทธรูปสำคัญพระนามว่า พระศรีสรรเพชญ พระพุทธรูปองค์ที่ถูกไฟเผานี้รัชกาลที่ ๑ เห็นว่ายากที่จะปฎิสังขรณ์ จึงอัญเชิญจากอยุธยามาไว้ที่วัดพระเชตุพน แล้วสร้างพระเจดีย์หุ้มเอาไว้ พระราชทานนามว่า พระเจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณ เข้าไปในวัดพระเชตุพนจะเห็นมีกลุ่มพระเจดีย์สี่องค์ ถือว่าเป็นพระเจดีย์ประจำรัชกาลที่ ๑ - ๔ องค์ที่ใหญ่ที่สุดคือ องค์ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเอาไว้ และรัชกาลที่ ๔ โปรดว่าให้คงสร้างเพียงสี่รัชกาล
                พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท  เป็นพระที่นั่งโบราณ ตั้งแต่สมัยอยุธยาสตอนต้น ถูกพม่าเผาทิ้งทั้งองค์ เมื่อกรุงแตก พ.ศ.๒๓๑๐ คงเหลือแต่ซากฐาน เมืองโบราณจำลองขึ้นมาจากซากฐานที่เหลือ โดยต้องกำหนดและค้นคว้าจากหลักฐานดั้งเดิม ทั้งของไทยและเทศว่า ควรจะมีรูปร่างอย่างไร จากภาพเขียน ภาพแกะสลัก และโบราณวัตถุเท่าที่จะหาได้ และก่อสร้างขึ้นมาด้วยความยากลำบากอย่างยิ่ง เช่น ส่วนหลังคาดีบุก ได้แบบมาจากหลังคาพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ ในพระบรมมหาราชวัง ช่อฟ้า ใบระกา จากวัดโพธิ์ ซุ้มปูนปั้น จากวัดเขาบันไดอิฐ เป็นต้น เมื่อมาชมพระที่นั่งองค์นี้ต้องเข้าไปภายในให้ได้ เช่นเดียวกันกับชมพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เพราะสร้างสวยเหลือเกิน ผนังภายในงามด้วยลายปูนปั้น ปิดทองประดับกระจก พระที่นั่งองค์กลางมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เรื่องนารายณ์สิบปาง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลปัจจุบันทรงใช้พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท ณ เมืองโบราณนี้ รับรองสมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ ๒ และพระราชสวามี เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๕ และเมืองโบราณถือว่า วันนี้เป็นวันสิริมงคล และเสมือนเป็นวันเปิดเมืองโบราณ ต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการด้วย
                โบราณสถานในเมืองโบราณมีมากถึง ๑๑๖ แห่ง จาระไนไม่ไหว มีกระทั้งขบวนเสด็จพยุหยาตราทางชลมารค ลอยลำอยู่ในสระใหญ่ที่สมมุตว่าเป็นแม่น้ำ ไม่ไกลกันมีเรือสำเภาไทยที่มีการสร้างขึ้น ตั้งแต่สมัยอยุธยา และในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งนอกจากจะมีเรือนานาชาตินำเรือสินค้า มาเทียบท่าค้าขายแล้ว ไทยก็ยังสร้างเรือเดินทะเลนำสินค้าไปขายยังโพ้นทะเลด้วย เรือสำเภาจำลองนี้ใหญ่โตน่าจะเท่าของจริง ไปวิ่งในทะเลได้แน่เรือเหล่านี้เพิ่งจะหายไปจากลำน้ำเจ้าพระยา เมื่อประมาณ ๖๐ ปีที่ผ่านมานี้เอง เรือสำเภาจำลองแต่ลงน้ำไม่ได้ก็มีที่วัดยานนาวา กรุงเทพ ฯ อีกลำผ่าให้เห็นภายในลำเรือ ลงน้ำไม่ได้อยู่ที่พิพิธภัณฑ์เรือ จังหวัดจันทบุรี ไปชมแล้วจะเห็นว่า ส่วนไหนบรรทุกสินค้า ส่วนไหนของเรือที่กลาสีจะอยู่

                จุดสุดท้าย ที่ผมจะพาไปชมและไปกินกันจริง ๆ คือ ตลาดน้ำ ในเมืองโบราณเดี๋ยวนี้มีร้านอาหารแทรกอยู่ ตามภาคต่าง ๆ ของเมืองหลายร้าย และน่าจะขายอาหารพื้นเมืองของภาคนั้นด้วย เช่น ร้านหอคำ ลำปาง ร้านก๋วยเตี๋ยวปลายนา แต่ที่ไปชิมคือ ร้านริมน้ำ อยู่ในตลาดน้ำ
                ตลาดน้ำ เป็นภาพชีวิตของผู้คนที่ตั้งบ้านเรือน อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำลำคลอง โดยเฉพาะบริเวณภาคกลางของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เช่น ตลาดน้ำดำเนินสะดวก ตลาดน้ำวัดไทร ตลาดน้ำท่าคา ฯ ซึ่งตลาดน้ำเหล่านี้ เมื่อนักท่องเที่ยวมาเที่ยวมากขึ้น ความเจริญของริมฝั่งน้ำก็เกิดตามขึ้นด้วย เช่น มีร้านขายอาหาร ขายสินค้า และในน้ำลำคลองก็จะมีเรือชาวบ้าน ชาวสวน นำสินค้าที่เป็นผลิตผลจากสวนของตัว ออกมาขายหรือแลกเปลี่ยนกัน ตลาดน้ำท่าคา ที่ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม คือ ตลาดน้ำชีวิตจริงของชาวสวน ที่ติดนัดกันตามวันขึ้น แรม ๒.๗ และ ๑๒ ค่ำ ชาวสวนเอาผลิตผลลงเรือ พายมาขายกันจริง ๆ เดี๋ยวนี้นักท่องเที่ยวไปกันมากขึ้น วันไหนที่ไม่ตรงกับวันนัด ก็เริ่มมีชาวสวนเอาสินค้าในสวนมาวางขายริมถนนกันแล้ว ส่วนวันนัดในคลองตลาดน้ำทุกแห่ง นอกจากจะมีสินค้าจากสวนแล้ว ก็ยังมีเรือของกิน เช่น ก๋วยเตี๋ยว ขนมหวาน พายขายกันมากมาย ส่วนตลาดน้ำที่เมืองโบราณ สร้างได้เก๋จริง ๆ สร้างร้านหรือบ้านไว้ริมน้ำ ในน้ำมีศาลา มีสะพานข้ามน้ำ มีร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหาร ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านขนมหวาน สะท้อนให้เห็นภาพของชุมชนริมน้ำในสังคมเมืองสยามในอดีต ภายในตลาดน้ำยังมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม

และความเชื่อในทางศาสนา มีวัดทางพระพุทธศาสนา มีโบสถ์คริสต์ มัสยิดของศาสนาอิสลาม มีศาลเจ้าจีน แถมด้วยศาลผีประจำท้องถิ่น เป็นภาพที่นำมาให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันของคนไทยแม้จะต่างเชื้อชาติกัน ต่างศาสนากัน ก็อยู่ร่วมกันมาอย่างสันติสุขในอดีตที่ผ่านมา ไปตลาดน้ำเมืองโบราณ อย่าแค่วิ่งรถผ่านไป ต้องจอดลงจากรถไปเดินชมให้ได้
                เมื่อเข้าไปแล้ว เดินข้ามสะพานข้ามน้ำ มีท่าเรือ มีเรือให้เช่าพาย เดินไป เดินมาจะพบร้านอาหารหลายร้าน ร้านที่พบและแวะชิมคือ ร้าน "ริมน้ำ" มีระเบียงให้นั่งริมน้ำ เย็นสบายมาก มีอาหารตามสั่งหลายอย่าง ได้สั่งมาชิมดังนี้
                ไข่เยี่ยวม้ากระเพรากรอบ ไข่เยี่ยวม้าทอด ผัดมากับหมูสับ โรยหน้าด้วยกระเพรากรอบ
                ส้มตำไทย ต้องสั่งไม่สั่งไม่ได้ เห็นเขาสั่งกันทุกโต๊ะ รสจัด มีผักแนบมา ผักบุ้ง กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว ร้านนี้ไม่ป้าย คลีนฟู๊ด กู๊ดเทสท์ แต่อาหารทุกจานจะมีช้อนกลาง
                แกงเลียงกุ้งสด ยกมาตั้งร้อนโฉ่ ควันขึ้นโขมง มีเห็ดฟาง ถั่วฝักยาว บวบ ข้าวโพดอ่อน ที่ขาดไม่ได้สำหรับแกงเลียง คือ ต้องใส่ใบแมงลัก ซดชื่นใจดีนัก
                เขียวหวานหมูห่อไข่ แปลกดี ไม่เคยเห็น ออกรสหวานนิด ๆ แทนที่จะยัดใส้ด้วยหมูผัด ก็ยัดใส้ด้วยแกงเขียวหวานแห้ง คลุกข้าวกินอร่อยนัก เหยาะน้ำปลาพริกสักนิดจะชูรส
                อาหารจะออกรสเผ็ดนิด ๆ แต่เป็นเผ็ดอร่อย
                ปิดท้ายด้วย เฉาก๊วยโบราณ แบบใช้ช้อนตักมาจากถังพอดีคำ แล้วโรยด้วยน้ำตาลทรายแดง ไม่ชอบเฉาก๊วยก็มี สาคูเปียก ที่ใส่เผือก ใส่ข้าวโพดมาด้วย
                ภาษิตติดเอาไว้ที่ข้างฝา อ่านแล้วชอบใจ เลยเอามาฝากให้อ่านกัน
                บริโภคหันหน้าทางทิศประจิน จะมีอายุยืน (ไม่ทราบว่าเป็นทิศไหน)
                บริโภคหันหน้าทางทิศทักษิณ จะมีทรัพย์ (ทิศใต้)
                บริโภคหันหน้าทางทิศประจิม จะมียศ (ทิศตะวันตก)
                ไม่ควรบริโภคหันหน้าทางทิศอุดร (ทิศเหนือ)

.....................................................

| บน |