ตลาดน้ำบางคล้า

            ตลาดน้ำบางคล้า อยู่หน้าอำเภอบางคล้า (ตรงข้ามเกาะลัด ซึ่งเป็นเกาะน้ำจืด มีเนื้อที่กว่า ๒,๘๐๐ ไร่)  จังหวัดฉะเชิงเทรา เส้นทางไปได้หลายเส้นทาง บ้านใครอยู่กรุงเทพ ฯ ใกล้เส้นทางไหนไปทางนั้น ก็แล้วกัน
            เส้นทางที่ ๑  ไปตามถนนรามอินทรา มีนบุรี เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสุวินทวงศ์ ไปฉะเชิงเทราตัดออกไปยังถนน ๓๐๔ ไปอีกประมาณ ๑๘ กม. แล้วเลี้ยวซ้าย (ตามป้าย) ตามถนน ๓๑๒๑ เข้าไปยังตัวอำเภออีกประมาณ ๕ กม. พอถึงอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช (เขียนตามป้าย)  แยกไปทางซ้าย (ทางขวา คือ ร้านอาหารเก่าแก่ อร่อยเด็ดในเรื่องแฮ่กึ๊น ทางซ้ายร้านขนมเะปี๊ยะ วิ่งไปจนสุดทางเป็นสามแยกให้เลี้ยวขวา จะไปยังที่ว่าการอำเภอบางคล้า อยู่ริมแม่น้ำบางปะกง ซึ่งจะมีการติดตลาดน้ำ ทุกวันเสาร์ - อาทิตย์ และวัดหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เช้ายันเย็น (หากเลี้ยวซ้ายไปประมาณ ๕๐๐ เมตร จะไปวัดโพธิบางคล้า)  วิ่งเลยทางแยกเข้าไป แล้วเลี้ยวซ้ายจะไปยังพระสถูปเจดีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
            เส้นทางที่ ๒  ออกจากบ้านลาดพร้าว ออกจากบ้านลาดพร้าว ตรงไปเข้าถนนพระราม ๙ เข้าทางด่วนมอเตอร์เวย์ วิ่งไปผ่านด่านจ่าย ๓๐ บาท พอถึงประมาณ กม.๔๕.๕๐๐  ก่อนถึงด่านเก็บเงินด่านที่ ๒ แยกซ้ายไปเข้าถนน ๓๑๔  ตามป้ายไปฉะเชิงเทรา พอถึง กม.๑๔.๕๐๐  มีทางแยกซ้ายไปยังตลาดคลองสวนร้อยปี  จะไปเที่ยวตลาดคลองสวน เสียก่อนแล้วมาโผล่เข้าสาย ๓๑๔ ตรงนี้ก็ได้ มาตามถนน ๓๑๔ จนถึงประมาณ กม.๑๘ เลี้ยวขวาตรงสามแยก มีไฟสัญญาณแยกตามป้ายพนมสารคาม วิ่งไปจนข้ามแม่น้ำบางปะกง จะมองเห็นพระวิหารพระพุทธโสธร ไปบรรจบกับถนนสาย ๓๐๔ แล้วเลี้ยวซ้ายไป เลี้ยวซ้ายอีกทีเข้าถนน ๓๑๒๑ ที่ กม.๑๗
               อำเภอบางคล้า  เป็นอำเภอใหญ่อำเภอหนึ่ง ของจังหวัดฉะเชิงเทรา เพราะมีการยุบเอา อำเภอหัวไทร มารวมเป็นอำเภอบางคล้า เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๖  ที่ทำการเดิมตั้งอยู่ที่วัดใหม่บางคล้า ตำบลบางสวน ตรงที่วัดใหม่ ตั้งอยู่เป็นหมู่บ้านแห่งหนึ่ง เรียกว่า บ้านบางคล้า เพราะมีต้นคล้า ขึ้นมากเต็มสองฝั่งคลอง จึงตั้งชื่ออำเภอว่า บางคล้า ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๔ ทางราชการเห็นว่า ที่ตั้งที่ว่าการอำเภออยู่ไกลไป ไม่อยู่บริเวณที่เป็นศูนย์กลางอำเภอ จึงย้ายไปตั้ง ณ ต.เตาสุรา ห่างจากที่เดิมประมาณ ๕ กม. คือ ที่ตั้งตัว อ.บางคล้า ในปัจจุบัน และได้เปลี่ยนนามตำบลเตาสุรา เป็นตำบลบางคล้า ตามนามอำเภอ
                สถานที่สำคัญในตัวอำเภอบางคล้า ได้แก่
 


               วัดโพธิ์บางคล้า  อยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง บริเวณวัดอยู่ทั้งสองฟากของถนน ในส่วนของการก่อสร้างไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัด แต่ที่พอจะปรากฎเป็นหลักฐานคือ อยู่ในเส้นทางเดินทัพของพระยาตากสิน หรือพระยากำแพงเพชร ที่ได้มาพักทัพอยู่ที่บริเวณวัดนี้ หลังจากสู้รบกับพม่า ที่ปากน้ำโจ้โล้ มาแล้ว เป็นการพักทัพก่อนเดินทัพต่อไป ยังบางปลาสร้อย (ชลบุรี)  และเมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ได้กลับมาทำนุบำรุงวัดโพธิ์บางคล้า และประชาชนได้ร่วมใจกันสร้างพระสถูปเจดีย์ จึงสันนิษฐานว่า วัดโพธิ์บางคล้า น่าจะสร้างในตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา และมาบูรณะเป็นวัดสำคัญ ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
                ภายในวัดร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ และในเวลากลางวันจะมี "ค้างคาวแม่ไก่"  ตัวโตมาก จำนวนนับหมื่นเกาะห้อยหัว อยู่ตามต้นไม้ กล่าวกันว่า เป็นค้างคาวพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และผูกพันกับวัดมาก ตอนปี ๒๕๐๙ เจ้าอาวาสมรณภาพ ปรากฎว่า ค้างคาวตกมาตายจำนวนมาก และวันเผาศพ ค้าวคาวบินหนีไปเกาะที่อื่น ไม่มารบกวนแขกที่มาเผาศพเจ้าอาวาส ไปวัดนี้ไปดูค้างคาวยักษ์ ไปที่ท่าน้ำซื้ออาหารปลา หรือขนมปัง ให้อาหารปลาที่ท่าน้ำ ไปที่ศาลาพระพุทธรูป ทำบุญไหว้พระ ไปที่มณฑปจตุรมุข ก่ออิฐถือปูนเก่าแก่ ภายในมีพระพุทธไสยาสน์ หล่อด้วยทองเหลือง และมีจิตรกรรมฝาผนัง ภาพยังสดใส แต่ตัวมณฑปนั้น ได้รับการบูรณะใหม่หมดแล้ว
                   สถูปเจดีย์  ประวัติกล่าวว่า ประชาชนได้สร้างพระสถูปนี้ ขึ้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ครองราชสมบัติแล้ว เพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน ที่พระองค์เดินทัพผ่าน ๓ แห่งด้วยกันคือ ที่ปากน้ำโจ้โล้ ได้รบชนะพม่าที่มีไพร่พลมากกว่ามหาศาล ด้วยการดำเนินกลยุทธทั้งซุ่มโจมตี และเข้าตีตรงหน้า พื้นที่การรบคือ บริเวณปากน้ำโจ้โล้ แต่เจดีย์องค์ดั้งเดิม ถูกน้ำเซาะตลิ่งพัดพังไปหมดแล้ว ได้มีการสร้างขึ้นใหม่ เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง สร้างเอาไว้สวยงามมาก อยู่ติดคลองท่าลาด กับแม่น้ำบางปะกง อีก ๒ แห่ง ที่สร้างอนุสรณ์สถานไว้คือ วิหารวัดแจ้ง และวิหารวัดโพธิ์ บางคล้า
                    พระสถูปเจดีย์  อยู่ริมแม่น้ำตรงข้ามเกาะลัด และเยื้องกับวัดปากน้ำโจ้โล้ ทางเข้าทางขวามีรูปปั้นม้า ทางซ้ายเป็นรูปปั้นช้าง และที่แปลกคือ ไปคราวนี้ได้เห็นศรัทธานำ "รูปปั้นไก่" วางถวายไว้ที่หน้าพระบรมรูป ที่อยู่หน้าพระสถูป ไม่ทราบว่าไก่ไปเกี่ยวกับพระองค์ท่าน เหตุการณ์อะไร
               วัดปากน้ำโจ้โล้  อยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย หน้าวัดมีคลองไหลผ่านมารวมกับแม่น้ำบางปะกง สร้างมาประมาณ ๒๐๐ ปี พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของทัพพม่า ซึ่งมีทั้งทัพบก และทัพเรือ ได้ต่อสู้และพ่ายแพ้ทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
               ตลาดน้ำบางคล้า  อยู่หน้าอำเภอบางคล้า ไม่เคยไปรีบไปเสีย มีอาหารอร่อยมากมาย เป็นตลาดน้ำแบบที่ลำพญา จ.นครปฐม คือ ใช้เรือนแพ ๔ หลังใหญ่ ๆ ลอยต่อกันไปในแม่น้ำบางปะกง มีเรือพ่อค้า แม่ค้า มาลอยขายอาหาร ขายต้นไม้อยู่ริมแพ จอดรถได้ที่ลานจอดหน้าอำเภอ พอลงจากรถก็จะมองเห็นร้านค้าย่อย ที่ไม่ได้ลงไปขายในเรือนแพ ตั้งขายอยู่ริมซอยที่ตัดเข้าหาแม่น้ำ มีมากมายหลายสิบร้านเหมือนกัน ร้านที่เข้าตาทันทีที่ลงจากรถคือ รถเข็น "ขายไอติม กะทิ"  ลงไปในแพ มีทางลงได้ ๒ ทาง ลงไปแล้วก็ต้องยอมยกให้ในด้านความสะอาด ความเป็นระเบียบ และตั้งโต๊ะให้นั่งรับประทานอาหารไว้อย่างดี วางโต๊ะแน่นหนา ไม่เอียงไปตามคลื่นลมของแม่น้ำ และแพสุดท้าย ทางใต้ มีประชาสัมพันธ์ประกาศเชิญชวนให้นั่งเรือเที่ยวรอบเกาะลัด ที่อยู่ตรงข้ามตัวอำเภอ โดยวันธรรมดา มีเรือ ๒ เที่ยว ๑๒.๐๐ - ๑๖.๐๐  วันมีตลาดนัดมีหลายเที่ยว เริ่มตั้งแต่ ๑๑.๐๐ ไปจนถึง ๑๗.๓๐ ค่าเรือผู้ใหญ่ ๖๐ บาท เด็ก ๓๐ บาท ใช้เวลานั่งเรือเที่ยวรอบเกาะ และแวะวัดโพธิ์บางคล้า ด้วย ประมาณชั่วโมงเศษ ๆ มีไกด์คอยบรรยายให้ทราบด้วย หรือจะเช่าเรือเล็กเหมาลำ ก็ได้ เขามีเจ้าหน้าที่ขายตั๋ว อยู่ตรงทางจะลงแพอาหาร
                ในแพอาหาร คงจาระไนไม่ไหว มากเหลือเกิน สังเกตดูร้านที่ขายอยู่ในเรือ จะมีท่าทางอร่อย ๆ ทั้งนั้น เช่น ผัดไท หอยทอด ก๋วยเตี๋ยว ก๊วยจั๊บ รวมทั้งร้านกล้วยไม้ ต้นไม้ก็น่าซื้อกลับมา อีกลำคือ ไอสกรีมโบราณ อีกแผงขายลอดช่องดอกอัญชัน ยกให้อร่อยมาก เฉาก๊วยโบราณ น้ำมะพร้าวอ่อน น้ำดอกอัญชัน ร้านคุณย่า มีขนมถ้วยบอกว่า อร่อยที่สุดในโลก ซื้อมาชิมลดอันดับไปหลายขีด มีวุ้นอร่อย น่ากิน ขนมจีน น้ำพริก น้ำยา ในหม้อ หมูแนมเกาะลัด เรือขนมเบื้องญวน แม่บุญมีผัดไทยโบราณ "ก๋วยเตี๋ยว ปากหม้อน้ำ น่าชิมมาก" หอยทอด โอท๊อป อยู่ในแผงบนบก ใครนักเลงพระ มาหาเช่าพระ เช่าเหรียญได้ในตลาดน้ำแห่งนี้ ผมขอเล่าอาหารในแพไว้แค่นี้ มีมากจริง ๆ
                ร้านอยู่ก่อนถึงพระสถูปเจดีย์ ร้านนี้ผมเคยเขียนไว้ในอร่อยทั่วไทย ไปกับ ปตท.นานกว่า ๕ ปี มาแล้ว ไปเห็นวันนี้ ก็ต้องยกให้ที่จัดสถานที่ดียิ่งกว่าเดิม ทั่วบริเวณร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ ทั้งไม้ประดับ ไม้ใหญ่ และกล้วยไม้ แพอาหารมี ศาลาอาหารอยู่ริมคลองท่าลาด ที่ไหลลงสู่แม่น้ำบางปะกง ความจริงคลองนี้คือ แม่น้ำบางปะกง ในช่วงที่แคบ ไหลมาจากปราจีนบุรี เหมือนแม่น้ำเจ้าพระยา ที่กลายเป็นคลองบางกอกน้อย และคลองบางหลวง เมื่อขุดคลองลัดแล้ว คลองลัดขยายกลายเป็นแม่น้ำไป คงเป็นลักษณะเดียวกันที่ขุดคลองลัด ระหว่างคลองโจ้โล้ กับคลองท่าลาด
                กุ้งแม่น้ำเผา  สั่งมา ๑ กก. ราคา กก.ละ ๗๕๐ บาท ได้มา ๔ ตัว โต ๆ แบ่งกันคนละตัวพอดี เผาแล้วผ่าซีกมาให้เห็นมันสีเหลืองอ่อนที่หัว ตักมันกุ้งจากหัว มาคลุกข้าวร้อน ๆ ราดด้วยน้ำจิ้มที่ให้มา ๒ ถ้วย เป็นซีฟู๊ด ถ้วยหนึ่ง อีกถ้วยพริกตำน้ำส้ม ข้าวก็ร้อน อร่อยอย่าบอกใครทีเดียว สมราคาของกุ้งแม่น้ำ
                ปูหลนทรงเครื่อง  อย่าโดดข้ามไปเป็นอันขาด วางถ้วยหลนมาในจานใหญ่ มีผักล้อม เช่น ถั่วพู แตงกวา ผักกาดขาว ขมิ้นขาว วางผักบนข้าว ตักปูหลนราด ชอบเผ็่ด หยิบพริกขี้หนูมาวางสักเม็ด แล้วค่อยส่งเข้าปาก ควรกินเมื่อ กุ้งเผาหมดจานแล้ว
                ยำผักบุ้งกรอบ  ชื่อ ยำสายธาร เอาผักบุ้งมาชุบแป้งทอดกรอบ ใส่มะม่วงหิมพานต์ กุ้งทอด ไข่เค็ม ผักทอด ประดับด้วยไข่ต้มยางมะตูม วางมาข้างบน น้ำยำ ๓ รส รสหวานนำ ต้องบอกอีกว่าอย่าโดดข้ามไปเช่นกัน เคี้ยวสนุกดีพิลึก
                มาบางคล้า ต้องชิมแฮ่กึ๊น ต้นตำรับที่ทำให้แฮ่กึ๊นบางคล้าดัง  แฮ่กึ๊น ชุบแป้งบาง ๆ ทอดกรอบนอก นุ่มใน จิ้มน้ำบ๊วยเจี่ย หลานไปด้วย ชอบมาก
                ส้มตำ ผ่านแผงส้มตำ ดูน่ากินสั่งส้มตำไทย ไม่ผิดหวัง รสดีมาก แนมมาด้วยผักคือ ถั่วฝักยาว และผักสลัด น้ำส้มตำอร่อย จนต้องตักซด
                มีอาหารแนะนำ ไม่ได้ชิมเพราะไม่มีพุงจะใส่คือ ต้มส้มปลาช่อน ระกำหอม กับแกงส้ม ร่มไม้ ตะเพียนเงิน ตะเพียนทอง จะตามไปชิมอีก
                ปิดท้ายด้วย ลูกจากในน้ำตาลสด กับขนมปังเย็นที่ผมเรียกว่า "ปังแดง" ที่ผมเรียกแบบนี้ เพราะตอนกินที่แพ หน้าวัดแหลม เขาเอาน้ำแดงราดมาบนน้ำแข็งใส แล้วราดด้วยนมสดสีขาว เลยเรียกว่า "ปังแดง"

...............................................


| บน |