เกาะพิทักษ์

           เกาะพิทักษ์ในอดีตชาวบ้านเรียกเกาะนี้ว่า “เกาะผีทัก“ เหตุที่เรียกชื่อเกาะอย่างนี้ เพราะมีเรื่องเล่ากันมาว่ามีเรือประมงลอยลำหาปลามายังหน้าอ่าวเกาะพิทักษ์ แล้วมองเห็นชาวบ้านบนเกาะกวักมือเรียก แต่พอนำเรือเข้าไปที่เกาะปรากฏว่าไม่มีชาวบ้านอยู่อาศัยบนเกาะแม้แต่สักคนเดียว ชาวประมงจึงเรียกเกาะนี้ว่าเกาะผีทัก
           แต่ในปัจจุบันไม่ได้ยินใครเรียกว่าเกาะผีทัก คงเรียกกันว่าเกาะพิทักษ์และหากเรียกกันอย่างเต็มที่ ต้องเรียกว่า โฮมสเตย์เกาะพิทักษ์ เพราะโฮมสเตย์บนเกาะน้อยแห่งนี้กลายเป็นโฮมสเตย์มีชื่อเสียงติดระดับประเทศไปแล้ว หากยังไม่เคยไปให้รีบไปเที่ยวเสียโดยเร็ว ไปสะดวกและไปได้ทุกฤดูกาล ยิ่งฤดูร้อนยิ่งดี ที่พักดี อาหารดีเลิศ ธรรมชาติยอดเยี่ยม และเป็นตัวอย่างหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง อย่างสมบูรณ์ ชาวบ้านทำให้สมบูรณ์โดยที่เขาไม่รู้ลึกซึ้งว่าที่เขาทำ ภายใต้การนำของผู้ใหญ่บ้านนั้นคือ เศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ เกาะนี้ จึงเป็นโฮมสเตย์เชิงอนุรักษ์และโฮมสเตย์ เกาะพิทักษ์ยังได้รับการรับรองว่าเป็นโฮมสเตย์มาตรฐาน จากสำนักพัฒนาการท่องเที่ยว กระทรวงกิฬาและการท่องเที่ยว
           ที่ตั้ง ตั้งอยู่บริเวณอ่าวท้องครก ตำบลบางน้ำจืด อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร( ห่างจากตัวอำเภอประมาณ ๑๒ กม. มีถนนเลียบชายหาดมายังอ่าวท้องครก )
           การเดินทาง ผมไปจากบ้านลาดพร้าว ขึ้นทางด่วนสองเด้งไปลงถนนพระราม ๒ แล้วไปเชื่อมกับทางหลวงแผ่นดินสาย ๔ หรือเพชรเกษม เมื่อได้ผ่าน สมุทรสาครและสมุทรสงครามไปแล้ว จากนั้นไปผ่านเขาย้อย แวะกินข้าวแกงร้านเขาย้อยฝั่งซ้าย (วันกลับกินร้านทางฝั่งขวา ) จากนั้นไปผ่านเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ศูนย์บริการทางหลวงที่ กม.๔๓๑ ซึ่งตลอดสายใต้มีเพียงแห่งเดียวระยะทางยาวกว่าพัน กม.น่าจะมีอย่างน้อยสัก ๓ แห่ง จะได้เป็นที่พึ่งของนักเดินทาง

           ถึงสี่แยกปฐมพรที่เลี้ยวขวาจะไปยังค่ายเขตอุดมศักดิ์ ถ้าเลี้ยวซ้ายมาประมาณ ๙ กม.ก็จะเข้าตัวเมืองชุมพร ภารกิจที่ตั้งใจมาคือมาทำบุญเลี้ยงพระในเดือนเกิดของผมและ เลขาฯประจำตัว ที่ศาสนสถานของกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๒๕ ในค่ายเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งผมได้ริเริ่มสร้างด้วยการใช้เงินจากการทอดผ้าป่า ผ่านศักดิ์สิทธิ์และในหนังสือที่ผมเขียนประจำ ซึ่งงานก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์แล้ว ทำบุญวันนี้เพื่อหาเงินมาสร้างเขื่อนกั้นน้ำที่สระน้ำหน้าศาสนสถานด้วย
           ไปถึงชุมพรเย็นแล้วยังไปเกาะพิทักษ์ไม่ได้ เพราะต้องไปอีกไกลกว่าจะถึงมืดค่ำ ข้ามเรือไปเกาะลำบาก ดังนั้นจึงนอนเสียในเมือง ๑ คืน น่าจะเป็นโรงแรมเปิดใหม่เมื่อปี ๒๕๕๒ ถนนประชาอุทิศ เข้าซอยเดียวกับโรงแรมจันทร์สม โรงแรมดีมาก ห้องใหญ่กว้างขวาง เตียงคู่ มีแอร์ ตู้เย็น น้ำอุ่นพร้อม ราคาต้องถือว่าถูกมาก คืนละ ๗๐๐ บาท แถมอาหารเช้าด้วย กลับมาจากเกาะพิทักษ์แล้วมาพักอีกคืน แถมร้านอาหารอร่อยอยู่หน้าโรงแรมนั่นแหละ เขาตักอาหารใส่จานวางไว้มากมาย ยกป้ายว่าราคาอาหารจานละ ๑๐ บาท เข้าไปกินเพราะท่าทางดีและราคาถูกด้วย อร่อยสมใจ สั่งอาหารมากินกันคุ้มไปเลย อิ่มแล้วเดินไปร้านใกล้ๆกัน เป็นร้านหมูกระทะ ชื่อร้านชุ่มชื่น ไม่ได้ไปกินหมูกระทะ แต่ไปกินรถเข็นน่าจะเป็นของร้าน ขายขนมปังสังขยา ปาท่องโก๋จิ้มสังขยาอร่อยมาก
           หลังอาหารเช้าในห้องอาหารของโรงแรม ก็ไปโฮมสเตย์เกาะพิทักษ์ วิ่งกลับไปที่สี่แยกปฐมพรแล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนสาย ๔๑ มุ่งหน้าไปทางอ.หลังสวน วิ่งไปประมาณ กม.๔๔.๙๐๐ ถึงสี่แยกเขาปีป ( หากเลี้ยวขวาไปเขาทลุ มีกาแฟประเภท ๓ in๑ อร่อยมาก ผมซื้อเป็นประจำ เลี้ยวขวามาสัก ๓๐ เมตรมีร้านขายส่ง ซื้อกาแฟยกกล่องกันเลย กล่องมี ๑๘ ถุง ตกราคาถุงละ ๗๐ บาทมี ๓๐ ซอง )
           ไปเกาะพิทักษ์ ก็เลี้ยวซ้ายที่สี่แยกเขาปีปไปตามถนนสาย ๔๐๙๖ พอถึงสี่แยกก็เลี้ยวขวาทีนี้จะพบป้ายบอกทาง ไปเกาะพิทักษ์ ตามป้ายเรื่อยไปจะพบป้ายนำทางไปเรื่อยๆ วิ่งไปจนผ่านวิทยาลัยประมงแล้วจะพบป้ายหาดท้องครก ซึ่งที่หาดนี้จะมีท่าเรือลงเรือหางยาวข้ามไปเกาะ ส่วนรถฝากไว้ที่บ้านลุงขาวใกล้ๆท่าเรือคิดค่าฝากคืนละ ๕๐ บาท ระยะทางรวมประมาณ ๒๐ กม.
           พอใกล้จะถึงท่าเรือก็โทรศัพท์บอกทางเกาะให้ส่งเรือมารับ เขาบริการฟรี หรือจะลงเรือชาวบ้านข้ามไปก็ได้ ค่าเรือข้ามไปเกาะ ไป –กลับ คนละ ๒๐ บาท
           ติดต่อที่พัก ผู้ใหญ่หรั่งหรือผู้ใหญ่ อำพล ธานีครุฑ โทร ๐๘๑ ๐๙๓ ๑๔๔๓ , ๐๘๙ ๐๑๘ ๐๖๔๔ ค่าที่พักมี ๒ ราคา คือ ๔๕๐บาท/คน/คืน และ ๗๐๐บาท/คน/คืน ผมพักในราคา ๗๐๐ บาท ซึ่งรวมอาหารทะเลดีเลิศ (ธรรมดาของชาวบ้าน) ๓ มื้อและกาแฟฟรี

           เกาะพิทักษ์ อยู่ห่างจากท่าเรืออ่าวท้องครก ประมาณ ๑ กม. เวลาน้ำลงในตอนกลางคืนไปจนถึงเช้า จะเกิดสันทรายระหว่างเกาะ กับหาดท้องครกยาวประมาณ ๑ กม.เป็นสันทรายที่ผุดขึ้นมาและมีกรวดอัดแน่น รถวิ่งได้ แต่ทางเกาะไม่ยอมให้รถวิ่ง เว้นจะมีการขนย้ายของชาวเกาะ ก็ขออนุญาตผู้ใหญ่เป็นครั้งคราว บอกว่ารถไม่ต้องโฟร์วีลก็วิ่งได้อย่าบรรทุกหนักก็แล้วกัน เรียกว่าทะเลแหวก ในเดือนมิถุนายน จะมีประเพณี วิ่งมินิมาราธอนแหวกทะเล โดยเริ่มต้นจากปากน้ำหลังสวนมายังท่าเรืออ่าวครก แล้ววิ่งมาตามสันทรายซึ่งจะมีน้ำสูงประมาณหัวเข่า วิ่งข้ามทะเลมายังเกาะพิทักษ์ รวมระยะทางประมาณ ๑๒.๕ กม. เมื่อมาถึงแล้วยังมีอาหารทะเลเลี้ยงอีกด้วย ไม่ทราบว่าเสียค่าสมัคร์เท่าไร ได้ความว่ามีนักวิ่งมาวิ่งกันมากทุกปี ใครจะวิ่งก็ติดต่อถามได้ที่ผู้ใหญ่บ้าน
           เกาะพิทักษ์มีเนื้อที่ประมาณ ๗๑๒ ไร่มีชุมชนอาศัยอยู่ ๔๓ ครัวเรือน ( พ.ศ.๒๕๕๒ ) ชาวบ้านนับถือศาสนาพุทธ ที่ราบบนเกาะมีน้อย ส่วนใหญ่จะปลูกมะพร้าว และกำลังปลูกต้นเหรียงที่นำใบมาผัดกินอร่อยนัก ส่วนปุ๋ยใช้ปุ๋ยชีวภาพ( EM Ball)และยังใช้ฟื้นฟูสภาพน้ำ ดินและสิ่งแวดล้อมในอ่าวครก อ่าวเล็กๆแห่งนี้จะมีหาดทรายขาว สะอาด มีน้ำใส อาหารของสัตว์น้ำสมบูรณ์ ในอ่าวจึงมีปลาหมึก ฝูงปลา ปูทะเล หอยกะทิมากมาย รวมทั้งกุ้งแชบ๊วยทางด้านตะวันออกของเกาะด้วย ไปพักที่เกาะนี้กินอาหารทะเลกันพุงกางไปเลย หากคิดราคากันแค่ค่าอาหารทะเลที่เขาจัดให้ ๓ มื้อก็เกินราคา ๗๐๐บาทที่เก็บต่อหัวแล้ว
           แม้ว่าจะเป็นเกาะเล็กๆแต่บนเกาะยังมีทางเดินตัวหนอนรอบเกาะ ตอนไหนมีโขดหินก็ทำสะพานข้ามไป จึงเดินได้รอบเกาะแต่คงต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง ผมไม่ได้ลองเดินดูเลยกะไม่ถูก
           ชุมชนของเกาะ ๔๓ หลังคาเรือน อยู่ทางตะวันตกของเกาะ บ้านทุกหลังปลูกเสาอยู่ในน้ำ คล้ายๆกับหมู่บ้านที่เกาะปันหยี จ.พังงา ผิดกันที่ เกาะปันหยี มีทางเดินเชื่อมจากบ้านถึงบ้านได้หมด ส่วนที่เกาะพิทักษ์ เสาบ้านอยู่ในน้ำ แต่จะเดินจากบ้านหนึ่งไปยังอีกบ้านหนึ่งต้องเดินลงทางหลังบ้าน เดินไปตามชายหาด ซึ่งบ้านแต่ละหลังก็ปลูกติดกันไป ส่วนด้านตะวันออกของเกาะไม่มีบ้านอยู่อาศัย แต่มีชายหาดลงเล่นน้ำได้ ชายหาดยาวประมาณ ๔๕๐ เมตรน้ำใสสะอาด ด้านทิศเหนือของเกาะมีจุดชมวิวสูงประมาณ ๒๐๐เมตร มี ศาลาให้พักชมวิว ในวันที่อากาศดีจะมองเห็นได้ไกลถึง เกาะเต่า เกาะสมุย และเกาะพงัน ของสุราษฏร์ธานี

           เกาะคราม อยู่ทางเหนือของเกาะพิทักษ์ ห่างออกไปประมาณ ๑ กม. มีเรือหางยาวให้เช่าเหมาลำราคาประมาณ วันละ ๗๐๐ บาท เพื่อพาไปดำน้ำชมปะการัง ที่เกาะครามซึ่งมีมากและสวยมากด้วย เป็นปะการังเขากวาง ปะการังสมอง หอยมือเสือ และปลาทะเลสวยงามมีมากมาย เกาะพิทักษ์ได้ชื่อว่าเป็นชุมชนที่อนุรักษ์สิ่งแวะล้อมทางทะเลได้ดีเด่น ในอดีตชุมชนแห่งนี้ยังเคยได้รับรางวัลเกาะปลอดภัยจากยาเสพติดมาแล้ว และทั้งชาวบ้านเกาะก็นับถือศาสนาพุทธ จึงไม่มีข้อห้ามจุกจิกสำหรับนักท่องเที่ยว แต่เห็นบางคณะที่มาพัก แบกเอาลังน้ำแข็งและลังโซดา สุราพร้อมมาด้วย ก็คงไม่เคร่งครัดถึงขั้นห้ามดื่มแต่บนเกาะจะไม่มีสุรา และเบียร์ขาย
           เกาะพิทักษ์ริเริ่ม บ้านโฮมสเตย์ มาตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๓๘ เริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยว มาแล้วก็ติดใจในธรรมชาติของเกาะกลับมาอีกและบอกต่อกันไป ผู้ใหญ่หรั่งจึงประชุมลูกบ้านหารือกันจัดทำบ้านพักในรูปแบบ โฮมสเตย์เพื่อรับรองนักท่องเที่ยวและเมื่อทดลองทำแล้วก็ทำในรูปแบบของสหกรณ์ จึงไม่เกิดการแย่งลูกค้า แบ่งเฉลี่ยกันไป บ้านโฮมสเตย์หลังใหญ่ที่สุด ดีที่สุดก็น่าจะเป็นบ้านของผู้ใหญ่หรั่ง ซึ่งเมื่อกิจการโฮมสเตย์เจริญมากขึ้น ผู้ใหญ่ก็ปลูกบ้านอีกหลังหนึ่งมี ๙ ห้องนอน สร้างห้องน้ำแบบผสมเป็นห้องน้ำรวม เกือบทุกบ้านมีชานบ้านยื่นออกไปในทะเล นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะหนุ่ม สาวนิยมนอนพัก ปูที่นอนเรียงกันไปบนชานบ้าน ซึ่งจะมีลมพัดเย็นตลอดวัน ตลอดคืน นอนชานบ้านน่าจะราคา ๔๕๐ บาท/คน ส่วนการนอนในห้อง เตียงคู่ พัดลม (ไม่ต้องเปิดก็ได้ ) มีมุ้งขาวสะอาดแขวนไว้ ( ไม่ต้องกางก็ได้ ) เปิดหน้าต่างนอนลมพัดเย็นสบายตลอดคืน
           เมื่อเดินทางมาถึงท่าเรืออ่าวท้องครก โทรบอกบ้านผู้ใหญ่ ส่งเรือมารับ น้ำกำลังขึ้นในตอนบ่าย ไปถึงบ้านผู้ใหญ่ ยังไม่ได้เดินเที่ยว เพราะพอดีใกล้เวลาอาหารกลางวัน แม่บ้านของผู้ใหญ่ เป็นสาวจาก อำเภอเวียงป่าเป้า จ.เชียงราย มาพบรักกับหนุ่มหลังสวน ทำอาหารปักษ์ใต้เก่งมากและใช้วัตถุดิบจากทะเล เช่นปูม้าจับขึ้นมาจากกระชังหน้าบ้าน เวลาจับมาหากพบปูไข่จะยังไม่นำมาประกอบอาหาร จะปล่อยลงกระชังให้ออกไข่เสียก่อนหรือปูตัวเล็กก็เช่นเดียวกัน ส่วนปลาหมึกอาจจะใช้ตกหรือไดปลาหมึกตอนค่ำจะมองเห็นเสาไฟรอบอ่าวเป็นการตามไฟล่อให้ปลาหมึกมาเล่นไฟแล้วใช้อวนล้อมจับ ส่วนปลาหรือกุ้งแชบ๊วยจับในทะเลด้านตะวันออกของเกาะ เช้าขึ้นมาก็จะเอาหมึก เอาปลา เอากุ้งมาส่งขายที่บ้านผู้ใหญ่ หรือบ้านที่จะทำอาหารเลี้ยงนักท่องเที่ยว กุ้ง ปลา ปู หอย จึงสดมาก สดจริงๆ อาหารกลางวันมื้อนี้ คิดราคากันก็เกินราคาค่าที่พักแล้วลองดู
           ปลาราดพริก ใช้ปลาโฉมงาม หรือ ปลาหนวดงามตัวโต ทอดจนครีบกรอบ ๓ รส
           แกงเหลือง รสใต้แท้ แต่แม่ครัวเวียงป่าเป้า ใช้ปลาหัวโพรง
           ปูม้านึ่ง ใส่จานเปลมา ๒ จานใหญ่ๆ มีกระชังที่ใช้เลี้ยงปูอนุบาลในทะเล
           ปลาโอเผา ปลาตัวโต เนื้อนุ่ม จิ้มน้ำปลาพริก
           แกงหมึกไข่ รสหวาน แกงแบบชาวใต้ ใส่น้ำตาลทรายเล็กน้อย
           มื้อนี้ไม่มีกุ้ง ตั้งโต๊ะนั่งกินที่นอกชาน ลมพัดเย็นสบาย มองเห็นหาดท้องครก

           หลังอาหาร ลงเรือหางยาว ไปเที่ยวเกาะครามที่ห่างออกไปเพียง ๑ กม ใครใคร่ลงน้ำชมปะการังแสนสวย หรือชมหอยมือเสือก็ลงตามสบาย จากเกาะครามที่มองไม่เห็นบ้านคน แต่บนเกาะมีต้นมะพร้าวขึ้นเต็ม จากเกาะครามมาชมโขดหินหัวเกาะพิทักษ์ หินก้อนใหญ่มาก ยังกับกำแพง ชมหาดด้านตะวันออกของเกาะ มีบ้านพัก แต่ไม่มีใครมาพัก เพราะพักกันด้านหน้าเกาะกันหมด แต่จะเล่นน้ำต้องมาเล่นน้ำชายหาดด้านนี้ซึ่งมีชายหาดแสนสวย เรือพาอ้อมด้านทิศใต้ของเกาะ และจะมองเห็นทางเดินตัวหนอนรอบเกาะเป็นระยะๆ จนมาผ่านสันทรายซึ่งตอนบ่ายน้ำขึ้นและจะเห็นเสาไฟฟ้าปักข้ามทะเลมายังเกาะ รวมทั้งน้ำประปาก็ต่อท่อมาจากฝั่งหาดท้องครก จึงสะดวกทั้งน้ำและไฟ และระบบน้ำเสียไม่ทิ้งลงทะเล ต่อท่อขึ้นมาทิ้งบนเกาะ
           กลับจากเกาะคราม มานั่งชมทะเล จิบกาแฟที่ตั้งกาน้ำร้อนและวางกาแฟเขาทลุไว้ให้กินได้ตลอดเวลา ใครจะกินสักกี่แก้วก็ได้ กินมากระวังนอนไม่หลับก็แล้วกัน
           ตอนเย็น ไปเดินเล่นทางเดินหลังบ้าน เกือบทุกบ้านจัดเป็นบ้านโฮมสเตย์แทบทุกหลัง วันที่ไปมีนักศึกษาประมาณ ๔๐ คนมาฝึกงานด้านประมง เขาก็จัดเฉลี่ยไปตามบ้านต่างๆ จัดแบบสหกรณ์หักผลประโยชน์เข้ากองกลาง ๓ %เป็นกองทุนของหมู่บ้าน

           บ้านบางหลัง ก็ทำสินค้าของที่ระลึก เช่นนำเปลือกหอยมาทำสัญลักษณ์เกาะพิทักษ์สำหรับติดตู้เย็น ทำกิ๊บติดผม พวงกุญแจ ทำโมบาย เป็นสินค้าโอท๊อปขายในราคาถูกๆ ควรแก่การอุดหนุน บางบ้านก็มี กางเกงเล หรือ ชาวเลมาขาย บางบ้านทำปลาหมึกแดดเดียว ขายดีมากซื้อมาได้ กก.เดียวบอกว่าไม่พอขาย มีเท่าไรนักท่องเที่ยวซื้อหมด อีกอย่างที่น่าซื้ออย่างยิ่งหมดอีก อธิบายคุณสมบัติแล้วอยากกินในมื้อเย็นวันนี้ คือ “ปลาฝังทรายหรือปลาหมกทราย “ ใช้ปลาอินทรีย์ หรือปลากุเลา ปลาจวด ผ่าท้อง เอาเกลือยัด ห่อด้วยกระสอบข้าว แล้วเอาไปฝังทรายไว้ประมาณ ๗ วัน ครบกำหนดไปขุดขึ้นมาล้างน้ำ ผึ่งให้แห้ง แมลงวันจะไม่ตอม พอแห้งหั่นเป็นชิ้นทอดได้เลย ขอซื้อเขามาได้ครึ่งตัวบอกเขาว่าอยากกิน ตอนเช้าเขาให้ไปดูขุดจากหลุมทรายและซื้อได้
           เดินไปจนถึงสะพานท่าเรือที่สร้างด้วยคอนกรีตยื่นลงไปในทะเล มีศาลาประชาคมอยู่เชิงสะพาน เป็นห้องประชุม ห้องอบรมอาชีพต่างๆรวมทั้งเป็นห้องฝึกสอนนักศึกษาที่มาฝึกงานด้วย บางบ้านขายโป๊สการ์ด เสื้อยืดตราเกาะพิทักษ์ แถมเลี้ยงน้ำมะพร้าวอ่อนหวานฉ่ำฟรีเสียอีก บอกมะพร้าวแยะไม่ต้องคิดเงิน
           อาหารเย็น ทะเลล้วน เช่นเดียวกับมื้อกลางวัน เราตื่นเต้น แต่ชาวบ้านเขามองธรรมดาๆของเขา ในอ่าวแยะไป มื้อนี้มี”กุ้งแชบ๊วย “ ตัวโตๆอบจิ้มน้ำจิ้มซีฟู๊ดเด็ดนัก ปูม้านึ่งมาอีก ๒ จานเปล ต้มยำกุ้ง ปลาอินทรีย์ผัดฉ่า ปลาอินทรีย์แดดเดียว “ปลาฝังทราย”หมึกแดดเดียว ซื้อมาได้กก.ละ ๓๕๐ บาทแบ่งมาทอด ผัดเปรี้ยวหวานกุ้งแชบ๊วย
           ตกค่ำหากจะไปดูไดหมึกก็เช่าเรือไป ไม่ได้ไปนั่งที่ชานเรือนดูไฟที่เขาไดหมึก
           รุ่งขึ้นเช้า ต้องรีบตื่นแต่เช้าทั้งที่ไม่อยากตื่น เพราะจะไปเดินสันทรายก่อนที่น้ำจะขึ้นท่วม เดินจากบ้านผู้ใหญ่ไปสัก ๑๐๐ เมตรมีศาลเจ้าพ่อเกาะ และศาลาพักร้อน หาดหน้าศาลา เป็นสันทรายเด่นขึ้นมา มีกรวดโรยที่ธรรมชาติโรยไว้ให้ เมื่อวานตอนเย็นชมพระอาทิตย์ตกสวยเหลือเกิน เช้าวันนี้มองกลับไปหลังเขาบนเกาะเห็นพระอาทิตย์โผล่ขอบฟ้าสวยไม่แพ้อาทิตย์อัสดง เดินเล่นที่สันทรายแล้วกลับมากินอาหารเช้า

           อาหารเช้า ข้าวต้มปลาอินทรีย์ ปลามาส่งกันตอนเช้า สดจริงๆ ปลามีไข่ รสชาติไม่ต้องเติมอะไร นอกจากใครชอบเปรี้ยวมีส้มจี๊ดมาให้บีบแทนน้ำส้ม มีพริกขี้หนูตำ
           กินอาหารเช้ากันที่ระเบียง หันหน้าสู่อ่าวท้องครก ปรากฏว่าโชคดีได้เห็นฝูงปลากระบอก เข้ามาในอ่าว ผู้ใหญ่หรั่งบอกว่า ถ้าจะล้อมจับก็ได้หลายร้อยกก. แต่ไม่มีใครออกไปจับกัน มองเห็นเป็นของธรรมดา ชาวบ้านไม่ตื่นเต้น

           ตอนน้ำลง หาดที่มีหิน กรวดนั้นจะอุดมไปด้วยหอยกะทิ แค่แหวกก้อนหินก็จะได้หอยกะทิ ถ้าตัวเล็ก เรียกว่าลูกกะทิ คล้ายหอยเสียบ
           ถ้าคลื่นลมสงบบางวันจะมีปลาโลมา ว่ายเข้ามาหาปลาดุกทะเลกิน เขาบอกว่านั่งที่ระเบียงบ้านก็มองเห็น ไม่ต้องนั่งเรือออกไป
           
           ชาวบ้านเกาะพิทักษ์ อยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ และช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติ จึงอยู่กันอย่างเป็นสุข อยู่ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง

...............................................................


| บน |