สะพานสุขตา

            กองทัพบกนั้นมีความเอื้ออาทรต่อข้าราชการบำนาญ ยังส่งข่าวคราวมาให้ทราบเป็นประจำทุกสัปดาห์ ทำให้รู้ข่าวในวงการของกองทัพบก สัปดาห์นี้ส่งข่าวมาเข้าเป้าของผม บอกว่าสถานตากอากาศที่บางปู ซึ่งยังอยู่ในความรับผิดชอบของกรมพลาธิการทหารบก ลดราคาค่าอาหารให้แก่ข้าราชการสังกัดกระทรวงกลาโหม "๒๐%" (อย่าลืมบัตรประจำตัว) สำหรับผู้ที่ไปนั่งรับประทานอาหารที่ "ศาลาสุขใจ" ที่อยู่ริมทะเลปลายสะพานสุขตา เป็นห้องอาหารที่กว้างใหญ่ แบ่งออกเป็นสองปีกคือ ด้านตะวันตก และด้านตะวันออก ส่วนตรงกลางนั้นเป็นห้องโถงจัดเป็นเวทีลีลาศ ที่มีเป็นประจำทุกวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา ๑๓.๐๐ - ๑๙.๐๐ เป็นที่ชื่นชอบของบรรดาเท้าไฟทั้งหลาย
            ประวัติความเป็นมาของสถานตากอากาศบางปูแห่งนี้ เริ่มต้นจากการที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี (ยังไม่ดำรงตำแหน่งจอมพล) ไปตรวจราชการที่หน่วยทหารของกองทัพเรือในสถานีทหารเรือ สัตตหีบ จ.ชลบุรี เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๐ ซึ่งเวลานั้นการจะไปสัตหีบ จะต้องไปตามเส้นทางถนนสุขุมวิท หรือทางหลวงแผ่นดินสาย ๓ เพียงเส้นทางเดียว โดยจะต้องไปผ่านปากน้ำสมุทรปราการ ผ่านคลองด่าน แล้วเอารถลงแพข้ามแม่น้ำบางปะกง วิ่งต่อไปผ่านตัวเมืองชลบุรี ศรีราชา บางละมุง (พัทยา ยังไม่เกิด) สัตตหีบ ผมเคยไปครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๙ เส้นทางก็ยังต้องไปตามที่เล่ามานี้
            ท่านจอมพล ป. ฯ ผ่านมาทางบางปู เห็นพื้นที่บริเวณนี้ก็ชอบใจ อยากสร้างสถานตากอากาศสำหรับประชาชน และเป็นสถานพักฟื้นของทหารที่บาดเจ็บมาจากการสู้รบ และยังอยู่ริมทะเล ใกล้กรุงเทพ ฯ ไปมาสะดวก จึงให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการซื้อที่ดินบริเวณนี้ โดยขอใช้เงินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มาซื้อ แล้วสร้าง "สะพานสุขตา" ทอดยาวลงไปในทะเลปากอ่าวไทย ยาวประมาณ ๕๐๐ เมตร ปลายสะพาน สร้างเป็นอาคารในทะเล ตั้งชื่อว่า "ศาลาสุขใจ" เปิดดำเนินการเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๒ เรียกว่าในสมัยนั้นเป็นที่ฮือฮากันมาก โดยเฉพาะบรรดาเท้าไฟทั้งหลาย อาหารดี ดนตรีไพเราะ อาหารมีขายทุกวันทั้งมื้อกลางวันและมื้อเย็น ส่วนดนตรีให้ลีลาศขอใช้คำว่าดูเหมือนมีเฉพาะวันเสาร์ - อาทิตย์ (ปัจจุบันมีเฉพาะวันอาทิตย์) เปิดดำเนินการได้เพียงปีเดียวก็ต้องหยุดกิจการ เพราะเกิดสงคราม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๔ กองทัพญี่ปุ่น ได้ยกพลขึ้นบกพร้อมกัน เมื่อคืนวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ โดยยกพลขึ้นบกที่ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และสมุทรปราการ ตรงบริเวณบางปู (ด้านนี้มีกำลัง ๑ กองพัน) ส่วนกำลังทางบกส่งเข้ามาทาง อ.อรัญประเทศ (จ.ปราจีนบุรี จ.สระแก้ว ยังไม่ได้ตั้ง) ที่บางปูยังไม่ทันได้ปะทะกัน เพราะกำลังฝ่ายไทยมีแต่ตำรวจภูธรอยู่หนึ่งหมวด ยุวชนทหาร และประชาชน กว่าจะผนึกกำลังกันไปต่อต้านได้ ก็พอดีรับคำสั่งว่ารัฐบาลไทยยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านไปเพื่อไปเข้าตีพม่า หากไม่ยอมให้ญี่ปุ่นผ่านก็คงถูกเข้ายึดทั้งประเทศเช่นประเทศอื่น ๆ ได้ชื่อว่าเสียเอกราช แต่ในภาวะเช่นนี้ ก็ยังได้ชื่อว่าไม่ได้เสียเอกราช ยังมีรัฐบาลอยู่ในฐานะพันธมิตร จุดที่จะส่งกำลังไปตั้งสกัดนั้นอยู่ห่างจากบางปูประมาณ ๒ กม.จึงนับว่าเป็นการเปิดฉากสงครามด้านเอเซียบูรพา ซึ่งขณะนั้นเยอรมันเปิดฉากรบที่ยุโรปขึ้นก่อน แล้วจึงกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ ๒
           เมื่อเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของกองทัพเยอรมัน และกองทัพญี่ปุ่น สถานตากอากาศบางปูก็ยังไม่เปิดดำเนินการต่อ มาเปิดอีกครั้งเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๑ ในสมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ดำเนินการโดยกรมพลาธิการทหารบก แล้วโอนไปให้หน่วยอื่นดำเนินการกันอีกหลายหน่วย จนที่สุด เมื่อ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๐๗ กลับมาอยู่ในความรับผิดชอบของกรมพลาธิการทหารบก มาตราบเท่าทุกวันนี้
            สถานตากอากาศบางปู อยู่ชายทะเล แต่ยังเป็นหาดตม หรือทะเลโคลน มีป่าชายเลน ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์น้ำ มีบ้านพักตากอากาศ สร้างไว้ตั้งแต่ยุคแรกหลายหลัง ยังเปิดให้เช่าพักอยู่ และตกแต่งภายนอก ภายในเสียสวย แต่ยังคงเป็นแบบบ้านเดิมเมื่อสมัย ๖๐ กว่าปี และปัจจุบันก็สร้างเพิ่มเติมใหม่ สร้างสวยทีเดียว ทหารมีส่วนลด ๕๐ % กำลังคิดจะไปพักเพราะบ้านใหม่หลังโต ๒ ห้องนอน ลดแล้วเหลือคืนละ ๑,๒๐๐ บาท วิ่งรถจากบ้านผมไปทางด่วน ก็ประมาณชั่วโมงเศษ ๆ หากเป็นฤดูหนาวของยุโรป นกนางนวลจะหนีหนาวบินมาหากินอยู่แถวบางปู ตั้งแต่กลางเดือน ต.ค. - พ.ค. จะมีนกนางนวลมาบิน มาลอยน้ำในทะเลให้ชม หากยืนดูอยู่ที่สะพานสุขตาก็จะมองเห็น หรือเวลานั่งกินอาหารก็มองเห็นฝูงนกนางนวล และนกจะกล้ากับคนมาก หากเราซื้ออาหารนก หรือกากหมูที่มีผู้นำมาขายถุงละสิบบาท โปรยให้กินหรือจะวางบนฝ่ามือก็ได้ นกนางนวลจะกล้าโผมากิน จิกกินบนฝ่ามือเลยทีเดียว และเวลานี้มีนกปากห่าง เริ่มอพยพหนีมาจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มาอาศัยอยู่เป็นประจำ
            เส้นทางไปบางปู ไปจากกรุงเทพ ฯ หากไปทางด่วนจะสะดวกที่สุดเช่นขึ้นทางด่วนไปลงบางนา ส่วนผมไปจากลาดพร้าวเสียสองเด้งรวม ๖๐ บาท ลงแล้วก็ตามป้ายสมุทรปราการ ไปกลับรถวิ่งกลับมาเข้าถนนสุขุมวิทใหม่ จะผ่านจุดท่องเที่ยวไปดังนี้
                พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ  ซึ่งผู้สร้างล่วงลับไปแล้ว แต่ทิ้งงานที่ยิ่งใหญ่เอาไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ชมกันถึงสามแห่งคือ พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ (ค่าเข้าชมคนละ ๑๕๐ บาท) อยู่เลยสุขุมวิทซอย ๑๑๙ ไปหน่อย เมืองโบราณ อยู่เส้นทางเดียวกับไปบางปู และปราสาทสัจจธรรม ที่บางละมุง ขอยกย่องผู้สร้างคือ คุณเล็ก วิริยะพันธ์ ผมชื่นชมในผลงานของท่าน และแวะเวียนไปชมเมืองโบราณแทบทุกปี เพราะมีของใหม่ให้ชมเสมอ
                พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ  อยู่เลยพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณไป เปิดให้ชมทุกวัน
                ตรงไปถึงหอนาฬิกา หากไปบางปูก็หักเลี้ยวซ้ายหากจะเข้าตัว อ.เมืองปากน้ำ ก็ตรงเข้าไปจะมีวัดที่น่าชมคือ วัดพิชัยสงคราม เข้าเมืองแล้ววัดจะอยู่ทางซ้ายมือ เป็นวัดสมัยอยุธยา มีพระอุโบสถหลังเก่า และเจดีย์ทรงระฆังที่งดงาม
                วัดกลางวรวิหาร  เป็นวัดโบราณสร้างสมัยอยุธยา ตรงเข้าเมืองตามถนนประโคนชัย เลยศาลหลักเมืองไปแล้วเลี้ยวซ้ายตรง ๗ - ๑๑ เป็นพระอารามหลวง ชมพระอุโบสถหลังเก่า (ไม่เปิดให้ชมภายใน) พระพุทธรูปโบราณปางมารวิชัย มีหมู่กุฎิสงฆ์สร้างด้วยไม้สักทอง มีศาลจัตุรมุข ศาลาพระประจำวัน มีมณฑปรอยพระพุทธบาท
                ฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์สมุทรปราการ  ไปตามถนนสุขุมวิทเลี้ยวขวาเข้าซอย ๔๖ เป็นฟาร์มที่เพาะเลี้ยงจระเข้ใหญ่ที่สุดในโลก ไปดูจระเข้ในบ่อ ดูการแสดงการจับจระเข้ บ่อเพาะเลี้ยงจระเข้และตะโขง เข้าชมหอมหัศจรรย์ไซอิ๋ว ชมสวนสัตว์ขนาดเล็ก การแสดงของช้างแสนรู้ มีผลิตภัณฑ์และอาหารปรุงจากเนื้อจระเข้

                วัดอโศการาม  ผู้สร้างคือ พ่อท่านลี หรือพระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ ท่านเป็นศิษย์สายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นวัดธรรมยุตนิกาย เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗ เมื่อเข้าบริเวณวัดไปแล้ว ตรงไปจนสุดทางแล้วเลี้ยวขวามาที่ลาน ซึ่งลานนี้ด้านหนึ่งคือ วิหารสุทธิธรรมรังสี หรือวิหารหลวงพ่อลี หากเป็นวันหยุด จะมีพุทธศาสนิกชนมาปฏิบัติธรรมกันแน่นเลยทีเดียว สร้างเป็นวิหารจัตุรมุขขนาดใหญ่ ทางขวาของวิหารคือ ราชานุสาวรีย์ของพระเจ้าอโศกมหาราช ที่มีอนุสาวรีย์ของท่าน เพราะพ่อท่านลีไปธุดงค์ที่ประเทศอินเดีย เห็นปูชนียสถานที่พระเจ้าอโศกมหาราชสร้างไว้ชำรุดทรุดโทรมหมด จึงตั้งใจว่าจะสร้างวัดอโศการามไว้เป็นอนุสรณ์ สร้างใน พ.ศ.๒๔๙๗
                ทางซ้ายของวิหารจัตุรมุข เวลานี้กางเต้นท์เอาไว้ (พ.ศ.๒๕๕๐) ประดิษฐานเกจิอาจารย์สายพระอาจารย์มั่นหลายองค์ (เว้นสมเด็จโต ไม่ใช่สายพระอาจารย์มั่น)
                ตรงข้ามวิหารจัตุรมุข สร้างพระธุตังคเจดีย์กำลังสร้างใหม่ครอบองค์เดิม บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อสร้างใหม่เสร็จแล้วก็จะอัญเชิญพระเกจิอาจารย์ไปไว้ที่ชั้น ๒ หมู่บ้านเด็กโสสะ เด็กกำพร้า แวะเยี่ยม หรือติดต่อบริจาคได้ที่ ๐๒ ๓๒๓๙๕๕๓ เมืองโบราณ จำลองสถานที่ต่าง ๆ ของไทยทั้งประเทศไว้ให้ชม แยกซ้ายเข้า กม.๓๔
               สถานตากอากาศบางปู  แยกขวาจากสุขุมวิท กม.๓๗ ตั้งอยู่ริมทะเล และป่าชายเลน มีเนื้อที่ ๕๘๒ ไร่ มีบ้านพัก มีเส้นทางชมป่า ชมนก มีนกให้ชมทั้งปี แต่หากเป็นนกนางนวลจากไซบีเรีย เริ่มมีให้ชมตั้งแต่กลางเดือน ต.ค. - พ.ค. มีให้ชมเป็นพัน เป็นหมื่น
                วิ่งรถตรงเข้าไปสุดถนนก็จะเป็นสะพานทอดยาวไปในทะเลเรียกชื่อว่า สะพานสุขตา ยาวประมาณ ๕๐๐ เมตร (จอดรถบนนี้ได้ แต่หากเต็มต้องจอดก่อนขึ้นสะพาน มีลานจอด) ปลายสะพานคือศาลาสุขใจ ติอต่อ ๐๒ ๓๒๓๙๙๘๓, ๓๒๓๙๕๓๐ เข้าไปห้องแรกขายของที่ระลึก และมีห้องสุขาอยู่ทางด้านขวาเป็นสากล มีป้ายคลีนฟู๊ด กู๊ดเทสท์ อาหารสะอาด รสชาติอร่อย หากนั่งปีกซ้ายมองเห็นนก ลมทะเลตีหน้าเย็นสบาย
                มากินอาหารบางปูต้องสั่งปูม้านึ่ง เสริฟมาในจานเปล ราคาไม่แพงคุ้มค่าที่มาชิมปูจะสดมาก เพราะรับมาจากปากแม่น้ำ ขายวันต่อวัน วันราชการคนมาเที่ยวน้อยอาจจะไม่มีปูม้านึ่ง แต่มีปูทะเลเนื้อนึ่ง, ปูไข่ ขอยกย่องน้ำจิ้มปูของห้องอาหารบางปู ยากจะหารสเทียม
                หอยจ๊อ กรอบนอกนุ่มใน หรือจะสั่งทะเลลวกมาจิ้มน้ำส้มก็เด็ดนัก ส้มตำปูม้า รสเด็ดอีกนั่นแหละ ใครชอบส้มตำอย่าโดดข้ามรายการนี้ไป
                เปรี้ยวหวานปลากะพง ปลาสด ๆ จากปากน้ำ เนื้อปลาหวาน น้ำผัดเข้าเนื้อปลา
                ต้มส้มปลากระบอก รสหวานอมเปรี้ยว ซดร้อน ๆ เด็ดนัก ตามด้วยกุ้งอบวุ้นเส้น
                ข้าวผัดปู มาบางปู กินปูกันให้อิ่ม ผัดข้าวผัดเก่งนัก ไปทีไรสั่งแต่ข้าวผัดปู เคียงมาด้วยต้นหอมขาวอวบ แตงกวา มะนาว น้ำปลาพริกพร้อม ตักข้าวผัด ซดต้มส้มตาม
                ปิดท้ายด้วยไอสคริม มีทั้งเผือก กะทิ และวานิลา หรือน้ำผลไม้ปั่นก็มี
                ราคาย่อมเยา ยิ่งข้าราชการกลาโหมเงินเดือนน้อยรวมทั้งพวกข้าราชการกลาโหมบำนาญ ลดให้ ๒๐ % อย่าลืมเอาบัตรประจำตัวไปแสดงให้เขาดูด้วยก็แล้วกัน

.........................................................


| บน |