| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

           สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชากับพระวิสุทธิกษัตรี เสด็จพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๘ ที่เมืองพิษณุโลก พระนามเดิม พระองค์ดำ หรือพระนเรศวร มีพระเชษฐภคินี คือ พระสุพรรณเทวี และพระอนุชา คือ สมเด็จพระเอกาทศรถ (พระองค์ขาว)
           หลังจากเสียกรุงแก่พม่า เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๒ สมเด็จพระมหาธรรมราชาได้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา เขมรเห็นเป็นโอกาสที่ไทยอ่อนแอ จึงได้ยกทัพมาปล้นสดมภ์และกวาดต้อนผู้คนบริเวณชายพระนคร สมเด็จพระมหาธรรมราชาจึงได้ขอตัวสมเด็จพระนเรศวรจากหงสาวดี กลับมาช่วยป้องกันบ้านเมือง เมื่อพระชนมายุได้ ๑๕ พรรษา หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จไปประทับที่หงสาวดี หลังสงครามช้างเผือกตามคำทูลขอของพระเจ้าบุเรงนอง ตั้งแต่พระชนมายุได้ ๙ พรรษา
           สมเด็จพระมหาธรรมราชาได้โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระนเรศวรเป็นพระมหาอุปราช ปกครองหัวเมืองทางเหนือ และประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๑๑๔ ตลอดรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา สมเด็จพระนเรศวรทรงเป็นกำลังสำคัญในการป้องกัน และกอบกู้บ้านเมืองจากข้าศึกทั้งเขมรและพม่า ในปี พ.ศ.๒๑๒๗ พระองค์ได้ทรงประกาศอิสรภาพของกรุงศรีอยุธยาจากอำนาจของพม่า หลังจากที่ตกอยู่ในอำนาจพม่าเป็นเวลา ๑๕ ปี
           เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชา เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๑๓๓ พระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๑๓๓ เมื่อพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระนเรศวร หรือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๒ และโปรดเกล้า ฯ ให้พระเอกาทศรถ พระราชอนุชา ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช แต่มีศักดิ์เสมอพระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง
           ตลอดรัชสมัยของพระองค์ทรงกอบกู้กรุงศรีอยุธยาจากพม่า และได้ทำสงครามกับอริราชศัตรูทั้งพม่าและเขมร จนราชอาณาจักรไทยเป็นปึกแผ่นมั่นคง ขยายพระราชอาณาเขตออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาลกว่าครั้งใดในอดีตที่ผ่านมา งานสงครามในรัชสมัยของพระองค์ ทั้งในดินแดนไทยและดินแดนข้าศึก ได้ชัยชนะทุกครั้ง ทรงมีพระปรีชาสามารถในการนำทัพ ทรงริเริ่มนำยุทธวิธีแบบใหม่มาใช้ในการทำสงคราม และเปลี่ยนแนวความคิดจากการตั้งรับมาเป็นการรุก และริเริ่มการใช้วิธีรบนอกแบบ
           การสงครามกับพม่าครั้งสำคัญที่ทำให้พม่าไม่กล้ายกทัพมารุกรานไทยอีกเลย เป็นเวลาเกือบสองร้อยปีคือ สงครามยุทธหัตถี เมื่อปี พ.ศ.๒๑๓๕ การสงครามในขั้นต่อไปหลังจากนั้นของพระองค์คือ การรุกเข้าไปในดินแดนของข้าศึก เริ่มจากการตีเมืองทวาย และตะนาวศรี คืนกลับมาจากพม่าหลังจากสงครามยุทธหัตถี  การยกไปตึเมืองเขมรในเวลาต่อมา ยึดเมืองละแวกของเขมรได้  ในปี พ.ศ.๒๑๔๒ พระองค์ยกกองทัพไปปราบปรามมอญแล้วยกขึ้นไปตีเมืองหงสาวดี แต่พระเจ้าตองอูได้นำเสด็จพระเจ้าหงสาวดีหนีไปเมืองตองอูก่อน คงทิ้งให้เมืองหงสาวดีร้างก่อนที่พระองค์จะนำทัพไปถึงไม่นาน
           รายละเอียดของงานด้านการทหารของพระองค์มีอยู่ในเรื่องราชการสงครามในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
           สมเด็จพระนเรศวรโปรดให้ปรับปรุงการปกครองหัวเมืองใหม่เป็นการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ยกเลิกระบบเมืองพระยามหานคร จัดแบ่งหัวเมืองเป็นหัวเมืองชั้นเอก ชั้นโท และชั้นตรี ยกเลิกการให้เจ้านายไปปกครองเมืองเหล่านี้ แล้วให้ขุนนางไปปกครองแทน
           สมเด็จพระนเรศวรเสด็จสวรรคต ขณะที่พระองค์ทรงยกกองทัพไปตีเมืองอังวะ เมื่อเสด็จถึงเมืองหาง พระองค์ทรงประชวรเป็นฝีละลอกขึ้นที่พระพักตร์กลายเป็นพิษ เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๑๔๘ พระชนมายุได้ ๕๐ พรรษา ครองราชย์ได้ ๑๕



