| หน้าแรก | ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | พระวินัยปิฎก |
loading picture

พระสุตตันตปิฎกเล่ม 1 ฑีฆนิกาย สีลขันธวรรค
นะโมตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทฺ ธสฺส
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1 พรหมชาลสูตร

เรื่อง  สุปิยปริพาชกกับพรหมทัตตมานพ
            ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้  สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จทางไกลระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมือง นาลันทา พร้อมภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่  สุปปิยปริพาชกได้เดินทางพร้อมกับพรหมทัตตมาณพ ผู้เป็นอันเตวาสิก สุปปิยปริพาชกได้กล่าวติเตียน  พระพุทธเจ้า  พระธรรม  พระสงฆ์ โดยเอนกปริยาย ส่วนพรหมทัตตมาณพกลับกล่าวชม  ทั้งสองได้เดินตาม  พระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ไปข้างหลัง  พระผู้มีพระภาคเข้าไปประทับแรมราตรีหนึ่ง  ณ พระตำหนักสวนหลวง ในอุทยานอัมพลัฏฐิกา พร้อมภิกษุสงฆ์  สุปปิยปริพาชกก็ได้เข้าพักแรม ณ ที่ใกล้กันพร้อมศิษย์  ครั้งนั้นภิกษุหลายรูปลุกขึ้นในเวลาใกล้รุ่ง  นั่งประชุมกันอยู่  ณ ศาลานั่งเล่น  สนทนากันว่า  พระผู้มีพระภาค  ทรงทราบความที่หมู่สัตว์มีอัธยาศัยต่าง ๆ กันได้อย่างดีนี้  น่าอัศจรรย์นักไม่เคยมีมา  ความจริงสุปปิยปริพาชกผู้นี้กล่าวติ ฯลฯ ส่วนพรหมทัตมาณพกล่าวชม ฯลฯ ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาค ทรงทราบคำสนทนานั้นเสด็จไปยังที่นั้นประทับ  ณ อาสนะที่เขาจัดถวาย  แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุเหล่านั้นกราบทูล เนื้อความให้ทรงทราบ  พระผู้มีพระภาคตรัสว่า  คนพวกอื่นจะพึงกล่าวติเตียนเรา  ติพระธรรม  ติพระสงฆ์ก็ตาม  เธอทั้งหลายไม่ควรอาฆาตโทมนัสน้อยใจ  แค้นใจในคนเหล่านั้น  ถ้าเธอทั้งหลายขุ่นเคือง    หรือ โทมนัสน้อยใจในคนเหล่านั้น อันตรายจะพึงมีแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงรู้คำที่เขาพูดถูกหรือผิดได้หรือ  ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่าข้อนั้นเป็นไปไม่ได้    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า  คนพวกอื่นจะพึงกล่าวติเรา  พระธรรม  พระสงฆ์  ในคำที่ไม่จริง เธอทั้งหลายควรแก้ไขให้เห็นโดยความเป็นจริงว่า  นั้นไม่จริง  ไม่แท้ ไม่มีในเราทั้งหลาย  หาไม่ได้ในตัวเราทั้งหลาย  คนพวกอื่นจะพึงกล่าว ชมเรา  พระธรรม  พระสงฆ์  เธอทั้งหลายไม่ควรเบิกบานใจ  ดีใจ  กระเหิมใจในคำชมนั้น  เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น  อันตรายจะพึงมีแก่เธอทั้งหลายเพราะเหตุนั้นเป็นแน่  คนพวกอื่นจะพึงกล่าวชมเรา  พระธรรม  พระสงฆ์   ในคำชมนั้น  คำที่จริง เธอทั้งหลายควรปฏิญาณให้เห็นโดยความเป็นจริงว่า นั้นจริง นั้นแท้ มีในเราทั้งหลาย หาได้ในเราทั้งหลาย
จุลศีล
        เมื่อปุถุชนกล่าวชมตถาคต  จะพึงกล่าวด้วยประการใดนั้น  มีประมาณน้อยนัก  ยังต่ำนัก  เป็นเพียงศีล เมื่อปุถุชนกล่าวชมตถาคต  พึงกล่าวเช่นนี้ว่า
            1. พระสมณโคดม  ละการฆ่าสัตว์  เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ  วางศาสตรา  มีความละอาย  เอ็นดู  กรุณา  หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่
            2. ละเว้นจากการลักทรัพย์  รับแต่ของที่เขาให้  ต้องการแต่ของที่เขาให้  ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย  เป็นผู้สะอาดอยู่
            3. ละกรรมที่เป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์  ประพฤติพรหมจรรย์  ประพฤติห่างไกล  เว้นขาดจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน
            4. ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ  พูดแต่คำจริง  ดำรงคำสัตย์  มีถ้อยคำเป็นหลักฐาน  ควรเชื่อได้  ไม่พูดลวงโลก
            5. ละเว้นขาดจากคำส่อเสียด    สมานคนที่แตกร้าวกันบ้าง  ส่งเสริมคนที่พร้อมเพียงกันแล้วบ้าง  ชอบคนยินดีในคน  เพลินเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน  กล่าวแต่คำที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน
            6. ละเว้นขาดจากคำหยาบ   กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ เพราะหูชวนให้รักจับใจ
            7. ละเว้นจากคำเพ้อเจ้อ  พูดถูกกาล  พูดแต่คำที่เป็นจริง  อิงอรรถ  อิงธรรม  อิงวินัย  พูดแต่คำมีหลักฐานมีที่อ้าง  มีที่กำหนด  ประกอบด้วยประโยชน์  โดยกาลอันควร
            8. เว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม
            9. ฉันหนเดียว  เว้นการฉันในราตรี  งดการฉันในเวลาวิกาล
           10. เว้นขาดจากการฟ้อนรำขับร้อง  ประโคมดนตรีและดูการเล่น  อันเป็นข้าศึกแก่กุศล
           11. เว้นขาดจากการทัดทรงประดับและตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ของหอมและเครื่องประเทืองผิว  อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว
           12. เว้นขาดจากการนั่นนอนบนที่นั่ง  ที่นอนอันสูงใหญ่
           13. เว้นขาดจากการ รับทองและเงิน
           14. เว้นขาดจากการับธัญญาหารดิบ
           15. เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ
           16. เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี
           17. เว้นขาดจากการรับทาสีและทาส
           18. เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ
           19. เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร
           20. เว้นขาดจากการรับช้าง  โค  ม้า  และลา
           21. เว้นขาดจากการรับไร่  นาและที่ดิน
           22. เว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้
           23. เว้นขาดจากการซื้อการขาย
           24. เว้นขาดจากการโกงด้วยตราชั่ง  ของปลอม  เครื่องตวงวัด
           25. เว้นขาดจากการรับสินบน  การล่อลวงและการตลบแตลง
           26. เว้นขาดจากการตัด  การฆ่า  การจองจำ  การตีชิง  การปล้น  และการกรรโชก
มัชฌิมศีล
        เมื่อปุถุชนกล่าวชมตถาคต  ถึงกล่าวเช่นนี้ว่า
            1. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม  เช่นอย่าง สมณพราหมณ์บางจำพวก ฯลฯ
            2. เว้นขาดจากการบริโภคของที่สะสมไว้ ฯลฯ
            3. เว้นขาดจากการดูการเล่น ฯลฯ
            4. เว้นขาดจากการขวนขวายเล่นพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท  ฯลฯ
            5. เว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ ฯลฯ
            6. เว้นขาดจากการประดับตกแต่งร่างกาย ฯลฯ
            7. เว้นขาดจากติรัจฉานกถา ฯลฯ
            8. เว้นขาดจากการกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกัน  ฯลฯ
            9. เว้นขาดจากการประกอบฑูตกรรมและการรับใช้  ฯลฯ
           10. เว้นขาดจากการพูดหลอกลวงการพูดเลียบเคียง  ฯลฯ
มหาศีล
       ติรัจฉานวิชา    เมื่อปุถุชนกล่าวชมตถาคต  พึงกล่าวเช่นนี้ว่า
            1. พระสมณโคดม  เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา  เช่นอย่างที่ สมณพราหมณ์บางจำพวก ฯลฯ ทายอวัยวะ  ฯลฯ
            2. เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา  เช่นอย่างที่   ฯลฯ  ทายลักษณะแก้วมณี ฯลฯ
            3. เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา  เช่นอย่างที่  ฯลฯ ดูฤกษ์ ฯลฯ
            4. เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา  เช่นอย่างที่  ฯลฯ พยากรณ์  ฯลฯ
            5. เว้นขาดจาก การเลี้ยงชีพโดยทางผิดดด้วยติรัจฉานวิชา  เช่นอย่างที่   ฯลฯ  พยากรณ์  ฯลฯ
            6. เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพ  โดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา  เช่นอย่างที่  ฯลฯ ให้ฤกษ์  ฯลฯ
            7. เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยดิรัจฉานวิชา  เช่นอย่างที่ ฯลฯ  ทำพิธีบนบาน ฯลฯ
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ข้อที่ปุถุชนกล่าวชมตถาคต  จะพึงกล่าวด้วยประการใด  ซึ่งมีประมาณน้อย  ยังต่ำนัก  เป็นเพียงศีลเท่านั้น
ทิฐิ 62
        ยังมีธรรมอื่นอีกที่ลึกซึ้ง  เห็นได้ยาก  รู้ตามได้ยาก  สงบ  ปราณีต  คาดความเอาไม่ได้  ละเอียด  รู้ได้เฉพาะบัณฑิต  ซึ่งตถาคตทำให้แจ้งซึ่งปัญญาอันยิ่งเอง  แล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง  ที่เป็นเหตุให้กล่าวชมตถาคตตามความเป็นจริงโดยชอบ  ธรรมเหล่านั้นเป็นไฉน
       ปุพพันตกัปปิถาทิฐิ 18    มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งกำหนดขันธ์  มีความเห็นไปตามขันธ์  ปรารภขันธ์  ส่วนอดีต  กล่าวคำแสดงทิฐิหลายชนิดด้วยเหตุ  18  ประการ  เขาเหล่านั้นอาศัยอะไร  ปรารภอะไร  จึงเป็นเช่นนั้น
       สัสสตทิฐิ 4   มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง  มีทิฐิว่า  เที่ยง  บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง  ด้วยเหตุ  4  ประการ  เขาเหล่านั้นอาศัยอะไร  ปรารภอะไรจึงเป็นเช่นนั้น
       ปุพเพนิวาสานุสสติ
            1. สมณพราหมณ์บางคนในโลกนี้  อาศัยความเพียร  ที่ตั้งมั่น  ความประกอบเนือง  ๆ  ความไม่ประมาท  มนสิการโดยชอบ  แล้วบรรลุเจโตสมาธิอันเป็นเครื่องตั้งมั่นแห่งจิต  ตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้หลายประการ  คือการระลึกชาติได้หนึ่งชาติ  สอง  สาม .....  สิบชาติบ้าง  หลายร้อยชาติบ้าง  หลายแสนชาติบ้าง  ว่าในภพโน้น  เรามีชื่อ  มีโคตร  มีผิวพรรณ  มีอาหารอย่างนั้นเสวยสุขทุกข์อย่างนั้น  มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น  ได้ไปเกิดในภพโน้น ฯลฯ  ย่อมตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้  หลายประการ  พร้อมทั้งอาการและอุเทศ  เขากล่าวว่า  อัตตาและโลกเที่ยง  คงที่  ตั้งอยู่มั่นดุจยอดภูเขา  ดุจเสาระเนียด  ส่วนเหล่าสัตว์นั้นย่อมแล่นไป  ท่องเที่ยวไป  จุติ  เกิด  แต่สิ่งที่เที่ยงเสมอคงที่มีอยู่แท้  ข้อนั้น เพราะเหตุว่า  ข้าพเจ้าอาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส  ฯลฯ  ด้วยการได้บรรลุวิเศษนี้  ข้าพเจ้าจึงรู้อาการที่อัตตาและโลกเที่ยง  คงที่  นี้เป็นฐานะที่หนึ่ง  ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง  อาศัยแล้ว  ปรารภแล้ว  จึงมีทิฐิว่าเที่ยงย่อมบัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง
            2. อนึ่งในฐานะที่ 2  สมณพราหมณ์บางคน  อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ฯลฯ  ตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้  สังวัฎฎวิวัฎฎกัปหนึ่งบ้าง  สอง  สาม ....  สิบบ้าง  ว่าในกัปโน้น  เรามีชื่ออย่างนั้น  ฯลฯ  ย่อมบัญญัติอัตตา และโลกว่าเที่ยง
            3. ในฐานะที่ 3  สมณพราหมณ์บางคน  อาศัยความเพียร  ฯลฯ  ตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้  สิบสังวัฎฎวิวัฏฏกัปบ้าง  ยี่สิบ  สี่สิบบ้าง  ว่าในกัปโน้น  เรามีชื่ออย่างนั้น  ฯลฯ  ย่อมบัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง
            4. ในฐานะที่ 4  สมณพราหมณ์บางคน  เป็นนักตรึก  นักค้นคิด  กล่าวแสดงปฏิภาณของตน  ตามที่ตรึกได้ที่ค้นคิดได้ว่าอัตตาและโลกเที่ยงคงที่ ฯลฯ ย่อมบัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง  พวกมีทิฐิว่าเที่ยง  ย่อมบัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยงด้วยเหตุ  4  ประการนี้ เท่านั้น  หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง  นอกจากนี้ไม่มี  เรื่องนี้ตถาคตรู้ว่า  ฐานะเป็นที่ตั้งแห่งทิฐิเหล่านี้  อันบุคคลถือไว้แล้ว  ย่อมมีคติอย่างหนึ่งนั้น  มีภพเบื้องหน้าอย่างนั้น  และตถาคตย่อมรู้เหตุนั้นชัดทั้งรู้ชัดยิ่งกว่านั้น  ทั้งไม่ยึดมั่นความรู้ชัดนั้นด้วย  เมื่อไม่ถือมั่นก็ทราบความเกิดขึ้น  ดับไป  คุณและโทษของเวทนาทั้งหลายกับอุบายเป็นเครื่องออกไปจากเวทนาเหล่านั้น  ตามความเป็นจริง  จึงทราบความดับได้  เฉพาะตนเพราะไม่ถือมั่นตถาคตจึงหลุดพ้น
      เอกัจจสัสสติทิฐิ 4    มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง  มีทิฐิว่าบางอย่างเที่ยง  บางอย่างไม่เที่ยง  จึงบัญญัติอัตตาและโลกว่า  บางอย่างเที่ยง  บางอย่างไม่เที่ยง ด้วยเหตุ  4  ประการ เขาเหล่านั้นอาศัยอะไร  ปรารภอะไร  จึงเป็นเช่นนั้น
            5. มีสมัยบางครั้ง  โดยระยะกาลช้านาน  ที่โลกนี้พินาศ เมื่อโลกกำลังพินาศอยู่โดยมากเหล่า
สัตว์ย่อมเกิดในขั้นอาภัสสรพรหม  สัตว์เหล่านั้นได้สำเร็จทางใจ  มีปีติเป็นอาหาร  มีรัศมีซ่านออกจากกายตน  สัญจรไปในอากาศอยู่ในวิมานอันงาม  สถิตอยู่ในภพนั้น  สิ้นกาลช้านาน  มีสมัยบางครั้ง  โดยระยะกาลช้านานที่โลกนี้กลับเจริญ  เมื่อโลกกำลังเจริญอยู่  วิมานของพรหมปรากฏว่าว่างเปล่า  ครั้งนั้นสัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งจุติจากชั้นอาภัสสรพรหม  เพราะสิ้นอายุสิ้นบุญย่อมเข้าถึง วิมานพรหมที่ว่างเปล่า  แม้สัตว์ผู้นั้นก็ได้สำเร็จทางใจ  มีปิติเป็นอาหาร  ฯลฯ  เพราะสัตว์ผู้นั้นอยู่ในวิมานนั้นแต่ผู้เดียวเป็นเวลานาน  จึงเกิดความกระสันความดิ้นรนขึ้นว่า  แม้สัตว์เหล่าอื่น ก็ฟังมาเป็นอย่างนี้บ้าง  ต่อมาสัตว์เหล่าอื่นก็จุติจากชั้นอาภัสสรพรหม ฯลฯ บรรดาสัตว์จำพวกนั้น ผู้ใดเกิดก่อน  ผู้นั้นย่อมมีความคิดเห็นว่า  เราเป็นมหาพรหมเป็นใหญ่ไม่มีใครข่มได้  เห็นถ่องแท้  เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิสระ  เป็นผู้สร้าง  เป็นผู้นิรมิต  เป็นผู้ประเสริฐ  เป็นผู้บงการ  เป็นผู้ทรงอำนาจ  เป็นบิดาของหมู่สัตว์  ผู้เป็นแล้ว  และกำลังเป็น  สัตว์เหล่านี้เรานิรมิต  ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุว่า  เราได้มีความคิดก่อนว่า  แม้สัตว์เหล่าอื่นก็ฟังมาเป็นอย่างนี้บ้าง  ความตั้งใจของเราเป็นเช่นนี้  และสัตว์เหล่านี้ก็ได้มาเป็นอย่างนี้แล้ว  แม้พวกสัตว์ที่เกิดภายหลังก็มีความคิดเห็นว่า  ท่านผู้เจริญนี้แลเป็พรหม  เป็นมหาพรหม  ฯลฯ  ข้อนั้นเพราะเหตุว่าพวกเราได้เห็นพระพรหม  ผู้เจริญนี้เกิดในที่นี้ก่อน  พวกเราเกิดที่หลัง  บรรดาสัตว์จำพวกนั้น ผู้ใดเกิดก่อน  ผู้นั้นมีอายุยืนกว่า  มีผิวพรรณกว่า  มีศักดิ์มากกว่า  ผู้เกิดภายหลังมีอายุน้อยกว่า ฯลฯ  ก็เป็นฐานะที่จะมีได้  ที่สัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งจุติจากชั้นนั้นแล้วมาเป็นอย่างนี้  เมื่อมาเป็นอย่างนี้แล้วก็ออกเรือนบวช เป็นบรรพชิต  อาศัยความเพียร  ฯลฯ  ตามระลึกถึงขันธ์ที่เคย อาศัยอยู่ในกาลก่อนได้  แต่หลังนั้นไป ระลึกไม่ได้  เขาจึงกล่าวว่า  ผู้ใดแลเป็นพรหมเป็นมหาพรหม ฯลฯ  พระพรหมใดที่นิรมิตพวกเรา
พระพรหมผู้นั้นเป็นผู้เที่ยง  ยั่งยืน  คงทน  มีอันไม่ผันแปรเป็นธรรมดา จัดตั้งอยู่เที่ยงเสมอไป  ส่วนพวกเราที่พรหมนั้น นิรมิตเป็นผู้ไม่เที่ยง  ไม่ยั่งยืน  มีอายุน้อย  ยังต้องจุติมาเป็นดังนี้ นี้เป็นฐานะที่ 1  ซึ่งสมณพราหมณ์พวก หนึ่งอาศัยแล้วปรารภแล้วจึงมีทิฐิว่าบางอย่างเที่ยง  บางอย่างไม่เที่ยง  ย่อมบัญญัติอัตตาและโลกว่าบางอย่าง เที่ยง  บางอย่างไม่เที่ยง
            6. ในฐานะที่ 2  สมณพราหมณ์  อาศัยอะไร  ปรารภอะไร  จึงมีทิฐิว่า  บางอย่างเที่ยง  บางอย่างไม่เที่ยง  พวกเทวดาชื่อว่า  ขิททาปโทสิถะ  มีอยู่  พวกนั้นพากันหมกมุ่นอยู่แต่ในความรื่นรมย์  เมื่อเป็นเช่นนั้นสติย่อมหลงลืม  เพราะสติหลงลืม  จึงพากันจุติจากชั้นนั้น  สัตว์ผู้ใดผุ้หนึ่งจุติจากชั้นนั้นแล้ว มาเป็นอย่างนี้แล้ว  จึงออกเรือนบวชเป็นบรรพชิต  อาศัยความเพียร  ฯลฯ  ตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ กาลก่อนได้หลังแต่นั้นไประลึกไม่ได้  จึงกล่าวว่า  พวกเทวดาผู้มิใช่เหล่านี้  ย่อมไม่มัวเพ่งโทษ  ฯลฯ  พวกนั้นจึงไม่จุติจากชั้นนั้นเป็นผู้เที่ยง  ฯลฯ  นี้เป็นฐานะที่ 3  ที่มีทิฐิว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ฯลฯ
           8.  ในฐานะที่ 4   สมณะพราหมณ์บางคนเป็นนักตรึก  นักค้นคิด  กล่าวตามตนตรึกได้  ค้นคิดได้ว่า  สิ่งที่เรียกว่า  จักษุ,  โสตะ,  ฆานะ  ชิวหา  กาย  เหล่านี้ได้ชื่อว่า  อัตตา  เป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ  ส่วนสิ่งที่เรียกว่าจิตหรือใจหรือวิญญาณนี้ชื่อว่า  อัตตาเป็นของเที่ยง  ฯลฯ  นี้เป็นฐานะที่ 4 ที่มีทิฐิว่าบางอย่างเที่ยง  บางอย่างไม่เที่ยง
       สมณะพราหมณ์เหล่าใดมีทิฐิว่าบางอย่างเที่ยง  บางอย่างไม่เที่ยง  ย่อมบัญญัติด้วยเหตุ  4  ประการ  นี้หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง  นอกจากนี้ไม่มี
    (เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัดว่า ฯลฯ  ธรรมเหล่านี้ลึกซึ้งเห็นได้ยาก  รู้ตามได้ยาก  สงบ  ปราณีต  คาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด ฯลฯ)
       อันตานันติกทิฐิ 4    มีสมณะพราหมณ์พวกหนึ่ง  มีทิฐิว่า  โลกมีที่สุดและหาที่สุดไม่ได้  จึงบัญญัติไปตามนั้น  ด้วยเหตุ  4  ประการ
           9. สมณพราหมณ์บางคน  อาศัยความเพียร ฯลฯ  แล้วบรรลุเจโตสมาธิ อันเป็นเครื่องตั้งมั่นแห่งจิต  ย่อมสำคัญโลกมีที่สุด  กลมโดยรอบ นี้เป็นฐานะที่ 1
           10. ในฐานะที่ 2  สมณพราหมณ์บางคน  อาศัยความเพียร ฯลฯ แล้วบรรลุเจโตสมาธิ
มีความสำคัญว่าโลกนี้ไม่มีที่สุด  หาที่สุดรอบมิได้  พวกที่พูดว่าโลกนี้มีที่สุดกลมโดยรอบนั้นเท็จ  นี้เป็นฐานะที่ 2 ที่มีทิฐิว่าโลก มีที่สุดและหาที่สุดมิได้
           11. ในฐานะที่ 3  สมณพราหมณ์บางคน  อาศัยความเพียร  ฯลฯ  แล้วบรรลุเจโตสมาธิ
มีความสำคัญในโลกว่า  ด้านบนด้านล่างมีที่สุด  ด้านขวางหาที่สุดมิได้  จึงกล่าวว่าโลกนี้ทั้งมีที่สุดทั้งไม่มีที่สุด  พวกที่กล่าวว่าโลกนี้มีที่สุดกลมโดยรอบนั้นเท็จ  และพวกที่ว่าโลกนี้ไม่มีที่สุด  หาที่สุดรอบมิได้นั้นก็เท็จ  นี้เป็นฐานะที่ 3 ที่มีทิฐิว่า โลกมีที่สุด  และหาที่สุดมิได้
           12. ในฐานะที่ 4  สมณพราหมณ์บางคน เป็นนักตรึก นักค้นคิด กล่าวตามที่ตนตรึกและค้นคิดได้ว่า โลกนี้มีที่สุดก็มิใช่  ไม่มีที่สุดก็มิใช่  พวกที่กล่าวอย่างอื่นเป็นเท็จ  นี้เป็นฐานะที่ 4  ที่มี ทิฐิว่า  โลกมีที่สุดและหาที่สุดไม่ได้
       พวกที่มีทิฐิว่าโลกมีที่สุดและหาที่สุดมิได้  ย่อมบัญญัติด้วยเหตุ  4  ประการนี้  หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง  นอกจากนี้ไม่มี  เรื่องนี้  ตถาคตรู้ชัดว่า  ฯลฯ  ธรรมเหล่านี้แลลึกซึ้ง ฯลฯ
       อมราวิกเขปีกทิฐิ 4    สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่ง  มีทิฐิดิ้นได้ไม่ตายตัว  ด้วยเหตุ  4  ประการ
            13. สมณพราหมณ์บางพวก  ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่านี้เป็นกุศล  นี้เป็นอกุศล  เขาจึงเห็นว่า  ถ้าพยากรณ์ไป  คำพยากรณ์นั้นจะเป็นเท็จ  จึงไม่กล้าพยากรณ์  จึงกล่าววาจาดิ้นได้ว่า  ความเห็นของเราอย่างนี้ก็มิใช่    อย่างนั้นก็มิใช่     อย่างอื่นก็มิใช่  ไม่ใช่ก็มิใช่  มิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่  นี้เป็นฐานะที่ 1
            14. ในฐานะที่ 2  สมณพราหมณ์บางคน  ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่านี้เป็นกุศล  นี้เป็นอกุศล  เขาเห็นว่า  ถ้าเราไม่รู้ชัด ฯลฯ  แล้วพยากรณ์ไปจะเป็นอุปาทาน จึงไม่กล้าพยากรณ์  จึงกล่าววาจาดิ้นได้ ไม่ตายดัวว่า  ความเห็นของเราอย่างนี้ก็มิใช่  อย่างนั้นก็มิใช่  อย่างอื่นก็มิใช่  ไม่ใช่ก็มิใช่  มิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่  นี้เป็น ฐานะที่ 2
            15. ในฐานะที่ 3  สมณพราหมณ์บางคนไม่รู้ชัด ฯลฯ  เขาเห็นว่าถ้าเราไม่รู้ชัด ฯลฯ แล้วพยากรณ์ไป  สมณพราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิตมีอยู่  เขาเหล่านั้นเที่ยวทำลายทิฐิด้วยปัญญา  ตนจะถูกซักไซ้  แล้วไม่อาจโต้ตอบเขาได้  จึงไม่กล้าพยากรณ์ จึงกล่าววาจาดิ้นได้ว่า  อย่างนี้ก็มิใช่  อย่างนั้นก็มิใช่  ฯลฯ  นี้เป็นฐานะที่ 3
            16. ในฐานะที่ 4  สมณพราหมณ์บางคนเป็นคนเขลา  งมงาย  จึงกล่าววาจาดิ้นได้  ฯลฯ  ตนก็จะพยากรณ์ไปตามความเห็นของตน  นี้เป็นฐานะที่ 4
       สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฐิไม่ดิ้นได้ไม่ตายตัว ย่อมกล่าววาจาดิ้นได้ไม่ตายตัว ด้วยเหตุ  4  ประการนี้หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง  นอกจากนี้ไม่มี  เรื่องนี้ตถาคตย่อมรู้ชัดว่า  ฯลฯ  ธรรมเหล่านี้แลที่ลึกซึ้ง  ฯลฯ
       อธิจจสมุปปันนิกทิฐิ  2    สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง  มีทิฐิว่าอัตตาและโลกเกิดขึ้นลอย ๆ
ด้วยเหตุ  2  ประการ
           17. พวกเทวดาชื่อว่าอสัญญีสัตว์มีอยู่  เทวดาเหล่านั้นย่อมจุติจากชั้นนั้นเพราะมีสัญญาเกิดขึ้น  เมื่อมาเป็นอย่างแล้วออกบวชเป็นบรรพชิต  อาศัยความเพียร  ฯลฯ  แล้วบรรลุเจโตสมาธิ  ย่อมตามระลึกถึง ความเกิดขึ้นแห่งสัญญาได้  เบื้องหน้าแต่นั้นไประลึกไม่ได้  เขากล่าวว่าอัตตาและโลกเกิดขึ้นลอย ๆ  เพราะตน เมื่อก่อนไม่ได้มีแล้ว  เดี๋ยวนี้ตนมี  เพราะมิได้น้อมไปเพื่อความเป็นผู้สงบนี้เป็นฐานะที่ 1
           18. ในฐานะที่ 2  สมณพราหมณ์บางคนเป็นนักตรึก  นักค้นคิด  เขากล่าวแสดงปฏิภาณ
ของตนตามที่ตรึกได้ ค้นคิดได้ว่า  อัตตาและโลกเกิดขึ้นลอย ๆ นี้เป็นฐานะที่ 2
       สมณพราหมณ์มีทิฐิว่า  อัตตาและโลกเกิดขึ้นลอย ๆ ด้วยเหตุ 2 ประการนี้หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง  นอกนั้นไม่มี  เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัดว่า  ฯลฯ  ธรรมเหล่านี้แลลึกซึ้ง  ฯลฯ
       สมณพราหมณ์เหล่านั้นกำหนดขันธ์ ตามเห็นขันธ์  ปรารภขันธ์อดีต  กล่าวคำแสดงทิฐิหลาย
ชนิดด้วยเหตุทั้ง  18  ประการนี้เท่านั้นหรืออย่างใดอย่างหนึ่ง  นอกจากนี้ไม่มี  เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัดว่า ฯลฯ  ธรรมเหล่านี้ลึกซึ้ง
       ปรันตกัปปิกทิฐิ 44    สมณพราหมณ์พวกหนึ่งกำหนดขันธ์  ตามเห็นขันธ์  ปรารภขันธ์ส่วนอนาคตกล่าวคำ แสดงทิฐิหลายชนิดด้วยเหตุ  44  ประการ
       สัญญีทิฐิ  16    สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีทิฐิว่า  อัตตาเหนือขึ้นไปจากกายตายมีสัญญา  ย่อมบัญญัติว่าอัตตา เหนือขึ้นไปจากกายตาย  มีสัญญด้วยเหตุ  16  ประการ
            19. อัตตามีรูป  ยั่งยืน  มีสัญญา
            20. อัตตาที่ไม่มีรูป  ยั่งยืน  มีสัญญา
            21. อัตตาทั้งที่มีรูป  ทั้งที่ไม่มีรูป  ยั่งยืน  มีสัญญา
            22. อัตตาทั้งที่มีรูปก็มิใช่  ทั้งที่ไม่มีรูปก็มิใช่  ยั่งยืน  มีสัญญา
            23. อัตตามีที่สุด  ยั่งยืน  มีสัญญา
            24. อัตตาที่ไม่มีที่สุด  ยั่งยืน  ไม่มีสัญญา
            25. อัตตาทั้งที่มีที่สุด  และไม่มีที่สุด  ยั่งยืน  มีสัญญา
            26. อัตตาทั้งที่มีที่สุดก็มิใช่  ทั้งไม่มีที่สุดก็มิใช่  ยั่งยืน  มีสัญญา
            27. อัตตาที่มีสัญญาอย่างเดียวกัน  ยั่งยืน  มีสัญญา
            28. อัตตาที่สัญญาต่างกัน  ยั่งยืน  มีสัญญา
            29. อัตตาที่สัญญาย่อมเยา  ยั่งยืน  มีสัญญา
            30. อัตตาที่สัญญาหาประมาณมิได้  ยั่งยืน  มีสัญญา
            31. อัตตาที่มีสุขอย่างเดียว  ยั่งยืน  มีสัญญา
            32. อัตตาที่มีทุกข์อย่างเดียว  ยั่งยืน  มีสัญญา
            33. อัตตาที่มีทั้งสุขและทุกข์  ยั่งยืน  มีสัญญา
            34. อัตตาที่มีทุกข์ก็มิใช่  สุขก็มิใช่  ยั่งยืน  มีสัญญา
        สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดย่อมบัญญัติด้วยเหตุ  16  ประการนี้เท่านั้น  หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง  นอกจากนี้ไม่มี  เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัดว่า  ฯลฯ  ธรรมเหล่านี้แลลึกซึ้ง  ฯลฯ
       อสัญญีทิฐิ  8    สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง  มีทิฐิว่าอัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายไม่มีสัญญา
ด้วยเหตุ  8  ประการ
           35. อัตตาที่มีรูป
           36. อัตตาที่ไม่มีรูป
           37. อัตตาทั้งที่มีรูปทั้งที่ไม่มีรูป
           38. อัตตาทั้งที่มีรูปก็มิใช่ ทั้งที่ไม่มีรูปก็มิใช่
           39. อัตตาที่มีที่สุด
           40. อัตตาที่ไม่มีที่สุด
           41. อัตตาทั้งที่มีที่สุด ทั้งที่ไม่มีที่สุด
           42. อัตตาทั้งที่มีที่สุดก็มิใช่  ทั้งที่ไม่มีที่สุดก็มิใช่ ทั้งหมดนี้  ยั่งยืน  ไม่มีสัญญา
        สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดย่อมบัญญัติด้วยเหตุ  8  ประการเท่านั้น  หรือแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง  นอกจากนี้ไม่มี  เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัดว่า  ฯลฯ  ธรรมเหล่านี้ลึกซึ้ง  ฯลฯ
       เนวสัญญีนาสัญญีทิฐิ 8     สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง  มีทิฐิว่าอัตตาเหนือขึ้นไปจากการตาย  มีสัญญาก็มิใช่  ไม่มีสัญญาก็มิใช่  ด้วยเหตุ  8  ประการ
           43. อัตตาที่มีรูป
           44. อัตตาที่ไม่มีรูป
           45. อัตตาทั้งที่มีรูป  ทั้งที่ไม่มีรูป
           46. อัตตาทั้งที่มีรูปก็มิใช่  ทั้งที่ไม่มีรูปก็มิใช
           47. อัตตาที่มีที่สุด
           48. อัตตาที่ไมีมีที่สุด
           49. อัตตาทั้งที่มีที่สุด  ทั้งไม่มีที่สุด
           50. อัตตาทั้งที่มีที่สุด  ทั้งไม่มีที่สุด  ทั้งหมดนี้ ยั่งยืน  มีสัญญาก็มิใช่  ไม่มีสัญญาก็มิใช่
        สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ย่อมบัญญัติด้วยเหตุ  8  ประการนี้  ฯลฯ  เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัดว่า  ฯลฯ  ธรรมเหล่านี้แลลึกซึ้ง ฯลฯ
      อุจเฉททิฐิ 7    สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง  มิทิฐิว่าขาดสูญ  ย่อมบัญญัติความขาดสูญ  ความพินาศ  ความเลิกเกิดของสัตว์ผู้ปรากฏอยู่ ด้วยเหตุ  7  ประการ
           51. สมณพราหมณ์บางคน  มีวาทะ  มีทิฐิว่า  เพราะอัตตานี้มีรูป  สำเร็จด้วยมหาภูตรูป 4  มีบิดามารดาเป็น แดนเกิด  เพราะกายแตกย่อมขาดสูญ  พินาศ  เบื้องหน้าแต่ตายย่อมเลิกเกิดอัตตานี้จึงเป็นอันขาดสูญเด็ดขาด
           52. สมณพราหมณ์พวกอื่น  มีความเห็นเพิ่มเติมว่า  อัตตานี้มิใช่ขาดสูญอย่างเด็ดขาดด้วยเหตุ
เพียงนี้เท่านั้น ยังมีอัตตาอื่นที่เป็นทิพย์  เป็นกามาพจร  บริโภค  กวฬิงการาหาร  ท่านยังไม่รู้
ยังไม่เห็นอัตตาใด  ข้าพเจ้ารู้เห็นอัตตานั้น  เพราะกายแตก  อัตตานั้นย่อมขาดสูญ  ฯลฯ
           53. สมณพราหมณ์พวกอื่น  มีความเห็นเพิ่มเติมว่า  ยังมีอัตตาอื่นอีกที่เป็นทิพย์  มีรูป  สำเร็จด้วยใจ  มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบ  มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง  ท่านยังไม่รู้ไม่เห็นอัตตาใด  ข้าพเจ้ารู้เห็นอัตตานั้นเพราะกายแตก อัตตานั้นย่อมขาดสูญ  ฯลฯ
           54. สมณพราหมณ์พวกอื่นมีความเห็นเพิ่มเติมว่า  ยังมีอัตตาอย่างอื่น  เข้าถึงชั้นอากาสานัญจายตา  มีอารมณ์ว่า  อากาศหาที่สุดมิได้  เพราะล่วงรูปสัญญา  เพราะดับปฏิฆสัญญาเพราะไม่ใส่ใจในมานัตตสัญ
โดยประการทั้งปวง  ท่านยังไม่รู้ไม่เห็นอัตตาใด  ข้าพเจ้ารู้เห็นอัตตานั้น  เพราะกายแตกย่อมขาดสูญ
           55. สมณพราหมณ์พวกอื่นมีความเห็นเพิ่มเติมว่า  ยังมีอัตตาอย่างอื่นที่เข้าถึงชั้นวิญญาณัญจายตนะ มีอารมณ์ว่า  วิญญาณหาที่สุดมิได้  เพราะล่วงอากาสานัญจายตนะได้โดยประการทั้งปวง  ท่านยังไม่รู้เห็น เพราะกายแตกอัตตานั้นย่อมขาดสูญ  ฯลฯ
           56. สมณพราหมณ์พวกอื่น  มีความเห็นเพิ่มเติมว่า  ยังมีอัตตาอย่างอื่นที่ถึงชั้นอากิญจัญญายตนะ  มีอารมณ์ว่าไม่มีอะไร  เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนะได้โดยประการทั้งปวง  ท่านยังไม่รู้ไม่เห็น  ฯลฯ  เพราะกายแตกอัตตานั้นย่อมขาดสูญ ฯลฯ
           57. สมณพราหมณ์พวกอื่น  มีความเห็นเพิ่มเติมว่า  ยังมีอัตตาอื่นที่เข้าถึงชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ  เพราะล่วงอากิญจัญญายตนะได้โดยประการทั้งปวง  ท่านยังไม่รู้เห็น  ฯลฯ  เพราะกายแตกอัตตานั้นย่อมขาดสูญ ฯลฯ
        สมณพราหมณ์เหล่านนั้น  มีทิฐิว่าขาดสูญด้วยเหตุ  7  ประการนี้  ฯลฯ  เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัดว่า  ฯลฯ
ธรรมเหล่านี้แลลึกซึ้ง  ฯลฯ
       ทิฏฐธรรมนิพพานทิฐิ 5    สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีทิฐิว่านิพพานในปัจจุบัน  ย่อมบัญญัติว่า  นิพพานปัจจุบันเป็นธรรมอย่างยิ่งของสัตว์ผู้ปรากฏอยู่ด้วยเหตุ  5  ประการ
           58. สมณพราหมณ์บางคน  มีวาทะมีทิฐิว่า  เพราะอัตตานี้เอิบอิ่ม  พรั่งพร้อม  เพลิดเพลิน  อยู่ด้วยกามคุณ 5  จึงเป็นอันบรรลุนิพพานปัจจุบันอันเป็นธรรมอย่างยิ่ง
           59. สมณพราหมณ์พวกอื่นมีความเห็นเพิ่มเติมว่า  กายทั้งหลายไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา  เพราะกายทั้งหลายแปรปรวนเป็นอย่างอื่น  จึงเกิดความโศก  ความร่ำไร  ความทุกข์  โทมนัส  และ ความคับใจ  เพราะอัตตานี้สงัดจากกาม  สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน  มีวิตก  วิจาร  ปิดิ  สุข  เกิดแต่วิเวกอยู่ จึงเป็นอันบรรลุนิพพานปัจจุบัน
           60. สมณพราหมณ์พวกอื่นมีความเห็นเพิ่มเติมว่า  ปฐมฌาณนั้นยังหยาบ  ด้วยมีวิตก  วิจารอยู่  เพราะอัตตานี้ บรรลุทุติยฌาน  มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน  มีความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น  เพราะวิตกวิจารหายไป  มีปิติ  และสุขเกิดแต่สมาธิอยู่  จึงเป็นอันบรรลุนิพพานปัจจุบัน
           61. สมณพราหมณ์พวกอื่นมีความเห็นเพิ่มเติมว่า  ทุติยฌานยังหยาบด้วยยังมีปิติเป็นเหตุให้จิตกระเหิมอยู่  เพราะอัตตานี้มีอุเบกขา  มีสติสัมปชัญญะ  เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปิติสิ้นไปบรรลุตติยฌาน ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา  มีสติเสวยสุขอยู่ จึงเป็นอันบรรลุนิพพานปัจจุบัน
           62. สมณพราหมณ์พวกอื่นมีความเห็นเพิ่มเติมว่าตติยฌานยังหยาบ ด้วยจิตยังคำนึงถึงสุขอยู่ เพราะอัตตานี้  บรรลุจตุตถฌาน  ไม่มีทุกข์  ไม่มีสุข  มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์  เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสก่อน ๆ ได้ จึงบรรลุนิพพานปัจจุบัน
        สมณพราหมณ์เหล่านั้น  มีทิฐิว่านิพพานปัจจุบันเป็นธรรมอย่างยิ่งของสัตว์ปรากฏอยู่  ด้วยเหตุ  5  ประการนี้ ฯลฯ สมณพราหมณ์เหล่านั้นกำหนดขันธ์  มีความเห็นตามขันธ์  ปรารภขันธ์ส่วนอนาคต กล่าวคำแสดงทิฐิหลายชนิดด้วยเหตุ  44  ประการนี้เท่านั้น  หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง  นอกจากนี้ไม่มี
       สมณพราหมณ์เหล่านั้นกำหนดขันธ์ มีความเห็นตามขันธ์ส่วนอดีตก็ดี ส่วนอนาคตก็ดี ทั้งส่วนอดีตส่วน อนาคตก็ดี  กล่าวคำแสดงทิฐิหลายชนิดด้วยเหตุ  62  ประการนี้ เท่านั้นหรืออย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ไม่มี เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัดว่า ฯลฯ ธรรมเหล่านี้แลลึกซึ้ง ฯลฯ
    ฐานะของผู้ถือทิฐิ
        บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น  สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฐิว่าเที่ยงย่อมบัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยงด้วยเหตุ 4 ประการ  เป็นความเข้าใจของพราหมณ์เหล่านั้นผู้ไม่รู้ไม่เห็นเป็นความแส่หา เป็นความดิ้นรนของคนมีตัณหาเท่านั้น
        สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฐิบางอย่างเที่ยงบางอย่างไม่เที่ยง ย่อมบัญญัติอัตตาและโลกไปตามนั้นด้วยเหตุ
4 ประการ เป็นความเข้าใจของเขาเหล่านั้น ฯลฯ
        สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฐิว่าโลกมีที่สุดและหาที่สุดมิได้ย่อมบัญญัติไปตามนั้นด้วยเหตุ 4 ประการ เป็นความเข้าใจของเขาเหล่านั้น ฯลฯ
        สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฐิดิ้นได้ไม่ตายตัวย่อมกล่าววาจาดิ้นได้ไม่ตายตัวด้วยเหตุ 4 ประการ เป็นความเข้าใจของเขาเหล่านั้น ฯลฯ
        สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฐิว่าอัตตาและโลกเกิดขึ้นลอย ๆ  ย่อมบัญญัติไปตามนั้นด้วยเหตุ 2 ประการ เป็นความเข้าใจของเขาเหล่านั้น ฯลฯ
        สมณพราหมณ์เหล่าใดกำหนดขันธ์ มีความเห็นตามขันธ์ ปรารภขันธ์  ส่วนอดีต  กล่าวคำแสดงทิฐิหลายชนิดด้วยเหตุ 18 ประการ เป็นความเข้าใจของเขาเหล่านั้น ฯลฯ
        สมณพราหมณ์เหล่าใด มีทิฐิว่า  อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายมีสัญญา  ย่อมบัญญัติไปตามนั้นด้วยเหตุ 16 ประการ เป็นความเข้าใจของเขาเหล่านั้น ฯลฯ
        สมณพราหมณ์เหล่าใด มีทิฐิว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายไม่มีสัญญา  ย่อมบัญญัติไปตามนั้นด้วยเหตุ 8 ประการ เป็นความเข้าใจของเขาเหล่านั้น ฯลฯ
        สมณพราหมณ์เหล่าใด มีทิฐิว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตาย มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่  ย่อมบัญญัติไปตามนั้นด้วยเหตุ 8 ประการ เป็นความเข้าใจของเขาเหล่านั้น ฯลฯ
        สมณพราหมณ์เหล่าใด มีทิฐิว่าขาดสูญ ย่อมบัญญัติความขาดสูญ พินาศ เลิกเกิดของสัตว์ ผู้ปรากฏอยู่ด้วยเหตุ 5 ประการ เป็นความเข้าใจของเขาเหล่านั้น ฯลฯ
        สมณพราหมณ์เหล่าใด มีทิฐิว่า นิพพานในปัจจุบัน ย่อมบัญญัติว่า นิพพานปัจจุบันเป็นธรรมอย่างยิ่งด้วยเหตุ 5 ประการ เป็นความเข้าใจของเขาเหล่านั้น ฯลฯ
        สมณพราหมณ์เหล่าใดกำหนดขันธ์ มีความเห็นตามขันธ์  ปรารภขันธ์ส่วนอนาคตกล่าวคำ แสดงทิฐิหลายชนิดด้วยเหตุ 44 ประการ เป็นความเข้าใจของเขาเหล่านั้น ฯลฯ
        สมณพราหมณ์เหล่าใด กำหนดขันธ์ส่วนอดีต ทั้งส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคต  มีความเห็นตามขันธ์ ปรารภขันธ์ส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคต กล่าวคำแสดงทิฐิหลายชนิดด้วยเหตุ 62 ประการ เป็นความเข้าใจ
ของเขาเหล่านั้น ฯลฯ
        บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น  สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฐิว่าเที่ยง  ว่าบางอย่างเที่ยงบางอย่างไม่เที่ยง
ว่าโลกมีที่สุด และหาที่สุดมิได้    ว่าดิ้นได้ไม่ตายตัว   ว่าอัตตาและโลกเกิดขึ้นลอย ฯ กำหนดขันธ์ส่วนอดีต   ว่าอัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายมีสัญญา    ว่าอัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายไม่มีสัญญา    ว่าอัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายมีสัญญา ก็มิใช่ไม่มีสัญญาก็มิใช่    ว่าขาดสูญ  ว่านิพพานในปัจจุบัน
        สมณพราหมณ์เหล่าใดกำหนดขันธ์มีความเห็นตามขันธ์ ปรารภขันธ์ส่วนอนาคต  กล่าวคำแสดงทิฐิหลายชนิดด้วยเหตุ 44 ประการ  เพราะผัสสะเป็นปัจจัย  สมณพรามณ์เหล่าใดกำหนดขันธ์ส่วนอดีต ส่วนอนาคต กำหนดขันธ์ ทั้งส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคต กล่าวคำแสดงทิฐิหลายชนิด ด้วยกันเหตุ 62 ประการ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย ฯ 
        สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฐิว่าเที่ยง ว่าบางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง   ว่าโลกมีที่สุดและหาที่สุดมิได้    ว่าดิ้นได้ไม่ตายตัว  ว่าอัตตาและโลกเกิดขึ้นลอย ๆ    กำหนดขันธ์ เห็นตามขันธ์ปรารภขันธ์ส่วนอดีต   ว่าอัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายมีสัญญา ว่าอัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายไม่มีสัญญา   ว่าอัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายมีสัญญาก็มิใช่ว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายไม่มีสัญญาก็มิใช่    ว่าขาดสูญ ฯลฯ   ว่านิพพานในปัจจุบัน  ย่อมบัญญัติว่านิพพานปัจุบันเป็นธรรมอย่างยิ่ง เขาเหล่านั้นเว้นผัสสะแล้ว  จะรู้สึกได้  นั่นไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ สมณพราหมณ์เหล่าใดกำหนดขันธ์ปรารภส่วนอนาคต
        สมณพราหมณ์เหล่าใดกำหนดขันธ์ส่วนอดีต ส่วนอนาคต  ทั้งส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคต มีความเห็นตามขันธ์  ฯลฯ
       บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น    สมณพราหมณ์เหล่าใด มีทิฐิว่าเที่ยง ฯลฯ  กล่าวแสดงทิฐิหลายชนิด ด้วยเหตุ 62 ประการ    สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกจำพวก    ถูกต้องต้องแล้วด้วยผัสสายตนะทั้ง 6    ย่อมเสวยเวทนา เพราะเวทนาของเขาเหล่านั้นเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา    เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงเกิด อุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงเกิดภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงเกิดชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงเกิด ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส    เมื่อใดภิกษุรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งความเกิด ความดับ คุณและโทษแห่งผัสสายตนะทั้ง 6 กับอุบายเป็นเครื่องออกไปจากผัสสายตนะเหล่านั้น    เมื่อนั้นภิกษุนี้ย่อมรู้ชัดยิ่งกว่าสมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมด สมณพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งกำหนดส่วนอดีตก็ดี ส่วนอนาคนก็ดี ทั้งส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคตก็ดี    มีความเห็นตามขันธ์ ปรารภขันธ์ทั้งส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคต กล่าวคำแสดงทิฐิหลายชนิด สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดถูกทิฐิ 62 อย่างเหล่านี้เป็นดุจข่ายปกคลุมไว้อยู่ในข่ายนี้เอง  เมื่อผุดก็ผุดอยู่ในข่ายนี้  ติดอยู่ในข่ายนี้  เปรียบเหมือนชาวประมงผู้ฉลาด
ใช้แหตาถี่ทอดลงยังหนองน้ำอันเล็ก เขาคิดว่าบรรดาสัตว์ตัวใหญ่ในหนองน้ำนี้ทั้งหมด ถูกแหครอบไว้อยู่ในแห ฉันใด สมณพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งก็ฉันนั้น
        กายของตถาคต มีตัณหาอันจะนำไปสู่ภพขาดแล้ว ยังดำรงอยู่    เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจักเห็นคถาคต ชั่วเวลาที่กายของตถาคตยังดำรงอยู่ เมื่อกายแตกสิ้นชีพแล้ว เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจักไม่เห็นตถาคต เปรียบเหมือนพวกมะม่วง เมื่อขาดจากขั้วแล้ว ผลใดผลหนึ่งติดขั้วอยู่ย่อมติดขั้วไป
        เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว พระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า น่าอัศจรรย์ไม่เคยมีมา ธรรมบรรยายนี้ชื่ออะไร พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เธอจงจำธรรมบรรยายนี้ว่า อรรถชาละก็ได้ ธรรมชาละก็ได้ พรหมชาละก็ได้
        ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระสูตรนี้จบแล้ว ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นมีใจชื่นชมเพลิดเพลินภาษิต ของพระผู้มีพระภาคเจ้า และเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ หมื่นโลกจะดูได้หวั่นไหวแล้วแล.-



| หน้าแรก | ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | พระวินัยปิฎก | บน |