ศาสนาซิกข์

            ศาสนาซิกข์  เป็นศาสนาที่เกิดขึ้นในอินเดีย เมื่อประมาณ ๕ ศตวรรษ มาแล้ว คุรุนักนานักเป็นผู้ประกาศ และมีผู้สืบต่อมาอีกสิบท่าน ท่านสุดท้ายคือ >คุรุโควินท สิงห์ ท่านได้บัญญัติให้ชาวซิกข์ยึดถือในธรรมะแต่อย่างเดียวนับว่าเป็นการยุติการสืบศาสนาโดยบุคคลอย่างสิ้นเชิง ในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ปัจจุบันชาวซิกข์ทุกคน ยึดมั่นอยู่ในธรรม ท่านได้เขียนและรวบรวมไว้เป็นเล่มเรียกว่า มหาคัมภีร์ อาที ครันถ์ และเพื่อไม่ให้เป็นปัญหาต่อไปอีก จึงได้บัญญัติไว้ว่า
                "ธรรมคือเรา เราคือธรรม ในธรรมเปี่ยมด้วย อมฤต ธรรมที่แสดงไว้ หากสาวกเชื่อผู้นั้นประจักษ์แน่แท้ในเรา"
            ศาสนาซิกข์ เป็นศาสนาที่มุ่งสอนให้คนทำความดี ละความชั่ว  สอนให้พิจารณาที่เหตุ และให้ยับยั้งต้นเหตุด้วยสติปัญญา ตำหนิสิ่งที่ควรตำหนิ และชมเชยในสิ่งที่สมควรชมเชย  สอนให้คนรักกันฉันท์มิตรพี่น้อง รู้จักให้อภัยต่อกัน  สอนให้เข้าใจถึงการทำบุญ และการทำทาน สอนให้ละเว้นบาปทั้งหลาย สอนให้ทราบว่าไม่มีสิ่งใด มีอานิสงฆ์เสมอการภาวนา  สอนให้เห็นว่า สรรพสิ่งทั้งมวลย่อมแตกดับ ตามกาลเวลา ไม่มีสิ่งใดยั่งยืนตลอดไปได้ แสดงว่าชีวิตย่อมอุบัติ และแตกดับเป็นนิจสิน ดังฟองน้ำ ได้แสดงถึงเรื่องกฎแห่งกรรม ว่าทุกคนจะต้องได้รับผลจากกรรมที่ได้ก่อไว้ ทั้งในทางดีและทางชั่ว กฎแห่งกรรมนี้ไม่มีการยกเว้น
            คุณธรรมต่าง ๆ ที่ได้บัญญัติไว้ มีทุกระดับ และทุกคนสามารถรับได้ ทั้งนี้เพราะได้ประกาศหลักสัจธรรมไว้ในลักษณะสายกลาง  ได้แสดงไว้ว่า การทรมานสังขารของตน จนเป็นเหตุให้ต้องทนทุกข์ทรมาน หรือหย่อนยานจนฟุ้งเฟ้อหลงใหล เป็นสิ่งที่ล้วนเกินพอดีทั้งสิ้น  ท่านจะเผยแพร่ศาสนา ในลักษณะที่เข้าใจง่าย เห็นจริงด้วยตนเอง  ท่านจะไม่ชอบวิธีน้อมนำให้ประพฤติปฎิบัติตามประเพณี ที่ยึดถือตามกันมา โดยปราศจากความเข้าใจอย่างถ่องแท้  ท่านจะชี้แจงแสดงให้เห็นตลอด จนผลที่เกิดจากเหตุตามมา ดังเช่น ธรรมะตอนหนึ่งท่านแสดงว่า
                ผู้หยิ่งยะโสโอหัง อหังการณ์ในสมบัติพัศสถานที่ครอบครอง ผู้นั้นจะกลับชาติมาเกิดเป็นสุนัขในนรกภูมิ
                ผู้ใดมีความลำพองในความหนุ่มฉกรรจ์ และความงดงามแห่งตน ผู้นั้นคือ หนอนและแมลงที่โสโครก
                ผู้ใดที่ชอบอวดอ้าง ยกย่องสรรเสริญตนเองอยู่เสมอ ผู้นั้นต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในวัฎฎสงสารนับอนันตชาติ
                ผู้ที่มัวเมาลุ่มหลง อหังการณ์อยู่ในธนะสมบัติ ภูมิสมบัติ ผู้นั้นคือ คนโง่เขลามืดบอด ไร้ปัญญา
                พระผู้เป็นเจ้าโปรดแล้ว ผู้นั้นจะเป็นผู้สมถะ มักน้อย ครองตนเป็นผู้เสียสละปราศจากกิเลสทั้งปวง
            คุรุนานัก ได้แสดงไว้ว่า นี่แหละคือ หนทางแห่งความหลุดพ้นในโลกนี้ และเสวยวิมุติสุขตลอดกาล ท่านสอนให้ทุกคนมีความรักเพื่อนมนุษย์ ดังเช่นธรรมบัญญัติมีความว่า
                    มนุษย์คือ มวลมิตรของฉัน ไม่ใช่ศัตรู ไม่ใช่ผู้แปลกหน้า
                    ที่ใดมีการอภัยต่อกัน ที่นั่นมีพระเจ้า
                    มนุษย์ชาติเราเห็นเป็นหนึ่งเดียว
ความเป็นมาของศาสนาซิกข์
            ศาสนาซิกข์ เกิดจากความบีบคั้นที่ได้รับจากคนในศาสนาอื่นของอินเดีย ในขณะนั้นซิกข์จึงเป็นศาสนาของผู้กล้า เสียสละ นักรบ ผู้ประกาศศาสนา ตั้งความมุ่งหมายไว้ในคำสอน ให้เป็นที่รวมความสามัคคี เพื่อประเทศชาติ คนซิกข์ทุกคนเสมือนรวมกันขึ้นประดุจมัดหวาย เป็นกำลังป้องกันชาติตระกูลของตน
            ผู้ประกาศศาสนาซิกข์ มุ่งรวมความแตกแยกระหว่างชาวชมพูทวีปในขณะนั้น ให้ผู้นับถือศาสนาฮินดู และศาสนาอิสลามรวมกันอยู่เป็นพวกเดียวกัน มุ่งตัดความแตกสามัคคีในระหว่างลัทธิศาสนาทั้งสองนั้นเสีย แล้วตั้งลัทธิใหม่ขึ้น ให้เหมาะแก่ชาติตระกูล ที่ประสบความยากเข็ญ เพราะความแตกสามัคคีดังกล่าว สมตามหลักที่ปรากฎในบัญญัติว่า "ไม่มีพระเจ้าสำหรับชาวมุสลิมอีกองค์หนึ่งแต่มีพระเจ้าองค์เดียว สำหรับมนุษย์ทั้งปวง"
            คุรุนานัก ผู้ให้กำเนิดศาสนาซิกข์  มีชีวิตอยู่ระหว่างปี พ.ศ.๒๐๑๒ - ๒๐๘๑  ที่หมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งชื่อทัลวันดี (Talvandi)  ปัจจุบันเรียก นานักนคร ตามชื่อของคุรุนานัก อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ของเมืองลาฮอร์ (Lahore) เมืองหลวงของแคว้นปัญจาบ ประมาณ ๓๐ ไมล์ หมู่บ้านตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำราวี (Ravi)  ปัจจุบันอยู่ในประเทศปากีสถาน
            คุรุนานัก เป็นคนจน เกิดในตระกูลที่เป็นฮินดู อยู่ในวรรณะพราหมณ์ บิดาทำงานเป็นคนรับใช้อยู่กับเจ้าเมืองมารดาเป็นนักศาสนาที่เคร่งครัด เมื่ออายุได้เจ็ดปี พ่อแม่ได้ส่งเข้าศึกษาในโรงเรียนเด็กชายคุรุนานัก ได้แสดงปัญญาความสามารถไต่ถามความรู้เรื่อง พระเจ้าต่อครูบาอาจารย์มีความรู้แตกฉานในคัมภีร์พระเวท ตั้งแต่อายุยังน้อย เมื่ออายุได้เก้าปี นานักปรารถนาเรียนรู้ความเป็นมาของศาสนาและเทพเจ้าของเพื่อนบ้าน จึงได้ศึกษาภาษาเปอร์เซียน เพื่อเรียนรู้ลัทธิของโซโรอัสเตอร์ (Zoroaster) ผู้ตั้งลัทธิปาร์ซี (Parsi) ทำให้นานัก สามารถโต้เถียงหลักศาสนา กับคณาจารย์เก่า ๆ ได้ตั้งแต่เป็นเด็กคัมภีร์ในศาสนซิกข์ที่เรียกว่า ครันถ์ (Cranth)  ได้หลักหลายหลักมาจากคัมภีร์ของศาสนาโซโรอัสเตอร์ และที่ยังจารึกเป็นอักษรเปอร์เซียนอยู่ก็มีชาวซิกข์ เชื่อกันว่า คุรุนานัก ศาสดาของตน สามารถสั่งสอนคนได้ตั้งแต่อายุเก้าขวบ
            คุรุนานัก เป็นคนชอบเปรียบเทียบ และแก้ไขคำสอนให้สมสมัย ตามปกติชาวปัญจาบชอบการกีฬาทำร่างกายให้แข็งแรงควรแก่การเป็นนักรบ บางพวกชอบฝึกหัดการค้าขาย แต่คุรุนานักไม่ชอบมุ่งหน้าหาความรู้ทางศาสนา เพื่อใช้หลักศาสนาแก้ไขชุมชนอย่างเดียว บรรดาญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง พากันเป็นกำลังให้คุรุนานัก ได้เป็นคนสำคัญของบ้านเมือง ครั้งหนึ่งทางบ้านเมืองได้เสนอตำแหน่งราชการชั้นสูงมาให้แต่คุรุนานักปฎิเสธ อ้างว่าตนเองไม่ต้องการความรุ่งโรจน์ทางราชการ
            ต่อมาเมื่อมีอายุพอสมควร คุรุนานักได้แต่งงานกับสตรีผู้มีตระกูลดีคนหนึ่งของหมู่บ้านเดียวกัน และมีลูกสองคน แต่ชีวิตในครอบครัวหาความสุขได้ยาก เพราะคุรุนานักชอบความสงบแต่ภรรยาชอบความสนุกสนานรื่นเริง ในที่สุดคุรุนานักก็ทอดทิ้งภรรยาและลูก แล้วออกไปหาความสงบในป่าเมื่ออายุได้ ๓๖ ปี
                ปรากฎการณ์ครั้งแรก  วันหนึ่งขณะที่คุรุนานัก ทำความสงบอยู่ในป่า ก็ได้รับปรากฎการณ์ทางใจครั้งแรก ด้วยการได้ดื่มน้ำอมฤตถ้วยหนึ่งจากผู้ศักดิ์สิทธิ์ ผู้นั้นได้แจ้งแก่คุรุนานักว่า "เราจะขออยู่กับเจ้า เราจะทำให้เจ้ามีความสุขสงบ และจะทำให้ทุกคนที่นับถือเราในเจ้ามีความสุขไปด้วย เจ้าจงออกจากที่แห่งนี้ จงไปข้างหน้า นึกถึงเราไว้เป็นนิตย์จงเป็นผู้เมตตา เป็นผู้สะอาด บูชา และกระทำใจให้เป็นสมาธิ ต่อไปนี้เจ้าจงเป็น คุรุ (ครู) ของคนทั้งหลาย"
                คุรุนานัก โสมนัสกับปรากฎการณ์ดังกล่าวนั้นสามวัน แล้วเดินทางออกจากป่า กลับไปยังหมู่บ้านเดิมของตน แล้วเริ่มแจกทานเป็นกิจแรกแก่คนจน ให้ยาและการรักษาพยาบาลคนเจ็บไข้
                ในสมัยนั้น การปกครองในแคว้นปัญจาปหาระเรียบมิได้  ผู้มีอำนาจข่มเหงผู้น้อย  ศาลสถิตย์ยุติธรรมไม่มีความทรงธรรม  ผู้ครองเมืองเป็นนักประหาร  ความสัตย์ไม่มีในหมู่ชน  โรคภัยไข้เจ็บระบาด ไม่มีความสุขและสงบ  คุรุนานักตั้งตัวเป็นครู เที่ยวสั่งสอนคนตั้งตัวเป็นแพทย์รักษาพยาบาลคน และเที่ยวแนะนำให้ความยุติธรรมแก่คนทั้งหลาย  คุรุนานักสละสมบัติส่วนตนทั้งหมด แล้วท่องเที่ยวไปด้วยเครื่องแต่งกายชิ้นเดียว
                ดังที่กล่าวมาแล้วว่า คุรุนานัก เป็นชาวฮินดู แต่ปฎิเสธพระเจ้าของชาวฮินดูทั้งหมด  ดังนั้นเมื่อออกสั่งสอนไปในที่ใด จึงได้สาวกทั้งที่เป็นฮินดู และมุสลิม  คุรุนานักแสดงตัวเป็นฮินดู และมุสลิม ในขณะเดียวกัน เห็นได้จากเครื่องแต่งตัวในเวลาออกสั่งสอนคน คุรุนานักจะสวมเสื้อสีหมากสุกอันเป็นสีแสดงถึงอิสรภาพตามลัทธิฮินดู แขวนประคำทำด้วยกระดูกไว้ที่คอ และเจิมหน้าด้วยหญ้าฝรั่นตามแบบของฮินดู แต่ขณะเดียวกันก็สวมหมวกตามแบบมุสลิม
                ลักษณะการแต่งตัวอันเป็นเครื่องหมายที่คุรุนานัก แสดงดังกล่าว เพื่อน้อมนำศาสนิกชนทั้งสองฝ่ายให้ได้คติเป็นกลางไม่ยึดเอาศาสนาใดศาสนาหนึ่ง อันเป็นเหตุแห่งการรังเกียจเคียดแค้นกันทั้งสองฝ่าย
                คุรุนานัก สอนว่า "ซิกส์เป็นศาสนาของคนทั้งหลาย พระเจ้าเป็นผู้ปราศจากภัยปราศจากเวร ไม่ใช่เป็นผู้ทำลาย แต่เป็นผู้สร้าง เราไม่มีพระเจ้าสำหรับชาวมุสลิม เรามีพระเจ้าองค์เดียว องค์หนึ่งผู้เป็นพระเจ้าของโลกทั้งมวล พระองค์ไม่โปรดวรรณะ หรือสี หรือลัทธิ อันแยกบัญญัติออกไปแต่ละอย่าง พระองค์ไม่มีการเกลียด ไม่มีการแช่ง สาป เหมือนพระเจ้าองค์อื่น ๆ"
                "พระเจ้าของเรา พระองค์ไม่มี (อายุ) จำกัด ทรงความเป็นอยู่จริง แม้ในเวลาปัจจุบันพระองค์ไม่มีกำเนิด ทรงดำรงอยู่โดยลำพัง พระองค์เองเราย่อมเข้าถึงพระองค์ ได้ด้วยความอนุเคราะห์ของครูบาอาจารย์ (ได้แก่ตัวคุรุนานักเป็นปฐม)"
                "พระเจ้าของเราไม่มีใครแต่งตั้ง อยู่โดยลำพังพระองค์เดียว ไม่มีสิ่งใดครอบงำปราศจากความตาย ปราศจากความเกิด ปราศจากชาติตระกูล เป็นผู้ซึ่งใครหยั่งรู้ไม่ได้ปราศจากรูปและลักษณะ ข้าพเจ้าหาพระองค์ก็ได้พบพระองค์ภายในสิ่งอันประกอบไป
ด้วยรูปทุกอย่าง"
                ประมุขของศาสนาซิกข์ในเวลาต่อมา ได้ประมวลคำสอนของคุรุนานักเป็นหลักของซิกข์ อาจย่อเข้าเป็นหลักใหญ่ได้สี่ประการคือ สามัคคี เสมอภาค ศรัทธา ความรัก (ภักดี)
                สองหลักต้นแสดงมติ และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า (องค์เดียวกัน) และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันสองหลักหลังแสดงมติ หรือทางปฏิบัติอันมนุษย์ จะพึงปฏิบัติตามเพื่อบรรลุความสุขเกษมขั้นสุดท้าย
                การเดินทางสั่งสอน  เพราะต้องการให้ฮินดู และมุสลิม ซึ่งกำลังวิวาทกันด้วยเรื่องเชื้อชาติ และศาสนาสัมพันธ์เข้าด้วยกันในฐานะที่ตนเป็นฮินดู คุรุนานักจึงพยายามสอนให้พวกมุสลิม เลื่อมใสในโอวาทของตนมากที่สุด คุรุนานักได้ศิษย์มุสลิมสำคัญคนหนึ่งคือ มารทาน (Mardana) ตามประวัติว่า เคยเป็นนักดนตรี ศิษย์ผู้นี้ได้ใช้ศิลปะดนตรีเป็นคำสั่งสอนของอาจารย์เป็นอันมาก อาจารย์กับศิษย์ออกเดินทางไปสั่งสอนตามหัวเมืองต่าง ๆ ในชมพูทวีปภาคเหนือไปถึงแคว้นกุรุเกษตร หริทวาร ปาณิปัต เดลี วรินทรวัน โครักขมาต พาราณสี และตลอดแนวลุ่มแม่น้ำพรหมบุตร อันเป็นแหล่งกลางของศาสนาฮินดู ขึ้นไปสอนถึงแคว้นแคชเมียร์ และเปษวาร์ในปัจจุบัน
                การสั่งสอนตามดินแดนดังกล่าวตลอดระยะเวลาสิบสองปี ได้มีผู้มานับถือเป็นจำนวนมากเมื่อได้เห็นผลจากภายนอก คุรุนานักก็เข้ามาสู่แคว้นปัญจาบ อันเป็นถิ่นกำเนิดของตน เมื่อได้สั่งสอนอยู่ชั่วเวลาหนึ่ง และได้ผลตามความมุ่งหมาย แล้วจึงได้ออกเดินทางลงสู่อินเดียภาคใต้ลงมาถึงแคว้นมัทราช อันเป็นศูนย์กลางของลัทธิเชนแล้วข้ามไปถึงเกาะลังกาได้สั่งสอนลัทธิใหม่ของตนถวายพระราชา พระราชินี แห่งเกาะลังกา และมีหลักฐานว่า คุรุนานักได้เดินทางไปสอนตามหมู่เกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรอินเดียอีกหลายแห่ง
               แหล่งสำคัญที่คุรุนานักเดินทางไปสั่งสอนคือ ประเทศอารเบียไปสั่งสอนถึงเมืองเมกกะอันเป็นศูนย์กลางของศาสนาอิสลามคุรุนานักได้ชื่อว่าเป็นศาสดา ชาวอินเดียคนแรก ที่เดินทางธุดงค์ไปถึงเมืองเมกกะหลังจากนั้นก็ได้เดินทางไปถึงเมืองเมดินะผ่านเข้าไปถึงเมืองแบกแดด ในดินแดนอิรักณ ที่นั้นได้เปิดการสั่งสอนอีกครั้งหนึ่ง ผู้ฟังทั้งหมดเป็นมุสลิม ระหว่างที่สอนอยู่มีผู้ตะโกนถามว่าท่านเป็นใคร ท่านนับถือศาสนาประเภทไหน คุรุนานักตอบว่า "ข้าพเจ้าคือคุรุ เดินทางมาถึงที่นี่ เพื่อนำสิ่งสวัสดีมาให้ประชาชน ข้าพเจ้าปฏิเสธนิกายในศาสนาต่าง ๆ ทั้งหมด ไม่นับถือนิกายใด พระเจ้าองค์หนึ่งองค์เดียวเท่านั้น เป็นที่นับถือของข้าพเจ้า ข้าพเจ้านับถือพระองค์ในแผ่นดินนี้ ในสวรรค์และในที่ทั้งปวง"
               การเดินทางสั่งสอนของคุรุนานักเป็นหนทางยาวไกลและกันดาร เต็มไปด้วยการผจญภัยเคยถูกทำร้าย และเคยได้รับโทษจากผู้มีอำนาจ เคยมีปาฏิหาริย์ เพื่อความศักดิ์สิทธิ์เป็นบุคลาธิษฐาน เช่นเดียวกับศาสดาในศาสนาอื่น แม้จะมีอุปสรรคด้วยประการใด คุรุนานักก็มิได้ย่อท้อเป็นผู้ประกอบด้วยขันติธรรม และเมตตาธรรมเป็นที่สุด
               อวสานของคุรุนานัก  คัมภีร์คันถะ (ครันถ์) ได้พรรณนาอวสานของศาสดาแห่งตนว่า คุรุนานักรู้อวสานของตน เมื่อเวลาใกล้เข้ามาก็ได้มอบธุระการงาน ให้แก่อัครสาวกคนหนึ่งชื่อว่า ลาหินา (Lahina)  ความจริงคุรุนานักตั้งใจจะมอบงานต่าง ๆ ให้บุตรชายแต่บุตรชายของท่าน เคร่งครัดในลัทธิฮินดู ไม่สามารถเปลี่ยนใจมานับถือลัทธิของบิดาได้  มีกล่าวว่า เพราะคุรุนานักไม่สามารถช่วยบุตรของท่านให้นับถือลัทธิที่ท่านประกาศได้ เป็นเหตุให้เกิดวิปฏิสาร เมื่อใกล้ถึงอวสานกาล
               เมื่อใกล้อวสาน คุรุนานักเหนื่อยอ่อนนัก เข้าไปพักใต้ต้นไม้แห้งต้นหนึ่งที่ตำบลคะเดประ แคว้นปัญจาบ ขณะนั้นต้นไม้แตกใบออกดอกใบเขียวสดไปเต็มต้น เป็นการต้อนรับและบูชาท่านให้เห็นเป็นอัศจรรย์  มีสาวกที่เป็นฮินดู และมุสลิมเข้าประชุมกันคับคั่ง เพื่อคอยพยาบาล  เมื่อเห็นว่าชีวิตของอาจารย์จะต้องสิ้นสุดลง สาวกฝ่ายมุสลิมจึงกล่าวขึ้นว่า ถ้าอาจารย์ถึงอวสาน จะนำศพไปฝังตามพิธีมุสลิม  สาวกฝ่ายฮินดูได้ยินก็ไม่ยอม ค้านว่าจะขอเป็นเจ้าภาพประกอบพิธีศพอาจารย์ ตามธรรมเนียมของฮินดู (เผา)  ท่านคุรุนานักได้ยินสาวกโต้เถียงกัน จึงได้ห้ามไม่ให้วิวาทกัน แล้วขอให้สาวกฝ่ายฮินดูนำดอกไม้มาวางไว้ข้างศพเบื้องขวา ให้พวกมุสลิม
นำดอกไม้มาวางไว้ทางซ้าย  รอไปจนถึงวันรุ่งขึ้นจากเวลาสิ้นลม  ถ้าดอกไม้ของฝ่ายใดบานก่อน ศพของท่านก็จะเป็นของฝ่ายนั้น  ต่อจากนั้นจึงสั่งให้สาวกสาธยายมนต์ ส่วนท่านเองชักผ้ารองพื้นคลุมร่างมิดชิด  ตั้งสติมุ่งหน้าต่อพระเป็นเจ้า มีอัครสาวกพร้อมด้วยสาวกอื่น ๆ จนกระทั่งรุ่งเช้าเปิดผ้าคลุมออกปรากฎว่าร่างของท่านหายไป และดอกไม้ทั้งซ้ายขวาก็บานขึ้นพร้อมกัน เห็นเป็นอัศจรรย์
            สาวกทั้งสองฝ่ายทำพิธีศพโดยปราศจากศพของท่าน ได้ก่ออนุสาวรีย์ขึ้นเป็นปูชนียสถานไว้ตรงบริเวณสถานที่อวสานของท่านแห่งหนึ่ง