| ย้อนกลับ |

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

           สมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรืออีกพระนามหนึ่งว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ หรือสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสรรเพชญ์ เป็นพระราชโอรส ในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง มีพระเชษฐาคือ สมเด็จเจ้าฟ้าไชย มีพระอนุชาคือ เจ้าฟ้าอภัยทศ พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ พระองค์ทอง และพระอินทราชา
           พระองค์ได้ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๙๙ เมื่อพระชนมายุได้ ๒๕ พรรษา พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ที่ทรงพระปรึชาสามารถมาก ทำให้กรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยของพระองค์ มีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าในทุกด้าน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ
การต่างประเทศ การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม วรรณคดีที่สำคัญหลายเรื่องเกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ จนได้ชื่อว่าเป็นยุคทองของวรรณคดีในสมัยกรุงศรีอยุธยา
           ในรัชสมัยของพระองค์ ได้มีชาวตะวันตกเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขาย เผยแพร่ศาสนาตลอดจนเข้ารับราชการ ทำให้ชาวตะวันตกยอมรับนับถือกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างมาก
           ในด้านการค้าขาย ได้มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากยิ่งกว่าในรัชสมัยอื่น ๆ ทรงปรับปรุงกรมพระคลังสินค้า โปรดเกล้า ฯ ให้ต่อเรือกำปั่นหลวง เพื่อทำการค้ากับต่างประเทศ จึงทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางการค้ากับชาวต่างประเทศ และต่อมาเมื่อเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ผู้เป็นชาวกรีกได้ช่วยปรับปรุงงานของกรมพระคลังสินค้าอีก ทำให้การค้าขายกับต่างประเทศเจริญรุ่งเรืองสูงสุด มีพ่อค้าชาวฝรั่งเศสบันทึกไว้ว่า "ในชมพูทวีปไม่มีเมืองใดที่จะแลกเปลี่ยนสินค้ามากเท่ากับในสยาม สินค้าขายได้ดีมากในสยามและการซื้อขายใช้เงินสด สำหรับเมืองท่าของไทยในเวลานั้น มีอยู่หลายเมืองด้วยกัน ได้แก่ มะริด ตะนาวศรี ภูเก็ต ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช เพชรบุรี และบางกอก
           พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส ได้ส่งบาทหลวงสามคนเดินทางมากรุงศรีอยุธยา เมื่อทั้งสามคนมาถึงแล้วก็ได้มีใบบอกไปยัง พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ และพระสันตปาปา ซึ่งมีความเห็นตรงกันว่าจะใช้กรุงศรีอยุธยา เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่คริสตศาสนา พระบาทหลวงได้ตั้งโรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯ สมเด็จพระนารายณ์ทรงเห็นว่า เป็นการนำความเจริญมาให้กรุงศรีอยุธยา พระองค์ได้พระราชทานที่ดินให้สร้างวัดทางคริสตศาสนาด้วย
           ในปี พ.ศ.๒๒๒๔ สมเด็จพระนารายณ์ ฯ ทรงจัดคณะทูตนำพระราชสาสน์ไปเจริญทางพระราชไมตรี ณ ประเทศฝรั่งเศส แต่คณะราชทูตสูญหายไประหว่างทาง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๒๒๖ พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้จัดคณะทูตเดินทางไปฝรั่งเศสอีกครั้ง เพื่อสอบสวนความเป็นไปของทูตคณะแรก พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงทราบก็เข้าใจว่าสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ทรงเลื่อมใสจะเข้ารีต จึงได้จัดคณะราชทูตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา โดยมีเชอวาเลียร์ เดอ โชมองต์ เป็นหัวหน้าคณะทูต เมื่อปี พ.ศ.๒๒๒๘ ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ทูลขอให้ทรงเข้ารีต แต่พระองค์ทรงปฏิเสธด้วยพระปรีชาสามารถว่า
           "การที่ผู้ใดจะนับถือศาสนาใดนั้น ย่อมแล้วแต่พระผู้เป็นเจ้าบนสวรรค์จะบันดาลให้เป็นไป  ถ้าคริสตศาสนาเป็นศาสนาดีจริงแล้ว
และเห็นว่าพระองค์สมควรที่จะเข้าเป็นคริสตศาสนิกแล้ว สักวันหนึ่งพระองค์จะถูกดลใจให้เข้ารีตจนได้"
           พระองค์ได้ให้เสรีภาพแก่ราษฎรทั่วไปที่จะนับถือคริสตศาสนาได้ตามความเลื่อมใสของตน ทำให้เชอวาเลียร์ เดอ โชมองต์ พอใจ
           ต่อมาในปี พ.ศ.๒๒๒๘ เมื่อคณะราชทูตฝรั่งเศสเดินทางกลับ พระองค์ก็ได้จัดให้เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นหัวหน้าคณะราชทูตเดินทางไปฝรั่งเศส นำพระราชสาส์นของพระองค์ไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ และได้ส่งกุลบุตร ๑๒ คน ไปศึกษาวิชาที่ประเทศฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงโปรดปรานเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นอย่างมาก ได้ให้เหรียญที่ระลึก และเขียนรูปภาพเหตุการณ์ไว้ด้วย เมื่อคณะราชทูตเดินทางกลับ พระองค์ได้โปรดให้มองสิเออร์ เดอลาลูแบร์ เป็นราชทูตเข้ามากรุงศรีอยุธยา พร้อมกับเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) และได้นำทหารฝรั่งเศสจำนวน ๖๓๖ นาย เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาด้วย สมเด็จพระนารายณ์ ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ทหารฝรั่งเศสจำนวนดังกล่าว ไปรักษาป้อมที่เมืองธนบุรีส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งมีกำลังสองกองร้อยให้ไปรักษาเมืองมะริด ซึ่งมีอังกฤษเป็นภัยคุกคามอยู่
           ในปี พ.ศ.๒๒๓๐ สมเด็จพระนารายณ์ทรงประกาศสงครามกับอังกฤษ เนื่องจากมีเหตุบาดหมางกันในเรื่องการค้าขายกับอินเดีย รัฐบาลอังกฤษให้บริษัทอังกฤษ เรียกตัวคนอังกฤษทั้งหมดที่รับราชการอยู่ ณ กรุงศรีอยุธยา ให้กลับประเทศอังกฤษ ต่อมาชาวอังกฤษได้มาก่อความวุ่นวายในเมืองมะริดและรุกรานไทยก่อน แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรไทยได้  เนื่องจากขณะนั้นมีทหารฝรั่งเศสรักษาเมืองมะริดอยู่
           ในรัชสมัยของพระองค์ แม้ว่าจะมีการค้าขายติดต่อกับต่างประเทศ ที่เจริญรุ่งเรืองแล้วก็ตาม แต่ก็ได้มีการทำสงครามหลายครั้ง ครั้งที่สำคัญได้แก่ การยกกองทัพออกไปตีพม่าที่กรุงอังวะ ตามแบบอย่างที่สมเด็จพระนเรศวร ฯ ได้ทรงกระทำมาแล้วในอดีต และได้มีการยกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่สองครั้งจนได้ชัยชนะ
           สมเด็จพระนารายณ์ ฯ เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๒๓๑ เมื่อพระชนมายุได้ ๕๐ พรรษา ครองราชย์ได้ ๓๒ ปี



สมเด็จพระเพทราชา

           สมเด็จพระเพทราชา เสด็จพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๗๕ เดิมเป็นชาวบ้านพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณบุรี เข้ารับราชการเป็นจางวาง (เจ้ากรม) ในกรมพระคชบาล ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ได้แสดงความสามารถในการศึกสงครามเป็นที่ปรากฏ ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากสมเด็จพระนารายณ์ ได้มีอำนาจและบทบาทในทางการเมือง และการปกครองของกรุงศรีอยุธยาเป็นอันมาก
           ในปี พ.ศ.๒๒๓๑ ปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ พระเพทราชา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการ ขณะที่สมเด็จพระนารายณ์ ฯ ประทับอยู่ที่ลพบุรี และทรงประชวรหนัก พระเพทราชาได้กำจัดพระปีย์ พระโอรสบุญธรรมในสมเด็จพระนารายณ์ ฯ แล้วจับเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ประหารชีวิต และได้ส่งกำลังไปควบคุมทหารฝรั่งเศสที่ประจำอยู่ที่ป้อมบางกอก คือ ป้อมวิชัยดิษฐ์ในปัจจุบัน
           เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ ฯ เสด็จสวรรคต บรรดาข้าราชการได้อัญเชิญพระเพทราชาขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาบุรุษ ฯ พระองค์ได้ทรงสถาปนาราชวงศ์ใหม่คือ ราชวงศ์บ้านพลูหลวง พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ.๒๒๓๒ พระชนมายุได้ ๕๖ พรรษา
           เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์แล้ว ก็ได้ขับไล่กำลังทหารฝรั่งเศสออกไปจากกรุงศรีอยุธยา แต่ยังทรงอนุญาตให้บาทหลวง และพ่อค้าชาวฝรั่งเศสอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาต่อไปได้ ได้มีการทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศส เรื่องการขนย้ายทหาร และทรัพย์สินของฝรั่งเศสออกจากป้อมที่บางกอก โดยฝ่ายไทยเป็นผู้จัดเรือ กับต้องส่งคืนทรัพย์สิน ที่เป็นของกรุงศรีอยุธยาคืนทั้งหมด สำหรับข้าราชการและราษฎรไทย ที่ยังอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ทางฝรั่งเศสจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับกรุงศรีอยุธยา ผลการปฏิบัติดังกล่าวทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับฝรั่งเศส สิ้นสุดลงตั้งแต่นั้นมา
           ในรัชสมัยของพระองค์ ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองใหม่ โดยกำหนดให้หัวเมืองฝ่ายเหนืออยู่ในความดูแลของสมุหนายก และหัวเมืองฝ่ายใต้อยู่ในความดูแลของสมุหพระกลาโหม  โดยแบ่งให้แต่ละฝ่ายรับผิดชอบดูแลกิจการทั้งด้านทหารและพลเรือนในภูมิภาคนั้น ๆ
           นอกจากนี้พระองค์ยังได้เพิ่มจำนวนกำลังทหารให้แก่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า เพื่อเป็นกำลังป้องกันวังหลวงอีกทางหนึ่งด้วย
           ในด้านความสัมพันธ์กับหัวเมืองประเทศใกล้เคียง มีหัวเมืองประเทศใกล้เคียงเข้ามาอ่อนน้อมสวามิภักดิ์เป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา กล่าวคือในปี พ.ศ.๒๒๓๔ เขมรได้ส่งคณะราชทูตนำช้างเผือกเชือกหนึ่งมาถวาย  ขอเข้ามาอยู่ใต้พระบรมโพธิสมภาร ต่อมาในปี พ.ศ.๒๒๓๘ พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตได้ส่งราชทูตนำพระราชสาส์น และเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวาย กับขอให้กองทัพไทยไปช่วยต้านทานการรุกรานจากกองทัพหลวงพระบาง พระองค์ได้จัดกองทัพขึ้นไปช่วยไกล่เกลี่ย จนทั้งสองเมืองกลับเป็นไมตรีต่อกัน
           สมเด็จพระเพทราชา เส็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๒๔๖ พระชนมายุได้ ๗๑ พรรษา  ครองราชย์ได้ ๑๕ ปี



สมด็จพระเจ้าเสือ

           สมเด็จพระเจ้าเสือ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระนารายณ์ ฯ เสด็จพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๐๖ สมเด็จพระนารายณ์ ฯ โปรดให้พระเพทราชา เลี้ยงดูเป็นบุตรบุญธรรม ได้เข้ารับราชการในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ เป็นหลวงสรศักดิ์ ได้ร่วมกับพระเพทราชา กำจัดพระปีย์ และเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ในสมัยสมเด็จพระเพทราชา ได้รับโปรดเกล้า ฯ เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ที่พระมหาอุปราชได้เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๔๖ พระชนมายุได้ ๔๐ พรรษา ทรงพระนามสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ หรือสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี และได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าฟ้าเพชร พระราชโอรสองค์ใหญ ่เป็นพระมหาอุปราช ที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และเจ้าฟ้าพร พระราชโอรสองค์รอง เป็นวังหลัง
           พระองค์รักการต่อสู้ มีความดุดันและห้าวหาญ จึงได้รับขนานพระนามว่า พระเจ้าเสือ
           สมเด็จพระเจ้าเสือ เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๒๕๑ ครองราชย์ได้ ๕ ปี



สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ

           สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ เป็นพระราราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าเสือ เสด็จพระราชสมภพ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๒๒๑ พระนามเดิมเจ้าฟ้าเพชร ทรงได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระมหาอุปราช ในสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ ได้ขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ.๒๒๕๑ ทรงพระนามสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๙ หรือสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ
           ตอนปลายรัชสมัยของพระองค์ทรงระแวงพระทัยในเจ้าฟ้าพร พระราชอนุชา ผู้เป็นพระมหาอุปราช จึงทรงมีพระราชดำริที่จะยกราชยมบัติให้เจ้าฟ้านเรนทร์ พระราชโอรสองค์ใหญ่ แต่เจ้าฟ้านเรนทร์ทรงเกรงพระทัยเจ้าฟ้าพร จึงหาทางหลีกเลี่ยงโดยเสด็จออกผนวช สมเด็จพระเจ้าท้ายสระมีพระราชดำรัสว่า เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว ให้เจ้าฟ้าอภัย ผู้เป็นพระราชโอรสองค์ที่สองขึ้นครองราชย์ ครั้นเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต เจ้าฟ้าพรกับเจ้าฟ้าอภัย จึงได้แย่งราชสมบัติกัน ที่สุดเจ้าฟ้าพรได้ขึ้นครองราชย์
           ในรัชสมัยของพระองค์ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ขุดคลองมหาชัย เมื่อปี พ.ศ.๒๒๖๔ เพื่อเชื่อมต่อแม่น้ำแม่กลองกับแม่น้ำท่าจีน ต่อจากที่ขุดค้างไว้จนเสร็จ และได้ขุดคลองเกร็ดน้อย ซึ่งเป็นคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา ที่บริเวณลัดคุ้งปากคลองบางบัวทอง ปัจจุบันคือปากเกร็ด
           ในด้านการต่างประเทศ มีการส่งราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับจีนถึงสี่ครั้ง ทำให้การค้าขายระหว่างไทยกับจีน ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
           ในปี พ.ศ.๒๒๔๔ เกิดความวุ่นวายในเขมร อันเนื่องจากการแย่งราชสมบัติกัน เจ้าเมืองละแวก ขอเข้ามาอยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ส่วนพระแก้วฟ้าผู้เป็นอนุชาฝักใฝ่อยู่กับฝ่ายญวน ซึ่งพยายามแผ่อำนาจเข้าไปในเขมร พระองค์ได้ส่งกองทัพกรุงศรีอยุธยาเข้าไปถึงเมืองอุดรมีชีย ราชธานีของเขมร และได้เกลี้ยกล่อมให้พระแก้วฟ้ากลับมาอ่อนน้อมต่อไทย  เขมรจึงมีฐานะเป็นประเทศราชของไทยเช่นแต่ก่อน
           สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๒๗๕ พระชนมายุได้ ๕๔ พรรษา ครองราชย์ได้ ๒๕ ปี



สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

           สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าเสือ พระนามเดิม เจ้าฟ้าพร เป็นพระอนุชา สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ พระองค์ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็น พระมหากษัตริย์ ทรงพระนามสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ นอกจากนั้นพระองค์ยังมีพระนามอื่นตามที่ปรากฎในเอกสารทางประวัติศาสตร์คือ สมเด็จพระรามาธิบดินทร ฯ สมเด็จพระรามาธิบดี ฯ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุธรรมราชา ฯ และสมเด็จพระบรมราชา ทางฝ่ายพม่าเรียกว่า พระมหาธรรมราชา
           ในรัชสมัยของพระองค์พุทธศาสนาเฟื่องฟูมาก พระองค์ทรงมีความเลื่อมใสศรัทธาและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก โปรดเกล้า ฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามทั้งในกรุงศรีอยุธยาและในบรรดาหัวเมืองต่าง ๆ ได้แก่ วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดป่าโมก วัดหันตรา วัดภูเขาทอง และวัดพระราม  โปรดเกล้า ฯ ให้ซ่อมเศียรพระประธานวัดมงคลบพิตร ที่ชำรุดอยู่ ทรงให้ความสำคัญในการศึกษาทางพุทธศาสนาเป็นพิเศษ ผู้ที่ถวายตัวเข้ารับราชการต้องผ่านการบวชเรียนมาแล้ว
           ในปี พ.ศ.๒๒๙๖ พระเจ้ากีรติสิริราชสิงห์ กษัตริย์ลังกา ทรงทราบกิตติศัพท์ว่าพระพุทธศาสนาในกรุงศรีอยุธยารุ่งเรืองมาก จึงได้ส่งราชทูตมาขอพระมหาเถระ และคณะสงฆ์ไปช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในลังกา ซึ่งเสื่อมโทรมลงไป เนื่องจากกษัตริย์ลังกาองค์ก่อน หันไปนับถือศาสนาพราหมณ์ และทำลายพุทธศาสนา จนกระทั่งไม่มีพระสงฆ์เหลืออยู่ในลังกา สมเด็จพระเจ้าบรมโกษ จึงโปรดให้ส่งคณะสมณทูตประกอบด้วยพระราชาคณะสองรูปคือ พระอุบาลี และพระอริยมุนี พร้อมคณะสงฆ์อีก ๑๒ รูป ไปลังกา เพื่อประกอบพิธีบรรพชา อุปสมบท ให้กับชาวลังกา คณะสงฆ์คณะนี้ได้ไปตั้งนิกายสยามวงศ์ขึ้นในลังกา หลังจากที่ได้ช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในลังกา เป็นเวลาเจ็ดปีแล้ว คณะสงฆ์คณะนี้บางส่วนได้เดินทางกลับกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๓
           สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๑ พระชนมายุได้ ๗๗ พรรษา ครองราชย์ได้ ๒๖ ปี



สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร

           สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร เป็นพระราชโอรสองค์รองในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระนามเดิมเจ้าฟ้าดอกเดื่อ ต่อมาได้ทรงกรมเป็น กรมขุนพรพินิต มีพระเชษฐาคือ เจ้าฟ้าเอกทัศน์ (กรมขุนอนุรักษ์มนตรี) หลังจากเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ซึ่งเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล สิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๘๙ แล้วสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ มิได้ทรงแต่งตั้งพระราชโอรสองค์ใด ขึ้นเป็นพระมหาอุปราชแทน เป็นเวลาถึง ๑๑ ปี ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๐๐ จึงทรงตั้งเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ด้วยทรงเห็นว่าทรงพระปรีชา มีพระสติปัญญาเฉลียวฉลาด
           เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ สวรรคต เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตได้ขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๑ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ แต่ก่อนหน้าที่จะมีพิธีบรมราชาภิเษกนั้น ได้เกิดเหตุการณ์ไม่สงบและพระอนุชาต่างพระมารดาสามองค์ คือ กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพภักดี ได้พยายามแย่งชิงราชสมบัติ แต่สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ทรงขอให้พระราชาคณะเกลี้ยกล่อมจนสำเร็จ และพระองค์ได้ราชาภิเษกขึ้นครองราชย์
           เมื่อพระองค์ครองราชย์ได้เพียงเดือนเศษ ก็ทรงสละราชย์สมบัติแล้ว ถวายราชสมบัติแก่เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี ผู้เป็นพระเชษฐา แล้วพระองค์เสด็จออกผนวช โดยประทับอยู่ที่วัดประดู่โรงธรรม



สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์)

           พระเจ้าเอกทัศน์ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระนามเดิม เจ้าฟ้าเอกทัศน์ ต่อมาได้ทรงกรมเป็น กรมขุนอนุรักษ์มนตรี
           หลักจากที่สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เสด็จสวรรคตแล้ว สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ได้ขึ้นครองราชย์ แต่เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี แสดงพระองค์ว่าต้องการขึ้นครองราชย์ และเสด็จเข้าประทับ ณ พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ยอมสละราชสมบัติถวายพระเชษฐาและเสด็จออกผนวช เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี จึงเสด็จขึ้นครองราชย ์เมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๑ ทรงพระนาม สมเด็จพระบรมราชามหาดิศร ฯ แต่คนส่วนใหญ่มักขานพระนามว่า สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ สมเด็จพระที่นั่งสุริยาบรินทร และพระเจ้าเอกทัศน์
           ในระหว่างที่พระองค์ครองราชย์พม่าได้ยกกองทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๓ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ได้ทรงขอให้พระเจ้าอุทุมพรลาผนวช ออกมาช่วยบัญชาการรบ พระเจ้าอลองพญา กษัตริย์พม่า ที่ยกทัพมาได้รับบาดเจ็บจากปืนใหญ่ ต้องยกทัพกลับ และสิ้นพระชนม์ระหว่างทาง
           ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๐๗ พระเจ้ามังระ โอรสพระเจ้าอลองพญา กษัตริย์พม่า ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ ได้ส่งกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีก โดยได้ล้อมกรุงศรีอยุธยานานถึง ปีกับสองเดือน ก็เข้าตีพระนครได้ เมื่อวันที่ ๑๓ เดือนเมษายน พ.ศ.๒๓๑๐ ตรงกับวันอังคาร ขึ้นเก้าค่ำ เดือนห้า ปีกุน สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ได้เสด็จหนีไปซ่อนตัวที่ป่าบ้านจิก ใกล้วัดสังฆาวาส ต้องอดอาหารกว่า ๑๐ วัน และเสด็จสวรรคต เมื่อพม่าเชิญเสด็จไปที่ค่ายโพธิสามต้น พม่าได้นำพระบรมศพไปฝังไว้ที่โคกพระเมรุ หน้าพระวิหารพระมงคลบพิตร

| ย้อนกลับ | บน |