จังหวัดสมุทรสาคร เป็นจังหวัดเล็ก ๆ ตั้งอยู่ในเขตภาคกลางตอนล่าง ห่างจากกรุงเทพ
ฯ ประมาณ ๓๐ กม. มีอำเภอเพียง ๓ อำเภอ คือ อำเภอเมืองสมุทรสาคร อำเภอบ้านแพ้ว
และอำเภอกระทุ่มแบน มีคำชวัญประจำจังหวัดว่า "เมืองประมง ดงโรงงาน ลานเกษตร
เขตประวัติศาสตร์" แม้จะเป็นจังหวัดเล็ก ๆ ที่มีเพียง ๓ อำเภอ แต่ความเจริญนั้น
ต้องบอกว่ายิ่งใหญ่ เพราะเทศบาลของสมุทรสาครเป็นระดับ "เทศบาลนคร"
ผมไม่ได้เข้าไปในตัวเมืองสมุทรสาครมานาน คงประมาณสัก ๔ - ๕ ปี ได้แต่ขับรถผ่านไปยังจังหวัดอื่น
พอเข้าไปในปีนี้ ๒๕๕๒ ต้องเรียกว่าตกใจเลยทีเดียว เพราะเจริญจนผิดหูผิดตา
ถนนหลายสายขยายเป็นถนนสี่เลน รถรามากมาย โดยเฉพาะรถขอบนักท่องเที่ยว และเนื่องจากไม่ไกลจากกรุงเทพ
ฯ และถนนพระราม ๒ ก็หายจากความเป็นถนนล้านปีแล้ว จากกรุงเทพ ฯ จึงใช้เวลาวิ่งไม่ถึงชั่วโมง
สามารถวิ่งไปกินอาหารกลางวัน เที่ยวในตัวอำเภอเมือง แล้วไปจ่ายตลาดมหาชัย
ซื้ออาหารทะเลสด ๆ ราคาถูก ๆ วิ่งกลับมาบ้านนำมาประกอบอาหารเย็นได้ทัน
เส้นทาง ตั้งใจจะไปเที่ยวศาลพันท้ายนรสิงห์
ที่ไปเห็นภาพในหนังสือแม็กกาซีนฉบับหนึ่ง มีภาพตำหนักพระเจ้าเสือ และมีพันท้ายนรสิงห์
กำลังถวายบังคมลาตาย ตำหนักแห่งนี้ไม่เคยเห็น ส่วนศาลใหม่ที่สร้างหลังสุดเคยไปเห็นมาแล้ว
จึงอยากไปชมและกินอาหารกลางวัน เที่ยวปิดท้ายด้วยการจ่ายตลาดในตลาดมหาชัย
ผมไปจากบ้านขึ้นทางด่วนสองเด้ง ไปลงถนนพระราม ๒ หรือทางหลวงแผ่นดินสาย ๓๕
วิ่งไปประมาณ ๑๘ กม. จะถึงมหาชัยเมืองใหม่ ที่กำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
วิ่งชิดซ้ายเข้าถนนคู่ขนาน แล้วไปเลี้ยวซ้ายเข้าถนน ๓๒๔๒ วิ่งไปประมาณ ๔ กม.
ผ่านโรงพยาบาลเอกชัย ถึงสามแยกมีไฟสัญญาณให้เลี้ยวซ้าย ข้ามสะพานไปอีกประมาณ
๖ กม. จะชนสามแยก (ถ้าเลี้ยวขวาไปศาลกรมหลวงชุมพร ฯ ไปวัดโกรกกราก เข้าตัวเมืองได้อีกทางหนึ่ง)
ให้เลี้ยวซ้าย เลี้ยวมาประมาณ ๕๐ เมตร หากไปร้านอาหาร ให้เลี้ยวขวาเข้าหมู่บ้าน
วิ่งตรงผ่านหมู่บ้านไปประมาณ ๑ กม. เศษ ชนทะเลจึงถึงร้านอาหารที่อร่อยมาก
ๆ ชื่อพิกล ไปอีกประมาณ ๑๘ กม. โดยจะเลี้ยวซ้ายที่ถนนข้างวัดสหกรณ์โฆสิตาราม
(หากตรงไปจะไปยังทะเลกรุงเทพ ฯ ย่านบางขุนเทียนได้) ตามป้ายไปเรื่อย
ๆ ถนนลาดยางอย่างดี จะคดเคี้ยวไปตามริมบ่อเลี้ยงกุ้ง จนถึงศาลพันท้ายนรสิงห์
ปัจจุบันเปิดทางให้เข้าไปยังวัดศาลพันท้ายนรสิงห์ได้เลย ไม่ต้องอ้อมไป
ผมขอแนะนำร้านอาหารก่อน มื้อกลางวันนี้ได้ชิมแยะ เพราะไปกันหลายคน เส้นทางไปร้านอาหารได้บอกให้แล้ว
ว่าวิ่งผ่านหมู่บ้านโกลด์เดน ซี เข้าไปจนถึงชายทะเล ที่เขาบอกว่า หากมากินมื้อเย็น
จะเห็นพระอาทิตย์ตกลงทะเลงามนัก วันหลังต้องไปใหม่ ไปชิมมื้อเย็น จะได้ดูพระอาทิตย์ล่วงลงทะเล
ห้องอาหารกว้างใหญ่มาก มีทั้งในห้องแอร์ และนั่งตามซุ้มริมทะเล คณะผมหลายคนจึงเลือกนั่งในห้องแอร์
เย็นสบาย
ห่อหมกปลากะพง (สูตรคุณยาย) มีเฉพาะเสาร์ - อาทิตย์ อาหารทุกอย่างตักใส่ปากแล้ว
คงบอกได้เหมือนกัน เพียงคำเดียวว่า "อร่อยมาก หรือมาก ๆ "
เต๋าเต้ย พนักงานบอกว่า มีเต๋าเต้ยสนใจไหม ถามดู กก.ละ ๘๐๐ บาท หากจะชิมต้องสั่ง
๒ หม้อ ๆ ละ ต้องไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ บาท เลยงดรายการนี้ เต๋าเต้ยจารเม็ดสีเทา
หอยพิมแดดเดียว อย่าโดดข้ามไปเป็นอันขาด เพราะหอยพิมมีที่ทะเลสมุทรสาครเท่านั้น
และเมื่อทำแดดเดียวยิ่งอร่อยมาก ทอดแล้วกรอบนิด ๆ แต่นุ่มข้างใน ตอนกลับมาเที่ยววัดโกรกกราก
พอดีพบเรือที่เขานำหอยพิมสด ๆ มาขายกันริมเขื่อนหน้าวัด และขายหมดในพริบตา
ถามว่า กก.เท่าไร ตอบว่า กก.ละ ๘๐ บาท
หอยหลอดผัดฉ่า ผัดกับพริกไทยอ่อน กระชาย พริกชี้ฟ้า หอยหลอดมาจากสมุทรสงคราม
รายการนี้เหมาะสำหรับกินกับข้าว เพราะออกรสเผ็ดนิดๆ
ต้มส้มปลากระบอก รสไทยแท้แต่โบราณเลยทีเดียว ปลาตัวโต ไข่เต็มท้อง
ปลากะพงทอดราดน้ำปลา มียำมะม่วงใส่จานมาให้ด้วย ต้องกินพร้อมกับเนื้อปลา ปลาตัวโต
ทอดนุ่มใน ราดน้ำปลาไว้ให้เค็ม อมเปรี้ยยด้วยยำมะม่วง
ส้มตำปูไข่ หากกินราคาย่อมเยา รสต่างกันกับส้มตำไทย ปูไข่เป็นปูดอง รสเจ็บ
ปูเนื้อผัดผงกะหรี่ ราคาปูในตลาดมหาชัย ตก กก.ละ ๒๐๐ บาท ใช้ปูไข่ตัวใหญ่มากเอามาผัด
ผมเป็นผู้อาวุโส และรู้แหล่งของดีคือ กระดองปู ในกระดองจะมีไข่และเนื้อติด
ขูดเอาออกมา จะชุ่มฉ่ำด้วยรสผัด คลุกข้าววิเศษนัก ตักเข้าปาก ซดต้มส้มตาม
ปูม้าผัดพริกไทยดำ ปูม้าจับมาจากวังกุ้ง เปลือกบาง เนื้อแน่น
กุ้งอบเกลือ เป็นกุ้งแชบ๊วย ผมตั้งชื่อให้เขาใหม่ว่า "กุ้งล้นจาน" เพราะตัวโตมาก
ใส่จานมาล้น เพราะต้องใส่ให้ได้เท่าจำนวนคนที่มานั่งกินคือ คนละตัว ๘ คน
ได้กินอาหารทะเลสด ๆ ปิดท้ายด้วยลอดช่องน้ำกะทิ ผมถามว่า ลอดช่องวัดเจษ ฯ
หรือเปล่า (วัดเจษฎาราม) เพราะเส้นลอดช่องสีเขียวเข้ม เขาบอกว่าใช่
เลยสั่งมา ๒ ชาม เลย
จบรายการมื้อกลางวันแล้ว ไปเที่ยวต่อก่อนจะปิดท้ายด้วยการไปจ่ายตลาดมหาชัย
มีเวลาไม่มาก เลยเที่ยวได้ไม่มาก ได้แค่ฝั่งมหาชัย ไม่ได้ข้ามไปฝั่งท่าฉลอม
ศาลพันท้ายนรสิงห์
ออกจากร้านอาหาร ผ่านมาออกหน้าหมู่บ้านแล้วเลี้ยวขวาไป มีป้ายบอกทางไปศาลเป็นระยะๆ
จนผ่านวัดสหกรณ์โฆสิตาราม ก็เลี้ยวซ้ายไปจนสุดทาง เดี๋ยวนี้ตรงข้ามศาล ฯ มีลานจอดรถกว้างขวาง
มีร้านอาหาร ร้านกาแฟสด ปลูกเรียงรายติดต่อกันหลายร้าน เดินออกจากลานจอดรถ
หากเลี้ยวขวาจะเข้าไปยังวัดศาลพันท้ายนรสิงห์ได้เลย (มีวัดชื่อ วัดพันท้ายนรสิงห์อีกวัดหนึ่ง
อยู่ถนนพระราม ๒ ประมาณ กม.๑๖.๗ เลี้ยวซ้ายเข้าไป)
ศาลพันท้าย ฯ สร้างสวยมาก เป็นศาลที่สร้างใหม่ เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง หน้าศาลสร้าง
ร้านขายดอกไม้ธูปเทียน (ไม่น่าสร้างตรงหน้า เพราะบังความงามของศาล)
ในศาลมีรูปหล่อของพันท้าย ฯ ยืนถือพายคัดท้ายเรือ พวงมาลัยคล้องคอจนเต็ม แถมไม่เห็นร่าง
ด้านซ้ายของศาล ฯ มีวิหารพระพุทธรูป สร้างใหม่เหมือนกัน หลังศาลพันท้าย
ฯ มีทางเดินไปสู่คลองโคกขาม
ที่ได้ชื่อว่าเคยเป็นคลองที่คดเคี้ยว และน้ำเชี่ยวกราก ยากแก่การเดินเรือ
เป็นคลองที่ไหลไปลงอ่าวไทย เมื่อพระเจ้าเสือ เสด็จมาเพื่อทรงเบ็ด โดยเรือพระที่นั่งเอกชัย
พอเสด็จมาถึงตำบลโคกขาม (ปัจจุบันตำบลพันท้ายนรสิงห์) ด้วยความคดเคี้ยวของคลอง
ยากแก่การบังคับเรือ เรือพระที่นั่งพุ่งเข้าชนสิ่งกีดขวาง จนหัวเรือหักตกลงไปในน้ำ
ด้วยความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ พันท้ายนรสิงห์จึงทูลขอให้ลงโทษประหารชีวิต ตามกฎมณเฑียรบาล
แม้จะพระราชทานอภัยโทษให้ พันท้าย ฯ ก็ขอรับผิดชอบในความบกพร่องในหน้าที่
พระเจ้าเสือจึงจำต้องประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะ แล้วสร้างศาลสูงเพียงตาขึ้น
บริเวณที่ปักหลักประหาร นำศีรษะพันท้าย ฯ และหัวเรือพระที่นั่ง ขึ้นพลีกรรมไว้บนศาล
ตรงจุดที่ตั้งศาลเพียงตา และหลักประหาร ปัจจุบันหลักประหารยังปักอยู่ (ไม่แน่ใจว่า
จะเป็นหลักเดิมเมื่อ ๓๐๐ ปีก่อนหรือไม่) สร้างศาลอีก ๒ ศาล โดยมีผู้ศรัทธาคือ
ศาลเสด็จพ่อ และศาลเจ้าแม่ศรีนวล ซึ่งเป็นคนรักของพันท้าย ฯ ศาลอยู่คู่กัน
ใกล้กันมีตำหนักพระเจ้าเสือ ส่วนคลองโคกขามนั้น พระเจ้าเสือได้ให้พระยาราชสงคราม
นำไพร่พล ๓,๐๐๐ คน มาขุดแต่งคลองให้ตัดตรง แต่มาแล้วเสร็จสมัยแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
ในปี พ.ศ.๒๒๕๒ และพระราชทานนามว่า คลองสนามไชย
ต่อมาเปลี่ยนเป็น คลองมหาชัย
และบางทีชาวบ้านก็เรียกว่า คลองถ่าน
คลองจึงตัดตรงแล้ว
วัดศาลพันท้ายนรสิงห์ ติดกับศาล สร้างโดยคณะศิษย์ของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ
ลักษณะของวัดจึงคล้ายกับวัดท่าซุง หรือวัดจันทาราม ที่อุทัยธานี ย่อส่วนลงมา
แต่งดงาม
วัดโกรกกราก
มีโบสถ์เป็นไม้สัก ที่สร้างด้วยไม้เพราะป้องกันการกัดเซาะของไอน้ำเค็ม พระประธานในอุโบสถจะใส่แว่นดำ
เพราะตอนโรคตาแดงระบาด ชาวบ้านไปบนหลวงพ่อขอให้หาย นำน้ำมนต์ไปหยอดตา ปรากฎว่า
หายเลยไปปิดทองที่ตาหลวงพ่อ จนหลวงพ่อเจ้าอาวาสต้องเอาแว่นดำไปใส่ตาหลวงพ่อเสีย
จะได้ไม่มาปิดทองที่ตา ไปวันนี้เปลี่ยนแว่น เป็นแว่นขาวแล้ว ติดกับโบสถ์คือ
ศาลหลวงพ่อกรับ
ไปตลาดมหาชัย
เส้นทางตรงมาจากถนนพระราม ๒ วิ่งมาจนเกือบสุดทางที่ท่าเรือมหาชัย
ก็เลี้ยวซ้ายเข้าถนนแคบ ๆ รถเดินทางเดียว ถนนสายนี้ยิ่งยามเย็นแม่ค้า
พ่อค้าจะมานั่งขายอาหารสด อาหารแห้งกันเต็มสองฟากถนน เหลือที่ว่างไว้ให้รถพอวิ่งผ่านไปได้
หากจะจอดรถต้องวิ่งไปถึงสามแยก ที่จะเลี้ยวซ้ายไปข้ามทางรถไฟ ทางขวามีวัด
มีที่ให้จอดรถได้เก็บค่าจอดรถบำรุงวัด จากสามแยกนี้ไปจนถึงจุดที่แยกมาจากถนนไปท่าเรือ
แผงขายอาหารสด อาหารแห้งเต็มไปหมด และหากไปจวนถึงสามแยกที่เลี้ยวซ้าย ก็จะมีทางเดินเข้าไปยังสถานีรถไฟมหาชัย
ซึ่งจะมีตลาดเพียง ๒ แห่งคือ ที่นี่กับที่สมุทรสงคราม ที่แม่ค้าจะเอาสินค้ามาวางขายบนรางรถไฟ
แต่แม่ค้าจะรู้เวลารถไฟมา และรถไฟออกจากสถานี พอจวนเวลาแม่ค้าก็จะยกสินค้าให้พ้นจากรางรถไฟ
พอรถไฟผ่านไผแล้ว ก็กลับมาตั้งแผงขายสินค้ากันใหม่ ผมไปตอนเย็นแล้ว สินค้าที่เอามาวางจึงมีน้อยเจ้าไป
เคยเห็นวางบนรางรถไฟยาวเหยียด ที่สถานีมหาชัยเรียกว่า "ตลาดยกระจาด" ที่สมุทรสงคราม
เรียกว่า "ตลาดร่มหุบ" เพราะหุบร่มกันแดด แล้วยกหนี
อาหารทะเลสด มีสารพัด เช่น ปลา หอย ปู กุ้ง ที่ชอบใจคือ มีหอยกะพง ที่หากินยากแม้จะมีหลายจังหวัดก็ตาม
แต่หอยพิมหาไม่ได้เลย ผมถึงบอกว่า เข้าร้านอาหารร้านไหน คำแรกให้ถามหาหอยพิมไว้ก่อน
ถ้ามีต้องสั่งหอยพิมแดดเดียว หรือผัดฉ่า
ของฝากจากมหาชัย ไม่มีอะไรวิเศษเท่าอาหารทะเลแห้ง และปลาทู
| บน |