| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

นครปฐม (๒)
            ผมพาไปลงแพ กินอาหารมามื้อหนึ่งแล้วจะพาไปอีกแพ ซึ่งเส้นทางที่ไปหากไปตามถนนสายพุทธมณฑลก็จะต้องมาเข้าที่พุทธมณฑลสาย ๕ แล้วเข้าไปเที่ยวตลาดหลังวัดดอนหวาย ที่ผมไปทำให้เขาเพิ่มจากที่มีเหลืออยู่ไม่กี่ร้านกลายเป็นกว่าร้อยร้าน เป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นที่ลงเรือล่องแม่น้ำนครชัยศรี ซึ่งแม่น้ำนครชัยศรีนี้มีชื่อเรียกกันถึง ๓ ชื่อ คือแม่น้ำนี้แยกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท ที่ปากคลองนี้มีวัดปากคลองมมะขามเฒ่า เคยมีพระเจกิอาจารย์ชื่อดังคือ หลวงปู่ศุข ซึ่งสามารถเสกใบมะขามให้เป็นตัวต่อตัวแตนได้ และในตอนสงครามอินโดจีน ท่านนำเสื้อยันต์แจกทหารที่ออกรบ บิดาผมไปรบทางด้านอรัญประเทศ ท่านได้เสื้อยันต์ของหลวงปู่ศุขมาตัวหนึ่ง เสียดายตอนที่ผมออกรบครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๑ นั้น บิดาหาเสื้อยันต์ตัวนี้ไม่เจอแล้ว หลวงปู่ศุข เป็นอาจารย์ของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ไปพบครั้งแรกตั้งแต่ท่านยังอยู่บนศาลาที่จวนพัง เดี๋ยวนี้สร้างศาลาอย่างดี แต่วันเปิด - ปิด เป็นเวลา ไปสาย ๆ ไว้หน่อยและดีจะได้เข้านมัสการ ไม่งั้นเจอแต่คล้องกุญแจไว้
            แม่น้ำที่แยกมานี้บางทีก็เรียกว่า แม่น้ำคลองมะขามเฒ่า ความจริงคือต้นแม่น้ำท่าจีน พอมาผ่านตรงตัวเมืองสุพรรณบุรี เรียกว่าแม่น้ำสุพรรณ ไหลลงมาถึงนครชัยศรีกลายเป็นแม่น้ำนครชัยศรี พอพ้นไปแล้วเข้าเขตสมุทรสาคร ก็เรียกแม่น้ำท่าจีนจนไหลลงสู่อ่าวไทย
            คลาดน้ำวัดดอนหวาย เขาเลยยกป้ายยกย่องผมไว้ว่าทำให้ตลาดนี้เจริญ หาดูได้ตรงร้านที่ดังระเบิดคือร้านเป็ดพะโล้นายหนับ และก่อนมาดอนหวาย อย่าลืมพุทธมณฑลที่ผมเคยเล่าละเอียดไปแล้วสวยงาม สงบ
            จากวัดดอนหวายหากตรงต่อมาอีกหน่อยก็จะถึงวัดไร่ขิง ซึ่งมีพระพุทธรูปสำคัญคือ หลวงพ่อวัดไร่ขิง
            วัดไร่ขิงเป็นวัดราษฎร์ ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำท่าจีน หรือแม่น้ำนครชัยศรี ห่างจากกรุงเทพ ฯ ประมาณ ๓๕ กม. อยู่ในเขตอำเภอสามมพราน จังหวัดนครปฐม แยกขวาจากถนนเพชรเกษม ตรงหน้าสวนสามพราน เข้าไปอีก ๒ กม. แต่ก่อนจะไปนั้นหากไม่เข้าทางพุทธมณฑลสาย ๕ หรือ ๖ แล้ว ต้องวิ่งผ่านสวนสามพรานไปจนถึงสะพานข้ามแม่น้ำ ฯ แล้วเลี้ยวกลับรถใต้สะพานมาสัก ๑๐๐ เมตร จะผ่านทางแยกซ้ายข้างปั๊ม ปตท. เข้าไปยังแพเตย ร้านอาหารที่จะพาไปชิมวันนี้ ผ่านปั๊ม ปตท.ไปก่อนแล้วจะถึงทางแยกซ้ายเข้าไปยังวัดไร่ขิง มีป้ายบอกปากทาง
