| ย้อนกลับ |

พระบรมมหาราชวัง (๒)

            ผมได้เล่าเรื่อง พระมหาปราสาท และพระราชมณเฑียรสถานเฉพาะในพระบรมมหาราชวัง ให้ทราบเท่าที่พอจะมีความรู้ถ่ายทอดได้ และไม่สามารถให้รายละเอียดได้ทุกองค์ ส่วนใหญ่ผมก็ไม่เคยได้เข้าไปเห็นโดยละเอียด บางองค์เคยเห็น เคยได้ชมแต่ภายนอก บางองค์ได้ความรู้จากหนังสือที่สำนักพระราชวัง จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๗ นำมาถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่านได้ทราบ และบางองค์ก็เคยมีวาสนาได้เข้าไปชมภายใน ไปทั้งแบบที่ได้ตามเสด็จหรือเพื่อรับเสด็จ ในพระราชพิธีไปในฐานะนายทหารราชองค์รักษ์ และนายทหารพิเศษ และครั้งที่เป็นความภูมิใจสูงสุดในชีวิตของการเป็นข้าราชการคือ ครั้งที่ได้เข้ารับพระราชทานสายสะพายชั้นสูงสุด ที่ข้าราชการพึงจะได้รับพระราชทานคือ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก จากองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน ซึ่งโดยปกติแล้วการับพระราชทานสายสะพาย (มี ๔ ชั้น) จะรับพระราชทานที่ศาลาดุสิตาลัย ในพระตำหนักสวนจิตรลดา และพระราชทานโดยพระราชวงศ์ชั้นสูง แต่ในวันที่ผมเข้ารับพระราชทานนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จในพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษา ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๔ และพระราชทานเป็นกรณีพิเศษ เฉพาะนายทหารและนายตำรวจเท่านั้น ผมจำได้ว่าในวันนั้น มีนายพลทหารและนายพลตำรวจเข้ารับพระราชทานรวมกันเพียง ๑๗ คน เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่สุดจะพรรณา
            ผมจึงขอเล่าเพิ่มเฉพาะพระที่นั่งสำคัญ ที่ท่านผู้อ่านสามารถตามไปชมได้ แม้จะเป็นการชมภายนอก ก็ยังดีที่ได้เห็นเป็นบุยตา แต่หากจะขอชมภายในต้องไปเป็นหมู่คณะ (ไม่ทราบว่าจำกัดอย่างน้อย อย่างมากกี่คน) และต้องขออนุญาตล่วงหน้าจากสำนักพระราชวัง ซึ่งสำนักงานก็อยู่ในพระบรมมหาราชวังชั้นกลาง สามารถไปติดต่อได้ (รวมทั้งการไปขอพระราชทานน้ำอาบศพ และขอพระราชทานเพลิงศพด้วย)
            ถ้าเราไปนมัสการพระแก้วมรกต ก่อนที่จะไปชมพระบรมมหาราชวัง (ผมขอแยกเล่าเรื่องของวัดพระแก้วในภายหลัง) ก็เข้าประตูกำแพงด้านข้าง ทิศตะวันออก หรือด้านที่อยู่ตรงข้ามกับกระทรวงกลาโหม บอกอย่างนี้คงเข้าใจง่ายดี ซึ่งหากไปวันหยุดราชการ พอหาที่จอดรถได้แถว ๆ ศาลหลักเมือง เรียกว่าไปเส้นทางนี้ ก็ไหว้ศาลหลักเมืองเสียก่อน แล้วเดินข้ามถนนมายังหน้ากระทรวงกลาโหม ข้ามถนนอีกทีเข้าประตู "สวัสดิโสภา"  ซึ่งเป็นประตูที่เข้าตรงสู่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อเข้าไปแล้วหากเดินไปทางซ้ายของพระอุโบสถ จะมีป้ายชี้บอกให้เลี้ยวซ้ายไปพระบรมมหาราชวัง อีกเส้นทางหนึ่งในการเข้าพระบรมมหาราชวังคือ เข้าทางประตูวิเศษไชยศรี หรือหากเข้าตรงไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ก็เข้าตรงประตูพิมานเทเวศร์ หรือวิมานเทเวศร์ แต่สู้ไปจากหลังพระอุโบสถวัดพระแก้วไม่ได้ จะได้นมัสการและชมความงดงามสุดพรรณาของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เสียก่อน หากไปตามเส้นทางนี้ เมื่อเลี้ยวซ้ายหลังพระอุโบสถไปแล้ว ทางซ้ายมือจะเห็นประตูเข้าไปยังพระมหามณเฑียร แต่ประตูปิดไว้ มีทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ยืนยามอยู่ ผมถ่ายภาพมาได้เฉพาะด้านหน้าคือ ถ่ายด้วยการเอากล้องโผล่เข้าประตูไปได้ภาพมาเท่าที่เห็น ภาพเหล่านี้หาซื้อไม่ได้ คงจะไม่อนุญาตให้ช่างภาพเข้าไป
            พระมหามณเฑียร  เป็นพระที่นั่งหมู่ใหญ่ ประกอบด้วยพระที่นั่ง และหอต่าง ๆ รวม ๗ องค์ ซึ่งผมได้อธิบายไปแล้ว ทีนี้จะเล่าเฉพาะองค์ที่เคยเห็น หรือเคยเข้าไปในพระที่นั่งนั้นคือ
                พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน  สร้างในรัชกาลที่ ๑ พระที่นั่งองค์นี้เป็นพระวิมานที่บรรทมของสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราช เป็นพระที่นั่งองค์ประธานของพระที่นั่ง ในหมู่พระมหามณเฑียร ก่อสร้างในรูปแบบของสถาปัตยกรรมไทย องค์พระที่นั่งก่ออิฐถือปูน สร้างเป็น ๓ องค์แฝด หลังคามุงกระเบื้องเคลือบสี มีช่อฟ้า ใบระกา นาคสดุ้ง และหางหงส์ เป็นเครื่องตกแต่งหน้าบัน ประดับด้วยลายจำหลัก เป็นรูปสมเด็จพระอมรินทราธิราช ประทับอยู่เหนือบุษบกล้อมด้วยลายกระหนกก้านขดนาค
                พระที่นั่งองค์กลางเป็นห้องโถง  มีพระทวารสู่มุขซึ่งเป็นท้องพระโรง ทั้งสองด้าน ผนังภายในพระที่นั่งเขียนภาพ เช่น เรื่องรามเกียรติ์ , ธรรมะเทวบุตร อธรรมะเทวบุตร เป็นต้น
                พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน องค์ทางทิศตะวันออก เป็นพระวิมานที่บรรทมของสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าโดยเฉพาะ มีห้องทรงเครื่อง องค์พระมหากษัตริย์ที่เสด็จทรงราชย์แล้ว แต่ยังมิได้ทรงรับบรมราชาภิเษก จะไม่เสด็จประทับในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเป็นอันขาด แต่เมื่อได้ทรงบรมราชาภิเษกตามระบอบโบราณราชประเพณีแล้ว จึงจะเสด็จประทับได้ โดยจะต้องจัดให้มีการพระราชพิธีเสด็จขึ้นเฉลิมพระราชมณเฑียรต่อเนื่อง ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑- ๒ และ ๓ ประทับ ณ พระที่นั่งองค์นี้เป็นส่วนใหญ่ รัชกาลที่ ๔ ประทับอยู่แต่ทรงรับบรมราชาภิเษกเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๔-๒๔๐๒ แล้ว เสด็จไปประทับ ณ พระอภิเนาวนิเวศน์ ที่ทรงสร้างขึ้นใหม่ ส่วนรัชกาลที่ ๕ ประทับอยู่ตั้งแต่ทรงรับบรมราชาภิเษก  เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๑ - ๒๔๑๖ จึงไปประทับ ณ พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ และพระที่นั่งอื่น ๆ นอกพระบรมมหาราชวัง รัชกาลที่ ๖ เสด็จมาประทับ ณ พระมหามณเฑียรนี้หลายครั้ง และเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานนี้
                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลต่อมา เมื่อเสด็จขึ้นเฉลิมพระราชมณเฑียรแล้ว ประทับแรมอยู่ ๑ ราตรีบ้าง ๓ ราตรีบ้าง พอเป็นมงคลฤกษ์ว่าได้เสด็จเข้าที่พระมหามณเฑียร ตามขัตติยราชประเพณีแล้ว จากนั้นได้เสด็จ ฯ ไปประทับ ณ พระราชมณเฑียร หรือพระราชวังอื่น ๆ
                พระที่นั่งไพศาลทักษิณ  พระที่นั่งองค์นี้ต่อเนื่องกับท้องพระโรงหน้าพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ทางด้านเหนือสร้างทอดยาวจากทิศตะวันตกมีความยาว ๓๕ เมตร กว้าง ๘ เมตร ยกพื้นสูงประมาณ ๒ เมตร ปกติไม่เปิดให้เข้าชม มองเห็นได้จากด้านข้าง ตอนกลางพระที่นั่งทำเป็นคูหา เปิดโล่งมีอัฒจันทร์ (บันได) ทางขึ้นลงตอนกลางและทางเฉลียงชั้นลด ของปีกพระที่นั่งทั้ง ๒ ด้านด้วย หลังคามุงกระเบื้องเคลือบสี มีเครื่องตกแต่งเช่นเดียวกับหลังคามุงกระเบื้อง ที่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน หน้าบันพื้นประดับกระจก ประกอบลายจำหลักเป็นสมเด็จพระอมรินทราธิราช ประทับเหนือวิมานปราสาทสามยอด มีลายกระหนกหลายก้านขดหัวนาค เป็นลายล้อมเช่นเดียวกับหน้าพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ด้านเหนือของพระที่นั่งองค์นี้จะต่อเนื่องกับ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มีพระบัญชรเปิดสู่พระที่นั่งอมรินทร  ฯ รวม ๑๐ ช่อง หากไปชมทั้ง ๓ พระที่นั่ง ก็จะมองเห็นจากนอกกำแพง โดยมองจากประตูเหล็กโปร่งเข้าไป ส่วนพระที่นั่งอมรินทร์ เห็นด้านข้างได้ชัดเจนจากนอกกำแพง พระที่นั่งไพศาลทักษิณแทบจะไม่เห็นอะไรเลย แต่หากไปวันนี้มองไปทางหลังทหารมหาดเล็ก ที่ยืนยาม จะมองเห็นประตูสยามราชกิจ มองผ่านไปประตูเล็กเข้าไป ห่างจากประตูสัก ๒๐ เมตร ทางซ้ายมือ เชิงบันไดขึ้นพระที่นั่งจะมองเห็นต้นขนุนใหญ่ อยู่ต้นหนึ่งอายุประมาณ ๑๔๐ ปีแล้ว ยังออกลูกอยู่ และขนุนต้นนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดมากและได้นำเนื้อเยื่อไปขยายพันธุ์ เป็นผลสำเร็จ แล้วพระราชทานนามขนุนว่า "ไพศาลทักษิณ" ซึ่งในวันพระราชพิธีพืชมงคล หลังจากที่ได้ทำพิธี ณ ท้องสนามหลวงแล้ว จะมาทำพิธีที่นาในพระตำหนักจิตรลดาอีกครั้ง ซึ่งข้าวที่ปลูกในนานี้ จะนำไปให้พระยาแลกนาโปรยหว่าน ที่พระราชพิธีแลกนาขวัญ ชุดเดียวกับที่ทำ ณ สนามหลวง ส่วนข้าราชบริพารชั้นผู้ใหญ่ และเหล่าราชองค์รักษ์ จะได้ตามเสด็จเข้ามายังพระราชพิธีในโครงการส่วนพระองค์ด้วย ซึ่งมีไม่มากนัก ผมได้ตามเสด็จเมื่อ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๑ เมื่อเสร็จพิธีในโครงการส่วนพระองค์แล้ว จะเสด็จไปรับเกษตรกรที่จะมารอเฝ้าจากจังหวัดต่าง ๆ ต่อจากนั้นจะเสด็จไปยังโครงการส่วนพระองค์ เช่น ทอดพระเนตรการทำนมเม็ด การผลิตจากการเกษตรต่าง ๆ และในปีนั้นได้เสด็จนำไปยังกลุ่มขนุน ที่วางไว้หลายต้นสูงประมาณ ๑ เมตรเศษ ๆ  และรับสั่งว่าเป็นขนุนที่เพาะจากเนื้อเยื่อ จะแจกจ่ายให้ไปปลูกกัน ทราบว่าภายหลังพระราชทานให้ทุกจังหวัดนับหมื่นต้น แต่ส่วนมากปลูกแล้วตายหมด เพราะไม่เข้าใจวิธีปลูก พันธุ์ไม้ที่เพาะจากเนื้อเยื่อย่อมอ่อนแอ และไม่มีรากแก้วจะให้แข็งแรง ต้องเอาเม็ดขนุนพันธุ์ที่ไม่จำเป็นต้องเนื้อดี ขอให้เม็ดโต ๆ เข้าไว้ เอาเม็ดไปเพาะ พอโตสักคืบก็ตัดยอดแล้วเอายอดจากขนุนไพศาลทักษิณมาเสียบ ต้นจะแข็งแรงกลายเป็นไม้มีรากแก้ว ออกลูกดกเหมือนขนุนไพศาลทักษิณ ที่ปลูกไว้ในสวนสมเด็จพระนางเจ้า ฯ ที่ติดกับสวนจตุจักร ที่ปลูกไว้หลายสิบต้น ขออภัยที่ออกนอกเรื่องพระราชวังไป เพราะผมก็ปลูกเอาไว้เหมือนกัน ได้กินลูกมาหลายปีแล้ว และตื่นเต้นมาตั้งแต่ได้ฟังพระกระแสร์ รับสั่งด้วยหูของตนเอง และไปเห็นต้นแม่ในพระบรมมหาราชวัง
                พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ประดิษฐานปูชนียวัตถุที่สำคัญ ๓ อย่างคือ
                ที่ตอนกลางองค์พระที่นั่ง ตรงพระทวารเทวราชมเหศวร เป็นพระวิมานประดิษฐาน "พระสยามเทวาธิราช" ซึ่งเป็นปูชนีย์วัตถุที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของชาติ สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๔
                ตรงหน้าพระทวารที่ลงจากหอพระสุราลัยพิมาน ประดิษฐานพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ซึ่งพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า จะประทับรับน้ำอภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
               ตอนหน้าพระทวารที่ลงจากหอพระธาตุมณเฑียร ประดิษฐานพระที่นั่งภัทรบิฐ เป็นที่พระมหากษัตริยาธิราชเจ้า รับพระแสงราชศาสตราวุธและพระแสงอัษฎาวุธ ในพิธีบรมราชาภิเษก
                ปลายรัชกาลที่ ๑ พระองค์ทรงพระชรามากแล้ว มีพระโรคาพาธเบียดเบียน ไม่สามารถเสด็จพระราชดำเนินออกขุนนางในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยได้ แต่ยังทรงห่วงใยราชการแผ่นดินจึงได้เสด็จมาฟังข้อราชการและบรรทม ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เมื่อวันที่ ๗ กันยายน พ.ศ.๒๓๕๒
                พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน  อยู่ต่อเนื่องกับพระที่นั่งไพศาลทักษิณตอนเหนือ ด้านหน้าพระที่นั่งทางตะวันออก มีพระทวารใหญ่เปิดออกสู่ท้องพระโรง ด้านหน้า ๓ บาน ภายในมีพระแท่นมหาเศวตฉัตร และพระที่นั่งบุษบกกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑
                เมื่อชมพระที่นั่งทั้ง ๓ ในหมู่พระราชมณเฑียรแล้ว แม้จะไม่มีโอกาสได้เห็นข้างใน เพียงมองจากข้างนอกก็จะเห็นว่าฝีมือสถาปัตยไทยในสมัยโบราณนั้นสูงส่งประณีต งดงามยิ่งนัก คราวนี้เดินต่อไปเพื่อชมมหาปราสาท ซึ่งองค์สำคัญมี ๒ องค์ อยู่ในหมู่พระมหาปราสาท ซึ่งสร้างแต่ครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช คือ

                พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท  องค์แรกที่สร้างคือ พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท สร้างด้วยเครื่องไม้ ถูกฟ้าผ่ายอดปราสาท เกิดเพลิงไหม้หมดทั้งองค์ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้รื้อแล้วสร้างขึ้นใหม่ ณ ที่เดิม คือในเขตพระราชฐานชั้นกลาง (เดินชมผ่านด้านหน้าได้) พระราชทานนามว่าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นปราสาทจตุรมุข มุขทั้ง ๔ มีขนาดเท่ากัน องค์พระที่นั่งก่ออิฐถือปูน ยอดเป็นเครื่องไม้ทรงมณฑปซ้อน ๗ ชั้น ภายในพระที่นั่งองค์นี้ มีศิลปวัตถุชิ้นเอกสมัยรัชกาลที่ ๑ อยู่ ๒ ชิ้น คือ พระแท่นราชบัลลังก์ประดับมุก ซึ่งเป็นพระราชบัลลังก์ประจำพระมหาปราสาท ประดิษฐานอยู่ตรงกลางพระที่นั่ง และพระแท่นบรรจถรณ์ประดับมุก พระแท่นบรรทมของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตั้งอยู่ทางด้านมุขตะวันออก
                พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทนี้ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพสมเด็จพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระอัครมเหสี ตลอดจนตั้งพระศพสมเด็จพระบรมวงศ์บางพระองค์เช่น สมเด็จพระศรีนครินทราพระบรมราชชนนี ระหว่างไม่มีพระบรมศพใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชกุศล รัชกาลที่ ๓ เคยโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นที่ชุมนุมสงฆ์ในคราวทำสังคายนาพระไตรปิฎก
                พระที่นั่งพิมานรัตยา  สร้างต่อจากมุขกระสันพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทอดยาวไปทางทิศใต้ พระที่นั่งนี้เคยเป็นพระวิมานที่บรรทมของพระมหากษัตริย์ ในโอกาสที่เสด็จมาประทับยังหมู่มหาปราสาท รัชกาลที่ ๓ มาประทับเป็นเวลา ๑ ปี ในคราวบูรณะหมู่พระมหามณเฑียร
                รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้า ฯ ให้เป็นที่สรงน้ำพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี
                เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จสวรรคต ก็โปรดเกล้า ฯ ให้สรงน้ำพระบรมศพ ณ พระทีนั่งพิมานรัถยานี้
                หากเดินต่อไปผ่านพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทไปแล้ว ก็จะถึงพระราชมณเฑียรสถาน หมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นพระราชมณเฑียรหมู่ใหญ่ ไปยืนชมภายนอกได้อย่างใกล้ชิด รวมทั้งถ่ายภาพได้ด้วย ประตูที่เข้าจากภายนอกตรงเข้ามาเลยคือ ประตูพิมานชัยศรี จะตรงกับพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และสถานที่ราชการของสำนักพระราชวังหลายแห่ง จะอยู่ตรงข้ามกับพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทนี้ เช่น ศาลาว่าการสำนักพระราชวัง ติดศาลาว่าการคือ สำนักราชเลขา ด้านหลังสำนักราชเลขาคือ สำนักพระราชวัง พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จึงอยู่ติดกับพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หากเดินมาถึงหน้าพระที่นั่งแห่งนี้ ถ้าพอดีเมื่อยขอแนะนำว่า เยื่องพระที่นั่ง  ฯ มีศาลานั่งพักลมพัดเย็นสบาย

                พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท  พระที่นั่งองค์นี้ สร้างขึ้นในแบบสถาปัตยกรรมผสมผสาน องค์พระที่นั่งสร้างในแบบสถาปัตยกรรมยุโรป สมัยสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิคตอเรีย แต่หลังคาสร้างในแบบสถาปัตยกรรมไทย เป็นหลังคายอดปราสาท ๓ ยอด เรียงกันจากด้านตะวันออกไปยังด้านตะวันตก เป็นอาคารรูปตัว T สร้างเป็นอาคาร ๓ ชั้น องค์พระที่นั่งด้านหน้าแบ่งเป็น ๕ ตอน สามตอนจะมีหลังคาเป็นยอดปราสาท องค์กลางเรียกว่า "พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทองค์กลาง" ส่วนองค์ริม ๒ ข้าง เรียก "พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทองค์ตะวันออก และองค์ตะวันตก พระที่นั่งองค์กลางเป็นพระที่นั่ง ๓ ชั้น ชั้นบนเป็นหอพระบรมอัฐิ ของรัชกาลที่ ๔,๕,๖,๗ และ ๘
                   ชั้นกลาง  เป็นท้องพระโรงหน้า
                   ชั้นล่าง  เป็นกองรักษาการณ์ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์
                   พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทองค์ตะวันออก ชั้นบน เป็นหอประดิษฐานปูชนียวัตถุของ สมเด็จพระมหากษัตริยาราชเจ้า ชั้นกลาง รัชกาลที่ ๕ โปรดเรียกว่า "ห้องไปรเวต" ชั้นล่างเป็นห้องพักแขก เดิมสมัย ร.๕ เป็นห้องสำหรับราชองค์รักษ์
                   พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทองค์ตะวันตก ชั้นบนเป็นหอประดิษฐานพระอัฐิพระมเหสี และอัฐิพระบรมวงศ์ในสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ชั้นกลาง เป็นห้องรับแขก ในสมัย ร.๕ จัดเป็น "ออฟฟิตหลวง" ร.๗ โปรดเกล้า ฯ ให้ใช้ห้องนี้เป็นห้องเฝ้า ฯ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี ชั้นล่าง เป็นห้องสมุด
                พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท  เตรียมการก่อสร้างมาตั้งแต่ปลายปี ๒๔๑๘ วางศิลาฤกษ์ในปี ๒๔๑๙  โปรดเกล้า ฯ ให้มีพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๕

                พระที่นั่งบรมพิมาน ร.๕ โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างเตรียมเป็นที่ประทับของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (รัชกาลที่ ๖) ซึ่งไปศึกษาต่างประเทศ นามเดิม พระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ และรัชกาลที่ ๖ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนเป็น พระที่นั่งบรมพิมาน
                รัชกาลที่ ๗ ได้เคยมาประทับพระที่นั่งองค์นี้ ก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จนิวัติพระนครในปี พ.ศ.๒๔๘๙ ก็เสด็จมาประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน พร้อมด้วยสมเด็จพระราชชนนี และสมเด็จพระอนุชาธิราช (รัชกาลที่ ๙) และรัชกาลที่ ๘ เสด็จสู่สวรรคต ณ พระที่นั่งบรมพิมาน เมื่อ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙
                ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระอนุชาธิราช กราบบังคลทูลเชิญเสด็จขึ้นทรงราชย์ สืบพระราชสันตติวงศ์ แทนสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ณ พระที่นั่งบรมพิมาน

                หากเดินผ่านพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ไปจนสุดทางแล้วจะมี พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม อยู่ทางขวา (เข้าชมฟรี) สุดทางคือ ร้านขนม เครื่องดื่ม ไอศครีมที่ศาลาอรรถวิจารณ์ศาลา (มีห้องสุขา) ติดกันคือ โรงปืนใหญ่โบราณ ในพระบรมมหาราชวัง มีจำนวน ๑๑๕ กระบอก
                ถนนที่เลียบกำแพงวัง จากศาลหลักเมืองไปยังท่าช้างวังหลวงคือ ถนนหน้าพระลาน ฝั่งซ้ายของถนนคือ กำแพงพระบรมมหาราชวัง (มีประตูกำแพง ๓ ประตู) ทางฝั่งขวามีร้านอาหารหลายร้าน ร้านที่เก่าแก่ที่สุดได้เล่าไปแล้ว อยู่ติดกับประตูเข้า ม.ศิลปากร และยังมีร้านเก่าแก่อีกหลายร้าน ตรงข้ามประตูวิเศษไชยศรี หากเราข้ามถนนมาหลังจากชมพระบรมมหาราชวัง ข้ามมาแล้วเลี้ยวซ้ายไปสัก ๑๐ เมตร จะมีร้านอาหารเก่า ๆ อยู่ ๒ ร้าน ร้านที่ชิมวันนี้ เป็นร้านห้องเดียวมีที่ว่างไม่มากนัก มีโต๊ะสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ แต่นั่งได้โต๊ะละ ๔ คน มีเพียง ๕ โต๊ะ และตั้งหน้าร้านมีเก้าอี้ ๒ ตัว อีก ๑ โต๊ะ ร้านแบบนี้ฝรั่งเข้ามากกว่าคนไทย แล้วมากินอาหารแบบคนฝรั่งกิน เช่นมา ๔ คน สั่งอาหารคนละอย่าง ข้าวคนละจาน แบ่งเอาข้าวเทลงไปในจานกับข้าวแล้วกินไปด้วยกัน พอข้าวสวยพร่องก็เติมข้าวไปใหม่ ไม่อิ่มสั่งข้าวมาเพิ่ม แต่ฝรั่งพวกเคยมาเที่ยว มากินเมืองไทย กินแบบไทย เอากับข้าว ๔ จานวางกลาง ส่วนจานข้าววางตรงหน้า ได้กินกับข้าว ๔ อย่าง
                อาหารร้านนี้ถือว่า อร่อยทีเดียว เข้ากับบรรยากาศมาเที่ยววัด เที่ยววังไม่ต้องไปหากินไกล อิ่มแล้วไปซื้อกล้วยแขกแถว ๆ หน้าร้าน หรือเลยไปหาขนมแถวท่าช้าง วังหลังเบอร์เกอร์รี่ ขนมที่ทำกันสด ๆ อร่อยมาก โดยเฉพาะพิชซ่า ที่ทำไส้ชุ่มฉ่ำไม่เหมือนใคร ย่านท่าช้างมี ข้าวแกงไทย ,อิสลาม
                สั่งอาหาร ร้าน ช.ประทุมทอง ๐๒ ๒๒๑ ๓๕๕๖
                ปูนิ่มทอดกระเทียมพริกไทย จานนี้แพงกว่าเพื่อน ๑๕๐ บาท ทอดไม่เหมือนใคร กรอบนุ่ม อมรสหวานนิดไว้ในตัว จบแล้วไม่เหลืออะไรไว้ให้ชมในจานเลย
                สะโพกไก่ตะไคร้ ตะไคร้ฉีกทอด ทอดแล้วกรอบนอกนุ่มใน มีรสในตัวแนมด้วยแตงกวา
                ต้มข่าไก่ ใส่ชามยกมาร้อน ๆ ไก่หั่นมาเป็นชิ้น สีเนื้อขาวน่ากิน ซดตอนร้อน ๆ ชื่นใจดีนัก
                ห่อหมกโบราณ นึกไม่ออกว่าโบราณตรงไหน รู้อย่างเดียวว่าอร่อย

........................................................


| ย้อนกลับ | บน |