เจ้าชายนันทะเสด็จละจากเจ้าสาวไปตามเสด็จพระพุทธเจ้า
-
ภายหลังวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์
จากการอัญเชิญของ พระเจ้าสุทโธทนะ ผู้เป็นพระพุทธบิดาแล้ว เมื่อล่วงถึงวันที่สามอันเป็นวันวิวาหมงคล
ของเจ้าชายนันทะ ผู้เป็นพระพุทธอนุชาต่างพระชนนี พระผู้มีพระภาคเสด็จไปรับบิณฑบาต
แล้วประทานบาตรแก่เจ้าชายนันทะ ทรงอนุโมทนา แล้วเสด็จหลีกไป หาได้ทรงรับบาตรจากเจ้าชายนันทะไม่
เจ้าชายนันทะต้องตามเสด็จติดตามไป ฝ่ายเจ้าหญิงเห็นดังนั้นจึงได้เสด็จไปที่พระแกล
แล้วกราบทูลแก่เจ้าชายนันทะว่า ขอให้รีบเสด็จกลับมาโดยเร็วด้วย เจ้าชายนันทะได้ฟังเสียงเจ้าหญิงแล้ว
ก็เกิดความละล้าละลัง แต่ก็ได้ตามเสด็จไปจนถึงพระวิหาร และได้บรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ
-
ในกาลต่อมา
ได้มีคำกล่าวจากเพื่อพรหมจารีว่า พระนันทะบวชเพราะต้องการได้นางสวรรค์ พระผู้มีพระภาคเป็นนายจ้าง
พระนันทะเป็นลูกจ้าง เธอได้ฟังก็เกิดความละอายใจ จึงหลีกออกจากหมู่ไปบำเพ็ญเพียร
จนในที่สุดก็ได้ประสบสุขชั่วนิรันดร
พระอานนท์และพระเทวทัตออกบวช
-
สมัยนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่
ณ อนุปิยนิคม เมืองกุสินารา พวกพระญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ได้ทราบข่าว
จึงอนุญาตให้โอรสของตน ๆ ออกบวชตามพระญาติฝ่ายพระมารดา และพระญาติของพระบิดา
จำนวนฝ่ายละแปดพันองค์ รวมเป็นหนึ่งหมื่นหกพันองค์
-
พระมหานามโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ
ได้อนุญาตให้พระอนุรุทธออกบวช
พระอนุรุทธจึงชวนบรรดากษัตริย์คือ พระภัททิยะ
กษัตริย์ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ในสมัยนั้น พระอานนท์
ราชโอรสของพระเจ้าสุกโกทนะ
พระภคุ พระกิมพิละ พระเทวทัตต์
พระอนุชาของพระนางยโสธราพิมพานอกจากนั้นยังมีอุบาลี ช่างกัลบกประจำราชสำนัก
ทั้งหมดได้รับการบรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุ
-
ในบรรดาภิกษุใหม่ทั้งเจ็ดรูปนั้น
เว้นพระอานนท์และพระเทวทัตต์ ได้บรรลุพระหัตผลทุกรูป ส่วนพระอานนท์ได้ฟังพระธรรมเทศนา
จากพระปุณณมัมตานีบุตรเถร จึงได้บรรลุโสดาปัตติผลและได้เป็นผู้ ปรนนิบัติพระพุทธเจ้าอย่างใกล้ชิด
และเชี่ยวชาญในคำสอนของพระพุทธองค์
-
ส่วนพระเทวทัตต์สำเร็จทางฌาณโลกีย์
ต่อมาภายหลังเมื่อถูกลาภสักการะเข้าครอบงำ คิดจะอยู่ในฐานะของพระพุทธเจ้าเสียเอง
ได้ทูลขอปกครองสงฆ์จากพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธองค์ไม่ยินยอม จึงได้คบคิดกับพระเจ้าอชาติศัตรูแห่งกรุงราชคฤห์
ทำร้ายพระพุทธเจ้าหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ
ผลสุดท้ายได้ทำร้ายพระพุทธเจ้า ถึงขั้นอนันตริยกรรม
จึงถูกแผ่นดินสูบทั้งเป็น
อนาถปิณฑิกะ
สร้างพระเชตวันวิหารถวายพระพุทธเจ้า
-
ในกรุงสาวัตถีแคว้นโกศล
มีคหบดีผู้หนึ่งชื่อ สุทัตตะ
ท่านผู้นี้เป็นคนใจเอื้อเฟื้อต่อคนยากจน ได้ตั้งโรงทานเพื่อให้ทานแก่ คนยากจนทั่วไป
จึงได้สมญานามว่า อนาถปิณฑิกะ
แปลว่า ผู้มีก้อนข้าวแก่คนอนาถา
-
วันหนึ่ง อนาถปิณฑิกะไปเยี่ยมราชคฤหเศรษฐี
ซึ่งเป็นสามีของพี่สาวของตน พอดีตรงกับวันที่ราชคฤหเศรษฐี นิมนต์พระบรมศาสดาพร้อมพระภิกษุสงฆ์ไปฉันภัตตาหารที่บ้านของตน
-
อนาถปิณฑิกะมีความปิติยินดีเป็นอย่างยิ่งในโอกาสดังกล่าว
อยากได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์
-
วันรุ่งขึ้น
อนาถปิณฑิกะก็ได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ณ พระเวฬุวัน
ได้ฟังพระธรรมเทศนาคือ อนุปุพพิกถา
และอริยสัจสี่ แล้วบรรลุพระโสดาปัตติผล จึงได้สร้างพระเชตวันวิหารถวายพระบรมศาสดา
นับเป็นวิหารที่สร้างถวายไว้ในพระพุทธศาสนาแห่งแรก
พระพุทธเจ้าทรงห้ามพระญาติ
-
กษัตริย์ชาวศากยะ
พระญาติฝ่ายพระพุทธบิดาในนครกบิลพัสดุ์ กับกษัตริย์ชาวโกลิยะพระญาติฝ่าย พระพุทธมารดาในนครเทวทหวิวาทกัน
เพราะเหตุฝนแล้งจึงแย่งน้ำกันทำนา ขณะนั้นพระบรมศาสดา
ประทับอยู่ที่แคว้นสักกะ
ทรงทราบเหตุด้วยพระญาณ จึงได้เสด็จไป ณ ที่ต่อแดนระหว่างนครทั้งสองทรงปราศรัยกับพระญาติทั้งสองฝ่าย
เพื่อเป็นการเตือนสติโดยทรงตรัสถามว่า ท่านทั้งหลายวิวาทกันด้วยเหตุอะไร ก็ได้รับการทูลตอบว่า
เพราะเหตุแห่งน้ำ ทรงตรัสถามต่อไปว่า น้ำกับคนอย่างไหนจะมีค่ามากกว่ากัน ก็ได้รับการทูลตอบว่า
คนมีค่ามากกว่าน้ำ ทรงตรัสถามต่อไปอีกว่า คนพวกไหนมีค่ามากกว่ากัน ก็ได้รับการทูลตอบว่ากษัตริย์นั้นหาค่ามิได้
(คือมีค่าสูงสุด) ทรงตรัสถามต่อไปอีกว่า ถ้าเช่นนั้น การที่เอาเรื่องน้ำมาเป็นเหตุฆ่ามนุษย์
ผู้เป็นกษัตริย์ซึ่งมีค่าสูงสุดเช่นนี้ เป็นการสมควรหรือไม่ ก็ได้รับการทูลตอบว่าไม่สมควรเลย
ทั้งสองฝ่ายได้ตระหนักถึงเหตุผลตามที่พระพุทธองค์ตรัสถามไปตามลำดับแล้ว จึงพากันเลิกลากันไป
พระพุทธองค์เสด็จโปรดพระพุทธบิดา
-
ในพรรษาที่ห้า
หลังจากที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว พระองค์พร้อมด้วยพระนันทะ พระพุทธอนุชา
พระอานนท์ พระพุทธอุปฐาก และพระราหุลพระพุทธโอรส ได้เสด็จไปเยี่ยมอาพาธพระเจ้าสุทโธทนะ
พระพุทธบิดาที่กรุงกบิลพัสดุ์
-
พระองค์ได้เทศนาโปรดพระพุทธบิดาจนได้บรรลุพระอรหันต์
แล้วพระพุทธบิดาก็ปรินิพพาน พระพุทธองค์พร้อมทั้งพระสาวกเป็นจำนวนมาก ได้ทรงจัดการถวายพระเพลิงพระศพเรียบร้อยแล้ว
จึงเสด็จจาริกเทศนาอบรมสั่งสอนเวไนยสัตว์ต่อไป
นางจิญจมานวิกาบริภาษพระพุทธเจ้า
-
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประกาศพระศาสนาแผ่ไพศาล
บังเกิดลาภสักการะบังเกิดในพระศาสนาเป็นอันมาก ฝ่ายพวกเดียรถีย์เสื่อมจากลาภสักการะ
จึงพากันคิดอุบายใส่ร้ายพระพุทธเจ้า จึงให้นางจิญจมานวิกาผู้เลอโฉม
ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดกับพวกของตน แสดงอาการดังอยู่ในคันธกุฎีเดียวกันกับพระศาสดาจำเนียรกาลล่วงมาหลายเดือน
ออกอุบายให้นางเอาไม้ผูกที่ท้อง ทุบมือเท้าให้บวม แสดงอาการดุจหญิงมีครรภ์
แล้วให้ไปกล่าวตู่ พระพุทธเจ้าซึ่งกำลังประทับนั่งบนธรรมมาสน์ แสดงพระธรรมเทศนาท่ามกลางประชาชนว่า
"พระองค์ทรงรู้แต่การอภิรมย์ ไม่ทรงทราบทำเรือนให้ตลอด ฯ" ยังความกังขาให้เกิดแก่ปุถุชน
ยังความสังเวชให้เกิดแก่อริยชนในที่นั้นอย่างยิ่ง
-
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
เรื่องนี้รู้กันแต่เธอกับเราเท่านั้น ขณะนั้นท้าวสักกะเทวราชทรงทราบเหตุ
จึงได้ให้พระวิษณุกรรมเทพบุตร แปลงกายเป็นหนู เข้าไปกัดเชือกที่ผูกท่อนไม้ไว้ที่ท้อง
และบันดาลให้เกิดลมพัดมาเลิกผ้านุ่งของนาง ท่อนไม้จึงได้ตกลงมาทับเท้านางในท่ามกลางบริษัท
-
บรรดาบริษัทที่เป็นปุถุชนเห็นความจริงดังนั้น
ก็พากันโกรธแค้น ต่างจับท่อนไม้และก้อนดิน เข้าขับไล่นางออกไป เมื่อนางจิญจมานวิกาออกไปพ้นจากคลองจักษุ
ก็ถูกแผ่นดินสูบลงไป