สมุทรสงคราม

            จังหวัดสมุทรสงคราม เดิมคือ เมืองแม่กลอง การอพยพมาตั้งถิ่นฐานบริเวณปากแม่น้ำดินแดนแห่งนี้ สันนิษฐานว่า คนกลุ่มแรกเป็นชาวแม่กลอง (เดิม) มาจากอุทัยธานี อพยพกันลงมาตั้งถิ่นฐานในถิ่นนี้ ชาวแม่กลอง (เดิม) ในจังหวัดอุทัยธานีเป็นชาวแม่น้ำเคยอยู่ริมแม่น้ำกำแพงเพชรมาก่อน เมื่อแม่น้ำนั้นเกิดตื้นเขิน การทำมาหากินจึงฝืดเคือง จึงพากันอพยพลงมาหาที่อยู่ใหม่ เรียกหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นใหม่ว่า บ้านแม่กลอง ตามชื่อบ้านเดิมของตน
            พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดสมุทรสงคราม มีหลักฐานที่นับว่าเก่าแก่ที่สุด ต้องย้อนไปถึงแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้ตราไว้ในกฎหมายตราสามดวง พระอัยการนาทหารหัวเมือง เมื่อ พ.ศ.๑๙๙๘ ความว่า "พระสมุทรสาคร เมืองท่าจีน พระสมุทรสงคราม เมืองแม่กลอง พระสมุทรปราการ เมืองปากน้ำ พระชนบุรีย์ เมืองชน" แสดงว่าเมืองแม่กลองคือ เมืองชายทะเลฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย ตำแหน่งผู้ปกครองมีราชทินนามว่า พระสมุทรสงคราม
            เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยาแตกล่มสลาย คำให้การของชาวกรุงเก่ากล่าวถึงเมืองแม่กลองโดยใช้ชื่อเมืองสมุทรสงคราม สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า การเปลี่ยนชื่อเมืองคงได้เปลี่ยนก่อนเสียกรุง แต่ไม่ทราบว่าปีใด สันนิษฐานว่า อยู่ระหว่างปี พ.ศ.๒๒๖๕ ถึงปี พ.ศ.๒๒๙๙ ระหว่างแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ กับแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เพราะพบในพระราชกำหนดเก่าในกฎหมายตราสามดวง ยังเรียกสินไหมพิจารณาคดีว่า เมืองแม่กลอง แต่มาพบในพระราชกำหนดเก่าซึ่งตราขึ้นในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อ พ.ศ.๒๒๙๙ ใช้ว่า แขวงเมืองสมุทรสงคราม และเมืองนี้มีความสำคัญยิ่งกับพระราชวงศ์จักรี เพราะ
                พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  เคยมาประทับหลบภัยก่อนไปเป็นทหารเอกของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
                กรมสมเด็จพระอัมรินทรามาตย์  ทรงเป็นชาวสมุทรสงครามโดยกำเนิด ได้เป็นพระบรมราชินีองค์แรกของราชวงศ์จักรี มีพระราชโอรสเป็นพระมหากษัตริย์คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งประสูติที่เมืองสมุทรสงคราม และมีพระราชวงศ์สืบกษัตริย์ต่อมาตามลำดับ
                ราชินิกุลบางช้าง  ซึ่งเป็นพระญาติพระวงศ์ของสมเด็จพระอัมรินทรามาตย์ เช่น ตระกูลชูโต สวัสดิชูโต แสงชูโต วงศาโรจน์ ณ บางช้าง ภมรบุตร ล้วนเป็นตระกูลที่สืบเนื่องมาจากชาวบางช้าง จังหวัดสมุทรสงครามทั้งสิ้น
                ผมจะไปชิมอาหารที่ อ.เมือง สมุทรสงคราม ไปคราวนี้เพราะมีผู้แนะนำ อยากให้ผมไปชิม เพราะอร่อย ราคาย่อมเยา แต่ทำไมมีลูกค้าน้อย อยากให้ผมไปช่วยเชียร์ เขาไม่มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรด้วย บอกว่าเสียดายหากร้านจะต้องปิดกิจการไปเพราะลูกค้าน้อยผมก็เลยถือโอกาส "วันเดียวก็เที่ยวสนุกได้" เพราะเคยไปพักค้างคืนสมุทรสงครามมาแล้ว หาโรงแรมพอพักได้ไม่มี มีแต่พักตามรีสอร์ทที่ยังไม่ดีนัก กับโฮมสะเตย์ ซึ่งไม่สะดวกกับคนสูงอายุ ก็เลยกะไปเช้าเย็นกลับ ระยะทางแค่ ๖๕ กม.เท่านั้นเอง ผมออกจากบ้านลาดพร้าว ขึ้นทางด่วนไปสองเด้ง ลงถนนพระราม ๒ หรือทางหลวงแผ่นดิน ๓๕  วิ่งไปผ่านถนนมหาชัยเมืองใหม่ที่คึกคักดี จอดรถสะดวกกว่าตลาดแถวสถานีรถไฟในตัวเมือง  ต่อมาก็มาข้ามสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน มาผ่านทางแยกขวาไปบ้านแผ้ว ไปออกนครปฐมได้ พอถึง กม.๖๒ ก็จะมีทางแยกซ้ายเพื่อข้ามสะพานกลับมาฝั่งขวาเข้าตัวเมืองสมุทรสงคราม แต่ผมจะไปดอนหอยหลอดก่อน จึงยังไม่เลี้ยวเข้าตัวเมือง เลยต่อไปถึง กม.๖๒.๒๐๐ มีทางแยกซ้ายบอกว่าไปดอนหอยหลอด ๔ กม. ก็เลี้ยวซ้ายไป ซึ่งมีที่ท่องเที่ยวคือ

                เลี้ยวซ้ายไปได้ประมาณ ๑ กม.ทางขวามือคือ วัดศรัทธาธรรม ไปชมโบสถ์ไม้สักฝังมุกแห่งเดียวของประเทศไทย โบสถ์ที่ประเมินราคาก่อสร้างเอาไว้ถึง เก้าสิบล้านบาท ยังไม่เรียบร้อยดี วัดนี้สร้างโดยชาวรามัญบางจะเกร็ง เป็นมอญที่หนีภัยสงครามมาจากหงสาวดีมาอาศัยที่ดินบริเวณบางจะเกร็งในสมัยรัชกาลที่ ๕  ชาวมอญถูกขับไล่เป็นคดีความฟ้องร้องต่อศาล แต่ชาวมอญชนะคดีจึงได้อยู่ต่อไป และได้สร้างวัดศรัทธาธรรมขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางของชุมชนชาวรามัญ
                ขอชมเชยเป็นอันดับแรกคือ สุขาของวัดนี้ทันสมัย สร้างเป็นสากล และสะอาดมาก พอเข้าประตูวัดไปแล้วทางซ้ายคือ "โบสถ์ไม้สักฝังมุก" ฝังทั้งผนังด้านนอก และภายในตัวอุโบสถ เมื่อขึ้นไปบนระเบียงอุโบสถทางด้านหน้า เมื่อลงบันไดไปจะมีเต็นท์ตั้งพระพุทธรูปให้จุดธูปกราบไหว้บูชากันที่ตรงนี้ ติดกันด้านซ้ายมีแท่นบูชาเจ้าแม่กวนอิม ส่วนในพระอุโบสถที่งามด้วยมุกที่ฝังไว้มีภาพจิตรกรรมที่เป็นภาพจากการฝังมุก มีเรื่องพุทธประวัติ รามเกียรติ์  หอยมุกที่นำมาฝังใช้หอยมุกถึง ๓ ชนิดคือ หอยมุกไฟ หอยมุกจาน และหอยมุกเปาฮื้อ หอยมุกไฟนั้นแพงมาก กก.ละ ๑,๐๐๐ - ๒,๐๐๐ บาท และมีพระสงฆ์นั่งรออยู่ในอุโบสถ ๙ รูป ใครถวายผ้าไตรท่านก็จะสวดพระพุทธมนต์ให้
                พระครูเจ้าอาวาสเห็นว่าชาวรามัญส่วนใหญ่ยากจน มีอาชีพรับจ้างกับตัดใบจากขาย รายได้ต่ำ ท่านเลยให้ชาวบ้านทำกะละแมแบบรามัญ ซึ่งเป็นขนมที่ชาวรามัญทำแจกจ่ายในงานสงกรานต์ โดยใช้แป้งข้าวเหนียว น้ำตาลมะพร้าวและกะทิ ตั้งไฟกวน ต้องกวนไปทางเดียวกันประมาณ ๖ ชม. จะได้กะละแมที่มีความหวาน หอม นุ่ม และกะละแมมอญจะห่อด้วยกาบหมากแล้วตัดเป็นชิ้นพอคำ มีคำขวัญว่า กะละแมรามัญอร่อยที่สุดในโลก ผมรับรองในความอร่อยแต่ไม่รับรองว่าจะอร่อยที่สุดในโลก
            ดอนหอยหลอด  จากวัดศรัทธาธรรมเลี้ยวขวาไปยังดอนหอยหลอดไปอีก ๓ กม. ใกล้จะถึงริมทางมีแผงขาย น้ำตาลสด ขายลูกจาก ลูกชิต ลอยแก้ว เหมาะซื้อติดมือกลับมา ปลายทางคือ ชายหาดดอนหอยหลอด หากเป็นฤดูฝนไปกลางวันจะไม่เห็นชายหาด เพราะน้ำขึ้นกลางวัน แต่หากระหว่างเดือน มี.ค.-พ.ค. น้ำจะลงในเวลากลางวัน จะเห็นชาวบ้านหาหอยหลอดกัน หากนักท่องเที่ยวนึกสนุกจะหาหอยหลอดบ้าง ก็มีอุปกรณ์ที่ชาวบ้านนำมาขาย ปลายทางมี  ศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ภายในศาลมีพระรูปของท่าน กับรูปเหมือนหลวงปู่ศุข แห่งวัดปากคลองมะขามเฒ่า ชัยนาท ซึ่งเป็นอาจารย์ของท่าน หน้าศาลเป็นลานกว้าง จอดรถสะดวก มีท่าเรือให้เช่าเหมาลำพาเที่ยวในอ่าวได้ ริมเขื่อนด้านนอกมีแผงขายอาหารทะเลตามสั่งหลายแผง ยังไม่เคยชิม แต่คงประมาณ ๒๐ ปีมาแล้ว เคยชิมไว้ร้านหนึ่ง แล้วนำมาเขียนชวนชิมเอาไว้ ในตอนนั้นมีร้านอาหารที่ริมดอนหอยหลอดเพียงร้านเดียว ไม่ใช่มากกว่า ๒๐ ร้าน เช่นทุกวันนี้ ซึ่งคงอยู่ที่เดิมตรงข้ามทางเข้าศาล ฯ สมัยที่ผมชิมศาล ฯ ยังไม่ได้สร้าง วันนี้บ้านของฝาก มีที่พัก ขยายร้านใหญ่โต แสดงว่ากิจการเจริญรุ่งเรืองดีกว่าเดิม
            กลับจากดอนหอยหลอด พอจะกลับขึ้นถนนใหญ่ ยังไม่ขึ้นจะเข้าเมือง พอจะถึงถนนสาย ๓๕ ก็เลี้ยวซ้ายไปกลับรถลอดใต้สะพานสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่เป็นสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลอง กลับรถมาแล้ววิ่งมานิดเดียว พบป้ายสมุทรสงคราม ให้เลี้ยวซ้าย เลี้ยวไปสัก ๓๐ เมตร จะถึงร้านอาหารที่จะพามาชิมมื้อเที่ยงวันนี้ ร้านอยู่เยื้องกับร้านแดง อาหารทะเลที่เคยชวนชิมไปแล้ว ตลอดถนนสายนี้จนไปเลี้ยวเข้าตัวเมือง จะมีร้านอาหารทะเลเพียง ๒ ร้าน ได้ความว่า เปิดมานานถึงสิบกว่าปีแล้ว เป็นร้านที่ตั้งอยู่ในรั้วบ้านของตัวเอง มีค่าใช้จ่ายน้อย ลูกค้าน้อยก็ไม่เดือดร้อน  และเน้นในคุณภาพของอาหารมาก หากซื้ออาหารสด ไม่ได้มาตรฐานก็ไม่ซื้อ เช่น เต๋าเต้ย หาตัวโตขนาดหนัก ๑.๒ - ๑.๕ กก. ไม่ได้ก็ไม่ซื้อ หาปลาทูหน้างอ คอหักไม่ได้ ก็งดขายปลาทูตาเตี๊ยะ เข้าเมืองกับผมก่อนเดี๋ยวจะพากลับมาชิม