สมเด็จพระเอกาทศรถ

           สมเด็จพระเอกาทศรถ หรืออีกพระนามหนึ่งว่า พระสรรเพชญ์ที่ ๓ พระนามเดิมว่า พระองค์ขาว  เสด็จพระราชสมภพ ณ เมืองพิษณุโลก เป็นพระราชโอรสองค์สุดท้ายในสมเด็จพระมหาธรรมราชา กับพระวิสุทธิกษัตรี
           หลังจากที่สมเด็จพระนเรศวรทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง เมื่อปี พ.ศ.๒๑๒๗ สมเด็จพระเอกาทศรถก็ได้เสด็จออกร่วมทำการรบคู่กับสมเด็จพระนเรศวร ได้โดยเสด็จในการทำศึกสงครามด้วยทุกครั้งนับแต่นั้นมาจนสิ้นรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร ฯ เป็นจำนวนถึง ๑๗ ครั้ง
           ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร ฯ พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาพระเอกาทศรถ เป็นสมเด็จพระเอกาทศรถ ที่พระมหาอุปราชา แต่ให้มีพระเกียรติยศเสมอพระเจ้าแผ่นดิน
           เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.๒๑๔๘ พระองค์ก็ได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระนเรศวร ในปีเดียวกันในรัชสมัยของพระองค์ บ้านเมืองเป็นปกติสุข เป็นที่เคารพยำเกรงแก่ประเทศเพื่อนบ้าน อันเป็นผลจากการที่สมเด็จพระนเรศวร และพระองค์เองได้ทรงสร้างอานุภาพ ของราชอาณาจักรอยุธยาไว้อย่างยิ่งใหญ่ มีพระราชอาณาเขตแผ่ออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาล พระองค์ไม่มีพระราชประสงค์จะแผ่พระราชอาณาเขตออกไปอีก
           ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีการยอมรับชาวต่างชาติเข้ามาเป็นทหาร เรียกว่า ทหารอาสา โดยได้จัดแบ่งออกเป็นพวก ๆ ตามเชื้อชาติ และตามความชำนาญในการรบ เกิดหน่วยทหารอาสาขึ้นหลายหน่วย เช่น กรมอาสาญี่ปุ่น กรมอาสาจาม กรมทหารแม่นปืน (โปรตุเกส) นอกจากนั้นในรัชสมัยของพระองค์ ยังมีชื่อเสียงในด้านความสามารถหล่อปืนใหญ่สำริดที่มีคุณภาพสูง ซึ่งน่าจะได้เรียนรู้มาจากโปรตุเกสและฮอลันดา เมื่อมาผสมผสานกับขีดความสามารถ ในด้านการหล่อโลหะของไทยที่มีการหล่อ ระฆังและพระพุทธรูป ที่มีมาแต่เดิม จึงทำให้การหล่อปืนใหญ่ของไทยในครั้งนั้นเป็นที่ยกย่องชมเชยไปถึงต่างประเทศ ดังจะเห็นได้จากการที่โชกุนของญี่ปุ่น ได้มีหนังสือชมเชยคุณสมบัติของปืนใหญ่ไทยเป็นอันมาก พร้อมกับขอให้ไทยช่วยหล่อปืนใหญ่ให้อีกด้วย
           สมเด็จพระเอกาทศรถมีพระราชโอรสที่ประสูติจากพระอัครมเหสี สององค์คือ เจ้าฟ้าสุทัศน์ และเจ้าฟ้าศรีเสาวภาค และมีพระราชโอรสที่ประสูติจากพระสนม อีกสามองค์คือ พระอินทรราชา พระศรีศิลป์ และพระองค์ทอง
           สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ.๒๑๕๓ พระชนม์พรรษาได้ ๕๐ พรรษาเศษ ครองราชย์ได้ห้าปี



พระศรีเสาวภาคย์

           พระศรีเสาวภาคย์ หรืออีกพระนามหนึ่งว่า พระสรรเพชญ์ที่ ๔ พระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่สองในสมเด็จพระเอกาทศรถ แต่เจ้าฟ้าสุทัศน์ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชได้เสวยยาพิษสิ้นพระชนม์ พระองค์จึงได้รับทูลเชิญให้ขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๕๓ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๔
           ในรัชสมัยของพระองค์ ได้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นในแผ่นดิน โดยพวกเรือญี่ปุ่นที่เข้ามาค้าขาย ได้ปล้นราษฎร ได้บุกเข้าไปในพระนคร และเข้าไปในพระราชวัง จับพระศรีเสาวภาคย์ และบังคับให้ทรงปฏิญาณสัญญาว่ามิให้ผู้ใดทำร้ายพวกญี่ปุ่น แล้วได้ลงเรือแล่นหนีออกทะเล โดยนำตัวพระสังฆราชไปเป็นตัวประกันจนถึงปากน้ำ
           พระศรีเสาวภาคย์ครองราชย์อยู่ได้ปีสองเดือนก็เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๑๕๔ พระบรมศพถูกนำไปฝังที่วัดโคกพระยา


สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม

           สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม มีพระนามเดิมว่า พระอินทราชา เป็นพระราชโอรสในพระเอกาทศรถ ก่อนหน้าที่สมเด็จพระเอกาทศรถจะเสด็จสวรรคต พระอินทราชาได้เสด็จออกผนวชอยู่จนถึงรัชสมัยพระศรีเสาวภาคย์ เมื่อพระศรีเสาวภาคย์เสด็จสวรรคตแล้ว พระศรีศิลป์และบรรดาเจ้านายขุนนาง ได้พร้อมใจกันอัญเชิญพระอินทราชาให้ทรงลาผนวช และขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๕๔ พระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา ทรงพระนาม พระเจ้าทรงธรรม หรือพระสรรเพชญ์ที่ ๕ พระองค์ได้ทรงแต่งตั้งพระศรีศิลป์ ผู้เป็นพระอนุชา ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช ครองเมืองพิษณุโลก
           สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงเป็นนักปราชญ์ รอบรู้ในวิชาการหลายด้าน มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงประพฤติราชธรรมอย่างมั่นคง เป็นที่รักใคร่นับถือของบรรดาราษฎรและชาวต่างชาติ พระองค์ไม่นิยมการศึกสงคราม ทรงเจริญรอยตามสมเด็จพระเอกาทศรถ ในด้านการปกครองบ้านเมือง ทรงมีพระราชโอรสที่ประสูติแต่พระมเหสี คือ พระเชษฐาธิราชกุมาร กับพระอาทิตยวงศ์
           พระกรณียกิจส่วนใหญ่ของพระองค์ มุ่งส่งเสริมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในด้านต่าง ๆ เช่น โปรดเกล้า ฯ ให้คัดลอกพระไตรปิฎกฉบับสมบูรณ์เป็นจำนวนมาก ทรงให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งมหาชาติคำหลวงถวาย นับเป็นวรรณคดีชิ้นสำคัญของสมัยอยุธยา ได้มีผู้พบรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาสุวรรณบรรพต แขวงเมืองสระบุรี พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างมณฑปครอบรอบพระพุทธบาท พร้อมทั้งสร้างพระอุโบสถ พระวิหารการเปรียญ กับกุฏิสงฆ์ ถวายให้เป็นสมบัติในพระพุทธศาสนา พระพุทธบาทสระบุรี จึงมีความสำคัญ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางของพุทธศาสนิกชนตั้งแต่นั้นมาตราบถึงปัจจุบัน
           พระองค์ทรงมีสัมพันธไมตรีกับบรรดาต่างประเทศที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทย ทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองท่าที่สำคัญในภูมิภาคแถบนี้ของโลก ชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะฮอลันดา อังกฤษและญี่ปุ่น ที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร ฯ และสมเด็จพระเอกาทศรถ พระองค์ก็ได้โปรดเกล้า ฯ พระราชทานที่ดินบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ริมคลองปลากด เหนือเมืองสมุทรปราการ ให้ชาวฮอลันดาตั้งคลังสินค้า และในปี พ.ศ.๒๑๕๕ พระเจ้าเจมส์ที่ ๑ แห่งอังกฤษ ได้มีพระราชสาส์นทูลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาติให้พ่อค้าชาวอังกฤษเข้ามาค้าขายที่กรุงศรีอยุธยาได้สะดวก ส่วนชาวญี่ปุ่น ปรากฏว่ามีชาวญี่ปุ่นสมัครเข้ารับราชการที่กรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก จนได้มีการจัดตั้งกรมอาสาญี่ปุ่น ขึ้นมาช่วยราชการกรุงศรีอยุธยา ชาวญี่ปุ่นที่มีบทบาทสำคัญในวงการเมืองในรัชสมัยของพระองค์ คือ ยามาดะ นางามาซะ ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นออกญาเสนาภิมุข
           เนื่องจากพระองค์ไม่นิยมการทำสงคราม ด้วยเหตุนี้กรุงศรีอยุธยาจึงต้องเสียเมืองทวาย อันเป็นเมืองท่าที่สำคัญทางตะวันตก
ในทะเลอันดามัน พม่ายกกำลังมาตีเมืองทวายได้เมื่อปี พ.ศ.๒๑๖๕ ต่อมากัมพูชา และเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเคยเป็นประเทศราช
ของไทยมาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร ฯ ต่างก็พากันแข็งเมืองไม่ยอมขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา
           ตอนปลายรัชสมัยของพระองค์ ขณะที่พระองค์ทรงประชวรหนัก มีพระราชประสงค์จะมอบราชสมบัติให้พระราชโอรสองค์ใหญ่ คือ พระเชษฐาธิราชกุมาร และทรงแต่งตั้งให้เป็นพระมหาอุปราช โดยทรงมอบให้ออกญาศรีวรวงศ์ จางวางมหาดเล็ก ซึ่งเป็นพระญาติที่ไว้วางพระทัย เป็นผู้ดูแลพระเชษฐาธิราช จนกว่าจะได้ครองราชย์
           สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๑๗๑ ครองราชย์ได้ ๑๗ ปี



สมเด็จพระเชษฐาธิราช

           สมเด็จพระเชษฐาธิราช เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมพ ระอนุชาพระองค์หนึ่งพระนามเจ้าอาทิตย์วงศ์
           เมื่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเสด็จสวรรคตได้เกิดการชิงราชสมบัติระหว่างพระองค์กับพระศรีศิลป์พระอนุชาในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ฝ่ายพระองค์มีออกญาศรีวรวงศ์ กับออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ) เป็นกำลังสำคัญได้จับพระศรีศิลป์ ซึ่งเป็นพระมหาอุปราชสำเร็จโทษ แล้วกราบบังคมทูลเชิญพระองค์ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่าสมเด็จพระเชษฐาธิราช หรือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุได้ ๑๕ พรรษา ออกญาศรีวรวงศ์ ได้เลื่อนฐานะเป็น เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์
           เมื่อพระองค์เสด็จขิ้นครองราชย์ได้แปดเดือน ก็คิดเกรงว่าเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์จะคิดแย่งราชสมบัติ จึงทรงหาทางกำจัดเสีย แต่ความนี้ได้รู้ไปถึงเจ้าพระยากลาโหมเสียก่อนก็ขัดเคือง จึงได้ยกกำลังบุกเข้าไปในวังหลวง สมเด็จพระเชษฐา ฯ มิได้คิดต่อสู้ได้แต่หลบหนีไป เจ้าพระยากลาโหม ฯ จึงสั่งให้พระยาเดโช พระยาท้ายน้ำตามไปทันที่ป่าโมกน้อยจับสมเด็จพระเชษฐา ฯ มาได้ เจ้าพระยากลาโหม ฯ จึงสั่งให้นำสำเร็จโทษเสีย
           สมเด็จพระเชษฐาธิราช เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๗๑ ครองราชย์ได้ ๘ เดือน



สมเด็จพระอาทิตยวงศ์

           สมเด็จพระอาทิตยวงศ์ เป็นพระราชโอรสองค์รองในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เป็นพระอนุชาในสมเด็จพระเชษฐาธิราช เสด็จพระราชสมภพเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๖๑ เมื่อสมเด็จพระเชษฐา ฯ เสด็จสวรรคตแล้ว เจ้าพระยากลาโหมได้อัญเชิญพระองค์ขึ้นครองราชย์ เมื่อพระชนมายุได้เพียง ๑๐ พรรษา โดยมีเจ้าพระยากลาโหม ฯ เป็นผู้สำเร็จราชการ แต่เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์ได้เพียงเดือนเศษ บรรดาขุนนางข้าราชการทั้งปวงเห็นว่า พระองค์ทรงพระเยาว์ ไม่สามารถปกครองบ้านเมืองได้ จึงได้
อัญเชิญพระองค์ออกจากราชสมบัติ แล้วอัญเชิญเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อไป ทรงพระนามว่า พระเจ้าปราสาททอง
           สมเด็จพระอาทิตยวงศ์ครองราชย์ได้ ๓๘ วัน



สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

           สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เดิมรับราชการในราชสำนักสมเด็จพระเอกาทศรถ ในตำแหน่งมหาดเล็ก ต่อมาได้เป็นที่จมื่นศรีสรรักษ์ ได้ร่วมกับพระศรีศิลป์ สำเร็จโทษพระศรีเสาวภาคย์ แล้วเชิญพระอินทราชาขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม จมื่นศรีสรรักษ์ได้เลื่อนขึ้นเป็นพระมหาอำมาตย์ และออกญาศรีวรวงศ์ ตามลำดับ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่พวกญี่ปุ่น นำกำลังเข้ามาจะควบคุมพระองค์สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พระยาศรีวรวงศ์ก็สามารถปราบปรามลงได้ จึงได้รับความดีความชอบ และเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ให้ดูแลรักษาพระเชษฐาธิราช ผู้เป็นพระราชโอรสที่จะได้ขึ้นครองราชย์ต่อมา
           ในรัชสมัยสมเด็จพระเชษฐาธิราช พระยาศรีวรวงศ์ได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ มีอำนาจและอิทธิพลมาก ทำให้สมเด็จพระเชษฐาธิราช เกิดความระแวงและคิดกำจัด แต่เจ้าพระยากลาโหม ฯ รู้ตัวก่อนและควบคุมพระองค์สมเด็จพระเชษฐาธิราชได้ แล้วอัญเชิญพระอาทิตยวงศ์ พระราชโอรสสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมขึ้นครองราชย์
           เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อปี พ.ศ.๒๑๗๒ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง หรือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๕ แล้วทรงสถาปนาราชวงศ์ใหม่เป็นราชวงศ์ปราสาททอง พระองค์มีพระราชโอรส และพระราชธิดารวมเจ็ดพระองค์
           พระองค์ได้เสด็จยกทัพไปตีเขมร ซึ่งเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา แต่ได้แข็งเมืองมาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
ทำให้เขมรกลับมาเป็นหัวเมืองประเทศราชของกรุงศรีอยุธยาดังเดิม
           ในตอนต้นรัชสมัยของพระองค์ หัวเมืองประเทศราชทางใต้ คิดกบฏยกทัพไปตีเมืองสงขลาและเมืองพัทลุง พระองค์ได้ส่งกองทัพไปปราบปรามได้ราบคาบ แต่ในขณะเดียวกันก็เสียเมืองเชียงใหม่ และหัวเมืองล้านนาแก่พม่า
            ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีการตรากฎหมายที่สำคัญ เช่น พระไอยการลักษณะอุทธรณ์ พระไอยการลักษณะมรดก พระไอยการลักษณะกู้หนี้ และพระธรรมนูญ
            ในปีจุลศักราช ๑๐๐๐ ตรงกับปีขาล (พ.ศ.๒๑๘๑) ซึ่งมีความเชื่อกันว่าจะเกิดเหตุร้ายแรงถึงขั้นกลียุค พระองค์จึงทรงให้จัดพิธีลบศักราช เปลี่ยนจากปีขาลเป็นปีกุน แล้วแจ้งให้หัวเมืองน้อยใหญ่รวมทั้งเมืองประเทศราช ให้ใช้ปีศักราชตามที่ทางกรุงศรีอยุธยากำหนดขึ้นมาใหม่
           ในปี พ.ศ.๒๑๗๕ พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ พร้อมทั้งหมู่พระราชนิเวศ และวัดชุมพลนิกายาราม ขึ้นที่บางปะอิน อันเป็นสถานที่ประสูติของพระองค์ สำหรับไว้เป็นที่แปรพระราชฐาน
           พระองค์มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ได้ทรงสถาปนาวัดสำคัญ ๆ หลายวัด เช่น วัดไชยวัฒนาราม วัดพระศรีสรรเพชญ์ และวัดชุมพลนิกายาราม ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระปรางค์วัดมหาธาตุ และโปรดที่จะเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ไปทรงนมัสการรอยพระพุทธบาทที่สระบุรี สมเด็จพระเจ้าปราสาททองเสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๑๙๙ ครองราชย์ได้ ๒๗ ปี



สมเด็จเจ้าฟ้าชัย

           สมเด็จเจ้าฟ้าชัย หรืออีกพระนามหนึ่งว่า พระสรรเพชญ์ที่ ๖ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระองค์มีพระอนุชา และพระขนิษฐาทั้งหมดหกพระองค์ เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๙๙
           พระองค์เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๑๙๙ ครองราชย์ได้ ๙ เดือน



สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา

           สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา หรืออีกพระนามหนึ่งว่า พระสรรเพชญ์ที่ ๗ เป็นพระอนุชาในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้พระนารายณ์ราชกุมาร พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และเป็นพระอนุชาองค์รองในสมเด็จเจ้าฟ้าไชย ให้ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช ประทับที่วังหน้า
           พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.๒๑๙๙ และเสด็จสวรรคตในปีเดียวกัน ครองราชย์ได้สองเดือนกับยี่สิบวัน

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |