พระพุทธรูปปางต่าง ๆ
ปางบำเพ็ญทุกขกิริยา
มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง พระหัตถ์ทั้งสองประคองพระอุระไข้วกัน พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย
พระพุทธรูปปางนี้มีที่มาจากการที่เจ้าชายสิทธิธัตถะได้เสด็จออกบรรพชา เพื่อแสวงหาความดับทุกข์ พระองค์ใด้ทดลองปฏิบัติ ตามวิธีการต่าง ๆ ที่สมัยนั้นเชื่อว่าจะทำให้บรรลุความดับทุกข์ได้ ถึงขั้นอุกฤษ วิธีการสุดท้ายที่พระองค์ทดลองปฏิบัติคือ การบำเพ็ญทุกขกิริยาด้วยประการต่าง ๆ เพื่อทรมานร่างกาย นับตั้งแต่การดำรงอยู่ในอากัปกิริยาต่าง ๆ เป็นเวลานาน ๆ เช่น กำมือจนเล็บมือแทงทะลุอุ้งมือ เป็นต้น ไปจนถึงอดพระกระยาหาร เป็นเวลาถึง ๔๙ วัน เป็นการปฏิบัติตนให้ทุกข์ทรมาน ตามแนวทางการดำเนินชีวิตแบบ อัตตกิลมถานุโยค เป็นการปฏิบัติที่ตรงข้ามกับชีวิตที่ผ่านมาของพระองค์ก่อนออกผนวช ที่พัวพันอยู่กับความสุขในกามที่เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค การปฏิบัติที่สุดโต่งดังกล่าวนี้ ทำให้พระองค์ได้พบว่ามิใช่ทางที่จะบรรลุจุดมุ่งหมายได้  นับว่าเป็นจุดหักเหที่สำคัญยิ่ง ตอนหนึ่งของพระองค์ ก่อนที่จะพบวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง คือ ทางสายกลางที่เรียกว่า มัชฌิมา ปฏิปทา
ปางรับข้าวมธุปายาส
มีลักษณะประทับนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ทั้งสองข้างหงายขึ้นวางอยู่บนพระเพลา แสดงอาการรับของที่มีผู้นำมาถวาย
พระพุทธรูปปางนี้มีที่มาจากการที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญทุกขกิริยาขั้นสุดท้าย ด้วยการอดพระกระยาหาร แล้วทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางที่จะบรรลุความดับทุกข์ที่พระองค์แสวงหา  การประพฤติปฏิบัติที่ทำมาไม่ถูกทาง เพราะครั้งใดที่มีความเพียรพยายามแรงกล้า ครั้งนั้นก็จะได้รับเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า หากครั้งใดไม่มีความเพียรพยายามแรงกล้า ครั้งนั้น ก็จะไม่ได้รับเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า จึงเป็นความเพียรพยายามที่ผิด ทำไปเพราะความไม่รู้ หลงเชื่อคำสอนที่ผิด ดังนั้นหนทางที่ถูกจะต้องเป็นทางอื่น ไม่ใช่ทางที่กระทำอยู่ เมื่อพิจารณา เห็นดังนั้นแล้ว จึงทรงเลิกอดพระกระยาหาร ทรงรับข้าวมธุปายาสที่นางสุชาดานำมาถวาย เพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้เพื่อแสวงหาทางที่ถูกต่อไป
ปางลอยถาด
มีลักษณะประทับนั่ง พระหัตถ์จับถาดหย่อนลงเพื่อปล่อยออกไป
พระพุทธรูปปางนี้มีที่มาจากปางรับข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดา เมื่อพระองค์เสวยเสร็จแล้ว ก็ได้ทรงลอยถาดที่นางสุชาดาใส่ข้าวมธุปายาสมาถวาย ลงไปในแม่น้ำเนรัญชรา เพราะนางสุชาดาเมื่อถวายข้าวมธุปายาสแล้ว ก็จะกลับไป เป็นการถวายทั้งข้าวมธุปายาสและภาชนะคือถาด
ปางรับหญ้าคา
มีลักษณะประทับยืน ยื่นพระหัตถ์ขวาออกไปและหงายขึ้น แสดงอาการรับของถวาย
พระพุทธรูปปางนี้มีที่มาจากเหตุการณ์หลังปางลอยถาด  ในตอนเย็นวันเดียวกันนั้น ได้มีพราหมณ์ ผู้หนึ่งผ่านมาทางที่พระองค์ประทับอยู่ แล้วถวายหญ้าคาแปดกำต่อพระองค์ เพื่อให้พระองค์ใช้รองนั่ง เมื่อพระองค์รับหญ้าคามาแล้ว จึงได้ลาดลงเป็นที่รองนั่ง ณ ด้านตะวันออกของต้นโพธิ์ ซึ่งเราเรียก ที่ประทับนั่งนี้ว่า วชิระอาสน์  ทรงประทับนั่งบนบัลลังค์วชิรอาสน์ พระพักต์หันไปทางทิศตะวันออกสู่แม่น้ำเนรัญชรา ทรงอธิษฐานจิตที่จะบำเพ็ญเพียรทางจิต ตามหลักความเพียรชอบ ซึ่งประกอบด้วยองค์ ๔ ประการ ตามลำดับคือ เพียรพยายามปิดกั้นความชั่วไม่ให้เข้ามาสู่ตน เพียรพยายามนำความชั่วที่มีอยู่ออกไปจากตน เพียรพยายามสร้างความดีให้มีขึ้นในตน เพียรพยายามรักษาความดีที่ตนมีอยู่ไม่ให้หมดสิ้นไป ในการนี้พระองค์ได้ตั้งพระทัยแน่วแน่ว่า การบำเพ็ญเพียรครั้งนี้ของพระองค์เป็นความบำเพ็ญเพียรที่ถูกทาง ดังนั้นแม้เนื้อหนังและโลหิตจะหมดไป ตราบใดที่พระองค์ยังไม่บรรลุพระโพธิญาณ อันนำไปสู่การดับทุกข์แล้ว พระองค์จะไม่ลุกจากบัลลังก์นี้
ปางมารวิชัย
มีลักษณะประทับนั่งขัดสมาธิ คือประทับนั่งตั้งพระวรกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า พระบาทขวาทับพระบาทซ้าย พระหัตถ์ซ้ายวางอยู่บนพระเพลาหงายขึ้น พระหัตถ์ขวาวางอยู่บนพระเพลา คว่ำพระหัตถ์ ปลายพระดัชนีชี้ลงดิน ชาวบ้านมักจะเรียกพระพุทธรูปปางนี้ว่า ปางผจญมาร หรือปางสดุ้งมาร ซึ่งมีตำนานว่า พญามารมีชื่อว่า วสวตีกับบริวารได้มาขัดขวางพระองค์ด้วยประการต่าง ๆ เพื่อมิให้พระองค์ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะมิฉะนั้นแล้ว พญามารและบริวาร ก็จะไม่สามารถครอบงำพระองค์ได้อีกต่อไป
แต่พระองค์ทรงมั่นคงไม่หวั่นไหว โดยการประมวลพระบารมีที่ดำเนินมา โดยถูกทางแล้วมาต่อสู้จนพญามารต้องพ่ายแพ้ไป
ปางถวายเนตร
มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับยืน ลืมพระเนตร พระหัตถ์ทั้งสองประสานกันไว้ที่พระเพลา พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย
พระพุทธรูปปางนี้มีที่มาจากเหตุการณ์ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แรกตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ประทับอยู่ ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในอุรุเวลาประเทศ เป็นเวลา ๗ วัน จากนั้นได้มาประทับยืนอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของรัตนบัลลังก์ ห่างออกไป เล็กน้อย แล้วเพ่งพระเนตรมายังรัตนบัลลังก์ ทรงพิจารณาพระบารมีธรรม เป็นเหตุให้พระองค์ ได้บรรลุพระโพธิญาณคือ ทศบารมี อันได้แก่ เนกขัมมบารมี วิริยบารมี เมตตาบารมี อธิษฐานบารมี ปัญญาบารมี ศีลบารมี ขันติบารมี อุเบกขาบารมี สัจจบารมีและทานบารมี ที่พระองค์ได้บำเพ็ญ มาอย่างครบถ้วนในทศชาติ
ปางรัตนจงกรม (จงกรมแก้ว)
มีลักษณะประทับยืน ย่างพระบาทขวาไปข้างหน้า ส้นพระบาทซ้ายยกขึ้น พระหัตถ์ทั้งสอง ประสานและประทับบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย
พระพุทธรูปปางนี้ มีที่มาจากเหตุการณ์ที่พระผู้มีพระภาคแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงไม้โพธิพฤกษ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ประทับนั่งด้วยบัลลังก์เดียว เสวยวิมุติสุข ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ ตลอด ๗ วัน ทรงนมสิการปฏิจจสมุปบาทเป็นอนุโลม และปฏิโลม คือ พิจารณาทั้งสายเกิด และสายดับ ของกองทุกข์ทั้งมวล พระองค์ทรงรู้แจ้งในธรรมทั้งหลายพร้อมทั้งเหตุ และรู้แจ้งในธรรมทั้งหลาย ถึงความสิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย ทำให้กำจัดมารและเสนามารเสียได้ พระองค์ได้นมสิการปฏิจจสมุปบาท ดังกล่าวตลอดปฐมยาม มัชฌิมยาม และปัจฉิมยามแห่งราตรี เมื่อครบ ๗ วัน แล้ว จึงทรงเสด็จไปประทับ ณ ควงไม้อชปาลนิโครธ ณ ควงไม้มุจจสินท์ ณ ควงไม้ราชาตนะ แล้วกลับไปประทับ ณ ควงไม้อชปาลนโครธ ทรงประทับอยู่ ณ ที่ต่าง ๆ ดังกล่าวแห่งละ ๗ วัน แต่ละแห่ง ทรงเข้าสมาธิโดยไม่ลุกไปไหนเลยตลอด ๗ วัน ดังนั้นระหว่างที่เปลี่ยนอิริยาบทจากการนั่งสมาธิ จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง จึงน่าจะเป็นการเดินจงกรม อันเป็นที่มาของพระพุทธรูปปางนี้ ตามตำนานกล่าวว่า ทรงทำจงกรม เมื่อสิ้นสุดการประทับยืนเพ่งพระเนตรไปยังบัลลังก์ แล้วจึงเสด็จ ไปประทับ ณ ควงไม้อชปาลนิโครธ
ปางห้ามมาร
มีลักษณะประทับนั่ง ยกพระหัตถ์ขวาขึ้นเสมอพระอุระ ฝ่าพระหัตถ์หันออกไปด้านหน้า แสดงอาการห้าม พระหัตถ์ซ้ายวางอยู่บนพระเพลาหงายขึ้น เช่นเดียวกันกับ ท่านั่งสมาธิ
พระพุทธรูปปางนี้มีที่มาจากเหตุการณ์ตอนที่พระผู้มีพระภาคแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงไม้อชปาลนิโครธ หลังจากที่ได้ประทับอยู่ ณ ควงไม้โพธิพฤกษ เพื่อพิจารณาปฏิจจสมุปบาทครบ ๗ วัน แล้วพญามารได้เข้ามูลเชิญ พระพุทธองค์ให้เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ว่า ตราบใดที่พุทธบริษัททั้งสี่อันได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกกา ผู้เป็นสาวกของพระองค์ ยังไม่รู้แจ้งในพระธรรมวินัย และพรหมจรรย์ยังไม่แพร่หลายเพียงใด พระองค์ผู้ตถาคต จะยังไม่ดับขันธ์ปรินิพพานตราบนั้น ต่อเมื่อใดที่สาวกพระองค์รู้แจ้งในพระธรรมวินัย และพรหมจรรย์ได้แพร่หลายแล้ว ตถาคตจึงจะนิพพาน
ปางนาคปรก
มีลักษณะประทับนั่ง ณ ร่มไม้จิก มีนาคราชวงรอบองค์พระด้วยขนด ๗ รอบ และแผ่พังพานปกอยู่เหนือพระเศียร
พระพุทธรูปปางนี้มีที่มาจากเหตุการณ์ตอนที่พระผู้มีพระภาคแรกตรัสรู้ ได้เสด็จจากควงไม้อชปาลนิโครธ เข้าไปยังต้นไม้มุจลินทร์ แล้วประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ ๗ วัน ครั้งนั้นได้เกิดเมฆใหญ่ และฝนตกพรำเจือด้วยลมหนาวตกตลอด ๗ วัน เป็นฝนนอกฤดูกาล มุจจลินทนาคราชได้ออกมาแวดวงพระกายพระผู้มีพระภาคด้วยขนด ๗ รอบ แผ่พังพานใหญ่เหนือพระเศียร ด้วยหวังจะป้องกันความร้อนหนาว และการรบกวนจากเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานอื่น ๆ ไม่ให้มารบกวนพระผู้มีพระภาค เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ที่นี้ ได้เปล่งอุทานมีความว่า "ความสงัดเป็นสุขของบุคคลผู้สันโดษ มีธรรมปรากฏแล้ว เห็นอยู่ ความไม่พยาบาท คือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย เป็นสุขในโลก ความปราศจากกำหนัด คือ ความล่วงกามทั้งหลายเสียได้ เป็นสุขในโลก การกำจัดอัสมิมานะเสียได้นั่นแล เป็นสุขในโลก"
ปางรำพึง
มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปยืน พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นทาบอยู่บนพระอุระ พระหัตถ์ขวา ทับพระหัตถ์ซ้าย ส้นพระบาทชิดกัน ทอดพระเนตรไปข้างหน้า
พระพุทธรูปปางนี้มีที่มาจากเหตุการณ์หลังจากที่พระผู้มีพระภาค แรกตรัสรู้ ได้เสด็จพระราชดำเนิน เปลี่ยนพระอิริยาบาท กลับมาเสวยพระวิมุติสุข ณ ควงไม้อชปาลนิโครธอีกครั้งหนึ่ง ทรงรำพึงถึงพระธรรม ที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้ว่าเป็นธรรมที่สุขุมลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก เป็นธรรมสงบ ประณีต ไม่หยั่งลงสู่ ความตรึก ละเอียด เป็นวิสัยที่บัณฑิตจะพึงรู้ ส่วนหมู่สัตว์ผู้เริงรมย์ ยินดี และชื่นชมในอาลัยจะเห็นได้ยาก ถ้าพระองค์จะแสดงธรรม สัตว์เหล่านั้นก็จะไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่พระองค์ตรัสรู้ เป็นการเหนื่อยเปล่า ดังนั้น พระองค์จึงทรงดำริที่จะไม่ประกาศธรรม เพราะเห็นว่าธรรมนั้น สัตว์ผู้มีราคะและโทสะ เข้าครอบงำแล้ว ยากที่จะรู้ตามได้
ตามตำนานกล่าวว่า สหัมบดีพรหมได้ทราบ จึงได้อาราธนาพระผู้มีพระภาค ขอให้แสดงธรรม เพราะสัตว์ที่มีธุลีในจักษุน้อยนั้นมีอยู่ ถ้าไม่ได้ฟังธรรมก็ย่อมเสื่อมไป และผู้รู้ทั่วถึงจักมีได้ เพราะได้ฟังธรรม พระผู้มีพระภาคอาศัยความกรุณาในหมู่สัตว์ จึงทรงตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักษุ ได้เห็นสัตว์มีคุณสมบัติยิ่งหย่อนดีเลวต่างกัน เปรียบเหมือนดอกบัวที่บางพวกยังจมอยู่ในน้ำ บางพวกตั้งอยู่เสมอน้ำ และบางพวกอยู่พ้นน้ำแล้ว เมื่อพิจารณาเห็นดังนี้ จึงตกลงพระทัยที่จะแสดงธรรม (พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เล่ม ๔ หน้า ๑๐-๑๓)
ปางปฐมเทศนา