วัดบางนมโค

            ไปวัดบางนมโค  ไปได้หลายเส้นทาง คือ
                เส้นทางที่ ๑  ไปทางด่วน ขึ้นจุดไหนก็ได้ปลายทาง บางปะอิน  ผมไปจากบ้านลาดพร้าว ขึ้นทางด่วน แจ้งวัฒนะ - บางปะอิน  พอสุดทางด่วนก็ออกเฉียงไปทางซ้าย  ไปบรรจบกับถนนสาย ๙  แล้วเลี้ยวซ้ายไป พอถึงสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา หากจะไปเที่ยวศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ และศูนย์ส่งเสริม ฯ บางไทร  ก็กลับรถใต้สะพานตรงไปแล้วเลี้ยวซ้าย  เมื่อเที่ยวศูนย์ ฯ แล้วจะเลี้ยวซ้ายไปอยุธยาเลยก็ได้  แต่จะไกลหน่อย
                ส่วนเมื่อออกจากทางด่วนเลี้ยวเข้าถนนสาย ๙ แล้ว จะตรงมายังวัดบางนมโคเลย  ก็ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา  พอลงสะพานชิดซ้ายแล้วออกทางซ้าย ตามป้ายเสนาไปลงถนนสาย ปทุมธานี - เสนา  วิ่งมานิดหนึ่งมีปั๊มบางจากทางขวามือ หากจะลองชิม  "หอยครก"  ก็เลี้ยวขวาข้างปั๊มบางจาก หากยังไม่หิวจะรีบไปวัด  ไปกินอาหารที่ตลาดบ้านแพน หรือตลาดอำเภอเสนา ก็ไม่ต้องเลี้ยวไป  ตรงเรื่อยไปจนถึงสี่แยก  ที่สี่แยกนี้หากเลี้ยวซ้ายจะไป ตลาดอำเภอเสนา หากตรงไปจะไป อ.ผักไห่  ถ้าเลี้ยวขวามาประมาณ ๕๐๐ เมตร  ก็จะพบป้ายวัดบางนมโค  ให้เลี้ยวซ้ายเข้าไปยังวัด ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน้อย
                เส้นทางที่ ๒   มาจากกรุงเทพ ฯ  ผ่านรังสิตแล้วเลี้ยวซ้ายไป ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปปทุมธานี  ข้ามสะพานแล้ววิ่งไปถึงสี่แยก หากตรงไปก็จะไปบรรจบกับถนน ๓๔๐  ไปสุพรรณบุรี  ถ้าเลี้ยวซ้ายก็เข้าตัวอำเภอเมืองปทุมธานี  ให้เลี้ยวขวาตรงเรื่อยไปผ่านอำเภอสามโคก แล้วจะซ้ำกับเส้นทางแรกเมื่อข้ามสะพานข้ามถนนสาย ๙   หากไปตามเส้นทางนี้ก็เข้าไปเที่ยวในตัวเมืองปทุมธานีก่อนก็ได้  และระหว่างทางไปสามโคกจะมีวัดมอญอยู่หลายวัด  ล้วนแต่วัดใหญ่ ๆ และริมแม่น้ำเจ้าพระยา
                เส้นทางที่ ๓   จากกรุงเทพ ฯ  ไปเลี้ยวซ้ายเข้าถนนเอเซีย ก่อนถึงทางแยกเข้าอำเภอพระนครศรีอยุธยาจะมีทางเลี่ยงเมือง หากต้องการตรงไปยังวัดบางนมโคเลย ก็ไปตามถนนสายเลี่ยงเมือง ถนนจะไปบรรจบกับถนนสายเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา - เสนา - บรรจบสาย ๓๔๐ เมื่อบรรจบกับถนนสายนี้แล้ว วิ่งตรงไป ๑๙ กม.  จะผ่านวัดวรเชษฐ ที่มุมซ้ายตรงสี่แยก วัดนี้สันนิษฐานกันว่า อาจจะเป็นวัดที่สมเด็จพระเอกาทศรถ สร้างเพื่อถวายพระเพลิงศพสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  แต่ก็ไม่แน่นอนเพราะในตัวเกาะเมือง ก็ยังมีวัดวรเชษฐอีกวัดหนึ่ง
