
คทาจอมพล
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
พระคทาองค์ที่สาม
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระองค์ได้พระราชทานแบบคทาจอมพลขึ้นใหม่ ทำด้วยทองคำเกลี้ยง มีลักษณะป่องตรงกลางและคอดเรียวไปทางด้านยอดและด้านปลาย
ยอดพระคทาทำเป็นรูป พระครุฑพ่าห์ ลงยาตามแบบพระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน ใต้พระยาครุฑทำเป็นลูกแก้วรองฐานบัวหงาย ลงยาราชาวดี ส่วนด้านปลายมีลูกแก้ว และยอดบัวกลุ่มสี่ชั้น ลงยาราชาวดีเช่นกัน
พระคทาจอมพลองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้มาตลอดรัชกาล ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้พระคทาจอมพลองค์นี้สืบมา
พระคทาองค์ที่สี่
นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พระองค์ทรงใช้พระคทาจอมพลองค์ที่สาม ซึ่งนายกรัฐมนตรี และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงกลาโหม ได้ทูลเกล้า ฯ ถวาย พร้อมเครื่องยศจอมพล เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พุทธศักราช 2493 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
เนื่องในวโรกาส ที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินนิวัตสู่ประเทศไทย
ต่อมาในปีพุทธศักราช 2509 ข้าราชการกระทรวงกลาโหมเห็นว่า พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ สำหรับประเทศชาติ ทั้งภายในและภายนอกประเทศอย่างมากมาย ทำให้กิจการต่าง ๆ บรรลุผลสำเร็จลุล่วงเสมอ พระบารมีของพระองค์แผ่ไพศาล ก่อให้เกิดความสามัคคีกลมเกลียว และความสงบสุขในหมู่ประชาชน สภากลาโหมจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พุทธศักราช 2509 ให้สร้างพระคทาจอมพลขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเก็บเงินเพื่อสร้างคทานี้จากนายทหารชั้นนายพลประจำการทุกนาย
และในวันที่ 2 ธันวาคม พุทธศักราช 2509 นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมพร้อมด้วยนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ได้ทูลเกล้า ฯ ถวายพระคทาจอมพลองค์นี้แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ทรงมีพระชนมายุ
40 พรรษา เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งความจงรักภักดีของข้าราชการทหารทุกนาย
และได้ขอพระบรมราชานุญาต ขนานนามพระคทาองค์ใหม่นี้เป็นพิเศษว่า
พระคทาจอมทัพภูมิพล
พระคทาองค์ที่สี่ มีลักษณะทั่วไปเหมือนพระคทาองค์ที่สาม องค์พระคทาทำด้วยทองคำหนัก 430 กรัม
แกนกลางป่อง เรียวไปทางยอดและปลาย ประกอบด้วยเครื่องหมายมงคลแปด ด้านยอดคงมีพระครุฑพ่าห์ลงยา และลูกแก้วรองฐานบัวหงาย ลงยาราชาวดี ด้านปลายมีลูกแก้วและยอดบัวกลุ่มสี่ชั้น ลงยาราชาวดี เช่นเดียวกันกับพระคทาองค์ที่สาม ส่วนที่ต่างกันคือ เหนือพระยาครุฑมีพระปรมาภิไธยย่อ "ภปร" ฝังเพชรอยู่ในกรอบรูปไข่
และมีรูปพระมหาพิชัยมงกุฎทองฝังเพชร อยู่เบื้องบนตอนปลายพระคทา ต่อจากเครื่องหมายมงคลแปด
มีเครื่องหมายกระทรวงกลาโหม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอบในการเสด็จพระราชดำเนินออกรับ พระคทาจอมทัพภูมิพล
มีข้อความบางตอนดังนี้
...ข้าพเจ้ายินดีรับไว้ด้วยความเต็มใจ และจะถือว่าคทาจอมทัพ เป็นเสมือนเครื่องหมายแห่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของกองทัพทั้งสาม
อิสสระภาพ ความมั่นคง ตลอดจนความเจริญรุ่งเรืองของประเทศเรา ขึ้นอยู่กับกิจการทหารเป็นสำคัญตลอดมาทุกยุคทุกสมัย เพราะเมืองไทยนี้เป็นเมืองทหาร
คนไทยทุกคนมีเลือดทหารเป็นนักต่อสู้ ผู้รักและหวงแหนความเป็นไทยยิ่งด้วยชีวิต...
ทหารมีหน้าที่ป้องกันรักษาประเทศ หน้าที่นี้นอกจากในด้านการรบแล้ว ยังมีด้านอื่นที่สำคัญเท่าเทียมกันอยู่อีกคือ
การสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประชาชน ต้องสงเคราะห์อนุเคราะห์ประชาชนด้วยการให้ความคุ้มครองป้องกัน
และช่วยเหลือในความเป็นอยู่ ตลอดถึงการแนะนำสนับสนุนในการครองชีพด้วย...
... ขอท่านทั้งหลายจงร่วมมือร่วมใจกัน ทำหน้าที่ของทหารให้สมบูรณ์ทุกด้าน
มีความพรักพร้อมเป็นใจเดียวกัน ประกอบกรณียกิจเพื่อความมั่นคงเจริญรุ่งเรืองของประเทศ และความร่มเย็นเป็นสุขของประชาราษฎรไทยทุกคน...
สายยงยศจอมทัพไทย
สายยงยศเป็นเครื่องหมายแสดงฐานะพิเศษเฉพาะบางฐานะของผู้ประดับที่เป็นทหาร
ซึ่งไม่เป็นสาธารณแก่ทหารทั่วไป เช่นสายยงยศของนายทหารฝ่ายเสนาธิการ และสายยงยศของราชองครักษ์ เป็นต้น
สำหรับสายยงยศจอมทัพไทย เป็นสายยงยศเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์ซึ่งทรงเป็นองค์ "จอมทัพไทย" สายยงยศนี้แตกต่างจากสายยงยศราชองครักษ์
ด้วยมีสายไหมหรือสายไหมทองถักรวบสายยงยศคู่หน้า เมื่อประดับบนฉลองพระองค์เครื่องแบบทหาร ถมที่ถักรวบดังกล่าวนี้ จะอยู่ในแนวกระเป๋าของฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารระดับพระอุระเบื้องขวา
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |
