| ย้อนกลับ |

วัดท่าสุทธาวาส ๒

           เมืองอ่างทองในอดีต หรือจังหวัดอ่างทองในปัจจุบัน ตั้งอยู่ห่างจากจังหวัดอยุธยา หรือกรุงศรีอยุธยาด้วยระยะทางเพียง ๓๕ กม.  เป็นเมืองชายเขตของกรุงศรีอยุธยามาก่อน  ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ์ เมื่อคราวทัพพม่ายกมาตีกรุงศรีอยุธยา ครั้งแรกนั้น มีบันทึกปรากฎชื่อเมือง โดยกล่าวไว้ว่า
            ".............ทัพพม่ายกเข้ามาทางลำสามโก้  ป่าโมก  ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาตรงบางโผงเผง เข้ามายังชานพระนครทางทุ่งลุมพลี ข้างด้านเหนือ ........"  เป็นครั้งแรกที่มีหลักฐานกล่าวถึงท้องที่ในอำเภออ่างทอง คือ ลำสามโก้ ซึ่งปัจจุบันคือ อำเภอสามโก้
            พ.ศ.๒๑๒๗  แผ่นดินพระมหาธรรมราชา  จึงมีชื่อเมืองวิเศษชัยชาญ  จารึกไว้ในพงศาวดาร เมื่อตอนที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จไปประทับที่วิเศษชัยชาญ  ซึ่งเป็นที่ประชุมพล เมืองวิเศษชัยชาญคือ เมืองอ่างทองเก่า
            สมัยกรุงธนบุรี  ได้มีการย้ายเมืองวิเศษชัยชาญ มาตั้งใหม่ที่ตำบล บ้านแห  ตรงวัดไชยสงคราม ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา  ซึ่งปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอเมืองอ่างทอง และได้เปลี่ยนชื่อเมืองเสียใหม่ว่า "อ่างทอง"  สาเหตุที่ย้ายเมืองน่าจะมาจากแม่น้ำน้อยตื้นเขิน  จึงย้ายเมืองมาตั้งที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
            สมัยรัตนโกสินทร์  ในรัชกาลที่ ๒  ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เกณฑ์คนมาจากหลายหัวเมือง มาสร้างทำนบกั้นลำน้ำที่เมืองอ่างทอง  เพื่อให้สายน้ำไหลเข้าคลองบางแก้ว ที่ตื้นเขิน แต่ทำนบทานแรงน้ำไม่ไหว จนพังทลายลง จำเป็นต้องย้ายตัวเมืองอีกครั้งจากตำบลบ้านแห ที่วัดไชยชุมพล ไปตั้งที่ "ตำบลบางแก้ว"  ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มาตราบเท่าทุกวันนี้
            น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็น ๑ ใน ๕  ของน้ำเบญจสุทธคงคา ทั่วทั้งราชอาณาจักรไทย เพื่อนำไปใช้ในพระราชพิธีสำคัญ มาแต่โบราณกาลนั้น น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะมาตักที่ ตำบลบางแก้ว
            วัดท่าสุทธาวาส  เดิมชื่อว่า วัดท่าสุวรรณภูมิ  ตั้งอยู่ที่อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง และอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นวัดที่เกี่ยวพันกับราชการสงคราม ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประวัติของวัดที่เป็นหลักฐานไม่มี มีแต่หลักฐานของกรมศาสนา บันทึกเอาไว้ว่า วัดท่าสุทธาวาส สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๑๗๕  คือ หลังแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แล้ว (แต่จะไปขัดกับประวัติโบราณสถาน)
            สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกไว้ว่า ทัพของสมเด็จพระนเรศวร เมื่อจะยกทัพออกไปทำศึกนั้น จะมาข้ามลำน้ำเจ้าพระยาที่บริเวณริมฝั่งเจ้าพระยา วัดท่าสุทธาวาส เพราะบริเวณนี้ลำน้ำจะตื้นเขิน มีหาดทราย สามารถเดินข้ามได้แทบจะทุกฤดูกาล และก่อนที่จะเคลื่อนทัพก็จะส่งขุนพลออกไปทำพิธี "ชิงชัยภูมิ ตัดไม้ข่มนาม"  และพระองค์จะเสด็จไปนมัสการ พระพุทธไสยาสน์ที่วัดป่าโมกวรวิหาร  ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามค่อนไปทางเหนือของวัดท่าสุทธาวาส  วัดท่าสุทธาวาสอยู่ห่างจากอำเภอเมืองอ่างทองตามถนนสาย ๓๐๙  ประมาณ  ๑๗ กม.  แต่ห่างจากกรุงศรีอยุธยาประมาณ ๑๓ กม.  จะเห็นได้ว่าแม้จะยังไม่ได้สร้างวัดท่าสุทธาวาส ในแผ่นดินพระมหาธรรมราชา หรือแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ตามหลักฐานของกรมศาสนา แต่บางแห่งกล่าวว่า วัดนี้สร้างมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาตอนต้น)  แต่แผ่นดินจุดที่ตั้งของวัดนี้คือ ที่ชุมนุมทัพ  ก่อนที่จะยกข้ามลำน้ำไปออกศึก ของสมเด็จพระนเรศวรและอยู่ริมน้ำ  ย่อมสมบูรณ์ทั้งคน ทั้งช้าง และทั้งม้า ที่จะอาศัยอาบกิน  ตลอดจนแผ่นดินย่อมมีอาหารสมบูรณ์ของช้าง ม้า ย่อมสมบูรณ์ไปด้วย
            สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาสยามบรมราชกุมารี  ได้ทรงพระสุบินว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ให้บูรณะอุโบสถของวัดนี้  เมื่อเสด็จมาพบวัดท่าสุทธาวาส ตรงกับลักษณะในพระสุบิน จึงโปรดเกล้า ฯ ให้บูรณะวัดแห่งนี้ขึ้นใหม่  โดยเฉพาะอุโบสถนั้นได้สร้างขึ้นใหม่ เพื่อน้อมเกล้าถวายเป็นพระราชกุศล ในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ  ทรงเจริญพระชนมายุครบสามรอบ  และสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา ฯ  ได้เสด็จพระราชดำเนินมาฝังลูกนิมิต และฉลองโบสถ์ เมื่อ ๒๓  สิงหาคม ๒๕๓๔  โบราณวัตถุและโบราณสถาน เมืองอ่างทองมีอดีตที่ยาวนานมาตั้งแต่ยุคสมัยทวารวดี (หมายถึง ตำนาน)  จึงเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ และแหล่งโบราณคดี ส่วนใหญ่จะกระจายกันอยู่ตามวัดต่าง ๆ ซึ่งอ่างทองมีวัดที่สำรวจพบแล้ว มากถึง ๓๘๖ วัด เป็นวัดที่มีพระจำพรรษา ๒๐๖ วัด และวัดร้างอีก ๑๘๐ วัด วัดซึ่งวัดท่าสุทธาวาส เป็นวัดหนึ่งที่มีโบราณวัตถุ และโบราณสถาน คือ
            พระพุทธรูปประธานวัดท่าสุทธาวาส หินทรายปั้นปูนปิดทองทับ ประดิษฐานในอุโบสถ พระพุทธรูปหินทรายอีก ๒๐ องค์  เป็นศิลปะอยุธยาตอนต้น ที่มีทั้งอิทธิพลของลพบุรี อู่ทอง และอยุธยา ใบเสมาหินทรายแดง ๑๖ ใบ  ลวดลายที่พระศอ และเอวต่างกันไป อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐
                พระประธาน  ชาวบ้านเรียกว่า  "หลวงพ่อยิ้ม"  เพราะมีพุทธลักษณะคล้ายพระกำลังอมยิ้ม  ตั้งอยู่บนฐานชุกชี สูงเด่นเป็นสง่า  พระพุทธรูปองค์นี้เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น ปางมารวิชัย นั่งขัดสมาธิราบ ทำด้วยหินทรายแล้วปิดทองทับ งามจับตา
                ภาพจิตรกรรม  เป็นภาพที่เขียนขึ้นใหม่ในอุโบสถวัดท่าสุทธาวาส  เกิดขึ้นจากพระราชดำรัสของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ  สยามบรมราชกุมารี  ว่า  "ต้องการให้นักเรียนมีสนามฝึกงาน"  ทรงหมายถึง นักเรียน อาจารย์ จากแผนกเขียนลายของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ฯ  เริ่มเขียนเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน  พ.ศ.๒๕๓๖   แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๗  เรื่องที่เขียนแบ่งออกเป็น
                ผนังเหนือประตูด้านหลังพระประธานเขียนภาพไตรภูมิ  ผนังด้านซ้ายและขวาของพระประธานเขียนภาพลายรวงข้าว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดอ่างทอง
                ผนังระหว่างประตูด้านหลังพระประธานเขียนเรื่อง สงครามยุทธหัตถี  ระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชา และภาพเรื่องเมืองอ่างทอง
                ส่วนผนังระหว่างประตูด้านหน้าพระประธานเขียนเรื่องของตำบลบางเสด็จและภาพครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า พร้อมด้วยพระราชโอรสและพระราชธิดาเสด็จมาประทับ ณ พระราชวังบางปะอิน เมื่อครั้งเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๖ - ๒๕๑๗
                ส่วนภาพบานประตูหน้าต่างเขียนภาพทวารบาลตามคติของช่างไทยโบราณ
                จิตรกรรมฝาผนังแห่งประวัติศาสตร์ในอุทยานวัดท่าสุทธาวาสนี้ จึงเกิดขึ้นเพราะพระดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินมาตรวจเยี่ยมการบูรณะวัด ฯ และเมื่อมาตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของนักเรียนแผนกเขียนลาย ณ วัดท่าสุทธาวาส พระองค์ยังได้แสดงพระอัจฉริยภาพให้ปรากฎ โดยทรงวาด "ผลมะม่วง" ลงบนฝาผนังอุโบสถ งานจิตรกรรมฝาผนังที่วัดนี้จึงนับว่าได้ก่อให้เกิดประโยชน์ ให้เกิดความรู้ เกิดภาพผสมผสานระหว่างภาพประวัติศาสตร์กับปัจจุบันขึ้นอย่างกลมกลืน และเป็นการสืบสานเพื่ออนุรักษ์จิตรกรรมไทยให้คงอยู่สืบไป มีค่ายิ่งต่อการไดไปชม
                นอกจากจิตรกรรมแล้ว ด้านนอกของบานประตู และหน้าต่างของอุโบสถยังเขียนลายรดน้ำ โดยหน้าต่างทั้ง ๑๐ ช่อง เขียนเรื่องทศชาติ ส่วนบานประตูด้านหน้า และหลังเขียนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดา ฯ โดยส่วนบนเป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประจำวันของผู้ที่เกิดวันเสาร์ ซึ่งเป็นวันประสูติ ตรงกลางของภาพเป็นพระนามาภิไธยย่อ "ส.ธ." อยู่ในวงกลมซึ่งเขียนเป็นลายจักสานไม้ไผ่ ต่อมาเป็นรูปแพะ ๒ ตัว แต่ไม่ได้เขียนให้หันหน้าเข้าหากัน ต่ำลงมาเป็นรูปนาค ๒ ตัว หันหน้าออกเปรียบเหมือนนาคกำลังให้น้ำ แสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณที่แผ่ไปทั่ว ส่วนล่างของภาพเป็นเครื่องหมายของราชวงศ์จักรี ที่รองรับด้วยช้างเผือก ซึ่งถือว่าเป็นสัตว์คู่บุญบารมีของพระมหากษัตริย์ และเป็นสัตว์ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ทรงโปรด ด้านล่างสุดเป็นภาพของปริศนาธรรมเขียนรูปบัวสี่เหล่า ตรงกลางเป็นรูป "เกียรติมุข" หมายถึงผู้ที่จะคอยทำลายความไม่ดีทั้งหลาย และมุมล่างซ้ายขวาเป็นรูปดวงดาว ซึ่งเป็นเครื่องหมายของราชบัลลังก์
                นอกจากนี้วัดท่าสุทธาวาส ยังมีพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันกำลังสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ เนื่องในวโรกาสครบรอบ ๔๘ พรรษา ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ มีรูปจำลองพระมหาธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุ ประดิษฐานอยู่ข้างผนังอุโบสถด้านซ้าย ส่วนพระบรมธาตุเจดีย์นั้น กำลังก่อสร้างอยู่ทางด้านซ้ายของอุโบสถ และมีตู้ตั้งรับการบริจาคไว้ที่ใกล้รูปจำลองของพระบรมธาตุเจดีย์
                เส้นทาง การเดินทางไปยังวัดท่าสุทธาวาส หากไปจากกรุงเทพ ฯ เช่นผมไปจากบ้านที่ลาดพร้าว ก็ลัดเลาะไปออกรามอินทรา ไปเข้าถนนทางด่วน ไปออกประตูน้ำพระอินทร์เข้าสู่ถนนสาย ๓๒ หรือสายเอเซีย ไปเลี้ยวเข้าตัวเมืองอยุธยา พลลงสะพานนเรศวรมหาราชก็เลี้ยวซ้ายไป (ความจริงเลี้ยวขวาลอดใต้สะพานก่อน มายังหัวรอ ที่ตลาดหัวรอเป็นอีกตลาดหนึ่งที่ของอร่อย ๆ แยะจริง ๆ พอถึงหัวรอก็เลี้ยวซ้ายไปตามถนนซึ่งจะผ่านวัดพระราชวังโบราณ ผ่านทางแยกขวา ข้ามสะพานไปยังวัดหน้าพระเมรุ เลยไปก็จะไปผ่านวัดธรรมิกราช วัดสำคัญที่น่าเข้าไปเที่ยวชมอีกวัดหนึ่งของอยุธยา จากนั้นจะมาถึงทางแยกขวา ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ลงสู่ถนนสายอยุธยา - อ่างทอง สาย ๓๐๙ หากไม่เลี้ยวขวามาข้ามสะพาน ตรงไปคือ "หัวแหลม" ไปตามถนนสาย ๓๐๙ ประมาณ ๑๒ กม. จะมีทางแยกซ้ายไปยังอำเภอป่าโมก เลยต่อไปคือทางแยกซ้ายเข้าวัดท่าสุทธาวาส ต้องเลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ ๑ กม. วัดจะอยู่ทางขวามือของถนน อีกเส้นหนึ่งคือสายตรง ไม่แวะเข้าตัวเมืองอยุธยา ตรงไปเรื่อยจะพบถนนแยกซ้ายบอกว่าไปอำเภอป่าโมก เลี้ยวซ้ายวิ่งไปจนถึงสี่แยกที่ตัดกับถนนสาย ๓๐๙ ก็เลี้ยวขวาซ้ำกับเส้นทางแรก
                ทั่วบริเวณวัดท่าสุทธาวาส ซึ่งที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานี้แสนจะร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่น้อย ถ้าเราเอารถเข้าไปจอดตรงศาลาการเปรียญก่อน ทางขวาของศาลาการเปรียญคือเรือนไทยชื่อ "คุ้มสุวรรณภูมิ" เป็นเรือนไทยหมู่ภาคกลางเป็นศูนย์ตุ๊กตาชาววัง ซึ่งมีความเป็นมาเนื่องด้วยเมื่อคราวน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ โปรดเกล้า ฯ ให้ช่างปั้นตุ๊กตาชาววังมาสอนชาวบ้าน ที่ได้รับความเดือดร้อน จากเหตุการณ์น้ำท่วม เพื่อให้เป็นรายได้เสริมจาการทำนา ตุ๊กตาชาววังนี้ปั้นด้วยดินเหนียว มีขนาดเล็กจิ๋วเท่าปลายนิ้วก้อย แต่ได้สัดส่วนและเก็บรายละเอียดต่าง ๆ ได้อย่างประณีตเช่น หู ตา ปาก นิ้วมือ ปั้นเป็นชุดต่าง ๆ ที่มีทั้งวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของท้องถิ่นชนบทไทยเช่น ชุดเกี่ยวข้าว ชุดเด็กเลี้ยงควาย ชุดนตรีไทย ที่เป็นรูปเดี่ยว ๆ ไม่เป็นชุดก็มี วางโชว์ไว้ในตู้ ราคาขายนั้นหากเป็นนักท่องเที่ยวชอบไปต่างประเทศ (ผมก็ชอบถ้ามีสตางค์เหลือใช้) เห็นราคาแล้วจะตกใจ เพราะที่ขายตามท่าอากาศยาน กับที่คุ้มสุวรรณภูมินี้ต่างกันหลายเท่า แม้แต่ราคาที่เอาไปขายตามร้านขายของที่ระลึกในกรุงเทพก็แพงกว่าอย่างน้อยเท่าตัว ใครไปชมแล้วไม่เสียสตางค์ อุดหนุนเลยก็แสดงว่าใจแข็งเหลือทน แต่ผมเห็นสาว ๆ ทั้งหลาย (สาวคือผู้ที่มีอายุน้อยกว่าผม ยกให้เป็นสาว ๆ หมด) ควักกระเป๋าซื้อกันเป็นแถว แม้แต่ผมเองยังอดซื้อไม่ได้ สวย ถูก ผมซื้อไปฝากหลาน ของที่ระลึกอื่น ๆ ก็มี
                ชมซื้อตุ๊กตาชาววังแล้วจะเดินไปยังอุโบสถเลยก็ได้ ไม่ไกลกันสัก ๑๐๐ เมตร เอารถไปอีกหน่อยก็ได้ เมื่อขึ้นบันไดไปแล้ว ทางขวามือคือ ตำหนักทรงงานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ที่จะทรงงานเมื่อเสด็จมาตรวจงาน เป็นพระตำหนักที่สร้างกลางน้ำ แต่ไม่ได้เปิดให้เข้าชมข้างใน คงชมได้บริเวณรอบนอกของตำหนัก ทางด้านหน้าของพระตำหนักคือ พระตำหนักของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งมีพระบรมรูปของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประทับนั่งคู่กับสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงสวมสังวาล มีพระแสงดาบวางพาดอยู่บบนพระเพลา งามสง่ายิ่ง ไปวัดท่าสุทธาวาสต้องขึ้นไปถวายสักการะพระมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ ผู้มีพระคุณต่อแผ่นดิน ส่วนอุโบสถนั้นอยู่ด้านหน้าทางซ้ายของพระตำหนัก หันหน้าออกสู่ถนนสาย ๓๐๙ ผมจึงพาท่านไปชมตั้งแต่คุ้มสุวรรณภูมิ พาไปชมให้เสียสตางค์เสียก่อนแล้วจึงพาไปชมพระตำหนักสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ถวายราชสักการะแด่องค์มหาราช แล้วเข้าไปชมไปนมัสการหลวงพ่อยิ้ม พระประธานในอุโบสถ เนื่องจากวัดท่าสุทธาวาส อยู่ห่างออกมาจากตัวอำเภอป่าโมก และเมื่อจะไปตัวเมืองอ่างทองก็ออกจากวัดไปอีก ๑๗ กม. แต่ก่อนที่จะไปยังตัวเมืองอ่างทอง ผมขอแนะนำให้แวะที่ "วัดสระแก้ว" ที่อยู่ติดกัน ห่างกันไม่กี่ร้อยเมตร วิ่งเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาไปได้เลย ที่วัดสระแก้วนี้คือ สถานที่เลี้ยงดูปั้นเด็กกำพร้าให้เป็นคนดี เลี้ยงเด็กกำพร้าไว้หลายร้อยคน แม้แต่นายไชยา มิตรชัย ดารานักแสดงลิเก น้กร้อง นักแสดง ก็เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนบางเสด็จวิทยาคม ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าของวัดสระแก้ว และเป็นบุคคลหนึ่งในบรรดาผู้ฝึกหัดลิเกเด็กกำพร้า และเป็นเด็กที่ขยันอย่างยิ่ง ก่อนไปโรงเรียนจะช่วยทำงานให้กับเจ้าอาวาสเป็นกิจวัตรเช่นช่วยถือปิ่นโต ตอนหลวงพ่อออกบิณฑบาต กลับมาถึงวัดยังมากวาดถูทำความสะอาดกุฎิ จนไปโรงเรียนสายเป็นประจำ ครูตั้งฉายาให้ว่า "นายสายมา" และเมื่อชีวิตประสบความสำเร็จแล้วก็ไม่ได้ทอดทิ้งเด็กกำพร้า ได้ตั้งคณะลิเกชื่อคณะว่า "เด็กกำพร้าวัดสระแก้ว" ได้ค่าแสดงตามแต่เจ้าภาพจะให้ แต่เดี๋ยวนี้ลิเกคณะนี้ค่าแสดงคืนละ ๑๒๐,๐๐๐ บาท ยิ่งไปไกลยิ่งแพง ต่อมาได้หันเหชีวิตไปทางเป็นนักร้องประสบความสำเร็จอีก มาเป็นนักแสดงภาพยนตร์ ที.วี.ก็ได้รับความสำเร็จจนได้รับรางวัลเมขลา รางวัลพระพิฆเณศทองคำ รางวัลลิเกยอดเยี่ยม และยังจัดตั้งมูลนิธิสำหรับเด็กไม่มีทุนการศึกษาของจังหวัดอ่างทอง ผมนำประวัติย่อที่น่าชื่นชมของศิลปินจากเด็กกำพร้า วัดสระแก้วมาเล่าให้ฟัง เพื่อให้เห็นว่าวัดนี้ได้อุปถัมภ์เด็กกำพร้าอย่างแท้จริง ควรแก่ช่วยเหลือให้การสนับสนุน จะไปเยี่ยมเฉย ๆ หรือจะให้ดีนำข้าวสารอาหารแห้ง อุปกรณ์การศึกษา ปัจจัยไปบริจาคด้วยก็จะดีอย่างยิ่ง สอบถามรายละเอียดได้ โทร ๐๓๕ ๖๖๑๑๖๙
                จากวัดสระแก้ว กลับขึ้นถนนสาย ๓๐๙ เลี้ยวซ้ายไปอีก ๑๗ กม.จะถึงตัวเมืองอ่างทอง โผล่ตรงสี่แยกพอดี ให้ตรงไปทาง อ.โพธิ์ทอง (ถ้าเลี้ยวขวาเข้าตัวเมือง) ประมาณ ๓ กม. จะถึงสามแยก (หากตรงไปจะไปยังวัดขุนอินทประมูล ที่มีพระนอนยาวที่สุดในประเทศ เลยไปอีกคืออำเภอโพธิ์ทอง)
                ถึงสามแยกเลี้ยวขวาไปตามเส้นทางไปสุพรรณบุรี ประมาณ ๙ กม. จะข้ามสะพานข้ามแม่น้ำน้อย พอลงจากสะพานหากเลี้ยวซ้ายก็จะเข้าไปยังตลาดศาลเจ้า หากจะเข้าไปยังตลาดนี้ซึ่งเป็นตลาดของอำเภอวิเศษชัยชาญก็เลี้ยวรถเข้าไปจอดในวัดทางด้านหลังวัด แล้วเดินออกประตูวัดข้ามถนนไปเข้าตลาด ทางซอยที่ปากทางเข้ามีร้านขายหนังสือพิมพ์ เดี๋ยวผมจะพากลับมาตลาดแหล่งกินที่สำคัญแหล่งหนึ่งทีเดียว มาตลาดนี้จะหอบอาหารการกินของฝากกลับไป
                ข้ามสะพาน วิ่งผ่านหน้าวัดไปแล้วจะพบทางแยกซ้าย ตรงข้ามกับธนาคารกรุงไทย หากเลี้ยวซ้ายตรงนี้เข้าไปนิดเดียว แล้วเลี้ยวซ้ายอีกทีก็จะไปจอดที่ลานหน้าร้านอาหารที่จะพามาชิมคือร้านเก่าแก่ของวิเศษชัยชาญ ผมชิมอาหารร้านนี้มารวมเวลาถึงวันนี้ ๒๕๔๘ เป็นเวลา ๓๑ ปีพอดี ตั้งแต่เขาอยู่ที่ในซอยริมน้ำ ต้องเดินไต่สะพานไม้ ๒ แผ่นเข้าไป (เดี๋ยวนี้เป็นถนนคอนกรีตแล้ว) ขาไปเดินสบาย ขากลับออกมาบางวันบรรทุกเข้าไปมากทั้งอาหารและน้ำมังสะวิรัช ต้องระวังไม่ให้เดินตกสะพาน แต่เดี๋ยวนี้เขาย้ายมาอยู่ข้างนอก แต่ถนนตรงข้ามธนาคารกรุงไทย เขาห้ามเลี้ยวเข้า ต้องเลยไปอีกซอยหนึ่งแล้วเลี้ยววกเข้ามา
                ร้านที่จะชิมวันนี้ นอกจากจะคงความอร่อยของอาหารและราคาถูกไว้แล้ว ยังได้รับใบประกาศ คลีน ฟู๊ด กู๊ด เทสท์ อาหารสะอาด รสชาติอร่อยจากกระทรวงสาธารณะสุข และยังผลิต "ปะเต๊ง" บรรจุกระป๋อง ชามะขาม น้ำสกัด ซ๊อสเหล้าแดงจำหน่ายอีกด้วย ไปกินต้องปิดท้ายด้วยการซื้อกลับมาและซื้อขนมเกลียวยอดอร่อยกลับมาด้วย
                ต้องสั่ง "กุ้งทอดเกลือ" เป็นอีกร้านหนึ่งที่ทำกุ้งทอดเกลืออร่อย ใช้กุ้งเลี้ยงจากสุพรรณ ทำให้ราคาถูกกว่ากุ้งแม่น้ำ รสชาติใกล้เคียงกันกับกุ้งแม่น้ำ เนื้อเหนียวแน่น มันกุ้งคลุกข้าว ไม่ต้องเหยาะน้ำปลาพริกอีก เพราะเค็มด้วยรสเกลืออยู่แล้ว ตักข้าวเข้าปากแล้วซดต้มยำกุ้งตาม มือนี้จะอร่อยสุด ๆ เลยทีเดียว
                ผัดตับ อาหารประจำร้านเก่าแก่ที่ต้องสั่ง แล้วตามด้วยบ่ะเต็ง หากินยากนักในกรุงเทพ ฯ เองเคยเห็นแต่ที่เขาใส่ในข้าวต้มเครื่องเช่น ปากซอยทางเข้าหมู่บ้านเสรี บ่ะเต็งยกมาทั้งจานไม่เคยเห็น
                สลัดหมู/เนื้อสัน ตามแบบของสิงห์บุรี - อ่างทอง เนื้อนุ่ม รสเข้าเนื้อ ผักหวาน กรอบ
                แกงป่าปลาน้ำเงิน เป็นปลาที่หากินยากชนิดหนึ่ง รสแกงป่าเข้มข้น ซดก็ได้ ราดข้าวก็ดี
                ทอดมัน ชิ้นโต เหนียวหนึบ เคี้ยวสนุก เป็ดพะโล้ของกุ่ยก็อร่อย รวมทั้งขาดไม่ได้คือปลาดุกผัดเผ็ด เอาก้างที่มีเนื้อติด ไปทอดจนกรอบเสียก่อนแล้วจึงเอามาผัดพริกแกง จานนี้จบแล้วจะไม่เหลืออะไรในจานแม้แต่ก้าง บางทีช่วยให้จานของเขาสะอาดด้วยการเอาข้าวคลุกก้นจาน
                ไม่มีของหวาน นอกจากใจร้อนแกะถุงขนมเกลียวมาชิมกันตรงนี้
                อิ่มแล้วไปตลาดสด หากเป็นยามเช้าเลยหน้าตลาดสดไปหน่อยจะติดนัดขายทั้งอาหารสด อาหารสำเร็จรูป ของอร่อยมีแยะเช่นขนมครก โจ๊ก เลือดหมู ข้าวต้ม ปาท่องโก๋ ฯ อร่อยทุกเจ้าไม่งั้นสู้กันไม่ได้ ลูกค้าไม่ใช่มีแต่ชาววิเศษชัยชาญ มาจากอยุธยาก็มี อ่างทองก็มี กรุงเทพ ฯ ยังวิ่งมา ส่วนผมวิ่งมากินอาหารเช้าที่ตลาดนัดแล้วไปเที่ยวต่อเช่น ไปวัดวิเศษชัยชาญ อนุสาวรีย์ผู้กล้าแห่งบางระจัน อยู่ที่หน้าวัดนี้ นายดอก นายทองแก้ว ซึ่งเป็นชาววิเศษชัยชาญ ไปเที่ยววัดสี่ร้อยที่พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ปางป่าเลไลยก์ และอีกหลายแห่ง ร้านโบราณวัตถุก็มี ไปตลาดสดเข้าทางซอยที่มีร้านขายหนังสือพิมพ์สุดซอยคือ ตลาดสด เลี้ยวซ้ายตรงงหัวมุมร้านแผงขายขนมกงวิเศษชัยชาญอร่อยนัก ข้าวต้มผัด ก็มีฝั่งตรงข้ามก็มีขนมอร่อยอีกหลายเจ้า มองดูก็รู้ว่าน่าอร่อย เลยไปนิดคือ ขนมกง ข้าวต้มผัด ข้างตังเสวย ขนมชั้น ฯลฯ ร้านนี้เชลล์ชวนชิม ชวนชิมมาหลายสิบปีแล้ว จนเขามาเปิดร้านใหญ่โตอยู่ในกรุงเทพ ฯ ใหญ่กว่าร้านที่วิเศษชัยชาญหลายเท่า
                ยาอายุวัฒนะ ร้านจิตตไทยเขาย้ายร้านมาเปิดใหม่อยู่ตรงกันข้าม เลี้ยวขวาไปทางท่าน้ำ ร้านยาจะอยู่ทางขวามือ ยาดีของเขาคือ ยาอายุวัฒนะ ยาลมในแคปซูล ผมกินมากว่าสิบปี มารดาผมกินจนอายุ ๙๓ จึงเสียชีวิต ชวนชิมอาหารบ่อย ๆ เจอยาดีต้องเอามาเล่าสู่กันฟัง

....................................................

...........................................................


| ย้อนกลับ | บน |