            หากไม่ออกมาตามถนนเลี่ยงเมืองจะเข้าเที่ยวในตัวเกาะเมืองพระนครศรีอยธยาเสียก่อน  ก็เลี้ยวซ้ายออกจากถนนเอเซียตามป้ายไปจนผ่านเจดีย์ยักษ์  ข้ามสะพานสมเด็จพระนเรศวร  ลงสะพานแล้วเลี้ยวขวา  (ความจริงเลี้ยวซ้ายไปก่อน)   ไปตามถนนเลียบเกาะไปจนถึงสะพานข้ามแม่น้ำที่มีป้ายบอกไปวัดกษัตราธิราช  ไปวัดพุทไธสวรรค์ไปเส้นทางเดียวกัน  วิ่งไปทาง อ.เสนา  ก่อนถึงวัดบางนมโคจะผ่านทางเข้าวัดหน้าต่างนอก  ต้องเลี้ยวซ้ายเข้าไปไม่ไกลวัดอยู่ตรงข้ามกับวัดหน้าต่างใน  แต่ที่วัดหน้าต่างนอกนี้ในอดีตก็มีเกจิอาจารย์สำคัญองค์หนึ่งคือ หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก  ซึ่งทางวัดได้สร้างมณฑปของท่านเอาไว้สวยงามควรแก่การไปสักการะบูชา  ผมทราบแต่ว่าท่านดัง แต่ผมไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับหลวงพ่อจง  เลยทางเข้าวัดหน้าต่างนอกไปแล้ว ก็จะถึงทางแยกขวาเข้าวัดบางนมโค  เลี้ยงขวาเข้าไปวัดก่อนถึงมณฑปหลวงพ่อจะมี  โรงให้จอดรถ  ตรงข้ามมีสุขาที่ดีเยี่ยม ทำรูปไว้หน้าห้องเลยว่าห้องคนพิการ หรือคนสูงอายุใช้ห้องไหน  รักษาความสะอาดไว้ดีมาก และเลยห้องสุขาไปทั้งสองด้านคือ ร้านขายกล้วยแขก ข้าวเม่าทอด  มันทอด ร้านทางขวากล้วยแขกอร่อยมาก ร้านทางซ้ายข้าวเม่าทอดอร่อยกว่า  แต่สรุปทั้งสองแผง  กล้วยแขกอร่อย  ส่วนร้านอาหารอร่อย ๆ ตรงบริเวณวัดหาไม่เจอ  มีอร่อยอีกอย่างตอนเลี้ยวขวาจะมาวัด  ทางซ้ายมีแผงขายข้างหลามอร่อยอยู่เจ้าหนึ่ง

            เมื่อเข้าไปในวัดแล้ว  เดินเลยโรงรถไปก็จะถึงมณฑปหลวงพ่อปาน ภายในมณฑปมีรูปเหมือนของหลวพ่อปานประดิษฐานอยู่  ด้านหลังหลวงพ่อคือ โกษบรรจุอัฐิหลวงพ่อปาน  มีรูปเหมือนของหลวงปู่คล้ายอดีตเจ้าอาวาสวัดบางนมโค มีรูปเหมือนของหลวงพ่อแช่ม ที่ภูเก็ต  ไม่ทราบว่าท่านเกี่ยวข้องกันอย่างไร  ทางมุมขวาของมณฑปจะมีพระสงฆ์ผู้มีอาวุโสนั่งคอยรับสังฆทานอยู่ ๑ องค์  เข้ามาภายในมณฑปเข้ามากราบไหว้ บูชารูปเหมือนหลวงพ่อ ส่วนจุดธูปเทียนบูชา ขอให้จุดที่ด้านหน้าของประตูเข้ามณฑป จุดบูชาเสียก่อนแต่เข้ามาเพื่อปิดทองที่องค์หลวงพ่อ
            ด้านขวาของมณฑป คือ ศาลาวัตถุมงคล ที่ศาลานี้จะมีดอกไม้ ธูปเทียน แผ่นทองไว้จำหน่ายแต่ไม่ได้ตั้งราคา ให้หยอดเงินใส่ตู้ตามศรัทธา  มีถังสังฆทานวางไว้หลายขนาด ผู้ที่ต้องการถวายสังฆทาน ก็นำสังฆทานไปได้เลย  ไม่มีคนขาย ราคาไม่ได้บอกไว้เล่นเดียวกับดอกไม้ ธูปเทียน ให้หยอดใส่ตู้ตามศรัทธา ถวายสังฆทานนั้นได้กุศลแรงนัก นำถังสังฆทานไปถวายพระสงฆ์ ในห้องมณฑปที่มุมขวา  หากเราไปก่อนเพล ซื้ออาหารติดมือไปถวายด้วย หรือจะถวายข้าวหลาม กล้วยแขก ข้าวเม่าทอดก็คงจะดีเหมือนกัน  เพราะพระท่านอาจจะเป็นแบบคำว่าใกล้เกลือกินด่าง  คืออยู่ใกล้อาหารอร่อยแท้ ๆ แต่ไม่ได้ฉัน  จะให้พระเดินไปซื้อกล้วยแขกมาฉันก็ดูกระไรอยู่  รวมทั้งการถวายปัจจัยด้วยเงินหยอดตู้เข้าวัด  แต่จะทำบุญพระรับสังฆทาน ก็เอาเงินใส่ซองถวายท่านด้วยก็จะได้บุญแรงขึ้นอีก
            ศาลาวัตถุมงคล  มีรูปหล่อหลวงพ่อปาน ขนาดตั้งแต่เล็กไปจนถึงขนาดหน้าตัก ๙ นิ้ว มีแบบวางหน้ารถ มีเหรียญมีหลายแบบ  แต่พระเครื่องหลวงพ่อปานที่นิยมกันนั้น คือ พระเครื่องที่สร้างพระพุทธเจ้าประทับเหนือสัตว์
            ในศาลาวัตถุมงคล นอกจากมีพระเครื่อง รูปเหมือนหลวงพ่อปานให้เช่าบูชาแล้ว ยังมีภาพของหลวงพ่อปานเป็นภาพใหญ่ขนาด ๒๔ นิ้ว  จำหน่าย ส่วนพระผงพิมพ์ละ ๙๙ บาท หรือแบบใส่กล่องรวมไว้ทุกพิมพ์ก็มี  ส่วนพระผงที่หลวงพ่อปานสร้างไว้ หาเช่าซื้อที่ศาลานี้ไม่มีแล้ว แต่จะมีพวกหน้าม้ามาคอยหลอกขาย  ที่วัดสะตือที่อำเภอท่าเรือก็เคยโดน แต่ที่นั่นผมถามตรง ๆ ว่าพระใหม่ใช่ไหม คนขายยอมรับว่าพระใหม่ไม่ใช่สมเด็จ ฯ สร้าง  ผมเช่าซื้อมาทั้งพวงชอบที่สวยดี และรู้แน่ว่าเป็นของใหม่  บางที่ซื้อของใหม่จริงๆ ที่รู้ที่มาที่ไปดีกว่าซื้อพระมองดูเก่า แต่กลายเป็นพระ "ปลอม"
            ด้านหลังของมณฑปหลวงพ่อปาน  คือ พระเจดีย์ที่บอกว่าบรรจุพระบรมธาตุของพระพุทธองค์เอาไว้  แต่ไม่ค่อยมีใครสนใจไปกราบไหว้บุชา  ล้อมรั้วเอาไว้ และไม่มีป้ายบอกไว้ว่า พระเจดีย์องค์นี้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
            เดินเลยศาลาวัตถุมงคลไปจนถึงประตูเข้ากลุ่มกุฎิสงฆ์  หากผ่านประตูเข้าไปแล้วเลี้ยวซ้ายไปจนสุดทาง  คือกุฏิเก่าของหลวงพ่อปาน ไม่ได้เปิดให้เข้าชม ผมไปยืนถ่ายภาพกุฎิปรากกฎว่า มีพระอาวุโส บอกว่าคุณโยมเข้าไปในกุฎิได้ มีพระชราเฝ้าอยู่ขอให้ท่านเปิดให้ได้  บอกแล้วท่านก็อนุเคราะห์ด้วยการไปบอกพระชรา  (คุยกันทีหลังอายุน้อยกว่าผมอีก)  ว่าให้ช่วยเปิดประตูให้ผมด้วย พระชราเปิดห้องหลวงพ่อปานให้ชม  ไปกราบไหว้รูปเหมือนหลวงพ่อปานในห้อง  ไม่มีเครื่องตกแต่งอะไร  พระชรา (เรียกตามพระอาวุโสเรียก)   เล่าให้ฟังว่า ท่านอยู่กับหลวงพ่อปานมาตั้งแต่เด็ก  ท่านยังไม่ได้บวชเป็นลูกศิษย์วัดปฎิบัติหลวงพ่อ  หลวงพ่อไม่เคยนอนในกุฏิพอเสร็จกิจประจำวัน ซึ่งจะหนักไปทางรักษาคนเจ็บป่วย บางทีก็ดึกดื่น จบแล้วท่านไปนอนหรือไปนั่งสมาธิอยู่ในป่าช้า ด้านหลังของวัด เมื่อก่อนวัดหันหน้าสู่แม่น้ำน้อย  ไปมาคงอาศัยทางน้ำเป็นหลัก  หลวงพ่ออยู่ในป่าช้าจนเช้าจึงกลับมาฉันเช้าแล้ว พักผ่อนไปจนเพล เมื่อฉันเพลเสร็จแล้ว จากนั้นท่านจึงจะรับแขก แขกของท่านส่วนใหญ่คือ บรรดาคนป่วยทั้งหลาย หลวงพ่อก็รักษาให้
            ริมแม่น้ำข้าง ๆ ศาลาการเปรียญ มีต้นตะเคียนคู่ มีศาลเจ้าแม่ตะเคียนสลัดได  ต้นตะเคียน รวมทั้งที่ศาลมีผ้าแดงพันเอาไว้  แสดงว่ามีผู้มีเคารพกราบไหว้กันมาก  (สงสัยมาขอหวย)
            หน้ามณฑป  มีแผงขายสลากกินแบ่ง ติดกับแผงคือ ศาลาท่าน้ำ  มีนวดแผนไทย และมีวังปลาในแม่น้ำน้อย  มีปลากระแหทอง ปลาเทโพ ปลาเสือพ่นน้ำ  ปลาตะเพียนทอง ปลาสวาย ปลากราย

                ประวัติหลวงพ่อปาน  หากจะอ่านให้สนุกและละเอียด คือหนังสือประวัติหลวงพ่อปาน ที่พิมพ์ขึ้นจากการเล่าของหลวงพ่อฤาษีลิงดำแห่งวัดจันทาราม จ.อุทัยธานี ซึ่งท่านเป็นศิษย์ของหลวงพ่อปาน โสนันโท แห่งวัดบางนมโค  หนังสือนี้ไม่มีขาย เล่มโต อยากได้คงต้องหาจากแผงหนังสือเก่า ผมก็ได้มาด้วยวิธีนี้  ท่านเล่าไว้สนุก เพราะเล่าเกี่ยวกับตัวหลวงพ่อฤาษีลิงดำเอง กับเล่าถึงเรื่องของหลวงพ่อปาน เกี่ยวข้องกันไป อ่านแล้วสนุกและได้ความรู้ทางธรรมะไปด้วย
                ส่วนประวัติย่อของหลวงพ่อปาน โสนันโท มีดังนี้
                หลวงพ่อปานถือกำเนิดที่ย่านวัดบางนมโค เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๔๑๘ เป็นบุตรชายคนเล็ก ครอบครัวมีอาชีพทำนา สาเหตุที่ท่านได้รับการตั้งชื่อว่า "ปาน" เนื่องจากท่านมีปานแดงที่นิ้วก้อยมือซ้าย ตั้งแต่โคนนิ้วถึงปลายนิ้ว นับว่าแปลก ไม่มีใครมีแบบนี้
                หลวงพ่อปานอุปสมบทเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๓๘ โดยมีหลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ อำเภอบางบาล อยุธยา เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ฉายา "โสนันโท"
                เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้เข้ามาอยู่ที่วัดบางปลาหมอ โดยมีหลวงพ่อสุ่นเป็นอาจารย์สอนกรรมฐานวิปัสสนา พุทธาคมต่าง ๆ โดยเฉพาะในด้านการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ตลอดจนผู้คนที่ถูกคุณไสย  หลวงพ่อสุ่นถ่ายทอดวิชาให้จนหมดสิ้น จากนั้นไปเรียนพระปริยัติธรรมและภาษาบาลีกับอาจารย์จีน วัดเจ้าเจ็ด ๒ ปี และไปเรียนต่อที่วัดสระเกศ ที่กรุงเทพ ฯ อีกจนจบอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ใช้เวลาอยู่กรุงเทพ ฯ ๕ ปี ขณะที่อยู่กรุงเทพ ฯ ไปเรียนวิชาแพทย์แผนโบราณเพิ่มเติมอีก โดยเรียนที่วัดสังเวช บางลำพู
                ต่อมาไปเรียนด้านกรรมฐานเพิ่มเติมจากหลวงพ่อเนียม วัดน้อย อำเภอบางปลาม้า
                ไปศึกษาเพิ่มเติมกับหลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน อำเภอสองพี่น้อง สุพรรณบุรี  หลวงพ่อโหน่งนี้เล่ากันว่า ท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ผู้ที่จะทราบว่าท่านสำเร็จจริงหรือไม่ก็ต้องเป็นพระอรหันต์ด้วยกัน ปัจจุบันรูปเหมือนของหลวงพ่อโหน่ง อยู่ในมณฑปวัดอัมพวัน วัดนี้ไปตามถนนสาย ๓๔๐ ที่ไปสุพรรณบุรี แล้วแยกไปทางวัดไผ่โรงวัว อยู่เลยวัดไผ่โรงวัวของหลวงพ่อขอมไป ถนนเส้นนี้เลยต่อไปยังสุพรรณบุรี เข้าทางถนนมาลัยแมนได้ เลยเอามาบอกไว้ด้วย
                วิชาการสร้างพระเครื่อง เรียนจากชีปะขาว ที่สร้างพระเครื่อง ๖ พิมพ์ดังได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งชีปะขาวได้มาพบหลวงพ่อในขณะที่เจริญฌานอยู่ในป่าช้าวัดบางนมโค และบอกให้วันละพิมพ์  แต่วิชาการปลุกเสกนั้นหลวงพ่อได้รับการถ่ายทอดวิชาจากอาจารย์แจงฆราวาสที่สวรรคโลก เป็นตำราของพระร่วงเจ้า  การสร้างพระครั้งแรกของหลวงพ่อปานทำ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๐ เพื่อหาทุนมาสร้างเจดีย์ใหม่แทนเจดีย์องค์เดิมซึ่งคือ เจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเอาไว้ เจดีย์เดิมชำรุดทรุดโทรมพังลงมาแล้ว  มรดกอันมีค่าของหลวงพ่อปานที่ท่านให้ไว้ได้แก่
                    ๑. พระหลวงพ่อปาน คือพระผง ๖ พิมพ์
                    ๒. ผ้ายันต์, ยันต์เกราะเพชร
                    ๓. พระคาถาพระปัจเจกะโพธิ์
                การเป่ายันต์เกราะเพชร หลวงพ่อปานได้รับวิชามาจากอาจารย์แจง ฆราวาสชาวสวรรคโลก จากตำราของอาจารย์พระร่วง ผู้ที่จะทำให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ได้ ต้องมีศีลบริสุทธิ์ และมีฌานแก่กล้าจึงจะทำให้ยันต์นั้นเข้าไปสถิตอยู่ในตัวผู้ที่ต้องการได้ ผู้ที่เข้าพิธีแล้วจะได้ทั้งแคล้วคลาด คงกะพันชาตรี "คุ้มกันอันตราย" ข้อสุดท้ายนี้ผมคงได้รับเต็มที่ เพราะเคยเข้าพิธีเป่ายันต์เกราะเพชรจากหลวงพ่อฤาษีลิงขาว วัดฤกษ์บุญมี ที่เป็นศิษย์ของหลวงพ่อปาน พิธีนั้นไม่ได้เป่าคนเดียว เป็นพิธีใหญ่ ทำเพียงปีละครั้ง จะศักดิ์สิทธิ์จริง หรือไม่ต้องอยู่ที่การปฏิบัติของผู้รับด้วย ผมเดินทางไกลตลอด ไปทุกสัปดาห์ ขับรถเองคนเดียว มีภรียาทำหน้าที่เป็นเลขา ฯ คอยจดบันทึกนั่งข้าง ผมไม่เคยได้รับอุบัติเหตุเลยนับตั้งแต่เข้าพิธีเป่ายันต์เกราะเพชรมา จะเคยก็แค่ยางระเบิดครั้งเดียวแต่ก็ไม่เป็นไร จะเป็นก็เหนื่อยตอนเปลี่ยนยางรถ
                พระคาถาปัจเจกะโพธิ์โปรดสัตว์ หลวงพ่อปานได้เรียนมาจากครูผึ้งหรือพึ่งบุญ จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อหลวงพ่อไปนคร ฯ พบกับครูผึ้ง โดยท่านทั้งสองนัดกันทางใน  ท่านผึ้งมาตามนัด แต่งกายโก้นุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงิน ท่าทางสง่าเดินมาหาหลวงพ่อ ซึ่งเวลานั้นครูผึ้งอายุ ๙๙ ปีแล้ว ครูผึ้งก็ได้พระคาถานี้มาจากพระธุดงค์อีกที และสวดภาวนาพระคาถานี้เป็นประจำ ใส่บาตรทำบุญ "ไม่มีใครจนอย่างจนก็พอเลี้ยงตัวรอด" ตักบาตรทุกวัน วันละหนึ่งองค์  หรือเก็บเงินไว้ที่หิ้งพระ เมื่อมีเวลาก็นำเงินไปถวายเป็นค่าภัตตาหารแก่ทางวัดก็ได้ วิธีของผมคือทำบุญสม่ำเสมอและหากมีเวลาจะไปใส่บาตรทุกวันเกิดหรือวันอาทิตย์  ส่วนการว่าคาถานั้น ก่อนเข้านอนกับตอนตื่นนอน หรือตอนสวมพระเข้าคอในตอนเช้า
                หลวงพ่อปานมรณภาพ วันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ เวลา ๐๖.๐๐ ตรงกับวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๔๘๑ อายุ ๖๓ ปี ที่วัดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
                จบประวัติโดยย่อของหลวงพ่อปาน พอจะรวบรวมมาได้เท่านี้ ประวัติหลวงพ่อป่านที่หลวงพ่อฤาษีลิงดำเล่าไว้นั้นอ่านสนุก ทางวัดน่าจะจัดพิมพ์ไว้จำหน่าย
                ตลาดอำเภอเสนา  เส้นทางหากไปวัดบางนมโคก่อน ออกจากวัดก็เลี้ยวขวา มาผ่านสี่แยกเลย ไปนิดเดียวก่อนถึงสะพาน จะมีทางแยกขวาเข้าตัวอำเภอเสนา หรือเข้าตลาดบ้านแพน เลี้ยวขวาไปตามถนนแคบ ๆ ผ่านวัด ตรงต่อไปถึงสี่แยกน้อย ๆ หากตรงไปจะข้ามสะพานไปผักไห่ได้ ให้เลี้ยวขวาวิ่งต่อไปจนถึงหอนาฬิกา (เห็นป้ายวัดบ้านแพนอยู่ที่มุมขวา) ให้เลี้ยวซ้ายจะไปยังลานจอดรถของ บขส.  หากวันราชการจะไปกินอาหารในตลาดบ้านแพน ควรจอดรถแถวลานนี้ หากเลยลานเข้าไปตรงระหว่างซอกอาคาร ก็จะไปออกที่ลานริมแม่น้ำ หน้าอำเภอและหน้า สภ.