| ย้อนกลับ |
พระราชวังสนามจันทร์

            พระราชวังสนามจันทร์ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ อยู่ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ ไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๒ กิโลเมตร หากมองจากทางด้านตะวันตกขององค์พระ ตรงไปจะเห็นเทวาลัยคเณศร์ และพระที่นั่งพิมานปฐม อยู่ในแนวเดียวกัน พื้นที่ทั้งหมด ๘๘๘ ไร่เศษ
               ประวัติพระราชวัง เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๖ ยังทรงดำรงอิสริยยศเป็น สยามมงกุฎราชกุมาร ได้ทรงรับรู้เหตุการณ์ที่ชาติตะวันตก ได้ขยายอำนาจเข้ามาในประเทศไทย เมื่อพระองค์เสด็จกลับจากการศึกษาต่อในต่างประเทศ จึงเตรียมทางหนีทีไล่ ในการจะต่อสู้เมื่อถูกรุกราน และหาเมืองที่มีชัยภูมิเหมาะแก่การต่อต้าน ทรงเห็นว่านครปฐมเป็นเมืองที่มีชัยภูมิเหมาะสม จึงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระราชวังสนามจันทร์ไว้เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว โดยเริ่มดำเนินการจัดซื้อที่ดินจากประชาชน และเริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๐ มี หลวงพิทักษ์มานพ (ต่อมาเลื่อนเป็น พระยาศิลปะประสิทธิ์) เป็นแม่งานสร้างขึ้นตรงบริเวณ "เนินปราสาท" ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นบริเวณปราสาทราชวังเดิม ของกษัตริย์โบราณที่ทิ้งร้างไป เมื่อสร้างเสร็จพระราชทานนามว่า พระราชวังสนามจันทร์ ตามชื่อสระน้ำโบราณ หน้าโบสถ์พราหมณ์คือ สระน้ำจันทร์ หรือสระบัว
                พระที่นั่งและพระตำหนักในพระราชวังแห่งนี้ ได้เริ่มใช้เป็นสถานที่ราชการเป็น จวนผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นสาธารณสุขจังหวัด และศาลากลางจังหวัด มาตั้งแต่ปลายแผ่นดินรัชกาลที่ ๗ และต่อมาได้ให้มหาวิทยาลัยศิลปากรได้เข้ามาดูแล ในพระตำหนักสุดท้ายในทุกวันนี้ หน่วยราชการทุกหน่วย ได้ย้ายออกไปจากพื้นที่ของพระราชวังสนามจันทร์หมดแล้ว ได้บูรณะปรับปรุงและจัดภายในพระที่นั่งและตำหนัก เปิดให้ประชาชนได้เข้าชมทุกวัน เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยเก็บค่าเข้าชมคนละ ๓๐ บาท ทั่วบริเวณ สวยมาก สนามหญ้าตัดตกแต่งเรียบสะอาดตา งามด้วยไม้ดอก ไม้ประดับ ภายในพระที่นั่ง และพระตำหนัก จัดวางไว้เป็นระเบียบงดงามยิ่งนัก หากหาสิ่งของเดิมไม่ได้ ก็จะเป็นเครื่องตกแต่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานมาให้ตกแต่ง งดงามสุดพรรณนาเลยทีเดียว ใครยังไม่เคยไปขอให้ไปชมเสีย จะได้เห็นพระราชวังที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไป ได้เข้าชมได้อย่างเต็มที่ ไม่มีส่วนใดหลงเหลือ เป็นที่ทำการรัฐบาลอีกแล้ว
                ในพระราชวังประกอบด้วยพระที่นั่งจำนวน ๔ องค์ พระตำหนัก ๔ องค์ เรือนพักข้าราชบริพาร ๓ หลัง ทุกองค์ทุกหลังได้รับการบูรณะไว้อย่างสวยงาม
                หากไปจากกรุงเทพ ฯ พอถึงทางเลี่ยงเมือง หรือจะเรียกว่า เส้นหลัก เพราะถนนขยายใหญ่กว่าเพชรเกษมดั้งเดิม ที่พุ่งเข้าสู่องค์พระปฐมเจดีย์ เลี้ยวซ้ายมาผ่านสี่แยกแรกป้ายบอกว่า เลี้ยวขวาไปองค์พระปฐมเจดีย์ (ไม่ต้องมาเลี้ยวตรงแยกนี้ก็ได้) พอถึงสี่แยกที่ ๒ ป้ายบอกว่าเลี้ยวขวาไปสนามจันทร์ ให้เลี้ยวขวาตรงนี้แล้วตรงเรื่อยไป ผ่านสี่แยกที่หัวมุมบนซ้ายจะบอกว่า มหาวิทยาลัยศิลปากร วิ่งตรงต่อไปใกล้จะถึงประตูทางเข้าทางขวาคือ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ์ ๖ รอบ และทางซ้ายคือ ลานจอดรถ และบ้านจวนผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ย้ายออกไปแล้ว ซึ่งเป็นเรือนโบราณเช่นกัน
                จอดรถที่ลาน เดินมาที่ซุ้มซื้อบัตรผ่านประตูเข้า กลัวเดินไม่ไหวก็เช่ารถกอล์ฟมีหลายคัน แต่ต้องขับเองชั่วโมงละ ๒๕๐ บาท แต่ผมไม่ได้เช่าเดินชมดีกว่า
                เมื่อผ่านประตูเข้ามาแล้ว เดินข้ามสะพาน "สุนทรถวาย" แล้วเดินชมตามลำดับดังนี้ ข้ามสะพานแล้วเลี้ยวซ้ายไปยังพระตำหนักทับแก้ว ซึ่งเป็นตึกสองชั้น ภายในห้องมีเตาผิง หลังคามีปล่องไฟตามแบบชาวตะวันตก แสดงว่านครปฐมเมื่อร้อยปีที่แล้วอากาศเย็น เจ้าหน้าที่บอกว่า ร.๖ เคยมาประทับบรรทมที่ตำหนักนี้เหมือนกัน มีภาพฝีพระหัตถ์เขียนด้วยสีถ่าน ทับแก้วในอดีตคือ ที่ตั้งกองบัญชาการเสือป่า กองร้อยเสนาน้อยราบเบา รักษาพระองค์ ในขณะที่มีการซ้อมรบเสือป่า ในปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยาม ฟุตบอลมีการแข่งขันอย่างเป็นทางการเมื่อ ๒ มีนาคม ๒๔๔๓ ณ ท้องสนามหลวง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้มีการจัดการแข่งขันกีฬาเป็นสากล ต่อมาในรัชสมัยของ ร.๖ โปรดเกล้า ฯ จัดตั้งคณะฟุตบอลแห่งสยาม (สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์) เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๔๕๙ ครบร้อยปีเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๙ เมื่อรัชกาลที่ ๖ สวรรคตแล้ว รัชกาลที่ ๗ จึงทรงโปรดเกล้า ฯ รับคณะฟุตบอลแห่งสยามให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์
                จากพระตำหนักทับแก้ว เดินออกมาแล้วเลี้ยวซ้ายเพื่อไปชมพระที่นั่งเสียก่อน แล้วจึงกลับมาชมพระตำหนักอีก ๓ หลัง ในตอนท้าย
                   พระที่นั่งพิมานปฐม เป็นพระที่นั่งองค์แรก สร้างเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ๒ ชั้นแบบตะวันตก แต่ดัดแปลงให้สมกับเป็นเมืองร้อน ลมพัดผ่านเย็นตลอดวัน เมื่อจะเข้าไปยังห้องโถงกลางชั้นล่างต้องเก็บประเป๋าไว้ในล๊อคมีกุญแจให้ ถอดรองเท้าเมื่อขึ้นไปแล้วเจ้าหน้าที่สาวสวย จะแนะนำให้เดินเข้าไปชมทางงด้านซ้ายก่อน แล้วจะกลับมาจบที่ทางประตูด้านขวา มีห้องบรรทม ห้องสรง ห้องบรรณาคม ห้องภูษา ห้องเสวย ห้องพระเจ้างามมากมีพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา และประดิษฐานพระเศวตฉัตร
            เดินต่อไปตามระเบียงทางเดินในห้องต่าง ๆ ห้ามถ่ายภาพและห้ามเข้าไปในห้อง แต่ได้ชมจากระเบียงก็งามสุดพรรณนา เป็นบุญตาอยู่แล้ว พระที่นั่งทุกหลังจะติดต่อกัน
               พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี  อยู่ทางปีกซ้ายของพระที่นั่งพิมานเมฆ เป็นพระที่นั่งฝาแฝดกัน มีลักษณะเป็นตึกสองชั้น การชมพระที่นั่ง ขึ้นครั้งแรกพอเดินชมไปทางซ้ายจะไปได้ตลอด โดยไม่ต้องเดินขึ้นเดินลง สุดท้ายก็จะกลับมาออกที่ห้องโถงกลางในครั้งแรก
               พระที่นั่งวัชรีรมยา  เป็นพระที่นั่งฝาแฝดกับพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ แต่สร้างขึ้นทีหลัง เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๐ เป็นพระที่นั่งทรงไทย ๒ ชั้น หลังคาซ้อน ๒ ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบทำนองเดียวกับหลังคาพระที่นั่งในพระบรมมหาราชวัง มีคันทวย ช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้ง และหางหงส์งดงาม ทางทิศใต้มีมุขเด็จ และชานชาลายื่นออกไปจรดกับชานชาลาของพระที่นั่งพิมานปฐม เวลาเดินชมจึงเดินต่อกันมาไปเลย พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่บรรทมเมื่อเสด็จขขึ้นครองราชย์ เคยเอามาเป็นที่ทำงานของผู้ว่าราชการ ฯ
                พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ เป็นพระที่นั่งโถงใหญ่เชื่อมต่อกับพระที่นั่งวัชรีรมยา หลังคาเชื่อมติดต่อกัน เครื่องประดับตกแต่งเหมือนกัน หน้าบัน ทิศเหนือเป็นรูปจำหลักท้าวอมรินทราธิราชประทานพร พระที่นั่งนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้เป็นที่ออกงานสโมสรสันนิบาต เสด็จออกขุนนาง เป็นที่อบรมเสือป่า ใช้เป็นที่แสดงโขน และละครต่าง ๆ จนติดปากชาวบ้านเรียกว่า "โรงโขน"
                เทวาลัยคเณศร์ ประดิษฐานพระคเณศร์ หรือพระพิฆเนศวร ตั้งอยู่กลางสนาม
                ศาลาธรรมเทศน์โอฬาร มีพระดำริจะให้สร้างแต่ไม่ทันได้สร้าง พระที่นั่งปาฎิหารย์ทัศไนย ตั้งอยู่บนชานชาลาชั้นบน ระหว่างพระที่นั่งพิมานเมฆกับพระที่นั่งวัชรีรมยา ไว้ประทับทอดพระเนตรองค์พระปฐมเจดีย์ แต่กระทรวงวังได้รื้อไปปลูกไว้บนชานชาลาพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติกรุงเทพ ฯ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๐
                เมื่อชมพระที่นั่งครบ ๔ องค์ แล้วมาชมสระน้ำ หน้าพระที่นั่ง หากจะเช่าจักรยานน้ำ ต้องซื้อบัตรที่ซุ้มขายบัตรเข้ามา จากสระไปยังเทวาลัยคเณศร์ จากนั้น เดินข้ามสนามไปถวายราชสักการะราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่สร้างประทับนั่ง แล้วเดินเลาะริมสนามไปยังหน้าพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ ซึ่งหน้าพระตำหนักมี อนุสาวรีย์ย่าเหล รูปปั้นย่าเหล เป็นรูปหล่อโลหะดำ มีจารึกคำอาลัยของรัชกาลที่ ๖ เป็นสุนัขที่ทรงโปรดมาก จนคนอิจฉายิงด้วยปืนจนตาย จึงสร้างอนุสาวรีย์ให้
               พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์  เดิมเรียก ตำหนักเหล แล้วพระราชทานนามให้ใหม่ มีรูปทรงคล้ายปราสาทขนาดเล็ก เป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างปราสาทของฝรั่งเศส และอังกฤษ ตอนปลายรัชกาลที่ ๖ ทรงโปรดประทับที่พระตำหนักนี้เป็นประจำ
               พระตำหนักมารีราชรัตนบัลลังก์  เป็นพระตำหนักไม้แบบตะวันตก มีสะพานเดินเชื่อมระหว่างสองพระตำหนัก ปัจจุบัน เป็นพิพิธภัณฑ์งานพระราชนิพนธ์ ของ ร.๖
               พระตำหนักทับขวัญ  อยู่ติดกับพระตำหนักมารีราช ฯ เป็นเรือนไทยที่สมบูรณ์แบบ มีหอนอน ๒ หอ เรือนโถง เรือนครัว หอนก เรือนคนใช้ เรือนเก็บของ ในนอกชานกลาง ด้านทิศเหนือใต้ช่องพื้น มีต้นจันทน์ใหญ่ โผล่ขึ้นมาให้ร่มแก่เรือนชาน และภายในประดับภาพลายเส้นฝีพระหัตถ์ติดไว้ ให้ชมหลายภาพ ในเวลาซ้อมรบเสือป่า ทับขวัญเป็นที่ตั้งกองบัญชาการเสือป่า กองเสนาน้อยราบหนัก รักษาพระองค์
                นอกจากพระที่นั่ง และพระตำหนักดังกล่าวมาแล้ว ยังมีเรือนพักข้าราชบริพารอีก ๓ หลัง ได้แก่ เรือนพระยานนทิการ อยู่ด้านนอกรั้ว เคยใช้เป็นจวนผู้ว่าราชการจังหวัด เรือนพระธเนศวร เคยใช้เป็นที่พักของผู้พิพากษาหัวหน้าศาล เรือนทับเจริญ เดิมสร้าเพื่อเป็นที่พัก ของเจ้าพระยารามราฆพ อธิบดีกรมมหาดเล็ก ซึ่งต้องตามเสด็จ ฯ
                ผมขอพาชมพระราชวังสนามจันทร์เพียงเท่านี้ อธิบายเท่าที่เห็น เท่าที่จำได้ ภายในแต่ละห้องห้ามถ่ายภาพ และผมบรรยายได้ไม่ถึง ๑ ใน ๑๐๐ ของความงดงามน่าชม นครปฐมอยู่ห่างกรุงเทพ ฯ ประมาณ ๖๐ กม. ใช้เวลาวิ่งรถไปไม่ถึง ๒ ชั่วโมง ผู้ที่อยู่จังหวัดอื่น มาเที่ยวก็กะเส้นทางที่ไม่ต้องผ่านกรุงเทพ ฯ เอาไว้ จะได้ไม่เสียเวลารถติด ผมอยู่ห่างนิดเดียว แต่ผมไปพักค้างคืนที่โรงแรมราคาคืนละ ๗๐๐ บาท แถมอาหารเช้า คิดแล้วถูกกว่าค่าน้ำมันรถที่วิ่งกลับมาบ้าน แล้วไปใหม่ในวันรุ่งขึ้น เพราะดูแบบผม วันเดียวดูไม่ทั่ว เพราะต้องหาแหล่งกินด้วย อีกแห่งที่เคยไป ชอบไปด้วย แต่วันนี้ไม่ได้ไป คือ ตลาดสายหยุด มีมาตั้งแต่เมื่อเกือบร้อยปี ค้าขายกันอยู่ในถนนเทศาซอย ๒ มาจากองค์พระปฐม อยู่ซ้ายมือ หากไปสายมีแต่คนกวาดถนน
                ร้านกุ้งอบภูเขาไฟ  ร้านเก่าแก่ ขยายใหญ่ จากกรุงเทพ ฯ เลยเทสโก้ โลตัส ถึงสี่แยกที่ ๒ เข้าถนนคู่ขนาน ร้านจะอยู่ริมถนนซ้ายมือ จอดรถได้สะดวก
                กุ้งอบภูเขาไฟ กุ้งใหญ่ น่าจะเป็นกุ้งเลี้ยง แต่เนื้อก็แน่น ราคา กก.ละ ๔๓๐ บาท สั่งมากินทีละ กก.เลย ขายดีมาก จนเดี๋ยวนี้ไม่มาจุดไฟให้ดูแล้ว อบใส่จานมีเตาครอบ เหมือนปล่องภูเขาไฟครอบมา พอวางจานก็เปิดครอบไม่จุดไฟ เมื่อก่อนจุดไฟให้ดู เห็นกุ้งอบทั้งเปลือกนอนเรียงน่ากิน เป็นกุ้งทอดน้ำมัน จิ้มน้ำจิ้ม ซีฟู๊ด รสจัดถึงใจ
                ปูทะเลหลน   ปูทะเลทั้งตัว เอามาหลน ต้องกินกับข้าวอร่อยสุด ๆ มีผักแนมคือ ขมิ้นขาว แตงกวา ถั่วฝักยาว ถั่วพู มะเขือเปราะ และผักที่ขาดไม่ได้เลยคือ ขมิ้นขาว เพลินกับกุ้งอบให้หมดจานเสียก่อน ค่อยกินปูหลน บรรจงวางขมิ้นขาว หรือผักบนข้าวร้อน แล้วตักปูหลนราดให้ชุ่ม ส่งเข้าปาก ข้าวหมดจานไม่รู้ตัว จะสั่งข้าวอีกจาน พุงก็รับไม่ไหว แก้ด้วยการเอาปูหลน ให้เขาใส่ถุงกลับมากินมื้อวันรุ่งขึ้นได้อีกมื้อ อร่อยจริง ๆ
                ปิดท้ายด้วย ไอศคริม เขาเขียนไว้ว่า ทุกวันพฤหัสที่ ๓ ของเดือน ลดให้ ๒๐ %

....................................................

| ย้อนกลับ | บน |