| ย้อนกลับ |

พระประแดง (๒)

            ขอเล่าเรื่องเมืองพระประแดงอีกสักตอน เพราะหากไม่ได้ไปเที่ยว ไปกินที่ตลาดน้ำบางน้ำผึ้งเหมือนไปไม่ถึงพระประแดง ตลาดน้ำบางน้ำผึ้งผมมีส่วนไปทำให้เขาดัง เพราะได้เขียนไว้เมื่อ ๒ - ๓ ปีที่แล้ว ในหนังสือหลายฉบับ จากตลาดน้ำที่มีเรือลอยอยู่เพียง ๓ ลำ กลายเป็นตลาดน้ำที่มีเรือขายอาหารหลายสิบลำ จากทางเดินคอนกรีตแคบ ๆ เลียบริมคลอง ก็กลายเป็นทางเดินที่แม้จะขยายไม่ออก แต่ก็สร้างแผงขายอาหาร ขายสินค้าสองฟากทาง มีหลังคา มีโต๊ะนั่งกินอาหารได้ จะเลือกนั่งโต๊ะใต้ร่มทางด้านซ้ายของทางเดินหรือจะนั่งแบบม้านั่งเตี้ย ๆ (สาว ๆ นุ่งกระโปรงสั้นห้ามนั่งเป็นอันขาด) ติดริมคลองซดก๋วยเตี๋ยว เย็นตาโฟก็อร่อยไปอีกแบบ ลานจอดรถหน้าสถานีอนามัย ภายในวัดบางน้ำผึ้งใน ก็เต็มจนล้นต้องออกไปจอดกันข้างนอกอีกแห่งหนึ่ง ไปเห็นในวันนี้ เห็นแล้วก็ชื่นใจในความเจริญของตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง ซึ่งครบรอบ ๓ ปี ใน ๓ มีนาคม ๒๕๕๐
            ผมพาไปกินอาหาร "ร้านก๋วยเตี๋ยว" แต่อยู่ในเขตราษฎร์บูรณะ ของ กทม. ร้านนี้อยู่ห่างจากเขตอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ คงจะห่างกันไม่ถึง ๑ กม. กินก๋วยเตี๋ยว กทม.แล้วไปเที่ยวพระประแดง "ซึ่งมีรสสามล้อถีบให้นั่ง กรุงเทพ ฯ เลิกไปนานแล้ว" ผมพาไปเที่ยว ไปชม ไปไหว้พระที่วัดสำคัญของพระประแดงมาแล้ว เป็นพระอารามหลวงทั้งสองวัดคือ วัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร และวัดโปรดเกศเชษฐาราม ที่อยู่ห่างกันคนละฝั่งคลองคือ คลองลัดหลวง คราวนี้ไปต่อคือ จะไปเที่ยวตลาดน้ำคลองบางน้ำผึ้ง หากจัดเวลาให้ดี ๆ เป็นได้กินกันสนุก เช่นไปกินก๋วยเตี๋ยวอร่อยที่ร้านก๋วยเตี๋ยวกลางอ่าวในช่วงเช้า กินกันเป็นอาหารเช้าไปเลย แล้วไปเที่ยวพระอารามหลวงทั้ง ๒ แห่ง จากนั้นไปเที่ยววัดต่อ ไปเที่ยวสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ (สวนบางกระเจ้า) หรือจะไปตลาดน้ำก่อน แต่อย่าเพิ่งกิน ซื้อลูกเดียว หอบหิ้วเอาไปนั่งกินในสวนที่เป็นสวนจริง ๆ ก็ดบจะเก๋ไปอีกแบบ ส่วนผมคนตะกละไปเที่ยวแห่งละวัน เพราะต้องดูให้ละเอียดจะได้จำเอามาเล่าให้ฟัง
            ได้เล่าแล้วว่าพระประแดงนั้นมีชาวมอญที่อพยพมาจากเมืองมอญมาอยู่เป็นอันมาก โดยเข้ามามากในสมัยรัชกาลที่ ๒ หนีภัยสงครามมามีจำนวนมากถึงสี่หมื่นคนเศษ และโปรด ฯ ให้ไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ในแขวงเมืองปทุมธานี นนทบุรี นครเขื่อนขันธ์หรือพระประแดง เมืองนี้จึงเป็นชุมชนมอญที่ใหญ่ที่สุด มีวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน ในพระประแดงมีหลายวัดอยู่ไม่ไกลกัน เริ่มจากวัดทรงธรรม ซึ่งเป็นพระอารามหลวง วัดคันลัดเป็นต้น

                วัดทรงธรรมวรวิหาร  เป็นวัดมอญเก่าแก่ สร้างขึ้นมาพร้อมกับเมืองนครเขื่อนขันธ์ ตั้งอยู่ริมถนนทรงธรรม ตำบลตลาด อ.พระประแดง
                เส้นทาง หากไปเที่ยว ไปนมัสการพระที่วัดไพชยนต์ ฯ แล้วเลี้ยวซ้ายข้ามคลองลัดหลวงมาก็เลี้ยวซ้ายเข้าไปวัดโปรดเกษ ฯ แต่พอกลับออกจากวัดโปรดเกษก็เลี้ยวซ้ายไปนิดเดียว จะไปบรรจบกับถนนเพชรหึง เลี้ยวซ้ายไปอีกที วัดทรงธรรมจะอยู่ทางซ้ายมือ หรือหากตรงมาวัดเลย เพื่อไปเที่ยวตลาดน้ำด้วย ก็มาทางด่วนข้ามสะพานพระราม ๙ มาลงถนนสุขสวัสดิ์แล้วเลี้ยวซ้าย ลอดใต้สะพานข้ามสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ คือสะพานวงเวียนอุตสาหกรรม เลยไปอีกนิดก็จะถึงสามแยกเข้าพระประแดง เลี้ยวซ้ายเข้าถนนนครเขื่อนขันธ์ ผ่านตลาดพระประแดง แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนเพชรหึง (เมืองนี้ป้ายนำทางมีมาก) ไปประมาณ ๔๐๐ เมตร วัดทรงธรรมจะอยู่ทางซ้ายมือ
                วัดทรงธรรมสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๒ ระหว่าง พ.ศ.๒๓๕๗ - ๒๓๕๘ สร้างเพื่อให้ชาวมอญในนครเขื่อนขันธ์มีที่บำเพ็ญกุศล เป็นวัดรามัญแห่งแรกของพระประแดง เดิมตั้งอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา แต่โปรด ฯ ให้สร้างป้อมเพชรหึงในเขตวัด จึงต้องย้ายวัดเข้ามาอยู่ด้านใน พร้อมกับสร้างศาลาการเปรียญ ศาลาหลังนี้เคยเป็นศาลาทรงธรรมในรัชกาลที่ ๒ และกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ฯ นามวัดจึงชื่อทรงธรรม อีกตำนานบอกว่าวัดทรงธรรมมาจากภาษามอญว่า "เมินโท" แปลว่า "ผู้ทรงธรรม" ได้รับการบูรณะในรัชกาลที่ ๓ ได้รับพระราชทานผ้าพระกฐินทุกปี เพราะเป็นพระอารามหลวง รัชกาลที่ ๓, ๔ ,๕ และ ๙ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐิน
                พระอุโบสถ  สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ ก่ออิฐถือปูน แต่ดูจะไม่ตรงในพระราชนิยมของ ร.๓ เพราะพระอุโบสถมีช่อฟ้าใบระกา แต่ก็ทำด้วยไม้สัก จุดเด่นที่เห็นชัดแปลกตาคือ รอบพระอุโบสถมีเสากลมคู่ขนานใหญ่มากรอบพระอุโบสถถึง ๕๖ ต้น ภายในมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ปางมารวิชัย รัชกาลที่ ๕ โปรด ฯ ให้อัญเชิญมาจากกรุงเทพ ฯ เมื่อคราวทอดผ้าพระกฐิน
                พระเจดีย์รามัญ  อยู่ข้างพระวิหารทางด้านซ้ายของทางออก เป็นเจดีย์แบบรามัญแท้ งดงามมากองค์ใหญ่สูงถึงยอด ๑๑ วา ๓ ศอก กว้าง ๑๐ วา ๒ ศอก ยอดเจดีย์เป็นฉัตรทองบรรจุพระเครื่องไว้ในองค์เจดีย์ ฐานทั้งสี่มุมล้อมด้วยเจดีย์องค์เล็กแบบรามัญ
                พระวิหาร  อยู่ด้านหน้าพระเจดีย์ ประดับลายปูนปั้น มีช่อฟ้าใบระกา สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๑ สมัยรัชกาลที่ ๔ ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง
                กุฎิสงฆ์หลังเก่า  สร้างมาตั้งแต่สมัย ร.๒ กรอบหน้าต่างแกะสลักเป็นลายดอกไม้แบบจีน
            จบการชมวัดทรงธรรมแล้ว วิ่งรถผ่านหน้าวัดเลี้ยวซ้ายไปตามถนนเพชรหึง ไปอีก ๕ กม.จะถึงทางแยกขวาเข้าไปยังตลาดน้ำ ก่อนถึงสังเกตให้ดี ๆ จะผ่านวัดป่าเกตุอยู่ทางขวามือ อยู่ก่อนถึง อบต. บางยอ ถ้าแวะเที่ยวกลับสังเกตุง่ายเพราะพอผ่าน อบต.บางยอก็จะถึงประตูวัด  เลี้ยวเข้าไปชมอุโบสถหลังเก่าที่ใกล้จะพัง แต่งดงามมากคือหน้าบันประตูโบสถ์ ทำด้วยไม้แกะสลักเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ล้อมด้วยลายเครือเถา ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังแต่สีจางมาก
            จากหน้าวัดป่าเกตุ วิ่งต่อไปถนนเพชรหึง ค่อนข้างแคบ รถวิ่งสวนกัน และไปคราวนี้เห็นได้ว่าความเจริญของตลาดน้ำทำให้มีรถมากในวันที่ตลาดติดคือ เสาร์ - อาทิตย์ และมี Green Night  ในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เวลา ๑๖.๐๐ - ๒๐.๐๐ (ผมยังไม่เคยไป ส่วนตลาดน้ำติดตั้งแต่เช้ายันเย็น) ประมาณ ๕ กม. จากวัดทรงธรรมก็จะถึงเพชรหึง ซอย ๒๖ เลี้ยวขวาไปอีกนิดจะเห็นประตูวัด เห็นป้ายมุมประตูวัดว่า "น้ำผึ้ง พัฒนา ๓ (วัดบางน้ำผึ้งใหญ่)" เลี้ยวซ้ายเข้าไปจะผ่านที่จอดรถทางขวามือ แต่ต้องเดินไกลกว่าที่จอดรถด้านใน (ไปสายมักจะเต็ม) จอดด้านในขับรถข้ามสะพานข้ามคลองตลาดน้ำ ตรงเข้าวัด (พอดีตรงเมรุเผาศพ แต่สุขาสากลอยู่ข้าง ๆ ศาลาการเปรียญ ข้างเมรุเลี้ยวขวาไปจอดรถสนามหน้าโรงเรียนและสถานีอนามัย จอดได้นับร้อยคัน มีสุขาหลังโรงเรียนและได้สถานีอนามัยใช้ได้) เมื่อขับรถข้ามสะพานจะเข้าวัด หาก "ลงเดิน" เลี้ยวขวาตั้งต้นตั้งแต่ตรงนี้ ที่ปีนี้สร้างศาลา สร้างเพิงขายของริมคลองเสียสวย เป็นระเบียบจะเริ่มด้วยริมทางเดินเข้าสู่ตลาดริมคลองจะผ่านดงขายต้นไม้ ย่านนี้คือย่านสวนเก่าแก่มาตั้งแต่โบราณ พืชพรรณไม้แปลก ๆ ราคาถูกจะนำมาจำหน่าย รวมทั้งผักพื้นบ้านแท้ ๆ เช่นจะมียอดตำลึงมากำขายกำละ "สองบาท" ยอดพาสชั่นฟรุ๊ทก็ ๒ บาท ซื้อเอามาผัดน้ำมันหอย ต้นตีนเป็ดที่เอามาปลูกริมน้ำ ดอกสีขาว ๓ ต้น ๑๐ บาท เป็นต้น เดินเลยร้านกลุ่มต้นไม้สลับของกินเข้าไปก็จะถึงย่านขายของกินเป็นส่วนใหญ่ (เช่าเรือพายเล่นในคลอง พายเอง ชั่วโมงละ ๒๐ บาท) ตอนจะเข้าย่านของกินนี้ หากเราจอดรถในสนามก่อนแล้วเดินผ่านหน้าสถานีอนามัย พอจะเข้าย่านของกินริมคลอง ทางซ้ายจะมีสนามเด็กเล่นคิดรอบละ ๒๐ บาท พ่อ แม่ ที่ยังขี้เกียจเดิน นั่งเฝ้าดูลูกกระโดด ดูขี่ตัวสัตว์ที่ทำด้วยยาง หลานผมอายุ ๓ ขวบ ไปด้วย ต้องยอมยืนเฝ้าให้หลานกระโดดเล่น จนปู่ที่ไม่โดดเมื่อยขานั่นแหละ
            ทีนี้เข้าไปเดินในถนนคอนกรีต กว้างสักเมตรเศษ ๆ ที่สองข้างทางคือร้านหรือแผงที่สร้างขึ้นใหม่ ผมมาเมื่อ ๓ ปีก่อนยังไม่มี มีแต่แผงตั้งขายไม่มีหลังคา ไม่มีที่นั่งอย่างวันนี้ สารพัดของกิน ซื้อแล้วหาที่นั่งกินก็พอได้ ไม่มีใครผูกขาดที่นั่ง นั่งร้านก๋วยเตี๋ยวดีที่สุด แม่ค้า พ่อค้า ที่นี่เป็นชาวบ้าน ที่มีความรู้คือวันราชการก็ไปทำงานราชการหรือห้างร้าน วันหยุดมาช่วยกันปลุกพื้นที่ของ อบต.ที่อยู่ให้มีชีวิตชีวา ให้ผู้คนมาเที่ยวตลาดนัดกัน ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือ เมื่อก่อนไม่มีที่จะนั่ง วันนี้นั่งริมน้ำเก้าอี้เตี้ย ๆ ก็ได้ แต่ผมบอกแล้วว่าสุภาพสตรีนุ่งกระโปรงสั้นอย่าไปนั่งเข้า นั่งแล้วจะเหมือนอาเฮียขายก๋วยเตี๋ยวเรือ ที่ใต้สะพานรังสิตเมื่อเกือบ ๖๐ ปีมาแล้ว ต้องนั่งม้านั่งเตี้ย ๆ แบบนี้ อาเฮียร้องบอกเลยว่า ชามนี้ของคุณกางเกงในสีแดง ชามนี้ของสีดำ ผมโตทันไปกินก๋วยเตี๋ยวเรือรังสิตยุคประวัติศาสตร์ มาดูภาพโบราณได้ที่นี่ แต่สาวสมัยนี้ไม่มีใครนุ่ง
กระโปรงมากินก๋วยเตี๋ยวเรือริมคลองแล้ว ด้านตรงข้ามกับที่นั่งริมคลองก็จะมีโต๊ะ มีร่มกั้น หรือเลยเข้าไปก็จะมีศาลาใหญ่มีเก้าอี้ถือชามไปนั่งได้ ก๋วยเตี๋ยวเจ้าอร่อยที่เรียกว่าเข้าขั้นดี โดยเฉพาะต้มยำ ปรุงเก่งทีเดียว ที่เก่งมากคือชามละ "สิบบาท" ไม่ว่าจะเป็นแห้ง น้ำ ต้มยำ เส้นเล็ก เส้นใหญ่ วุ้นเส้น สิบบาทหมด พุงขนาดผม ๒ ชาม ยังเหลือพื้นที่เอาไว้บรรจุอาหารอื่นได้อีก
            ก๋วยเตี๋ยวหมูต้มยำเจ้านี้ เมื่อเราเดินเข้ามายังซอยริมน้ำนี้ ก็จะผ่านซอย ๑ ที่จะเป็นรูปตัวยู ไปบรรจบกับซอย ๒ ได้ ทั้งสองซอยผมจะพาเดินตอนอิ่มแล้ว เมื่อเดินเข้ามาตามซอยริมน้ำ รีบซื้อปลาทูต้มเค็มเสียก่อน อร่อยนัก ช้าหมด ปลาทูต้มเค็มสมุนไพร กระเพาะปลา ไส้กรอกปิ้ง ก๋วยเตี๋ยวหลายเจ้า หอยทอด ส้มตำ ปลาหมึกย่าง ขนมจีน ขนมครก ไข่นกกระทา บ้าบิ่นมะพร้าวอ่อน เมี่ยงชาววัง ที่ว่ามานี้เป็นของกินที่เข้าตา แต่ไม่ได้ซื้อชิมเดาเอาว่าอร่อย แต่ที่ส่งผู้แทนออกไปซื้อ เอาแต่เมื่อเดินดูหมายตาจดหมายเลขแผงเอาไว้แล้ว ผมก็นั่งกับหลาน ส่งผู้แทนไปซื้อกลับมากินที่โต๊ะก๋วยเตี๋ยว ซื้อมาหลายอย่างเอาที่อร่อยจริง ๆ คือปากเป็ดย่างไม้ละ ๑๐ บาท อร่อยพิลึก หอยทอดเตาขนมครกเจ้านี้เก่าแก่ของตลาดแผง ๑๐๙ บาบีคิวไม้ละ ๑๐ บาท แผง ๑๔๔ ขนมจีนหม้อดิน เนื้อย่างลูกชิ้นหมู เนื้อ ห่อหมกหม้อแกง ซื้อมาแล้ว ถ่ายรูปไว้ด้วยไม่อร่อย เลยมีรูปให้ชมรูปเดียวคือ ปากเป็ดย่าง
            ซื้อกลับบ้าน น้ำพริกมะขามแผงเดียวกับหอยครก มีหลายน้ำพริก ไข่เค็มใบเตย ดินสอพอง ๑๐๘ ปลาสลิดบางบ่อ ส่วนกุ้งเหยียดร้านบ้านสาขลา ยังไม่ซื้อเพราะสัปดาห์หน้าจะไปเที่ยวบ้านสาขลา อ.พระสมุทรเจดีย์ อิ่มแล้ว เดินผ่านปากเป็ดย่างไปทางปากคลอง จะเป็นย่านสินค้าโอท๊อป คนขายมรรยาทเยี่ยม จะหาภาพสวย ๆ หายาก เจอไม่กี่ภาพขาย ๑๕ บาทเลยไปสอนให้เขาถ่ายในอำเภอพระประแดง และในตลาดน้ำมาขาย ซื้อสบู่ถ่านไม้ไผ่ ดอกไม้เทียมเอามาลอยในชามเซรามิคที่ซื้อมาจากลำปาง ดอกสวย ๆ สิบบาท จบย่านโอท๊อป ของดีราคาถูกแล้วเดินย้อนกลับมา เลี้ยวขวาเข้าซอย ๒ พอเดินผ่านร้าน จำได้ว่าเจ้าเก่าที่เคยเขียนเล่าไว้เมื่อ ๓ ปีก่อน ขยายกิจการขายหลายอย่างเป็นร้านอิสลาม มีก๋วยเตี๋ยวมีแกง มะตะบะ เนื้อและไก่ โรตี สลัดไก่ ข้าวหมกเนื้อ - แพะ ส่วนของอร่อยเดิมก็อยู่ครบคือประเภทขนมได้แก่ กุหลาบยำบู (หวานแสบลิ้น) สาลี่กรอบ ขนมบาดิน สาลี่ทิพย์ อร่อยทุกอย่างซื้อกลับมา สามีเห็นหน้ายกมือไหว้ บอกว่านายพล... เลยเติมให้ว่า พลเอก ฝ่ายเมียบอกว่านายพลโอ... เติมให้อีกคำว่าโอภาส เดินต่อไปทางด้านตัวยู ขนมไทยชาววัง อร่อย และขนาดน่ารัก ทองเอก ไส้อั่ว หน้าตาน่ากินเหมือนเดิม และร้านสุดท้ายที่เคยชิมคือปูหลน กะปิคั่ว
            จบไปตลาดน้ำบางน้ำผึ้งในวันนี้ สัปดาห์หน้าจะไปบ้านสาขลา มีเวลาตอนกลับจะนั่งเฝ้าหลานที่สนามเด็กเล่น จะส่งแต่เลขา ฯ กับพ่อ แม่ ของหลานไปซื้อปากเป็ดย่าง
            กลับออกมาถึงปากซอยเพชรหึง ๒๖ ยังไม่กลับเลี้ยวขวาไปอีกหน่อยจะพบซอยวัดราษฎร์รังสรรค์ เลี้ยวซ้ายเข้าซอย วิ่งไปตามถนนแคบ ๆ ปากซอยมีป้ายบอกว่าไปวัดและไปสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ วิ่งรถในซอยนี้ระวังสวนให้มาก ๆ ซอยแคบและคดโค้ง รถจอดข้างทางก็มาก วิ่งไปคงจะสัก ๓ กม. ก็จะถึงประตูเข้าสวน ต้องบจอดรถหน้าทางเข้า แล้วลงเดินเข้าไป เห็นคณะที่คงจะไปตลาดน้ำมา หิ้วถุงอาหารเตรียมไปนั่งกินในสวน คณะผมเต็มพุงเลยไปเดินเที่ยวเฉย ๆ
                สวนศรีนครเขื่อนขันธ์ หรือสวนบางกระเจ้า  มีเนื้อที่ประมาณ ๒๐๐ ไร่เศษ เป็นสวนหมาก สวนผลไม้ รัฐบาลกำหนดให้เป็นปอดของคนกรุงเทพ ฯ มีรูปแบบของการทำสวนเช่น การยกท้องร่อง การปลูกไม้ผล สร้างเป็นสวนสาธารณะเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕ และได้รับประราชทานนามว่าสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ และรัฐบาลกำหนดให้พื้นที่หกตำบลของพระประแดง ที่เรียกว่า "กระเพาะหมู" เป็นเขตสีเขียว ให้คงสภาพสวนผลไม้เดิมเอาไว้ ได้แก่ตำบลบางกระเจ้า บางกอบัว บางน้ำผึ้ง บางกระสอบ ทรงคนอง และบางยอ สวนงามทั้งไม้ดอก ไม้ประดับ และสวนผลไม้

.........................................................


| ย้อนกลับ | บน |