| ย้อนกลับ |

วัดพระปฐมเจดีย์

           วัดพระปฐมเจดีย์  เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ที่ ต.ปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม  มีประวัติและตำนานในตอนต้นไม่สู้จะตรงกันนัก ส่วนที่ผมจะเล่าให้ฟังนี้ผมถือเอาเรื่องพระปฐมเจดีย์ ของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี ซึ่งได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมจากรัชกาลที่ ๔ ให้เป็นแม่กองดำเนินการสถาปนาปฎิสังขรณ์และข้อมูลจากหนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดนครปฐม เอามาผสมผสานรวบรวมนำมาเล่าให้ฟัง สรุปได้ดังนี้.-
           วัดพระปฐมเจดีย์ มีพระปฐมเจดีย์ เป็นปูชนียสถานที่สำคัญและยังมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ลักษณะเจดีย์เป็นทรงลังกา สูง ๑๒๐.๔๕ เมตร วัดโดยรอบได้ ๒๓๕.๕๐ เมตร
           ฐานเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีชั้นลดทั้งสี่ทิศ มีระเบียงคตตรงทิศทั้งสี่ และมีวิหารประจำ สันนิษฐานกันว่า องค์พระปฐมเจดีย์นี้มีการสร้างและปฎิสังขรณ์หลายครั้ง
           สมัยเริ่มแรก  อยู่ระหว่าง พ.ศ.๓๐๐ - ๑๐๐๐ เป็นสมัยสุวรรณภูมิ ซึ่งสันนิษฐานกันว่า เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ครองอินเดียมีอานุภาพมาก และนับถือพระพุทธศาสนา ได้ส่งพระเถระไปเที่ยวเผยแพร่พระพุทธศาสนา ที่มาทางสุวรรณภูมิคือ พระโสณเถระ กับพระอุตระเถระ ที่มายังสุวรรณภูมิและคงจะต้องอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาด้วย
           สมัยที่สอง  คือ สมัยทวารวดี ระหว่าง พ.ศ.๑๐๐๐ - ๑๖๐๐ คงจะมีการสร้างเพิ่มเติม
           สมัยที่สาม คือ สมัยที่พระปฐมเจดีย์ถูกทิ้งร้างมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
           หลักฐานทางโบราณคดี ในสมัยทวารวดี พระปฐมเจดีย์ อยู่ห่างจากฝั่งทะเลประมาณ ๑๐ กม. เป็นเมืองสำคัญทางปากอ่าวไทยทางฝั่งตะวันตก โดยมีลพบุรีเป็นเมืองสำคัญทางปากอ่าวด้านตะวันออก
           องค์พระปฐมเจดีย์ ถูกทิ้งร้างมานานนับตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.๑๕๐๐ เป็นต้นมา สาเหตุหนึ่งคือพระเจ้าอนุรุธ แห่งเมืองพุกาม ประเทศพม่า ซึ่งมีอำนาจมาก ได้บุกรุกเข้ามาถึงดินแดนแถบนี้และกวาดต้อนผู้คนไปยังพม่า ทำให้เมืองนครปฐมต้องถูกทิ้งร้างไป หลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดได้จากเมืองพุกาม นั้นมีลักษณะเดียวกับที่ขุดพบที่นครปฐมเช่น พระพิมพ์เงิน เหรียญรูปสังข์ หรือวัดที่พุกามสร้างขึ้นหลังสมัยพระเจ้าอนุรุธ ก็มีแบบเดียวกับเจดีย์วัดพระเมรุ ซึ่งวัดนี้อยู่ห่างจากพระปฐมเจดีย์ไม่ถึง ๑ กิโลเมตร
           เมื่อถูกทิ้งร้างไปจนมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ นครปฐมยังเป็นป่าในสมัยของรัชกาลที่ ๓ และเกิดกระทำปาฏิหารย์ขึ้น ได้เห็นได้ทั่วกันในบริเวณที่องค์พระปฐมเจดีย์ตั้งอยู่
           ในสมัยรัชกาลที่ ๓ แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๔ เจ้าฟ้ามงกุฎหรือรัชกาลที่ ๔ ในแผ่นดินต่อมา ทรงผนวชอยู่ ณ วัดสมอรายหรือวัดราชาธิวาสในปัจจุบัน ได้เสด็จธุดงค์มากับคณะสงฆ์มายังนครปฐม ทรงปักกลดที่โคนต้นตะคร้อด้านทิศเหนือ ทรงสังเกตเห็นว่าองค์พระมีขนาดใหญ่มากน่าจะมีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่
           พระองค์จึงเสด็จขึ้นสวดมนต์บนลานพระปฐมเจดีย์แล้วทรงอธิษฐานว่า ถ้ามีพระบรมสารีริกธาตุขอให้เทพดาผู้รักษาจงได้แบ่งให้สัก ๒ องค์ เพื่อนำไปบรรจุในพระพุทธรูปที่สร้างใหม่คือพระพุทธรูปเนาวรัตน์ แล้วรับสั่งให้มหาดเล็กนำผอบใส่พานขึ้นไปตั้งไว้ในโพรงด้านทิศตะวันออก พอวันจะเสด็จกลับก็ให้ชึ้นไปอัญเชิญแต่ก็ไม่มีพระบรมสารีริกธาตุ
           ต่อมาเมื่อเสด็จกลับมาแล้วประมาณเดือนเศษ ๆ พระสงฆ์สวดมนต์ที่หอพระ วัดมหาธาตุ ขณะที่สวดไปครึ่งหนึ่งก็เกิดกลุ่มควันสีแดง กลิ่นหอมเหมือนควันธูป ควันมากขึ้นจนรมพระพุทธรูป พระสงฆ์ก็หยุดสวดมนต์ ลุกขึ้นไปดูก็ไม่พบอะไร รุ่งขึ้นจึงไปทูลให้ทรงทราบ พระองค์จึงเสด็จไปทอดพระเนตรพระพุทธรูปเนาวรัตน์ที่พระองค์ทรงสร้างไว้ และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้แล้ว ก็ทรงพบว่ามีพระธาตุเพิ่มขึ้นมาอีก ๒ องค์ จึงโปรดให้บรรจุไว้ในพระสัมพุทธพรรณีองค์หนึ่ง ในเจดีย์สุวรรณผลึกอีกองค์หนึ่ง และเกิดแรงศรัทธามุ่งมั่นที่จะบูรณะองค์พระปฐมเจดีย์ให้จงได้  ทั้งนี้เพราะเมื่อเสด็จกลับมาแล้วนั้น ได้ไปถวายพระพรแด่สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชคือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระดำรัสว่า "เป็นของอยู่ในป่ารก จะทำขึ้นก็ไม่เป็นประโยชน์อันใดนัก" ซึ่งเมื่อได้สดับพระกระแสร์รับสั่งว่าไม่โปรดแล้วก็ทรงพระจิตนาไว้ว่า จะทรงสถาปนาปฏิสังขรณ์ขึ้นไว้ให้จงได้
           ดังนั้นเมื่อ เจ้าฟ้ามงกุฎ ได้ลาผนวชขึ้นครองราชสมบัติแล้วได้ ๒ ปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เริ่มลงมือก่อสร้างปฎิสังขรณ์องค์พระเจดีย์เป็นการใหญ่ โปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาพระบรมมหาประยูรวงค์เป็นแม่กอง และเมื่อสมเด็จเจ้าพระยาถึงพิราลัยก็ทรงโปรดเกล้าให้เจ้าพระยาทิพากรวงค์มหาโกษาธิบดี ดำเนินการต่อไป
           เมื่อ ๒๓ มีนาคม ๒๔๐๐ ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังวัดพระปฐมเจดีย์ เพื่อก่อพระเจดีย์เป็นปฐมฤกษ์โดยเสด็จมาทางเรือ มาเสด็จขึ้นที่วัดชัยพฤกษมาลา แล้วจึงเสด็จทางบกไปประทับแรมที่พลับพลาท่าหวด วันรุ่งขึ้นจึงเสด็จทางเรือมาขึ้นที่คลองเจดีย์บูชา ซึ่งเป็นคลองที่โปรดให้ขุดขึ้นกับคลองมหาสวัสดิ์ (คลองนี้ขุดเชื่อมกับคลองเจดีย์บูชาที่วัดชัยพฤกษมาลามาสู่แม่น้ำท่าจีน ขุดหลังคลองเจดีย์บูชา)
           วันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๐๐  ทรงก่อพระเจดีย์เป็นพระฤกษ์ แล้วโปรดเกล้าให้ชายฉกรรจ์ที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกับองค์พระปฐมเจดีย์ ถวายตัวเป็น "ข้าพระ" จำนวน ๑๒๖ คน
           ทรงตั้งผู้ดูแลรักษา พระราชทานนามว่า ขุนพุทธเกษตรานุรักษ์ และมีผู้ช่วยซึ่งทรงพระราชทานนามว่า ขุนพุทธจักรักษา สมุหบัญชีพระราชทานนามว่า หมื่นฐานาภิบาล ทรงยกค่านา ค่าภาษีให้แก่วัด
           การปฎิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์ สร้างเป็นเจดีย์ใหญ่ครอบองค์เดิมไว้ภายใน เปลี่ยนจากบาตรคว่ำ มีพุทธบัลลังก์เป็นฐานสี่เหลี่ยม มียอดนภศูลและมหามงกุฎสวมไว้บนยอดองค์พระปฐมเจดีย์
           พ.ศ.๒๔๐๖  ได้เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานผ้าพระกฐิน
           การเกิดปาฎิหารย์ขององค์พระปฐมเจดีย์นั้นมีพระมหากษัตริย์ได้ทอดพระเนตรถึง ๓ พระองค์คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุมจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
           พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อได้ทอดพระเนตรปาฎิหารย์แล้ว ได้บันทึกถวายรายงานแด่พระราชบิดาคือ พระบาทสมเด็จพระจุมจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ร.ศ.๑๒๘ ".....ได้เห็นองค์พระปฐมมีรัศมีสว่างพราวออกทั้งองค์...." และเมื่อทอดพระเนตรแล้วก็ได้นิมนต์พระสงฆ์ ๑๐ รูป มาสวดมนต์เย็นและเดินเทียนสมโภช และขอถวายพระราชกุศลแก่สมเด็จพระราชบิดา และเป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อได้ทอดพระเนตรปาฎิหารย์แล้วอีกหนึ่งปีต่อมา ก็ได้เสวยราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และในสมัยรัชกาลปัจจุบันคือรัชกาลที่ ๙ ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นปาฎิหารย์แห่งองค์พระปฐมเจดีย์ถึง ๒ ครั้ง
           สถาปัตยกรรมและสิ่งสำคัญภายในวัดคือ .-
           บันไดนาคตรงกลาง  พื้นปูด้วยหินอ่อน สองข้างเป็นราวบันไดนาคเลื้อยแผ่พังพานแบบศิลปะขอม สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๖

           วิหารทิศ ๔ ทิศ  โดยมีระเบียงคดเชื่อมต่อกัน เดินได้รอบองค์พระเจดีย์
           วิหารทิศเหนือ หรือวิหารพระร่วงโรจน์ฤทธิ์  ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือนี้จะเป็นด้านที่ทุกคนเข้าใจกันว่าเป็นด้านหน้า เพราะทุกคนที่ไปนมัสการพระปฐมเจดีย์จะต้องขึ้นไปทางด้านนี้และไปนมัสการพระร่วงโรจน์ฤทธิ์ ความจริงด้านหน้าที่ตั้งชื่อถนนว่าถนนหน้าวัด คือด้านที่ถนนมาจากกรุงเทพ ฯ มาบรรจบเรียกว่าถนนหน้าวัด ส่วนทางด้านที่เข้าใจว่าเป็นด้านหน้าเป็นถนนซ้ายวัด
           พระวิหารด้านนี้ อยู่ด้านหลังขององค์พระร่วงโรจน์ฤทธิ์ ต้องเดินเข้าประตูด้านหลังองค์พระร่วงเข้าไป จะแบ่งออกเป็น ๒ ห้อง ห้องแรกมีพระพุทธรูปปางประสูติ ห้องด้านในเป็นพระพุทธรูปปางปาลิไลยกะหรือปาลิไลยก์
           พระพุทธรูป พระร่วงโรจน์ฤทธิ์นี้ มีประวัติว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงพระอิสริยยศเป็นมงกุฎราชกุมาร ได้เสด็จออกตรวจราชการทางภาคเหนือและได้ไปพบพระพุทธรูปงดงามมากเหลือแค่เพียงเศียร แขนข้างเดียวและองค์พระ จึงอัญเชิญลงมากรุงเทพ ฯ เมื่อขึ้นครองราชสมบัติแล้ว จึงโปรดให้จัดการพระราชพิธีสถาปนาพระพุทธรูปองค์นี้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๖  เสร็จแล้วโปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานที่หน้าพระวิหาร ทางทิศเหนือขององค์พระปฐมเจดีย์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๗ และโปรดเกล้า ฯ ถวายพระนามเมื่อ ๑๖ ตุลาคม ๒๔๖๖ และยังทรงระบุไว้ในพินัยกรรมว่าให้นำพระบรมสริรังคารส่วนหนึ่งมาบรรจุไว้ที่หลังองค์พระร่วงโรจน์ฤทธิ์อีกด้วย
           เขามอ  อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะจำลองธรรมชาติ
           ต้นศรีมหาโพธิ์  มองลงไปจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือขององค์พระ จะเห็นต้นโพธิ์ ซึ่งโพธิ์ต้นนี้ ดอกเตอร์ ยอห์น สไคว์ นำเมล็ดต้นโพธิ์มาจากพุทธคยา มาถวายรัชกาลที่ ๔ จึงโปรดให้เพาะแล้วพระราชทานแจกจ่ายไปยังพระอารามหลวงหลายแห่ง ๆ ละหนึ่งต้น แต่พระราชทานมาที่องค์พระปฐม ๕ ต้น
           พระวิหารด้านทิศตะวันออกหรือพระวิหารหลวง มี ๒ ห้อง ห้องนอกประดิษฐานพระพุทธรูปปางตรัสรู้ อยู่ในซุ้มเรือนแก้ว มีจิตกรรมฝาผนังที่งดงามยิ่ง สีน้ำมันรูปต้นพระศรีมหาโพธิ์ และภาพอื่น ๆ ส่วนห้องด้านในมีภาพจิตกรรมฝาผนัง มีแท่นบูชา เป็นพระแท่นสำหรับวางเครื่องสักการะบูชาองค์พระปฐมเจดีย์ เป็นที่สำหรับประกอบพิธีสักการะพระบรมสารีริกธาตุ
                - พระพุทธสิหิงค์  อยู่ในซุ้ม หากมองเงยหน้าขึ้นไปจะเห็นพระพุทธรูปองค์นี้
                และหากเรายืนที่ลานรอบองค์พระด้านถนนหลังวัด มองตรงไปจะเห็นอยู่ในแนวเดียวกันหรือมองจากพระราชวังสนามจันทร์ก็เช่นเดียวกันคือ พระที่นั่งพิมานปฐม หอพระคเนศ และองค์พระปฐมเจดีย์จะอยู่ในแนวเดียวกัน
                - เกย  อยู่ตรงกับประตูกำแพงชั้นใน
                - ทวารบาล  เป็นรูปคนนุ่งโจงกระเบนสีน้ำเงิน ผิวกายสีน้ำตาลเฝ้าประตูช่องบันได ด้านละ ๒ คน ซุ้มช่องบันไดนี้ ส่วนบนเป็นรูปรี เหนือขึ้นไปเป็นตรามหาพิชัยมงกุฎ
                - พลับพลาเปลื้องเครื่อง  พลับพลาหันหน้าเข้าหาองค์พระเจดีย์ พลับพลาทรงไทย รัชกาลที่ ๔ โปรดให้สร้าง

           พระอุโบสถ  อยู่บนลานชั้นลด ประดิษฐานพระพุทธรูปที่นำมาจากวัดพระเมรุ ศิลปะทวารวดี ปางปฐมเทศนา นั่งห้อยพระบาท ฐานกลีบบัว เรียกกันทั่วไปว่า พระพุทธรูปศิลาขาว
           พิพิธภัณฑ์สถานวัดพระปฐมเจดีย์  อยู่บนลานชั้นลดด้านทิศเหนือ มีพระทองคำ อาวุธโบราณ ฯ
           พระวิหารด้านทิศใต้  ห้องนอกพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาพร้อมปัญจวัคคีย์ ห้องในเป็นพระปางนาคปรก ซึ่งนาคที่นี่มีลักษณะแปลกคือลำตัวใหญ่ แต่เศียรทั้ง ๗ มีขนาดเล็ก
                - เสาประทีป  เป็นเสาสำหรับตามไฟให้สว่างอยู่ที่ลานหน้าพระวิหาร
           พระวิหารด้านทิศตะวันตก  ห้องแรกเป็นวิหารพระนอน มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ห้องในเป็นพระพุทธรูปปางปรินิพพาน
                - พระพุทธรูปปางไสยาสน์  พระพาหาจะตั้งพระหัตถ์รองรับพระเศียร
                - ปางปรินิพพาน  พระพาหาจะราบไม่ตั้งรองรับพระเศียร
                - พระพุทธรรูปศิลาขาว  ถวายพระนามว่า "พระพุทธนรเชษฐ์ ฯ " เป็นพระพุทธรูปที่ได้มาจากแหล่งเดียวกันคือวัดพระเมรุ มี ๔ องค์ พระประธานในพระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ ๑ องค์, พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอยุธยา ๑ องค์, ที่พิพิธภัณฑ์กรุงเทพ ฯ ๑ องค์ และ ณ ลานแห่งนี้ ๑ องค์ แต่มีการถวายพระนามองค์เดียว
           พระพุทธรูปที่สร้างไว้และประดิษฐานที่ศาลารายรอบองค์พระปฐมเจดีย์นั้น น่าศึกษาอย่างยิ่ง เพราะมีคำอธิบายประกอบไว้ด้วย ว่าเป็นพระพุทธรูปปางอะไร ซึ่งยากนักที่จะหาชมได้ในการที่จะสร้างพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ไว้ให้ศึกษาและสักการะ ผมไม่ได้นับให้ครบถ้วนแต่พอจะทราบว่าปางของพระพุทธรูปนั้นมีมากมายใกล้หลักร้อย หาอ่านได้จากหนังสือ "ปางพระพุทธรูป" และรอบระเบียงแห่งนี้ยังมีพระพุทธรูปปางประจำชีวิตต่าง ๆ ด้วย ได้แก่ พระพุทธรูปปางประจำวัน เช่นปางถวายเนตร ประจำวันอาทิตย์, ปางสมาธิหรือปางตรัสรู้ พระประจำวันพฤหัสบดี
           พระพุทธรูปประจำเดือนเช่น พระประจำเดือนอ้ายคือพระพุทธรูปปางปลงกัมมัฎฐาน หรือปางชักผ้าบังสุกุล พระอริยาบถประทับยืน พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า พระหัตถ์ขวายื่นไปข้างหน้า
           พระพุทธรูปประจำปีเกิดเช่น ปีมะแมคือพระปางประธานพร ประทับยืนยกพระหัตถ์ไว้เสมอพระอุระ แบบพระหัตถ์ขวาออกไปข้างหน้า แต่บางแบบยกพระหัตถ์ขวาขึ้น ห้อยพระหัตถ์ซ้ายลง
           ซึ่งพระพุทธรูปปางต่าง ๆ เหล่านี้ รวมทั้งประประจำวัน ประจำเดือน ประจำปีเกิด จะนมัสการได้จากพระระเบียงขององค์พระปฐมเจดีย์ หากมีโอกาสผมจะไปถ่ายภาพและหารายละเอียดของพระพุทธรูปปางประจำต่าง ๆ นี้มาเล่าให้ฟัง ตอนนี้ได้แต่รวบรวมและจัดพิมพิ์เป็นรูปเล่มเอาไว้แจกในงานพระราชทานเพลิงศพมารดาของผม ในวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๘ ที่วัดพระศรีมหาธาตุ หลักสี่ คือเรื่องไหว้พระธาตุประจำปีเกิด ซึ่งได้ทยอยนำลงเป็นตอน ๆ ในนิตยสารบางกอก รายสัปดาห์ ไปเรียบร้อยแล้ว
           ลานอาหารด้านหลังวัดขององค์พระปฐมเจดีย์ เรียกว่าเป็นลานอาหารที่ยิ่งใหญ่ทีเดียว พอตกตอนเย็นยังไม่ทันค่ำ รถเข็นขายอาหารคงจะร่วมร้อยคันก็มาตั้งเรียงแถวเป็น ๓ - ๔ แถว มีสารพัดอาหาร มึครบทั้งไทย จีน อิสลาม ขนม ไอศกรีมของโปรด มีพร้อม  โดยเฉพาะแถวแรกด้านหน้านั้นมีไอศกรีมเจ้าสำคัญคือ ไอศกรีมลอยฟ้า เขาเขียนบอกไว้อย่างนั้น คนตักจะโยนตัวไปมาเรียกว่าเต้นไปมาก็ได้ แล้วตักไอศกรีมโยบนขึ้นฟ้า พอไอศกรีมลอยลงมาก็เอาถ้วยรับ หรือยิ่งกว่านั้นให้คนอื่นรับแทน ดูเหมือนจะตักได้ทั้งหญิงและชาย ไม่กินไอศกรีมก็ไปยืนดูเขาตักไอศกรีมก็เพลินดีเหมือนกัน
           ขอแนะนำว่าไปเที่ยวนครปฐมนั้นขอให้ไปตอนเช้า ๆ แล้วแวะไปที่ตลาดนัดถนนเทศา ซอย ๒ ซึ่งถนนสายนี้คือถนนสายที่มุ่งหน้าเข้าหาองค์พระ ที่เรียกว่าหน้าพระ เช้า ๆ ก่อน ๐๙.๐๐ สารพัดของกิน ของใช้แปลก ๆ อร่อย ๆ ทั้งนั้น
           ร้านอาหารที่เปิดแต่เวลาค่ำ และอาหารหลักจานเด็ดคือ หัวปลาหม้อไฟ
           หากไปจากกรุงเทพ ฯ จนถึงแยกที่มีสะพานข้ามเข้าตัวเมืองนครปฐม อย่าข้ามสะพาน ให้ขับรถลอดใต้สะพานไปทางจะไปราชบุรี จนถึงสี่แยกไฟสัญญาณ มีป้ายบอกว่าไปองค์พระปฐมเจดีย์ ให้เลี้ยวขวาตรงนี้เรียกว่าทุ่งพระเมรุ เลี้ยวขวาเข้าถนนแคบ ๆ จะผ่านร้านข้าวต้ม ประเภทเปิดกลางคืน วิ่งต่อไปจะพบร้านเซเว่น ฯ อยู่ทางซ้ายมือและตลาดปฐมมงคล ๑ อยู่ทางขวามือ ตลาดนี้เป็นตลาดค้าผัก ผลไม้ รวมทั้งตลาดทางด้านซ้ายด้วย ให้จอดรถแถวตลาด แล้วเดินไปสัก ๒๐ เมตร อยู่ตรงโค้งของถนนแคบ ๆ นี่แหละ ตรงข้ามกับปฐมเภสัช ไม่ใช่ร้านแต่เป็นบ้านโบราณ ชั้นบนมีระเบียง มีชาน ตั้งโต๊ะที่ในตัวบ้าน และที่ชานนั่งซดกันกลางแสงดาว แสงเดือน เย็นสบายดี ไม่ต้องมีแอร์
           สั่งหรือต้องสั่ง ถ้ามาชิมร้านนี้คือ "หัวปลาต้มเผือกหม้อไฟ" ใช้หัวปลาเก๋า ตัวคงจะโตมาก มีเนื้อที่หัวปลาแยะ เอาเนื้อปลาจิ้มเต้าเจี้ยว น้ำซุปของเขาหวานด้วยปลาหมึกแห้ง ผักกาดขาว และกลิ่นนั้นหอมด้วยกลิ่นเผือก พอน้ำซุปร้อนได้ที่ ซดกันตอนร้อน ๆ ชื่นใจนัก ที่นั่งที่ชานระเบียงนี้นักซดสุราจองกันเต็ม
           สั่ง หอยแครงลวก ลวกเก่ง หอยอ้าปากเห็นเนื้อสีแดง แสดงความสดให้ชม ปลาดุกผัดฉ่า เอามากินกับข้าว ไส้ตันทอดกระเทียมพริกไทย หอมฟุ้งมาแต่ไกล ปลาช่อนทอดผัดคื่นฉ่าย ปลาช่อนยำ หากไปหลายคนหรือพุงยังรับไหว สั่งปลาช่อนทอดแกงส้มแป๊ะซะ
           ของหวานไม่มี อิ่มแล้วไปเดินตลาดหลังองค์พระ ไปกินไอศกรีมลอยฟ้า

..................................................


| ย้อนกลับ | บน |