สามชุก

            อำเภอสามชุก กำลังพยายามประชาสัมพันธ์ตลาดของเขา  ที่มีอายุครบร้อยปีในปี ๒๕๔๘  นี้ เพราะตลาดกำลังซบเซาลงไปให้กลับครึกครื้นเหมือนในอดีต  ผมไปเที่ยวแล้วก็ติดใจ ไปแล้วอยากไปอีกชั่วเวลาไม่ถึงสามเดือน ผมไปตลาดสามชุก ตลาดร้อยปีมาสามครั้งแล้ว  ไปครั้งแรกและครั้งที่สามไปพักค้างคืนที่สุพรรณบุรี และเลยไปเที่ยวบึงฉวาก ที่เคยไปมาแล้วหลายครั้งไปเห็นการพัฒนาที่ก้าวไปไกลควรแก่การส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นอย่างยิ่ง เลยได้ฤกษ์นำมาเล่าให้ทราบ อาจจะช้าไปหน่อย เพราะผมไปครั้งแรก ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๕๔๘ และไปครั้งที่สามเมื่อเดือนสิงหาคม ตอนปลายเดือน แต่ระยะนี้เดินทางมาก เดินทางติดต่อกัน เอาเรื่องมาเล่าไม่ทัน  ยังไม่ทันจะเล่าเรื่องที่ไปมาก็ไปใหม่อีกแล้ว  เช่นอีก ๒ - ๓ วันผมก็จะไปพัทยา เพราะตั้งแต่ได้รับการยกย่องจากกระทรวงสาธารณสุข และสมาคมภัตตาคารไทย ให้เป็นยอดนักชิม - ฑูตสร้างสรรค์ปีอาหารปลอดภัย รู้สึกว่าจะได้งานทำเพิ่มขึ้นอีกแยะเลยทีเดียว  คราวนี้เขามีการแข่งขันแรลลี่ เขาขอให้ผู้ที่เป็นยอดนักชิม ได้ส่งทีมเข้าแข่งขันแรลลี่ ไปจังหวัดระยองร่วมกับเขาด้วย และขอให้นักชิมหาร้านอาหารกลางวันที่พัทยาให้เขาสัก ๑ ร้าน เพื่อยกทีมแรลลี่ไปชิมกันในมื้อกลางวัน ของวันที่แข่งขัน  กว่าท่านจะอ่านผลการแข่งขันก็ออกมาเรียบร้อยแล้ว ผมเลยต้องไปพัทยาไปก่อนวันแข่งขัน เพื่อไปสำรวจร้านอาหารที่จะพาเขาไปชิมกันว่ายังอยู่ดีหรือไม่  ยังอร่อยเหมือนเดิมหรือเปล่า และผลพลอยได้ของผมคือ ไปคราวนี้จะถือโอกาสไปปราสาทสัจธรรมที่พัทยา  ที่อยู่ในเครือของเมืองโบราณและสร้างมาตั้ง ๒๐ ปีแล้ว ยังไม่เสร็จสมบูรณ์สักที  เป็นปราสาทที่สร้างด้วยไม้ทั้งหลังไม่ใช้แม้แต่ตะปู และสูงตั้งร้อยเมตร
            เส้นทาง เพื่อไปยังตลาดสามชุก  ผมออกจากบ้านที่ลาดพร้าวไปออกถนนงามวงค์วาน แล้ววิ่งตรงไปข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงต่อไปจนบรรจบกับถนนสาย บางบัวทอง - สุพรรณบุรี  จากนั้นก็เลี้ยวขวา (ความจริงเลี้ยวซ้ายขึ้นสะพาน)  จากนั้นก็วิ่งตรงเรื่อยไปจนถึงประมาณ กม.๔๘  จะมีทางแยกขวาออกไปยังบางปะอิน ส่วนตรง กม. ๒๘ คือ ร้านอาหารอร่อย อยู่ทางขวามือ  ตรงทางแยกระวังให้ดี ๆ เผลอ ๆ แยกขวาไปละก็จะไปโผล่เอาเส้นทางไปบางปะอิน  ต้องตรงมาหรือเฉียงซ้ายนิด ๆ จะเข้าถนนสาย ๓๔๐  ทีนี้จะวิ่งกันยาวไปเลยทีเดียว เพราะสาย ๓๔๐  นี้จะไปได้จนถึงจังหวัดชัยนาท
            เมื่อเข้าสาย ๓๔๐ แล้ว  ก่อนถึงสุพรรณบุรีสัก ๑๑ กม.  มีทางแยกซ้ายไปอำเภอบางปลาม้า  หากเลี้ยวซ้ายไปสัก ๑๐๐ เมตร ร้านกุ้งทอดเกลืออร่อย เลยทางแยกไปแล้วเจอทางแยกอีก หากเลี้ยวซ้ายเข้าวัดโพธ์คอย ที่มีรูปปั้นของพระพี่นางสุพรรณกัลยา แต่ไปตั้งเอาไว้ในอุโบสถใกล้ ๆ กับองค์พระประธานของโบสถ์
            ส่วนทางขวาของทางแยกเข้าวัดโพธ์คอย  จะเห็นชลอมขนาดเมืองยักษ์ ตั้งอยู่ริมถนนตรงจุดนี้คือ  "ศูนย์ของดีเมืองสุพรรณ"  ควรแวะตอนขากลับจะได้ซื้อของฝาก ของกินขนกันมาให้เต็มคันรถ  แต่หากไปตลาดสามชุกแล้วรถก็จะเต็มเสีย ตั้งแต่ออกจากสามชุกแล้ว เพราะสินค้าน่าซื้อทั้งนั้น ศูนย์ของดีเมืองสุพรรณ ตรงชลอมยักษ์ตั้งอยู่นี้ยังมีอาคารถาวรน้อย แต่ของขายก็มากมี ปลาสลิดดอนกำยาน ขายอยู่เจ้าเดียว ตรงปากทางออก และของดีเมืองสุพรรณเดี๋ยวนี้มีร้านใหญ่ ๆ ออกมาตั้งขายริมถนนกันหลายร้านแล้ว
            พอเข้าเขตตัวเมืองจะเห็นความสะอาด ความงดงามของถนน และเกาะกลางถนน ผมเคยเขียนยกย่องว่าเป็นฝีมือของเทศบาลสุพรรณบุรี  ปรากฎว่าโดนนายช่างการทางต่อว่ามาบอกว่า เป็นฝีมือของเขตการทางสุพรรณบุรี ไม่ใช่เทศบาล หากมีการประกวดถนนในเขตอำเภอเมืองกันละก็ ผมว่าอำเภอเมืองสุพรรณบุรีเอาไปกินขาดเลยทีเดียว เมื่อเลยจากเขตอำเภอเมืองไปแล้วก็จะเข้าเขตอำเภอศรีประจันต์  ซึ่งหากแยกขวาจะไปยังหมู่บ้านควายไทย ที่น่าไปชม  เพราะมีให้ดูหลายอย่างไม่ใช่ไปชมควายอย่างเดียว ส่วนแยกซ้ายก็เข้าตัวอำเภอศรีประจันต์ และต่อไปยังอำเภอดอนเจดีย์ ซึ่งที่อำเภอนี้คือ ที่ตั้งของพระบรมราชานุสาวรีย์ยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

            จากศรีประจันต์ต่อไปอีกจนถึง กม. ๑๒๘  พอดีเลยทีเดียว ทางซ้ายมือคือร้านอาหารที่อยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ร้านกว้างขวางใหญ่โต  และที่หน้าร้านเขียนไว้ตัวโตเลยทีเดียว ว่าได้  Clean Food Good Taste  ผมแวะชิมอาหารร้านนี้ ๒ ครั้งแล้ว เข้าขั้นได้มาตรฐานอร่อยจริงสมกับยกป้าย ของกระทรวงสาธารณสุขเอาไว้ อาหารอร่อยขอแนะเอาไว้เสียเลย ร้านนี้มาฟาร์มเลี้ยงกุ้งของตัวเอง  อาหารจานกุ้งจึงมาก และราคาย่อมเยา กุ้งเลี้ยงน้ำจืด กก.ละเพียง ๓๐๐ บาท และเลี้ยงได้ดี เพราะกุ้งเนื้อแน่นราวกับกุ้งแม่น้ำ แวะชิมก็สั่งอาหารกุ้งมากินกันให้สะใจไปเลย ต้องสั่งกันทีละ กก. เช่นผมไปวันแรกแค่ ๒ คน สั่งกุ้งมา ๑ กก. ให้ทอดเกลือ  ให้ต้มยำ แล้วก็สั่ง กุ้งเผามาอีก ครึ่ง กก. กุ้งหลน  แกงป่ากุ้ง รายการกุ้งกินกุ้งกันให้หายอยาก สุขาร้านนี้ก็สะอาดมากและเป็นสากลตามมาตรฐานเลยทีเดียว
            จาก กม.๑๒๘  วิ่งต่อไปอีก ๒ กม. ตรงหลัก กม.๑๓๐  ก็จะถึงสี่แยกให้เลี้ยวซ้ายเพื่อเข้าตัวอำเภอสามชุก เลี้ยวไปแล้วก็จะข้ามสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน ลงสะพานแล้วให้เลี้ยวขวา เลี้ยวไปสัก ๑๐๐ เมตร มีทางแยกขวา ให้เลี้ยวขวา (ตรงไปห้ามเข้า)  วิ่งไปชนหลังที่ว่าการอำเภอสามชุก ให้อ้อมทางขวาไปจอดหน้าที่ว่าการอำเภอที่อยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ที่ผมบอกให้ละเอียด เพราะไม่อยากให้เหมือนผมไปครั้งแรกนึกไม่ถึงว่า ถนนแคบ ๆ ข้างอำเภอจะไปจอดรถหน้าอำเภอได้ หน้าอำเภอมีลานจอดรถกว้างขวาง พอประมาณตอนเที่ยง ๆ หน้าอำเภอมีของขาย แต่อาจจะไม่มีขายทุกวัน แต่วันหยุดมีแน่  คีอ มีแผงมาตั้งขายอาหารกันมากมายหลายแผง เช่น พวกอาหารจากปลา ปลาแห้ง ปลาเค็ม เป็นต้น มีอยู่เจ้าหนึ่งทางซ้ายของทางออกจากลานขายพวกหอย  เช่น หอยแมลงภู่ หอยหลอด ทอดแล้วคลุกน้ำตาลอร่อยอย่าบอกใครเชียว กินเล่น กินจริง กินกับข้าวต้ม อร่อยหมด

            เดินออกจากลานจอดรถจะเป็นซอยแคบ ๆ อยู่ติดรั้วอำเภอ ชื่อซอย ๑ หากเลี้ยวขวาจะมายังสะพานคนเดิน และรถมอเตอร์ไซค์ข้ามได้แม่น้ำท่าจีน ไปยังตลาดอีกฝั่งหนึ่ง  แต่ไม่เก่าแก่ร้อยปี เหมือนฝั่งอำเภอ ขึ้นไปบนกลางสะพานถ่ายภาพแม่น้ำท่าจีน และภาพหลังตลาดเก่าสามชุกอายุร้อยปีงามนัก  ทางสามชุกเขาสร้างทางเดินเป็นสะพานคอนกรีต ไว้หลังตลาดให้เดินเลียบแม่น้ำได้ สร้างกันในน้ำเลยทีเดียว สวยดีแต่ไม่รู้ว่าจะทำลายบรรยากาศร้อยปี ของตลาดสามชุกหรือเปล่า
            ลงจากสะพานเพื่อกลับเข้าตลาด  ทางขวาของสะพานเมื่อเดินลงมาจะผ่านร้านอร่อย ซื้อใส่กล่องกลับมาได้ และ ยำก๋วยเตี๋ยวบก ถัดมาคือ แผลงขายเป็ดพะโล้  ไก่พะโล้  ร้านนี้คนก็มุงกันแน่นเพื่อซื้อกลับมา เพราะไม่มีที่นั่งให้นั่งกินได้  ติดกับเป็ดพะโล้คือ แผงขายขนมหวาน ใครไม่กลัวน้ำตาลขึ้นละก็ซื้อเข้าไปเถอะอร่อย ๆ ทั้งนั้น หอม หวานจับใจเลยทีเดียว ขนาดผมคนกลัวความหวานยังอดใจไว้ไม่ได้ต้องซื้อหอบกลับมา  ถัดไปติดกันกับแผงขนมหวาน คือ ร้านขายปลาสลิด ปลาทำเค็มทั้งหลายค่อนข้างสดแบบปลาแดดเดียว คงจะขายดีไม่ต้องเหลือกลับเอาไปตาก  ซื้อแล้วกลับมาถึงบ้านต้องเอาเข้าตู้เย็นเอาไว้ จะได้เก็บเอาไว้นาน ๆ
            ผมได้บอกแล้วว่า ซอยข้างอำเภอที่รถยนต์วิ่งไม่ได้นี้คือ ซอย ๑  และหากเลี้ยวขวาเมื่อเรากลับลงมาจากสะพาน ก็จะกลายเป็นถนนชื่อ ถนนเลียบนที  รถวิ่งไม่ได้อีกเช่นกัน ถนนคงจะไม่กว้างกว่าซอย ๑  และถนนสายนี้คือ สายหลักของตลาดสามชุกในอดีต  และได้แบ่งออกเป็นซอยต่าง ๆ อีก ๓ ซอย  คือ ๒,๓ และ ๔  แต่ละซอยล้วนมีร้านค้าเก่าแก่อยู่ในย่านสี่ซอยนี้ทั้งสิ้น
            ซอย ๑  มีร้านนาฬิกาโบราณ ชื่อร้าน รัชพร  อีกร้านชื่อ ร้านบุญช่วยหัตถกิจ ที่ผมบอกมานี้จะเป็นร้านโบราณเก่าแก่ของตลาดสามชุก และมีอีกหลายร้านอยู่ติด ๆ กันแต่ไม่ใช่ร้านโบราณ พอเลยร้านบุญช่วยหัตถกิจมาแล้ว ก็จะมาถึงตรงร้านหัวมุม ร้านนี้เป็นร้านสำคัญทีเดียว เป็นแหล่งข่าวชั้นดี สงสัยอะไรก็ถามได้รู้เรื่องหมด และชาวสามชุกจะนั่งกันเต็ม โดยเฉพาะคอกาแฟสูงอายุ   ในยุคปัจจุบันยังชงกาแฟด้วยถุงนมยายด้วยตนเอง ฝีมือกาแฟนั้นยอดนัก จะให้ดีพอไปถึงขึ้นสะพานไปชมแม่น้ำท่าจีน ถ่ายรูปเดินให้เหงื่อซึม ๆ ลงมา ก็เข้าร้านกาแฟเสียก่อน คอกาแฟต้องสั่งกาแฟร้อน ใส่นมข้น ชงด้วยถุงนมยาย จบแล้วตามด้วยกาแฟเย็น หรือโอเลี้ยงจึงจะสะใจ  หน้าร้านด้านถนนเลียบนที มีใส้กรอกปิ้งขายอยู่น่ากิน และมีแผงของกินอีกหลายแผง  แต่ที่ชวนชิมคือ ด้านหน้าร้านกาแฟติดซอย ๑ ขายตั้งแต่สาย ๆ ต้องรีบซื้อด้วย หรือสั่งเอาไว้จ่ายสตางค์เลยไม่งั้น บ่าย หมด คือ หมูย่าง หมูกรอบ ซี่โครงหมูย่าง น่ากินเหลือประมาณ พอเที่ยงจะเพิ่มร้านขนมหวานในหม้อแขกวางอยู่เต็ม สั่งขนมแล้ว ยืนกินก็ได้ เพราะเขาไม่มีที่ให้นั่ง หรือนั่งในร้านกาแฟ สั่งโอเลี้ยงแล้วสั่งขนมมาด้วย มาชิมหลังอาหารกลางวันแล้ว ผมนับหม้อใส่ขนมได้ ๑๗ หม้อ เช่น ลูกเดือย ข้าวฟ่าง ข้าวโพดเปียก ข้าวเหนียวน้ำกะทิทุเรียน สารพัดขนมนับได้ ๑๗ หม้อก็แล้วกัน อาจจะตาลายนับของเขาไม่หมดก็ได้
            เป็ดย่าง ชาวตลาดเขารับรองความอร่อย ผมไม่ได้ชิมสักที ไปคราวแรกยังไม่ถึงเวลาออกขายคือบ่ายโมง คราวหลังหยุดเทศกาล  อีกคราวไปก่อนเวลาอีก เป็นสูตรดั้งเดิมเนื้อไม่เหนียว พร้อมน้ำจิ้มรสเด็ด วางแผงขายตรงทางเข้าถนนเลียบ ที่หน้าร้านกาแฟท่าเรือส่ง ติดกับปลาสลิดที่แนะนำไปแล้ว  น้ำพริกอร่อยนัก เครื่องปรุงจัดสรรมาเป็นอย่างดีไม่ว่าหอม กระเทียม พริกซื้อมาทำแกงทำผัดอร่อยหมด ร้านนี้มองดูก็รู้ในเรื่องความสะอาดและแถมด้วยรสชาติอร่อยต้องซื้อกลับไปปรุงที่บ้าน และยังมีของดีอีกหากินยากด้วย อร่อยแถบนี้ต้องไปซื้อที่ตลาดอำเภอวิเศษชัยชาญ แต่ที่สามชุกก็มีอยู่ที่แผงน้ำพริกนี่แหละ คือ "ขนมกง" ขนมโบราณ
ใกล้ ๆ กันกับน้ำพริก คือบะหมี่ เป็นร้านบะหมี่ที่ทำเส้นเอง รวมทั้งหมูแดงด้วย บอกว่าเปิดขายมากว่า ๗๐ ปีแล้ว เกี๊ยวหมูของเขาก็อร่อยมีสูตรเด็ด เส้นบะหมี่เส้นเล็กแต่เหนียว
            ร้านอยู่เยื้องซอย ๒  ซอยสำคัญเพราะพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ในซอยนี้ เลยปากซอยไปนิดหนึ่งออกขายเฉพาะวันหยุดคือรถเข็นขาย "กะลอจี๊" อร่อยขนาดหนักเลยทีเดียว บอกว่าปกติขายข้าวต้มอยู่ข้างนอกตอนเย็นยังไม่มีโอกาสได้ไปชิม วันหยุดจึงจะมาขายกะลอจี๊ ขายกล่องละสิบบาทเท่านั้น อร่อยอย่างนี้หากินยาก ปกติหากะลอจี๊ก็หากินยากอยู่แล้ว แต่จะหาหวานอ่อน ๆ นุ่มเหนียวโรยงาหอมอย่างนี้หายากจริง ๆ  เยื้องกะลอจี๊คือทางเข้าซอย ๒ ต้องเข้าไปให้ได้ ไปก่อนยิ่งดี เรียกว่าลงจากสะพานมาก็มาที่นี่เลยคือ พิพิธภัณฑ์ ปากซอยคือแผงขายขนมไข่สูตรโบราณ

           พิพิธภัณฑ์ "บ้านขุนจำนงจีนารักษ์" ทายาทของท่านขุน ได้ยกบ้านซึ่งเป็นบ้านสามชั้นของท่านขุนจำนง ฯ ทำเป็นพิพิธภัณฑ์ให้เข้าชมได้ฟรี ตั้งตู้เอาไว้รับการบริจาค สุดแล้วแต่ผู้เข้าชมจะบริจาคเท่าใดไม่บังคับกัน ถามเจ้าหน้าที่ก็คือชาวบ้านที่หมุนเวียนกันมาทำหน้าที่ดูแล และคอยอธิบาย ทราบว่าเงินบริจาค พอช่วยให้พิพิธภัณฑ์นี้เลี้ยงตัวได้ เมื่อเข้าชมก็สมควรบริจาคช่วยค่าใช้จ่าย ผมถึงบอกว่าเมื่อไปถึง ขึ้นสะพานชมแม่น้ำแล้วควรมาที่ซอย ๒ มาหาความรู้จากพิพิธภัณฑ์เสียก่อน แล้วจึงค่อยตั้งหน้าตั้งตาหากิน ของฝากของอร่อย ๆ แยะเหลือเกิน
            โบรชัวร์ของตลาดสามชุกอยู่ที่เสาในห้องแรกหยิบมาก่อนหนึ่งใบ เอาไว้ตระเวนหาของกินหรืออื่น ๆ เพิ่มเติมจากที่ผมบอกเพราะผมไม่ได้บอกทั้งหมด เลือกบอกที่ชิมแล้วว่าอร่อย
            ประวัติ อดีตเมืองสามชุกตั้งขึ้นในแผ่นดินรัชกาลที่ ๕ พ.ศ.๒๔๓๗ เดิมชื่ออำเภอนางบวช ตั้งบริเวณ ต.นางบวช ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๖ พ.ศ.๒๔๕๗ ได้ย้ายอำเภอมาบ้านสำเพ็ง ซึ่งเป็นย่านการค้าสำคัญในสมัยนั้น ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๑ สมัยรัชกาลที่ ๘ เปลี่ยนชื่อจากอำเภอนางบวช มาเป็นอำเภอสามชุก ย้ายมาอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน หรือเรียกว่า แม่น้ำสุพรรณ (เฉพาะตอนที่ผ่านบางอำเภอของสุพรรณบุรี) เดิมบริเวณอำเภอเรียกว่า ท่ายาง ต่อมาชาวบ้านนำของป่ามาขาย เอามาจากทางตะวันตก เอามาขายพ่อค้าชาวเรือบ้าง ก็มาจากเหนือ มาจากใต้ เป็น ๓ สาย จึงเรียกบริเวณค้าขายว่า สามแพร่ง  เพี้ยนเป็นสามเผ็ง และสำเพ็ง ในอดีตเป็นแหล่งค้าขายของป่า ขายเกลือ ฝ้าย แร่ สมุนไพร  ระหว่างที่รอขายสินค้า ก็ไม่ปล่อยให้เวลาว่าง ได้นำไม้ไผ่มาสานเป็นภาชนะใส่ของขาย เรียกว่า กระชุก ชาวบ้านจึงเรียกว่า สามชุก
            ต่อมาแผ่นดินริมแม่น้ำสุพรรณ เป็นแหล่งทำนาที่อุดมสมบูรณ์ มีโรงสีเกิดขึ้น มีตลาดค้าข้าวค้าขายกันคึกคัก มีการเก็บภาษี จึงตั้งนายอากรคนแรกขึ้นคือ ขุนจำนงจีนารักษ์ เป็นนายอากรคนแรก ขุนจำนงมีชีวิตอยู่จนถึง พ.ศ.๒๕๑๗ เมื่ออายุได้ ๘๓ ปี  ขอบอกเพิ่มเติมสำหรับคนสูงอายุ คนพิการ คนอ้วนรวมทั้งสาวมีท้อง และไกด์ที่พาฝรั่งมาเที่ยว ชั้นล่างของพิพิธภัณฑ์มีที่ปัสสาวะชาย และหญิง แต่ที่ชั้น ๒ แอบ ๆ อยู่สักหน่อยมีสุขาที่เป็นสากล แต่มีคำว่า สุขา บอกไว้ใต้สวิตช์ไฟ
            เอกสารมีขายที่ร้านตรงข้ามกับพิพิธภัณฑ์พร้อมด้วยภาพถ่าย รูปวาดที่วาดจากจินตนาการว่าตลาดร้อยปีเมื่อก่อนเป็นอย่างไร ผมซื้อหนังสือมา ๒ เล่มชื่อเส้นทางสู่สามชุก เมืองน่าอยู่  กับอีกเล่มเกี่ยวกับอาหารการกิน  ขอให้ไปชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ให้ได้ก ่อนที่จะเดินตระเวนสำรวจ
            ซอย ๓  เป็นอีกร้านหนึ่งที่ผมชอบแวะ ร้านนี้ขายเครื่องยาจีนเอามากินแล้วได้ผลดี ในการลดน้ำตาล เขาบอกว่ารักษาคนเป็นโรคเบาหวานได้ ผมนักชิมเลยซื้อมาลองต้มดูกินน้อยกว่าที่เขาบอกหน่อย เพราะผมไม่ได้เป็นเบาหวาน ผมกินวันละ ๒ ครั้ง  ก่อนอาหารเช้า เย็น คนเป็นเบาหวานต้องกินมากกว่านี้ ร้านขายยาในซอย ๓ คือ ร้านนายยาจีน บอกเขาว่าซื้อยาแก้เบาหวาน ราคาชุดละ ๓๐ บาท ผมซื้อทีละ ๔ ชุด  ต้มกันนานกว่ายาจะจืดเป็นยาต้ม ส่วนอีกขนานหนึ่งที่ชอบใจมากคือ ยาลดไขมันเอามากินก่อนนอนชุดละ ๓๐ บาทเช่นกัน กินคืนละเม็ดเดียว หรือสองเม็ด ก็จะช่วยขับถ่าย และละลายไขมัน ผมชิมอาหารบ่อยต้องระวังพุง
            ออกจากซอย ๒ มายังซอย ๓  จะผ่านศาลเจ้าพ่อสามชุก  ควรแก่การเข้าไปคารวะเสียดายไม่ได้สำรวจโรงแรมเก่าแก่ คือ โรงแรมอุดมโชค ว่ายังมีผู้มาพักอยู่หรือเปล่า หรือจะเหมือนโรงแรมโบราณที่อำเภอทองผาภูมิ ที่กลายเป็นโบราณสถานไปแล้ว
            ยังมีร้านโบราณอีกหลายร้าน เช่น ร้านหยอง โรงตีเหล็ก เครื่องโบราณ ร้านทองมีชัย บ้านของเก่า ไพศาลสมบัติที่ซอย ๔  และร้านอาหารตามสั่ง
            เส้นทางเดินทางไปตามถนนเลียบนที ที่ผ่านซอย ๒,๓ และ ๔ ไป แล้วเดินกันจนสุดถนนชนตึกยุคใหม่ เลี้ยวซ้ายมาสัก ๕ เมตร ร้านอยู่ในอาคาร ที่น่าจะเคยเป็นตลาดสด ไม่ใช่ร้านในอาคารถาวร  เปิดขายทุกวันตั้งแต่ตอนสาย ๆ เรื่อยไป เข้าตำรับตาหลิวอันเดียว ควงเป็นจักรผันอยู่หน้าเตา ลักษณะนี้ของพ่อครัวอาหารจะอร่อย แน่นอนเป็นสูตรของผม
            กุ้งแม่น้ำตัวโตมาก ทอดเกลือ ทอดคนละแบบกับร้านเจ๊เน้ย ทอดแบบแห้งไม่มีน้ำขลุกขลิก แต่กุ้งตัวโตมาก มันกุ้งเยิ้มน่ากินเหลือประมาณ  เอามันกุ้งมาคลุกข้าวร้อน ๆ ไม่ต้องเหยาะน้ำปลาพริกเพราะเค็มอยู่แล้ว  ข้าวก็ร้อนตอนตักจากหม้อข้าวเห็นควันโขมงเลยทีเดียว จานนี้ ๔๐๐ บาท
            ลูกชิ้นปลากรายลวกจิ้ม น้ำจิ้มแซ๊บ รสเข้ม ลูกชิ้นเหนียวหนึบ เคี้ยวหนุบหนับ
            ทอดมันปลากราย เหนียวแน่น เคี้ยวสนุก
            ต้มยำปลาม้า มาสุพรรณต้องกินปลาม้า เพราะเป็นถิ่นของปลาม้า หม้อไฟ ร้อน ๆ ซดชื่นใจ
            ไข่เค็มผัดพริกขิง  ผัดแห้งเช่นกุ้งทอดเกลือ เอามาคลุกข้าว หรือแกล้มได้อย่างดี
            ไส้หมูทอด อย่าโดดข้ามไปเป็นอันขาด กลัวคอเรสโตรอลสูงก็ยอมสักวัน เพราะทอดได้เก่งมาก กรอบนอกนุ่มใน ทอดในแบบของพี่สำราญ ไม่เหมือนใคร จีนก็ไม่ใช่ ไทยก็ไม่เชิง
            ของหวานไม่มี  แต่งัดเอาที่ซื้อมาจากปากซอย หรือมิฉะนั้น รีบเดินกลับไปร้านกาแฟท่าเรือส่ง ขนมหวานออกขายแล้วที่หน้าร้านกาแฟ ได้บัวลอย ไข่หวานสักถ้วยก็ขับรถกลับไปเที่ยวดอนเจดีย์ได้สบาย ๆ

.............................................


| บน |