อ.เสนา  วันหยุด ลานหน้าอำเภอพอหาที่จอดได้  เมื่อจอดรถแล้ว หากยืนหน้า สภ.อ.ตรงหน้าคือแม่น้ำน้อย สมัยก่อนเส้นทางสัญจรจะมีเพียงเส้นทางเดียวคือมาทางเรือเพื่อมายังบ้านแพน ไป อ.โพธิ์ทอง เพราะทางถนนยังไม่มี ผมเคยนั่งเรือ (นอน) มาโพธิ์ทอง และผ่านท่าเรือบ้านแพน ที่กลางดึกจะสว่างไสวด้วยแสงตะเกียงเจ้าพายุ และมีอาหารขาย เช่น ข้าวต้ม  เดี๋ยวนี้ไปทางรถยนต์ชั่วโมงเศษ ๆ ก็ถึงแล้ว

                ตลาดบ้านแพน  เป็นตลาดเก่าแก่ แต่ของกินไม่มากเหมือนตลาดวิเศษชัยชาญ หรือตลาดสามชุก แต่มีร้านอาหารอร่อยมาก ๆ ที่ค้นพบมานานกว่า ๒๐ ปีแล้วอยู่ ๒ ร้าน ร้านอยู่ติดกัน ๒ ร้านนี้ฝีมือทัดเทียมกัน แต่วันนี้ผมพามาชิมร้านจุ้งบริการ ๒ ริมแม่น้ำน้อย ทางซ้ายของ สภ.อ.เสนา จะมีถนนแคบ ๆ รถเข้าไม่ได้ชื่อถนนริมน้ำ เดินเข้าถนนสายนี้และมีป้ายบอก ร้านเก่าแก่ดูสงบเงียบแต่ก็ยังขายอยู่ ชวนชิมไว้ทั้ง ๒ ร้าน
            ร้านจะอยู่ริมแม่น้ำน้อย เสียดายที่ตลิ่งเริ่มพังต้องสร้างเขื่อนคอนกรีตรองรับ ทำให้เสียภาพความงดงามริมแม่น้ำไป มองทางฝั่งตรงข้ามเหลือบ้านโบราณอยู่ไม่กี่หลัง แล้วร้านขนาดห้องเดียว ห้องน้ำแคบมากจนคนอ้วนมากอาจจะเข้าไม่ได้ อาหารรวดเร็ว การบริการดี ราคาพอสมควรเช่น กุ้งแม่น้ำเผา ราคา กก.ละ ๘๐๐ บาท จะได้กุ้งตัวโต ๆ มาเพียง ๓ ตัว อยากกินกุ้งแม่น้ำที่บ้านแพนเป็นแหล่งหนึ่งที่จะได้กินกุ้งแม่น้ำชนิดตัวโต ๆ ชนิดมันเยิ้มสีเหลืองอ่อน คลุกข้าวิเศษนัก
                แกงป่าทอดมัน ไม่เคยเจอที่ไหนมาก่อนเว้นร้านจุ้ง ทอดมันเหนียวหนึบ รสแกงเข้มข้นซดร้อน ๆ หรือจะตักข้าวราดร้อน ๆ อีกนั่นแหละ อร่อยนัก
                สลัดหมู/เนื้อ ย่านอ่างทอง สิงห์บุรี น่าจะรวมอยุธยาเข้าไปด้วย สลัดของเขาจะไม่เหมือนที่ไหน ชุบแป้งบาง ๆ ทอดกรอบผิวนอก นุ่มใน ราดน้ำสลัดน้ำข้น ผักสลัดเขียวสด อร่อยนัก
                ปลาม้าผัดพริกไทยดำ ออกรสเผ็ดนิด ๆ เป็นเผ็ดอร่อย ต้องกินกับข้าวสวย
                ลูกชิ้นปลาลวก เหนียวหนึบ ได้เคี้ยวหนุบหนับ น้ำจิ้มรสแซ๊บ จานเดียวแย่งกันกิน หากไปหลายคน สั่งเอาไว้ ๒ จานเลย ต้องสูตร ๔/๑
                ทอดมันข้าวโพด รสออกหวานนิด ๆ พอจิ้มน้ำส้มจะเข้ากันดีนัก หมดจานไม่รู้ตัว
                ของหวานไม่มี มีเวลาลองเดินตระเวนตลาดบ้านแพนเก่าแก่ดู คงมีขนมหวานให้ชิมเข้าสักร้านจนได้

...................................................



| บน |