| หน้าแรก | ชาติไทย | ศาสนา | พระมหากษัตริย์ |

คณะสงฆ์จีนนิกาย

            ชาวจีนที่เข้ามาอาศัยในประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน และลัทธิขงจื้อกับลัทธิเต๋าปนกันไป ในสมัยกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา ยังไม่ปรากฎว่ามีวัดและ พระสงฆ์ฝ่ายจีนขึ้นน่าจะมีเพียงศาลเจ้าเทวาลัยจีนเท่านั้น
            การบำเพ็ญกุศลตามจารีตพุทธศาสนา ชาวจีนคงอาศัยวัดไทย ในสมัยอยุธยา ชาวจีนได้เคยร่วมกันสร้าง พระพิมพ์แบบไทย โดยเสด็จพระราชกุศล บรรจุไว้ในกรุใต้องค์พระปรางค์วัดราษฎรบูรณะ ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ เจ้าสามพระยา เมื่อทรงสถาปนาพระปรางค์ใหญ่ของวัดนี้
            ในสมัยกรุงธนบุรี ปรากฎว่ามีญวนอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ชาวญวนก็เป็นพุทธมามกะ ฝ่ายมหายานเช่นเดียวกับชาวจีน และมีวัฒนธรรมประเพณีคล้ายชาวจีน ชาวญวนได้สร้างวัดฝ่ายมหายาน ขึ้นบนฝั่งตะวันออกของกรุงธนบุรีเป็นวัดแรก และเมื่อสร้างกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ชาวจีนและชาวญวน ก็ได้สร้างวัดทั้งในกรุงและนอกกรุงอีกหลายวัด
            วัดจีนเพิ่งจะเป็นของตนโดยเฉพาะ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยอาศัยภิกษุจีนรูปหนึ่ง ชื่อ "พระภิกษุสกเห็ง" นับว่าเป็นพระภิกษุองค์สำคัญ ต่อการตั้งรากฐานของคณะสงฆ์จีนนิกายในไทย
            พระอาจารย์สกเห็ง  เป็นชาวมณฑลกวางตุ้ง  เกิดในสกุลพาณิชย์  เมื่ออายุได้ ๑๗ ปี ได้มีโอกาสสดับพระธรรมเทศนา จากพระอาจารย์ฮวบที แล้วเกิดศรัทธา จึงขอบรรพชาเป็นสามเณร ต่อมาได้บรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ  ครั้นต่อมาเมื่อได้ทราบกิตติศัพท์ว่า ประเทศไทยเป็นแหล่ง ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา  จึงได้เดินทางมาประเทศไทย เพื่อนมัสการปูชนียสถาน ได้มาพักอาศัยอยู่ ณ ศาลาร้างพระกวนอิมข้างวัดกุศลสมาคร ชาวจีนในกรุงเทพ ฯ พากันเลื่อมใส จึงชวมกันเรี่ยไรเงินบูรณะเป็นอารามฝ่ายจีนนิกายขึ้นเป็นแห่งแรกชื่อ "วัดย่งฮกยี่" ต่อมาได้รับพระราชทานนามว่า "วัดบำเพ็ญจีนพรต"

loading picture

            ต่อมาเมื่อมีพระสงฆ์จีนนิกายมากขึ้น จึงได้เลือกชัยภูมิบริเวณ ถนนเจริญกรุง ตำบลพลับพลาไชย สร้างเป็นอารามใหญ่ ด้วยพระบรมราชูปถัมภ์ และการช่วยเหลือจากพุทธบริษัทไทย - จีน จึงได้สร้างพระอารามแห่งใหม่เสร็จ โดยใช้เวลาถึง ๘ ปี ชื่อว่า วัดเล่งเน่ยยี่ และพระอาจารย์สกเห็ง ก็ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น "พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร" ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายจีนนิกาย และพระราชทานสมณศักดิ์แก่พระจีนอีก ๒ รูป คือ หลวงจีนคณาณัติจีนพรต  ตำแหน่งปลัดขวา กับหลวงจีนธรรมรสจีนศาสน์  ตำแหน่งปลัดซ้าย คณะสงฆ์จีนนิกายจึงเริ่มมีทำเนียบสมณศักดิ์นับแต่นั้น  และได้รับพระราชทานนามวัดเล่งเน่ยยี่ ว่า วัดมังกรกมลาวาส
            ได้มีการสร้างวัดเล่งฮกยี่  หรือวัดจีนประชาสโมสร ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และเตรียมสร้างวัดเล่งฮั้วยี่ ที่จังหวัดนนทบุรี  อีกแห่งหนึ่ง แต่ท่านเกิดอาพาธ ถึงแก่มรณภาพเสียก่อน

เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายจีนนิกาย

loading picture

            เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายจีนนิกาย  มีสมณศักดิ์เป็นที่พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร ตามที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์จาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และรูปแรกคือ พระอาจารย์สกเห็ง ตามที่กล่าวมาแล้ว
            เจ้าคณะใหญ่ ลำดับที่ ๒  คือ พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร (กวยหงอ) พุทธบริษัทรู้จักท่านในนามของ พระครูแมว ท่านเป็นผู้สนิทสนมคุ้นเคยกับ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ครั้งพระองค์เสด็จกลับจากประพาสยุโรป ยังได้มีสิ่งของมาพระราชทานให้
            เจ้าคณะใหญ่ ลำดับที่ ๓  คือ พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร (โล่วเข่ง) ต่อมาท่านได้ลาออกจากตำแหน่งแล้ว เดินทางกลับประเทศจีน  พระภิกษุฟุกยิ้นจึงได้รักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาสอยู่หลายปี
            เจ้าคณะใหญ่รูปที่ ๔  คือ  พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร (ย่งปิง) ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส  และเป็นเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย
            เจ้าคณะใหญ่รูปที่ ๕  คือ พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร (เซี่ยงหงี่) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส และเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย
            เจ้าคณะใหญ่ลำดับที่ ๖  คือ พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร พุทธบริษัทจีนพิเนตุ ฯ (โพธิแจ้งมหาเถระ)  และได้เป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิแมนคุณารามองค์แรก และเป็นประธานคณะกรรมการสงฆ์จีนนิกายรูปแรก
            เจ้าคณะใหญ่ลำดับที่ ๗  คือ พระคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร พุทธบริษัทจีนเนตา (เย็นเต็ก)  ประธานคณะกรรมการสงฆ์จีนนิกายรูปที่สอง เจ้าอาวาสวัดโพธิแมนคุณาราม รูปที่ ๒

บูรพาจารย์ผู้สืบทอดมหายานในประเทศไทย
loading picture
            นอกจากเจ้าคณะใหญ่ที่ได้กล่าวมาแล้วยังมีคณาจารย์รูปอื่น ๆ ที่มีการบันทึกประวัติ และผลงานไว้ดังนี้
            พระอาจารย์กวยหลง   เป็นผู้ช่วยพระอาจารย์สกเห็ง เจ้าคณะใหญ่ ลำดับที่ ๑ มีความรู้แตกฉานทางด้านมหายาน ได้ช่วยเหลือในการสร้างวัดจีนประชาสโมสร (เล่งฮกยี่) ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และได้เป็นเจ้าอาวาสวัดนี้
            พระอาจารย์ตักฮี   เจ้าอาวาสวัดจีนประชาสโมสรรูปต่อมา ได้เคยแสดงธรรมแก่ประชาชนชาวจีน ณ สำนักสงฆ์เต๊กฮ่วยตึ้ง จังหวัดเพชรบุรี เป็นประจำ ก่อนมาเป็นเจ้าอาวาสวัดจีนประชาสโมสร ได้ทำการบรรพชาอุปสมบทศิษย์ จำนวน ๓๐ กว่ารูป ซึ่งต่อมาได้เป็นพระอาจารย์จีนที่มีชื่อหลายรูปด้วยกัน  ต่อมาท่านได้จาริกแสดงธรรมมาถึงจังหวัดชลบุรี และได้สร้างวัดเทพพุทธารามขึ้น ชาวจีนเรียกว่า วัดเซียนฮุดยี่  เนื่องจากท่านเคยถือคติลัทธิเต๋ามาก่อน เพื่อมาบวชในพุทธศาสนาแล้ว จึงได้นำคติเต๋ามาผสมกับพุทธศาสนา จึงให้ชื่อวัดดังกล่าว
            พระอาจารย์เซี่ยงหงี  ได้บรรพชาเป็นสามเณรในฝ่ายเถรวาท ที่วัดต้นไทร จังหวัดฉะเชิงเทรา ต่อมาได้บรรพชาเป็นสามเณรในนิกายจีน เป็นศิษย์พระอาจารย์ตั๊กฮี และต่อมาได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในสำนักพระอาจารย์กวยหงอ แล้วเดินทางไปบูชาปูชนียสถานในประเทศจีน เมื่ออายุได้ ๓๕ ปี ได้เดินทางมาประเทศไทยอีก และได้เป็นเจ้าอาวาสวัดจีนประชาสโมสร ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระอาจารย์หลวงจีนวังสสมาธิวัตร เจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส และได้เป็นพระอุปฌาย์จีนนิกาย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๒
            พระอาจารย์เซี่ยงซิว  เป็นชาวมณฑลกวางตุ้ง ได้เป็นกำลังช่วยพระอาจารย์ตั๊กฮี ในการสร้างถาวรวัตถุ อันเป็นประโยชน์ต่อสังคม มีสะพานและถนน เป็นต้น เป็นผู้ที่ศึกษาและปฏิบัติด้านกัมมัฏฐาน และได้ออกจาริกเทศนาสั่งสอนประชาชนด้วยความเมตตากรุณา
            พระอาจารย์เซี่ยงกี่  เป็นชาวมณฑลกวางตุ้ง ได้ออกบวชในสำนักพระอาจารย์ตั๊กฮีที่วัดจีนประชาสโมสร ได้ออกธุดงควัตรไปที่เขาพระพุทธบาท สระบุรี เข้าไปปฏิบัติโยคะธรรมที่ถ้ำประทุน และได้นำประชาชน สร้างวัดเซ็งจุ้ยยี่ขึ้น มีศิษย์หลายรูปที่มีชื่อเสียง เช่น พระอาจารย์โพธิแจ้ง เป็นต้น
            พระอาจารย์ฮ่งเล้ง  เป็นชาวมณฑลกวางตุ้ง เมื่อเดินทางมาประเทศไทยได้บวชที่วัดเช็งจุ้ยยี่ สมาทานธุดงควัตรตลอดเวลากว่า ๑๐ ปี แล้วกลับไปสักการะปูชนียสถานที่มาตุภูมิ ประชาชนถวายนาม ท่านว่าพระลิปห่วยโพธิสัตว์ ปัจจุบันสำนักสงฆ์ลิปห่วย (หลับฟ้า)  ตั้งอยู่ที่ตำบลวังใหม่  สะพานอ่อน พระนคร  เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ตัวท่าน
loading picture
            พระมหาคณจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (โพธิแจ้งมหาเถระ)  เจ้าอาวาสวัดโพธิแมนคุณาราม
            เจ้าคณะใหญ่จีนนิกายรูปที่ ๖ และเจ้าอาวาสวัดโพธิเย็น ตลาดลูกแก จังหวัดกาญจนบุรี กับเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิทัตตาราม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นพระราชาคณะชั้นสัญญาบัตร (เทียบชั้นธรรมพิเศษ) ฝ่ายวิปัสสนา
            พระอาจารย์โพธิแจ้งเป็นชาวมณฑลกวางตุ้ง เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๔ เมื่อวัยหนุ่มได้เข้ารับราชการทหาร ที่มาตุภูมิอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาได้เดินทางมาประเทศไทย  เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๐ เพื่อศึกษาหลักธรรม และสักการะปูชนียสถานต่าง ๆ และได้ขอบรรพชา ณ สำนักสงฆ์ถ้ำประทุน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๑ มีฉายาว่า โพธิแจ้ง  ท่านเห็นว่าพระสงฆ์จีน ไม่เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทย และชาวจีนมากนัก จึงควรปฏิรูปปรับปรุงคณะสงฆ์จีนเสียใหม่ ท่านจึงได้ออกบำเพ็ญเพียรศึกษาพระธรรมวินัยอยู่ ๖ พรรษา จนแตกฉานในพระไตรปิฎก เป็นที่เคารพนับถือของบรรดาพุทธบริษัทมาก ต่อมาได้ย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่ สะพานอ่อน กรุงเทพ ฯ ณ สำนักสงฆ์หมี่กัง ได้รับสานุศิษย์ (กุยอี) เข้าปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะเป็นรุ่น ๆ รุ่นละกว่าร้อยคน เป็นการสร้างคนก่อนสร้างวัตถุ
            เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๗ ได้เดินทางไปประเทศจีน เพื่อเข้ารับการอุปสมบท แล้วอยู่ศึกษาธรรมเพิ่มเติมอีก ๒ ปี จึงได้เดินทางกลับประเทศไทย ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๔ ได้เดินทางไปประเทศจีนอีกครั้งหนึ่ง และได้ธุดงค์ไปถึงธิเบต เพื่อศึกษาลัทธิมนตรยาน ซึ่งเป็นนิกายหนึ่งในฝ่ายมหายานจนถึงปี พ.ศ.๒๔๙๐ ได้เดินทางกลับมาประเทศไทย และในปีต่อมาได้เดินทางไปประเทศจีนเป็นครั้งที่สาม ได้รับแต่งตั้งเป็น พระปรมัตตาจารย์ จากประมุขเจ้านิกายวินัยของประเทศจีน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๓ ได้เดินทางกลับประเทศไทย และต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเป็น หลวงจีนธรรมรสจีนศาสน์  ตำแหน่งปลัดซ้าย เจ้าคณะใหญ่คณะสงฆ์จีนนิกาย

ความเจริญของคณะสงฆ์จีนนิกาย
loading picture
            การดำเนินงานและการปกครองของคณะสงฆ์จีนนิกาย ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้เจริญดีขึ้น หลายประการด้วยกันคือ
                ๑. เกิดมีระเบียบการบรรพชาอุปสมบทในฝ่ายสงฆ์จีนนิกายขึ้น เนื่องจากแต่เดิมพระสงฆ์ จีนล้วนอุปสมบทมาจากประเทศจีนทั้งสิ้น เพราะที่ประเทศไทยไม่มีสีมามณฑล อันชอบด้วยวินัยนิยม ตามคติของฝ่ายจีน ดังนั้นจึงมีแต่การบรรพชาสามเณรในไทยได้เท่านั้น ครั้นเมื่อสร้างวัดโพธิเย็นขึ้น ที่ตลาดลูกแก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี พระอาจารย์โพธิแจ้งผู้สร้างก็ได้ประกอบพิธี สังฆกรรมผูกพัทธสีมา ตามวินัยนิยม จึงเป็นวัดจีนวัดแรกในประเทศไทย ที่ให้การอุปสมบทแก่กุลบุตรได้
            ครั้งนั้น  พระสาสนโสภณ  เจ้าอาวาสวัดมงกุฎกษัตริยาราม สั่งการแทนสมเด็จพระสังฆนายก ได้กำหนดระเบียบพระอุปัชาฌาย์ และระเบียบการบรรพชาอุปสมบทฝ่ายสงฆ์จีนนิกาย กล่าวคือ ผู้ที่จะบรรพชาเป็นสามเณรก็ดี จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุก็ดี ต้องมาขอบรรพชาอุปสมบทต่อ พระอุปัชฌาย์จีน ที่สมเด็จพระสังฆราชแต่งตั้งขึ้นเท่านั้น และพระอาจารย์โพธิแจ้ง ก็ได้รับบัญชาแต่งตั้งเป็น พระอุปัชฌาย์จีนรูปแรก ให้การบรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตร ที่สวัดโพธิเย็นเป็นแห่งแรก ปรากฎว่ามีกุลบุตรชาวจีน เข้ามาขอบรรพชาอุปสมบท ในปีหนึ่งเป็นจำนวนมาก
            การบรรพชาอุปสมบท ในคณะสงฆ์จีนนิกาย ก็เป็นไปเช่นเดียวกับการบรรพชาอุปสมบทของพระสงฆ์ไทย กล่าวคือการบวชและการลาสิกขาเป็นไปตามความสมัครใจ ไม่ได้มีการบังคับว่า เมื่อบวชแล้วจะต้องอยู่ในสมณเพศตลอดไป
                ๒.  เริ่มมีกรรมการคณะสงฆ์จีนนิกาย นับตั้งแต่มีวัดจีนขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ภิกษุจีนบางรูปได้ทำการสร้างสำนักสงฆ์อยู่กระจัดกระจายทั่วไปในกรุงเทพ ฯ ท่านเจ้าคณะใหญ่จึงได้ กราบทูลสมเด็จพระสังฆนายก เพื่อพิจารณาแต่งตั้งกรรมการสงฆ์จีนนิกาย  เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗ สมเด็จพระวันรัต (ปลด  กิตติโสภณเถระ) แห่งวัดเบญจมบพิตร ผู้เป็นสังฆนายก จึงได้มีพระบัญชาแต่งตั้งพระเถระฝ่ายจีนนิกาย ขึ้นเป็นคณะกรรมการสงฆ์จีนนิกาย เพื่ออำนวยการปกครองดูแลวัด และสำนักสงฆ์จีนต่าง ๆ ให้เป็นไปตามระเบียบ ซึ่งในคณะกรรมการ ฯ ครั้นนั้นมีพระอาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (โพธิแจ้ง) เป็นประธาน
            ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ทรงมีพระบัญชาแต่งตั้ง คณะกรรมการสงฆ์จีนขึ้นใหม่ เพื่อช่วยเหลือการปกครอง และบริหารศาสนกิจให้เป็นไปด้วยดี พร้อมทั้งได้ตั้งพระอุปัชฌาย์ เพิ่มขึ้นอีก ๔ รูป
                ๓.  ได้มีการฟื้นฟูพิธีถวายผ้ากฐินทานขึ้น ซึ่งความจริงสังฆกรรมทุกอย่าง เจ้าคณะใหญ่ได้กราบทูล ในฝ่ายมหายานนั้น ก็มีตรงกับสังฆกรรมฝ่ายเถรวาท แต่อาศัยความเหมาะสมกับกาละเทศะ และประเพณีบ้านเมือง ทางฝ่ายมหายานจึงคัดเอาแต่ที่อนุโลมกันได้มาปฎิบัติ ครั้นเมื่อพระสงฆ์จีนเข้ามาตั้งนิกายขึ้นในประเทศไทย พระคณาจารย์จีนจึงฟื้นฟูสังฆกรรมบางอย่าง ที่ละเว้นไปนานขึ้นมาปฎิบัติใหม่ ในสมัยเจ้าคณะใหญ่ลำดับที่ ๑ และที่ ๒ วัดมังกรกมลาวาส ก็เคยมีพิธีทอดกฐินเช่นดียวกับวัดไทย แต่เมื่อสิ้นสมัยของท่านทั้งสองแล้ว พิธีนี้ก็ได้หยุดชะงักไปช้านานประมาณ ๔๐ ปี จนมาถึงเจ้าคณะใหญ่ลำดับที่ ๖ (โพธิแจ้ง) จึงได้มีการฟื้นฟูสังฆกรรมนี้ขึ้นมาใหม่ ในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่ง หลวงจีนธรรมรสจีนศาสน์ ที่วัดโพธิเย็นเป็นวัดแรก และเมื่อท่านได้รับตำแหน่งเป็น เจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส ก็ได้มีพุทธบริษัทไทย - จีน ร่วมกันจัดกฐินสามัคคีขึ้น นับเป็นงานประจำปีที่สำคัญงานหนึ่ง ของคณะสงฆ์จีนนิกาย ในประเทศไทย เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๙ เป็นต้นมา

สมณศักดิ์
loading picture

            พระอาจารย์โพธิแจ้ง ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์มาตามลำดับ รวม ๗ ตำแหน่งด้วยกัน อันเป็นสมณศักดิ์ฝ่ายจีนนิกาย ตามลำดับดังนี้
            ปี พ.ศ.๒๔๙๓ เป็นที่หลวงจีนธรรมรสจีนศาสน์ ตำแหน่งปลัดซ้าย
            ปี พ.ศ.๒๔๙๔  ได้เป็นที่  หลวงจีนคณาณัติจีนพรต ตำแหน่งปลัดขวา
            ปี พ.ศ.๒๔๙๗   ได้เป็นที่  พระอาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่สงฆ์จีนนิกาย ลำดับที่ ๖ โดยข้ามสมณศักดิ์ที่พระอาจารย์จีนวินยานุการ ในตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าคณะใหญ่ และ สมณศักดิ์ที่พระอาจารย์จีนธรรมคณาธิการ ในตำแหน่งรองเจ้าคณะใหญ่
            ปี พ.ศ.๒๕๐๗  ได้เป็นที่  อาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร พุทธบริษัทจีนเนตา พระราชทานพัดยศเสมอด้วยพระราชาคณะชั้นราชแห่งคณะสงฆ์ไทย ฝ่ายวิปัสสนา
            ปี พ.ศ.๒๕๑๐  ได้เป็นที่  พระคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร พุทธบริษัทวิเนตา สาธุชนธรรมประสิทธิ์ บรมนริศรานุวัตร พระราชทานพัดยศเสมอด้วยพระราชาคณะชั้นเทพแห่งคณะสงฆ์ไทย ฝ่ายวิปัสสนา
            ปี พ.ศ.๒๕๑๓  ได้เป็นที่  พระคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร พุทธบริษัทจีนพิเนต วิเทศธรรมประสิทธิ์ บรมนริศรานุวัตร พระราชทานพัดยศเสมอด้วยพระราชาคณะชั้นธรรมแห่งคณะสงฆ์ไทย ฝ่ายวิปัสสนา ตั้งคณานุกรมได้ ๖ รูป คือ หลวงจีนธรรมรส ๑  หลวงจีนวินัยธร ๑  หลวงจีนปลัด ๑  หลวงจีนสังฆรักษ์ ๑  หลวงจีนสมุห์ ๑  และหลวงจีนใบฎีกา 1
            ปี พ.ศ.๒๕๒๐  ได้เป็นที่  พระคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร พุทธบริษัทจีนพิเนต วิเทศธรรมประสาท นวกิจพิลาสประยุกต์ ทำนุกจีนประชาวิสิฐ สถิต ณ วัดโพธิแมนคุณาราม พระราชทานพัดยศเสมอด้วยพระราชาคณะชั้นธรรมพิเศษ ฝ่ายวิปัสสนา ตั้งคณานุกรมได้ ๖ รูป คือ หลวงจีนปลัดธรรมสมาธิวัตร ๑  หลวงจีนวินัยธร ๑  หลวงจีนธรรมธร ๑  หลวงจีนสังฆรักษ์ ๑  หลวงจีนสมุห์ ๑ และหลวงจีนใบฎีกา ๑
 
| หน้าแรก | ชาติไทย | ศาสนา | พระมหากษัตริย์ | บน |