| ย้อนกลับ |

สวนพฤกษศาสตร์ (๒)

            ผมได้เล่าถึงการไปเที่ยวสวนพฤกษศาสตร์ที่อยู่นอกการดูแลของ "กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช" ไปแล้ว ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๓ แห่งคือ สวนหลวง ร.๙ และสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ฯ อ.แม่ริม เชียงใหม่ กับที่ริมถนนกำแพงเพชร ๒ ติดสวนจตุจักร กรุงเทพ ฯ ซึ่งสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางงเจ้าสิริกิติ์ ฯ อยู่ในความดูแลขององค์การสวนพฤกษศาสตร์และองค์การนี้ยังมี "ศูนย์รวมพันธ์ไม้" อยู่ในความดูแลอีกด้วย ได้แก่
                ศูนย์รวมพันธ์ไม้ภาคเหนือตอนล่าง  บ้านร่มเกล้า จังหวัดพิษณุโลก
                ศูนย์รวมพันธ์ไม้ภาคตะวันออก  หินสวยน้ำใส จังหวัดระยอง
                ศูนย์รวมพรรณไม้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ทุ่งพึงพืด จังหวัดขอนแก่น
                ศูนย์รวมพรรณไม้ภาคใต้  ป่าทุ่งหราสูง จังหวัดพังงา
            ทีนี้จะขอเล่าถึงสวนพฤกษศาสตร์ และสวนรุกขชาติที่อยู่ในสังกัด "กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์พืช" ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๗ แห่ง ล้วนแต่อยู่ต่างจังหวัดทั้งสิ้น ซึ่งสวนพฤกษศาสตร์ที่อยู่ในสังกัดของกรมอุทยานนั้น จะมีหน้าที่เหมือนสวนพฤกษศาสตร์ทั่วไป เพื่อใช้เป็นแหล่งการศึกษาทางพฤกษศาสตร์ โดยเฉพาะเป็นศูนย์อนุรักษ์พันธ์ไม้ไทย และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ในสวน ฯ จะปลูกพันธ์พืชทั้งไม้พื้นเมืองและต่างประเทศ โดยจัดแยกหมวดหมู่เป็นวงศ์ และสกุลตามลำดับความสำคัญของชนิดพันธ์ไม้นั้น ๆ และยังมีการขยายพันธ์ อนุรักษ์ รวมทั้งพันธ์พืชใกล้สูญพันธ์ของไทยอีกด้วย กรมอุทยานแห่งชาติ ฯ ได้จัดสร้างสวนพฤกษศาสตร์ไว้ทุกภาคของประเทศไทย แต่จะมีสวนมีขนาดเนื้อที่ประมาณ ๘๐๐ - ๓,๕๐๐ ไร่ ในปัจจุบันมีอยู่ ๗ แห่ง ส่วนอีก ๘ แห่งนั้น เป็นสวนพฤกษศาสตร์ที่รวบรวมพืชจากวรรณคดี และสวนรวบรวมพรรณไม้ป่า ส่วน "สวนรุกชาติ" จะเป็นสวนที่มีเนื้อที่น้อยกว่าสวนพฤกษศาสตร์ สร้างขึ้นเพื่อรวบรวมพรรณไม้นานาชนิดที่มีอยู่ในท้องถิ่น โดยเฉพาะต้นไม้หายากที่มีราคาในทางเศรษฐกิจและไม้ดอกที่หายาก แต่ไม่ได้แยกปลูกเป็นหมวดหมู่เป็นวงศ์เหมือนสวนพฤกษศาสตร์ แต่มีป้ายบอกชื่อพรรณไม้และมีถนนให้เดินชม ความมุ่งหมายในการสร้างสวนรุกขชาติเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจและได้ความรู้ไปด้วย สวนรุกชาติมีขนาดของสวนตั้งแต่ ๒๕ - ๑๐๐ ไร่ ในปัจจุบันทั่วประเทศมีอยู่ ๕๕ แห่ง
            สวนพฤกษศาสตร์ที่เกิดขึ้นเป็นแห่งแรกคือ ภาคกลาง (พุแค)
                สวนพฤกษศาสตร์ภาคใต้ (เขาช่อง)  ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาช่อง อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปตามถนนที่จะไปพัทลุงประมาณ ๒๓ กม. มีเนื้อที่ประมาณ ๑,๐๐๐ ไร่ พื้นที่เดิมเป็นสถานีนวกรรมภาคใต้ ต่อมาเปลี่ยนเป็นวนอุทยานเขาช่องแล้วมาเปลี่ยนเป็นสวนพฤกษศาสตร์ภาคใต้ (เขาช่อง) ภายในสวนมีน้ำตกตามธรรมชาติคือ น้ำตกโตนปลิว น้ำตกโตนน้อย และน้ำตกโตนใหญ่ เรียกรวม ๆ ว่า น้ำตกเขาช่องหรือน้ำตกกะช่อง พื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขาบรรทัด พื้นที่สวนตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นภูเขาแวดล้อมด้วยป่าดิบชื้น มีลำธารน้ำขนาดใหญ่ไหลมาจากน้ำตก ประวัติเดิมเจ้าเมืองตรัง จัดตั้งเป็นอุทยาน และเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘ ได้นำพรรณไม้จากต่างประเทศที่เป็นไม้เศรษฐกิจ และไม้ประดับมาปลูก ส่งเสริมให้มีการปลูกพริกไทย กาแฟ และยางพารา ต่อมาจึงเปลี่ยนมาอยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ จนถึง พ.ศ.๒๕๑๑ จึงจัดตั้งเป็นสวนพฤกษศาสตร์ภาคใต้ (เขาช่อง) และรวมพรรณพืชต่าง ๆ มาปลูกอีกหลายชนิด สมัยผมรับราชการอยู่ที่ อ.ทุ่งสง ซึ่งไม่ไกลจาก จ.ตรัง สวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้เป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่มาเที่ยวกันบ่อย หรือบางทีตื่นเช้าขึ้นมาก็วิ่งรถมากินหมูย่าง และอาหารเช้ากันที่ตรัง ที่ไม่เหมือนใคร ในสวนมีร้านอาหาร มีบ้านพัก มีที่กางเต้นท์ ติดต่อ ๐๘๑ ๓๙๗ ๓๐๕๓ และ ๐๒ ๕๖๑ ๔๘๓๕
            พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาน้ำตกโตนปลิว เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๑
            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เสด็จมาน้ำตกโตนปลิวเมื่อ ๒๕๐๒
                สวนพฤกษศาสตร์ภาคตะวันออก (เขาหินซ้อน)  ตั้งอยู่ที่อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา มีพื้นที่ ๔๐๐ ไร่ เป็นพื้นที่ที่ราษฎรน้อมเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๒ และมีพระราชดำริให้พัฒนาพื้นที่แห่งนี้เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนา ฯ แห่งแรก และเป็นสถานที่ตัวอย่างรวมการพัฒนาทางด้านการเกษตร เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษา และมีการจัดตั้งสวนพฤกษศาสตร์ขึ้นในพื้นที่ เส้นทางไปจากกรุงเทพ ฯ ผ่าน จังหวัดฉะเชิงเทรา ไปตามถนน ๓๐๔ ไปผ่านพนมสารคาม ก่อนถึงทางแยกขวาไปอรัญประเทศ สวนพฤกษศาสตร์เขาหินซ้อนจะอยู่ทางขวามือ หาดเลยไปจะมีศาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า  เป็นศาลใหญ่อยู่ทางขวามือ
                สวนพฤกษศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ดงฟ้าห่วน)  ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี มีเนื้อที่ ๓,๔๐๐ ไร่ พื้นที่เดิมเป็นป่าสงวนแห่งชาติ สวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม สลับด้วยป่าไม้เบญจพรรณ จุดเด่นคือ พื้นที่มีความร่มรื่น มีพรรณไม้นานาชนิด มีไม้พวกยางขึ้นอยู่หนาแน่น มีลำธารน้ำไหลผ่านตลอดปี อีกทั้งยังมีสภาพเป็นป่าที่อยู่ใกล้ชุมชน ห่างจากตัวจังหวัดเพียง ๑๐ กิโลเมตร
                สวนพฤกษศาสตร์สากลภาคใต้ (ทุ่งค่าย)  จังหวัดตรัง สวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖ กรมป่าไม้สำรวจพื้นที่ในท้องที่ภาคใต้ เพื่อจัดตั้งเป็นสวนพฤกษศาสตร์ตามมาตรฐานสากล ได้สำรวจพบว่าสวนรุกชาติทุ่งค่าย ในเขตท้องที่อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง เป็นพื้นที่อยู่ใกล้ชุมชน มีสภาพที่เหมาะสมควรแก่การจัดตั้งเป็นสวนพฤกษศาสตร์สากลได้ จึงได้จัดตั้งขึ้น พื้นที่ของสวนครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติทุ่งค่าย มีเนื้อที่ ๒,๖๐๐ ไร่ ลักษณะเป็นป่าดิบชื้น มีป่าพรุปกคลุมอยู่ถึงร้อยละ ๗.๖ ของพื้นที่
                เส้นทางไปจากตรัง ไปทางสตูล ห่างจากตัวเมืองตรังประมาณ ๑๑ กม.ระหว่างหลัก กม. ๙ - ๑๐  ของทางหลวงแผ่นดิน ๔๐๔ มีบ้านพัก ที่กางเต้นท์ มีเจ้าหน้าที่พาเดินป่าติดต่อ ๐๗๕ ๒๑๘ ๔๓๕ ไปเที่ยวสวนแห่งนี้จะได้พบไม้ป่าปักษ์ใต้ เช่น ต้นเคี่ยม เสม็ด เทพทาโร ส้านใบใหญ่ เฉียงพร้านางแอ ฯ มีเจ้าหน้าที่นำทางเดินชมป่า ๔ คน ต่อนักท่องเที่ยว ๒๐ คน เดินป่าย่านนี้จะได้ต้นไม้ที่หายาก เช่น เกาพรุ หว้าพรุ กล้วยไม้ดิน และหาชมยากจริง ๆ คือ "หม้อข้าว หม้อแกงลิง" เส้นทางเดินชมป่ามี ๒ เส้นทาง ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ดูว่าไปเส้นไหน อย่างไร
                และที่ไม่เหมือนที่ไหนคือ "การปลูกต้นไม้แห่งความรัก" เป็นการปลูกต้นไม้วงศ์ยางคืนสู่ธรรมชาติ โดยจัดที่ดินรกร้างภายในสวน ฯ ปรับปรุงพื้นที่แล้วจัดให้คู่รักหนุ่มสาว พ่อแม่ลูก หรือเพื่อนนักเรียน ร่วมกันปลูกต้นพะยอมไว้ต้นหนึ่ง เป็นอนุสรณ์แล้วเสียค่าดูแลเป็นรายปี โครงการนี้เริ่มเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐ โดยหอการค้าจังหวัดตรัง
                สวนพฤกษศาสตร์ ๑๐๐ ปี กรมป่าไม้  ตั้งอยู่ในเขตรอยต่อระหว่างอำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว กับอำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา มีเนื้อที่มากถึง ๑๙,๐๐๐ ไร่ ไปตามเส้นทางผ่านฉะเชิงเทรา ถึงพนมสารคาม แล้วเลี้ยวขวาไปทางอำเภอท่าตะเกียบ พื้นที่เดิมเป็นพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอ่างฤาไน ในบริเวณเขาตะกรุบ ลักษณะเป็นป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณที่ขึ้นในพื้นที่ราบลุ่ม เป็นป่าผืนใหญ่ที่สุดทางภาคตะวันออกของประเทศ อยู่ในเขตป่ารอยต่อ ๕ จังหวัดคือ ระยอง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี และปราจีนบุรี มีพรรณไม้ที่มีคุณค่านานาพรรณ และสัตว์ป่านานานชนิด กรมป่าไม้จัดตั้งเป็นสวนพฤกษศาสตร์ ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระประสงค์ให้อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่าในพื้นที่รอยต่อ ๕ จังหวัดนี้ เพื่อให้ดำรงสภาพความเป็นต้นน้ำลำธารเอาไว้ จึงจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙
                สวนรุกขชาติมวกเหล็ก  อยู่ในเขตพื้นที่รอยต่อระหว่างตำบลมิตรภาพ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี กับตำบลพญาเย็น อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา มีเนื้อที่ประมาณ ๓๐๐ ไร่ มีธารน้ำตกมวกเหล็ก ซึ่งมีต้นน้ำจากป่าในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ไหลผ่านเป็นเส้นแบ่งเขตจังหวัดตามธรรมชาติ นักท่องเที่ยวเดินข้ามจังหวัดไปได้ ด้วยสะพานแขวนที่มีอยู่ ๒ แห่ง เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยสงบเหมือนเมื่อก่อน เพราะมีร้านค้ามากเกินไปเต็มไปหมด แม้จะแบ่งพื้นที่ให้ก็ตาม สวนรุกขชาติแห่งนี้ร่มรื่นอย่างยิ่ง เพราะมีพรรณไม้นานาชนิด ที่มีอายุมากกว่า ๑๐๐ ปี ทำให้สวนรุกขชาติมวกเหล็กเป็นสถานที่พักผ่อนที่สำคัญ ได้รับการประกาศให้เป็นแหล่งธรรมชาติ ที่มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ให้เป็นมรดกท้องถิ่น และนักท่องเที่ยวนิยมกันมาก อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพ ประมาณ ๑๔๕ กม. ไปตามถนนพหลโยธิน เลี้ยวขวาเข้าถนนมิตรภาพที่สระบุรี ไปอีก ๓๗ กม. ก็ถึงแล้ว และยังมีแหล่งท่องเที่ยวใกล้ ๆ อีกแยะ

                สวนพฤกษศาสตร์ภาคกลาง (พุแค) ทำพิธีเปิดสวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ.๒๔๙๓ ตรงกับวันครบรอบการสถาปนากรมป่าไม้ปีที่ ๕๔ เป็นสวนพฤกษศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย
            สวนพฤกษศาสตร์ภาคกลาง (พุแค)  ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าพระพุทธบาท - พุแค มีพื้นที่ ๓,๗๕๐ ไร่ เป็นสวนที่มีความสมบูรณ์มาก ในสวนรวบรวมพรรณไม้ไว้หลากหลายชนิด แบ่งแปลงปลูกไว้เป็นหมวด หมู่ ตามวงศ์ต่าง ๆ ติดต่อขอเอกสารการท่องเที่ยวได้จากสำนักงาน เส้นทางจากกรุงเทพ ฯ ไปตามถนนพหลโยธิน ผ่านสระบุรีที่ กม.๑๐๘ เลยไปอีก ๑๕ กม. (จะมีถนนแยกขวา ไปเพชรบูรณ์) ให้ตรงไปอีกประมาณ ๕๐๐ เมตร ถนนพหลโยธินจะผ่ากลางพื้นที่สวนพฤกษศาสตร์ ทางซ้ายเป็นที่ทำการและตกแต่งงามด้วยไม้ดอก ไม้ประดับ สระน้ำสวยมาก มีพรรณไม้หลากหลายชนิด ทั้งไม้เดิมในธรรมชาติ และพรรณไม้ที่เก็บรวบรวมมาปลูกเพิ่ม ทางฝั่งขวาของถนนพหลโยธิน เป็นสวนป่าไม้ใหญ่ทั้งสิ้น และริมถนนจะเป็นธารน้ำไหล เหมือนเป็นน้ำตกน้อย ๆ เป็นที่พึ่งของชาวสิบล้อ ที่จะมาอาบน้ำ พักผ่อนกันบริเวณนี้ รถเข้าไปในสวนป่าทางด้านขวานี้ได้ นักเดินทางไม่มีเวลาแวะชม หากจำเป็นก็มีสุขาให้เป็นที่พึ่งได้ สวน ฯ ตั้งอยู่ในพื้นที่ของตำบลพุแค อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี ความริเริ่มในการสร้างสวนพฤกษศาสตร์ ครั้งแรกนั้นคิดที่จะสร้างที่อำเภอพระพุทธบาท ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๔ แต่พื้นที่ที่เลือกได้ขาดแหล่งน้ำ และดินไม่ดี จึงเลือกใหม่ได้ที่ป่าพุแค ชายดงพระยาเย็น พอปี พ.ศ.๒๔๙๒ ก็ได้รับการจัดสรรงบประมาณ มาดำเนินการเป็นปีแรก และมาทำพิธีเปิดในปี พ.ศ.๒๔๙๓ สวน ฯ แห่งนี้ไม่มีที่พัก ไม่มีสถานที่ให้กางเต็นท์ แต่มีอาหารขายพอแก้หิว หากจะพักก็พอมีโรงแรมอยู่หัวถนน ที่จะไปเพชรบูรณ์ และมีที่เพาะพันธุ์ไม้สำหรับแจกให้เอาไปปลูกได้ ส่วนตรงหัวถนนนี้เป็นดงขายมะพร้าวเผา ที่ไม่เหมือนที่ไหนคือ เผาแล้วร้อยเอาไว้เป็นพวงโต กับวุ้นในลูกมะพร้าว
            ท่านที่ติดตามอ่านสารคดี กิน เที่ยว ทั่วไทย ที่ผมเขียนติดต่อกันมาจนขึ้นปีที่ ๕ แล้ว เมื่อ ๒ เดือนที่ผ่านมานี้ผมได้เล่าถึงสมุนไพรเวียดนามที่ชื่อ "ฮว่านง็อก" ซึ่งมีสรรพคุณที่สำคัญยิ่งคือ การรักษาโรคมะเร็ง ที่ผมเองก็เกือบเป็นลำไส้ใหญ่ กินอยู่ ๑๕ วัน เมื่อหมอสั่งให้ไปส่องกล้องฉายไฟดูในลำไส้ใหญ่ ก็ปรากฎว่าพบเนื้องอก ในลักษณะสีแดงเรื่อ ๆ เหมือนแผลใกล้หาย ( หลังจากกินฮว่านง็อก และงดกินเนื้อสัตว์มาแล้ว ๑๕ วัน) เมื่อตัดเนื้องอกไปตรวจก็ไม่พบว่าเป็นมะเร็ง ผมก็กินฮว่านง็อกเรื่อยมา ผลการตรวจเลือดครั้งสุดท้าย C E A  ลดลงเกือบปกติ น้ำตาลในเส้นเลือดลดจาก ๑๒๗ ลงมาเหลือ ๙๔ คลอเรสโตรอล ลดจาก ๒๐๐ เหลือ ๑๗๕ ยูริค ต้นเหตุของโรคเก๊าทปกติ (เดิมต้องยาคุมเอาไว้) เมื่อบางกอกฉบับ ๒๕๒๖ ออกไปลงเรื่องฮว่านง็อก ที่ผมเขียน ทีนี้โทรศัพท์ก็ตามมาขอรายละเอียดเพิ่มเติม บางคนบอกมาจากอุบล ฯ ว่าเขาปลูกไว้แยะ กินประจำช่วยเพิ่มพลังเพศเขาว่าอย่างนั้น และที่แก้ได้แน่นอนคือ ลดน้ำตาลหรือแก้เบาหวาน ผมไปเล่าให้หมอฟัง หมอบอกว่ายาฝรั่งรักษาเบาหวานไม่หายขาด มะเร็งยิ่งรักษายาก ให้กินควบคู่กันไป เพราะคุณหมอท่านนี้นับถือยาสมุนไพรด้วย (อยู่ประจำที่ศูนย์แพทย์ ฯ ) ผมก็เลยเอามาบอกกล่าวไว้อีกที เพราะใครเป็นมะเร็งก็เตรียมสั่งเสียได้ เป็นเบาหวานก็จะมีโรคตามมาอีกหลายโรค และอีกโรคที่ฮว่านง็อก คุมอยู่คือ ความดันโลหินสูง "เบาหวาน ความดัน คลอเรสโตรอล ยูริคสูง ภูมิแพ้ "ฮว่านง็อก ปราบได้ " ผมกล้าบอกเพราะประสบมากับตัวเอง และจากคนที่เขากินแล้วหาย สำคัญที่ตอนกินต้องซื่อตรงต่อตัวเองคือ กินก่อนอาหารสามมื้อ มื้อละ ๗ ใบ วิธีก่อนอาหารก็เอาใบฮว่านง็อกซ้อนกัน ๗ ใบ ใส่ปากกัดเคี้ยวกันสด ๆ เลย อย่าเอาไปคั้นน้ำหรือไปทำแกงเลียง ทำผักจิ้ม น้ำพริก กินแบบนั้นไม่ได้ผล ต้องกินสด ๆ ใส่ปากเคี้ยวกันสด ๆ ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส มีอยู่รายหนึ่งพอได้วิธีกินก็กินทีเดียว ๒๑ ใบในมื้อเดียว ผลคือคันปาก โทรมาฟ้องว่าจะทำอย่างไร  การปลูกก็ง่ายมาก หากซื้อเอาไปเริ่มกินเลย ต้องซื้อสัก ๘ ต้น ใบจึงจะพอกินวันละ ๒๑ ใบ
สตรีที่ยังไม่หมดประจำเดือนก็กินดี พวกเป็นภูมิแพ้ก็บอกว่าได้ผล  ปลูกลงกระถางเอาไว้ก่อนจนโตสักครึ่งเมตรค่อยเอาลงดิน เด็ดใบที่มีตาเริ่มโผล่ออกมาจากโคนใบ จะทำให้แตกกิ่งใหม่เร็ว  ปุ๋ยให้ใช้ขี้ค้างคาวอัดเม็ดหรือขี้วัว รดด้วยน้ำยาปุ๋ยอินทรีย์ "อี เอ็ม" ทุกวันตอนเย็นหรือตอนเช้าก็ได้  ต้องตั้งกระถางให้โดนแดดตอนเช้าสักครึ่งวัน ใบจะเขียวเข้มและแตกใบใหม่เร็ว  การขยายพันธุ์ใช้วิธีตัดยอดให้ยาวสัก ๕ นิ้ว ปักชำในกระบะทรายหรือในกระถางดินก็ได้  ๑๕ วันก็ออกรากแล้ว  ผมแนะนำว่าให้ไปซื้อที่สวนศรัณพันธ์ไม้ แต่อยู่ไกลถึงลพบุรี สวนนี้ขายไม้จริง ไม่ปลอม ที่อื่นก็มีขาย  แต่ที่สวนจตุจักร ผมเดินหาหลายรอบแล้วรวมทั้งว่านขันหมากเศรษฐี
แก้มะเร็งในต่อมน้ำเหลืองก็หายาก (สวนศรัณ ฯ พึ่งมีมาขาย)  ทราบว่ามีฮว่านง็อกที่สวนแถวบางขุนนนท์ และพุทธมณฑลอีกแห่งแต่ไม่ทราบว่าตรงไหน ข้อสำคัญคือกลัวเขาหลอกขาย เอาต้นอะไรมาขายให้แล้วบอกว่าฮว่านง็อก กินเข้าไปพอดีตายจะมาโทษผมเข้าให้ ผมถึงบอกแหล่งว่าของแท้ควรซื้อที่สวนศรัณ ฯ  สวนอยู่ตรงหลัก กม.๑๖๕ ไปตามถนนพหลโยธิน ถึงราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์ แล้วเลี้ยวขวาไปทางไปโคกสำโรง ตามหลัก กม.ไปพอถึงหลัก ๑๖๕  สวนจะอยู่ทางขวามือ หรือโทรไปถามรายละเอียดเขาก่อน เพราะที่สวนนี้เขาส่งให้ทางไปรษณีย์ อีเอ็มเอส ด้วย  ต้นไม้ที่ชำกิ่งได้จับใส่กล่อง ๒ - ๓ วัน ส่งไปไม่ตายเหมือนอบอยู่ในถุงโทร ๐๘๙ ๐๖๕ ๓๑๒๗, ๐๘๖ ๘๑๒๗๐๒๒  แต่ต้องออกค่าส่งให้เขาด้วย  เมื่อซื้อฮว่านง็อกของเขาแล้ว เขามีใบวิธีกินที่คัดลอกเอา
มาจากเอกสารเวียดนามมามอบให้ด้วย ไม่ถือว่าเป็นยา เป็นสมุนไพร คนไม่เจ็บไม่ป่วยก็กินได้ กินแล้วหายจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ อีกรายหายจากมะเร็งในตับ  ส่วนการกินต่างน้ำ (เมื่อเป็นมะเร็ง) นั้นต้องใช้ต้นฮว่านง็อกที่มีอายุ ๒ ปีขึ้นไป ขุดเอามาทั้งราก ทั้งต้น ใบ ตากแห้งเอามาต้มกินต่างน้ำวันละขวดใหญ่ ผมบอกให้ละเอียดแล้ว และเน้นเฉพาะโรคที่ผมเป็นเอง และโรคที่ผมรู้จักกับคนที่เขาเป็น กินจนหายแล้วจึงเอามาเล่าให้ฟัง และผมเลยกินคุมเป็นประจำ ตามภาษาคนวัยคุณปู่ ที่หนีโรคพวกนี้ไม่พ้น ตอบปัญหาที่ท่านถามกันมาเกี่ยวกับต้นฮว่านง็อก สมุนไพรสำคัญ (ราคาไม่แพง ต้นละไม่เกิน ๑๕๐ บาทหรือถูกกว่า) ให้หมดแล้ว คงไม่ต้องมาถามอีก ถามไปที่สวนศรัณ ฯ เป็นสวนขายพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ด้วย เช่น ขนุนไพศาลทักษิณ (นามพระราชทาน)
และมะม่วงนานาพรรณ ฯ
            ไปชิมอาหาร เมื่อไปเที่ยวสวนพฤกษศาสตร์ภาคกลาง (พุแค) ซึ่งเป็นทางผ่านไปนมัสการพระพุทธบาทหรือจะเลยไปซื้อฮว่านง็อกที่ลพบุรี ก็ถือโอกาสชวนชิมริมทางที่ผ่านเอาไว้ด้วย ส่วนตอนเขียนเรื่องฮว่านง็อกนั้นได้แนะนำสวนอาหาร ต้องไปอำเภอโคกสำโรงพอถึง กม.๑๘๘.๕ ก็เลี้ยวขวาเข้าประตูวัด ที่อยู่ตรงข้ามโรงเรียนโคกสำโรง เข้าไปสัก ๔๐๐ เมตร ร้านอยู่ในซอยทางซ้ายมือ จานเด่นยกให้ "เป็ดเสฉวน"
            ร้านสุกี้เจ้าเก่า (สุกี้แพะตุ๋น) เส้นทางผ่านสระบุรี ตรงไปตามถนนพหลโยธิน ผ่านสวนพฤกษศาสตร์พุแค ประมาณ กม.๑๒๓ ตรงต่อ
ไปยังหน้าพระลานประมาณ ๕๐๐ เมตรถึงตำบลหน้าพระลาน มีสามแยกมีไฟสัญญาณ เลี้ยวซ้ายไปอีก ๑๐๐ เมตร ร้านอยู่ซ้ายมือ แขวนป้ายคลีน ฟู้ด กู๊ดเทสท์ ไว้หน้าร้าน  ร้านนี้ตั้งมานาน คงจะกว่า ๕๐ ปี เพราะผมกินมาตั้งแต่ผมเป็นร้อยตรี เวลาไปศูนย์การทหารปืนใหญ่ ต้องผ่านย่านนี้ก็แวะชิม  อาหารที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือสุกี้ ที่น้ำสุกี้ทำไม่เหมือนใคร
            ต้องสั่งสุกี้มีทั้งหมู เนื้อ ไก่ แพะ  จะสั่งมาเป็นชามหรือสั่งเป็นหม้อมีชุดเล็ก ชุดใหญ่  อาหารร้านนี้นอกจากอร่อยแล้วราคายังย่อมเยา สั่งสุกี้หมู หมักหมูจนนุ่มเปื่อยแต่ได้เคี้ยว ใส่ปลาหมึกมาด้วย น้ำจิ้มของเขามีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร บอกได้แต่ว่าอร่อย ซดกันร้อน ๆ ชื่นใจ
            ปลาช่อนผัดคื่นไฉ่ ตำรับจีนต้องมีขิงหั่นใส่มาด้วย มีเต้าเจี้ยว พริกแดง ใบคื่นไฉ่ ต้นหอม ปลาช่อนทอดกรอบนอกนุ่มในแล้วเอามาผัด น้ำผัดเข้าเนื้อปลา  ยกมาตอนร้อน ๆ  กลิ่นหอมโชยฟุ้งขึ้นมาเลยทีเดียว
            หมูป่าผัดเผ็ด หมูป่าขนานแท้แน่นอน หนังหนา เคี้ยวกรุบ ๆ  ผัดมากับพริกแกง เอามาคลุกข้าว ตักเข้าปากแล้วซดสุกี้ตามเข้าไปอร่อยอย่าบอกใคร
            อาหารประจำชาติของผมคือไข่เจียวหมูสับ ทอดมาสีน่ากิน ไว้แนมผัดเผ็ดหมูป่า
            มีอาหารอีกมากมายหลายอย่าง ฝีมือเก่าแก่ ไม่ต้องห่วงความอร่อย แต่ส่วนใหญ่มากินสุกี้

            ของหวานไม่มี ไปไหว้พระแทน ออกจากร้าน กลับออกมาถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายไปสัก ๒๐๐ เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าประตูวัดหน้าพระลาน เข้าไปแล้วทางซ้ายคือ สมเด็จโต สร้างไว้องค์โต ประทับนั่งกับพื้น เลยสมเด็จโต ไปทางขวาจะมีอุโบสถ ด้านหลังอุโบสถกำลังสร้างวิหารหลวงพ่อดำ  วันที่ผมไป ใกล้จะเสร็จแล้ว สร้างสวย หลวงพ่อดำองค์นี้คือ "สมเด็จพระพุทธเจ้าองค์ดำ" ขนาดหน้าตัก ๖๐ นิ้ว แกะสลักด้วยหินแกรนิตสีดำ จำลองมาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์นาลันทา เมืองราชคฤห์ ประเทศอินเดีย ซึ่งมีประวัติว่าพระพุทธรูปองค์ดำนี้สร้างเมื่อสมัยพระเจ้าเทวปาล ระหว่าง พ.ศ.๑๓๕๓ - ๑๓๙๓  เมื่อปี พ.ศ.๑๗๖๖ กองทัพที่ไม่นับถือศาสนาพุทธ บุกเข้ายึดครองอินเดีย และทำลายมหาวิทยาลัยสงฆ์นาลันทา พระพุทธรูป จนหมดสิ้นแล้วจึงยกกองทัพกลับไป พอกลับไปแล้วอาจารย์พระนักศึกษา ออกจากที่หลบซ่อนมาสำรวจพบว่า มีพระพุทธรูปองค์เดียวที่เหลืออยู่ และเมื่อคราวอังกฤษมาค้นหาพระพุทธรูปเพื่อส่งไปอังกฤษ ก็ปรากฏว่า ไม่ได้นำพระพุทธรูปองค์ดำส่งไปด้วย  ประชาชนจึงเห็นว่ามีความศักดิ์สิทธิ์สูง พากันมากราบไหว้ "หลวงพ่อศรี" เจ้าอาวาสวัดหน้าพระลาน ได้ไปนมัสการหลวงพ่อดำ เห็นพระพุทธลักษณะอันงดงาม จึงได้ทำการหล่อจำลองไว้ที่วัดหน้าพระลาน ขนาดเท่าองค์จริง และได้รับพระราชทานตราพระราชลัญจกรณ์ห้าสิบปีกาญจนาภิเษก สถิตไว้ที่กึ่งกลางผ้าทิพย์

....................................................................


| ย้อนกลับ | บน |