            "ไร่ขิง" เป็นชื่อของตำบลในอำเภอสามพรานสมัยปัจจุบัน แต่ในอดีตคงเป็นชื่อหมู่บ้าน เมื่อสร้างวัดขึ้นมาจึงตั้งเป็นชื่อวัดตามชื่อตำบลคือ วัดไร่ขิง ในปี พ.ศ.๒๔๕๖ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพ ฯ เสด็จมาตรวจเยี่ยมวัดในอำเภอสามพราน  สมเด็จ ฯ ได้เสด็จไปที่วัดไร่ขิงและได้ทรงพระราชทานชื่อเสียใหม่ว่า วัดมงคลจินดาราม แต่ได้วงเล็บไว้ว่า (ไร่ขิง) แต่ต่อมาวงเล็บหายไปเหลือแต่คำว่าไร่ขิง แต่ทางราชการเรียกว่า วัดไร่ขิง ไม่เขียนว่าวัดมงคลจินดารามไร่ขิง
            วัดไร่ขิง สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๔ ตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยสมเด็จพระพุทฒาจารย์ (พุก) เจ้าอาวาสวัดศาลาปูนวรวิหาร พระอารามหลวง ตำบลหอรัตนไชย อำเภอพระนครศรีอยุธยา ซึ่งท่านเป็นชาวเมืองนครชัยศรี ขณะที่สมเด็จ ฯ ยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมราชานุวัตร ในปี พ.ศ.๒๓๙๔ ได้ชักชวนชาวพุทธศาสนิกชนในย่านนั้นสร้างวัดไร่ขิงขึ้น เมื่อสร้างอุโบสถเสร็จแล้ว จึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งมาจากกรุงเก่า เพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานอุโบสถ ตามตำนานกล่าวไว้ว่าพระพุทธรูปองค์นี้นำมาจากวัดศาลาปูน ฯ
            แต่ยังมีอีกตำนานที่ไปค้านกับตำนานการสร้างตำนานแรกที่ว่าสมเด็จพุก สร้างวัดไร่ขิง อีกตำนานที่สอดคล้องกันกับตำนานพระพุทธรูปองค์ประธานคือ สมเด็จ ฯ เป็นชาวนครชัยศรี กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดของท่านและได้ไปยังวัดไร่ขิง ซึ่งเป็นวัดเล็ก ๆ ที่มีอยู่ก่อนแล้ว เมื่อท่านกราบพระประธานแล้วจึงได้บอกกับเจ้าอาวาสว่า โบสถ์ใหญ่โตแต่พระประธานองค์เล็กไป เจ้าอาวาสกราบเรียนว่าวัดไร่ขิงยากจนไม่มีเงินสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ๆ สมเด็จ ฯ จึงบอกว่าที่วัดศาลาปูน ฯ มีองค์ใหญ่ให้ไปเอามา  เจ้าอาวาสวัดไร่ขิงพร้อมด้วยคณะกรรมการวัดจึงขึ้นไปยังศาลาปูน ฯ อัญเชิญพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวมา โดยใช้ไม่ไผ่มัดเป็นแพล่องลงมาตามลำน้ำท่าจีนหรือแม่น้ำนครชัยศรี มาตามลำน้ำเจ้าพระยา จนกระทั่งถึงวัดไร่ขิง แล้วประดิษฐานเป็นพระประธานของโบสถ์วัดไร่ขิง จึงแสดงว่าวัดไร่ขิงมีมานานแล้วก่อนสมเด็จพุก แต่นานเท่าไรไม่มีใครตอบได้ แต่อย่างน้อยก็เกินกว่า ๑๐๐ ปี
            ปูชนียสถานสำคัญคือ อุโบสถ เป็นทรงโรง ศิลปสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้านในเป็นภาพเขียนรูปดอกไม้ พระประธานคือพระพุทธรูปเก่าแก่ เรียกกันว่าหลวงพว่อวัดไร่ขิง ประทับนั่งปางมารวิชัยแบบประยุกต์ พุทธลักษณะคล้ายเชียงแสน แต่พระหัตถ์คล้ายสุโขทัย ส่วนพระพักตร์คล้ายรัตนโกสินทร์ หน้าตักกว้าง ๔ ศอกเศษ ภายในวัดมีวิหารประจำทิศ มีศาลาจตุรมุข มีมณฑลกลางสระน้ำ วัตถุมงคลมีให้เช่าบูชาที่อุโบสถของวัด กับที่กุฎิเจ้าอาวาสเท่านั้น ไปตลาดดอนหวายหรือไปวัดไร่ขิงแล้วก็ไปอีกแห่งได้  อยู่ใกล้กัน
            ลานแสดงช้างและฟาร์มจรเข้สามพราน ตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษม กม.ที่ ๓๐ ก่อนถึงสวนสามพราน ๑ กม. มีเนื้อที่ประมาณ ๖๒ ไร่เศษ เป็นสวนสัตว์นานาชนิด มีการแสดงโชว์ของช้าง ถึงขั้นโชว์การรบบนหลังช้าง นั่งช้างท่อง
อุทยาน การแสดงช้างประกอบเสียง การแสดงการจับจระเข้ด้วยมือเปล่า การแสดงมายากล เปิดให้เข้าชมได้ตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐ - ๑๗.๐๐ อัตราค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ ๖๐ บาท เด็ก ๓๐ บาท สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. ๐๒ ๒๘๔๐๒๗๓ การแสดงนั้นมีรอบ อยากทราบโทรถามเขาก่อน
            สวนสามพราน  ชาวต่างประเทศรู้จักกันในนาม  "ROSE GARDEN" เนื่องจากเมื่อก่อนนี้ปลูกกุหลาบตัดดอกส่งไปขายทั่วประเทศ ปัจจุบันจัดเป็นสวนสไตล์อังกฤษที่งดงาม มีเรือนพักเป็นหมู่เรือนไทย มีโรงแรมชั้นหนึ่งอยู่ติดกับแม่น้ำนครชัยศรี พร้อมห้องอาหาร มีสนามกอล์ฟมาตรฐาน มีสวนกล้วยไม้ ซึ่งเคยใช้เป็นสถานที่ประกวดกล้วยไม้โลก หมู่บ้านไทยจำลอง และการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย  นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมพิเศษเช่น การขี่จักรยานน้ำ สนามเทนนิส ฯ เป็นต้น
            การเข้าชม  ผู้ใหญ่ ๒๐ บาท เด็ก ๑๐ บาท  โทร. ๐๓๔ ๓๒๒๕๔๔ - ๗
            สวนแบบอังกฤษ  อยู่บริเวณประตูทางเข้า ใกล้กับบริเวณแม่น้ำนครชัยศรี เป็นสวนแบบอังกฤษที่เรียกว่า "COURT YARD  " ซึ่งมีลักษณะเด่นคือ เป็นสนามหญ้าโล่ง พื้นที่ด้านข้างปลูกพรรณไม้ดอกต่าง ๆ พร้อมกับแต่งเป็นไม้ดัดเป็นรูปสัตว์เช่น หมี ช้าง กวาง ริมแม่น้ำมีไม้โบราณ ไผ่ มะม่วง มะขาม จามจุรี
            กล้วยไม้  สวนสามพรานเคยเป็นสถานที่จัดประกวดกล้วยไม้โลกมาแล้วเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๑ เดี๋ยวนี้จึงยังคงจัดมุมกล้วยไม้ไว้เป็นลานรอบใต้ต้นมะพร้าว มีหลากหลายพันธุ์หลายสี
            หมู่บ้านไทย  มีการแสดงศิลปะวัฒนธรรมไทย  นักท่องเที่ยวสามารถเดินเที่ยวภายในหมู่บ้านไทยได้ ในหมู่บ้านจำลองบรรยากาศของหมู่บ้านไทยทั้ง ๔ ภาค จัดสร้างเป็นอาคารไม้ทรงไทย อยู่ท่ามกลางสวนกุหลาบ สนามหญ้า และไม้ไทยนานาชนิด และมีการสาธิตการทอผ้า การสาวไหม ปั้นเครื่องดินเผา เขียนร่ม ตีลายขันเงิน ทอเสื่อ เป็นต้น ส่วนการแสดงในห้องจัดแสดงนั้นมีการแสดงนาฎศิลป์ไทย และการจำลองพิธีกรรมต่าง ๆ จากทุกภาคเช่น การตีกลองสบัดไชย ของภาคเหนือ การบวชนาค ฟ้อนเล็บ มวยไทย รำธงนานาชนิด กระบี่กระบอง รำลาวกระทบไม้ การแต่งงาน รำกะลา และรำเหย่ย แล้วต่อด้วยการแสดงของช้างเช่น ช้างเต้นรำ ปิดท้ายด้วยรำกลองยาว สนุกนัก
            อุทยานปลาริมแม่น้ำนครชัยศรี  อยู่บริเวณท่าน้ำซึ่งเดิมเคยเป็นหน้าวัด ทางวัดไร่ขิงได้สร้างศาลาท่าน้ำเอาไว้ และมีแพเชื่อมต่อระหว่างศาลา ปลาจะว่ายทวนน้ำกันอยู่ในบริเวณนี้มากมาย ปลาส่วนใหญ่เป็นปลาสวาย ปลาสวายเผือกก็มี แต่ละตัวโตมากหนักหลายกิโลกรัม ริมตลิ่งมีก๋วยเตี๋ยวหลายเจ้าเรียงลึกเข้าไป เจ้าที่ผมเขียนเอาไว้คือ เจ้าที่อยู่สุดท้านริมน้ำ ตรงท่าที่จะลงไปยังศาลาให้อาหารปลา ตอนหลังเห็นทำแพลอยลงในน้ำแล้ว เพราะไม่มีพื้นที่จะขยายได้เลยขยายลงน้ำ
            วัดท่าพูด  ไปตามถนนพุทธมณฑลสาย ๖ ต.ไร่ขิง อ.สามพราน เข้าทางเดียวกับวัดไร่ขิง แต่ต้องวิ่งผ่านวัดไร่ขิงไปจะพบวัดอยู่ทางซ้ายมือ
            วัดท่าพูดนี้ เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา มาบูรณะปฏิสังขรณ์ในรัตนโกสินทร์ยุคต้น วัดนี้สร้างแล้วก็มีชาวบ้านพื้นเพชาวอยุธยามาอยู่รอบๆ วัด ในสมัยกรุงธนบุรีได้มีการสร้างอุโบสถขึ้นใหม่ จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๓ จึงได้มีการสร้าง "พระจุฬามณีเจดีย์" และสมัยที่หลวงพ่อแก้วเป็นเจ้าอาวาส (เป็นพระอาจารย์องค์หนึ่งของกรมหลวงชุมพร ฯ) ท่านได้สร้างวัตถุมงคลขึ้น ทำให้มีผู้ที่เคารพนับถือไปเช่าบูชากันมาก
            พระจุฬามณี เป็นพระเจดีย์องค์ใหญ่ย่อมุมไม้สิบสอง ด้านหน้ามีซุ้มซึ่งเป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นพระอินทร์ทรงซ้างเอราวัณ ด้านข้างเป็นศาลาประดิษฐานพระพุทธรูป น่าจะเป็นพระมาลัยถือตาลปัตร
            ชาวพุทธเชื่อมั่นกันว่า พระจุฬามณีนี้อยู่บนสวรรค์ชั้นดาววดึงส์ หากใครทำกรรมดีจึงจะได้ไปไหว้พระจุฬามณีบนสวรรค์ ดังนั้นหากใครไปไหว้พระเจดีย์จะฬามณีตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ก็เท่ากับได้ขึ้นสวรรค์แล้ว
            นอกจากนี้ภายในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอยู่ชั้นล่างของหอไตร เช่นมีพระยานมาศ (คานหาม) ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระราชทานให้พระอาจารย์รอด อดีตเจ้าอาวาส มีอาคารเก่าคืออาคารโรงเรียนพระปริยัติธรรม สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง สวนศิลปะมีเซียม ยิปอินซอย การเข้าชมเป็นหมู่คณะ ติดต่อ โทร. ๐๒ ๖๒๓๑๗๔๒ สวนศิลปะแห่งนี้เป็นที่จัดงานแสดงประติมากรรมของคุณมีเซียม ยิบอิซอย ศิลปินผู้ล่วงลับไปนานแล้ว (หากอยู่ในยุคปัจจุบันต้องได้เป็นศิลปินแห่งชาติ) สวนแห่งนี้ตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่งดงามโอบล้อมด้วยบึงบัว ภานในสวนจัดแสดงประติมากรรมต่าง ๆ ของคุณมีเซียม ฯ ที่ได้ปั้นไว้ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๒ - ๒๕๓๐ ประติมากรรมที่ชื่อว่า "ปลงชีวิต" ปั้นไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๒ เป็นชายแก่นั่งเหม่ลอย หรือ "แม่และเด็ก" (พ.ศ.๒๕๐๗) รูปแม่กำลังจับลูกยืนบนเข่า รูปปั้นเขิน น่าจะเป็นรูปปั้นรูปสุดท้าน เพราะปั้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๐ และปั้นยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ "เขิน" เป็นรูปเด็กผู้หญิงนั่งเขินอาย  คุณมีเซียมถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๑
            นั่งเรือชมสวนริมคลอง ติดต่อ โทร  ๐๓๔ ๒๒๒๘๗๘ หรือที่ อบต.บางช้าง มีเรือบริการทุกวัน ไปลงเรือที่สวนลุงตี๋ อยู่ในหมู่บ้านบางช้าง ซึ่งมีคลองจินดา กับคลองบางช้างโอบล้อมหมู่บ้าน ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำนครชัยศรีไปก่อน ตรงไปจนถึงสามแยกมีไฟสัญญาณ เลี้ยวซ้ายเข้าตัวอำเภอสามพราน ไปจนถึงตลาดสามพราน เลี้ยวขวาตรงเรื่อยไป จนพบทางแยกเข้าบ้านหัวอ่าวทางซ้ายมือแล้วตรงต่อไป
            ไปถึงเดินชมสวนก่อนได้ แล้วจึงลงเรือชมสวนกับวิถีชีวิตริมคลอง ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๒ ชม. มีเจ้าหน้าที่นำชม วิถีชีวิตของคนริมคลอง พืชพรรณไม้ต่าง ๆ สวนกล้วยไม้ สวนผลไม้ แล้วกลับมาที่ท่าเรือเดิม
            นครชัยศรี  หากจะไปเที่ยวแหล่งกินที่เรียกว่ายิ่งใหญ่อีกแหล่งก็ไปตลาดนครชัยศรีได้เลยเรียกว่า ตลาดท่านา มาจากกรุงเทพ ฯ ผ่านสวนสามพรานไปแล้ว ข้ามสะพานแล้วตรงเรื่อยไป จะพบทางแยกขวาเข้าไปยังอำเภอนครชัยศรี ที่น่าสนใจคือ .-
            ตลาดท่านา  ชุมนุมแหล่งกินที่ยิ่งใหญ่แหล่งหนึ่งทีเดียว เมื่อเลี้ยวเข้าถนนสายมาอำเภอแล้ว หากตรงเรื่อยมาก่อนถึงสี่แยกมีไฟสัญญาณ ทางขวามีตึกแถวห้องริมสุด กุนเชียง นายคูณ อร่อยนัก ซื้อกลับมาด้วย พอถึงสี่แยกเส้นทางจะบังคับตรงไปไม่ได้ เลี้ยวซ้ายไปวัดที่เคยดังมาก่อน คือวัดกลางบางพระ เมื่อก่อนมีหลวงพ่อพุฒ ซึ่งมีวัวธนู ดังนัก ใครเช่าซื้อเอาไว้แล้วหาหญ้าปล้องมาบูชาประจำจะป้องกันขโมยไม่ให้เข้าบ้าน แต่หากเลี้ยวขวาก็จะไปยังวัดกลางบางแก้ว  โดยจะผ่านร้านอาหารมาสัก ๕๐ เมตร ก็เลี้ยวซ้ายผ่านร้านอาหารอีก จนถึงสามแยกเชิงสะพานรวมเมฆ หากข้ามสะพานไปที่ในน้ำมีแพอาหาร ข้ามสะพานตรงไปจะไปยังร้านอาหารบ้านเรา ตรงเรื่อยไปจะไปได้จนถึง อบต.งิ้วราย และมีทางแยกเข้าสถานีรถไฟงิ้วราย ไปกินก๋วยเตี๋ยวร้านในตลาดงิ้วรายได้
            แต่หากถึงเชิงสะพานรวมเมฆ ไม่ข้ามสะพาน เลี้ยวซ้ายก็ผ่านย่านของกินไปตลอด ไปสัก ๒๐ เมตร ก็ถึงตลาดท่านา ปากทางเข้าด้านหน้ามีเป็นพะโล้ และอาหารอร่อย แต่ที่ผมยกให้อร่อยที่สุด ๆ ต้องอยู่ลึกเข้าไปนิดหนึ่งคืออยู่หลังร้านที่ว่าชื่อร้านเจียมจันทร์ เป็ดพะโล้ และอาหารตามสั่งอร่อยนัก ขายมานานกว่า๒๐ ปี (นับเฉพาะที่ผมไปเจอะเจอและชิมกันมา) ขายตรงไหนก็ขายไม่ดีเท่าตรงที่ตั้งอยู่ทุกวันนี้ เคยขยายกิจการออกไปตั้งที่ถนนเพชรเกษม ปรากฎว่า ต้องถอยทัพกลับมาขายที่เดิมเพียงแห่งเดียว
            ผ่านร้านตลาดท่านาไป ก็มีแต่ของกินตลอดไปจนถึงสามแยก เลี้ยวขวาตกแม่น้ำ เลี้ยวซ้ายสองฟากถนนของกินทั้งนั้น จารไนไม่ไหวไปชมเอง จนพบศาลาประชานุเคราะห์ หรือศาลแบบจีน ปากซอยนี้มีรถเข็นขายกาแฟและขนมปังปิ้งคุณป้อม หากตรงต่อไปอีกสัก ๒๐ เมตร ถ้าเป็นวันหยุดจะเห็นโต๊ะล้นออกมานอกร้านคือร้านเชลล์ชวนชิม ซึ่งร้านนี้หากย้อนทางได้ ไปย้อนมาจากสี่แยกจะมาใกล้นิดเดียว หากจะมาร้านติ๊กละก็หาที่จอดรถตรงสี่แยกที่รถตรงเข้ามาไม่ได้ แล้วเดินมาร้านอาหารต่าง ๆ ย่านท่านาดูจะสะดวกกว่า เพราะในย่านนี้จอดรถยาก
            วัดกลางบางแก้ว  ต้องเลี้ยวขวาไปจากสี่แยกประมาณ ๑ กม. ตามถนนสาย ๓๒๒๕ วัดอยู่ทางซ้ายมือ ภายในวัดมีหอไตรกลางน้ำ มณฑป ประดิษฐานลอยพระพุทธบาทจำลองโลหะขนาดใหญ่ ถือว่ามณฑปนี้สวยงามที่สุดในลุ่มแม่น้ำนครชัยศรี สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๓ มีกระโจมแตร ไว้แสดงดนตรีและกิจกรรมของวัด มีตลาดริมน้ำ สมัยดั้งเดิมเป็นตลาดน้ำหน้าวัด พอจราจรทางบกสะดวกเลยย้ายขึ้นมาอยู่ที่ลานวัดและมีเฉพาะตอนเช้าไปจนสาย ชาวสวนมาขายของเอง ราคาถูก ท่าน้ำวัดมีก๋วยเตี๋ยวเรือที่ผมชวนชิมไว้เจ้าหนึ่ง ไม่รู้ว่าตอนนี้เพิ่มเป็นกี่เจ้าแล้ว
            พิพิธภัณฑ์พระพุทธวิถีนายก  คือหลวงปู่บุญ และหลวงปู่เพิ่ม ซึ่งสมณศักดิ์ของท่านเหมือนกันเป็นพิพิธภัณฑ์ชั้นยอดทีเดียว มีถึง ๓ ชั้น ขนาดยกห้องเดิมของกุฎิหลวงปู่เอามาบูรณะใหม่แล้วยกไว้บนอาคารพิพิธภัณฑ์ ผู้เริ่มก่อตั้งท่านหนึ่งได้มาเชิญผมไปชมโดยละเอียด และผมได้นำมาเขียนไว้ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐและศักดิ์สิทธิ์
            พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย  ถนนปิ่นเกล้า - นครไชยศรี กม.๓๑ บางขุนแก้ว ทางขวามือ เป็นผลงานที่ดีเด่นที่จัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งไฟเบอร์กลาส ซึ่งงดงามมาก ผมเคยชมหุ่นขี้ผึ้งบันลือโลกของมาดาม ตุ๊ดโฅ ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ ชมมานานแล้วมาเห็นของไทย อังกฤษทำอะไรไม่ได้เลย ไปอังกฤษคราวหลังไปชมใหม่ ทีนี้เขาต้องปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิม นำสมัยมากขึ้น จึงนำเราต่อไปได้ แต่ป่านนี้หุ่นขี้ผึ้งไทยอาจจะนำไปแล้วก็ได้
            ร้านอาหาร แพเตย  กลับมาทางถนนเพชรเกษมใหม่ ผ่านสวนสามพรานไปแล้วก็จะถึงสะพานข้ามแม่น้ำนครชัยศรี ไม่ข้ามไป ให้ลอดใต้สะพานเพื่อกลับรถแล้ววิ่งมาสัก ๑๐๐ เมตร จะเห็นปั๊มน้ำมัน ปตท. ให้เลี้ยวซ้ายข้างปั๊มมาอีกสัก ๑๐๐ เมตร เลี้ยวซ้ายวิ่งชนแม่น้ำ ร้านแพเตย เป็นแพอาหารอยู่ในแม่น้ำนครชัยศรี จะมีป้ายบอกไว้ตั้งแต่ปากทางตรงข้ามปั๊ม ปตท.
            บรรยากาศแจ่มแจ๋ว ติด ๆ กันมีอีกแพหนึ่งอย่าเข้าผิด ร้านที่ผมชิมคือ "แพเตย" โทร.๐๓๔ ๓๑๑๓๙๑
            ปลาดุกผัดเผ็ด เด็ดจริง ๆ ปลาดุกไม่ทอดกรอบแล้วเอามาผัด เอาปลาผัดเลย เครื่องแกง
เข้าเนื้อปลา
            "หลนปูเค็ม" อย่าโดดข้ามไปเป็นอันขาด มีผักจัดมาเต็มจาน แตงกวา ผักชี ถั่วพู ขมิ้นขาว กล่ำปลี หลนจะออกรสหวานนิด ๆ อร่อยมาก กินกับผักสดหวานกรอบ น้ำหลนข้น ใส่ตะไคร้หั่นฝอย หมูสับ
            ผัดโป๊ยเซียนทะเล วุ้นเส้น ก้านคะน้าผัดแล้วยังกรอบ ข้าวโพดอ่อน ทะเลทั้งหลายมี กุ้ง ปลาหมึก กุ้งนั้นเนื้อแน่น ส่วนปลาหมึกสดมาก ผัดแล้วก็ยังกรอบกรุบ
            ผัดผักหวาน ผัดมากับกระเทียมโทน พริกขี้หนู
            ปลาแรดทอดกรอบ ปลาตัวโต ทอดกรอบ โรยกระเทียมเจียวสีเหลืองอ่อน หอมฟุ้ง
            ของหวานย่านนี้ต้อง ส้มโอนครชัยศรี สวนแท้ เนื้อส้มจะแห้ง กรอบ
            กลัวเสียเอกลักษณ์ประจำตัว เลยสั่งไอศกรีมแยลลี่มาอีกถ้วยหนึ่ง หวานเย็น ชื่นใจ

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |