สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ทรงพระนามเดิมว่า พระเฑียรราชา
ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ และทรงเป็น พระอนุชาต่างพระชนนี
ในสมเด็จพระไชยราชาธิราช เสด็จพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๕๕ ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน
คู่กันกับท้าวศรีสุดาจันทร์ ในรัชสมัยสมเด็จพระยอดฟ้า ต่อมาได้เสด็จออกผนวช
ณ วัดราชประดิษฐาน
เมื่อขุนพิเรนทรเทพและคณะ
ได้กำจัดขุนวรวงศาธิราชและท้าวศรีสุดาจันทร์ เสร็จสิ้นแล้ว จึงได้อัญเชิญพระเฑียรราชา
ให้ลาผนวชและขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราช เมื่อปี
พ.ศ.๒๐๙๑ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๑๕ ของกรุงศรีอยุธยา พระองค์ได้สถาปนาพระมเหสีเป็นพระสุริโยทัย
ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดาสี่พระองค์คือ พระราเมศวร พระมหินทร พระวิสุทธิกษัตรี
และพระเทพกษัตรี
เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์แล้ว ได้ทรงแต่งตั้งให้ขุนพิเรนทรเทพ
เป็นพระมหาธรรมราชา ครองเมืองพิษณุโลก แล้วพระราชทานพระวิสุทธิกษัตรี ให้เป็นพระมเหสี
ขุนอินทรเทพ
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช ผู้สำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราช
หลวงศรียศ
เป็นเจ้าพระยามหาเสนา ที่สมุหกลาโหม หมื่นราชเสน่หา
เป็นเจ้าพระยามหาเทพ หมื่นราชเสน่หานอกราชการ
เป็นพระยาภักดีนุชิต พระยาพิชัย
เป็นเจ้าพระยาพิชัย พระยาสวรรคโลก
เป็นเจ้าพระยาสวรรคโลก
ในปี พ.ศ.๒๐๙๑ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิขึ้นครองราชย์ได้เพียงเจ็ดเดือน พระเจ้าหงสาวดี
(พระเจ้าตะเบงชะเวตี้)
ทรงทราบว่า ทางกรุงศรีอยุธยาผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน เห็นเป็นโอกาสที่จะแผ่อำนาจมายังราชอาณาจักรไทย
จึงได้ยกกองทัพใหญ่มาทางเมืองกาญจนบุรี
ตั้งค่ายหลวงที่ตำบลกุ่มดอง
ทัพพระมหาอุปราชา ตั้งที่เพนียด
ทัพพระเจ้าแปร ตั้งที่บ้านใหม่มะขามหย่อง ทัพพระยาพะสิม
ตั้งอยู่ที่ตำบลทุ่งวรเชษฐ
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เสด็จออกไปดูลาดเลากำลังศึก ณ ทุ่งภูเขาทอง
พร้อมกับพระสุริโยทัย พระราเมศวร และพระมหินทราธิราช สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้กระทำยุทธหัตถีกับพระเจ้าแปร
ช้างพระที่นั่งเสียที สมเด็จพระสุริโยทัยจึงทรงไสช้างเข้าขวางช้างข้าศึก
เพื่อป้องกันสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระเจ้าแปรได้ทีจึงฟันสมเด็จพระสุริโยทัยด้วยของ้าว
สิ้นพระชนม์บนคอช้าง พระราเมศวรและพระมหินทรา ฯ ได้ขับช้างเข้ากันพระศพกลับเข้าพระนคร
ในการต่อสู้กับข้าศึกในขั้นต่อไป สมเด็จพระมหาจักรพรรดิโปรดให้นำปืนใหญ่นารายณ์สังหาร
ลงเรือสำเภาแล่นไปตามลำน้ำโจมตีข้าศึกที่ตั้งล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่
อำนาจการยิงของปืนใหญ่ทำให้ฝ่ายพม่าล้มตายเป็นอันมาก ประกอบกับเป็นเวลาใกล้ฤดูฝน
และเสบียงอาหารร่อยหรอลง อีกทั้งทางฝ่ายพม่าได้ข่าวว่า มีกองทัพไทยจากหัวเมืองเหนือยกมาสนับสนุน
เกรงว่าจะถูกตีกระหนาบจึงยกทัพกลับทางด่านแม่ละเมา
กองทัพของพระมหาธรรมราชาและพระราเมศวร ไล่ติดตามไปจนเกือบถึงเมืองกำแพงเพชร
ฝ่ายพม่าได้ทำอุบายซุ่มกำลังไว้ทั้งสองข้างทาง
พอกองทัพไทยถลำเข้าไป จึงได้เข้าล้อมไว้ จับได้ทั้งพระมหาธรรมราชา และพระราเมศวร
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิต้องทรงขอหย่าศึก
และไถ่ตัวคืนโดยแลกกับช้างชนะงาสองเชือก
ในระหว่างปี พ.ศ.๒๐๙๒ - ๒๑๐๖ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิโปรดให้ปรับปรุงกิจการทหาร
และเสริมสร้างบ้านเมืองให้มั่นคงแข็งแรงกว่าเดิม ยุทธศาสตร์ในการป้องกันคือ
ใช้พระนครเป็นที่มั่น โปรดให้รื้อป้อมปราการตามหัวเมือง เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าศึกอาศัยเป็นที่ตั้งมั่น
ทรงสร้างกำแพงกรุงศรีอยุธยาด้วยการก่ออิฐถือปูน ขุดคลองมหานาคเป็นคูเมืองออกไปถึงชายทุ่งภูเขาทอง
โปรดให้สำรวจบัญชีสำมะโนครัว ตามหัวเมืองในเขตชั้นในทุกหัวเมือง
ทำให้ทราบจำนวนชายฉกรรจ์ที่สามารถทำการรบได้ โปรดให้สะสมอาวุธยุทธภัณฑ์
พาหนะทั้งทางบก และทางน้ำเพื่อใช้ในสงคราม โปรดให้จับม้าและช้างเข้ามาใช้ในราชการ
สามารถจับช้างเผือกได้ถึงเจ็ดเชือก จึงได้รับขนานพระนามว่า
พระเจ้าช้างเผือกอีกพระนามหนึ่ง
พระเจ้าบุเรงนอง ผู้ครองราชย์ต่อจากพระเจ้าเตะเบงชะเวตี้
ทราบเรื่องช้างเผือก จึงส่งราชทูตเชิญพระราชสาส์นมาขอพระราชทานช้างเผือกสองเชือก
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ทรงให้เหตุผลเชิงปฎิเสธ พระเจ้าบุเรงนองจึงถือสาเหตุนั้น
ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๖ ด้วยกำลังพลสองแสนคน จัดเป็นทัพกษัตริย์หกทัพ
ได้เตรียมทัพเรือพร้อมปืนใหญ่กับจ้างชาวโปรตุเกสอาสาสมัคร
๔๐๐ คน เป็นทหารปืนใหญ่ ให้เมืองเชียงใหม่สนับสนุนเสบียงอาหาร
โดยลำเลียงมาทางเรือ เปลี่ยนเส้นทางเดินทัพมาทางด่านแม่ละเมา
เข้าตีหัวเมืองเหนือของไทยมาตามลำดับเพื่อตัดกำลังที่จะยกมาช่วยกรุงศรีอยุธยา
ฝ่ายไทยเตรียมตัวป้องกันพระนคร โดยคาดว่าพม่าจะยกกำลังมาทางด่านเจดีย์สามองค์
ทำให้พระเจ้าบุเรงนองตีเมืองกำแพงเพชร สวรรคโลก สุโขทัย พิชัย และพิษณุโลกได้
ครั้นลงมาถึงเมืองชัยนาท กองทัพพม่าก็ได้ปะทะกับกองทัพไทยของพระราเมศวร แต่ฝ่ายไทยต้านทานไม่ได้ต้องถอยกลับเข้ากรุงศรีอยุธยา
กองทัพพม่าได้เข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ แล้วระดมยิงปืนใหญ่เข้าในพระนครทุกวัน
จนราษฎร์ได้รับความเดือดร้อนและเสียขวัญ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ต้องเสด็จไปเจรจากับพระเจ้าบุเรงนอง
ที่พลับพลาบริเวณตำบลวัดพระเมรุการาม กับวัดหัสดาวาส
ยอมเป็นไมตรี โดยได้มอบช้างเผือกสี่เชือก พร้อมกับพระราเมศวร พระยาจักรี
และพระยาสุนทรสงครามให้แก่พม่า
หลังสงครามช้างเผีอกสิ้นสุดลง สมเด็จพระมหินทรา ผู้ทรงเป็นพระมหาอุปราชแทนพระราเมศวร
ได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ที่เสด็จออกผนวช ต่อมาทรงเกรงว่าพระมหาธรรมราชาจะไปสนับสนุนพม่า
พระองค์จึงทูลให้พระมหาจักรพรรดิ์ให้ทรงลาผนวช แล้วกลับมาครองราชย์ตามเดิม
ส่วนพระองค์เสด็จขึ้นไปเมืองพิษณุโลก ขณะที่พระมหาธรรมราชาเสด็จไปเมืองพม่าแล้วรับยรองพระวิสุทธิกษัตรีพร้อมด้วยพระราชนัดดามาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา
เมื่อพระมหาธรรมราชาทราบเรื่องจึงให้ไปเข้ากับพม่าอย่างเปิดเผย
ในปี พ.ศ. ๒๑๑๑ พม่าได้ยกกองทัพใหญ่เจ็ดกองทัพ มีกำลังหาแสนคน เดินทัพเข้ามาทางด่านแม่ละเมาเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ทั้งสี่ด้าน
โดยมุ่งตีหักเข้ามาทางด้านทิศตะวันออก ซี่งเป็นด้านที่อ่อนแอที่สุด และใช้กำลังทางเรือปิดกั้นลำน้ำทางตอนใต้ เพื่อไม่ให้ฝ่ายไทยติดต่อกับหัวเมืองทางใต้และต่างประเทศ
ฝ่ายไทยได้ต่อสู้อย่างเต็มความสามารถ แต่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิประชวรและเสด็จสวรรคต
ทำให้ราษฎรเสียขวัญ และกำลังใจกองทัพของ
พระเจ้าไชยเชษฐาที่ยกมาช่วย
ถูกพม่าซุ่มโจมตีถอยกลับไป พระเจ้าบุเรงนองได้ทำอุบายให้พระยาจักรีที่พม่าขอไปพม่าในสงครามครั้งก่อน
ลอบเข้ากรุงศรีอยุธยา เป็นไส้ศึกให้พม่า จนทำให้การป้องกันกรุงศรีอยุธยาอ่อนแอลงไปตามลำดับ
หลังจากพม่าล้อมกรุงอยู่เก้าเดือนก็เสียกรุงแก่พม่า
เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๒
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๑ ครองราชย์ได้ ๒๐ ปี
สมเด็จพระมหินทราธิราช
สมเด็จพระมหินทราธิราช พระนามเดิม พระมหินทร์
หรือพระมหินท์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่สอง ในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กับสมเด็จพระสุริโยทัย
เสด็จพระราชสมภพ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๐๘๒ มีพระเชษฐาคือ พระราเมศวร ผู้เป็นที่พระมหาอุปราช
มีพระเชษฐภคินีสองพระองค์คือ พระบรมดิลก กับพระสวัสดิราช (พระวิสุทธิกษัตรี)
และพระขนิษฐาคือ พระเทพกษัตรี
หลังสงครามกับพม่าที่เรียกว่าสงครามช้างเผือก ยุติลงในปี พ.ศ.๒๑๐๗ พระมหินทร์ซึ่งเป็นพระมหาอุปราชต่อจากพระราเมศวร
ได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งเสด็จออกผนวช
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๑๑๑ สมเด็จพระมหินทร์ ฯ ได้ทูลขอให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิลาผนวช
แล้วขึ้นครองราชสมบัติอีกครั้งเพื่อเตรียมรับศึกพม่า โดยพระเจ้าบุเรงนอง ได้ยกกองทัพเจ็ดกองทัพ
มาทำสงครามกับไทย กองทัพพม่ายกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา แล้วเข้าตีหัวเมืองทางเหนือ
เพื่อตัดกำลังไม่ให้ส่งกองทัพเข้ามาช่วยกรุงศรีอยุธยา จากนั้นจึงได้เข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้
ในระหว่างการศึก สมเด็๋จพระมหาจักรพรรดิประชวรและเสด็จสวรรคต สมเด็จพระมหินทร์
ฯ จึงได้ขึ้นครองราชย์ต่อมา พม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ได้ห้าเดือน ยังไม่สามารถตีหักเข้าไปได้
พระเจ้าบุเรงนองจึงออกอุบายเกลี้ยกล่อมให้สมเด็จพระมหินทร์ ฯ ยอมเป็นไมตรี
โดยมีข้อแลกเปลี่ยนคือขอตัวพระยาราม
ผู้มีความสามารถรับผิดชอบการรักษาพระนครอย่างเข้มแข็ง สมเด็จพระมหินทร์
ฯ ทรงยินยอมมอบตัวพระยารามแก่พม่า แต่ทางพระเจ้าบุเรงนองกลับตระบัดสัตย์ ไม่ทำตามข้อตกลง
และเร่งยกกำลังเข้าตีกรุงศรีอยุธยาหนักขึ้น
ขณะนั้นใกล้ฤดูน้ำหลาก แต่พม่าก็ยังไม่สามารถตีกรุงศรีอยุธยาได้ จึงได้เกลี้ยกล่อมให้พระยาจักรีซึ่งทางพม่าขอตัวไปพร้อมกับ
พระราเมศวรในสงครามกับพม่าครั้งก่อน เข้าเป็นไส้ศึกในกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหินทร์
ฯ ทรงเห็นว่าพระยาจักรีเคยเป็นแม่ทัพ ที่มีความสามารถในการศึกกับพม่าครั้งก่อน
จึงทรงโปรดให้เป็นผู้จัดการป้องกันพระนคร ทัพพม่าจึงตีหักเข้าพระนครได้ เมื่อวันที่
๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๑๑๒ หลังจากล้อมพระนครไว้ถึงเก้าเดือน
พม่าเข้ายึดทรัพย์สิน และกวาดต้อนผู้คนกลับไปพม่าเป็นจำนวนมาก รวมทั้งสมเด็จพระมหินทร์
ฯ พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางน้อยใหญ่ ก็ได้นำไปกรุงหงสาวดีด้วย
สมเด็จพระมหินทร์ ฯ ทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคตระหว่างทาง เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๒
พระชนมายุได้สามสิบพรรษา ครองราชย์ได้ ๑ ปี
สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
สมเด็จพระมหาธรรมราชาหรืออีกพระนามหนึ่งว่า สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่
๑ เสด็จพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๕๘ พระราชบิดาเป็นเชื้อสายราชวงศ์พระร่วง
แห่งกรุงสุโขทัย พระราชมารดาเป็นพระญาติฝ่ายพระราชชนนี สมเด็จพระไชยราชาธิราช
แห่งราชวงศ์สุวรรณภูมิ พระองค์ทรงรับราชการเป็นที่ขุนพิเรนทรเทพ
เจ้ากรมตำรวจรักษาพระองค์ หลังจากที่เหตุการณ์วุ่นวายในราชสำนักยุติลง และพระเฑียรราชาได้ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ เมื่อปี
พ.ศ.๒๐๙๑ แล้วขุนพิเรนทรเทพ ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชา
แล้วได้รับโปรดเกล้าให้ไปครองเมืองพิษณุโลก สำเร็จราชการหัวเมืองฝ่ายเหนือ
มีศักดิ์เทียบเท่าพระมหาอุปราช ได้รับพระราชทานพระวิสุทธิกษัตรี พระราชธิดาในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์เป็นพระอัครมเหสี
ต่อมามีพระราชโอรสและพระราชธิดาสามพระองค์คือ
พระสุพรรณเทวี หรือพระสุพรรณกัลยา ซึ่งต่อมาสมเด็จพระมหาธรรมราชา
ได้ถวายเป็นพระมเหสีของพระเจ้าบุเรงนอง เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๒ เมื่อพระชนมพรรษาได้
๑๗ พรรษา เพื่อขอสมเด็จพระนเรศวรมาช่วยงานของพระองค์
องค์ที่สองคือ พระองค์ดำ หรือสมเด็จพระนเรศวร
เสด็จพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๘ พระเจ้าบุเรงนองได้ขอไปอยู่ที่กรุงหงสาวดี
ตั้งแต่พระชนมายุได้ ๙ พรรษา เมื่อพระชนมายุได้ ๑๕ พรรษา สมเด็จพระมหาธรรมราชา
ฯ ได้ขอตัวมาช่วยงานของพระองค์ และทรงตั้งให้เป็นพระมหาอุปราช ไปครองเมืองพิษณุโลก
ดูแลหัวเมืองเหนือทั้งปวง
องค์ที่สามคือ พระองค์ขาว
หรือพระเอกาทศรถ ประสูติเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๑๐๐
ในปี พ.ศ.๒๑๐๖ เกิดสงครามช้างเผือกกับพม่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาได้ป้องกันเมืองพิษณุโลกเป็นสามารถ
ทางกรุงศรีอยุธยาส่งกำลังไปช่วยไม่ทัน พม่าล้อมเมืองพิษณุโลกไว้จนเสบียงอาหารในเมืองขาดแคลน
จึงได้ยอมอ่อนน้อมต่อพม่า พระเจ้าบุเรงนองจึงได้แต่งตั้งให้สมเด็จพระธรรมราชาเป็นพระศรีสรรเพชญ์
ครองเมืองพิษณุโลกดังเดิม แต่อยู่ในฐานะเป็นหัวเมืองประเทศราชของพม่า กับขอสมเด็จพระนเรศวรไปอยู่ที่หงสาวดี
ในปี พ.ศ.๒๑๑๒ พระเจ้าบุเรงนองได้ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง โดยได้เกณฑ์หัวเมืองทางเหนือรวมทั้งเมืองพิษณุโลกมาร่วมสงครามด้วย
ในวันศุกร์ขึ้นหกค่ำ เดือนสิบสอง ปีมะเส็ง พ.ศ.๒๑๑๒ พระเจ้าบุเรงนองได้อภิเษกให้สมเด็จพระมหาธรรมราชา
ฯ ขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา ในฐานะประเทศราช ทรงพระนามว่า สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่
๑ บางแห่งเรียก พระสุธรรมราชา เป็นต้นราชวงศ์สุโขทัย
สมเด็จพระมหาธรรมราชา ฯ ครองกรุงศรีอยุธยาในฐานะประเทศราชของพม่าอยู่ถึง ๑๕
ปี จนถึง พ.ศ. ๒๑๒๗ สมเด็จพระนเรศวร องค์รัชทายาทก็ได้ทรงประกาศอิสระภาพ
ในห้วงระยะเวลา ๑๐ ปี แรกในรัชสมัยของพระองค์ กัมพูชาได้ส่งกำลังมาโจมตีหัวเมืองทางตะวันออกและรุกเข้ามาถึงชานพระนคร
แต่ฝ่ายไทยก็สามารถต่อสู้ขับไล่เขมรกลับไปได้ พระองค์ทรงเห็นเป็นโอกาสในการป้องกันพระนคร
จึงได้บูรณะซ่อมแซมกำแพงและป้อมต่าง ๆ รอบพระนครให้แข็งแรงขึ้น กล่าวคือ ในปี
พ.ศ. ๒๑๒๓ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ขุดคูพระนครทางด้านทิศตะวันออก หรือคูขี่อหน้า
ซึ่งแต่เดิมแคบข้าศึกสามารถเข้ามาสู่พระนครได้สะดวกกว่าด้านอื่น โปรดเกล้า
ฯ ให้รื้อกำแพงพระนครด้านทิศตะวันออก แล้วสร้างให้ไปจรดริมฝั่งแม่น้ำเช่นเดียวกับด้านอื่น
ๆ ทรงสร้างป้อมมหาชัย ตรงบริเวณที่แม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำป่าสัก
ไหลมาบรรจบกัน และสร้างพระราชวังจันทร์เกษม
(วังหน้า) สำหรับใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวร ไว้คอยสกัดกั้นทัพข้าศึกที่เข้าโจมตีพระนครทางด้านทิศตะวันออก
|