| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

วัดพระนางสร้าง

            ไปภูเก็ตไปได้สะดวกทั้งทางอากาศซึ่งมีเครื่องบิน บินวันละหลายเที่ยวและทางรถยนต์ แต่ผมชอบไปทางรถยนต์มากกว่า เพราะเมื่อไปถึงแล้วมีรถยนต์ของเราเองใช้ ไม่ต้องไปเช่าขับเพราะเคยไปเช่ามาแล้วไม่สะดวกเหมือนรถของเราไม่รู้มือกันด้วย ส่วนไปกับทัวร์ได้เที่ยวเฉพาะจุดที่เขาอยากให้เราเที่ยวไม่สนุกเหมือนเราไปของเราเอง จึงเดินทางด้วยรถยนต์เป็นดีที่สุด ทางรถยนต์สมัยนี้ไปได้ ๒ เส้นทาง หรือจะ ๓ เส้นทางก็ได้
            เส้นทางแรกคือ เส้นทางสายดั้งเดิม ไปตามถนนเพชรเกษม หรือทางหลวงแผ่นดินสาย ๔ กรุงเทพ ฯ ชุมพร พอถึงสี่แยกปฐมพร เลี้ยวขวาคดเคี้ยวไปตามไหล่เขาอีก ๑๒๒ กิโลเมตร จะถึงระนอง จากระนองไปตะกั่วป่า ไปโคกกลอย จบทางหลวงแผ่นดินสาย ๔ ที่ตรงนี้ทางหลวง ฯ จะต่อไปยังตะกั่วทุ่ง แต่เราแยกจากสาย ๔ ไปข้ามสะพานเทพกษัตรี  เข้าเกาะภูเก็ต ระยะทางประมาณ ๘๖๔ กิโลเมตร
            เส้นทางที่สอง ซ้ำกับเส้นทางแรกจนถึงสี่แยกปฐมพร แต่ไม่เลี้ยววิ่งตรงไปจนถึงทางแยกเข้า ตัวเมืองสุราษฎร์ธานี ก็เลี้ยวขวาเข้าถนน ๔๐๑ ไปผ่านทับปุดของ จังหวัดพังงา ไปโคกกลอย ภูเก็ต ๘๐๐ กิโลเมตร
            เส้นทางที่สามทับเส้นทางที่สอง แต่ไม่ออกทับปุดไปออกตะกั่วป่า แล้วซ้ำเส้นทางแรกไปโคกกลอย ภูเก็ต
            ภูเก็ต ได้ชื่อว่าเป็นเมืองราชทรัพย์ คือนับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นต้นมา ภูเก็ตอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางการปกครอง หรือเมืองหลวงมากพอสมควร สมัยก่อนจะมาภูเก็ตมาลำบากเพราะต้องมาทางเรือ มาทางบกต้องบุกป่ากันมาแบบที่ผมขับรถบุกป่ามาจากระนอง เพื่อไปยังตะกั่วป่า เมื่อ ๓๙ ปีมานี่เอง แม้จะห่างไกลแต่ภูเก็ตก็เป็นเมืองสำคัญ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้ชื่อว่าเป็นเมืองราชทรัพย์ของแผ่นดิน เนื่องจากแผ่นดินภูเก็ตอุดมไปด้วยแร่ดีบุก ที่สร้างรายได้เข้าประเทศอย่างเป็นกอบเป็นกำแล้วส่งภาษีให้รัฐบาล
            ภูเก็ตนั้นเชื่อกันว่า ในสมัยโบราณเป็นผืนแผ่นดินเดียวกับพังงาในปัจจุบัน แต่กลายเป็นเกาะขนาดใหญ่ (ใหญ่กว่าประเทศสิงคโปร์) เพราะคลื่นลมในทะเลกัดเซาะให้ขาดออกจากแผ่นดินใหญ่ และยังมีเกาะบริวารอีก ๓๒ เกาะ ภูเก็ตมีเพียง ๒ ฤดู คือ ฤดูร้อน กับ ฤดูฝน มีลมมรสุมพัดผ่านถึงปีละ ๘ เดือน พื้นที่ ๒ ใน ๓ ของภูเก็ตเป็นภูเขาจึงไปเพิ่มความงดงามตามธรรมชาติให้แก่เมืองมากขึ้น ได้แก่เทือกเขากมลา และเขานาค พาดจากเหนือของเกาะจรดใต้ เขาพระแถวอยู่ทางตะวันออกของเกาะ
            ไปภูเก็ตต้องหาเวลาไปชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ  ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของ อำเภอถลาง (ภูเก็ตมีเพียง ๓ อำเภอคือ อำเภอเมือง ฯ อำเภอถลาง อำเภอกระทู้) หากมาจากสะพานเทพกษัตรี พอถึงวงเวียนอนุสาวรีย์ท่านท้าว ฯ ก็เลี้ยวซ้าย พิพิธภัณฑ์จะอยู่ทางขวามือ เพราะจะทำให้เข้าใจและทราบประวัติของเมืองภูเก็ต หลักฐานยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่พบในภูเก็ตมีเครื่องมือ เครื่องใช้ประเภทขวานหินขัดที่มีสภาพไม่สมบูรณ์นัก ขุดพบที่บ้านกมลา อ.กระทู้ แต่ก็พอให้สันนิษฐานได้ว่ามีมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์อาศัยอยู่บนเกาะนี้เมื่อ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว แต่ไม่พบแหล่งที่อยู่อาศัยหรือชุมชนของคนยุคนี้ว่าอยู่ตรงไหนแน่นอน
            ภูเก็ตเป็นที่รู้จักของนักเดินเรือที่เดินทางระหว่าง จีนกับอินเดียมานานแล้ว ในยุคล่าอาณานิคมเรียกว่าเมืองจังซีลอน สำหรับไทยเรานั้นดั้งเดิมเรียกว่าเมืองถลาง หรือเมืองตะกั่วถลางค์ แต่เป็นเมืองบริวารของนครศรีธรรมราช เมืองถลางตกอยู่ในการปกครองของสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา และรัตนโกสินทร์ และถลางมาดังระเบิดก็ตอนที่เจ้าเมืองถลางถึงแก่อนิจกรรม เมื่อตอนสงครามเก้าทัพในปี พ.ศ. ๒๓๒๘ คุณหญิงจันและนางมุกน้องสาวได้รวบรวมผู้คนสู้พม่าต้องถอยไป พม่าตีถลางไม่ได้ แต่อีก ๒๔ ปีต่อมาพม่ายกทัพมาตีถลางแตก ทำให้ถลางร้างผู้คนเพราะอพยพไปอยู่ที่ตำบลกราภูงา หรือพังงาในปัจจุบัน จนพม่ารับกรรมที่ก่อเอาไว้กลายเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ชาวถลางจึงอพยพกลับมาตั้งถิ่นฐานกันใหม่ที่ตำบล ท่าเรือ เรียกว่าเมืองถลางใหม่ และเกิดการทำแร่ดีบุกกันทั่วไป เพราะดีบุกกำลังราคาดี โดยเฉพาะคนจีนฮกเกี้ยน จากปีนังและสิงคโปร์อพยพกันเข้ามาทำเหมือง เกิดชุมชนใหญ่ที่ ตำบลทุ่งคา อันเป็นที่ตั้งของตัวเมืองภูเก็ตในปัจจุบัน
            ด้วยผลของการขุดแร่ดีบุก ทำให้เมืองเจริญ รายได้สูงส่งเงินเข้าแผ่นดินมากขึ้น อาจจะยิ่งกว่าหัวเมืองอื่น ๆ ทำให้ภูเก็ตขยายตัวเป็นเมืองหัวเมืองใหญ่ขึ้นตรงกับกรุงเทพ ฯ ส่วนตัวเมืองถลางก็ลดความสำคัญลง จนกลายเป็นอำเภอหนึ่งของภูเก็ต และในปี พ.ศ.๒๔๓๗ ภูเก็ตก็ได้รับการยกขึ้นเป็นมณฑลในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีเมืองถลาง ระนอง พังงา ตะกั่วป่า กระบี่ ตรัง สตูล เป็นเมืองบริวาร จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ภูเก็ตจึงกลับมาเป็นจังหวัด และผู้ที่เข้ามาปกครองและสร้างความเจริญให้แก่ภูเก็ตอย่างสูงสุดนั้นคือ ท่านพระยารัฐฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง ชาวระนอง ไปเป็นเจ้าเมืองตรังแล้วมาปกครองมณฑลภูเก็ต) ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๔๔ - ๒๔๕๖ ท่านผู้นี้ได้พัฒนากิจการทำเหมืองดีบุก สร้างถนน สถานที่ราชการ ทำนุบำรุงบ้านเมืองทุกด้าน คนจีนในภูเก็ตที่มากกว่าพวกอื่นคือ จีนฮกเกี้ยน ทั้งนี้เพราะเมื่อการขุดแร่ดีบุกขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนหากรรมกรได้ไม่พอ ท่านเจ้าคุณรัษฎา ฯ จึงริเริ่มการหากรรมกรด้วยการส่งเรือไปรับชาวจีนฮกเกี้ยนมาเป็นกรรมกร ส่งเรือไปรับมาจากเมืองเอ้หมึงเอามาภูเก็ตปีละ ๓ เที่ยว คนพวกนี้จึงกลายเป็นคนหมู่มากของภูเก็ต แต่ด้วยวัฒนธรรมของไทยสูงกว่า จึงเป็นผลให้ชาวฮกเกี้ยนเหล่านี้กลายเป็นคนไทยไปหมดแล้ว เว้นภาษาเท่านั้นที่ยังมีปนอยู่ เช่นเรียกพี่ชายว่า "โก" เรียกพี่สาวว่า "จี้" และภาษาพูดยังปนด้วยภาษาอังกฤษก็มีเพราะบางพวกมาจากปีนัง สิงคโปร์ ปนภาษาจีนมาเลย์ และที่สำคัญที่ดึงดูดให้ผมไปแสวงหาของอร่อยกินในภูเก็ตเป็นประจำทุกปี ก็คงจะเป็นอาหารที่มีอาหารของฮกเกี้ยนปนอยู่หลายอย่างและอร่อยจริง ๆ คุ้มค่าต่อการไปท่องเที่ยวทุกครั้ง ผมถึงชอบเอารถยนต์ขับไปเอง ห่วงอยู่อย่างเดียววันหนึ่งคงจะขับรถด้วยตนเองไม่ไหว วันนั้นจะไปสนุกได้อย่างไร เวลานี้ก็เริ่มขับกลางคืนไม่ค่อยจะได้แล้ว เพราะสายตาเริ่มเฒ่าลงไปตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น และขยับใกล้ร้อยเข้าไปทุกที แต่ตราบใดยังขับรถได้ ท่านก็คงได้อ่านเที่ยวไปกินไปของผมเรื่อยไป
            อาหารที่เป็นอาหารพื้นเมืองของฮกเกี้ยน เช่น โลบะ โอต้าว หมี่หุ้นป้าฮ่าง ผัดหมี่ฮกเกี้ยน ขนมอาปง โอ้เอ๋ว เป็นต้น อาหารปักษ์ใต้ที่เป็นอาหารยามเช้า แต่ก็มีกินได้ตลอดวันในภูเก็ตคือขนมจีน เป็นอาหารพื้นเมืองที่สำคัญของภูเก็ต ก็พลอยมีรสคล้อยตามอาหารฮกเกี้ยนไปด้วยคือ น้ำยาจะออกรสหวานและมีเครื่องเคียงหรือ "ผักเหนาะ" มากขึ้นกว่าเดิม เช่นมีพวกผักดองที่คนจีนชอบได้แก่ ผักกาดดอง แตงกวาดอง หัวผักกาดเค็มดอง เป็นต้น และคนจีนฮกเกี้ยนได้มาริเริ่มประเพณีกินผัก ซึ่งจะมีเทศกาลกินเจกันตอนต้นเดือนตุลาคม
            เที่ยวภูเก็ต ไปเที่ยวที่ไหนกัน แบ่งแยกออกได้ดังนี้
            ในตัวเมืองภูเก็ต ท่องเที่ยวชมในด้านประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม, พิพิธภัณฑ์เปลือกหอย สวนผีเสื้อ ไซมอนคาบาเรต์ ทาร์ซานบันจี้จัมพ์ ป่าตองโกคาร์ท ภูเก็ตวอเตอร์สกี ภูเก็ตแฟนตาซี (ยิ่งใหญ่) ศูนย์อนุรักษ์มรดกท้องถิ่นกระทู้ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติถลาง บ้านท้าวเทพกษัตรีย์ สถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าเขาพระแทว อควาเรี่ยม สวนสัตว์ จำได้แค่นี้แต่ยังมีอีก
            และที่สำคัญคือ สถาปัตยกรรมโคโลเนียล ภูเก็ตยังเป็นแหล่งสถาปัตยกรรมโคโลเนียลที่ยังสมบูรณ์ หาชมได้ยากจากตึกโบราณ ซึ่งล้วนแต่สร้างขึ้นมานานร่วมร้อยปีมาแล้ว สร้างในสมัยที่กิจกรรมเหมืองแร่เจริญรุ่งสุดขีด อาคารเหล่านี้ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบจีน ผสมผสานกับตะวันตก หรือที่เรียกว่าสถาปัตยกรรมแบบ ชิโน - โปรตุกีส โดยลักษณะอาคารจะมีส่วนลึกมากกว่าส่วนกว้างหน้าต่างประตูเป็นไม่ฉลุ ซึ่งจะพบได้จากอาคารตามถนนพังงา ถนนกลาง ถนนเยาวราช ถนนดีบุก และถนนกระบี่ เป็นส่วนใหญ่ มีทั้งอาคารที่เป็นแบบร้านค้า และตึกโบราณที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยมาก่อน ซึ่งรุ่นทายาทที่ยังเป็นเศรษฐีอยู่แต่ไม่ยอมอยู่อาศัยแล้ว ถามว่าทำไมไม่อยู่บอกว่าสู้การทำความสะอาดไม่ไหว เพราะสมัยนี้จะหาข้าทาสบริวารไม่ง่ายเหมือนเมื่อก่อน เศรษฐีรุ่นหลานเหล่านี้จึงมาปลูกตึกราคาสักสิบล้านอยู่ข้าง ๆ ตึกโบราณหลังใหญ่เหล่านั้น และผมไม่ทราบว่ากรมศิลปากรได้เข้าควบคุมแล้วหรือยัง หากรื้อออกเมื่อไรก็สิ้นความเป็่นเมืองภูเก็ต เหมือนเชียงใหม่หากยอมให้รื้ออาคารสองฟากของถนนท่าแพ ช้างม่อย ก็สิ้นความเป็นเมืองล้านนา
            เที่ยวทะเล  ชายหาดสวย ๆ ของภูเก็ตมากมากต้องเจาะเอามาเล่าให้ฟัง โดยเฉพาะชายหาด และอ่าวทางตะวันตกของเกาะ เช่น หาดป่าตอง กมลา ในหาน อุทยานแห่งชาติสิรินาถ ฯ
            เที่ยวเกาะ  ภูเก็ตมีเกาะบริวารมากถึง ๓๒ เกาะ หลายเกาะมีที่พักอย่างดี มีเรือพาไปเที่ยว หรือเกาะที่เป็นฟาร์มไข่มุก เช่นเกาะรังใหญ่ มีทั้งที่พัก อาหาร และฟาร์มไข่มุก พร้อมอย่าลืมเกาะสิเหร่ของชาวเล รถวิ่งไปได้ เที่ยวป่า เช่นไปเดินป่า ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ภูเก็ตมีอุทยานแห่งชาติคือ อุทยานแห่งชาติทางทะเล "สิรินาถ" อยู่ในพื้นที่อำเภอถลาง ตำบลสาคู ไปน้ำตก มีน้ำตกโตนไทร และน้ำตกบางแป
            เที่ยวพิพิธภัณฑ์  วัด ศาลเจ้า อนุสาวรีย์ วัดสำคัญคือวัดฉลองของหลวงพ่อแช่ม "ต้องไปวัดพระนางสร้างที่กำลังจะเล่ารายละเอียดต้องไปเช่นกัน วัดพระผุดหรือพระทองก็จะต้องไปเช่นกัน
            เที่ยวงานประเพณี  งานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของชาวภูเก็ต คือประเพณี กินผัก และการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ของร่างทรง หรือเรียกว่า"ม้าทรง" ประเภทเอาเหล็กแหลมแทงไว้ตามตัว แทงแก้มซ้ายทะลุแก้มขวา นอกจากนี้ยังมีงานลากูน่า
            ภูเก็ตไตรกีฬา คือแข่งขันกีฬา ๓ ประเภทต่อเนื่องกันได้แก่ ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน และวิ่ง มีคนมาแข่งขันจากนานาชาติ เรียกว่ามีมาทั้งโลกก็แล้วกัน ฤดูแข่งขันในช่วงปลายปีไม่กำหนดวันแน่นอน ส่วนในเดือนพฤศจิกายน จะมีเทศกาลเปิดฤดูการท่องเที่ยว ซึ่งจะจัดที่หาดป่าตอง จะมีการทำบุญตักบาตรในตอนเช้า การแข่งขันกีฬาทางน้ำ การประกวดสาวงามนานาชาติ
            เห็นจะพอสำหรับการเล่าขานทั่ว ๆ ไปของภูเก็ตเมืองที่อยู่บนเกาะที่มีธรรมชาติที่น่ารัก น่าท่องเที่ยวแห่งนี้ จะไปกี่ครั้ง ๆ ก็ไม่รู้จักเบื่อ ขอให้รู้จักที่หาอาหารดี ๆ กิน หาสถานที่ดีๆ เที่ยวเท่านั้น เป็นสนุกทุกทีไป โดยเฉพาะคือเรื่องอาหารที่แปลก อร่อย หาเมืองไหนเทียบภูเก็ตได้ยาก เพราะภูเก็ตมีมากประเภท มีมากชนิดแถมยังไปรวมเอาอาหารของภาคอื่นเข้ามาขายไว้อีก เพราะเป็นเมืองท่องเที่ยวนานาชาติทำให้คนไทยเองที่ทำมาหากิน ก็มาจากนานาภาคไปด้วย อาหารอีสาน อาหารเหนือหากินได้อย่างอร่อยในภูเก็ต
            ไปพบที่พักในภูเก็ตที่ดีมาก และราคาถูกมากควรแก่การแนะนำ แต่มีข้อแม้ว่าหากจะพักที่นี่ ต้องจองล่วงหน้านานๆ อย่างน้อยสักครึ่งเดือนคงจะได้พัก เพราะราคาถูกและสถานที่ดีมากคือ สถาบันราชภัฎ ซึ่งได้จัดอาคารศรีราชภัฎ เป็นศูนย์ฝึกประสบการณ์วิชาชีพ เรียกว่าให้นักศึกษาฝึกวิชาการโรงแรมด้วยของจริง คือเป็นโรงแรม มีแขกมาพักจริง ๆ มีร้านอาหาร "สัมนาสะดวก" อาหารอร่อย ห้องพักสบาย อยู่ใกล้ตัวเมือง " คำขวัญของอาคารศรีราชภัฎ ภูเก็ต ติดต่อ ๒๑ ถนนเทพกระษัตรี อำเภอเมือง ฯ จังหวัดภูเก็ต ๘๓๐๐ โทร ๐๗๖ ๒๒๒๓๖๙ ,๒๒๒๓๗๐ หากจะบอกทิศทางคงยาก หากมาจากสะพานเทพกระษัตรี เข้าเมืองคงจะประมาณ ๔๐ กิโลเมตร ทางซ้ายมีโรงเรียน มีสี่แยกตรงหัวมุมมีปั๊มเอสโซ่ เลี้ยวขวาตรงสี่แยกนี้สัก ๑ กิโลเมตร จะถึงอาคารศรีราชภัฎ ราคาที่พักเตียงคู่ห้องละ "๓๐๐ บาท" หากห้องมีตู้เย็น ราคาคืนละ "๓๕๐ บาท" มีห้องอาหารปะการัง ผมยังไม่เคยชิม มีกาแฟวางไว้ให้ชงเอง แก้วละ ๑๐ บาท ชิมทุกวันลองไปพักดู ของดี ราคาถูก
            วัดพระนางสร้าง  มีตำนานว่า เมื่อ ๒๓๐๑ ไม่บอกว่าเป็น พ.ศ.หรือเมื่อ ๒๓๐๑ ปีมาแล้ว ต้องเดาดูว่าน่าจะเป็นปีอะไร พระมเหสีของเจ้าเมืองใดไม่ปรากฏชื่อเมืองแน่ชัด เป็นชู้กับมหาดเล็กถูกจับได้จึงต้องโทษประหารชีวิต แต่พระนางขอผ่อนผันต่อพระสวามีว่า ขอไปนมัสการพระบรมธาตุที่ศรีลังกาเสียก่อนแล้วจะกลับมารับโทษ พระสวามีก็ใจดีเชื่อยอมให้ไป เมื่อไปแล้วก็กลับมาแวะที่เมืองถลาง และสร้างวัดเพื่อเป็นการไถ่บาปให้น้อยลง วัดยังไม่แล้วเสร็จดีก็กลับจะไปรับโทษ แต่ปรากฏว่าทางเมืองมีการแย่งครองเมือง พระสวามีถูกสำเร็จโทษ พระนางจึงกลับมาสร้างวัดต่อ และกลับถูกเจ้าเมืองคนใหม่ตามมาเอาตัวไปประหารชีวิต ด้วยกุศลผลบุญที่สร้างวัดเมื่อถูกประหาร โลหิตได้พุ่งออกมาเป็นสีขาว จึงเรียกกันว่าพระนางเลือดขาว และเรียกวัดที่พระนางสร้างว่า "วัดพระนางสร้าง"
            วัดนี้เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์คือ เมื่อพม่ายกมาตีถลางเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ นั้น คุณหญิงจันและนางมุกน้องสาว ได้ใช้วัดนี้เป็นที่รวมพลเพื่อสู้ศึกพม่า และเมื่อคุณหญิงจันและนางมุก ได้รับพระราชทานเป็นท้าวเทพกระษัตรี และท้าวศรีสุนทรแล้ว ก็เข้ามานมัสการพระประธานในอุโบสถของวัดพระนางสร้าง
            ภายในวัดมีอุโบสถ ซึ่งภายในมีจิตรกรรมฝาผนัง ภาพพุทธประวัติ ภาพเหตุการณ์สำคัญๆ ภายนอกมอนุสาวรีย์บูรพาจารย์ สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๘ มีศาลาประดิษฐานโลงแก้วบรรจุศพของอดีตเจ้าอาวาสหลวงพ่อเซี้ยง มรณภาพเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๓ เมื่ออายุได้ ๘๔ ปี เรียกว่าศาลาละสังขาร หลวงพ่อเซี้ยงมีอนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรีและท้าวศรีสุนทร (ย่อส่วน) พระพุทธไสยาสน์ เห็นจะรวบรวมประวัติมาได้แค่นี้ ลืมบอกความสำคัญของพระพุทธรูปภายในโบสถ์ ในอุโบสถมีพระพุทธรูปดีบุกที่เก่าแก่ และใหญ่ที่สุดในโลก เรียกว่าพระในพุง หรือพระสามกษัตริย์ ซึ่งอยู่ใน พุงหรืออุทร ของพระพุทธรูปหล่อองค์ใหญ่ ๓ องค์ อีกชั้นหนึ่ง
            อีกแห่งหนึ่งที่นับว่าเป็นประวัติศาสตร์ของภูเก็ต คือบ้านท่านท้าวเทพกษัตรี ตั้งอยู่ที่บ้านเคียน ตำบลเทพกษัตรี อำเภอถลาง จากถนนเทพกษัตรี กิโลเมตรที่ ๑๙.๓ แยกทางเข้าบ้านเหรียงไป ๒ กิโลเมตร มีการสืบค้นจนได้หลักฐานว่าที่นี่ คือบ้านเดิมของท้าวเทพกษัตรี ได้จัดทำแผ่นป้ายบอกไว้ บริเวณใกล้เคียงมีวัดม่วงโกมารกัจจ์ ซึ่งท่านท้าวฯ ใช้เป็นสถานที่ฝึกซ้อมไพล่พลเพื่อเข้าสู้รบกับพม่า มีแนวคูเมืองถลางและที่ตั้งด่านพม่า
            ร้านอาหารที่จะพาไปชิมวันนี้เป็นร้านแบบอุตสาหกรรมในครอบครัว เรียกว่าทำเอง เสริฟเอง ร้านเล็ก ๆ น่ารัก อาหารอร่อยราคาไม่แพง แต่ต้องออกจากตัวเมืองไปไกลหน่อย เรียกว่าหากวันกลับไม่ได้วิ่งรวดเดียวถึงกรุงเทพ ฯ แวะเป็นมื้อเที่ยงหรือมื้อที่เรียกว่า "บรันช์" ละก็เหมาะทีเดียว
            ร้านครัวเมืองใหม่ ไปตามถนนเทพกษัตรี จนถึงกิโลเมตร ๒๗ ร้านอยู่ทางฝั่งซ้ายของถนน และอยู่ห่างจากทางแยกขวาที่เข้าวัดพระทองหรือพระผุด ๙ กม. ร้านนี้จะหยุดทุกวันที่ ๒๖ ของเดือน
            ต้มกะทิใบเหนียงกุ้งสด เป็นจานสุดเด็ดอย่าโดดข้ามไปเป็นอันขาด ผมเคยกินครั้งแรกที่พังงาเบย์รีสอร์ทและจากนั้นมาจนวันนี้ร่วม ๒๐ ปีแล้ว ได้กินอร่อยสมใจ ที่ทอดระยะยาวเหลือเกินเพราะใบเหนียงนั้นมีแต่ที่พังงา แต่ที่ร้านนี้เขาปลูกเองและบอกว่าเป็นผักประจำของชาวพังงา กะทิหวานมีกระเทียม หอมแดงโดนกะทิเข้าเนื้อออกหวาน ส่วนใบเหนียงนั้นเคี้ยวมันดีพิลึก รวมทั้งกุ้งสดที่ทั้งกะทิและรสใบเหนียงซึมซาบเข้าไปด้วย ใช้กุ้งใหญ่เคี้ยวเต็มคำ
            แกงเหลือง รสใต้แท้ใส่ยอดมะพร้าว หรือเม็งมะพร้าว ปลากะพง
            น้ำพริกกุ้งเสียบ มีผักน่ากิน ถั่วงอกหัวโตดอง ดอกกล่ำ ข้าวโพดอ่อนต้ม สะตอสด ถั่วฝักยาว มะเขือ ถั่วพู
            ปลาทรายทอด กรอบไปทั้งตัว จิ้มน้ำจิ้มของเขามีรสแปลก ปิดท้ายด้วยไข่เจียว
            ของหวาน สัปรดภูเก็ต ผ่ามาเป็นซีก เปลือกยังติดอยู่ เรียกว่าปอกไม่เหมือนใคร หวานฉ่ำ

.................................

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |