พระราชพิธีสำหรับ พระนครที่เคยมีมาแต่ก่อนอาศัยที่มาเป็นสองทางคือ จากตำราไสยศาสตร์
จากศาสนาพราหมณ์ทางหนึ่ง และจากพระพุทธศาสนาทางหนึ่ง แต่มีบางพิธีมาจากต้นเหตุทั้งสองนี้
แล้วได้คละระคนกันขึ้นก็มีอยู่บ้าง แต่เดิมพระเจ้าแผ่นดิน และชาวพระนครนับถือศาสนาพราหมณ์
การพิธีใดในศาสนาพราหมณ์ การพิธีใดที่เป็นศรีสวัสดิมงคลก็ยึดถือปฏิบัติกันมา
ครั้นต่อมาเมื่อชาวไทยหันมานับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งมิได้มีฤกษ์และพิธีใด ๆ
เข้ามาปะปน ก็นำเอาพิธีต่าง ๆ ในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งไม่ขัดต่อคติทางพระพุทธศาสนามาใช้ปฏิบัติแทรกไว้ด้วย
ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในทางใจ ดังที่เคยเชื่อถือมาก่อนแล้วนั่นเอง
พระราชพิธีที่มีมาในพระราชกำหนดกฎมณเฑียรบาล ซึ่งได้ใช้มาแต่แรกสร้างกรุงศรีอยุธยาก็คือ
พระราชพิธีสิบสองเดือน ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงกระทำและถือว่าเป็นการมงคล สำหรับพระนครคือ
เดือนห้า พระราชพิธีเผด็จศก ลดแจตร หรือ รดเจตร ออกสนาม
เดือนหก พิธีไพศาขย์ จรดพระราชนังคัล
เดือนเจ็ด ทูลน้ำล้างพระบาท
เดือนแปด เข้าพรรษา
เดือนเก้า ตุลาภาร
เดือนสิบ ภัทรมหพิธีสารท
เดือนสิบเอ็ด อาศยุชยแข่งเรือ
เดือนสิบสอง พิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคม