ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ( ในกรุงฯ)

            ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผมวงเล็บให้ทราบว่าในกรุง ฯ จะตามไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ละก็ไปรถแท็กซี่ดีที่สุด หรืออย่างน้อยก็ไปบริการของรถสาธารณะ เช่น รถเมล์ รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้ามหานคร หรือบางแห่งก็ลัดทางไปทางเรือเสียเลยและไม่จำเป็นต้องไปไหว้ให้ครบทั้ง ๙ แห่งในวันเดียวกัน เหมือนการไปไหว้พระ ๙ วัด ( ความจริง ๗ วัด เพราะเป็นศาลหลักเมืองและ ศาลเจ้าพ่อเสือเสีย ๒ แห่ง ) ผมขอทบทวนไปไหว้พระเก้าวัดไว้ด้วย ซึ่งผมเคยเล่าเอาไว้นานมาแล้ว ว่าไหว้พระ ๙ วัดนั้น มีวัดพระแก้วหรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดเชตุพน วัดสุทัศน์ ศาลเจ้าพ่อเสือ ศาลหลักเมือง วัดชนะสงคราม วัดระฆังโฆสิตาราม วัดบวรนิเวศ และวัดสระเกศ( ขึ้นไปไหว้บนภูเขาทอง )
           แต่ต่อมาเห็นทางการท่องเที่ยว วางป้ายเชิญชวนไว้ที่วัดระฆัง คงจะวางหลายแห่ง แต่ผมเห็นที่วัดระฆังฯว่า ๙ วัดของการท่องเที่ยว นั้นไม่มีวัดบวรนิเวศฯ และวัดสระเกศฯ แต่มีวัด กัลยาฯ กับวัด อรุณฯแทน ทางฝั่งธนจึงมี ๓ วัดเรียงกัน คือวัดระฆัง วัดอรุณฯและวัดกัลยาฯ ซึ่งไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมจึงตัดวัดบวรนิเวศฯและวัดสระเกศออกไป ส่วนของผมที่มี ๒ วัดนี้ก็เพราะไปคัดลอกเอามาจากเอกสารหลายฉบับ ก็สุดแล้วแต่ใครจะเลือกไปทางวัดใด ให้ครบ ๙ แห่งก็แล้วกัน
           ๙ วัดยังมีอีก คือ วัดประจำรัชกาล คงจะไม่เปลี่ยนแปลง ขอบอกไว้เลย ส่วนรายละเอียดรอผมไปไหว้อีกครั้งก่อน จึงจะเอามาเล่าให้ฟัง ตอนนี้บอกวัดไว้ก่อน ท่านผู้อ่านท่านใดใจร้อนจะได้ไปก่อน และจะบอกนามเหรียญพระพุทธชุด ๙ วัดแห่งรัชกาลที่ สมาคมศิษย์เก่าแพทย์ศิริราชในพระบรมราชูปถัมภ์ สร้างเหรียญพระพุทธชุดมหามงคลนพเก้า เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ๗๕ พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นเหรียญรุ่นแรกที่ประดิษฐานพระพุทธรูปของ ๙ วัดประจำพระมหากษัตริย์แต่ละรัชกาล คือ
           เหรียญพระพุทธเทวปฏิมากร วัดพระเชตุพน วัดรัชกาลที่ ๑
           เหรียญพระพุทธนฤมิตร วัดอรุณฯ วัดรัชกาลที่ ๒
           เหรียญพระพุทธอนันตคุณอดุลยบพิตรวัดราชโอรสารามฯ วัดรัชกาลที่ ๓
           เหรียญพระพุทธสิหังคปฏิมากร วัดราชประดิษฐ์ วัดรัชกาลที่ ๔
           เหรียญพระพุทธชินราชจำลอง วัดเบญจมบพิตร วัดรัชกาลที่ ๕
           เหรียญพระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศฯ วัดรัชกาลที่ ๖
           เหรียญพระพุทธอังคีรส วัดราชบพิธฯ วัดรัชกาลที่ ๗
           เหรียญพระพุทธตรีโลกเชษฐ์ วัดสุทัศน์ ฯ วัดรัชกาลที่ ๘
           เหรียญสมเด็จพระพุทธญาณนเรศร์ วัดญาณสังวราราม วัดรัชกาลที่๙
           พระพุทธรูปทั้ง ๙ องค์ล้วนมีประวัติสำคัญที่เกี่ยวกับ พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ เพราะใต้ฐานจะมี พระสรีรางคาร หรือ พระบรมอัฐิ ของทุกรัชกาลที่เสด็จสวรรคตแล้ว ท่านที่สนใจจะเช่าบูชาลองโทรติดต่อที่วัดบวร ฯ ๐๒ ๒๘๐ ๓๑๕๑-๒
           ไปนมัสการ ๙ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในกรุงเทพฯ ก่อนเดินทางต้องวางแผนให้ดีๆจะได้ไปเป็นวงรอบ ที่ผมวางไว้นี้ไม่แน่จะไปสะดวกทุกแห่งหรือไม่ เพราะผมเองไม่ได้ไปวันเดียว สัปดาห์ไหนว่างก็ไป บางแห่งไปแล้วก็ไม่ได้ถ่ายภาพมาเช่น วัดพระศรีอุมาเทวีห้ามถ่ายรูป อยากถ่ายก็ถ่ายได้แต่ภายนอก ส่วนบ้านผมอยู่ลาดพร้าวซอย ๗๑ ผมก็ไปที่ตำหนักพระแม่กวนอิม เพราะอยู่ในซอยหรือถนนโชคชัย ๔(แยกจากถนนลาดพร้าว ) ซอย ๓๙ เขตลาดพร้าว และตำหนักพระแม่กวนอิม จะอยู่นอกกลุ่มออกมา
           ๑. ตำหนักพระแม่กวนอิม ถนนลาดพร้าว แยกซ้ายเข้าซอยโชคชัย ๔ แล้วแยกซ้ายเข้าซอย ๓๙ อีกที ตำหนักจะอยู่ทั้งทางด้านซ้ายและขวาของซอย ๓๙ มีพระมหาเจดีย์ที่สูงที่สุดในเอเชียอาคเนย์เป็นพุทธศาสนสถานฝ่ายมหายาน ภายในมีภาพพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิมทุกชั้น มีความวิจิตรงดงามมาก สร้างอยู่หลายปีกว่าจะแล้วเสร็จ สิ่งสำคัญของพระเจดีย์นี้คือ รูปพระแม่กวนอิมพันกรขนาดใหญ่ แกะสลักจากไม้จันทน์หอมที่นำมาจากประเทศจีน ปิดด้วยทองคำงามยิ่งนักสุกปลั่งไปทั้ง ๔ องค์ บริเวณพระมหาเจดีย์ร่มรื่นไปด้วยไม้ดอก ไม้ประดับและสวนหินล้านปีแบบจีนมีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ศาสนสถานแห่งนี้เป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนและเป็นสถานที่อบรมธรรมะ ซึ่งทางตำหนักได้จัดกิจกรรมเพื่อสังคมและประชาชนอย่างต่อเนื่อง ควรแก่การไปสักการะยิ่งนัก
           ๒. หลวงพ่อโต วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร กราบไหว้เพื่อไปขอพร
           หลวงพ่อโต ค่อนข้างจะอยู่นอกกลุ่มเช่นกัน เพราะอยู่ที่วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ต้องลงเรือข้ามฟากไป หรือ ขับรถข้ามสะพานพระปิ่นเกล้าแล้ววิ่งเลียบถนนอรุณอัมรินทร์ตัดใหม่จากสี่แยกพรานนกผ่านทางเข้าวัดระฆังฯไป เขตธนบุรีเคยเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวจีนในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น
           หลวงพ่อโต คือ พระพุทธไตรรัตนายก พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยหรือเรียกแบบจีนว่า ซำปอฮุดกง หรือ ซำปอกง เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ เป็นพระประธานในอุโบสถของวัดฯ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ องค์ที่ใหญ่กว่าและเก่าแก่กว่า คือหลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง จ.พระนครศรีอยุธยาอีกวัดองค์เล็กกว่าอยู่ที่วัดอุภัยภาติการาม( วัดซำปอกง ) อ.เมือง ฉะเชิงเทรา พระซำปอกงที่แท้จริงมีเพียง ๓ องค์เท่านั้น นอกนั้นสร้างจำลองขึ้นมาแล้วเรียกกันไปเอง หลวงพ่อโตเป็นที่เคารพสักการะของชาวไทยเชื้อสายจีนและชาวจีนจากประเทศต่างๆด้วย ( รวมทั้งชาวไทยที่มาขอพรกันจะมากกว่าชาวจีนด้วยซ้ำไป) ในช่วงเทศกาลขึ้นปีใหม่ ตรุษจีนและวันทิ้งกระจาด จะมีผู้คนมาถวายสักการะมากเป็นพิเศษ
           ๓. ศาลหลักเมือง ไปไหว้หลวงพ่อโตแล้วลงเรือข้ามฟากมายังฝั่งพระนครฯไปไหว้ ที่ศาลหลักเมือง ศาลเจ้าพ่อเสือ พระบรมรูปทรงม้า และพระรูปกรมหลวงชุมพรฯ ไปศาลเจ้าพ่อเสือที่ถนนตะนาวกันก่อน
           ศาลหลักเมืองตั้งอยู่ถนนราชดำเนินใน ติดกับกระทรวงกลาโหม เขตพระนครสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ ภายในมีศาลเทพารักษ์เป็นที่ประดิษฐานเทพารักษ์ผู้ดูแลรักษาพระนคร ๕ องค์ด้วยกัน คือ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง เจ้าพ่อหอกลอง เจ้าพ่อเจตคุปต์ และพระกาฬไชยศรี ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯให้ประดิษฐานพระอุเทนทราธิราชและพระสยามเทวาธิราช จำลองไว้ภายในด้วย
           ศาลเทพารักษ์ และศาลหลักเมืองอยู่คนละศาล ตรงกันข้ามห่างกันสัก ๕ เมตร ศาลหลักเมืองอยู่ทางขวา ( หันหน้าเข้าหากระทรวงกลาโหม ) หากไปวันหยุดพอจะหาที่จอดรถได้ รวมทั้งไปศาลเจ้าพ่อเสือที่อยู่ไม่ไกลกันด้วย เครื่องสักการะมีจำหน่ายในบริเวณศาล ชุดละ ๓๐ บาท ประกอบด้วย ดอกไม้ พวงมาลัย ผ้าแพร ๓ สี ธูป เทียนและทองคำเปลว
           ๔. ศาลเจ้าพ่อเสือ อยู่ถนนตะนาว ที่แยกมาจากถนนราชดำเนิน อยู่ตรงข้ามกับถนนมหรรณพ เขตพระนคร ไม่ไกลจากวัดมหรรณฯ(หลวงพ่อทองคำจากสุโขทัยอยู่วัดนี้ ) มีที่จอดรถอยู่ในซอยหลังศาล ศาลเจ้าพ่อเสือเป็นศาลเจ้าเก่าแก่ มีเทพเจ้าประจำศาล ตือ เสียนเทียนชั่งตี้ หรือ เจ้าพ่อเสือ ภายในประดิษฐานรูปเสือ โดยเอากระดูกเสือบรรจุไว้แล้วอัญเชิญดวงวิญาณเสือสถิตไว้ ศาลเจ้าพ่อเสือเป็นที่เคารพนับถืออย่างมากจากชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีน (รวมทั้งชาวไทยด้วย ) การไปกราบไหว้( วันหยุดจะแน่นมาก อากาศแทบจะไม่พอหายใจ ) นอกจากเจ้าพ่อเสือแล้ว ยังมีเจ้าพ่อกวนอูและเจ้าแม่ทับทิมด้วยศาลเปิด ๐๖.๐๐-๑๗.๐๐
           ๕. พระรูปกรมหลวงชุมพร ที่ตั้งมีหลายแห่ง ในกรุงเทพฯนิยมไปกราบไหว้ขอพรกันมากที่วังนางเล้ง ซึ่งเคยเป็นพระตำหนักที่ประทับเมื่อยังทรงพระชนม์ชีพ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี่ราชมงคลพระนครวิทยาเขตพณิชยการพระนคร ถนนพิษณุโลก เขตดุสิต
           พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เป็นพระโอรสองค์ที่ ๒๘ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นราชสกุล “ อาภากร “เป็นผู้ทรงวางรากฐานกิจการของกองทัพเรือและก่อตั้งโรงเรียนนายเรือ จนได้รับขนานพระนามว่า” พระบิดาของทหารเรือไทย” ทรงเป็นที่เคารพนับถือของทหารเรือและประชาชนทั่วไป ซึ่งเรียกขานพระองค์ว่า เสด็จเตี่ย
           สถานที่ตั้งศาลที่นิยมไปกันมากคือ ที่หาดทรายรี จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นที่สิ้นพระชนม์ ส่วนที่กรุงเทพฯพระรูปประทับยืนอยู่กลางแจ้ง
           ๖. พระบรมรูปทรงม้า พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประชาชนเรียกกันจนคุ้นปากว่า พระบรมรูปทรงม้า ตั้งอยู่ ณ ลานพระบรมรูป หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม เขตดุสิต
           พระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้ สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณต่อผืนแผ่นดินและมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงต่อพสกนิกร แม้เมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว ( พ.ศ. ๒๔๕๓ )ก็ยังทรงเป็นที่เคารพนับถือในหมู่ประชาชนตลอดมา
           ชาวไทย ส่วนมากจะเรียกขานพระนามของพระองค์ว่า “เสด็จพ่อ ร.๕ “
           ๗. เทวาลัยท้าวมหาพรหม ที่ตั้งสี่แยกราชประสงค์ เขตปทุมวัน ชาวไทย ชาวต่างประเทศนับถือกันมากทุกวันตั้งแต่ ๐๖.๐๐ – ๒๒.๓๐ จะมีผู้คนมาสักการะบูชาไม่ขาดสาย พร้อมด้วย ดอกไม้ ธูป เทียน ผ้าหลากสี รูปช้างแกะสลัก หรือสำเร็จตามที่ขอก็มาถวายละครรำ เป็นเครื่องบูชาแก่พระพรหมผู้สร้างโลก ตามคติศาสนาพราหมณ์
           ๘. พระตรีมูรติ คือองค์อวตารรวมของพระพรหม( ผู้สร้าง ) พระนารายณ์( ผู้ปกป้องรักษา )และพระอิศวร ( ผู้ทำลาย )ถือว่าเป็นมหาเทพสูงสุดของศาสนาพราหมณ์ยุคใหม่ ชื่อเสียงของพระตรีมูรติโด่งดังมากในหมู่วัยรุ่น ทุกๆวันจะเห็นหญิง( ชายน้อยกว่า )ไปที่หน้าเทวาลัย ด้านหน้าทางทิศเหนือของห้างเซ็นทรัล เวิลด์ ด้านโรงแรมเซ็นธารา เดิมศาลอยู่มุมด้านทิศใต้ เล็งกับพระพรหม เมื่อเซ็นทรัลมาดำเนินกิจการ จึงย้ายที่ตั้งไม่ให้เล็งกับพระพรหมและสร้างศาลพระสังกัจจายณ์ขึ้นด้านหลัง
           ๙. วัดพระศรีมหาอุมาเทวี ชาวบ้านเรียกว่า วัดแขก เป็นวัดในศาสนาพราหมณ์ฮินดูนิกายศักติ ซึ่งนับถือเทพสตรีเป็นใหญ่ ตั้งอยู่ถนนสีลมฝั่งซ้ายตัดกับถนนปั้น เขตบางรัก ภายในมีเจ้าแม่อุมาเทวี หรือ “ องค์พระแม่ศรีมหามารีอัมมัน “เป็นเทพองค์ประธานและยังมีเทพองค์อื่นๆอีกหลายองค์เช่นพระพิฆเณศวร์
           ในช่วงปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคมของทุกปีจะมีพิธี “ นวราตรี “ซึ่งจัดขี้นเพื่อบูชาพระศรีมหาอุมาเทวี จะมีประชาชนทั้งชาวฮินดู ชาวไทย และชาวต่างชาติมาร่วมพิธีกันอย่างมากมาย วัดพระศรีฯเปิดทำการทุกวันเวลา ๐๖.๐๐ – ๒๐.๐๐
           ก่อนจะพาไปชิมอาหารญี่ปุ่น ที่เป็นญี่ปุ่นตามสั่งไม่ใช่แบบใส่กระบะรวมๆกันมา ผมขอบอกบุญด้วยการซื้อหนังสือที่ดีเยี่ยม ผู้เขียนใช้เวลาเขียนนานถึง ๑๑ ปี คือหนังสือ ๑๑๑ ปี ฯพณฯ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา “เชษฐบุรุษ” ๒๙ มีนาคม ๒๕๔๑ ผู้เขียนคือ พล.อ.ไพบูลย์ กาญจนพิบูลย์ อดีตผู้บัญชาการศูนย์การทหารปืนใหญ่ ( เจ้าคุณพหล เป็นนายทหารปืนใหญ่ ) ท่านเจ้าคุณพหล เคยรับราชการอยู่ในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนทหารปืนใหญ่ เมื่อยศพันโท พระสรายุทธสรสิทธิ์ พักอยู่บ้านเลขที่ ๑/๒๔๖๑ ( บ้านหลังนี้ผมเคยพักเป็นคนสุดท้ายเป็นเวลานานถึง ๙ ปี เข้าพักเมื่อคำสั่งรื้อถอนออกมาแล้ว แต่ผมได้มาพัฒนา จนสุดท้ายพล.อ.ไพบูลย์ฯได้ทำเป็นพิพิธภัณฑ์ พระยาพหล ฯ ) พล.อ.ไพบูลย์ เขียนหนังสือเล่มนี้อยู่นาน ได้รวม ชีวประวัติ การเมืองและเศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา ศาสนาและศิลปวัฒนธรรม การทหารฯหนังสือเล่มใหญ่และหนามาก ควรมีไว้เป็นอย่างยิ่งราคาเล่มละ ๑,๕๐๐ บาทมีจำหน่ายตามร้านหนังสือใหญ่ๆทั่วไป หรือโทรถาม สายส่งสุขภาพใจ บริษัท บุคไทม์ จำกัด โทร ๐ ๒๔๑๕ ๒๖๒๑ รายได้ตั้งกองทุนเพื่อการศึกษาของลูกทหารปืนใหญ่
           ร้านอาหารญี่ปุ่นอยู่ในศูนย์การค้าเอสพลานาด ถนนรัษฎา เยื้องๆกับศูนย์วัฒนธรรม ที่ศูนย์ฯนี้เป็นที่ตั้งของโรงละครเมืองไทยรัชฎาลัยเธียเตอร์และโรงภาพยนตร์หลายโรง ขึ้นไป จอดรถที่ชั้น๓ แล้วเดินเข้าไปจนสุดทางที่หน้าโรงภาพยนตร์ ร้านอยู่ทางซ้ายมือ อาหารร้านนี้ทดลองทำมา ๓ปีเพื่อให้รสอาหารไม่เป็นไทยมาก และไม่เป็นญี่ปุ่นมากจนเกินไป เน้นที่วัตถุดิบจากญี่ปุ่นทั้งหมด
           ออเดริฟ จานน้อยมี ๓ ถ้วย ยำสาหร่ายรวมมิตร แซลมอนดรีม และ สลัดม้วนกุ้ง
           วาซาบิ Wasabi เคยเห็นแต่บรรจุไว้ในซองหรือขวด ร้านนี้ใช้หัววาซาบิสด มาขูดด้วยหนังปลาฉลาม ขูดกันต่อหน้าเลยทีเดียว รสเผ็ด หอมน่ากินนัก เป็นพืชปลูกในดิน น้ำใต้ดินไหลมาจากภูเขาฟูจิ ใบเหมือนใบเผือก ใบบัว หัวสดๆ กก.ละ ๒,๐๐๐บ. ปลาดิบ ต้องจิ้มวาซาบิ มีปลา ทามาจิ โทโร หอยปีกนกเคี้ยวกรุบๆ แซลมอน กุ้งหวาน ในจานนี้จะมีใบโอบะ ซึ่งมีกลิ่นหอม ห่อปลาดิบมา เวลากินทาวาซาบิ ใส่โชยุ ใบมีกลิ่นหอม เมื่อจะเปลี่ยนอาหารเป็นจานอื่น ต้องกิน “หัวไชเท้าสับ” เหมือนล้างปาก
           เทมปุระ จานใหญ่มาก มีกุ้ง ๘ ตัว ผัก ทอด ๙ อย่าง คนญี่ปุ่นชอบ วัยรุ่นก็ชอบ เขาบอกว่าบางทีมากัน ๒ -๓ คนสั่งเทมปุระจานเดียว กับข้าวสวยคนละถ้วยก็อิ่ม
           เขาแนะว่าการกินตะเกียบ คีบทางหนึ่ง ไม่มีช้อนกลาง กลับทางตะเกียบเป็นช้อนกลางแทน อาหารยอดนิยม คือ ซาบู มีน้ำจิ้ม ๒ชนิดซ๊อสเปรี้ยว กับซ๊อสงา น้ำซาบู ไม่ใช่น้ำซุปแต่เป็นน้ำเต้าหู้ขาว เสริฟเป็นชามหรือปรุงเอง ปิดท้ายด้วย ปลาหิมะ ย่างและ แก้มปลาบุรี ของหวาน เดรฟ ไอศกรีมเต้าหู้ ไอศกรีมวาซาบิ แปลกอร่อยทุกอย่าง

................................................


| บน |