            วิ่งผ่านร้านไปประมาณ ๒.๕ กม. ก็จะถึงทางเลี้ยวขวาไปยังตลาด และหากไปตามถนนหน้าศาลากลางผ่านไปสัก ๓ กม. ก็จะพบอนุสาวรีย์ฝาแฝดอิน - จัน ที่ไปดังในอเมริกา ภายในบริเวณมพิพิธภัณฑ์เรือ มีนิทรรศการแฝดสยาม อิน - จัน แต่หญ้าค่อนข้างจะรกสักหน่อย
            วัดเพชรสมุทรวรวิหาร  วัดนี้มีพระพุทธรูปที่มีตำนานเล่ากันว่า ชาวบ้านแหลมจากจังหวัดเพชรบุรี ได้อพยพหนีพม่า มาตั้งบ้านเรือนอยู่ด้านใต้ปากคลองแม่กลอง มีอาชีพประมง วันหนึ่งได้นำอวนออกไปหาปลาในทะเล ลากอวนติดพระพุทธรูปขึ้นมา ๒ องค์ องค์หนึ่งจึงนำไปไว้ที่วัดเขาตะเครา บ้านเดิม ที่เพชรบุรี อีกองค์ได้นำมาประดิษฐานไว้ ณ อุโบสถวัดศรีจำปา ที่ชำรุดทรุดโทรมมาก ต่อมาได้ปฎิสังขรณ์แล้ว เปลี่ยนชื่อเป็น วัดบ้านแหลม หลวงพ่อเลยได้ชื่อว่า หลวงพ่อบ้านแหลม และต่อมาวัดได้รับการยกฐานะขึ้น เป็นพระอารามหลวง จึงมีนามว่า วัดเพชรสมุทรวรวิหาร
                หลวงพ่อบ้านแหลม  เป็นพระพุทธรูปโลหะศิลปะสุโขทัย สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา สูง ๑๖๗ ซม. เป็นพระปางอุ้มบาตร หล่อด้วยทองเหลือง ข้อพระกร ๒ " ข้อถอดออกได้ ปากทางเข้าประตูวัด มีรถเข็นจอดอยู่ทางซ้าย คันแรกขายน้ำใบบัวบก หวานเย็นชื่นใจนัก ดื่มแล้วซื้อมาอีกราคาขวดละ ๒๐ บาท เดี๋ยวนี้ในกรุงเทพ ฯ หากินยาก ติดกันรถเข็นขายกะลอจี๋ ผมไปทีไรซื้อทุกที ซื้อแล้วต้องรีบหาโอกาสกิน เพราะกะลอจี๋ต้องกินตอนร้อน ๆ จะกรอบนอก นุ่มใน หวานหอมกลิ่นงา ทิ้งไว้จนเย็นจะแข็งตัว ฝั่งตรงข้ามมีผลไม้ มีปลาทูถามแม่ค้า หน้างอคอหัก ไม่มีหรือ เขาบอกว่าไม่ได้คอหัก มีแต่ปลาทูโป๊ะ จะกินอร่อย ยิ่งหน้าหนาวยิ่งอร่อยจะมันมาก ส่วนปลาทูตัวโต ๆ (แม่ค้าชี้) กินอร่อยสู้ปลาทูจากโป๊ะแต่ตัวเล็กกว่าไม่ได้ ปลาตัวโตจับจากอินโดนิเซีย เป็นปลาทูเมืองแขก
            วัดบางกะพ้อม  อยู่อำเภออัมพวา สมุทรสงคราม เป็นจังหวัดเล็กที่สุดของประเทศไทย มีเพียง ๓ อำเภอ คือ อำเภอเมืองสมุทรสงคราม อำเภออัมพวา และอำเภอบางคนที วัดบางกะพ้อมอยู่ในอำเภออัมพวา เส้นทางออกไปทางจะไปศาลากลาง มีทางแยกซ้ายเข้าถนน ๓๐๙๒ เส้นไปอำเภอดำเนินสะดวก ไปประมาณ ๖ กม. จะมีป้ายบอกให้เลี้ยวซ้ายเข้าไปยังวัดบางกะพ้อม วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย โบราณสถานสำคัญคือ จิตรกรรมฝาผนัง ลายปูนปั้นมีเรื่องพุทธประวัติ ๔ ด้าน มีวิหารเก่า และวัดกำลังสร้างรูปหล่อ หลวงพ่อคง ดูจากฐานคงจะใหญ่มาก
            เลยวัดบางกะพ้อมไปหน่อย ทางซ้ายจะมีทางแยกไปยังโรงพยาบาลอัมพวา ไปวัดอินทาราม ไปค่ายและวัดบางกุ้ง เดี๋ยวผมจะพาย้อนกลับมา ตอนนี้เลยไปตลาดน้ำท่าคาก่อน ตลาดน้ำแห่งนี้จะติดนัดไม่เหมือนที่ไหนคือ ถือขึ้น แรม เป็นหลัก ไม่ถือวันเสาร์ - อาทิตย์ หรือวันหยุด เป็นนัดของชาวบ้าน ชาวสวนจริง ๆ คือ มีนัดเฉพาะวันขึ้นหรือแรม ๒,๗ และ ๑๒ ค่ำ เท่านั้น ติดกันตั้งแต่เช้ามืด พอสาย ๆ ก็ไม่มีเรือมาค้าขายกันแล้ว แต่เมื่อคนหลงไปเที่ยวกันในวันหยุดมากขึ้น เช่นวันที่ผมไป ไม่ตรงนัดแต่เป็นวันเสาร์ มีแม่ค้า ๒ - ๓ เจ้า เอากระจาดของสวนราคาถูกมาก มาวางขายริมถนนก่อนถึงท่าน้ำท่าคา วันที่ไปเหมามะนาวหมดกระจาดเพราะ ๓ ลูก ๑ บาท ซื้อมาไว้ดื่มตอนเช้าด้วย และยังมีพวกผลไม้ถูก ๆ มันเทศ น้ำตาลมะพร้าว มะกอกใหญ่ มะขามเปียก ราคาชาวบ้านทั้งสิ้น เส้นทาง ไปตามถนนสาย ๓๑๙๒ เลยวัดบางกะพ้อมไป เลยทางแยกไปวัดบางกุ้ง พอถึงประมาณ กม. ๓๒ จะผ่านสะพานข้ามถนน มองทางขวาจะเห็นมีถนนแคบ ๆ ให้ไปกลับรถมาเลี้ยวซ้าย เข้าถนนแคบ ๆ สายนี้ไปอีก ๔.๘ กม. ก็จะถึงลานจอดรถของตลาดน้ำท่าคา ติดนัดกันริมคลองที่กว้างสัก ๒๐ เมตร มีทางเดินเท้าคอนกรีต ให้เดินซื้อของจากเรือในคลอง
            วัดอินทาราม  พอเลยทางแยกเข้าวัดบางกะพ้อมมาแล้ว จะมีทางแยกซ้ายใกล้ป้อมตำรวจ เลี้ยวซ้ายไปจะข้ามสะพานข้ามแม่น้ำสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์ แล้วไปเลี้ยวขวาจะผ่านวัดสำคัญหลายวัด เช่น วัดภุมรินทร์กุฎีทอง วัดนี้อยู่ตรงข้ามอุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย วัดภุมรินทร์ ฯ เป็นวัดที่มีกุฎิเรือนไม้สักทองขนาดใหญ่งามมาก วัดบางแคน้อย มีอุโบสถที่งามด้วยการแกะสลักไม้ ภายในอุโบสถ เช่นการแกะสลักด้านหลังพระประธาน แสดงอาชีพการทำน้ำตาลมะพร้าว ตลาดน้ำ เป็นต้น วัดบางแคใหญ่ มีพระพุทธรูปทรายหินแดง ที่ระบียงมากถึง  ๕๖ องค์ และยังมีอีกหลายวัด เมื่อวิ่งรถไปจนเลยโรงพยาบาลอัมพวาแล้ว จะมีทางแยกซ้ายมีป้ายบอกว่า ถนนผลไม้ ถนนจะวิ่งผ่านไปตามสวนผลไม้ แต่มองหาแผงขายผลไม้ไม่พบเลย อาจจะไปไม่ตรงฤดูกาล พบแต่แผงขายห่อหมกปิ้ง หรือย่างห่อละสิบบาทอร่อยด้วย กับรถขายไอศคริมมะพร้าว ชาวบ้านซื้อกันแน่นเลยจอดรถลงซื้อบ้าง เป็นไอศคริมที่อร่อยมาก
            วิ่งไปตามถนนผลไม้ ตามป้ายไปเรื่อย ๆ ประมาณ ๕ กม. จะถึงวัดอินทาราม อยู่ริมแม่น้ำเป็นวัดเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีโบสถ์และพระพุทธรูปโบราณอายุกว่า ๓๐๐ ปี มีวัตถุมงคล มีสะพานข้ามแม่น้ำเพื่อไปยังค่ายบางกุ้งได้ มีวังมัจฉา กำลังสร้างเขื่อนริมน้ำคลองแควอ้อม พระพุทธรูปในโบสถ์ที่กำลังจะกลายเป็นวิหาร ปางมารวิชัย และกำลังสร้างโบสถ์ใหม่ด้านหน้าด้วย หินอ่อนมีขนาดใหญ่มาก มีศาลารายล้อมอุโบสถใหม่ มีจิตรกรรมฝาผนังแกะสลักหินอ่อน เมื่อสร้างเขื่อนเสร็จจะมีตลาดน้ำยามเย็น ที่ท่าน้ำมีเรือให้เช่าเหมาลำ เพื่อไปชมหิ่งห้อยริมคลองในยามค่ำ
            ค่ายและวัดบางกุ้ง  หากจะไปจากวัดอินทาราม ไปได้เลย ไม่ต้องย้อนกลับมาอีก ๕ กม. ซึ่งหากวิ่งยอ้นกลับมา ๕ กม. จะมาพบถนที่มาจากโรงพยาบาลอัมพวา ก็เลี้ยวซ้ายไปผ่านวัดโบสถ์ไปสัก ๒๐๐ เมตร ก็จะถึงแนวรั้วค่ายบางกุ้ง และวัดบางกุ้งที่มีโบสถ์สำคัญคือ โบสถ์ปรกโพธิ์ แต่หากไปจากวัดอินทารามก็ข้ามสะพานข้ามคลองแควอ้อม คดเคี้ยวไปในสวนเรื่อย ๆ จนถึงสามแยกให้เลี้ยวซ้าย ไปต่อถึงสามแยกอีกให้เลี้ยวขวา จะไปโผล่ข้างวัดโบสถ์ ให้เลี้ยวซ้ายไปวัดบางกุ้ง

                ค่ายบางกุ้ง  คือ ค่ายที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ให้ชาวจีนจากหลายจังหวัดรวมกันเป็นทหารรักษาค่ายนี้ พม่ายกทัพมาตี เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๑ "ไทยกำลังตั้งตัว ไทยจะแพ้ไม่ได้ หากแพ้ศึกนี้ไทยจะถึงขั้นเสียเอกราช " เพราะสมุทรสงครามคือ ป้อมปราการด่านสุดท้าย ที่จะขึ้นไปตีกรุงธนบุรี ทหารจีนที่รักษาค่ายพยายามต้านไว้ ส่งใบบอกมายังกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชให้พระมหามนตรี (บุญมา หรือกรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท ในรัชกาลที่ ๑) ลงเรือเร็วนำทัพไปช่วย แล้วพระองค์ก็ยกทัพเรือตามขึ้นไป เมื่อไปถึงก็เข้าตีทันที ไม่ให้พม่าตั้งตัว ในค่ายก็ตีฆ้องกลอง ยกตีกระทุ้งออกมาจากค่าย ทหารพม่าแตกทัพยับเยิน ไทยได้ชัยชนะในคืนเดียว ที่ทัพหลวงยกมาถึง ปัจจุบันจึงสร้างแนวค่ายเอาไว้ และเนินดินกลางค่ายมี "โบสถ์ปรกโพธิ์ เป็นโบสถ์ก่ออิฐถือปูนสมัยอยุธยา" การท่องเที่ยวให้เป็น UNSEEN THAILAND เพราะโบสถ์เล็ก ๆ หลังนี้ มองแทบจะไม่เห็นปกคลุมไปด้วยรากของต้นไม้ใหญ่ คือ ต้นโพ ไทร ไกร และกร่าง มองดูจะเหมือนกลุ่มต้นไม้ใหญ่ขึ้นรวมกลุ่มกัน ไม่เห็นเป็นรูปโบสถ์เข้าไปใกล้ ๆ จึงจะเห็นประตูโบสถ์ ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่แม้จะมีการบูรณะแล้ว แต่ก็ลางเลือน มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่คือ หลวงพ่อดำ หรือ "หลวงพ่อนิลมณี" โบสถ์หลังน้อยนี้ยังใช้ทำพิธีสังฆกรรมอยู่ ด้านหลังมีศาลเจ้าแม่ และศาลฤาษี ด้านขวาของโบสถ์มีพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กษัตริย์ผู้มีพระคุณต่อแผ่นดิน และเลยไปมีสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ มีคัมภีร์ยาโบราณ เจ้าอาวาสเก็บรักษาไว้
                ออกจากวัดบางกุ้ง หากเลี้ยวซ้ายจะไปยังศาสนสถานแม่พระบังเกิด (โบสถ์บางนกแขวก) เป็นโบสถ์ที่สวยมาก สถาปัตยกรรมแบบกอทิก เป็นโบสถ์คริสต์เก่าแก่อายุกว่า ๑๐๐ ปี ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง จะสวยงามมากยามต้องแสงอาทิตย์ในตอนเช้า และยามเย็น ภายในตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมที่งดงาม ข้างโบสถ์คือ ปากคลองดำเนินสะดวก ซึ่งมาบรรจบกับแม่น้ำแม่กลอง ทำให้เกิดชุมชนบางนกแขวก โบสถ์เริ่มสร้างครั้งแรกโดยชาวจีน ที่ศรัทธาในคริสต์ศาสนา เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๐
                วันเดียว เที่ยวสนุก ผมไปได้เท่านี้ก็ต้องหันกลับกรุง เพราะต้องยอมรับความสูงวัยเป็นอุปสรรค ต่อการขับรถในเวลากลางคืน แต่หากกลางวัน กรุงเทพ-เชียงใหม่ สบายมาก วันเดียวก็ถึง
                ตอนที่ผมกลับออกมาจากดอนหอยหลอด แล้วเลยไปฝาแฝด อิน - จัน แล้วย้อนกลับมากินอาหาร ผมจะไม่บอกทิศทางไปร้านอาหารน้องแม้วซ้ำ เพราะบอกไปแล้ว จอดรถสะดวกทั้งที่หน้าร้าน หรือภายในร้าน (บ้าน) ตั้งใจจะไปกินปลาทูตาเตี๊ยะ ตามที่ผู้แนะนำบอกมา ส่วยเต๋าเต้ยปลาจารเม็ดเทานั้น ไปกัน ๒ คนชิมไม่ไหว เพราะเต๋าเต้ยจะให้เนื้อเด็ด วิเศษต้องหนัก ๑.๒ - ๑.๕ กก. สั่งมาได้ดังนี้  ปลาจารเม็ดทอดกรอบ ไม่ได้กินปลาจารเม็ดขาวตัวโต ๆ ทอดกรอบมานานเต็มที ได้กินของสดแท้ ไม่ต้องไปปรุงแต่งให้เป็นปลาสามรส เป็นปลาเจี๋ยน ฯ ทอดกรอบชนิดที่แมวร้อง เพราะแมวมารอกินหัวปลาอยู่ใต้โต๊ะ ปรากฎว่าปลาจารเม็ดสดทอดกรอบเจ้านี้ จบแล้วทั้งจานเหลือแต่ก้างกลาง นอกนั้นหมด ผู้อาวุโสต้องรีบตัดครีบปลามาจิ้มน้ำปลาพริกเสียก่อน ครีบปลาทอดกรอบวิเศษสุด
                กุ้งอบเกลือ เป็นกุ้งกุลาดำ สดเนื้อแน่น เหนียวหนึบ จิ้มน้ำจิ้มรสแซ๊บ
                ปูไข่ผัดผงกะหรี่ จะแพ้ก็เจ้าเดียวคือ พลับพลาซีฟู๊ด ที่พุมเรียง ไชยา นอกนั้นหาเทียบยาก จะสั่งปูเนื้อ เขาแนะว่าตัวจะโตมาก เอาปูไข่ดีกว่า ๒ คน พอสู้ไหว ขนาดว่าตัวเล็ก ไข่เค็มกระดอง เคี้ยวไข่มันพิลึก จานโตพอควร
                อาหารอร่อยวันนี้กินหมดจานคือ ปูผัดผงกระหรี่ กุ้ง ต้องหอบกลับมา ปลาจารเม็ดให้มา ๒ ตัวโต ๆ กินหมดตัวเดียว เอากลับมาเป็นมื้อเย็นต่ออีกมื้อ ยังกรอบอยู่เลย

...........................................................

| บน |