ศาสนาต่างๆ
ในประเทศไทย
คำนำ
ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติมาโดยตลอด
นับตั้งแต่ได้ตั้งเป็นแว่นแคว้น และเป็นราชอาณาจักรแต่ก็ได้เอื้อเฟื้อต่อคนไทยผู้นับถือศาสนาอื่น
และให้ความอุปถัมภ์ศาสนาอื่น ตามแบบอย่างโบราณราชประเพณี
ที่พระมหากษัตริย์ไทยได้ทรงอุปถัมภ์ไว้แล้ว และมีนโยบายที่จะป้องกัน มิให้คนไทยที่นับถือศาสนาแตกต่างกัน
เบียดเบียนกัน มีความสมานฉันท์ สามารถอยู่ร่วมกันด้วยความสุขสงบร่มเย็น โดยทุกคนมีเสรีภาพ ในการประกอบพิธีกรรมตามศาสนาของตน
โดยได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๐๖,๒๐๗ และ ๒๐๘
ในการดำเนินการด้านศาสนาต่าง ๆ ทางหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง บริหารงานโดยยึดหลักกฎหมาย
ด้วยการหารือองค์การหลักของแต่ละศาสนา ที่ทางราชการให้ความอุปถัมภ์ไว้แล้วเป็นสำคัญ
เพื่อให้องค์การหลักของแต่ละศาสนา ช่วยควบคุมดูแล และร่วมรับผิดชอบในแต่ละศาสนา
เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย เป็นผลดีต่อประเทศชาติเป็นส่วนรวม
ทางด้านพระพุทธศาสนา มีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ เป็นหลักในการบริหารงาน หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง
สนองงานของคณะสงฆ์ และรัฐบาลตามตัวบทกฎหมายที่กำหนดไว้ ทั้งด้านบริหาร และด้านศาสนูปถัมภ์
การบริหารศาสนาอื่น อยู่ภายใต้การดูแลบริหารของกระทรวงมหาดไทย ส่วนกรมการศาสนา
ได้ให้ความอนุเคราะห์ด้านศาสนูปถัมภ์ดังนี้
ศาสนาอิสลาม
มีพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พ.ศ.๒๔๘๘ และแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่
๒ พ.ศ.๒๔๙๑ และมัสยิดอิสลาม พ.ศ.๒๔๙๐ โดยจะหารือจุฬาราชมนตรี และกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
เกี่ยวกับการศาสนูปถัมภ์ศาสนาอิสลาม
ศาสนาคริสต์
พระมหากษัตริย์ ทรงให้ความอุปถัมภ์ นิกายคาทอลิก และนิกายโปรเตสแต้นท์ มาช้านานต่อมาได้มีระเบียบของกรมการศาสนา
ว่าด้วยการรับรองฐานะองค์การทางศาสนา และระเบียบอื่น ๆ กรมการศาสนาจะหารือด้านศาสนูปถัมภ์กับองค์การ
คาทอลิก และโปรเตสแต้นท์ ที่ได้รับรองฐานะขึ้นเป็นองค์การทางศาสนาไว้แล้วคือ
๑. สภาประมุข แห่งบาทหลวงโรมันคาทอลิก
๒. สภาคริสจักรในประเทศไทย
๓. สหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย
๔. มูลนิธิคริสจักรคณะแบ๊บติสท์
๕. มูลนิธิเซเวนเดย์ แอ๊ดเวนตีสแห่งประเทศไทย
ศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู
กรมการศาสนา จะหารือด้านศาสนูปถัมภ์กับสามองค์การที่ได้รับรองฐานะ เป็นองค์การศาสนาไว้แล้วคือ
๑. สำนักพราหมณ์พระราชครู ในสำนักพระราชวัง
๒. สมาคมฮินดู สมาช
๓. สมาคมฮินดู ธรรมสภา
ศาสนาซิกข์
กรมการศาสนาจะหารือด้านศาสนูปถัมภ์กับ สมาคมศรีคุรุสิงห์สภา
ศาสนาอิสลาม
ศาสนาอิสลามเริ่มประกาศโดยนบีมูฮำมัด บุตรอับดุลเลาะห์ ที่
เมืองมักกะฮ์
ซึ่งอยู่ในประเทศซาอุดิอาระเบียปัจจุบัน
เมื่อปี พ.ศ.๑๑๕๓ โดยนับจากปีที่นบีมูฮำมัด อพยพจากเมืองมักกะฮ์ ไปยัง เมืองมักดินะฮ์
เป็นการเริ่มฮิจเราะห์ศักราช (ฮ.ศ.) ที่ ๑
เมืองมักกะฮ์ในครั้งนั้นมีผู้นับถือศาสนาต่าง ๆ อยู่ ได้แก่
๑. ศาสนายิว (ยะฮู๊ด)
๒. ศาสนาคริสต์ (นัศรอนีย์)
๓. ศาสนาบูชาเจว็ด (มุซรีกีน)
ความเป็นอยู่ของชาวเมืองมักกะฮ์ส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพการค้าขาย และการเกษตร
ในด้านการค้าจะมีกองคาราวานนำสินค้าจากเมืองมักกะฮ์ไปขายที่เมืองอื่น ๆ เช่น เมืองซาม
(ซีเรีย) เป็นต้น สำหรับการเกษตรมีการทำสวนอินทผาลัม สวนองุ่นและเลี้ยงปศุสัตว์
เป็นต้น
สภาพทางสังคมของชาวอาหรับเป็นสังคมที่ไร้อารยธรรม เรียกว่า ยาอิลียะห์ ระเบียบวินัยทางสังคมในด้านต่าง
ๆ ไม่มีการกำหนดขึ้นมา และไม่มีวัฒนธรรมที่ต่อเนื่อง พอเป็นเกียรติประวัติแก่ชนชาติเลย
เป็นการดำรงชีวิตของคนล้าหลัง อำนาจรัฐก็ไม่มีเอกภาพ ต่างกลุ่มต่างพวกต่างตระกูลอยู่กันเป็นเอกเทศ
ไม่มีการรวมกัน เป็นแว่นแคว้นเดียวกัน ไม่มีการประกาศเขตแดนที่แน่ชัด ไม่มีธรรมนูญใช้ปกครอง
ดังนั้นปัญหาทางการเมืองจึงเกิดขึ้นเสมอ มีการรบพุ่งกันเป็นประจำ
ทางด้านเศรษฐกิจก็เป็นเพียงรักษาความอยู่รอดของตนเอง และป้องกันการฉกชิงของคนอื่น
ไม่มีการจัดเศรษฐกิจทางสังคมแต่ประการใด
จากสภาพการณ์ดังกล่าวซึ่งไม่มีการจัดระบบ ปัญหาต่าง ๆ ก็เกิดตามมาคือปัญหาสังคมอันสืบเนื่องมาจากคนไร้ศีลธรรม
ไร้วัฒนธรรม และไร้หลักยึดถือที่มั่นคง ชาวเมืองมักกะฮ์จึงมีความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมถึงที่สุด
มีการกดขี่ทางชนชั้น และทางเพศอย่างรุนแรง สิทธิเสรีภาพของปัจเจกชนถูกจำกัดโดยผู้มีอำนาจในสังคม
มี ระบบทาส ซึ่งได้รับการสืบทอดกันมาโดยตลอด
การปล้นสะดม การฉกชิงทรัพย์สมบัติ การฉุดคร่าอนาจาร การประทุษร้ายฆ่าฟันกัน
การสำมะเลเทเมา เป็นกิจกรรม และปรากฏการณ์ทางสังคมที่ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับผู้ที่เข้มแข็งมีกำลังแรงกว่า
มีอำนาจสูงกว่า ส่วนผู้ที่อ่อนแอกว่าก็ต้องอยู่แบบหวาดกลัว และไม่สามารถมีสิทธิหน้าที่ทางสังคม
นบีมูฮำมัด
ในปี พ.ศ.๑๑๑๓ เดือนรอบิอุลเอาวัล ตกอยู่ประมาณเดือนสิงหาคมในปีนั้น มีกองทัพช้างยกมาเพื่อทำลายเมืองมักกะฮ์
แต่ไม่สำเร็จ จึงเรียกปีนั้นว่า ปีช้าง นบีมูฮำมัดได้ถือกำเนิดขึ้นมา มีมารดาชื่อ อามีนะฮ์
ส่วนบิดาได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่ท่านนบียังอยู่ในครรภ์มารดาเพียงสองเดือน
เมื่อท่านนบีอายุได้หกขวบ มารดาของท่านก็ถึงแก่กรรม ท่านจึงตกเป็นเด็กกำพร้าผู้ยากไร้
ปู่ของท่านคือ อับดุลมุตตอลิบ ได้เป็นผู้อุปการะท่านจนท่านอายุได้แปดขวบ ปู่ของท่านก็ถึงแก่กรรมไปอีกคนหนึ่ง
หลังจากนั้นลุงของท่านคือ อะบูตอลิบ ก็ได้อุปการะท่านต่อมา
ลุงของท่านไม่ใช่คนร่ำรวย เป็นเพียงคนดีคนหนึ่งของสังคม มีอาชีพทำการค้าซึ่งมีทุนรอนไม่มากนัก
ท่านนบีมูฮำมัดในยามเยาว์วัยมีความเป็นอยู่ และการดำรงชีพไม่เหมือนกับเด็กในวัยเดียวกัน
ท่านช่วยตัวเองโดยตลอด ด้วยการรับจ้าง ชาวเมืองมักกะฮ์เลี้ยงแพะ เพื่อหารายได้
และนำรายได้นั้นให้ลุงของท่านทั้งหมด ท่านจึงเป็นที่รักใคร่ของอะบูตอลิบซึ่งแม้จะมีลูกหลายคน
แต่ก็รักหลานคนนี้มากกว่าลูกคนใดทั้งสิ้น
เมื่อท่านนบีอายุได้ประมาณเก้าขวบ ลุงของท่านก็นำท่านเดินทางไปยังเมืองซามเพื่อทำการค้า
การเดินทางในครั้งนั้นเป็นการเดินทางไปต่างเมืองครั้งแรกของท่าน และวันหนึ่งขณะที่ลุงของท่านกำลังนั่งพักผ่อนอยู่
ได้มีนักบวชของชาวยิวคนหนึ่งชื่อ บุฮัยรอ ได้สังเกตเห็นบุคลิกลักษณะของท่านนบี จึงได้เข้ามาสอบถามลุงของท่าน ด้วยความสนใจ
หลังจากได้สนทนากันแล้ว นักบวชผู้นั้นก็บอกกับลุงของท่านว่า เด็กคนนี้มีบุญ
ต่อไปจะได้เป็น นบีสุดท้าย ของโลก
ซึ่งมีปรากฏเรื่องนี้อยู่ใน คัมภีร์เก่า ๆ
ลักษณะของเด็กผู้นี้ตรงกับที่ระบุไว้ในคัมภีร์ดังกล่าวทุกประการ พร้อมกันนั้นก็ได้ขอร้องให้ลุงของท่าน
นำตัวท่านเดินทางกลับเมืองมักกะฮ์เสีย เพราะอาจถูกประทุษร้ายจากศัตรูได้ และกำชับให้ดูแลท่านนบีให้ดี
อุปนิสัยของท่านนบี
ตั้งแต่เยาว์วัยจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ท่านนบีมีอุปนิสัยดีที่สุดในสังคมอาหรับในยุคนั้น
เป็นผู้หลีกพ้นจากความเสื่อมโทรมทางสังคม ได้อย่างเด็ดขาด จึงเป็นที่นับถือของคนทั่วไป
ท่านไม่เคยพูดเท็จ มีความจริงใจต่อทุกคนโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ มีจิตใจเสียสละเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่นเสมอ
จนถูกขนานนามว่า อัลอะมีน แปลว่า
ผู้ซื่อสัตย์
เมื่อผู้อื่นจะกล่าวถึงท่าน หากไม่ระบุชื่อของท่าน ก็จะเรียกด้วยนามที่ถูกขนานให้นี้จนเป็นที่รู้กันแพร่หลาย
คนอาหรับจึงรัก และนับถือท่านเป็นพิเศษ ซึ่งไม่มีผู้ใดในหมู่ชนอาหรับจะได้รับเกียรติอย่างสูงจากสังคมเท่ากับท่าน
ท่านเป็นนักต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและคุณธรรมของสังคมมาโดยตลอด เมื่ออายุได้ประมาณ
๓๐ ปีเศษ ท่านกับญาติใน ตระกูลกุรอยซ์ ได้ร่วมกันก่อตั้งขบวนการพิทักษ์สิทธิมนุษยชน ขึ้นในสังคมอาหรับ โดยสมาชิกที่เข้าร่วมขบวนการนี้จะต้องสัญญาที่จะผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรม
ต้องช่วยเหลือผู้ถูกอธรรม และบำเพ็ญประโยชน์โดยมีกิจกรรมคือ คอยห้ามการวิวาทของสังคม
อาหรับคอยประนีประนอม ไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทที่เกิดขึ้น ขบวนการนี้ภาคอาหรับเรียกว่า ฮัลฟีลฟุดูล แปลว่า สนธิสัญญาพิทักษ์สิทธิมนุษยชน สมาชิกของขบวนการ ได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเคร่งครัด
และกล้าหาญจนเป็นที่เกรงใจของคนอาหรับโดยทั่วไป และเป็นกลุ่มพลังที่เป็นที่หวังของสังคมที่จะเข้ามากอบกู้ภัยสังคมที่มีอยู่อย่างกว้างขวาง
แต่ขบวนการนี้ก็เป็นเพียงขอบข่ายที่คับแคบเฉพาะในสังคมย่อย ๆ เท่านั้น
นอกจากจะตั้งขบวนการดังกล่าวแล้วท่านยังเคยทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการตัดสินกรณีพิพาทคือกรณีขัดแย้งอันสืบเนื่องมาจากการซ่อมแซม กะบะฮ์
ซึ่งชาวอาหรับถือเป็นมหา ปูชนียวัตถุ
ซึ่งทุกคนจะต้องมาสักการะบูชาเป็นประจำทุกปี
และบริเวณรอบกะบะฮ์เต็มไปด้วย เจว็ด เป็นจำนวนมาก
เมื่อการซ่อมแซมแล้วเสร็จ ปัญหาที่พวกอาหรับตกลงกันไม่ได้คือ การยกหินดำขึ้นไปวางไว้ที่เดิม
ซึ่งอยู่ที่มุมหนึ่งของกะบะฮ์นั้น เพราะทุกคนก็ต้องการจะยกหินดังกล่าว เกิดการแก่งแย่งจนเกือบจะมีการรบราฆ่าฟันกัน
ท่านนบีได้เดินเข้ามาในช่วงนั้นพอดี พวกอาหรับจึงมอบให้ท่านเป็นผู้ชี้ขาด
ท่านจึงใช้ผ้าวางบนพื้น แล้วนำหินก้อนนั้นมาวางไว้บนผ้า จากนั้นก็เรียกให้หัวหน้เเผ่าต่าง
ๆ มารวมกันจับผ้าคนละมุมจนนำหินดำมาวางไว้ ณ ที่เดิมได้ ด้วยความพอใจของทุก
ๆ ฝ่าย การประกาศหลักธรรม
เมื่อท่านนบีอายุประมาณ ๔๐ ปี ได้รับวิวรณ์จากพระเจ้าเป็นบทบัญญัติต่าง ๆ
โดยที่ท่านเป็นผู้ไม่รู้หนังสือมาก่อน ไม่เคยยอ่าน หรือทราบคัมภีร์เก่า ๆ
ที่เคยมีมาแต่ยุคก่อน ๆ ไม่ว่าจะเป็น คัมภีร์เตารอต
หรือ อินยีน
ก่อนที่ท่านจะได้รับวิวรณ์ ท่านได้เข้าไปบำเพ็ญภาวนาอยู่ถ้ำภูเขาลูกหนึ่ง
ในเมืองมักกะฮ์ ตามแบบที่ตระกูลของท่านได้สอนสืบทอดกันมาจาก นบีอิบรอฮิม
อันเป็นต้นตระกูลของท่านและของพวกยะฮู๊ด (ยิว ท่านใช้เวลาติดต่อกันครั้งละ
๑๕ วัน หรือหนึ่งเดือน โดยเตรียมเสบียงอาหารเข้าไปด้วย เมื่อเสบียงหมด ก็จะออกจากถ้ำไปหาเสบียงใหม่
แล้วกลับเข้าถ้ำต่อไป)
เมื่อท่านได้รับการไขความเป็นข้อบัญญัติจากพระเจ้าให้ท่านได้รู้ต่อการประกาศหลักธรรมแล้ว
ท่านได้ใช้เวลา ๑๓ ปี ที่เมืองมักกะฮ์ เพื่อประกาศบทบัญญัติ โดยเน้นปัญหาทางความเชื่อให้มนุษย์ทั้งหลาย ได้เลิกการกราบไหว้บูชาวัตถุเคารพทั้งปวง
ให้มีใจศรัทธาต่อพระเจ้าคือ อัลเลาะห์
ผู้มีเดชานุภาพและมีนิรันดรภาพ แต่การประกาศดังกล่าว ได้รับการต่อต้านจากชาวอาหรับ จนสุดท้ายท่านถูกวางแผนที่จะประหารชีวิตของท่านในคืนวันหนึ่ง
โดยมีมือดาบสิบคนจากสิบตระกูลมาล้อมบ้านท่านไว้ แต่ท่านนบีได้หลบออกจากบ้านไปได้ด้วยความปลอดภัย
โดยไม่มีการปะทะกัน จากนั้นท่านก็ได้มาพบกับ อาบูมะภีร์
เพื่อนรักของท่าน ณ ถ้ำอีกแห่งหนึ่ง พวกมือดาบทั้งสิบได้ออกติดตามท่าน จนมาถึงหน้าถ้ำ
ที่ท่านกับอาบูมะภีร์หลบช่อนตัวอยู่ แต่ไม่พบร่องรอยใด ๆ ว่ามีคนเข้าไปในถ้ำนั้นจึงพากันกลับไป
หลังจากนั้นท่านนบีกับอาบูมะภีร์ ก็ได้ออกเดินทางไปยัง เมืองมะดีนะฮ์
และก็ได้อยู่ที่เมืองนั้นประมาณ ๑๐ ปี โดยได้รับข้อบัญญัติจากพระเจ้าเป็นระยะ
ๆ เช่น ในด้านเศรษฐกิจ การปกครอง วัฒนธรรม และด้านสังคม เป็นต้น ในห้วงเวลาดังกล่าว
ท่านได้ทำให้ประชาชาติอาหรับรวมตัวกัน เป็นประชากรเดียวกัน มีอธิปไตยเป็นของตนเอง
มี อัลกุรอาน เป็นธรรมนนูญ
มีอาณาเขตและมีคณะรัฐบาลบริหารประเทศ โดยท่านเป็นผู้นำทั้งด้านอาณาจักรและศานจักรพร้อมกัน
การบริหารรัฐอิสลาม ซึ่งเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ ท่านมิได้บริหารในฐานะพระราชาธิบดี
แต่บริหารในฐานะ ทาสพระเจ้า
โดยให้ทุกคนตระหนักว่า ทุกคนเป็นของพระเจ้า
ประเทศเป็นของพระเจ้า และ การงานทั้งมวลเป็นของพระเจ้า ท่านและทุกคนปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบร่วมกัน และทุกคนมีสภาพเป็นพี่น้อง ไม่มีใครมีศักดิ์ศรีเหนือกว่า
เกียรติเหนือกว่า โดยชาติตระกูลหรือตำแหน่ง แต่เกียรติของบุคคลขึ้นอยู่กับสำนึกนบน้อมต่อพระเจ้าเป็นสำคัญ
ตลอดชีวิตการบริหารบ้านเมืองท่านเสียสละเพื่อประชาชน ไม่ได้สร้างฐานะของตนเองให้มั่งคั่งร่ำรวยแต่ประการใด
ดำรงชีวิตโดยสมถะ
สถานที่บริหารบ้านเมืองของท่าน ใช้มัสยิดเป็นแหล่งอเนกประสงค์ เป็นที่ทำการรัฐบบาล
สภา สถานศึกษา ศาล และเป็นสถานที่นมัสการพร้อมกันไป โดยตัวท่านจะใช้มุมหนึ่งของมัสยิด
ทำเป็นที่อยู่อาศัย
การแพร่หลายของศาสนาอิสลาม
ดินแดนตะวันออกกลาง เป็นแหล่งเกิดอารยธรรมโบราณ ซึ่งประกอบด้วยศาสนาต่าง ๆ
เช่นศาสนาบูชาธรรมชาติ ศาสนาบูชาเทวรูป ศาสนายูดาย ศาสนาโซโรอาสเตอร์ และศาสนาคริสต์
ต่อมาเมื่อศาสนาอิสลามได้แพร่หลายจากแหล่งเกิดไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ก็ได้ ลบล้างอารยธรรมดั้งเดิมเหล่านั้น
และทดแทนด้วยอารยธรรมอิสลาม ภาษาอาหรับก็แพร่หลายครอบคลุมไปจนทั่วดินแดนดังกล่าว
ศาสนาอิสลาม ได้เปลี่ยนแปลงลักษณะภูมิศาสตร์การเมืองของหลายจักรวรรดิ์ เช่น
กรีก โรมัน และเปอร์เซีย ซึ่งสลายตัว มีวัฒนธรรมใหม่ และระบบการปกครองแบบใหม่
ผู้ที่รับหน้าที่สืบการปกครองต่อจากท่านนบีเรียกว่า คอลิฟะฮ์
(คนไทยเรียกว่า กาหลิบ)
ได้ปกคกรองต่อมาเป็นระยะเวลาประมาณ ๓๐ ปี มีคอลิฟะฮ์สี่คน
เมื่อศาสนาอิสลามแพร่หลายในตะวันออกกลางจนทั่วถึง การแก่งแย่งอำนาจการปกครอง
ความขัดแย้งทางการเมือง ทำให้รูปแบบของวัฒนธรรมอิสลามในด้านการปกครองเปลี่ยนแปลงไป
การปกครองระบบคอลิฟะฮ์ อันได้มาจากการเลือกตั้งเปลี่ยนมาเป็นราชวงศ์ ขึ้นมาสืบทอดอำนาจ
จีน
อิสลามได้แพร่เข้าสู่เมืองจีน เนื่องจากคนอาหรับมีการติดต่อค้าขายกับจีนมาช้านานแล้ว
จนท่านนบีได้กล่าวถึงการแสวงหาความรู้ว่าแม้ว่าจะไกลถึงเมืองจีนก็ตาม คนจีนรู้เรื่องของอิสลามอย่างดี
ปรากฎในบันทึกพงศาวดารในราชวงศ์ถัง (พ.ศ.๑๑๔๑ - ๑๔๕๐)
มาเลเซีย
พ่อค้าชาวอาหรับได้เดินทางมาค้าขายและตั้งหลักแหล่งในแหลมมลายู หลังจากที่ได้มาตั้งหลักแหล่งทางตะวันตกของอินเดีย
ในสมัยราชวงศ์อับบาซียะห์ พวกพ่อค้าได้นำสินค้าโดยทางเรือไปขายทางตะวันออกไกล
ยุโรป และอัฟริกา มีการขุดพบเหรียญตราต่าง ๆ ของอาหรับ รัสเซีย ฟินแลนด์ สวีเดน
และเยอรมันนี
ในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย พวกอินเดียได้ติดต่อทางการค้า และศาสนากับแหลมอินโดจีนในเขมร
มีแขกจาม ตั้งรกรากอยู่จนถึงปัจจุบัน
ไทย
มีหลักฐานว่าคนไทยในสมัยน่านเจ้า ก่อนที่คนไทยจะเสียอาณาจักรน่านเจ้าแก่จักรวรรดิ์มองโกล
ในสมัยกุบไลข่าน เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๗๙๗ นั้น อิสลามได้แพร่หลายเข้าไปในอาณาจักรนี้
เราเรียกคนจีนยูนานที่เป็นมุสลิมว่า ฮ่อ
สมัยสุโขทัย
พ่อขุนรามยคำแหง ฯ ได้ทรงแผ่อาณาเขตของกรุงสุโขทัยจนตอนใต้จดแหลมมลายูตลอดไปจนสุดปลายแหลม
สมัยอยุธยา
มีมุสลิมตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นปึกแผ่น แต่เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าเป็นครั้งที่สอง
หลักฐานต่าง ๆ ถูกเผาทำลายไปมากเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยคือภาพรดน้ำบนบานประตูบานหนึ่ง ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
เข้าใจว่า เขียนไว้ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ
ที่คลองบางกอกใหญ่ ได้มีมุสลิมตั้งภูมิลำเนาค้าขายอยู่บนบกก็มี อยู่แพก็มี
สมัยนั้นเรียกมัสยิดว่า กุฎี กล่าวกันว่ามีมาก่อนสมัยพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ.๒๑๕๓
- ๒๑๗๑) กระดานจารึกอักษรอาหรับ ซึ่งถูกไฟไหม้บางส่วน ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองลอยน้ำมา
ชาวคลองบางกอกใหญ่ได้เก็บรักษาไว้ที่มัสยิดต้นสนจนถึงปัจจุบัน
|