อุทยานสามก๊ก

            อุทยานสามก๊ก ตั้งอยู่ที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี อยู่ห่างจากถนนพัทยากลาง ประมาณ ๑๒ กม. ไปเที่ยวอุทยานสามก๊ก ก็คือ การไปพัทยา ผมไม่ได้ไปพัทยามาสัก ๒ - ๓ ปี ไปคราวนี้ เห็นความเจริญของพัทยามากยิ่งขึ้น ถนนที่เรียกว่า พัทยาเหนือ พัทยากลาง พัทยาใต้ ถนนเลียบชายทะเล ซอยเล็ก ซอยน้อย กลายเป็นถนนที่คับคั่งไปด้วยการจราจร หรือจะเรียกว่า ถนนรถวิ่งกันมากเหมือนกรุงเทพ ฯ แต่ขับยากยิ่งกว่าเพราะถนนแคบกว่า และจักรยานยนต์มากเหลือเกิน ขับกันชนิดไม่ค่อยจะคำนึงถึงกฎจราจรเสียด้วย ถนนหลายสายเป็นถนนรถเดินทางเดียว ร้านค้า ร้านอาหารเกิดขึ้นใหม่มากมายกว่าเดิม รวมทั้ง อุทยานสามก๊ก ก็เกิดขึ้นใหม่ ในปี พ.ศ.๒๕๔๕ ด้วย หาซอยเฉลิมพระเกียรติ ๑๙ ซึ่งถนนจะแยกซ้ายไปจากสายพัทยากลาง ตรงสี่แยกที่มีไฟสัญญาณ แล้วเลี้ยวขวาเข้าซอย ๑๙ ไป จะพบร้านอาหารเล็ก ๆ แต่รูปฉลามนั้นตัวโต  ตั้งใจจะพาท่านผู้อ่านไปกินอาหารที่ปรุงจากเนื้อฉลาม ไม่ว่าจะเป็นฉลามน้ำแดง หูฉลามผัดฉ่า ไข่เจียวปลาฉลามสับ แกงป่าปลาฉลาม ต้มยำปลาฉลาม ฯ สารพัดอาหารจากปลาฉลาม ร้านเล็กนิดเดียว เข้าซอย ๑๙ ไปแล้ว อยู่ทางซ้ายมือ แต่ไปคราวนี้ ร้านรวง และรถแน่น จนผมหาซอยไม่เจอ ใครผ่านไปทางถนนพัทยากลาง พอถึงสี่แยกไฟสัญญาณ เลี้ยวซ้ายหาซอย ๑๙ เข้าซอยไปแล้ว จะพบร้าน หรือย้ายไปไหนแล้วก็ไม่ทราบ ไปพัทยาเกือบทุกครั้งผมจะแวะชิม เพราะนาน ๆ จะได้กินอาหารเนื้อฉลาม มีแต่หูฉลามชามละสองพัน
            อุทยานสามก๊ก เปิดมาได้ ๔ - ๕ ปี แล้ว แต่ผมพึ่งเคยไปคราวนี้ ส่วนเมืองจำลองที่อยู่ริมถนนสุขุมวิท ก่อนถึงพัทยากลางประมาณ กม.๑๔๓ เคยไปชมแล้ว  ๒ ครั้ง และหากจะเข้าไปชมควรไปชมใกล้เวลาพระอาทิตย์จะตกดิน แสงอาทิตย์จะสาดส่องมาต้องเมืองจำลองสวยนัก เมืองโบราณที่สมุทรปราการสร้างใหญ่โต เกือบจะเท่าของจริง แต่เมืองจำลองนั้น ย่อส่วนลงมาเหมือนเมืองตุ๊กตา น่ารัก
            เส้นทางไปอุทยานสามก๊ก หากไปจากกรุงเทพ ฯ ขอแนะนำว่า ไปถนนสายมอเตอร์เวย์ จะตรงไปยังพัทยา โดยเมื่อออกจากมอเตอร์เวย์ไปแล้ว (เสียค่าผ่านด่าน ๒ ด่าน ๆ ละ ๓๐ บาท) ก็จะหลุดไปเข้าถนนสาย ๗ เดี๋ยวนี้ถนนสายนี้ มีร้านขายของฝากหลายร้าน อร่อย ๆ พอ ๆ กับที่ตลาดหนองมน ไม่ต้องห่วงแวะตลาดหนองมน เพื่อซื้อข้าวหลาม ซื้อขนม ผมชิมแล้วได้มาหลายร้าน ตรวจร้านของฝากริมถนนสาย ๗ จะอยู่ทางขวามือ เวลาไปพัทยา สำรวจแล้วจำหลัก กม.ไว้ เอาไว้แวะขากลับ ถนนสายนี้หาปั๊มน้ำมันยากด้วย จะได้อาศัยสุขาตามร้านเหล่านี้ได้ ทางหลวงแผ่นดินสาย ๗ จะผ่านทางแยกเข้าสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ผ่านทางแยกไปสวนเสือศรีราชา และหากวิ่งผ่านสวนเสือต่อไป จนผ่านอ่างเก็บน้ำไปจนเกือบสุดทาง ก็จะพบร้านอาหาร ไม่มีสาขามีแห่งเดียวที่ปักป้ายไว้ข้างนอกริมถนนสาย ๗ ทางร้านบอกว่า ไม่ใช่สาขา จะกินไก่หุบบอนก็ต้องมาที่ร้าน วิ่งต่อมาจนชนสามแยก หากเลี้ยวซ้ายไปเลยก็จะไปยัง จ.ระยอง หากเลี้ยวซ้ายแล้ว วกกลับมาก็จะมายังบางละมุง ผ่านฟาร์มจระเข้ แล้วมาเลี้ยวซ้ายเข้าถนนสุขุมวิท ทีนี้ก็จะมาผ่านพัทยาเหนือ ผ่านเมืองจำลอง  อยู่เยื้องกับ รพ.กรุงเทพ ฯ พัทยา ตลาดน้ำสี่ภาค ยังสร้างไม่เสร็จ แต่เปิดขายกันแล้ว พอเลยพัทยาเหนือมา มองไกล ๆ จะเห็นป้าย ร้านแม่ลา ปลาเผาตัวโต เลี้ยวซ้ายตรงทางเข้าไปยังแม่ลาปลาเผา โดยจะผ่านซุ้มประตูสีแดงของสยามคันทรี คลับ ทีนี้ขับเรื่อยไปอีกประมาณ ๑๒ กม. ผ่านหมู่บ้านช้างพัทยา ผ่านอ่างเก็บน้ำมาบประชัน เลยมาประมาณ ๓ กม. จะผ่าน Horse Shoe Point  ตามป้ายไปเรื่อย ๆ ก็จะเข้าไปในอาณาจักรของอุทยานสามก๊ก ซึ่งสร้างอย่างยิ่งใหญ่ ไม่คิดว่าจะมีกำไร หรือมีคนชมมากพอหรือไม่ สร้างแบบคุณเล็ก ที่สร้างเมืองโบราณ สร้างปราสาทสัจจธรรม และสร้างช้างเอราวัณ สร้างไม่ยอมหยุด ที่อุทยานสามก๊ก เข้าลักษณะเดียวกัน สร้างเพื่อเกียรติของผู้สร้าง และวงศ์ตระกูล  สร้างให้เป็นสมบัติของชาติ เพราะดูจากคนที่มาชม ในวันเสาร์ที่ผมไป มีคนไปสัก ๑๐ คน เก็บค่าเข้าชมคนะ ๘๐ บาท และมีพนักงานใหม่ของธนาคารไทยพาณิชย์ ไปทำกิจกรรมกันสัก ๑๐๐ คน แต่ไม่ได้เข้าไปชมในอาคารอุทยาน แต่มีพนักงานทำความสะอาด ดูแลรักษามากกว่า ๑๐ คน สถานที่สะอาดสวยมาก สนามหญ้าตัดเรียบสีเขียวสด เมื่อเข้าไปในอาณาจักร ผ่านห้องขายบัตร แต่อาจจะเป็นเพราะคนมาชมกันน้อย เลยปิดห้องแล้วไปนั่งขายบัตรอยู่ในศาลา พร้อมกับทำหน้าที่ดูแลห้องขายเครื่องดื่ม และขายของที่ระลึกไปด้วย อาจจะดูแลห้องสุขาที่สร้างไว้อย่างดีด้วยก็ได้ เริ่มด้วยสระมังกร พ่นน้ำ แล้วเลี้ยวเข้าประตูตรงไปยังอาคารใหญ่ หรือเก๋งจีนที่เป็นอาคารประธาน ทางขวามีอาคารศาลเจ้ากวนอู ข้าง ๆ อาคารหลังนี้มีลานไม้ ที่กลายเป็นหิน จัดวางไว้หลายท่อน วางอย่างสวยงามกลมกลืนกัน การจัดสนาม ส่วนอาคารประธานคือ อาคารเอนกประสงค์ ประกอบด้วย ๑๘ อรหันต์  ฮก ลก ซิ่ว และพระสังกัจจายน์ เมื่อเข้าประตูมาทางซ้าย และขวา จะมีระเบียงจิตรกรรม เป็นระเบียงยาว ความยาวรวม ๒๒๓.๘ เมตร ตลอดแนวระเบียงเป็นภาพจิตรกรรม วาดกระเบื้องเคลือบดินเผา บันทึกเรื่องสามก๊ก ตอนสำคัญเอาไว้ ๕๖ ตอน
            เริ่มต้นด้วยการเดินตรงไปยังอาคารประธาน ที่สร้าเป็นเก๋งจีน สูงถึง ๔ ชั้น สวยงามอย่างยิ่ง เมื่อผ่านเข้าไปข้างใน จะขึ้นชมได้ทั้ง ๔ ชั้น
            ชั้นที่ ๑ มีรูปหล่อของ คุณเกียรติ ศรีเฟื้องฟุ้ง ผู้ริเริ่มสร้างอุทยานสามก๊ก ได้ริเริ่มแนวความคิด และความมุ่งหมายในการสร้างเอาไว้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๔ แต่คุณเกียรติ ก็จากโลกนี้ไปตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๕  บุตรคนโตคือ คุณชัยคีรี ได้สานฝันของบิดาจนเป็นผลสำเร็จ โครงการอุทยานสามก๊ก ออกแบบโดยอาจารย์จากกรมศิลปากร ๓ ท่าน คือ อาจารย์ธีรวัลย์ วรรธโนทัย อาจารย์รณฤทธิ์ ธนโกเศศ และอาจารย์วโรภาสน์ วรรธโนทัย ยึดหลักสถาปัตยกรรมที่มีการผสมผสาน ระหว่างศิลปะและวัฒนธรรมไทย - จีน ในชั้นที่ ๑ มีรูปปั้น ผลงาน ภาพตระกูล และจดหมายเปิดผนึกของคุณเกียรติ ถึงลูกหลานทั้งฉบับ ข้อความตอนหนึ่งในจดหมายที่ถึงลูกหลานคือ "...จงทำงานกับสิ่งที่ลูกมีอยู่ และเมื่อลูกทำได้พอเพียงแล้ว จงตอบแทนให้สังคม และประเทศชาติ..."
            จัดแสดงรูปปั้นตัวเอกในเรื่องสามก๊ก เช่น เล่าปี่ โจโฉ ซุนกวน ขงเบ้ง จิวยี่ กวนอู เตียวหุย ฯ รวม ๑๒ รูป  ซึ่งมีเพียงชุดเดียวในโลก ใช้เวลาออกแบบแกะสลักด้วยกระเบื้องเคลือบนานถึง ๘ เดือน โดยช่างจากประเทศจีน
            ชั้น ๒ - ๓  ภาพเขียนน้ำมัน เรื่องราวของขงเบ้ง เขียนลงบนผืนผ้าใบ เป็นจิตรกรรมฝาผนังยาวถึง ๑๐๐ เมตร แบ่งเป็นชั้นละ ๘ ตอน รวม ๑๖ ตอน เขียนอยู่ห้าปี (๑๙๙๔ - ๑๙๙๘)  โดยจิตรกรรมชาวจีนชื่อ Zhang Kexin
            บันไดตอนขั้นจากชั้น ๑ ไปชั้น ๒ นั้นหลายขั้น ส.ว.อย่างผมต้องกัดฟันสู้เลยทีเดียว แต่จากชั้น ๒ บันไดไม่มีหลายขั้น แต่ก็ชัน แต่พอหลุดขึ้นไปยังชั้น ๔ ได้ ก็เหมือนขึ้นสวรรค์ทำนองนั้น เย็นสบาย มองทิวทัศน์ได้ทั่วอุทยาน สวยจริง ๆ ทั้งอาคารหลังนี้ มีเจ้าหน้าที่หญิงอยู่คนเดียว อยู่บนชั้น ๔ นี่แหละ ทำความสะอาดด้วย รอบอาคารมีประตูเปิดออกไปสู่ระเบียง รับลมเย็น ชมวิวได้อีกด้วย เจ้าหน้าที่ว่ามีคนเดียวนั่งทำความสะอาดที่ระเบียง ภายในอาคารชั้น ๔ นี้สำคัญยิ่ง เพราะเป็นหอพระแก้ว เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ที่ได้รับมาจาก จ.ลำพูน มีรูปปั้นพระพุทธรูปสำคัญ ๒ องค์คือ พระสังกัจจายน์ และพระตี่จั่งอ้วง มีดอกไม้ธูปเทียนให้กราบไหว้บูชา บริจาคหยอดตู้ตามศรัทธา
            เมื่อลงมาจากชั้น ๔ อาคารประธานแล้ว เดินตามทางเดินไปอาคารทางซ้าย ไปชมลานไม้โบราณและเข้าไปในอาคาร มีรูปปั้นของ ๑๘ อรหันต์ ผมพึ่งทราบประวัติว่า ๑๘ อรหันต์นั้นเดิมเป็นโจร พอกลับใจก็โยนอาวุธทิ้งลงในน้ำ มาคิดได้ว่า หากใครงมขึ้นมาก็จะเป็นอาวุธให้ฆ่าฟันกันอีก จึงโดดน้ำกลับไปงมอาวุธขึ้นมา และสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้ง ๑๘ องค์ หน้าตาท่านแต่ละองค์จึงดุ ๆ ทั้งนั้น
            อาคารพระโพธิสัตว์พระแม่กวนอิม ไปทางซ้ายสร้างด้วยหินอ่อนสูง ๔.๐๕ เมตร รูปปั้นของหัวหน้าเทวดา ท้าวธตรัฐ ท้าววิรูปักษ์ ท้าววิรุฬหก ท้าวกุเวร
            อาคารสุดท้ายที่เข้าชมคือ อาคารศาลเจ้ากวนอู นำแบบมาจากต้นฉบับเดิมที่บอกว่า เหมือนตัวจริงของท่านมาก ใบหน้าดูน่าเกรงขาม มือถือง้าวไม้สักแกะสลัก
            ชมอุทยานสามก๊ก อย่ารีบร้อน ชมอย่างมีเวลา จะได้ทั้งความรู้ความเพลิดเพลินสมกับที่ผู้สร้างได้ตั้งวัตถุประสงค์ไว้ ๓ ประการคือ
            เป็นศูนย์กลางในการถ่ายศิลปะ วัฒนธรรม และเรื่องราวของไทย - จีน
            เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณค่าทางการศึกษาของเมืองพัทยา
            เป็นแหล่งที่ก่อให้เกิดรายได้ เพื่อนำมาใช้เป็นสาธารณกุศล เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาประเทศ โดยผ่านมูลนิธิศรีเฟื้องฟุ้ง
            กลับออกมาจากอุทยานสามก๊ก ตามเส้นทางเดิม จนข้ามทางรถไฟแล้วเลี้ยวซ้าย มีถนนตัดเลียบทางรถไฟ ไปได้นถึงวัดญาณสังวรราม แต่ถนนยังตัดไปไม่ถึง
            ร้านอาหารป่า ผ่านพัทยาใต้ ผ่านบิ๊กซีทางขวา ผ่านโลตัส ทางขวาผ่านอันเดอร์ วอเตอร์เวิลด์  (หากยังไม่เคยชมต้องไปชมให้ได้) ทางขวา ผ่านปั๊มคาลเทกซ์ พอถึงสี่แยกมีไฟสัญญาณ หากเลี้ยวขวาไปหาดจอมเทียน เลี้ยวซ้ายไปชนถนนเลียบทางรถไฟ หัวมุมสี่แยกทางขวาร้าน ๗ อีเลฟเว่น หัวมุมทางซ้ายคือ ร้านดังกล่าว เลี้ยวซ้ายตรงสี่แยกไฟสัญญาณ แล้วจอดรถได้เลย
            แกงป่าไก่บ้าน รสจัด น้ำเข้มข้น ซดตอนยกมาร้อน ๆ เด็ดนัก ราดข้าวก็ได้
            ไข่เจียวปู ปูสับเนื้อไข่แน่น เอาแกงป่าราดบนไข่เจียวปูสับ อร่อยนัก
            หอยโจงโดงผัดฉ่า พึ่งเคยกิน ต้องกินกับข้าว เพราะรสจัด เคี้ยวกรุบ ๆ
            ไก่ทอด ไก่ทั้งตัวทอดกรอบนอกนุ่มใน สับมาเป็นชิ้น ต้องใช้มือจับจึงจะสะใจ เนื้อไม่เหนียวทอดมาสีเหลืองอ่อน หอมกลิ่นกระเทียมเจียว เนื้อนุ่ม
            เสียดายไม่มีพุงจะรับไหว ไม่งั้นจะสั่งไก่บ้านต้มระกำ กับกั้งทอดกระเทียม
            ปิดท้ายด้วยขนมหวาน สาคูเปียกถั่วดำ กับลูกตาลลอยแก้ว หายเผ็ดทันที

...............................................


| บน |