วัดเขานางบวช (วัดเขาขึ้น)

               จากหนังสือ พระปรีชาญาณของ ร.๕  (หน้า ๒๘ - ๒๙)  ได้บันทึกไว้ว่า  "พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาส"  วัดเขานางบวช  โดยที่ทรงพระประสงค์ เสด็จประพาสแม่น้ำมะขามเฒ่า  (น่าจะเป็นแม่น้ำท่าจีน ที่เริ่มแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองวัดมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท)  ได้เสด็จประพาสแม่น้ำมะขามเฒ่า เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๑   เมื่อเสด็จไปถึงอำเภอเดิมบางนางบวชมีพระราชประสงค์จะเสด็จไปวัดนางบวช (คงหมายถึงวัดเขานางบวช เพราะต่อมาจึงมีวัดนางบวชอยู่เยื้อง ๆ กัน )  ใบจักรเรือครุฑพันไม้จนใบจักรบิ่น  จึงต้องถอดใบจักรออกมาเปลี่ยนใหม่ ทางที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปยังเขานั้นเล็กและแคบมาก  จึงเสด็จลงเรือศรีเทพออกจากบ้านเดิมบางนางบวช มาถึงบ้านนางบวช ซึ่งมีสะพานยาวไปจนถึงเชิงเขา ที่วัดเขานางบวชมีกุฎิพระมุงด้วยแฝกหลังใหญ่อยู่ ๓ หลัง มีพระสงฆ์จำพรรษาในวันที่เสด็จมานั้นอยู่ ๗ รูป  มีศาลาพักสัปบุรุษและสระน้ำ  ทางขึ้นเขาขึ้นได้สองทาง ตรงขึ้นไปทางเหนือ เลี้ยวอ้อมไปทางจะไม่สู้ชันทางหนึ่ง บนภูเขาไม่ใคร่มีต้นไม้นอกจากไม้รวกทั้งนั้น ฤดูแล้งใบไม้ร่วงทำให้เกิดเพลิงไหม้บ่อย ๆ บนหลังเขา ยาวประมาณ ๓๐ วา ดูเป็นลานกว้างขวางดี บนนั้นมีอุโบสถหลังหนึ่ง ห้าห้องไม่มีหน้าต่าง ก่อเว้นช่วงคล้ายวัดพุทไธสวรรค์ (อยุธยา) หลังคามุงด้วยแฝก พระพุทธรูปหินทรายตั้งอยู่บนชุกชีปิดด้วยทองอย่างดี เต็มไปด้วยฐานชุกชี ผนังโบสถ์ข้างหนึ่งก่อเป็นแท่นเหมือนอาสน์สงฆ์ ตั้งพระพุทธรูป  เป็นพระยืนขนาดใหญ่เป็นฝีมือเก่า ฝีมือดีอย่างโบราณสวมทรงเทริด พระพักตร์ต่าง ๆ กันแต่ชำรุดทั้งสิ้น ทรงพระมหากรุณาเชิญมาปฎิสังขรณ์ เสร็จแล้วส่งมาไว้ที่วัดดังเดิม
            เสมาใช้ศิลาแผ่นใหญ่ ๆ อย่างเสมาวัดกรุงเก่า มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ไปจนกระทั่งเจดีย์และวิหาร สำหรับวิหารพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชสันนิษฐานว่า น่าจะสร้างสองคราวเพราะกระชั้นกับพระเจดีย์นัก ไม่ได้ทิ้งช่องว่างไว้เลย ตัววิหารมีหน้าต่างเล็ก สูงในราวสักหนึ่งศอก กว้างคืบเศษ มีเพียงสองช่องเท่านั้น ท้ายจดเจดีย์ มีทางเข้าไปในองค์พระเจดีย์ ที่ทำกำแพงแก้วมีพระเจดีย์ประจำมุมด้านละ ๘ องค์ พระเจดีย์มีลักษณะเป็นพานแว่นฟ้า ๓ ชั้น ข้างบนตั้ง เป็นพระเจพีย์ปั้นดินเผา มีสีดำบ้าง สีขาวบ้าง เผาแกร่งมาก พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงนำเอาลงเป็นตัวอย่างหนึ่งองค์
            มีศาลายาวหลังหนึ่ง ก่อด้วยอิฐแต่ไม่มีหลังคา ทรงพระราชสันนิษฐานว่าจะเป็นที่จำศีลภาวนาของพระภิกษุ  เหลืออยู่แต่วิหารเท่านั้น ที่มีหลังคาทิวทัศน์ ซึ่งมองข้างบนสู้เขาพระไม่ได้ เพราะมีต้นไม้บังอยู่ข้างหนึ่ง เมื่อขึ้นไปบนยอดเขาทำให้เห็นพื้นที่ข้างล่างว่า เป็นคงไม้ใหญ่แท้จริงไม่ได้ดงไม้อะไร หลังเขาเป็นท้องนาสลับป่าไผ่จนสุดลูกหูลูกตา ไม่มีที่ใดว่างเลย ป่าไผ่มีลักษณะเดียวกับป่าสนเมืองฝรั่ง
            วัดนี้ ถ้าไม่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คงไม่เสด็จประพาสเป็นแน่ เพราะมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ พระองค์จึงเสด็จมา ได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ ทำให้อนุชนรุ่นหลังได้ทราบเรื่องราวของอดีต
            ข้อความในตอนต้นบรรยายถึงลักษณะของวัด และภูมิประเทศนั้น ได้ทรงบรรยายไว้ เมื่อ ๙๘ ปีมาแล้ว หากท่านผู้อ่านจะไปเที่ยวกับผมในวันนี้ จะไม่ได้เห็นภาพภูมิประเทศที่ทรงโปรดบรรยายไว้
            เส้นทาง ผมไปวัดเขานางบวชในวันนี้ ผมไม่ได้ไปตามถนนสาย ๓๔๐ คือ สายจากบางบัวทองไปยังสุพรรณบุรี  (สายนี้ไปสิ้นสุดที่ชัยนาท)  เช่น ตอนไปตลาดร้อยปี ที่อำเภอสามชุก และเลยไปบึงฉวาก ไปทุ่งดินดำรีสอร์ท ที่อำเภออู่ทอง ไปดอนเจดีย์ ไปวันนี้ไปคนละเส้นทางกัน  เป็นเส้นทางเดียวกับไปตระเวนเที่ยวค่ายบางระจัน เที่ยววัดแล้วไปกินอาหารที่ชุมชนวัดกลาง แต่คราวนี้ผมไปจากสิงห์บุรี ซึ่งหากเดินทางไปจากกรุงเทพ ฯ ก็ไปตามถนนสาย ๓๔๐ บางบัวทอง - สุพรรณบุรี  จะไปผ่านทางแยกซ้ายเข้าอำเภอบางปลาม้า ผ่านทางแยกซ้ายเข้าตัวจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ไปเที่ยวในตัวเมืองแล้ว อย่าตกรายการไปไหว้ หลวงพ่อโตที่วัดป่าเลไลยก์ หรือบางทีก็เรียกกันว่า ป่าลิไลยก์ ไปขึ้นหอบรรหาร - แจ่มใส  ชมเมืองซึ่งหอบรรหาร ฯ แห่งนี้ จะอยู่ในสวนภัทรราชินีที่สวยนัก ผ่านตัวเมืองสุพรรณบุรีไปแล้ว ก็ถึงอำเภอศรีประจันต์ ซึ่งจะมีทางแยกซ้ายไปยังอำเภอดอนเจดีย์  มีอาหารอร่อย ทั้งแพอาหาร และก๋วยเตี๋ยวเป็ด เลยจากอำเภอศรีประจันต์ไปอีก ๑๘ กม. ก็จะถึงอำเภอสามชุก ที่กำลังบูมตลาดร้อยปี หนังสือนำเที่ยวเล่มไหนไม่ได้เขียนถึงเรียกว่า เชยไปเลย  เลยสามชุกไปอีกไม่กี่ กม. ก็จะถึงสามแยก  หากเลี้ยวขวาจะมายังอำเภอค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี  แต่หากตรงไป วัดนางบวช จะอยู่ทางซ้ายมือ ไปกลับรถมาจะมีทางเข้าวัดเขานางบวช  จะไปวัดต้องขับรถขึ้นเขาไปสนุกดี  เส้นทางไม่ชันรถเก๋งวิ่งขึ้นได้สบาย
            แต่ผมไปจากตัวเมืองสิงห์บุรี จึงไปผ่านวัดพระนอนจักรสีห์  วัดหน้าพระธาตุ เก่าแก่มาก อยู่หน้าวัดพระนอน ฯ ผ่านวัดพิกุลทอง ของหลวงพ่อแพ  ไปผ่านวัดยายสร้อย เลยไปต่อก็จะผ่านวัดยาง  ผ่านค่ายโพธิ์สามต้น ทางซ้าย และอนุสาวรีย์วีรไทยผู้กล้าชาวบางระจัน อยู่ทางขวามือตรงเรื่อยไป มีหักเลี้ยวบ้างแต่มีป้ายบอกก็จะไปยังอำเภอเดิมบางนางบวชได้  จะได้ชมวังมัจฉาในแม่น้ำสุพรรณ หรือแม่น้ำท่าจีนด้วย
            สงครามในประวัติศาสตร์ไทย ที่ "พิมาน แจ่มจรัส" เขียนได้เล่าไว้ว่า
                "เรื่องประหลาดเกิดขึ้นที่เมืองวิเศษชัยชาญ คือ นายแท่น นายอินนายเมือง นายโชติ ทั้ง ๔ คนนี้ เป็นชาวบ้านศรีบัวทอง แขวงสิงห์บุรี กับนายดอก นายกลับ นายทองแก้ว บ้านโพธิ์ทะเล ซึ่งเป็นชาววิเศษไชยชาญ  ได้ร่วมมือกันฆ่าพม่าตายไป ๒๐ คน แล้วพากันหนีไปยังบ้านบางระจัน โดยมีชาวบ้านไปร่วมสมทบด้วยเป็นอันมาก  คนไทยกลุ่มนี้ได้นิมนตพระอาจารย์ธรรมโชติ วัดเขานางบวช แขวงเมืองสุพรรณให้มาคุ้มครองทางไสยศาสตร์ อยู่ที่วัดโพธิ์เก้าต้น  แล้วตั้งซ่องสู้พม่ามีกำลังพล ๔๐๐ คน มีหัวหน้า ๕ คน  คือ ขุนสรรค์ พันเรือง นายทองเหม็น นายจันทร์หนวดเขี้ยว และนายทองแสงใหญ่  ตั้งค่ายรอบบ้านบางระจัน ๒ ค่าย"  พม่าได้ยกทัพไปปราบถึง ๗ ครั้ง พม่าต้องแตกพ่ายไปทุกครั้ง  ครั้งที่ ๘ มีมอญคนหนึ่ง ชื่อ "สุกี้"  อยู่เมืองไทยมานาน อาสาพม่าขอเป็นแม่ทัพยกมาตีค่ายบางระจัน สุกี้รู้ว่าหากเข้าตีอีกก็จะแพ้ฝีมือชาวบางระจัน จึงใช้วิธีตั้งค่ายแข็งแรง และเอาปืนใหญ่ยิงเข้าไปในค่ายไทย  ไทยไม่มีปืนใหญ่จึงขอไปยังกรุงศรีอยุธยา ทางกรุง ฯ กลับกลัวว่าหากส่งปืนใหญ่ไปจะถูกพม่าตีชิงเอาปืนไปเสีย ส่งแต่พระยารัตนาธิเบศร์ ไปช่วยหล่อปืนใหญ่ให้ (สงสัยว่าไม่ใช่ช่างชำนาญการหล่อปืนใหญ่)  เรี่ยไร เอาภาชนะทองเหลืองของชาวบ้านจะหล่อปืนให้ได้ ๒ กระบอก  แต่ด้วยความรีบร้อนหรือน่าจะหล่อไม่เป็น เลยร้าวยิงไม่ได้ สุกี้จึงปลูกหอสูงเอาปืนใหญ่ตั้งจังก้า ยิงถล่มเข้าไปในค่ายไทย  ทางพื้นดินก็ขุดอุโมงค์เข้าไปประชิดค่าย แล้วยกทัพเข้าจู่โจม  "ผล "นักรบ ค่ายบางระจัน ตายเกือบหมดทั้งค่าย ไม่ว่าชาย หญิง หนีรอดไปได้เป็นส่วนน้อยเต็มที บางฉบับก็บอกว่าชาวค่ายบางระจันตายหมดทุกคน ไม่มีใครรอดชีวิตไปได้เลย เว้นแต่จะหาศพของพระอาจารย์ธรรมโชติ พระองค์เดียวของค่ายบางระจันไม่พบ แต่มาปรากฎภายหลังว่าท่านกลับไปหลบพม่า อยู่ที่ห้องใต้วิหารของวัดเขานางบวช ค่ายบางระจัน แตกเมื่อ พ.ศ.๒๓๐๙  ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยาแตกหลังจากเป็นเมืองหลวงมานานถึง ๔๑๗ ปี โดยพม่าล้อมเมืองอยู่นานถึง ๑๔ เดือนเต็ม  หากไทยสามัคคีกันพม่าไม่มีวันตีได้ เพราะเพียงฝีมือชาวค่ายบางระจัน ยังตีพม่าแตกไปถึง ๗ ครั้ง

         วัดเขานางบวช  จึงมีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ ลองมาทราบประวัติศาสตร์ของท่านดูบ้าง  นามเดิมของท่านชื่อ "โชติ"  เมื่อบวชแล้วจึงได้นามว่า  "ธรรมโชติรังษี"  เกิดวันพฤหัสบดี ปีมะโรง เดือน ๗  พ.ศ.๒๒๔๓  ในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา ที่เมืองนครพนม บิดาเป็นเชื้อสายเจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ นามสมเด็จเจ้าภิรมย์  เมื่อท่านอายุได้ ๙ ขวบ บิดาได้อพยพมาอยู่ที่บ้านเดิมบาง อันเป็นภูมิลำเนาเดิมของมารดา ท่านชอบยิงนก ตกปลา เข้าป่าล่าสัตว์ เรียนเพลงอาวุธ เวทย์มนต์คาถาจากบิดาของท่าน และจากพระอาจารย์เขมร ท่านแต่งงานเมื่ออายุ ๑๙ ปี มีบุตร ๒ คน คนโตตายตั้งแต่คลอด คนเล็กตายในศึกบางระจัน ได้บวชเมื่ออายุ ๒๒ ปี ที่วัดยางอำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง จำพรรษาอยู่ ๖ ปี  ออกแสวงหาความวิเวก จึงไปอยู่ในถ้ำบนเขานางบวช ให้ชื่อว่า "เขาขึ้น" ก่อนหน้านั้นในสมัยสุโขทัย "ชบา"  นางสนมของพระร่วงเจ้าได้เบื่อหน่ายในเพศ ฆราวาสได้มาบวชจำพรรษาอยู่ในถ้ำแห่งนี้ จึงเรียกกันต่อมาว่า เขานางบวช
            กิจวัตรที่พระอาจารย์ธรรมโชติปฎิบัติหลังออกพรรษา นับตั้งแต่เดือน ๓ ของทุกปี  ท่านจะออกธุดงค์ไปเพื่อนมัสการปูชนียสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา บุกป่าผ่าดง พักตามป่า ตามเขา ตามถ้ำทั้งในประเทศ และประเทศใกล้เคียง เช่น  ไปนมัสการพระนอนจักรสีห์ ไปพระพุทธบาท พระพุทธฉาย พระธาตุพนม หลวงพระบาง แล้วมาจำปาศักดิ์ มาเยี่ยมญาติของท่านซึ่งเป็นดินแดนแห่งปิตุภูมิ ท่านผ่านไปทางไหนก็ถือโอกาสเผยแพร่พระธรรม ไปด้วยจนได้นามว่า "ผู้พิทักษ์ธรรม"   และสำเร็จวิชากสิณชั้นสูง มีลูกศิษย์ ลูกหามากมาย
            เมื่อชาวค่ายบางระจัน มาอาราธนาท่านไปอยู่ วัดโพธิ์เก้าต้น ท่านจึงลงผ้าประเจียด ตะกรุด พิศมร แจกจ่ายนักรบค่ายบางระจัน ให้เกิดความฮึกเหิมเกล้าเข้ารบ ไม่กลัวตาย เมื่อค่ายบางระจันแตก เข้าใจว่าท่านใช้วิชากสิณชั้นสูง กลับไปวัดเขานางบวชแล้วหลบซ่อนอยู่ในอุโมงค์ใต้วิหาร เป็นอุโมงค์ที่กว้างพอจะเข้าไปอยู่ได้สัก ๕ - ๖ คน
            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสเขานางบวช เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๔๕๑  ทรงพระราชนิพนธ์เอาไว้ว่า "เขานางบวชนี้ เป็นที่ราษฎรนับถือมาก มีกำหนดขึ้นไหว้พระกันในกลางเดือน ๔ มาแต่หัวเมืองอื่น ๆ ก็มาก  ใช้เดินทางบกทั้งนั้น  คราวนี้ย่อมทำให้รู้ว่า หลังสงครามไทยพม่าสงบลงแล้ว  พระอาจารย์ธรรมโชติน่าจะกลับมาจำพรรษาอยู่ที่เขานางบวชอีกจริง จนกระทั่งมรณภาพ เพราะเกียรติคุณของท่านประชาชนจึงศรัทธาเรื่อยมา หาไม่เช่นนั้น ประชาชนจะศรัทธาด้วยอะไร ถ้าไม่มีใครคนหนึ่งคนใดเป็นหลักให้เขานับถือ เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า พระอาจารย์ธรรมโชติกลับมาวัดเขานางบวชจริง"  ปัจจุบันเมื่อขึ้นไปบนวัดเขานางบวชจะมีดังนี้
            วิหารพระอาจารย์ธรรมโชติ  เป็นวิหารเล็ก ด้านหน้าสู่ทิศตะวันออก ด้านหลังติดเจดีย์หินแผ่น มีช่องโหว่ลงไปสู่อุโมงค์ใต้วิหาร  ที่เข้าใจว่าเป็นอุโมงค์ ที่พระอาจารย์ลงไปซ่อนอยู่ วิหารได้รับการบูรณะแล้ว เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐  มีพระพุทธบาทจำลองอายุ ๒๐๐ ปี
            เจดีย์หินแผ่น  อยู่ด้านหลังของวิหารพระอาจารย์ธรรมโชติ มีเจดีย์หินแผ่นอยู่องค์หนึ่ง เป็นเจดีย์แปลกประหลาด เป็นเจดีย์ทรงกลม  เชิงฐานเป็นหินแผ่นหยาบ ซ้อนเป็นแผ่น ๆ โดยมิได้สอปูน  แล้วฉาบภายนอกด้วยปูนหวาน ยอดไม่มีถูกทำลายโดยนักขุดกรุ
            อุโบสถ  หันหน้าสู่ทิศตะวันตก ร.๕ มีรับสั่งให้บูรณะปฎิสังขรณ์เปลี่ยนหลังคาจากมุงแฝก เป็นมุงกระเบื้อง ภายในมีเสาขนาดใหญ่ ข้างละ ๔ เสา ประดิษฐานพระพุทธรูปหินทราย รวม ๑๓ องค์ ล้วนแต่ถูกคนร้ายตัดเศียรไปหมดแล้ว ได้บูรณะสร้างเศียรขึ้นใหม่
            เสมาธรรมจักร  เป็นหินสีเขียวขนาดใหญ่ ๕ แผ่น สูง ๓๗ นิ้ว กว้าง ๒๒ นิ้ว  ไม่มีลวดลายใด ๆ ทั้งสิ้น  ถัดจากเสมาธรรมจักรมีหินวางเป็นแนวสันนิษฐานว่า เป็นแนวกำแพงแก้ว  ทางทิศเหนือของอุโบสถประมาณ ๑๐ เมตร มี "ต้นโพธิ์"  ใต้ต้นโพธิ์มีหินแผ่นกว้างยาวประมาณ ๒-๓  เมตร  ใช้เป็นที่นั่งพักผ่อนได้ เล่ากันว่าคราว ร.๕ เสด็จได้ทรงประทับอยู่บนหินแผ่นนี้ ทางวัดได้ล้อมรั้วเอาไว้ให้ชม ไม่สมควรไปนั่ง
            พระพุทธรูปองค์ใหญ่  สร้างหันหน้าไปทางทิศใต้ เดิมประทับอยู่ริมผา ชลอเอามา
            บันไดคอนกรีต  อยู่ทางทิศตะวันตกมี ๒๔๙  ขั้นใครจะลองเดินขึ้นดูก็ได้   ลงบันไดหรือขับรถขึ้นบนเขาจะผ่าน ศาลพระอาจารย์ธรรมโชติ  ชาวพุทธควรแวะนมัสการท่านก่อนขึ้นสู่วัด
            ตั้งใจไว้ว่า มาวันนี้จะไปแวะตลาดร้อยปี ที่อำเภอสามชุกด้วย  เพราะยังติดใจของกินแยะ และยาละลายไขมัน ที่ร้านของตลาดสามชุก เพราะเคยซื้อมากินแล้วได้ผลดี ทำให้พุงยุบได้ ต่อจากตลาดสามชุกตั้งใจจะวิ่งต่อไป ยังอำเภอศรีประจันต์เพราะห่างกันไม่กี่ กม. และจะกินอาหารกลางวันที่ ศรีประจันต์  ลงท้ายไม่ได้ไปมัวแต่เพลินอยู่ที่ตลาดสามชุก และต้องเปลี่ยนสถานที่กินอาหารมื้อกลางวัน เลยขอบอกกล่าวไว้ด้วยว่า ที่ศรีประจันต์เจ้าประจำที่ไปชิมกันเสมอ  หากมาจากตัวเมืองสุพรรณบุรี ถึงสี่แยกเข้า อ.ศรีประจันต์ ให้เลี้ยวซ้าย แล้วไปเลี้ยวซ้ายอีกที ไปทางที่ว่าการอำเภอ จอดรถแถวหน้าที่ว่าการอำเภอ เดินมาริมน้ำเลี้ยวขวาไปสัก ๑๐ เมตร ร้านอยู่ริมถนน  เดินผ่านร้านเข้าไปนั่งกินอาหารที่ในแพริมแม่น้ำสุพรรณ  ลมพัดเย็น วิวดี ร้านนี้หากอากาศร้อนจัดเขาจะฉีดน้ำรดหลังคา ให้น้ำตกลงแม่น้ำดูดเอาความร้อนลงมาด้วย  ของอร่อย "ทอดมันไข่"  เอาไข่ต้มมาหุ้มด้วยทอดมัน เอาไปทอดจิ้มน้ำจิ้มใส่แตงกวา แกงส้มแป๊ะซะปลาช่อน ซดกันสนุก "กะเพาะปลาน้ำแดง" ร้อนน่าซด ต้มยกปลาม้า หรือปลาตะโกก ก็ได้  กุ้งอบวุ้นเส้น หรือจะเอากุ้งแม่น้ำเผา แต่กุ้งทอดเกลือไม่ทราบว่าจะมีหรือเปล่า  ข้าวผัดกุ้ง ก็ผัดเก่ง ผ่านศรีประจันต์ลองไปชิมดู
            อีกร้านคือ  ก๋วยเตี๋ยวเป็ด  อยู่ตรงข้ามโรงพยาบาลศรีประจันต์  ร้านนี้เป็ดอร่อย ก๋วยเตี๋ยวเป็ด เกาเหลาเป็ด ข้าวหน้าเป็ด "ข้าวผัดกะเพราเป็"  "เป็ดพะโล้"  และข้าวขาหมู รับรองไม่ผิดหวัง
            กลับมาตลาดสามชุกอีกที หรือจะกินกลางวันที่ร้าน หากมาจากศรีประจันต์ ร้านอยู้ซ้ายมือ ตรงหลัก กม. ๑๒๘  พอดี กุ้งทอดเกลือ ฝีมือระดับน้อง ๆ ของ กุ่ยหมง ที่อำเภอบางปลาม้าทีเดียว แต่ของเขาเป็นกุ้งเลี้ยง ขายถูกเพราะมีฟาร์มกุ้งเอง
            จอดรถหน้าอำเภอสามชุก  แล้วออกไปยังซอย ๑  ข้างอำเภอ ผมได้เคยแนะนำไว้แล้วว่ามาสามชุก พอออกมาข้างอำเภอให้เลี้ยวขวา ไปชมด้านหลังของตลาด ชมบนสะพานข้ามแม่น้ำ จะได้เห็นความเก่าของตลาดร้อยปี  ถ่ายรูปเสียก่อน แล้วไปซอย ๒ เพื่อไปหาความรู้ของตลาดนี้จาก พิพิธภัณฑ์ขุนจำนง ฯ  แล้วค่อยออกตระเวนหาของอร่อยกิน หาซื้อกลับบ้าน วันนี้ผมซื้อกลับมาเป็นมื้อเย็น ๓ รายการ ครบเครื่อง คาวหวาน ข้าวห่อใบบัว ซอย ๑ เชิงสะพานข้ามแน่น้ำ ร้านอยู่ซ้ายมือ บะหมี่ ถนนเลียบนที เรียกถนน แต่แคบกว่าซอย ๑ อยู่ทางขวามือ  เส้นเล็กเนียว  ทำเส้นเอง ซื้อกลับมากินตอนเย็นเข้าเตาไมาโครเวฟสัก ๒ นาที  ความอร่อยยังคงอยู่ทั้งข้าวห่อใบบัว และบะหมี่  วันนี้ต้องถือว่าโชคดี เยื้องกับศาลหลักเมืองของสามชุก กะลอจี๋ เจ้าอร่อยกล่องละ ๑๐ บาท  ปกติขายเฉพาะวันหยุด แต่ก็ไม่แน่บางทีก็เลยหยุดตามชื่อวัน ผมไปวันอาทิตย์ ออกขายพอดี กาลอจี๋ หากินยาก และยิ่งอ่อนนุ่ม เหนียว ไม่หวานจัด โรยงา น้ำตาล เรียกว่า อร่อยมากยิ่งหากินยาก
            มื้อกลางวัน  ที่อำเภอเดิมบางนางบวช เส้นทางเข้าร้านมีหลายเส้นทาง ไปใกล้บอกทางลำบาก ขอบอกทางอ้อม สังเกตง่าย หากมาจากอำเภอศรีประจันต์ จนมาถึงสามแยกที่เลี้ยวขวาจะไปสิงห์บุรี ให้วิ่งตรงไปสัก ๒๐๐ เมตร จะผ่านวัดนางบวช กม. ๑๓๘  ซึ่งอยู่ทางซ้าย ส่วนทางฝั่งขวา เยื้อง ๆ กันคือ ทางแยกขึ้นวัดเขานางบวช ให้ตรงผ่านหน้าวัดนางบวชไปจนถึง กม. ๑๔๓.๕ มุมซ้ายขนจะมีป้อมยามตำรวจสงสัยเส้นทางถามได้  ให้เลี้ยวซ้ายก่อนถึงป้อมยามตำรวจ วิ่งผ่านโรงพยาบาลเดิมบาง ฯ  ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำสุพรรณ พอลงสะพานเลี้ยวซ้ายทันที จะเห็นป้ายชื่อร้าน อยู่ทางขวามือ แต่ร้านไม่ได้อยู่ตรงนี้ ต้องวิ่งต่อไปตามถนนที่ชำรุดหลายแห่ง เลียบคลองชลประทานไปประมาณ ๓ กม. เศษ ร้านจะอยู่ทางซ้ายมือ ต้องเลี้ยวเข้าไปจนถึงเรือนไทย แล้วเดินไปริมแม่น้ำสุพรรณ โต๊ะอาหารตั้งอยู่ในบรรยากาศที่ร่มรื่น ริมแม่น้ำลมพัดเย็นสบาย แดดร้อนตรงไหนเขาก็มีร่มกางให้  และมีห้องพักด้วย เป็นเรือนไทยสองหลังใหญ่ ๆ แต่ละหลังมีหลายห้องพัก  แต่ห้องน้ำรวม เขาว่าจะได้เหมือนคนโบราณที่ไม่มีห้องน้ำในห้องนอน  ส่วนสุขาของร้านเป็นสากล และใต้เรือนไทยหลังทางขวา มีผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร  จำหน่ายด้วย สั่งอาหารตามที่ทางร้านแนะนำคือ
            น้ำพริกปลาดุกดย่าง วางถ้วยน้ำพริกกลางจานรองเป็นน้ำพริกที่ใส่ปลาดุกย่างมาด้วย ผักต้ม ผักลวก วางรอบถ้วยน้ำพริก ถั่วพู มะเขือ ถั่วฝักยาว ขมิ้นขาว ผักบุ้งลวก แตงกวา ต้องกินกับข้าวอร่อยนัก
            ปลาทับทิมชาววัง  สมุนไพร  ทอดปลาเก่งปรุงแบบปลาสามรส แต่คลุมตัวปลาด้วยผัดสมุนไพร
            ๒ รายการนี้ทางร้านแนะนำ สั่งมาเองคือ
            แกงป่าปลาม้า  มาสุพรรณต้องกินอาหารปลาม้าให้ได้ สักจานหนึ่งเป็นอย่างน้อย แกงป่ารสเข้มข้น ซดก็ได้ ราดข้าวก็ดี มีผักใส่มาสัก ๑๐ ชนิด คงจะได้ หวานด้วยน้ำผัก ปลาชิ้นโต เนื้อนุ่ม
            ยำผักหวาน ขายดีไม่มีมาตามสั่ง ร้านเลยแนะว่าเอายำตำลึงแทนได้ไหม ยำตำลึงเอาใบตำลึงชุบแป้งทอดกรอบ แล้วยกน้ำยำใส่ถ้วยมาต่างหาก จะเทราดลงไปหมดถ้วย หรือตักคำหนึ่งราดน้ำยำกันทีหนึ่งก็อร่ย  ยังมีอาหารอีกมากถามไถ่ดูว่ากิจการร้านอาหาร พึ่งเปิดเมื่อต้นปี ๒๕๔๘ นี้เอง
            เกือบลืม พอนั่งริมน้ำแล้วสั่งทันทีตามที่ร้านแนะนำอีกนั่นแหละคือ  "น้ำเกสรดอกบัว"  หรือที่เรียกกันว่า เกสรทั้ง ๕ สั่งมา ๑ เหยือก  บำรุงเลือด แก้อ่อนเพลียดีนัก  และของหวานคือ เฉาก๋วยโบราณหวานเย็นชื่นใจ  ราคาอาหารไม่แพง บริการดี ยิ้มแย้มแจ่มใส
 
 

....................................................................


| บน |